fbpx

Monster: สัตว์ประหลาดคือคนอื่น

*บทความชิ้นนี้เปิดเผยเนื้อหาส่วนสำคัญของภาพยนตร์ 

เหตุการณ์ทั้งหมดเริ่มต้นที่เหตุไฟไหม้ตึก คืนนั้นรถดับเพลิงวิ่งกันให้วุ่น ว่ากันว่าในตึกนั้นมีบาร์แบบมีเด็กนั่งดริงค์ด้วย แม่ลูกยืนมองเหตุการณ์นั้นจากบนตึก ครูหนุ่มเห็นมันจากบนสะพาน และครูใหญ่เห็นมันขณะเดินสวนกับเด็กนักเรียน 

คนก็พูดกันไปเรื่อย มีคนมาเล่าให้แม่ของมินาโตะฟังว่าครูโฮริก็ไปนั่งดื่มที่นั่นในคืนนั้น มินาโตะลูกชายของเธอเรียนกับเขา หลังๆ ลูกชายของเธอแปลกไป บางทีอาจเพราะเขากำลังย่างเข้าวัยรุ่นกระมัง อยู่ดีๆ เขาก็ลุกมาตัดผม แยกห่างจากแม่ บางวันก็กลับบ้านพร้อมมีแผลที่หู เธอเองถึงจะเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวก็ตั้งใจจะสู้ให้ถึงที่สุดจนกว่าวันที่ลูกชายมีครอบครัวแต่งงาน แต่จู่ๆ ลูกชายก็ไม่กลับบ้าน เธอออกตามหาจนเจอว่าเขาไปเล่นในอุโมงค์ทางรถไฟเก่าในป่า แต่ระหว่างทางกลับบ้าน จู่ๆ เขาก็กระโดดลงจากรถ และเริ่มพูดว่าโดนครูตีที่โรงเรียน ถูกด่าว่าเป็นไอ้สมองหมู แม่จึงต้องออกโรงปกป้องลูก โรงเรียนก็เหลือทนไม่ว่าจะไปพูดคุยกี่ครั้งก็เอาแต่ก้มหัวขอโทษโดยไม่เคยคิดจะสำนึกผิดสักนิดเดียว

ครูหนุ่มเพิ่งมาทำงานได้ไม่นาน ตั้งใจสอนหนังสืออย่างดี เขารู้ว่าในห้องอาจมีการกลั่นแกล้งรังแกกัน เห็นเด็กชายโฮชิกาวะที่ตัวเล็กกว่าใครถูกขังในห้องน้ำ เห็นมินาโตะอาละวาดโวยวาย เขาพยายามจะช่วยเหลือแต่ก็มีบางอย่างไม่ชัดเจน คนเขาก็พูดกันว่าแม่ของมินาโตะเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว แม่เลี้ยงเดี่ยวก็อย่างนี้ คงจะปกป้องลูกชายมากเกินไป บรรดาเพื่อนครูและครูใหญ่บอกว่าไม่ต้องพูดอะไรมาก แค่ก้มหัวรับผิดไปก็พอ พอทำอย่างนั้น ถึงที่สุดเขาก็กลายเป็นตัวปัญหาไปเสียเอง ยิ่งพอเรื่องลุกลามใหญ่โต สาวที่คบหาด้วยก็มาทิ้งไป โดนสังคมปฏิเสธและอาจจะถูกออกจากงาน 

ครูใหญ่เพิ่งกลับมาทำงานหลังสูญเสียหลานสาว เพราะสามีเธอถอยรถพลาดไปทับหลานสาวตัวเอง คนเขาพูดกันว่า อาจจะเป็นเธอเองนั่นแหละที่ทำ เมื่อมีเรื่องเกิดขึ้นเธอจำเป็นต้องปกป้องชื่อเสียงของโรงเรียน คิดว่าแค่ก้มหัวขอโทษผู้ปกครองก็คงจะเข้าใจ ความสำนึกผิดส่วนบุคคลโถมทับจนเธอเลื่อนลอย ต้องคอยให้คุณครูคนอื่นบอกบท แม่เลี้ยงเดี่ยวไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ครูคนใหม่ก็กลายเป็นเป้านิ่ง 

