fbpx

Nirmala Sitharaman ขุนคลังหญิงผู้กุมชะตาเศรษฐกิจอินเดีย

ภาพปกโดย SAJJAD HUSSAIN / AFP

บทบาทของสตรีในการเมืองอินเดียเป็นประเด็นถกเถียงและถูกวิพากษ์มาเป็นเวลานาน แม้ว่าอินเดียจะมีผู้นำหญิงที่โดดเด่นบางคน เช่น อินทิรา คานธี (Indira Gandhi) และปราติภา ปาติล (Pratibha Patil) เป็นต้น แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว บทบาทของผู้หญิงอินเดียในภาพรวม โดยเฉพาะในทางการเมืองค่อนข้างมีอยู่อย่างจำกัด ข้อมูลจากสหภาพรัฐสภาโลกมีการจัดอันดับให้อินเดียอยู่ลำดับที่ 148 จาก 193 ประเทศทั่วโลกที่ผู้หญิงมีบทบาทในรัฐสภา โดยข้อมูล ณ ปี 2020 ระบุว่าในโลกสภา (สภาผู้แทนราษฎร) ของอินเดีย มีสัดส่วนผู้แทนฯ หญิงอยู่เพียงร้อยละ 14.4 เท่านั้น ทั้งนี้รัฐบาลอินเดียภายใต้การนำของพรรคชาตินิยมฮินดู อย่างพรรคภารติยะชนตะ หรือบีเจพี ถูกวิจารณ์อย่างสม่ำเสมอว่าอุดมการณ์แบบชาตินิยมฮินดู ส่งผลให้เกิดการลดทอนบทบาทของสตรีในทางการเมือง แต่เสียงวิจารณ์จำนวนมากก็มักมาจากฝ่ายตรงข้ามของบีเจพีนั่นเอง

สิ่งที่น่าสนใจประการหนึ่งคือนับตั้งแต่พรรคบีเจพีที่นำโดยนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีขึ้นกุมอำนาจเหนืออินเดีย เราพบว่าคณะรัฐมนตรีของพรรคบีเจพีมักมีสตรีอยู่เสมอ และที่สำคัญไปกว่านั้น พรรคบีเจพีอาจเป็นไม่กี่พรรคที่ยกระดับให้ผู้นำหญิงของตนเองขึ้นกุมบังเหียนในตำแหน่งรัฐมนตรีที่สำคัญของประเทศ

หนึ่งในผู้นำหญิงคนสำคัญและมีบทบาทอย่างมากต่อพรรคบีเจพีและการเมืองอินเดียในเวลานี้คงหนีไม่พ้น ‘นางเนียร์มาลา สิฐรามัน’ (Nirmala Sitharaman) ขุนคลังหญิงคนแรกภายใต้การนำของพรรคชาตินิยมฮินดู ซึ่งมีบทบาทอย่างมากต่อการกำกับชะตาเศรษฐกิจอินเดียมานับตั้งแต่ปี 2019 ครั้งนี้จึงอยากชวนทุกท่านทำความรู้จักกับสตรีแกร่งผู้ก้าวข้ามข้อครหาเรื่องการกีดกันสตรีของพรรคชาตินิยมฮินดูคนนี้

เส้นทางชีวิตและการเมือง

เนียร์มาลาถูกจับตามองจากสื่ออินเดียมาโดยตลอดด้วยบทบาทของเธอที่ขึ้นสูงสุดในฐานะขุนคลังของประเทศ แต่กว่าเนียร์มาลาจะเดินสู่เส้นทางการเมืองภายใต้พรรคชาตินิยมฮินดู ที่ถูกมองว่าให้คุณค่ากับผู้ชายมากกว่าผู้หญิงจนถึงทุกวันนี้ได้ เธอย่อมก้าวผ่านหลากหลายอุปสรรคและมีภูมิหลังชีวิตที่น่าสนใจเช่นเดียวกัน แต่ชีวิตของเธออาจดูดีกว่าสตรีหลายคนในอินเดียเพราะสุดท้ายแล้วเนียร์มาลาก็ไม่ต่างจากสตรีผู้มีบทบาทสูงในแวดวงการเมืองของอินเดียคนอื่นๆ ที่มีภูมิหลังของครอบครัวที่ดี เพราะเธอเกิดในชนชั้นวรรณะพราหมณ์จากรัฐทมิฬนาดู นั่นทำให้เธอได้มีโอกาสได้เข้าสู่ระบบการศึกษาที่มีคุณภาพแตกต่างจากหญิงอินเดียหลายๆ คน

