fbpx

MONSTER เพื่อนเกลอสมองหมู

(เกินกว่า) อารัมภบท (โปรดงดอ่านหากไม่ต้องการถูกสปอยล์! แล้วค่อยข้ามไปดูที่บทวิจารณ์)

ดูหนังมาทั้งปี จนล่วงเข้าสู่ไตรมาสที่สี่ อีกไม่กี่เดือนก็สิ้นปี 2023 แล้ว ‘กัลปพฤกษ์’ สามารถประกาศได้อย่างมั่นใจว่าในบรรดาหนังทั้งหมดที่ได้ดูมา หนังญี่ปุ่นเรื่อง Monster (2023) ของผู้กำกับ ฮิโรคาเสะ โครีเอดะ (Hirokazu Kore-eda) เป็นเรื่องที่เขียนวิจารณ์ถึงได้ยากที่สุดแล้วในบรรดาหนังของปีนี้ หากจะสมาทานแนวความคิดที่ว่า บทวิจารณ์ที่ดีจะต้องไม่มีการสปอยล์เนื้อหาสำคัญสำหรับผู้อ่านที่ยังไม่ได้ดูหนัง หากต้องยังสามารถวิเคราะห์วิพากษ์เนื้อหาได้อย่างลึกซึ้งตรึงความสนใจผู้อ่านที่ดูหนังมาแล้วได้ ซึ่งกับหนังที่มี ‘ความลับ’ แสนจะสำคัญซ่อนไว้อย่าง Monster มันช่างเป็นหนังที่ทำทั้งสองอย่างให้พร้อมๆ กันได้ยากเย็นเข็ญใจ จะหยิบจับจะวิเคราะห์เนื้อหาส่วนที่เป็นประเด็นใหญ่ มันก็หนีไม่พ้นที่จะต้องเฉลยไขเรื่องเร้นของตัวละครอยู่นั่นเอง!

แต่เอาล่ะ อย่างไร ‘กัลปพฤกษ์’ ก็ขอท้ารับความท้าทายอันนี้ เลือกที่จะเขียนถึงหนังที่มีสิ่งน่าสนใจอยู่มากมาย แต่พอไล่ประเด็นว่าจะเขียนถึงจุดใดก็พบแต่เครื่องไม้เครื่องมือ ‘ของตาย’ ไม่ว่าจะจากนักวิจารณ์ค่ายไหน ทั้งศัพท์เทคนิค อาทิ กลเม็ดการเล่าแบบปรากฏการณ์ราโชมอน (Rashomon-effect -หมายถึงวิธีการทางภาพยนตร์ที่คนเล่าถึงเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งจากหลากมุมมอง ชื่อนี้มาจากภาพยนตร์เรื่อง Rashomon, 1950 ของ อากิระ คุโรซาวะ), การวิเคราะห์ ‘อัตลักษณ์เชิงเพศสภาพ’ ของตัวละคร หรือเนื้อหาที่ถ้าไม่เรียกว่าการข้ามพ้นวัย (coming-of-age) ก็เลือกใช้คำขลังกว่าภาษาเยอรมันว่า Bildungsroman ซึ่งก็ไม่มั่นใจเหมือนกันว่าถ้อยคำเหล่านี้จะมีศักยภาพในการ ‘สื่อสาร’ กับผู้อ่านที่มิได้ประกาศตัวเป็นผู้ช่ำชองเชี่ยวชาญด้านศาสตร์แห่งภาพยนตร์มากน้อยเพียงไหน ยิ่งใช้ก็เหมือนจะยิ่งวางตัวห่างไกล ในขณะที่ตัวหนังเองกลับทำตัวเรียบง่าย ใครๆ ก็ดูเข้าใจได้โดยไม่ต้องใช้ความรู้หรือทฤษฎีเหล่านี้สักนิด

