fbpx

การเมืองซ้ายๆ กับผลเลือกตั้งของเนปาลครั้งล่าสุด

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2022 ที่ผ่านมา ประเทศเล็กๆ ที่โอบล้อมไปด้วยหุบเขาหิมาลัยอย่างเนปาลมีการจัดเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งถือเป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญ เพราะก่อนหน้านี้เนปาลเกิดวิกฤตทางการเมืองภายในมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการแตกขั้วออกของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศเนปาลระหว่างสายมาร์กซิสต์และสายเหมาอิสต์ที่เป็นแกนนำสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลก่อนหน้านี้ แต่ความวุ่นวายไม่จบเพียงแค่นั้น เพราะภายในพรรคคอมมิวนิสต์สายมาร์กซิสต์ก็เกิดการแตกคอกันเองภายในจนนำไปสู่การสลับขั้วทางการเมือง และนำพาให้พรรคเนปาลีคองเกรสกลายเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลภายใต้รัฐบาลผสมร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์สายเหมาอิสต์ และงูเห่าบางส่วนของพรรคคอมมิวนิสต์สายมาร์กซิสต์

แต่ด้วยคะแนนเสียงในรัฐสภาที่ยังไม่มีเสถียรภาพ รวมถึงความวุ่นวายไม่รู้จบของบรรดาพรรคการเมืองสายคอมมิวนิสต์ ในท้ายที่สุดแล้ว รัฐบาลเนปาลีคองเกรสตัดสินใจประกาศยุบสภาและจัดเลือกตั้งใหม่ บทความนี้จึงอยากชวนย้อนมองวังวนปัญหาการเมืองเนปาลนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึงการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ที่พรรคการเมืองใหม่ๆ ได้รับความนิยมมากขึ้น จากแต่เดิมที่อำนาจการเมืองเนปาลผูกขาดโดยฝ่ายซ้ายมาอย่างต่อเนื่อง

จากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สู่สาธารณรัฐ

หลายสิบปีที่แล้ว เนปาลต้องเผชิญปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงที่กินระยะเวลายาวนานเป็น 10 ปี (1996-2006) ความขัดแย้งทางการเมืองของเนปาลในครั้งนั้นไม่ได้เป็นเพียงความไม่ลงรอยกันทางความคิดระหว่างฝ่ายรัฐบาลและขบวนการเคลื่อนไหวเหมาอิสต์เท่านั้น แต่ความขัดแย้งดังกล่าวยังขยายวงจนกลายเป็นสงครามกลาง เมื่อขบวนการเคลื่อนไหวเหมาอิสต์ตัดสินใจจับอาวุธขึ้นสู้เพื่อแสวงหาความเท่าเทียมและความเป็นธรรมจากภาครัฐ

ผลของความขัดแย้งดังกล่าวยุติลงด้วยการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศภายหลังความพยายามแทรกแซงทางการเมืองครั้งสุดท้ายของสถาบันพระมหากษัตริย์ของเนปาลล้มเหลว รัฐบาลเนปาลได้มีการลงนามข้อตกลงสันติภาพกับกลุ่มเหมาอิสต์ โดยทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันเกี่ยวการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และได้ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงประเทศสู่ระบอบสาธารณรัฐในปี 2008 อย่างไรก็ตามในห้วงเวลาดังกล่าวยังไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างเป็นทางการ ฉะนั้นในปี 2008 เนปาลจึงมีการจัดการเลือกตั้งเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับของประเทศ

การเลือกตั้งครั้งนั้นถือเป็นครั้งแรกที่ขบวนการเหมาอิสต์ผันลงเล่นการเมืองภายใต้ชื่อ ‘พรรคคอมมิวนิสต์แห่งเนปาล’ (สายเหมาอิสต์) และได้รับความนิยมอย่างท่วมท้นจากชาวเนปาล อย่างไรก็ตาม ด้วยความขัดแย้งทางการเมืองและความเห็นที่ขัดแย้งภายใต้ระบอบประชาธิปไตยส่งผลให้พรรคคอมมิวนิสต์สายเหมาอิสต์ไม่สามารถผลักดันเจตจำนงค์ของตนเองลงในรัฐธรรมนูญได้ทั้งหมด ทั้งยังส่งผลให้การร่างรัฐธรรมนูญล่าช้าออกไป จนกระทั่งปี 2015 เนปาลจึงมีรัฐธรรมนูญที่ผ่านความเห็นชอบของเสียงส่วนใหญ่

