fbpx

บทเรียนจากวิกฤตศรีลังกากับ ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

แม้หลายคนจะรู้จักศรีลังกาในฐานะต้นกำเนิดชาซีลอนคุณภาพดี อดีตอาณานิคมของอังกฤษที่เคยมีตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่จากข่าวคราววิกฤตทางเศรษฐกิจของศรีลังกาก็ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาขนาดเล็กนี้ถูกจับตามองจากทั่วโลกอีกครั้งด้วยความกังวลว่าศรีลังกาจะเป็นโดมิโนชิ้นแรกของวิกฤตประเทศกำลังพัฒนาอื่นทั่วโลก

101 ชวน ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก คอลัมนิสต์ประจำ The101.world และผู้ที่สนใจศึกษา ‘เอเชียใต้’ ในมิติสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม อ่านวิกฤตศรีลังกา ตอบคำถามว่าอะไรที่ทำให้ประเทศที่เคยเป็น ‘ดาวรุ่ง’ แห่งเอเชียใต้จึงกลายเป็น ‘ดาวร่วง’ ที่กำลังสาหัส พร้อมถอดบทเรียนสำคัญสำหรับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ในอนาคต

ความขัดแย้งทางการเมืองถึงความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจ

ศุภวิชญ์ฉายภาพให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างมิติการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศศรีลังกาก่อนจะนำมาสู่วิกฤตแห่งชาติผ่านการย้อนกลับไปช่วงที่ศรีลังกาเผชิญสงครามกลางเมือง ความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธสิงหลกับชาวทมิฬที่กินระยะเวลายาวนานตั้งแต่ปี 1983-2009 นำมาสู่ความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของชาวศรีลังกาจำนวนมากส่งผลกระทบต่อเนื่องให้ศรีลังกาติดหล่มกับภัยสงครามภายในประเทศ ไม่สามารถดึงดูดการลงทุนต่างชาติเข้ามาพัฒนาประเทศได้

ในช่วงท้ายของสงครามกลางเมือง รัฐบาลราชปักษาจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการปราบปรามกบฏพยัคฆ์ทมิฬ อีแลม (Liberation Tigers of Tamil Eelam: LTTE) ความสำเร็จนี้เองทำให้ตระกูลราชปักษาครองใจชาวพุทธสิงหล และได้รับคะแนนนิยมอย่างท่วมท้นในฐานะวีรบุรุษของประเทศ อย่างไรก็ตาม ผลจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนชนกลุ่มน้อย ทำให้หลังปี 2009 ศรีลังกาต้องเผชิญการคว่ำบาตรจากนานาชาติอย่างหนัก ไม่เว้นกระทั่งเพื่อนบ้านใกล้ชิดอย่างอินเดีย รัฐบาลศรีลังกาในเวลานั้นจึงต้องแสวงหาแนวทางในการหาเงินจากนอกประเทศเข้ามาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศผ่านการออกพันธบัตรระหว่างประเทศทั้งระยะสั้นและระยะยาว

“หลังปี 2009 เป็นต้นมา ศรีลังกามีสัดส่วนการกู้ยืมเงินจากตลาดทุนในลักษณะดอกเบี้ยเชิงพาณิชย์เพิ่มมากขึ้น เพราะรัฐบาลศรีลังกาใช้การออกพันธบัตรรัฐบาลระหว่างประเทศและปล่อยในตลาดทุนระหว่างประเทศ ดอกเบี้ยจึงค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับการกู้ยืมระหว่างสถาบันการเงิน หรือกู้ยืมกับประเทศอื่นๆ ตั้งแต่ปี 2009-2021 สัดส่วนก่อหนี้ตรงนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว” ศุภวิชญ์สะท้อนถึงระเบิดเวลาลูกแรกที่รอวันปะทุของวิกฤตเศรษฐกิจศรีลังกา