มินาโตะกับโฮชิกาวะเป็นเพื่อนร่วมชั้นกัน แต่ไม่ค่อยมีใครเห็นพวกเขาอยู่ด้วยกัน คนหนึ่งเงียบขรึมเก็บตัว อีกคนร่าเริงแต่โดดเดี่ยว คนหลังเป็นเป้าการรังแกของกลุ่มเด็กผู้ชายในห้องที่เอาแต่พูดกันไปเรื่อยว่าสองคนนี้เป็นแฟนกัน มินาโตะอาจมีแม่คอยปกป้อง แต่ที่บ้านของโฮชิกาวะที่อาศัยอยู่กับพ่อขี้เมาที่ชอบไปนั่งดริงค์ในบาร์ลับนั้นแตกต่างกัน พ่อทุบตีด่าทอเรียกเขาว่าไอ้สมองหมู และพยายามจะรักษาอะไรสักอย่างกับเขา กระนั้นเขายังคงแสดงว่าตัวเองเป็นเด็กร่าเริงสดใส มีแต่มินาโตะเท่านั้นที่เป็นเพื่อนกับเขา แต่การเป็นเพื่อนกับเขาก็เป็นภาระใหญ่หลวงสำหรับตัวมินาโตะเองด้วย 

เพื่อให้เห็นถึงสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยคำคนมากกว่าความจริง Monster เดินเรื่องด้วยการซอยเรื่องราวออกเป็นชิ้นส่วน ตามตัวละครทีละคน เริ่มจากแม่ ไปยังครู และครูใหญ่ มุมมองที่จำกัดของแต่ละส่วนทำให้ผู้ชมเข้าข้างตัวละครหลักของแต่ละคน มองจากมุมที่ตัวเองเป็นตัวเอก ไม่มีใครทำอะไรผิด พวกเขาต่างเล่นตามบทที่ได้รับ ในบทที่พวกเขาและพวกเราได้รับ พวกเขาต้องปกป้องบางสิ่งที่สำคัญ (ลูกชาย/นักเรียน/โรงเรียน) และต่อสู้กับบางอย่าง ซึ่งโดยมากคืออีกคนหนึ่งที่ต่างก็ปกป้องคุณค่าอีกชนิดหนึ่งเช่นกัน 

หนังเปิดเรื่องและเชื่อมร้อยทุกอย่างด้วยฉากไฟไหม้ตึกที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเส้นเรื่องหลัก แต่ตัวละครทุกตัวมองเห็นตึกที่ไหม้ไฟนี้จากที่ไหนสักแห่ง จากนั้นคำคนก็จะแพร่ขยายออกไปว่ามีอะไรในตึกนี้ และใครเห็นอะไรระหว่างเหตุการณ์ไฟไหม้ ทุกคนในที่นี้รวมถึงผู้ชมที่พยายามจะเชื่อมโยงว่าใครเกี่ยวข้องอะไรกับเหตุการณ์นี้ เพราะเมื่อเริ่มต้นเรื่องใหม่เหตุการณ์จะวนกลับไปยังคืนที่ตึกไหม้ไฟ ราวกับเกมการตามหาผู้กระทำผิด และการเจอผู้กระทำผิด เป็นตอนจบที่ทำให้เราสบายใจมากกว่าจะสนว่าทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