แม้ว่าหลายฝ่ายมีความหวังอย่างมากว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของเนปาลจะมีส่วนอย่างสำคัญในการบูรณะประเทศจากสงครามการเมืองที่ประชาชนสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินไปเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันการเมืองเองก็ขาดเสถียรภาพมาตลอดช่วงสงครามการเมืองจนส่งผลอย่างมากต่อการพัฒนาประเทศ แต่ดูเหมือนว่าความหวังดังกล่าวจะเป็นเพียงแค่ความหวัง เพราะในท้ายที่สุดแล้ว แม้เนปาลจะมีรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการออกมา แต่ความวุ่นวายทางการเมืองและการแย่งชิงผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆ ไม่ได้จบสิ้นอย่างที่คิด

อย่างไรก็ตามน่าสนใจว่าในห่วงกว่า 2 ทศวรรษนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมานั้น พรรคการเมืองส่วนใหญ่ที่ขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลล้วนมีแนวอุดมการณ์ทางการเมืองเอียงไปทางสังคมนิยมเป็นส่วนใหญ่ และอาจกล่าวได้ยิ่งกว่านั้นด้วยซ้ำไปว่า คนเนปาลดูเหมือนจะนิยมชมชอบในพรรคสายคอมมิวนิสต์เสียเป็นส่วนมากด้วย แนวคิดแบบสังคมนิยมจึงค่อนข้างมีความสำคัญอย่างมากต่อการขับเคลื่อนทางการเมืองและการออกแบบนโยบายในเนปาล

สังคมนิยม คอมมิวนิสต์และกระแสการเมืองของเนปาล

เนปาลถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับอิทธิพลทางการเมืองอย่างมากจากอินเดีย ประเทศเพื่อนบ้านข้างเคียงโดยเฉพาะกระแสความเคลื่อนไหวทางการเมือง ถึงแม้ว่าเนปาลจะเป็นเอกราชมาโดยตลอดในช่วงยุคอาณานิคม แต่การปกครองของเนปาลนั้นอยู่ภายใต้เงื้อมมือของตระกูลมหาเสนาบดีรานา (Rana Family) ที่ส่งผลให้องค์พระมหากษัตริย์มีสถานะเพียงสัญลักษณ์ กระทั่งเกิดกระแสเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชในอินเดีย คนเนปาลภายใต้การนำของกลุ่มเนปาลีคองเกรสที่มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับพรรคคองเกรสในอินเดียได้เริ่มเคลื่อนไหวล้มระบอบรานา และเปลี่ยนผ่านประเทศสู่ระบอบประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม ระบอบประชาธิปไตยของเนปาลไม่ได้เดินหน้าไปอย่างราบรื่นนัก เพราะหลายครั้งพระมหากษัตริย์ก็ทรงยึดอำนาจเข้ามาเป็นของตนเอง ส่งผลอย่างมากต่อการเมืองในประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น การพัฒนาส่วนใหญ่ยังเน้นเพียงในเขตเมืองใหญ่ ส่งผลให้ขบวนการเคลื่อนไหวเหมาอิสต์ใช้ช่องว่างนี้ขยายอิทธิพลของตนเองในเขตชนบท ยิ่งไปกว่านั้น ระบบอภิสิทธิ์ชนและชนชั้นวรรณะเองก็ยิ่งส่งผลให้กลุ่มเคลื่อนไหวและพรรคการเมืองสายคอมมิวนิสต์ได้รับความนิยมภายในเนปาลมากยิ่งขึ้น จนกระทั่งกลางทศวรรษที่ 1990 ที่กลุ่มเหมาอิสต์เลือกหยิบอาวุธและทำสงครามกลางเมือง ก่อนที่จะยุติด้วยการเข้าสู่ระบบการเมืองอย่างเป็นทางการดังที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น