เมื่อนานาชาติหันหลังหนี ศรีลังกาจึงหันหน้าไปกู้เงินกับประเทศจีนเป็นหลัก เนื่องจากจีนมีนโยบายโครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 (belt and road initiative) ขยายการลงทุนในต่างประเทศ แต่นอกจากจีนแล้วยังมีอีกหลายประเทศที่เคยปล่อยกู้ให้กับศรีลังกาไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่นที่ปล่อยกู้ให้กับศรีลังกาในสัดส่วนหนี้ที่ใกล้เคียงกับจีน รองลงมาคืออินเดียและประเทศอื่นๆ

เงินกู้ยืมจากต่างประเทศเหล่านั้นถูกนำมาพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เกิดการลงทุนมหาศาลจนทำให้ศรีลังกาหลังปี 2009 ถูกจับตามองว่าเป็นดาวรุ่งแห่งเอเชียใต้ เศรษฐกิจศรีลังกาเติบโตจนกลายเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง ซึ่งมีสถานะใกล้เคียงกับประเทศไทย ความหวังของชาวศรีลังกาที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเริ่มผลิบาน ผู้คนจำนวนมากหลุดพ้นจากความยากจนและมีสัดส่วนชนชั้นกลางเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งรัฐบาลราชปักษาหันมาจัดสรรงบไปทำเรื่องรัฐสวัสดิการทั้งในเรื่องการศึกษาและสาธารณสุข

“ในช่วงเวลานั้นเศรษฐกิจศรีลังกาค่อนข้างบูม ถ้าผมให้เปรียบเทียบก็อาจจะเป็นภาพประเทศไทยก่อนจะเจอฟองสบู่แตก ทุกคนไม่คิดว่ามันจะเจอวิกฤต” ศุภวิชญ์อธิบายภาพเศรษฐกิจที่รุ่งโรจน์ของศรีลังกา และเสริมว่าแต่การเติบโตทางเศรษฐกิจเหล่านั้นไม่ได้เกิดจากความแข็งแรงของโครงสร้างเศรษฐกิจภายในกลับอาศัยการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ และการลงทุนภายนอก ซึ่งมีผลโดยตรงต่อค่าเงิน เงินทุนสำรองระหว่างประเทศและมีเงื่อนไขสำคัญคือต้องชำระหนี้ตามระยะเวลาที่กำหนด อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา ตัวเลขการส่งออกของศรีลังกาลดลงอย่างต่อเนื่องพร้อมกันนั้นการลงทุนจากภายนอกก็เริ่มถดถอยจนทำให้เครื่องจักรสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจของศรีลังกาคือการท่องเที่ยวที่จะดึงดูดเงินตราจากต่างประเทศได้

“บทความของนักวิชาการของศรีลังกาหลายคนอธิบายว่าในปี 2017 ศรีลังกาก็เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เพียงแต่ว่าศรีลังกาเลือกที่จะปล่อยท่าเรือแฮมบันโตตา (Hambantota) ให้จีนเช่า 99 ปี เพื่อดึงเงินดอลลาร์มาใช้หนี้ ทำให้รอบนั้นรอดวิกฤตมาได้อย่างหวุดหวิด” ศุภวิชญ์กล่าวถึงเค้ารางของหายนะเศรษฐกิจศรีลังกาก่อนหน้านี้

ช่วงปลายปี 2021 ศรีลังกาเริ่มเผชิญสถานการณ์สัดส่วนหนี้ต่อรายได้ของรัฐบาลเพิ่มสูงขึ้น เงินทุนระหว่างประเทศไม่เพียงพอต่อยอดหนี้ที่จะครบกำหนดชำระ ไม่เพียงหนี้และความเปราะบางทางเศรษฐกิจเดิม สถานการณ์เลวร้ายลงจากปัจจัยที่ไม่คาดคิด ทั้งโควิด-19 ซึ่งทำให้ศรีลังกาสูญเสียรายได้จากนักท่องเที่ยว และสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของศรีลังกาและราคาอาหารโลก ยิ่งเมื่อรัฐบาลราชปักษายังดำเนินนโยบายทางการเงินและทางการคลังผิดพลาด โดยตัดสินใจลดภาษีอย่างฉับพลัน เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสุขภาพก็ส่งผลโดยตรงต่อรายได้ประเทศ ไม่นับรวมที่รัฐบาลตัดสินใจดำเนินนโยบายประชานิยม โดยที่ไม่มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ดีรองรับ และออกนโยบายสั่งแบนการนำเข้าสารเคมีจากต่างประเทศก็ทำให้สถานการณ์ยิ่งสาหัส