คิดไปคิดมาจึงระลึกขึ้นได้ว่า วิธีการเขียนวิจารณ์หนังอย่าง Monster ของโครีเอดะอย่างได้ผล เข้าถึงคนอ่านในวงกว้างจริงๆ เราอาจต้องทิ้งเครื่องไม้เครื่องมือการวิจารณ์เหล่านี้ แล้วแสวงหาแนวทางการวิจารณ์ที่ ‘บริสุทธิ์’ มากขึ้น ทั้งยังจำได้ว่าเมื่อปี 1995 สองผู้กำกับเดนมาร์ก โธมัส วินเธอร์แบร์ก (Thomas Vinterberg) และ ลาร์ส ฟอน ทรีเยร์ (Lars von Trier) ได้ร่วมกันก่อตั้งขบวนการสร้างงาน ‘หนังบริสุทธิ์’ ไว้ภายใต้ประกาศบัญญัติแถลงการณ์ที่เรียกกันว่า ‘Dogma’95’ พยายามหาวิธีว่าควรทำอย่างไรให้ ‘หนัง’ มีความ ‘บริสุทธิ์’ ปราศจากมลพิษเชิงความสุนทรียะ (aesthetics) ให้ได้มากที่สุด และร่ายกฎเหล็กห้ามโน่นห้ามนี่ เช่น ห้ามให้เครดิตผู้กำกับ, ห้ามทำหนังฌ็อง (genre) ห้ามจัดพร็อบและจัดแสง หรือใช้ขาตั้งกล้อง ต้องใช้เฉพาะเสียงที่เกิดขึ้นจริงในฉากเท่านั้น ห้ามใส่เสียงหรือดนตรีประกอบอื่นๆ เข้ามาภายหลัง และจะรังสรรค์สเปเชียล เอฟเฟ็กต์ส หรือแต่งเสริมภาพใดๆ ไม่ได้ ถ่ายมาอย่างไรก็ต้องออกฉายไปอย่างนั้นเลย เบ็ดเสร็จแล้วรวมสิบข้อ ดูแล้วช่างเข้าทีน่าจะหยิบยืมมาเล่นล้อกับการวิจารณ์หนังแบบ ‘บริสุทธิ์’ ได้ ว่าแล้ว ‘กัลปพฤกษ์’ ก็ขอถือวิสาสะประกาศแถลงการณ์ใหม่สำหรับการเขียนวิจารณ์หนังในปี 2023 นี้ กับชื่อใหม่ที่ตั้งไว้เพื่อเล่นล้อกับ Dogma’95 อย่างเก๋ไก๋ว่า Dogmouth’23 ตามหาวิธีการในการเขียนวิจารณ์ที่บริสุทธิ์ปราศจากหลักทฤษฎีวิชาการทั้งหลาย โดยขอร่ายกฎเหล็กเอาไว้เพียงห้าข้อด้วยกันดังนี้

  1. การวิจารณ์จะต้องเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของผู้วิจารณ์ที่มีต่อตัวหนังเท่านั้น ห้ามมิให้อ้างอิงถึงเครดิตชื่อผู้กำกับ นักแสดง หรือทีมงานไม่ว่าจะรายใด สามารถกล่าวถึงได้เฉพาะองค์ประกอบงานที่อยู่ในหนัง ห้ามอ้างอิงหรือเปรียบเทียบถึงหนังหรือผลงานเรื่องอื่นๆ แบบเจาะจง แม้แต่ผลงานที่ผ่านๆ มาของผู้กำกับ หรืออ้างอิงถึงบริบทอื่นๆ นอกเหนือไปจากตัวหนัง ยกเว้นในกรณีที่เป็นหนังที่ดัดแปลงมาจากผลงานเรื่องอื่น หรือของผู้อื่น อนุญาตให้อ้างอิงได้ เพื่อการวิจารณ์ในส่วนของการดัดแปลง
  2. การอ้างอิงถึงหนังให้ระบุชื่อหนังภาษาอังกฤษหรือภาษาต้นฉบับ พร้อมปี ค.ศ. ที่หนังออกฉายครั้งแรก รวมถึงความยาวหน่วยเป็นนาทีเพื่อการแยกแยะเบื้องต้นกรณีที่มีหนังชื่อซ้ำกันในแต่ละปี เช่น Monster (2023) 126 นาที
  3. ห้ามสปอยล์เนื้อหาโดยเด็ดขาด โดยอนุญาตให้กล่าวถึงเนื้อหาหลักถึงจุดที่ยังสามารถเปิดเผยได้จากเรื่องย่อขนาดสั้น เรื่องย่อขนาดยาว หรือรายละเอียดในโปสเตอร์อย่างเป็นทางการที่เผยแพร่โดยผู้จัดจำหน่ายเท่านั้น โดยต้องแสดงเรื่องย่อหรือโปสเตอร์ดังกล่าวในบทวิจารณ์ไว้อย่างชัดเจน
  4. ห้ามกล่าวถึง ตระกูล หรือ genre ของภาพยนตร์ โดยเด็ดขาด แต่ให้เน้นที่อารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ที่ได้รับจากการชมภาพยนตร์แทน แม้แต่ ตระกูลหนัง ‘สารคดี’ ก็ให้กล่าวว่าเป็นภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง หรือ อนิเมชั่น ก็ให้กล่าวว่าเป็นการใช้ภาพวาดหรือภาพเขียนจากจินตนาการในการเล่าเรื่องแทน
  5. ห้ามใช้ศัพท์เทคนิคในทางวิชาการที่ใช้กันเฉพาะกลุ่ม แต่ใช้ภาษาอธิบายความต่าง ๆ อย่างเรียบง่ายให้ผู้อ่านทั่วไปสามารถเข้าใจได้อย่างกว้างขวาง

