fbpx
นิวัต พุทธประสาท : คนทำหนังสือยุคนี้ ควรมีทัศนคติที่ดีต่อสื่อออนไลน์

นิวัต พุทธประสาท : คนทำหนังสือยุคนี้ ควรมีทัศนคติที่ดีต่อสื่อออนไลน์

ในบรรดากรรมการทั้ง 5 คน นิวัต พุทธประสาท คือคนที่คลุกคลีอยู่กับงานเขียนประเภท ‘วรรณกรรม’ มากที่สุด โดยเฉพาะงานวรรณกรรมไทยร่วมสมัย พูดง่ายๆ ว่าเป็นทั้งนักเขียน นักอ่าน และบรรณาธิการที่ทำงานเกี่ยวข้องกับวรรณกรรมไทยมาไม่ต่ำกว่า 20 ปี นับตั้งแต่การเป็นนักเขียนหน้าใหม่ใน ‘ช่อการะเกด’ ตั้งแต่สมัยยังเป็นหนุ่มเอ๊าะๆ มาจนถึงการบุกเบิก ‘Alternative Writers’ ที่เป็นแหล่งซ่องสุมของบรรดานักเขียน-คนทำหนังสืออินดี้หลังยุคฟองสบู่แตกในปี 2540 และจนถึงตอนนี้ยังคงหลงใหลในวรรณกรรมไม่เสื่อมคลาย เขาทำงานเขียนและเปิดสำนักพิมพ์เล็กๆ ภายใต้ชื่อ ‘เม่นวรรณกรรม’

เอาจริงเอาจังขนาดนี้ เขาจึงต้องมาเป็นกรรมการคัดเลือกหนังสือในโปรเจกต์ ‘ความน่าจะอ่าน’ ให้กับ 101 แน่ๆ

สำหรับโปรเจกต์ ‘ความน่าจะอ่าน’ คุณมีหลักในการเลือกหนังสืออย่างไร

สิ่งที่ตัวเองยึดในใจก็คือ อยากจะเลือกหนังสือแนววรรณกรรมของนักเขียนไทย และพยายามจะให้ครอบคลุมทั้งนิยาย เรื่องสั้น บทกวี แต่ละเล่มที่เลือกเข้ามาเป็นหนังสือที่เรามองเห็นว่ามันมีคุณค่าบางประการ บางเล่มก็เป็นเล่มที่คนนิยมกันอยู่แล้ว แต่บางเล่มเรามองว่าคนอ่านอาจจะยังไม่ทราบว่ามีหนังสือเล่มนี้ ก็เลยอยากแนะนำ เพื่อให้มันไปถึงคนอ่านในวงกว้างขึ้น

ส่วนตัวรู้สึกว่าพื้นที่รีวิวหนังสือช่วงหลังๆ มันค่อนข้างกระจัดกระจาย ไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน โดยเฉพาะในหน้านิตยสาร ทุกวันนี้ยิ่งน้อยลงเรื่อยๆ

คุณมองว่าตอนนี้สถานการณ์ของวงการหนังสือไทยเป็นอย่างไร จากที่ทำงานมากว่า 20 ปี

เราบอกเลยว่า ตลาดหนังสือของไทยมันใหญ่นะ มีหนังสือใหม่ออกมาเฉลี่ยวันละ 30-40 ปก ซึ่งถือว่ามีจำนวนมหาศาล แต่ถ้าดูในส่วนของวรรณกรรมหรือหนังสือที่มันเนื้อหาจริงจังขึ้นมาหน่อย จะเห็นว่ามันเติบโตช้า สังเกตได้ว่าสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ เองก็ผลิตงานวรรณกรรมของนักเขียนไทยน้อยลงอย่างชัดเจน มีผลให้ตลาดวรรณกรรมมันค่อนข้างซบเซา

เมื่อก่อนรวมเรื่องสั้นที่เป็นเล่มยังพอขายได้อยู่ แต่ในปัจจุบันเริ่มกลายเป็นหนังสือที่ขายยากขึ้น ชื่อเสียงนักเขียนมีส่วนสำคัญมากขึ้น ส่วนบทกวีไม่ต้องพูดถึงเลย หืดขึ้นคอมากๆ แต่ก็ยังมีบางสำนักพิมพ์ที่ดื้อรั้นจะพิมพ์ เช่น ชายขอบ สมมติ ซึ่งก็ต้องชื่นชม เพราะมันทำให้บทกวียังมีลมหายใจอยู่ ส่วนนวนิยายจะขายดีที่สุด ยังพอมีที่ทางในตลาดหนังสือมากกว่าเรื่องสั้นและบทกวี

