fbpx

โมดี 2.0: การเมือง เศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของอินเดีย

ภาพปกโดย LUDOVIC MARIN / AFP

ก่อนอื่นก็ต้องขอสวัสดีปีใหม่ผู้อ่านทุกท่านที่ติดตามอ่านบทความของผมมาอย่างต่อเนื่อง ปี 2024 ถือได้ว่าเป็นปีที่มีความสำคัญมาก เพราะปีนี้จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในหลายประเทศ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อภูมิรัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งในไต้หวัน หรือบังคลาเทศที่พึ่งผ่านไปสดๆ ร้อนๆ และยังมีอีกหลากหลายประเทศที่กำลังจะมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไป ทั้งอินโดนีเซียและปากีสถาน แต่ที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษคงหนีไม่พ้น ‘อินเดีย’ ประเทศที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นประชาธิปไตยใหญ่ที่สุดในโลกจากจำนวนประชากรที่แซงจีนขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งเป็นที่เรียบร้อย การเลือกตั้งของอินเดียจะจัดขึ้นทุกๆ 5 ปี และครั้งล่าสุดจัดขึ้นในปี 2019 ทำให้ในปี 2024 นี้อินเดียจะมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้ง ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่ใหญ่และกินเวลาร่วมเดือนกว่า

ในโอกาสนี้จึงอยากพาทุกท่านไปสำรวจผลงานรัฐบาลชุดปัจจุบันตลอด 5 ปี ที่ผ่านมา ว่าส่งผลกระทบกับอินเดียมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลชุดปัจจุบันที่นำโดยนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ผู้สร้างประวัติศาสตร์นำพาพรรคภารติยะชนตะ (พรรคบีเจพี) ชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในสมัยที่ 2 ของเขา การเมือง เศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศภายใต้รัฐบาลโมดี 2.0 นั้นมีความน่าสนใจในหลายมิติ และแน่นอนว่ามันย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมาถึงนี้

ฝ่ายค้านที่อ่อนแอกับความท้าทายด้านประชาธิปไตยในอินเดีย

รัฐบาลโมดี 2.0 ถือได้ว่ามีความมั่นคงทางการเมืองที่ค่อนข้างสูงจากภูมิทัศน์ทางการเมืองที่พลิกผัน ผนวกกับชัยชนะในการเลือกตั้งปี 2019 ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นการเลือกตั้งที่พรรคบีเจพีชนะแบบถล่มทลายและสามารถครองเสียงข้างมากในโลกสภา (สภาผู้แทนราษฎร) ได้อย่างเบ็ดเสร็จ ขณะที่การเมืองในระดับรัฐ พรรคบีเจพีก็ได้รับความไว้วางใจและสามารถคว้าชัยชนะในรัฐสำคัญหลายรัฐ ส่งผลให้พรรคบีเจพีสามารถครองเสียงข้างมากในราชสภา (วุฒิสภา) ร่วมด้วย ลักษณะเช่นนี้ส่งผลอย่างมากต่อการถ่วงดุลทางอำนาจในรัฐสภาเนื่องจากพรรคฝ่ายค้านไม่มีเสียงมากเพียงพอที่จะยับยั้งกฎหมายหรือวาระทางนโยบายที่รัฐบาลต้องการผลักดัน

ดังนั้น ในช่วงรัฐบาลโมดี 2.0 นี้เอง เราจึงได้เห็นการผลักดันกฎหมายและการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่สำคัญหลายชิ้นซึ่งส่งผลอย่างมากต่อภาพรวมทางการเมืองของอินเดีย หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้นการยกเลิกสถานะพิเศษของรัฐจัมมูและแคชเมียร์ที่แต่เดิมมีอิสระค่อนข้างมาก ให้อยู่ภายใต้การบริหารดูแลของรัฐบาลกลาง รวมถึงลดระดับสถานะของรัฐดังกล่าวให้มีสถานะใกล้เคียงกับรัฐอื่นภายในอินเดีย ซึ่งแน่นอนว่าแม้จะมีเสียงต่อต้านจากคนในพื้นที่ แต่นั่นก็ไม่อาจยับยั้งวาระทางการเมืองที่รัฐบาลโมดี 2.0 ต้องการผลักดันนี้ได้ ฉะนั้นการเมืองในยุคนี้จึงเต็มไปด้วยวาระทางการเมืองแบบฮินดูชาตินิยมตามอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคบีเจพี เนื่องจากรัฐบาลมีอำนาจเต็มทั้งในฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ

แต่นั่นก็ไม่อาจกล่าวโทษเพียงรัฐบาลได้ เพราะฝ่ายค้านเองก็อยู่ในสภาพอ่อนแอ โดยเฉพาะพรรคคู่แข่งสำคัญอย่างพรรคคองเกรส ที่นับวันจะเผชิญกับความท้าทายภายในอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากปัญหาความแตกต่างด้านความคิดระหว่างนักการเมืองรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ การมีแนวทางนโยบายที่แตกต่างกันของผู้นำในแต่ละพื้นที่ รวมไปถึงการไม่เปิดโอกาสให้ผู้มีความสามารถได้ขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญทางการเมือง ปัจจัยเบื่องต้นเหล่านี้ส่งผลให้พรรคคองเกรสไม่สามารถฟื้นศรัทธาของประชาชนได้ ยิ่งไปกว่านั้นพันธมิตรฝ่ายค้านเองก็มีความกระจัดกระจาย ไม่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ในขณะที่หลายพรรคก็ไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะขยายบทบาทของตนเองนอกพื้นที่บ้านเกิด จนกลายเป็นพรรคการเมืองระดับชาติ

ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ภายใต้รัฐบาลโมดี 2.0 อินเดียถูกตั้งคำถามจากนักวิเคราะห์การเมืองจำนวนมากเกี่ยวกับสถานะความเป็นประชาธิปไตย และนักวิเคราะห์บางส่วนมองว่าอินเดียกำลังเข้าใกล้ระบอบอำนาจนิยมมากยิ่งขึ้นภายใต้การนำของพรรคบีเจพี อย่างไรก็ตามนั่นก็เป็นเพียงบางส่วนของบทวิเคราะห์ เพราะการเมืองอินเดียยังมีอีกหลายสถาบันทางการเมืองที่ทำหน้าที่ถ่วงดุลอำนาจของรัฐสภา และฝ่ายบริหาร ไม่ว่าจะเป็นศาลสูงสุด หรือภาคประชาสังคมที่ยังคงทำงานอย่างเข้มแข็ง และเป็นการยากที่รัฐบาลจะไม่รับฟัง อย่างไรก็ตามปฏิเสธได้ยากว่าการที่พรรคบีเจพีสามารถครองเสียงข้างมากทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหารส่งผลอย่างมากต่อการผลักดันเศรษฐกิจในยุคโมดี 2.0

กระตุ้น เสริมสร้าง และปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ

ยุครัฐบาลโมดี 2.0 ที่กำลังจะจบลงในไม่ช้านี้ ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญทางเศรษฐกิจและถือเป็นช่วงที่ทดสอบศักยภาพของนโยบายทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาของรัฐบาลอย่างมาก เพราะรัฐบาลโมดีชุดปัจจุบันคาดหวังอย่างมากว่าภายหลังชัยชนะอันถล่มทลายทางการเมือง พวกเขาจะสามารถขับเคลื่อนนโยบายทางเศรษฐกิจหลายชิ้นที่ต้องเผชิญด่านการผ่านความเห็นชอบในรัฐสภา หรือเผชิญกับการต่อต้านจากบรรดารัฐต่างๆ แต่แล้วความคาดหวังนั้นก็แทบจะจบลง เพราะในต้นปี 2020 ทั้งโลก รวมถึงอินเดียต้องเผชิญกับการระบาดของโควิด 19 ซึ่งนำมาซึ่งการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลก

อินเดียเองก็ไม่ได้รับการยกเว้นเช่นเดียวกัน เศรษฐกิจอินเดียเคยเติบโตอย่างร้อนแรงในช่วงหลายปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะในช่วงก่อนโควิด-19 ที่เติบโตมากถึงร้อยละ 8 ในปี 2017 แต่ในปี 2020 ซึ่งเป็นปีแรกของการระบาด ตัวเลขการเติบโตของอินเดียลดลงเหลือเพียงร้อยละ 4 เท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเข้าสู่ปี 2021 เศรษฐกิจของอินเดียก็หดตัวติดลบกว่าร้อยละ 7.3 อันเป็นผลมาจากมาตรการปิดเมือง และป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้กำลังการบริโภคภายในประเทศลดลงอย่างมาก และส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาพรวมเศรษฐกิจทั้งหมด ที่สำคัญมีหลายรายงานระบุว่าในช่วงดังกล่าวอัตราความยากจนของอินเดียมีการปรับเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย

การระบาดของโควิด-19 ถือเป็นต้นตอสำคัญที่เปิดให้อินเดียเห็นถึงปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ โดยเฉพาะความไม่เท่าเทียมกันและช่องว่างทางสังคมที่กำลังถ่างกว้างมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญ รัฐบาลยังได้รับรู้ถึงข้อเท็จจริงที่ว่าแรงงานจำนวนมากภายในประเทศอยู่นอกระบบ ส่งผลให้คนเหล่านี้ไม่ได้รับการดูแลในเรื่องสวัสดิการอย่างเหมาะสม และยังทำให้รัฐไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้มีประสิทธิภาพพอ

ฉะนั้นแทนที่ในรัฐบาลโมดี 2.0 จะมีการผลักดันนโยบายทางเศรษฐกิจใหม่ๆ เพื่อเพิ่มการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกลับกลายเป็นว่านโยบายเศรษฐกิจส่วนใหญ่ต้องปรับเปลี่ยนเป็นมุ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการฟื้นตัวภายหลังการระบาดของโควิด โดยรัฐบาลต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล ซึ่งมีรายงานว่ามากถึงร้อยละ 15 ของ GDP โดยมาตรการส่วนใหญ่เป็นการช่วยเหลือในทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการเลื่อนการจ่ายภาษี การลดขั้นตอนการขอสินเชื่อ หรือการอนุมัติเงินกู้ในรายย่อย เป็นต้น

ในอีกทางหนึ่ง รัฐบาลก็ใช้ช่วงเวลานี้ในการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจและระบบภาษีภายในประเทศเพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มแรงงานนอกระบบมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญไปกว่านั้นคือการวางระบบรองรับการลงทุนจากภายนอกประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลสำคัญมาจากหลายประเทศพัฒนาแล้วมีการปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานของตนเอง โดยเฉพาะการย้ายการลงทุนและแหล่งการผลิตที่เดิมอยู่ในจีน ไปยังประเทศอื่น ซึ่งอินเดียเองก็ได้รับผลเชิงบวกจากมาตรการดังกล่าวด้วย ฉะนั้นเห็นได้ชัดว่าภายหลังที่หลายประเทศกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติใหม่อีกครั้ง นายกรัฐมนตรีโมดีก็ไม่รอช้าที่จะเดินสายทัวร์ยุโรปและสหรัฐอเมริกาเพื่อดึงดูดการลงทุนเข้าประเทศ ซึ่งภาคเศรษฐกิจถือเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของอินเดียด้วย ในยุครัฐบาลโมดี 2.0 นี้ เราได้เห็นท่าทีการต่างประเทศของอินเดียที่น่าสนใจหลายประการเช่นเดียวกัน