ดูซิว่า กฎเหล็ก Dogmouth’23 ทั้งห้าข้อ จะพอทำให้การวิจารณ์หนังสามารถทำงานอย่าง ‘บริสุทธิ์’ ได้บ้างหรือไม่ ว่าแล้วก็ขอใช้โอกาสนี้ในการสาธิตโดยใช้หนังเรื่อง Monster (2023) 126 นาที ดูสักที เชิญทุกท่านที่สนใจโปรดพิจารณา…

บทวิจารณ์ MONSTER (2023) 126 นาที ฉบับ Dogmouth’23#1

เรื่องย่อทางการ จาก บริษัทสหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล

“Monster เล่าเรื่องของแม่คนหนึ่ง ที่พบว่า มินาโตะ ลูกชายของเธอทำตัวแปลกๆ ไป ผู้เป็นแม่ก็รู้สึกว่ามีบางอย่างผิดแปลกไป และได้ค้นพบว่าคุณครูมีส่วนเกี่ยวข้องกับอาการนี้ เธอรีบมุ่งหน้าไปที่โรงเรียนเพื่อหาคำตอบว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ แต่เมื่อเรื่องราวถูกตีแผ่ผ่านสายตาของแม่ ครู และลูก ความจริงก็ค่อยๆ ปรากฏออกมา”

โปสเตอร์ทางการของหนัง

หนังญี่ปุ่นเรื่อง Monster บอกเล่าเรื่องราวของเด็กชายในวัยที่ใกล้จะเป็นวัยรุ่น ซึ่งมีเรื่องราวว้าวุ่นมากมายจนทำให้เขาไม่อาจมองโลกในมุมสดใสอีกต่อไป กลายเป็นภาวะ ‘เกลียดชังตนเอง’ จนเมื่อใครพูดอะไร ก็จะแปลความหมายไปในเชิง ‘ด้อยค่า’ ประกอบกับสถานะของการเป็นลูกชายของคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวเนื่องจากคุณพ่อล้มตาย ก่อให้เกิดช่องว่างระหว่างเพศที่เขาไม่สามารถปรึกษาพูดคุยกับคุณแม่ในทุกๆ เรื่องได้ เด็กชายผู้นี้จึงหนีไม่พ้นที่จะเจอภาวะ ‘เก็บกด’ อดกลั้นทุกความคับข้องใจไว้ กลายเป็นเด็กที่แสดงท่าทีขบถก้าวร้าว เอาแต่ใจตัวเองโดยไม่เชื่อฟังมารดาสักเท่าไหร่ แต่ขณะเดียวกัน เราก็ยังเห็นถึงความไร้เดียงสาที่ยังไม่บรรลุวุฒิภาวะของความเป็นผู้ใหญ่ ให้ภาพการ ‘คาบลูกคาบดอก’ ในวัยกำลังเข้าไคล เติบโตจากวัยเด็กสู่วัยเจริญพันธุ์ต่อไป อย่างที่ฝ่ายมารดาได้ฝากฝังไว้ว่าต่อไป หนุ่มน้อยก็จะเติบใหญ่และมีครอบครัวเป็นของตัวเองเหมือนที่ฝ่ายบิดาเคยปฏิบัติผ่านมา