คุณมองว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้งานวรรณกรรมเติบโตช้ากว่าที่คิด

ปัจจัยหลักๆ ก็คือ ในยุคสมัยนี้ผู้อ่านเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปค่อนข้างสูง อีกปัจจัยก็คือคนอ่านเปลี่ยนแนวทางการอ่าน อย่างนักอ่านบางคนก็อาจเปลี่ยนไปอ่านแนวสารคดีหรืออ่านแนววิชาการที่กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบัน

ในฐานะนักเขียน และคนทำหนังสือประเภทวรรณกรรม อะไรคือความน่าสนใจของงานประเภทนี้

งานวรรณกรรมเป็นงานที่ให้ความสำคัญกับอารมณ์ ความรู้สึก ซึ่งเป็นจุดเด่นที่งานวิชาการไม่มี อารมณ์ความรู้สึกตรงนี้แหละที่สามารถเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างในตัวเราได้

ถ้าเป็นคนรุ่นเก่าเขาเรียกว่าเป็น ‘อำนาจวรรณกรรม’ คือพลังจากการอ่านกระตุ้นเคมีบางอย่างในตัวเรา สั่นสะเทือนความคิดและมุมมองด้วยเรื่องราวที่เป็นเรื่องแต่ง แต่สามารถสะท้อนให้เห็นความจริงบางอย่าง ซึ่งคำว่าวรรณกรรมในที่นี้ ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นแนวที่ซีเรียสหรือเพื่อชีวิตเสมอไป อาจเป็นนิยายรักแบบทั่วๆ ไปก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนอ่าน แต่ถ้าถามเรา เราจะอินกับพวกที่เข้มข้นจริงจังหน่อย เพราะเราโตมากับงานเขียนประเภทนั้น

คุณมองเรื่องรางวัลทางวรรณกรรมต่างๆ ยังไง

เราคิดว่าการให้รางวัลต่างๆ ไม่เฉพาะในเมืองไทย กรรมการจะมองเรื่องคุณค่า เป็นเหมือนสถาบันที่ตัดสินว่าอะไรดีหรือไม่ดี โดยที่คนอ่านแล้วไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเท่าไหร่ อย่างซีไรต์ก็มีมุมมองแบบซีไรต์ เซเว่นบุ๊คส์ก็มีมุมมองอีกแบบ หรืออย่างรางวัลโนเบล ก็มีโมเดลของเขาอยู่ว่าเขาจะเลือกเรื่องอะไรหรือนักเขียนคนไหน

ซึ่งเรื่องรางวัลวรรณกรรมทั้งหมดที่ว่ามานี้ คนอ่านไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องเลย คนอ่านมีหน้าที่แค่รอฟังประกาศว่าเล่มไหนจะได้ ไม่มีสิทธิ์รู้ว่าทำไมเล่มนี้ไม่ได้ หรือทำไมเล่มนั้นไม่เข้ารอบ

ฉะนั้นสิ่งที่เราทำในโปรเจกต์นี้ ก็น่าจะตอบโจทย์นี้ได้ด้วย ก็คือการมีส่วนร่วมกับคนอ่านทั่วๆ ไป โดยไม่ได้ตั้งตัวเองให้เป็นสถาบัน หรือเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่จะต้องเชื่อแบบเราเท่านั้น แต่สามารถถกเถียงแลกเปลี่ยนกันได้ ซึ่งน่าจะก่อให้เกิดประโยชน์มากกว่า

แต่การที่หนังสือสักเล่มได้รางวัล อย่างน้อยๆ ก็น่าจะทำให้หนังสือเล่มนั้นได้รับความสนใจมากขึ้น รวมถึงมียอดขายเพิ่มขึ้นด้วย  หนทางแก้มันน่าจะเป็นยังไง?