จากนโยบายสั่งแบนการนำเข้าสารเคมีจากต่างประเทศของรัฐบาล เพื่อเป้าหมายลดการขาดดุลทางเศรษฐกิจที่ไม่คิดรอบด้าน ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรไม่ได้ปริมาณที่ต้องการจนเกิดวิกฤตอาหารภายในศรีลังกาแทรกซ้อน รัฐบาลศรีลังกาต้องกัดฟันจ่ายเงินสกุลต่างประเทศเพื่อนำเข้าอาหารและพลังงานในราคาที่สูงมากกว่าปกติจากผลกระทบของสงครามรัสเซียยูเครน ชาวบ้านต้องเผชิญเงินเฟ้ออย่างหนัก เงินสำรองระหว่างประเทศร่อยหลอ และหนี้ของประเทศที่นับวันจะพุ่งขึ้นสูง สิ่งเหล่านี้กลายเป็นวัฏจักรแห่งวิกฤตการณ์ที่ศรีลังกาจนดูคล้ายกับจะไร้แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

จากผู้นำเพื่อสันติภาพสู่รัฐบาลที่ทำให้เศรษฐกิจล่มสลาย

บทวิเคราะห์ส่วนใหญ่ในศรีลังกาชี้ตรงกันว่าวิกฤตเศรษฐกิจเป็นความผิดพลาดเชิงนโยบายการคลังของรัฐบาลภายใต้การนำของคนในตระกูลราชปักษา 

สำหรับตระกูลราชปักษาเป็นตระกูลการเมืองท้องถิ่นครองอิทธิพลในพื้นที่ฮัมบันโตตา ตระกูลการเมืองนี้เพิ่งเติบโตไม่นานนักหลังจากที่มหินทรา ราชปักษาขึ้นมาผงาดบนเส้นทางการเมืองด้วยผลงานการปราบปรามกบฏพยัคฆ์ทมิฬ อีแลม ทำให้ตระกูลราชปักษาได้เริ่มเข้ามามีบทบาทครองอำนาจในศรีลังกามากยิ่งขึ้นพร้อมเสียงสนับสนุนถล่มทลายของชาวสิงหล เมื่อมหินทรา ราชปักษาได้ก้าวเข้ามาเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ตระกูลราชปักษาจึงได้เริ่มดึงเอาพี่น้องมาร่วมรัฐบาลมากขึ้น เคียงบ่าเคียงไหล่ในสนามการเลือกก่อนจะเผชิญกับข้อหาทุจริตคอร์รัปชันและปัญหาภายในพรรคของราชปักษาจนสุดท้ายแพ้การเลือกประธานาธิบดีในปีตั้งปี 2016 ไป

การกลับมาของรัฐบาลราชปักษาในสมัยที่ 3 ด้วยเสียงข้างมากในปี 2020 จึงสะท้อนได้ชัดว่าการขึ้นของตระกูลราชปักษามีประเด็นทางความมั่นคงเข้ามาเกี่ยวข้อง หลายคนคาดการณ์ว่าสาเหตุที่มหาชนเทใจให้ตระกูลราชปักษาอย่างล้นหลามเป็นผลมาจากเหตุการณ์ก่อการร้ายในปี 2019