ตามที่เรื่องย่อได้กล่าวไว้ว่าหนังได้ตีแผ่ผ่านมุมมองของตัวละครหลักสามราย คือ แม่ ครู และลูก ไล่กันไปตามลำดับ แล้วค่อยๆ เผยรายละเอียดเกี่ยวพันโยงใยของเรื่องราวให้กระจ่างชัดขึ้นเรื่อยๆ เริ่มต้นจากตัวละครแม่ ซึ่งประกอบอาชีพเป็นพนักงานในร้านซักแห้ง ตั้งใจทำงานด้วยความขยันขันแข็ง ทั้งยังแสดงความตั้งใจที่จะเลี้ยงดูลูกชายคนนี้ตามลำพังอย่างดีที่สุด ครอบครัวของหนุ่มน้อยรายนี้จึงมีสถานะในระดับรายได้ปานกลางค่อนไปทางล่างๆ แต่พระเอกรุ่นเยาว์ของเราก็มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ซึ่งมารดาเขาหามาให้โดยเพียบพร้อม มิได้พบเผชิญกับความยากลำบากใดๆ ไม่น่ามีสิ่งหายขาดหายจนทำให้หนุ่มน้อยกลายเป็นเด็กขาดความอบอุ่นได้ถึงขนาดนี้

ในสายตาของผู้ที่เป็นแม่ พฤติกรรมแปลกประหลาดของเด็กชายที่เรื่องย่อเกริ่นถึงไว้นั้น มีอาทิ จู่ๆ เขาก็ใช้กรรไกรตัดผมตัวเองแล้วทิ้งไว้เรี่ยราดไม่ยอมกวาดเก็บ ชอบถือไฟฉายไปเดินป่ายามค่ำคืนเพียงลำพัง แถมขณะที่แม่กำลังขับรถพากลับบ้าน เขาก็ลนลานเปิดประตูรถกระโดดลงข้างทางชวนหวาดเสียวจนต้องไปทำแผลเช็คกระดูกที่โรงพยาบาล แต่ที่สะท้อนสะท้านใจมากที่สุดคือ เด็กน้อยกล่าวอ้างว่า ในหัวกบาลของเขาน่าจะมีคนเอาสมองไปเปลี่ยนกับหมูอย่างที่คุณครูเย้าไว้ เพราะเขารู้สึกอยู่เสมอว่าตัวเองมีบางสิ่งบางอย่างผิดปกติไปในแบบที่มนุษย์ปกติธรรมดาไม่ควรเป็น ถ้าได้ตรวจเอ็กซเรย์ก็คงจะเห็นว่ามันได้กลายเป็น ‘สมองหมู’ ไปหมดแล้ว! และนั่นเองก็เป็นส่วนที่ส่งทอดไปถึงคุณครูของเด็กน้อย ที่ค่อยๆ เข้ามามีบทบาทในสมการ

เมื่อฝ่ายมารดาพบว่า คุณครูขอหนูน้อย น่าจะมีส่วนในความผิดปกติทั้งหลายของลูกชาย เธอจึงบุกไปยังโรงเรียนเพื่อพูดคุยในฐานะผู้ปกครองเด็กที่ได้รับความเสียหาย ต่อว่าต่อขานพฤติกรรมไม่เหมาะสมที่เลยเถิดไปถึงการใช้ความรุนแรงของคุณครู จนอีกฝ่ายต้องก้มโค้งคำนับเพื่อขอโทษกันเป็นการใหญ่ เมื่อคุณครูยอมรับสารภาพอย่างกลายๆ ทำให้ฝ่ายมารดายิ่งตกใจว่าเหตุใดการกระทำของคุณครูจึงควรจะเป็นสิ่งที่ให้อภัยได้ง่ายๆ โดยเฉพาะเมื่อคุณครูใหญ่ (สุภาพสตรีสูงวัยที่ปรากฏในโปสเตอร์) ได้พยายามทำตัวเป็นคนกลางคอยไกล่เกลี่ย และให้สัญญาว่าจะไม่มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกในโรงเรียน! จากนั้นหนังก็ย้ายไปเล่าต่อเพื่ออธิบายถึงทุกเหตุผลของคุณครู ซึ่งเหมือนเป็นการนำผู้ชมไปอยู่ในอีกโลกหนึ่งซึ่งมองสถานการณ์เดียวกันจากคนละมุมด้าน ส่องสะท้อนความคิดอ่านอีกหลายๆ ส่วนที่เราอาจไม่เคยได้รับรู้มาก่อน