แน่นอนว่านับตั้งแต่ศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา ภายใต้การเคลื่อนไหวอย่างหนักของกลุ่มเหมาอิสต์และพรรคคอมมิวนิสต์สายมาร์กซิสต์ คนเนปาลเข้าใจถึงหัวใจความสำคัญของระบบสังคมนิยมมากยิ่งขึ้น และผลสำคัญคือ แนวคิดเหล่านี้ไม่เคยหลุดหายไปในระบบการเลือกตั้งของเนปาลนับตั้งแต่ปี 2008 เลยก็ว่าได้ นโยบายแบบรัฐสวัสดิการและการให้ความช่วยเหลือพื้นฐานกลายเป็นการหาเสียงขั้นพื้นฐานของพรรคการเมืองหลายพรรค ความนิยมในแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์และสังคมนิยมของเนปาลพุ่งสูงสุดในช่วงการเลือกตั้งปี 2017 เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์สายมาร์กซิสต์และเหมาอิสต์ รวมกันเป็นหนึ่งเพื่อลงเลือกตั้ง และสามารถกวาดที่นั่งมาได้มากถึง 174 ที่นั่งจาก 275 ที่นั่ง

ในขณะที่พรรคสายสังคมนิยมอย่างเนปาลีเองแม้จะแพ้การเลือกตั้งในปีนั้น แต่ก็ได้ที่นั่งมากถึง 63 ที่นั่ง ฉะนั้นในรัฐสภาของเนปาลเมื่อการเลือกตั้งครั้งก่อนจึงเต็มไปด้วยพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ในช่วงปี 2020-2021 ที่เกิดการสลับขั้วทางการเมือง พรรคคอมมิวนิสต์สายเหมาอิสต์จึงสามารถจับมือกับพรรคเนปาลีคองเกรสได้ เพราะสุดท้ายแล้วแนวอุดมการณ์ทางด้านนโยบายไม่ได้แตกต่างกันนัก แม้ว่าจุดยืนทางการเมืองจะแตกต่างกันก็ตาม

กระแสลมแห่งลัทธิคอมมิวนิสต์และสังคมนิยมที่พัดโบกเหนือเนปาลมามากกว่า 2 ทศวรรษไม่ได้ส่งผลเฉพาะในทางการเมืองเท่านั้น แต่ในทางสังคมเองมันได้ลดทอนระบบชนชั้นวรรณะที่เข้มแข็งของเนปาลลง ทั้งยังส่งผลให้เกิดชนชั้นกลางที่เติบโตขึ้นมากมายจากแนวนโยบายการสนับสนุนขั้นพื้นฐานของรัฐตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่น่าเสียดายว่าในช่วงหลายปีมานี้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในเนปาลส่งผลอย่างมากต่อความเบื่อหน่ายของประชาชน รวมถึงความนิยมในพรรคการเมืองเก่าๆ เห็นได้จากการเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ๆ มากมายที่ต้องการเป็นความหวังให้คนเนปาลในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด

เนปาลกับการเลือกตั้งวันที่ 20 พฤศจิกายน 2022

ผลการเลือกตั้งทั่วไปของเนปาลที่จัดขึ้นในวันที่ 20 พฤศจิกายน ที่ผ่านมาถือว่ามีนัยสำคัญอย่างมากต่อการเมืองเนปาล เพราะในการเลือกตั้งรอบนี้ถือได้ว่ามีตัวแสดงใหม่ๆ เข้ามาในการเมืองเนปาลมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะพรรคการเมืองทางเลือกใหม่ที่เสนอตัวเข้ามารับใช้ประชาชนชาวเนปาล ที่แม้จะลงเลือกตั้งเป็นครั้งแรกและตั้งได้ไม่นาน แต่ก็สามารถกวาดที่นั่งได้เป็นจำนวนมากยกตัวอย่างเช่น พรรค Rastriya Swatantra Party (RSP) ที่มีอายุเพียง 5 เดือนเศษแต่สามารถชนะมาได้ถึง 20 ที่นั่งจาก 275 ที่นั่ง ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับพรรคการเมืองหน้าใหม่