จริงๆ แล้วการเพิ่มเปอร์เซ็นต์คนอ่าน มันไม่ใช่แค่เรื่องของรางวัลอย่างเดียว แต่มีส่วนอื่นๆ อีกหลายส่วนที่เป็นปัจจัย เช่น หนังสือหาซื้อง่ายมั้ย ราคาเหมาะสมกับค่าครองชีพมั้ย เพราะบางทีรางวัลก็ไม่ได้มีผลกับคนอ่านเท่าไหร่ แม้จะเป็นรางวัลก็ใหญ่ๆ ก็ตาม

ในยุคที่คนหันมาเสพสื่อออนไลน์เป็นหลัก สถานการณ์ของ ‘หนังสือเล่ม’ ถือว่าน่าหนักใจไหม

หลังจากที่นิตยสารเริ่มตาย หนังสือเล่มตอนนี้มันจะกลายเป็น rare item มากขึ้น ซึ่งดูแล้วน่าจะได้รับผลกระทบน้อยสุดในบรรดาสิ่งพิมพ์ทั้งหลาย เมื่อก่อนเราก็กลัวกันมากว่าถ้าอีบุ๊คมาเมื่อไหร่ จำนวนสำนักพิมพ์หรือกระทั่งนักเขียน จะลดน้อยลง ซึ่งก็คงเห็นกันแล้วว่ามันไม่ได้เป็นอย่างที่หลายคนกลัว

แต่ส่วนตัวมองการที่วงการหนังสือจะเคลื่อนไปได้ มันต้องไปด้วยกันทั้งระบบ ไม่ใช่เฉพาะสำนักพิมพ์ใดสำนักพิมพ์หนึ่ง หรือส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น มันต้องเชื่อมกันทั้งระบบ ทั้งบริษัทเล็กและบริษัทใหญ่ ตั้งแต่สำนักพิมพ์ สายส่ง ไปจนถึงร้านหนังสือซึ่งเป็นด่านสุดท้าย พูดง่ายๆ ว่าต้องสร้างพันธมิตรกัน เพื่อวงการถึงขับเคลื่อนต่อไปได้ ทุกวันนี้ไม่มีใครที่สามารถไปได้ด้วยตัวคนเดียวอีกต่อไปแล้ว

ในทางกลับกัน เราจะเห็นคนในแวดวงหนังสือใช้ประโยชน์จากสื่อออนไลน์กันมากขึ้นด้วยซ้ำ

ใช่ สังเกตว่าตอนนี้สำนักพิมพ์เล็กใช้สื่อออนไลน์ได้ดีมาก อย่างเมื่อก่อนถ้าอยากโปรโมตหนังสือ เราก็ต้องซื้อโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์ หรือไม่ก็ลงนิตยสาร ซึ่งมันเสียเงินเยอะมาก กว่าจะทำให้หนังสือเข้าถึงคนอ่าน และมักจะมีแต่สำนักพิมพ์ใหญ่ๆ เท่านั้นที่ทำได้

แต่ทุกวันนี้เรามีอินเทอร์เน็ต มีเฟซบุ๊ก เราจ่ายค่าโฆษณาแค่ไม่กี่บาทก็เข้าถึงกลุ่มคนอ่านได้เลย แถมระบุได้ด้วยว่าอยากให้เป็นกลุ่มไหน นี่คืออาวุธที่ทุกคนมีเท่ากันหมด ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นอาวุธที่จำเป็นต้องใช้ด้วยนะ อย่างที่บอกไปว่าแต่ละวันมันมีหนังสือใหม่ออกมาเยอะมาก ถ้าเราไม่ใช้ นักอ่านก็ไม่มีทางรู้

นี่คือสิ่งที่คนในวงการหนังสือต้องปรับตัว ทั้งตัวนักเขียน บรรณาธิการ หรือกระทั่งสำนักพิมพ์ เราเป็นคนทำหนังสือ เรารู้ดีว่ากว่ามันจะออกมาเป็นเล่มได้เนี่ย ต้องลงทุนลงแรงเยอะแค่ไหน ไม่ใช่แค่เรื่องเงินอย่างเดียว แต่เป็นการลงทุนเรื่องจิตใจด้วย

ประโยคหรืออุดมการณ์ที่ว่า ‘คุณแค่เขียนหนังสือออกมา แล้วเดี๋ยวคนอ่านก็มาเจอเอง’ อาจใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว อย่างน้อยๆ คนทำหนังสือยุคนี้ควรมีทัศนคติที่ดีต่อสื่อออนไลน์

ดูแล้วสถานการณ์ตอนนี้ก็คล้ายๆ กับเมื่อยี่สิบปีก่อน ตอนที่คุณทำ Alternative Writers ขึ้นมา เป็นช่วงที่วงการหนังสือประสบปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจ คนจึงหันมาทำหนังสือทำมือ พิมพ์เองขายเอง ตอนนี้แนวคิดในการทำหนังสือก็เหมือนจะเป็นไปในทิศทางนั้น ต่างกันแค่พื้นที่ซึ่งเปลี่ยนจากออฟไลน์ไปสู่ออนไลน์