อย่างไรก็ดี ปมปัญหาภายในทั้งหมดที่เราได้เห็นกันในตัวละครเด็กชายนั้นมาคลี่คลายแถลงไขกันในช่วงตอนสุดท้าย เมื่อคนดูได้รับรู้พร้อมๆ กันผ่านมุมมองของเขาเองว่า เด็กชายมิได้เป็นเยาวชนคนสันโดษไม่ยอมคบหาใครๆ หากยังมีเพื่อนสนิทอีกหนึ่งรายที่เข้าใจ (เด็กชายหน้าตามอมแมมอีกคนในโปสเตอร์) เปิดเผยให้เห็นถึงความขับค้องภายในที่จู่โจมทำร้ายพระเอกตัวน้อยของเรา ซึ่งตัวเขาเองไม่อาจทำความเข้าใจได้ ในฐานะของสหาย ‘สมองหมู’ เหมือนๆ กัน โดยผู้ชมจะได้เห็นที่มาว่าความอัดอั้นทั้งหมดทั้งมวลนี้มาจากไหน จะหาทางแก้ไขเยียวยาอะไรได้ไหม และเขาจะได้รู้หรือไม่ว่าความสุขในชีวิตของการเป็นผู้ใหญ่คืออะไร อันจะเป็นสิ่งชุบชูจิตใจให้เขายังหวังในการเติบโต

จากกลวิธีการเล่าเท่าที่ได้อธิบายมา จะเห็นได้ว่าบทภาพยนตร์ของหนังเรื่องนี้จี้ชี้ให้เห็นชัดว่า ประสบการณ์ชีวิตของมนุษย์แต่ละรายแสนคับแคบเกินทนถึงเพียงไหน ช่วงแรกๆ ที่เราเห็นเรื่องราวผ่านมุมมองของมารดา เมื่อนึกย้อนทวนกลับมามันเป็นเพียงแค่ส่วนขนตาของตัวช้างที่เห็นแล้วไม่อาจอ้างทายได้เลยว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัตว์ชนิดใด ทว่าเมื่อหนังได้ขยายมุมมองไปเล่าในสายตาของคุณครูของเด็กชาย เราจึงค่อยๆ เห็นภาพที่ขยายใหญ่ พอจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ทว่า ยังไม่ถึงจุดที่จะสามารถสรุปความทั้งหมดได้  กระทั่งหนังพาเราเดินทางไปสำรวจภาวะภายในของเด็กชาย ผ่านความสัมพันธ์ของเขากับเพื่อนสนิท เราจึงได้เห็นอะไรๆ เป็นรูปเป็นร่างมากยิ่งขึ้น จนเข้าใจได้ว่าเด็กชายกำลังพบเจอภาวะใดที่ทำให้เขากลายเป็นคนอมทุกข์ถึงขนาดนั้น แต่ผู้ชมที่ได้ดูแล้วก็อย่าเพิ่งมั่นอกมั่นใจไปว่าทุกอย่างต่างได้รับการแถลงไขจนไม่มีอะไรคาใจ เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้วบทหนังก็ยังทิ้งปริศนาไว้อีกมากมาย ราวจะท้าทายว่าไม่ว่าจะตีตั๋วเข้าไปดูใหม่ดูซ้ำทำสถิติสักกี่ร้อยรอบ เราก็ยังไม่อาจตอบคำถามทั้งหมดของเด็กชายรายนี้ได้อยู่ดี เพราะมนุษย์ช่างซับซ้อนจนยากจะหยั่งถึงในทุกภาวะภายใน