เมื่อภูมิรัฐศาสตร์เปลี่ยน อินเดียก็ต้องปรับ

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศถือเป็นอีก ‘ผลงานชิ้นเอก’ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาภายใต้รัฐบาลโมดี 2.0 เพราะช่วงเวลาที่ผ่านมาอินเดียต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกมากที่สุดยุคหนึ่งเลยก็ว่าได้ เริ่มด้วยการเผชิญความขัดแย้งทางพรมแดนกับจีน ที่ส่งผลให้อินเดียถึงกับต้องพิจารณาภาพรวมนโยบายทั้งหมดที่เคยมีกับเพื่อนบ้านข้างเคียง นักวิเคราะห์บางคนถึงกับบอกว่าอินเดียกลับไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ในการสร้างความสัมพันธ์กับจีนเหมือนครั้งสงครามปี 1962 ผลกระทบดังกล่าวส่งผลให้อินเดียมีมาตรการมากมายออกมาเพื่อตอบโต้จีน โดยเฉพาะการแสวงหาพันธมิตรเพิ่มเติมเพื่อเข้ามาคานอำนาจจีนมากยิ่งขึ้น และแน่นอนว่าอินเดียมองจีนเป็นความท้าทายด้านการต่างประเทศ

นโยบายต่างประเทศหลักในรัฐบาลโมดี 2.0 จึงเป็นการมุ่งเน้นแสวงหาพันธมิตรและลดการพึ่งพาทางเศรษฐกิจจากจีนด้วยการกระจายแหล่งนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นมากยิ่งขึ้น เพราะอินเดียทราบดีว่าเศรษฐกิจอินเดียพึ่งพิงจีนอยู่มาก ถึงขนาดที่ว่าในช่วงที่เกิดการปะทะกันบริเวณชายแดน แม้อินเดียจะพยายามแบนสินค้าจีน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้าม เพราะจีนกลับขยับขึ้นมาเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของอินเดียแซงหน้าสหรัฐอเมริกา ยิ่งไปกว่านั้น จีนได้ดุลการค้าจากอินเดียเป็นจำนวนมากด้วย แต่นั่นมิได้หมายความว่าอินเดียจะไม่มีความสัมพันธ์กับจีนและหันไปหาสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรเพียงแนวทางเดียว เพราะข้อเท็จจริงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาชี้ชัดว่า อินเดียยังคงวางนโยบายที่ต้องการสร้างสมดุลในการมีความสัมพันธ์กับบรรดาประเทศมหาอำนาจต่างๆ ในโลก

เป้าหมายสำคัญของนโยบายต่างประเทศอินเดียในยุครัฐบาลโมดีที่เห็นอย่างชัดเจนคือการประกาศให้ประชาคมโลกได้รับรู้ว่าอินเดียในวันนี้ต้องการเป็นตัวแสดงหลักในเวทีโลกที่ทุกคนต้องฟัง และต้องหันมาให้ความสนใจท่าทีของอินเดียมากยิ่งขึ้น อินเดียจะไม่วางนโยบายล้อไปตามมหาอำนาจของโลก หรือเป็น ‘ไม้ประดับ’ ให้ประเทศอื่น นโยบายต่างประเทศที่ยืนหลังตรงบนผลประโยชน์แห่งชาติจึงกลายเป็นแนวคิดสำคัญของกระทรวงการต่างประเทศภายใต้การนำของชัยศังกร (S. Jaishankar) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เราจึงได้เห็นอินเดียแสดงบนบาทที่เข้มแข็งมากยิ่งขึ้นทั้งในเวทีสหประชาชาติ การประชุม G20 รวมถึงในกลุ่ม BRICS เองอินเดียก็มีส่วนผลักดันให้กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่นี้เป็นที่สนใจของนานาชาติมากขึ้น

อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมาอินเดียต้องเผชิญกับความท้าทายด้านการต่างประเทศอย่างมากนับตั้งแต่ความเปลี่ยนแปลงภายในอัฟกานิสถาน รวมไปถึงสถานการณ์ความไม่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นปากีสถาน เนปาล ศรีลังกา หรือบังคลาเทศ ยังไม่นับรวมถึงการสูญเสียสถานะนำของตนเองเหนือมัลดีฟส์ภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดที่ฝ่ายโปรจีนได้รับชัยชนะ