ถึงที่สุดผู้ชมในความมืดของโรงภาพยนตร์ถูกดึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ไม่มีตัวตนแต่มีอิทธิพลกัดกินตัวละครอย่างยิ่งนั่นคือถ้อยคำของผู้คน เราเปลี่ยนจากผู้คาดเดาไปสู่ผู้แสดงความคิดเห็น และกลายเป็นผู้เห็นเหตุการณ์ แม้เหตุการณ์ที่เราเห็นนั้นจำกัด เศษแตกหักข้อเท็จจริงผสมปนเปกับความเห็น และข้อมูลไร้ที่มาจาก ‘คนอื่น’ ซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่ปราศจากบทลงโทษ เรากลายผู้ร่วมปกป้องโลกด้วยการต่อสู้กับสัตว์ประหลาดที่คุกคาม 

หนังค่อยๆ ฉายภาพของแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ถอยรถไม่เข้าซองจอดตลอดเวลา ครูหนุ่มหัวอ่อนที่ใครให้ทำอะไรก็ทำ ครูใหญ่ที่ลึกๆ อาจจะเกลียดเด็ก (ฉากขัดขาเด็กในห้างกลายเป็นฉากที่น่าจดจำที่สุดของเรื่อง) ทุกคนล้วนมีข้อผิดพลาด มีจุดอ่อนแอ มีความมืดดำในจิตใจของตัวเอง และเมื่อจำเป็น คนอื่นๆ จะควักสิ่งนั้นออกมาทิ่มแทงกันและกันอย่างไม่ปราณี ถ้อยคำเพียงเล็กน้อยแพร่กระจายออกไป เส้นลวดของจารีตที่มองไม่เห็นถูกยกขึ้นเพื่อบั่นคอผู้คน ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ เพราะเราจำต้องมีสัตว์ประหลาดเพื่อให้มีวีรบุรุษ เพื่อให้เราอุ่นใจว่าระเบียบของโลกยังดำเนินอยู่และจะดำเนินต่อไปได้เมื่อสัตว์ประหลาดถูกกำจัด โดยมีเรายังเป็นผู้คนของฝั่งวีรบุรุษที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ และสัตว์ประหลาดคือคนอื่น 

เมื่อเทียบกับหนังเรื่องก่อนๆ Monster อาจจะมีรสชาติแแตกต่างจากหนัง Kore-eda เรื่องก่อนๆ ที่มักสำรวจตรวจสอบ  ความเป็นไปได้ของครอบครัวในสังคมสมัยใหม่ ที่สายเลือดไม่ใช่ความเป็นไปได้เดียว (Like Father, Like Son (2013), Our Little Sister (2015), Shoplifter (2018)) เพราะครอบครัวแบบดั้งเดิมนั้นไม่ได้จำเป็นต้องมอบแต่คุณค่าด้านบวก (Nobody Knows (2004), Broker (2022)) และบางครั้ง การยอมรับว่าครอบครัวไม่ใช่คุณค่าที่ดีที่สุดอาจจะเป็นหนทางที่เหมาะในการประคับประคองครอบครัวต่อไป (After The Storm (2016), Still Walking (2008), The Truth (2019)) แต่อย่างน้อยนี่เป็นครั้งที่สองที่ Kore-eda หันกลับมาสำรวจตรวจสอบคุณค่าของสถาบันอื่นๆ ในสังคมญี่ปุ่น สังคมปิดที่อยู่ภายใต้กฎจารีตที่ไม่ถูกเขียนออกมาจำนวนมากและพร้อมโบยตีคนที่ก้าวข้ามเส้นล้ำกฎอย่างไม่ปราณี