“การปราบปรามกบฏพยัคฆ์ทมิฬ อีแลมในครั้งนั้น แม้จะมีปัญหาเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ในมุมมองของชาวพุทธสิงหล มันคือความสำเร็จของตระกูลราชปักษา เป็นมรดกที่ตระกูลราชปักษาใช้หากินในทางการเมืองมาตลอดและใช้ได้ผลด้วย” ศุภวิชญ์ให้ความเห็นพร้อมเสริมว่าจากความนิยมทางการเมืองท่วมท้น ทำให้ไม่ได้มีการตรวจสอบการดำเนินนโยบายของรัฐบาลอย่างเข้มข้นมากนักจากประชาชน ปล่อยปละให้รัฐบาลราชปักษา สมัยที่ 3 มีคนจากตระกูลราชปักษาเป็นรัฐมนตรี 7-8 คนที่คุมงบประมาณ 60% ของประเทศ ด้านรัฐบาลเองที่ครองเสียงข้างมากก็ใช้แนวนโยบายอำนาจนิยมปกปิดข้อมูลและจัดการผู้ประท้วงที่เห็นต่าง ขณะที่บรรดาข้าราชการที่ถูกแต่งตั้งจากตระกูลราชปักษาก็ร่วมปกปิดข้อมูลจนนำมาสู่วิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดของศรีลังกาและทำให้โกตาบายา ราชปักษา อดีตประธานาธิบดีลี้ภัยออกนอกประเทศ

“ปัจจุบันประธานาธิบดีคนใหม่ก็ยังไม่ทราบตัวเลขยอดหนี้ที่แท้จริงว่ามีโครงการใดอีกบ้างที่คนในตระกูลราชปักษาไปแอบตกลงกับจีนในนามของรัฐบาล นี่คือปัญหาว่าเมื่อระบบการเมืองมันถูกควบรวมหมดภายในมือของคนไม่กี่คน ปัญหาของการตรวจสอบก็จะตามมา”

“ศรีลังกาเจอทั้งปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาการเมือง เรียกได้ว่ามืดแปดด้าน หาแสงสว่างไม่เจอ” ศุภวิชญ์กล่าวถึงการออกจากวิกฤตว่าเป็นไปยากลำบาก เพราะขณะนี้รัฐบาลศรีลังกายังขาดเสถียรภาพ มีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีจึงยากต่อการเจรจาให้ IMF หรือประเทศต่างๆ ปรับโครงสร้างหนี้ ขณะเดียวกันยังให้ความเห็นว่าแม้หลายคนจะคาดการณ์ว่าตระกูลราชปักษาจะจบเส้นทางการเมืองแล้ว แต่ในความจริงตระกูลการเมืองนี้ยังมีคะแนนนิยมจากพี่น้องประชาชนอยู่จึงน่าติดตามสถานการณ์การเมืองของศรีลังกาต่อไปว่าจะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมืองหรือไม่ อย่างไร

กับดักหนี้จีนในศรีลังกา

ศุภวิชญ์ช่วยขยายความเข้าใจในประเด็นกับดักหนี้จีนในศรีลังกามากขึ้นด้วยการชี้ให้เห็นว่าปัญหาสำคัญของหนี้จีนเกิดจากการกู้ยืมเพื่อไปลงทุนโครงการยักษ์ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือท่าเรือฮัมบันโตตา สนามบินในเขตฮัมบันโตตาที่ไม่คุ้มทุนและไม่เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นการลงทุนด้วยเหตุผลทางการเมือง ดึงดูดคะแนนเสียงในพื้นที่ฮัมบันโตตาที่คนในตระกูลราชปักษาเป็นส.ส. จนสุดท้ายท่าเรือฮัมบันโตตาขาดทุนต่อเนื่อง ศรีลังกาจึงต้องปล่อยท่าเรือดังกล่าวให้จีนเช่าเป็นระยะ 99 ปี ซึ่งสำหรับจีนอาจจะได้ประโยชน์ในทางกลยุทธในเชิงความมั่นคง การควบคุมเส้นทางการขนส่งสินค้าในมหาสมุทรอินเดียมากกว่าในเชิงเศรษฐกิจ