ใช่ เมื่อหนังสือแมกกาซีนมันค่อยๆ ตายไปทีละหัว พื้นที่ในการนำเสนองานเขียนที่จับต้องได้ค่อยๆ หายไปทีละส่วน โดยเฉพาะพื้นที่เรื่องสั้น บทกวี ต้องบอกเลยว่าเมื่อก่อนพื้นที่ในนิตยสารมีเต็มไปหมดเลย เราสามารถเลี้ยงตัวเองจากการเขียนเรื่องสั้นส่งไปตามนิตยสารได้ อย่างน้อยเดือนละ 3-4 เรื่อง ก็จะได้เงินมาจำนวนหนึ่ง แต่เมื่อหน้าหนังสือมันค่อยๆ หายไป นักเขียนเกิดใหม่ก็น้อยลง จนเมื่อมันเริ่มมีอินเทอร์เน็ต มีบล็อกต่างๆ อย่างทุกวันนี้ทุกคนสามารถมีพื้นที่เผยแพร่งานเขียนของตัวเองได้ เข้าถึงคนอ่านได้ง่ายกว่าแต่ก่อน

แต่อีกมุมหนึ่งที่น่าคิด ก็คือสมัยก่อนนักเขียนที่ตั้งใจว่าจะเป็นนักเขียนอาชีพทุกคน จะต้องผ่านมือบรรณาธิการ งานต้องผ่านการคัดเลือกและคัดกรองจาก บ.ก. ถึงจะเป็นเครื่องยืนยันว่างานนั้นมีคุณภาพ แต่ยุคนี้มันแปลกตรงที่ว่า อาจไม่ต้องผ่านก็ได้ เช่น คุณอาจเขียนลงเพจเฉยๆ แล้วดังขึ้นมาเลยก็ได้ เหมือนว่าบทบาทของ บ.ก. มันค่อยๆ หายไปกับการตายของนิตยสาร ในแง่ของการคัดสรรงานที่มีคุณภาพ ซึ่งถามว่าผิดไหม มันก็ไม่ผิดหรอก เพราะสุดท้ายแล้ว การที่ใครสักคนตั้งใจจะเป็นนักเขียนอาชีพจริงๆ ได้ อาจต้องวัดกันในระยะยาวอยู่ดี งานเขียนเป็นงานที่ต้องพิสูจน์ตัวเองตลอดเวลา

แล้วในมุมของคุณ บรรณาธิการยังจำเป็นอยู่ไหมในยุคสมัยนี้?

จำเป็นมากครับ คืองานเขียนของเรา แม้เราจะเขียนเอง ตีพิมพ์เองก็ตาม เวลาเขียนเสร็จก็ต้องมี บ.ก. ที่ทำหน้าที่ตรวจความผิดพลาดของเราอยู่ดี ตรวจความทะเล่อทะล่าของเรา ซึ่งเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะในงานเขียนมันมีอะไรตกๆ หล่นๆ อยู่เสมอ ทั้งด้านความคิด ด้านความไม่สมจริง หรือข้อบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เราไม่ทันเห็น หรือคาดไม่ถึง ดังนั้นการมี บ.ก. จึงช่วยเราได้เยอะ และยังจำเป็นมากๆ กับการผลิตงานเขียนหรือหนังสือที่มีคุณภาพ

แล้วอาชีพ ‘คนทำหนังสือ’ ล่ะ ยังเป็นอาชีพที่น่าสนใจอยู่ไหม หรือในอนาคตจะยังมีคนที่ทำอาชีพนี้อยู่ไหม

น่าจะมีคนทำอยู่แน่ๆ เราคิดว่าคนรุ่นต่อไปก็ยังทำกันอยู่นะ ถึงแม้เขาจะเป็นรุ่นที่อ่านหนังสือจากแท็บเล็ตมากขึ้นก็ตาม มันอาจคล้ายๆ ที่หลายกลับไปเล่นแผ่นเสียง แต่เราว่าหนังสือเล่มจะยืนยาวกว่านั้น อย่างน้อยก็น่าจะอีกสักร้อยปี เอาง่ายๆ ว่าทุกวันนี้เวลาตรวจปรู๊ฟ แก้ต้นฉบับ เรายังต้องปริ้นต์ออกตรวจแก้ในกระดาษเลย แม้แท็บเล็ตต่างๆ จะได้รับการพัฒนาให้อ่านง่ายขึ้น สบายตาขึ้น แต่สุดท้ายก็ยังทดแทนฟอร์แมตของหนังสือที่เป็นกระดาษไม่ได้

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022