The Third Murder (2017) สำรวจตรวจสอบอำนาจของศาลในการตัดสินความผิดแก่ผู้อื่น หนังเล่าเรื่องของชายผู้ซึ่งฆ่าเจ้านายตัวเองและเผาศพของเขาริมแม่น้ำ คดีนี้อาจทำให้เขาต้องโทษประหารชีวิต ทนายของเขาพยายามหาทางสู้คดี แต่ทุกครั้งที่ทนายมาสัมภาษณ์เรื่องที่เขาเล่าเกี่ยวกับคดีก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ทุกครั้งที่มีหลักฐานหรือพยานใหม่ เขาก็ยอมรับทุกครั้งไป จนหนังค่อยๆ เปิดเผยความจริงที่ว่าไม่ได้มีใครสนใจความจริงใดๆ อีกต่อไป ทั้งหมดเป็นเพียงกระบวนของการสู้คดี และการตัดสินความผิด ระบบของการแสวงหาความจริงยุติการแสวงหาความจริงอย่างเป็นธรรม เพื่อให้กระบวนการดำเนินไป ทุกคนล้วนตัดสินคนอื่นในทางใดทางหนึ่ง ทุกคนเป็นผู้พิพากษา และคนเช่นเขาที่ได้รับคำนิยามว่าเป็น ‘ภาชนะที่ว่างเปล่า’ ที่พร้อมจะรับทุกข้อกล่าวหาที่โยนให้ ก็เป็นทั้งคนที่น่าเวทนาและน่ากลัว เพราะเขายอมรับทุกการตัดสินจากทุกคนโดยไม่ปริปากบ่น การตัดสินคนอื่นของเขาต่างกันแค่เขาเป็นผู้ลงมือกระทำโดยไม่ผ่านการรับรองโดยรัฐเท่านั้น 

เส้นแบ่งของการฆ่าที่ถูกต้องในนามของโทษประหารชีวิตจึงต่างจากการฆาตรกรรมเพียงเส้นคั่นบางๆ เท่าน้ัน สังคมของการพิพากษาไม่ได้ต้องการความจริง เพราะความจริงทั้งขมขื่นและพิพากษาไม่ได้

Monster กลับมาพูดเรื่องเดิมอีกครั้งโดยเปลี่ยนจากระบบของศาลมาเป็นระบบโรงเรียน เปลี่ยนจากการตัดสินเป็นการปกป้อง โรงเรียนทำหน้าที่ให้การศึกษา ในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ปกป้องเด็กนักเรียนของพวกเขา เช่นเดียวกันกับที่ศาลทำหน้าที่ในการทำให้เกิดการยุติอย่างเป็นธรรม แต่ความเป็นธรรมของศาลเป็นเรื่องของกระบวนการมากกว่าความเป็นจริง โรงเรียนจึงทั้งปกป้องเด็กและทำลายล้าง โรงเรียนกลายเป็นพื้นที่ของการกลั่นแกล้งรังแก การปกป้องเด็กนักเรียนจึงเป็นการปกป้องกระบวนการ ปกป้องระบบโรงเรียนมากกว่าตัวนักเรียน 

นั่นทำให้ฉากที่สำคัญที่สุดคือฉากการก้มหัวขอโทษครั้งแล้วครั้งเล่าของโรงเรียนโดยไม่ต้องสนใจอีกต่อไปว่าใครผิด ธรรมเนียมปฏิบัติแบบญี่ปุ่นที่ถูกหนังตบหน้า ด้วยการเปิดเผยความว่างเปล่าของการก้มหัวขอโทษเพื่อให้พ้นตัวไปโดยไม่ได้รู้สึกกับมันจริงๆ ปกป้องระบบแต่ไม่ปกป้องผู้คน ไม่ว่าจะนักเรียนหรือครู