ในความเห็นของศุภวิชญ์มองว่าหนี้จีนไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจศรีลังกาล้ม เนื่องจากศรีลังกายังสามารถเจรจาผันผ่อนหนี้กับจีนและอีกหลายประเทศ แต่หนี้ที่อยู่ในตลาดระหว่างประเทศที่ไม่สามารถผิดชำระหนี้ได้ต่างหากที่ส่งผลกับเศรษฐกิจศรีลังกาโดยตรง นอกจากนี้เขายังมองว่าจีนที่มักปล่อยเงินกู้ให้กับหลายประเทศที่มีปัญหาโครงสร้างทางการเมืองก็ได้รับบทเรียนสำคัญในการปล่อยกู้ให้กับประเทศที่มีการทุจริตคอร์รัปชันภายในประเทศ ทำให้ในอนาคตจีนน่าจะเข้มข้นกับหลักธรรมาภิบาลและความโปร่งใสมากขึ้น อย่างไรก็ดีเขามองว่าจีนไม่ต้องการให้ศรีลังกาล้ม และจะพยายามแสวงหาประโยชน์จากการปรับโครงสร้างหนี้ในครั้งนี้อย่างแน่นอน

บทเรียนจากศรีลังกาถึงประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย

วิกฤตเศรษฐกิจศรีลังกาเป็นบทเรียนชั้นดีของประเทศกำลังพัฒนาที่สามารถนำมาเป็นข้อพิจารณาในการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการความขัดแย้งทางการเมืองที่จะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ, การตรวจสอบและถ่วงดุลการทำงาน (check and balance) ของรัฐบาลหรือบุคคลที่เคยมองว่าเป็นวีรุบุรุษของประเทศ, การพิจารณาความพร้อมของโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการคลังก่อนการดำเนินนโยบายประชานิยมต่างๆ หรือกระทั่งการคำนวณความคุ้มทุนก่อนการลงทุนโครงการขนาดใหญ่

ศุภวิชญ์ได้ยกตัวอย่างประเทศที่มีแนวโน้มว่าจะเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจ เนื่องจากมีลักษณะเศรษฐกิจการเมืองคล้ายคลึงกับศรีลังกา โดยเริ่มต้นจากประเทศในแถบเอเชียใต้ที่มีลักษณะร่วมตรงที่มีตระกูลการเมืองค่อนข้างชัดเจน และไม่เปิดโอกาสให้นักการเมืองหน้าใหม่เข้ามาผลักดันนโยบายในเชิงการเมืองและสังคม ได้แก่ ปากีสถานประเทศในแถบเอเชียใต้ที่เผชิญทั้งปัญหาคอร์รัปชัน ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ และมีสัญญาณเตือนทางเศรษฐกิจในปี 2017 คล้ายคลึงกับศรีลังกา แต่ปากีสถานเลือกที่จะกู้ยืมเงินระหว่างประเทศกับประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) เพื่อชำระหนี้ IMF นอกจากนี้ปากีสถานยังมีความแตกต่างจากศรีลังกาในเชิงบริบททางการเมือง กล่าวคือมีลักษณะโครงสร้างทางการเมืองแบบสหพันธรัฐ มีระบบการตรวจสอบและถ่วงดุล และไม่ผูกติดกับตระกูลการเมืองมากเท่าประเทศศรีลังกา

ขณะที่บังกลาเทศก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่น่าจับตามองด้วยเหตุผลความน่าวิตกกังวลเรื่องวิกฤตเสถียรภาพทางการเมือง เมื่อผู้นายกรัฐมนตรีชีค ฮาสินาเสียชีวิต ทั้งยังเผชิญปัญหาคอร์รัปชันและพึ่งพาการกู้ยืมเงินจากจีน นอกจากนี้ยังศุภวิชญ์ยังได้เอ่ยถึงเนปาลและมัลดีฟที่พึ่งพาการกู้ยืมเงินจากจีนเช่นเดียวกับศรีลังกา