อย่างไรก็ตาม ความใฝ่ศึกษาของเนียร์มาลา โดยเฉพาะแขนงวิชาเศรษฐศาสตร์ นำพาให้เธอเรียนจนถึงระดับอนุปริญญาเอกที่ Jawaharlal Nehru University มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นแหล่งบ่มเพาะอุดมการณ์ทางการเมืองหลากหลายแขนง และหลายฝ่ายก็เชื่อว่า ณ ที่แห่งนี้เองที่ทำให้เธอหันหน้ามาสนใจการเมืองอินเดียอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการได้พบพานกับคู่ชีวิตของเธอ ผู้ซึ่งมีประวัติภูมิหลังเป็นครอบครัวทางการเมืองจากรัฐอานธรประเทศ แต่น่าสนใจว่าในขณะที่เนียร์มาลาฝักใฝ่ในแนวอุดมการณ์ทางการเมืองแบบบีเจพี แต่สามีของเธอกับอยู่ในตระกูลการเมืองที่สนับสนุนพรรคคองเกรส แต่ทั้งคู่ก็เป็นคู่ชีวิตที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกันเสมอมา โดยเฉพาะการเสียสละของเนียร์มาลาที่ยอมละทิ้งการเรียนปริญญาเอกที่อินเดียเพื่อติดตามสามีไปอยู่ประเทศอังกฤษ

แต่ด้วยความสนใจการเมืองและเศรษฐกิจอินเดียเสมอมา เมื่อเธอและครอบครัวย้ายกลับมายังอินเดียในช่วงทศวรรษ 1990 เนียร์มาลาเดินหน้าทำงานการเมือง โดยเฉพาะในเรื่องการศึกษา เด็ก และสตรี จนได้รับคัดเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมาธิการสตรีในยุคสมัยของนายกรัฐมนตรีอาตัล พิฮารี วัจปายี (Atal Bihari Vajpayee) ของพรรคบีเจพี ในขณะเดียวกันเธอยังรับหน้าที่ในการเป็นโฆษกของพรรคบีเจพีควบคู่ไปด้วย แน่นอนว่าเส้นทางการเมืองของเธอนั้นต่างจากนักการเมืองหลายคนที่มาจากตระกูลการเมือง เพราะเนียร์มาลาเติบโตในพรรคบีเจพีผ่านความรู้ความสามารถของเธอที่ทำงานให้กับพรรค ผ่านการทำงานด้านนโยบาย โดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจ หรือกล่าวให้เข้าใจง่ายก็คือเธอทำงานเป็นหลังบ้านให้พรรคบีเจพี รวมถึงเป็นหนังหน้าไฟในฐานะโฆษกด้วยนั่นเอง

ผลลัพธ์จากการทำงานของเธอคือการได้รับเลือกเป็นสมาชิกราชสภา (วุฒิสภา) พร้อมทั้งรั้งตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังและภาคเอกชนสัมพันธ์ ในปี 2014 ในสมัยรัฐบาลโมดี 1 ก่อนจะถูกโยกย้ายไปเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมในเวลาต่อมา เส้นทางการเติบโตของเนียร์มาลาอาจเรียกได้ว่าเป็นเส้นทางของผู้นำการเมืองแบบบีเจพี ที่ใครทำดีมีผลงาน ย่อมได้รับผลตอบแทน เพราะในปี 2017 เนียร์มาลาก็ขึ้นรั้งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กลายเป็นผู้หญิงคนที่ 2 ของอินเดีย ต่อจากอดีตนายกรัฐมนตรีอินทิรา คานธีที่เคยดำรงตำแหน่งนี้มาก่อน

ในสมัยรัฐบาลโมดี 2 เนียร์มาลาก็เจิดจรัสอีกครั้งในฐานะขุนคลังหญิงคนแรกของประเทศอินเดียที่ดำรงตำแหน่งนี้อย่างถาวร (ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีอินทิรา คานธีเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลังมาก่อน แต่เป็นการชั่วคราว) และที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ ณ วันแรกที่ได้รับตำแหน่งจนถึงวันนี้ที่รัฐบาลโมดี 2 กำลังจะหมดวาระในปี 2024 ที่จะถึงนี้

ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เนียร์มาลาได้พิสูจน์อะไรหลายอย่าง โดยเฉพาะคำสบประมาทมากมายที่เธอได้รับตอนเข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ เพราะสุดท้าย นอกจากเธอจะนำพาอินเดียรอดจากวิกฤตโควิด-19 และความผันผวนของราคาน้ำมันได้แล้ว ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจอินเดียยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีมาตรการทางเศรษฐกิจมากมายที่น่าสนใจ

สู่ตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมหญิงคนแรกของพรรคชาตินิยมฮินดู

ดังที่ได้กล่าวไปบ้างแล้ว การเติบโตทางการเมืองที่อยู่นอกเหนือเส้นทางตระกูลการเมืองที่หลายพรรคใหญ่ในประเทศอินเดียมีกัน (โดยเฉพาะพรรคคองเกรสมีข้อครหามากที่สุด) การเติบโตจากความรู้ความสามารถ และผลงานที่ทำไว้ก็ถือเป็นอีกช่องทางให้ใครหลายคนในพรรคบีเจพีได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทางการเมืองหรือร่วมอยู่ในคณะรัฐมนตรีได้ ฉะนั้น นับตั้งแต่รัฐบาลโมดี 1 จนถึงโมดี 2 เราได้เห็นรัฐมนตรีตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่งที่ไม่ได้เป็นนักการเมืองโดยตรง แต่เป็นผู้เชี่ยวชาญหรือจัดว่าเป็น ‘มืออาชีพ’ ในด้านนั้นๆ สำหรับเนียร์มาลาแล้วเธอก็อาจถูกจัดอยู่ในกลุ่มนักการเมืองแบบหลังของพรรคบีเจพี ที่ค่อยๆ เติบโตจากการทำงานให้พรรคและสั่งสมผลงานมาเรื่อยๆ

แม้หลายคนจะบอกว่าการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงใหญ่ในรัฐบาลอินเดียของเนียร์มาลา ทั้งรัฐมนตรีกลาโหมและรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง เป็นการสร้างภาพของพรรคบีเจพีให้คนอินเดียและนานาชาติเห็นว่าเป็นพรรคที่ส่งเสริมสถานภาพของสตรี แต่นั่นก็อาจเป็นเพียงมายาคติ เพราะในกรณีของเนียร์มาลา เธออยู่ในตำแหน่งเหล่านี้เพราะเธอคือคนทำงานคนสำคัญที่นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีไว้วางใจ

หากถามว่าเหตุใดนายกรัฐมนตรีโมดีจึงชื่นชอบการทำงานของเนียร์มาลา นั่นก็อาจเป็นเพราะทั้งคู่ต่างก็เติบโตทางการเมืองจากความรู้ความสามารถของตนเองเหมือนๆ กัน ไม่ได้มาพร้อมภูมิหลังตระกูลการเมืองเหมือนคนอื่นๆ (นักวิเคราะห์การเมืองอินเดียบางส่วนเชื่อว่านั่นทำให้โมดีเลือกรัฐมนตรีหลายคนจากความสามารถมากกว่าตอบแทนกันทางการเมือง)

เนียร์มาลาเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม ถูกปรับเข้ามาเพื่อรัฐภารกิจในการจัดการกับประเด็นการซื้อเครื่องบินรบระหว่างรัฐบาลอินเดียกับฝรั่งเศส ซึ่งถูกฝ่ายค้านโจมตีอย่างหนักเกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากลในการจัดหาเครื่องบินรบรุ่น Rafale ว่าอาจมีประเด็นการทุจริตเกิดขึ้น ด้วยข้อมูลและการตอบคำถามของเธอต่อผู้นำฝ่ายค้านในรัฐสภา ตลอดจนการสื่อสารถึงมวลชนของอินเดีย ส่งผลให้รัฐบาลบีเจพีสามารถหลุดพ้นวิกฤตศรัทธาครั้งสำคัญไปได้

ที่สำคัญไปกว่านั้น เนียร์มาลายังมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจร่วมกับนายกรัฐมนตรีโมดีในปฏิบัติการตอบโต้การก่อการร้ายในปากีสถาน ช่วงที่กำลังมีการเลือกตั้งในปี 2019 ด้วย และอย่างที่ทราบกันว่าปฏิบัติการทางการทหารในครั้งนั้นมีส่วนอย่างมากที่ส่งผลให้พรรคบีเจพีผลิกกลับมาเป็นฝ่ายได้เปรียบในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2019 และยังส่งผลให้พรรคบีเจพีชนะด้วยคะแนนท่วมท้นเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ทางการเมืองของอินเดียอีกด้วย