กลวิธีการเล่าที่ใช้ในหนังเรื่อง Monster ชวนให้เราพิเคราะห์ถึงข้อจำกัดด้านมุมมองของเนื้อเรื่องหนึ่งๆ ผ่านตัวละครแต่ละรายได้อย่างคมคาย สะท้อนให้เห็นว่า ‘มนุษย์’ ช่างอ่อนด้อยถึงเพียงไหน ไม่สามารถนำตัวเองไปสัมผัสกับประสบการณ์ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องได้ และมักจะอยู่ห่างไกลจาก ‘ความเข้าใจ’ ในสิ่งต่างๆ อยู่เสมอ ซึ่งบทหนังก็ทำงานได้ดิบดี มีการหยอดวางรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ผ่านทางภาพ พฤติกรรม รวมถึงสำเนียงเสียงต่างๆ ที่ได้ยินได้ฟัง ก่อนจะย้อนกลับมาพาดพิงถึงอีกครั้งในภายหลังเพื่อเกี่ยวร้อยรายละเอียดทั้งหมดเข้าด้วยกันอย่างชาญฉลาด

ในส่วนของบรรยากาศหนังรวมไปถึงการแสดงก็ต้องกล่าวชื่นชมว่านำเสนอออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติมากๆ เริ่มตั้งแต่รายละเอียดภายในบ้านของเด็กชายที่ใส่ข้าวของอุปกรณ์ต่างๆ เข้ามาอย่างชวนให้เชื่อว่าเป็นบ้านของครอบครัวรายได้ปานกลางครอบครัวหนึ่งจริงๆ โดยไม่มีสิ่งปรุงแต่งให้ดูสวยงามเกินฐานะ แม้แต่ความเป็นระเบียบเรียบร้อยที่ดูเก่าโบราณของอาคารโรงเรียนเอง ก็ดูจะเป็นรายละเอียดที่จงใจ สะท้อนภาพที่ไม่ค่อยโสภาภายในของสถาบันการศึกษาในญี่ปุ่น ที่ความโปร่งใสไม่มีนอกมีในนั้นไม่ปรากฏให้เห็นเด่นชัดนัก สถานที่ถ่ายทำหลักๆ ของหนังนั้นดิบและจริง ยิ่งสร้างความน่าเชื่อให้หนังได้เป็นอย่างดี  ขณะที่การแสดงของนักแสดงนำในบทเด็กชายก็ทำได้ในระดับมหัศจรรย์ น้องหนูสามารถถ่ายทอดความไม่มั่นใจจากกระบวนการ ‘ด้อยค่า’ ตนเองออกมาได้อย่างน่าเห็นใจ ผ่านใบหน้าที่แทบจะหาความสุขสำราญในชีวิตไม่ได้ เต็มไปด้วยความสิ้นหวังไร้แรงกำลังของการอยากเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ด้วยจิตใจที่เอาแต่ฝักใฝ่กับภาวะการกลายพันธุ์เป็นคนมันสมองหมู ที่ยิ่งดูก็ต้องยิ่งสงสารน้องจนอยากจะเข้าไปประคองกอด แต่ถึงแม้ปัญหาหนักอกของเด็กชายจะหนักหนาและรุนแรงเพียงไร การแสดงของนักแสดงกลับมิได้มีการขับเน้นหรือฟูมฟาย ทุกอย่างดำเนินไปตามครรลองที่สามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตจริงราวเป็นสิ่งใกล้ตัวที่ไม่ได้มีอะไรยิ่งใหญ่เกินเลย

ความเป็นธรรมชาตินี้ยังจะเผยให้เห็นผ่านการแสดงในบทเพื่อนสนิทของเด็กชายที่ต้องแบกรับปัญหาหนักอกไว้ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน แต่อากัปกิริยาท่าทางการเดินเหินของน้องนั้นร่าเริงเถลิงพลังแห่งความเบิกบานพุ่งพล่านไปด้วยประจุบวก ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็เจอแต่ทางสะดวกหากเรายังยินดีจะเป็นพวกกลุ่มคนมองโลกในแง่ดี ซึ่งก็ถือเป็นวิถีการแก้ปัญหาอีกมุมด้านที่ไม่ว่ามุมมองความคิดอ่านของมนุษย์เราจะจำกัดคับแคบโดยธรรมชาติถึงเพียงไหน แต่ถ้าเราฝักใฝ่แต่ในมุมดีๆ ไว้ อุปสรรคใดก็จะพรากกำลังใจเราไปไม่ได้แม้แต่หยดหยาดเดียว นับเป็นอีกหนึ่งการแสดงที่เจ็บปวดเมื่อเราจะได้ตระหนักว่าน้องๆ จะต้องปลุกสร้างพลังใจอย่างมหาศาลถึงเพียงไหน จึงจะสามารถดำรงชีวิตในโลกอันแสนโหดร้ายนี้ได้ ภายใต้รอยยิ้มอันจริงใจที่มิได้ไขสือกลบเกลื่อนความทุกข์ตรมใดๆ จากภายในเลย!