ไม่เพียงประเทศในแถบเอเชียใต้ ศุภวิชญ์ยังยกตัวอย่างลาว ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนที่มีเค้าลางว่าจะเผชิญวิกฤตเงินตรา ในช่วงที่ผ่านมาลาวเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ ค่าเงินกีบตกลง ขณะที่ค่าน้ำมันแพงขึ้นส่งผลต่อทั้งระบบโลจิสติกส์ภายในประเทศและกระทบเศรษฐกิจในด้านอื่นๆ นอกจากนี้ลาวยังพึ่งพิงการกู้ยืมเงินจากจีนค่อนข้างมาก แต่ศุภวิชญ์มองว่าจุดแข็งของลาวที่แตกต่างจากศรีลังกาคือความรุ่มรวยทางด้านทรัพยากรธรรมชาติจะเห็นได้จากหลายปีที่ผ่านมาประเทศลาวได้ให้สัมปทานเขื่อนและเหมือง และในปัจจุบันยังไม่เผชิญปัญหาการเมืองซ้อนทับ รวมถึงหนี้ส่วนใหญ่ยังเป็นการกู้ยืมเงินระหว่างประเทศที่ลาวสามารถเจรจาขอผ่อนผันได้ อย่างไรก็ดีวิกฤตศรีลังกาย้ำเตือนประเทศลาวถึงความสำคัญของการบริหารจัดการหนี้ว่าจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยอื่นที่อาจจะแทรกซ้อน เพื่อให้มีแผนสำรองในการจัดการนโยบายทางการคลัง

“ผมคิดว่าทั้งลาว ทั้งศรีลังกาต่างก็มีความคาดหวังที่จะพัฒนาประเทศตัวเอง อย่างลาวเองการได้มาของรถไฟความเร็วสูง พัฒนาตัวเองจาก Land Locked (ประเทศที่ไม่มีอาณาเขตติดกับทะเล) สู่การเป็น Land Link (ศูนย์กลางเชื่อมทางบกระหว่างจีน ไทย เวียดนาม และกัมพูชา) ก็อาจจะเป็นแนวนโยบายไม่กี่อย่างที่เขาจะพัฒนาเศรษฐกิจของตัวเองได้” ศุภวิชญ์ให้ความเห็นพร้อมย้อนมองมาที่ประเทศไทยว่าประเทศไทยมีบทเรียนจากวิกฤตต้มยำกุ้งในอดีต ทำให้ประเทศไทยปรับโครงสร้างทางการเงินและโครงสร้างทางการคลังของตัวเอง หันมากู้ยืมภายในประเทศมากยิ่งขึ้น และลดการพึ่งพิงเงินตราต่างประเทศ

ความช่วยเหลือจากรัฐมหาอำนาจเพื่อคานจีน

หลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจศรีลังกา ศุภวิชญ์สะท้อนว่ามีสัญญาณเชิงบวกในการเข้าไปช่วยเหลือศรีลังกาจากประเทศมหาอำนาจ วิกฤตนี้เปิดโอกาสให้ประเทศที่ถอยห่างจากประเทศศรีลังกาไปนานหรือวิเคราะห์ว่าศรีลังกาใกล้ชิดกับจีนได้เข้าไปฟื้นฟูความสัมพันธ์กับศรีลังกาอีกครั้ง เช่น สหรัฐอเมริกาที่เริ่มกลับตั้งสำนักงานระหว่างประเทศในศรีลังกา และในการประชุมรัฐมนตรีคลังและการประชุมผู้ว่าการธนาคารกลางของกลุ่ม G20 สหรัฐอเมริกาได้พูดถึงการเป็นตัวกลางระหว่างประเทศที่ให้ศรีลังกากู้ยืมเงินกับประเทศศรีลังกา เพื่อเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ นอกจากนี้สหรัฐอเมริกาก็ยังเป็นประเทศให้กู้รายใหญ่ของ IMF ผู้มีส่วนสำคัญที่จะตัดสินว่าศรีลังกาจะได้เงินกู้จาก IMF หรือไม่