น่าสนใจว่าในการเลือกตั้งรอบนี้ พรรคการเมืองดั้งเดิมไม่ว่าจะพรรคคอมมิวนิสต์สายมาร์กซิสต์หรือสายเหมาอิสต์ต่างมีคะแนนนิยมลดลงอย่างมาก มีเพียงพรรคเนปาลีคองเกรสที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ได้มากมายนัก ส่งผลให้พรรคเนปาลีคองเกรสจำเป็นต้องจับมือกับพรรคพันธมิตรที่วางความร่วมมือไว้ตั้งแต่การเลือกตั้งเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งคาดว่าจะประกอบไปด้วยพรรคคอมมิวนิสต์สายเหมาอิสต์ พรรคคอมมิวนิสต์สายสังคมนิยมเอกภาพ และพรรคขนาดเล็กอื่นๆ

แต่ดูเหมือนว่าการเมืองเนปาลก็ยังคงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว นั่นคือความวุ่นวายภายในพรรคการเมืองที่มีหลากหลายมุ้งที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ โดยเฉพาะพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอย่างเนปาลีคองเกรสที่วันนี้ยังคงแข่งขันกันภายในเพื่อหาผู้นำคนใหม่ซึ่งคาดว่าจะถูกชูเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ซึ่งเป็นศึกระหว่างรักษาการนายกรัฐมนตรี Sher Bahadur Deuba และเลขาธิการพรรคเนปาลีคองเกรส นาย Gagan Kumar Thapa ที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้อาวุโสในพรรค ตลอดจน ส.ส.รุ่นใหม่ในพรรค

ทำให้จนถึงวันนี้แม้การเลือกตั้งจะผ่านมาร่วมเดือนแล้ว ประเทศเนปาลก็ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้ และยังไม่มีความแน่นอนว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่จะมาจากพรรคไหน เพราะมีกระแสข่าวออกมาว่าหัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์สายเหมาอิสต์เองก็กำลังเคลื่อนไหวหาเสียงสนับสนุนเพื่อขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเช่นเดียวกัน เพราะสุดท้ายแล้วในการเมืองนั้น ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร การหันหลังกลับไปจับมือกับเพื่อนเก่าที่แทงข้างหลังกันมา (พรรคคอมมิวนิสต์สายมาร์กซิสต์) ก็อาจเกิดขึ้นได้ไม่ยากถ้าผลประโยชน์ลงตัว

หากจะสรุปว่าผลของการเลือกตั้งรอบล่าสุดของเนปาลบอกอะไรบ้าง ก็คงบอกได้เพียงว่าคนเนปาลเริ่มส่งสัญญาณถึงความเบื่อหน่ายต่อวังวนการเมืองเดิมๆ ดังตัวเลขผู้ออกมาใช้สิทธิที่ค่อนข้างน้อยคิดเป็นร้อยละ 61.41 เท่านั้น ในขณะเดียวกัน พรรคการเมืองเก่าก็ได้รับคะแนนนิยมลดลง ตรงกันข้ามกับพรรคการเมืองเกิดใหม่ที่มีแนวทางการเมืองที่เน้นเศรษฐกิจ และผลักดันนโยบายที่ได้รับคะแนนนิยมมากยิ่งขึ้น การเลือกตั้งในครั้งหน้าก็อาจจะได้เห็นเนปาลโฉมใหม่ที่ไม่ได้ผูกขาดเพียงจากพรรคเนปาลีคองเกรส หรือบรรดาพรรคคอมมิวนิสต์สายต่างๆ อีกต่อไป

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save