ความอ่อนโยนละเมียดละไมทั้งหมดนี้ทำให้ Monster เป็นหนังที่ได้ดูแล้วหัวจิตหัวใจจะแตกสลาย และไม่ว่าคนดูจะเป็น ‘มนุษย์สมองหมู’ แบบเดียวน้องเขาหรือไม่ ก็เชื่อเหลือเกินว่าทุกๆ คนจะเข้าใจความแปลกแยกและแตกต่างที่ว่านี้ จนมีจุดที่เชื่อมโยงความรู้สึกได้โดยไม่ยาก เป็นหนังที่ฝากทั้งแง่คิดในการดำเนินชีวิตและการรักษาทัศนคติเชิงบวกซึ่งควรจะยึดมั่นไว้โดยไม่ชวนให้รู้สึกถูกสั่งสอน หนังที่สั่นคลอนผู้คนด้วยภาพความเป็นจริงแม้ว่าทุกๆ สิ่งที่เห็นจะเป็นเพียงแค่เรื่องเล่าจากจินตนาการ!

(เกินกว่า)ปัจฉิมบท

หลังจากได้ทดลองเขียนบทวิจารณ์แบบไร้สปอยล์ตามรอยข้อควรปฏิบัติของแนวทางการเขียนวิจารณ์แบบบริสุทธิ์ Dogmouth’23 ที่อุปโลกน์ขึ้นมาเองแล้ว ก็อดไม่ได้ที่จะลองย้อนกลับไปเปรียบเทียบว่าสิ่งที่ได้เขียน ดำเนินตามข้อกำหนดกฎเกณฑ์ทั้งห้าข้อที่วางไว้แล้วหรือไม่ ซึ่งเมื่อได้ทบทวนพิจารณาแล้ว พบว่าบทวิจารณ์มิได้ละเมิดบทบัญญัติข้อไหน จึงใคร่ขอถือวิสาสะมอบประกาศนียบัตร Dogmouth’23 ให้ตัวเองแบบหน้าด้านๆ ตั้งกฎเอง เขียนเอง ประเมินเอง แบบเดียวกับที่ผู้กำกับวินเธอร์แบร์กและฟอน ทรีเยร์เขาทำไว้กับหนัง Dogma’95#1 และ Dogma’95#2 คือเรื่อง The Celebration (1998) และ The Idiots (1998) นั่นล่ะ

ก็หวังเหลือเกินนะว่าประกาศนียบัตร Dogmouth’23 จะทำให้บทวิจารณ์นั้นบริสุทธิ์ผุดผ่องไร้รอยหม่นหมองของคำหยาบคายจากภาษาทางเทคนิคทฤษฎีหรือเหล่า reference ของปวงปราชญ์ผู้มีปัญญาทั้งหลาย และสามารถสื่อสารกับผู้ชมในวงกว้างได้มากขึ้นโดยไม่เสียอรรถรส ว่าแล้วก็ขอเชิญชวนทุกๆ ท่านที่สนใจเขียนบทวิจารณ์บริสุทธิ์ตามบทบัญญัติแถลงการณ์ใหม่ Dogmouth’23 สามารถส่งต้นฉบับในรูปแบบไฟล์ PDF เพื่อการพิจารณาได้ที่อีเมล [email protected] โดยถ้าผ่านการพิจารณาก็จะจัดส่งไฟล์ประกาศนียบัตรไปให้ หรือถ้าประสงค์จะลงเผยแพร่ใน Facebook Page: https://www.facebook.com/kalapapruekreview ก็ยินดีจะเอาใจ ขอเพียงให้บทวิจารณ์สื่อสารไปถึงผู้อ่านได้ โดยไม่ต้องหงุดหงิดรำคาญกับอาการอวดโอ่ทางปัญญาของผู้วิจารณ์เท่านั้นเป็นพอ!

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save