ศุภวิชญ์ตั้งข้อสังเกตว่าวิกฤตศรีลังกาเกิดในช่วงที่สหรัฐอเมริกาต้องการจะเพิ่มอิทธิพลในเอเชียอีกครั้ง การช่วยเหลือให้ศรีลังกาพ้นวิกฤตในครั้งนี้อาจจะเป็นการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญที่สหรัฐอเมริกาจะกลับเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคนี้ อย่างไรก็ดีนักวิเคราะห์หลายคนให้ความเห็นว่าการเข้าไปช่วยเหลือประเทศที่เกิดวิกฤตอาจจะต้องลุ้นว่าจะได้รับผลตอบแทนหรือไม่ และชาวศรีลังกาจะมีทัศนคติอย่างไร หากการเข้ามาของ IMF นำไปสู่การปรับโครงสร้างขนานใหญ่ของประเทศศรีลังกา

นอกจากสหรัฐอเมริกาที่ส่งสัญญาณให้ความช่วยเหลือ ศุภวิชญ์เล่าว่าประเทศอินเดีย พี่ใหญ่แห่งเอเชียใต้ที่เคยดำเนินนโยบายเพื่อนบ้านเป็นที่หนึ่ง (neighborhood first policy) แต่ต้องลดความสัมพันธ์ลงในช่วงการคว่ำบาตรสงครามกลางเมืองก็กลับเข้ามามีบทบาทในศรีลังกามากยิ่งขึ้น

“ส่วนตัวมองว่าเป็นโอกาสสำคัญของอินเดียที่จะเข้าไปในศรีลังกาอีกครั้ง และสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนศรีลังกา เพราะจะช่วยสกัดกั้นอิทธิพลของจีนในภูมิภาคเอเชียใต้ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นหลังบ้านของอินเดีย ช่วงเวลานี้ก็จะเป็นช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับอินเดียเองที่จะแสดงบทบาทความเป็นมหาอำนาจภายในภูมิภาคและสร้างความตระหนักถึงบทบาทของตัวเองต่อเพื่อนบ้าน” ศุภวิชญ์ย้ำพร้อมกล่าวว่าในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา อินเดียให้ความช่วยเหลือกับศรีลังกาเยอะมากคล้ายกับกำลังแข่งขันกับจีน

ไม่เพียงประเทศที่กล่าวมาข้างต้น เขายังเล่าว่ามีหลายประเทศในยุโรปเริ่มพูดถึงการยื่นมือช่วยเหลือศรีลังกา รวมไปถึงมหาอำนาจอย่างญี่ปุ่นที่มีการลงทุนในศรีลังกาจำนวนมากก็อาจจะกลับมาให้ความช่วยเหลือศรีลังกาเช่นกัน

“เวลาเราพูดเรื่องหนี้จีน ปัญหาสำคัญคือหลายๆ ประเทศไม่มีทางเลือกที่ดีหรือง่ายเมื่อเทียบกับการให้กู้ของจีน หากมีการแข่งขันระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน หรือบรรดามหาอำนาจอื่นๆ ภายในภูมิภาคกับจีนมากขึ้นตรงนี้ผมคิดว่าเป็นผลดีกับหลายๆ ประเทศทั่วโลก ผมว่าประเทศเหล่านั้นจะมีทางเลือกมากยิ่งขึ้นในการตัดสินใจกู้ยืม พัฒนาเศรษฐกิจ หรือการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน มันก็เป็นมุมมองในแง่บวกของการแข่งขันระหว่างประเทศเหมือนกัน” ศุภวิชญ์ทิ้งท้าย

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save