หนังทำให้นึกไปถึงหนังอีกเรื่องที่เข้าฉายไล่เลี่ยกันอย่าง Concrete Utopia (2023, Um Tae-hwa) หนังว่าด้วยเรื่องอพาร์ตเมนต์ตึกเดียวที่เหลือรอดหลังแผ่นดินไหว ตามมาด้วยอากาศหนาวจัด บรรดาผู้คนที่รอดชีวิตพยายามจะมุ่งมาที่อพาร์ตเมนต์นี้ จนคนในอพาร์ตเมนต์ต้องรวมตัวกันขับไล่คนที่ไม่ใช่ผู้อยู่อาศัยออกไปให้ตายกลางความหนาวเหน็บ จากนั้นพวกเขาเอาซากปรักหักพังมาทำเป็นกำแพงกัน จัดวางระเบียบการปกครองใหม่ ปันส่วนอาหาร และจัดทีมออกไปหาอาหารจากบรรดาซากตึกที่เหลืออยู่ ซึ่งในทางหนึ่งก็คือการแย่งชิงมาจากผู้คนกลุ่มอื่นๆ ที่เหลือรอด ภายใต้ความสุขของการร่วมแรงร่วมใจ กฎที่พอกพูนขึ้นนำไปสู่การสร้างภาพความสามัคคีของผู้อยู่อาศัยและสร้างภาพของคนนอกตึกเป็นศัตรูเป็นปีศาจ จนเมื่อความจริงเปิดเผย ทั้งเรื่องการช่วยเหลือคนนอก หรืออาจมีคนนอกปลอมตัวมาเป็นคนใน และความเห็นแก่ตัวค่อยๆ กัดกินผู้คนจากภายใน ตึกนี้ก็กลายเป็นนรกจากกฎที่สร้างขึ้นมาเอง

ฉากหนึ่งในหนังเรื่องนี้ ตัวละครหนึ่งหนีออกไปจากตึก หลังจากได้รับความช่วยเหลือจากผู้คนในโลกข้างนอกที่พวกเธอเคยเรียกว่าพวกแมลงสาบ ในความเอื้อเฟื้อที่เรียบง่ายนั้นพวกเขาถามเธอว่า พวกคนในนั้นเป็นปีศาจใช่ไหม เห็นว่าพวกนั้นกินกันเองด้วยซ้ำ และเธอตอบว่าพวกเขาก็เป็น ‘คนธรรมดา’ นี่แหละ คนธรรมดาแบบเดียวกับผู้คนที่พูดไปเรื่อยใน Monster นี่ต่างหากที่ลอยนวลพ้นผิด จะด้วยความรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม คนธรรมดาสร้างสัตว์ประหลาดขึ้นมา โดยไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตัวเองก่อ เพราะพวกเขาไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าการแสดงความคิดเห็นจากข้างที่ถูกรับรองโดยระบบที่ปกป้องพวกเขาอยู่ 

หนังเก็บเด็กชายสองคนเอาไว้จนถึงช่วงท้ายของหนังจึงค่อยๆ เฉลยเรื่องราวของพวกเขา เด็กชายสองคนที่ชอบอยู่ด้วยกัน แต่ไม่สามารถอยู่ด้วยกันได้ พวกเขาค้นพบซากรถไฟเก่าในป่า มีแต่ที่นั่นที่ปราศจากถ้อยคำของคนอื่น และการกลั่นแกล้งรังแกทั้งของเพื่อนร่วมชั้นและครูและแม่ ที่ที่พวกเขาจะได้สงบศึกกับเสียงจากโลกภายนอก ทั้งเสียงของความหวังดี และเสียงของการทำลาย เสียงพูดที่เปลี่ยนพวกเขาเป็นสัตว์ประหลาด