มากกว่าความเป็นตัวแทนสตรีคือผลงานที่ทำไว้

ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลงานเมื่อครั้งตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมในช่วง 2 ปีสุดท้ายของรัฐบาลโมดี 1 ได้ส่งผลให้เนียร์มาลา เป็นหนึ่งในรัฐมนตรีที่มีประวัติและผลงานดีที่สุดในรัฐบาลชุดดังกล่าว และนั่นก็ทำให้เธอได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลังที่ดูภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นงานถนัดของเธอนั่นเอง สิ่งสะท้อนสำคัญคือภายหลังที่เธอได้รับตำแหน่งกลับไม่มีการโจมตีเธออย่างเปิดเผยแม้แต่น้อยจากคนภายในพรรค สะท้อนว่าคนในพรรคบีเจพีไม่ได้มีข้อกังขาใดๆ ต่อความสามารถของเธอเลยแม้แต่น้อย

จนถึงวันนี้ แม้เศรษฐกิจอินเดียไม่ได้เติบโตอย่างร้อนแรงมากนัก แต่เนียร์มาลาก็ยังได้รับคำชื่นชมจากนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากที่สามารถนำพาอินเดียรอดวิกฤตเศรษฐกิจมาได้ ทั้งที่อินเดียต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19, ความผันผวนของราคาพลังงาน, สงครามการค้าจีน-สหรัฐอเมริกา รวมไปถึงสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน

ที่สำคัญไปกว่านั้น เธอยังมีส่วนสำคัญต่อการส่งเสริมแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพึ่งตนเองตามแนวนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลโมดี 2 ด้วย โดยเฉพาะการส่งเสริมให้ต่างชาติเข้ามาผลิตสินค้าภายในอินเดียมากขึ้น จากแต่เดิมที่อินเดียนิยมนำเข้าสินค้าเหล่านั้นจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นความพยายามสำคัญของอินเดียในการลดปัญหาการขาดดุลทางการค้า ในขณะเดียวกันก็เพิ่มการจ้างงานภายในประเทศควบคู่กันไปด้วย นอกจากนี้เธอยังมีบทบาทมากมายในการผลักดันนโยบายทางการคลังหลายชิ้นเพื่อพยุงเศรษฐกิจของอินเดีย โดยเฉพาะมาตรการลดภาษีบุคคลธรรมดาเพื่อช่วยชนชั้นกลาง หรือการผลักดันเงินสนับสนุนผู้ค้ารายกลางและรายย่อยเพื่อเสริมเงินทุน

แม้ว่าเธอจะถูกโจมตีอย่างหนักจากมาตรการทางการคลังที่ลดรายได้ภาครัฐ แต่ในทางกลับกันก็เพิ่มรายจ่ายมากยิ่งขึ้น แต่ด้วยจุดยืนทางนโยบายเศรษฐกิจที่ชัดเจนของเธอ รวมถึงคำอธิบายที่ชัดเจนตามหลักวิชาการ นั่นส่งผลให้เนียร์มาลากลายเป็นรัฐมนตรีไม่กี่คนในคณะรัฐบาลชุดปัจจุบันที่พรรคฝ่ายค้านขยาด ด้วยวาทศิลป์ที่ดุดัน รวมถึงองค์ความรู้ทางเศรษฐกิจที่มีมาก นั่นทำให้เธอได้รับความไว้วางใจอย่างมากจากนายกรัฐมนตรีโมดี ให้คุมกระเป๋าเงินของประเทศ เป็นขุนคลังคู่ใจที่อยู่กันจวบจะครบวาระเรียบร้อยแล้ว

ด้วยสถานะและอิทธิพลของเนียร์มาลาในทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้เองส่งผลให้ในปี 2019 และ 2020 เธอติดอยู่ในชื่อ 100 ผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลกของนิตยสารฟอร์บ และนี่ก็คือชีวิตและเส้นทางการเมืองของขุนคลังหญิงแห่งอินเดีย ‘เนียร์มาลา สิฐรามัน’ ผู้เชื่ออย่างสนิทใจว่า “ผู้หญิงไม่ได้ต้องการสิทธิพิเศษมากมายอะไรนัก เพียงแค่ต้องการการเพิ่มขีดความสามารถที่ช่วยให้ตัวเองสามารถต่อยอดศักยภาพที่มีได้”

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save