นี่อาจเรียกได้ว่าในขณะที่อินเดียกำลังขยับขยายการต่างประเทศตัวเองไปนอกภูมิภาคเอเชียใต้หรือเอเชีย โดยเฉพาะการก้าวขึ้นไปอยู่แนวหน้าของเวทีระหว่างประเทศ นโยบายต่างประเทศพื้นฐานอย่าง ‘เพื่อนบ้านมาก่อน’ หรือการให้ความสำคัญกับเพื่อนบ้านมากที่สุดก็กำลังเผชิญกับความท้าทายและความเปลี่ยนแปลงอย่างหนัก จนส่งผลให้แนวปฏิบัติด้านการต่างประเทศแบบเดิมทำไม่ได้อีกต่อไป เพราะเอเชียใต้มีจีนที่เพิ่มบทบาทของตนเองมากยิ่งขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้บรรดาประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ไม่ต้องง้ออินเดียเพียงประเทศเดียวอีกต่อไป

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่านโยบายต่างประเทศของอินเดียนั้นล้มเหลว เพราะความสำเร็จหรือความล้มเหลวไม่ได้วัดกันที่อินเดียยังคงรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้านและเอเชียใต้ไว้ได้มากน้อยแค่ไหน แต่วัดกันที่ว่าสุดท้ายแล้วผลประโยชน์แห่งชาติของอินเดียสูญเสียไปมากหรือน้อยต่างหาก

หรือเราจะได้เห็นโมดี 3.0

หากมองย้อนผลงานรัฐบาลโมดีชุดล่าสุดตลอด 5 ปีที่ผ่านมาทั้งในเชิงการเมือง เศรษฐกิจ และการต่างประเทศ อาจต้องบอกว่ามีนโยบายและมาตรการหลายอย่างที่จะเป็นตัวแปรสำคัญในศึกเลือกตั้งปี 2024 ที่กำลังจะมาถึงนี้ ถ้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมาก็อาจต้องกล่าวว่าพรรคบีเจพีมีแต้มต่อจำนวนมากเมื่อเปรียบเทียบกับพรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะผลการเลือกตั้งระดับรัฐในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ที่พรรครัฐบาลสามารถคว้าชัยชนะในหลายรัฐใหญ่ซึ่งมีที่นั่งจำนวนมากในรัฐสภา นั่นก็หมายความว่าประชาชนจำนวนมากยังคงพอใจต่อการทำงานที่ผ่านมาของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

นี่จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่อาจบ่งชี้ว่าอินเดียภายหลังการเลือกตั้งปี 2024 อาจได้นายกรัฐมนตรีคนเดิมที่คุ้นเคยอย่างนายนเรนทรา โมดี ซึ่งหากเขาสามารถกุมชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้อีกครั้ง ก็จะเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ให้กับตัวเขาเอง รวมไปถึงพรรคบีเจพีด้วย เพราะนี่อาจเป็นครั้งแรกที่พรรคบีเจพีชนะเลือกตั้งใหญ่สามครั้งติดต่อกันโดยอยู่ภายใต้ผู้นำคนเดียว และนั่นก็จำทำให้เราได้เห็นหน้าตาของรัฐบาลโมดี 3.0 ในอนาคตไปด้วย

แต่การเมืองก็คือการเมือง ยังคงเหลือเวลาอีก 2-3 เดือนกว่าที่อินเดียจะมีการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งอะไรก็เกิดขึ้นได้ เพราะแม้ว่าพรรคฝ่ายค้านจะอ่อนแอมากแค่ไหน แต่ถ้ารัฐบาลดันสะดุดขาตัวเองล้ม ก็อาจกลายเป็นแต้มต่อให้พรรคคองเกรสและพันธมิตรฝ่ายค้านสามารถมีชัยชนะในการเลือกตั้งได้เช่นกัน เพราะสำหรับประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างอินเดีย อะไรก็เกิดขึ้นได้ ฉะนั้นทุกๆ วันก่อนการเลือกตั้งสำคัญเสมอสำหรับรัฐบาลและฝ่ายค้าน

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save