หนังอาจจะชัดเท่ากับที่มันเบลอ เมื่อพูดถึงตัวตนอัตลักษณ์ทางเพศของพวกเขา ในทางหนึ่งดูเหมือนเด็กทั้งคู่ยังเล็กเกินกว่าจะเข้าใจถ่องแท้เรื่องตัวเอง แต่การที่หนังเลือกให้ทั้งคู่อยู่ในช่วงอายุของการเปลี่ยนผ่านก็ทำให้สิ่งนี้ชัดเจนมากพอด้วย โดยเฉพาะกับมินาโตะที่เราพบว่าสิ่งที่กดดันเขาที่สุดไม่ใช่เพื่อนล้อ แต่คือความยอมตามขนบสังคมรักต่างเพศของแม่ (ที่ไม่รู้ตัว) ขณะที่ในอีกทาง โฮชิกาวะนั้นในทางหนึ่งดูจะยังไม่รู้เรื่องราวมากพอ หากในอีกทางหนึ่งก็เป็นไปได้ว่าเข้าใจมาแล้วก่อนหน้า จนแม้แต่พ่อขี้เหล้าหรือเพื่อนๆ ก็ไม่อาจสั่นคลอนได้ การรับรู้ตัวตนของพวกเขาถูกทอนความสำคัญลงจนแทบไม่เหลือ เพราะนี่ไม่ใช่หนังว่าด้วยเด็กหนุ่มที่รับรู้อัตลักษณ์ของตัวเอง แต่คือหนังที่สำรวจสังคมปิดที่พร้อมจะทำลายล้างสิ่งที่แตกต่างออกไปอย่างไร้ความปราณี ทั้งอย่างรู้ตัว (การกลั่นแกล้งในโรงเรียน) และไม่รู้ตัว (คำพูดของแม่จากมุมของขนบรักต่างเพศ)

“สิ่งที่ครอบครองได้แค่บางคนน่ะ ไม่ใช่ความสุขหรอกนะ ความสุขต้องเป็นสิ่งที่ทุกคนครอบครองได้สิ”

ครูใหญ่พูดสิ่งนี้ในช่วงท้ายของหนัง ท่ามกลางเสียงแตกพร่าไร้ทำนองราวเสียงร้องของสัตว์บาดเจ็บจากเครื่องเป่าทองเหลืองในห้องดนตรี  คำถามของถ้อยความนี้ไม่ใช่ว่าอะไรคือความสุข แต่ใครคือ ‘บางคน’ ที่ว่า คนที่สามารถครอบครองสิ่งนั้น สิ่งที่กีดกันบางคนออกไปจากอาณาเขตของความสุข เมื่อมีบางคนถูกกีดกันออกไป ก็ไม่มีทุกคนอีกต่อไป ความสุขก็กลายเป็นสิ่งไม่มีอยู่จริง มีก็แต่การเดินทางโดยรถไฟที่พังแล้วไปยังที่อื่น 

ในฉากท้ายๆ เมื่อพายุพัดผ่านเมือง เด็กสองคนหายไปในป่ารกร้างที่ที่น้ำท่วมถึง ที่ข้างนอกแม่กับครูอาจพยายามกวัดกวาดกองโคลนที่ไหลท่วมมา แต่เมื่อมองจากในห้องของรถไฟ ดินที่โถมทับลงมาเป็นเหมือนท้องฟ้าที่มืดมิด และหยดฝนกลายเป็นหมู่ดาว กล้องจ้องสิ่งนี้อยู่เนินนานก่อนทุกอย่างมืดดับลับไป

บางทีพวกเขาอาจยังเยาว์เกินกว่าจะเข้าใจว่าความรู้สึกนี้คือสิ่งใด รักต่างเพศหรือรักเพศเดียวกันคืออะไร หรือแม้แต่ความรักคืออะไรกันแน่ โชคร้ายที่พวกเขาไม่มีแม้แต่โอกาสจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับมันเสียด้วยซ้ำ เจ้าสิ่งนั้นที่ถูกกีดกันทำลายล้างเสียตั้งแต่ก่อนที่จะมีชื่อเรียกเฉพาะ สิ่งที่มีพอสำหรับทุกคนแต่ไม่ใช่พวกเขา ในเสียงแตรเปล่าเปลี่ยว ซึ่งกลายเป็นเสียงหวูดรถไฟที่นำพาสัตว์ประหลาดสองตัวไปยังที่ที่มีแสงแดดส่องถึง ทุ่งหญ้าเขียวขจีและไม่มีคนอื่น ที่ที่ไม่ต้องการวีรบุรุษจึงไม่ต้องการสัตว์ประหลาดอีกต่อไป

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save