fbpx

สิทธิชนเผ่ากับปัญหาความขัดแย้งครั้งใหม่ในอินเดีย: บทเรียนน่าคิดต่อนโยบายด้านชาติพันธุ์ของไทย

ผมเต็มไปด้วยความรู้สึกเจ็บปวดและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นสิ่งที่น่าอับอายอย่างยิ่งต่อผู้คนในสังคมอินเดีย” – นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย

นี่เป็นถ้อยแถลงเกี่ยวกับเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐมณีปุระของอินเดีย ภายหลังคลิปวิดิโอการแห่ประจารหญิงสาวชาวกูกิ 2 คน ในสภาพเปลือยกายถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก (บางสำนักข่าวรายงานว่ามีการข่มขืนแบบหมู่อีกด้วย) จนรัฐบาลนานาชาติ รวมไปถึงภาคประชาชนของอินเดียมีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอินเดียอย่างหนักต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

แม้ตลอดเวลาที่ผ่านมามีการเรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียเร่งดำเนินการเพื่อสร้างสันติภาพและยุติความขัดแย้งภายในพื้นที่ แต่ดูเหมือนว่าผู้นำระดับสูงในคณะรัฐบาลไม่มีปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์นี้เท่าไหร่นัก และนี่จึงเป็นครั้งแรกที่นายกรัฐมนตรีอินเดียเลิกที่จะเงียบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและให้ถ้อยแถลงต่อสื่อเกี่ยวกับเหตุการณ์ความขัดแย้งในรัฐมณีปุระ นับตั้งแต่ความขัดแย้งเริ่มขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ที่กำลังเกิดขึ้นในมณีปุระนั้นเปรียบเสมือนยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่ขึ้นมาให้คนทั่วไปได้เชยชม เพราะนอกจากรัฐมณีปุระแล้ว ยังมีอีกหลากหลายรัฐที่ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ยังคงไม่เป็นที่ยุติ โดยเฉพาะประเด็นปัญหา ‘สิทธิชนเผ่า’ (Scheduled Tribes) ที่ยังคงเป็นชนวนการประท้วงอยู่เสมอ ไม่แตกต่างไปจากประเด็นปัญหา ‘สิทธิทางวรรณะ’ (Scheduled Castes)

การศึกษาเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในรัฐมณีปุระจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเข้าใจความเป็นไปที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตเกี่ยวความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์ในอินเดียอันเป็นผลสำคัญมาจากระบบสิทธิพิเศษ ซึ่งจะมีส่วนไม่มากก็น้อยต่อการออกแบบนโยบายด้านชาติพันธุ์ของประเทศไทยในอนาคต

ประวัติศาสตร์ความขัดแย้งในรัฐมณีปุระ

ความขัดแย้งใหม่ที่พึ่งเกิดขึ้นระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ ‘เมเต’ (Meitei) ซึ่งเป็นประชากรมากกว่าครึ่งของรัฐ โดยชาวเมเตมักอาศัยในเขตพื้นที่ราบตามหุบเขา อันเป็นบริเวณเมืองหลวงของรัฐอย่างเมือง ‘อิมพาล’ โดยชาวเมเตนั้นนับถือศาสนาฮินดูเป็นหลัก ในขณะที่คู่ขัดแย้งคือกลุ่มชาติพันธุ์ ‘กูกิ’ (Kuki) ซึ่งมีสัดส่วนประชากรราวร้อยละ 40 ของรัฐ ชาวกูกิส่วนใหญ่นั้นอาศัยอยู่ตามพื้นที่ภูเขา รอบๆ พื้นที่ราบซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของชาวเมเต และนับถือศาสนาคริสต์เป็นหลัก กล่าวได้ว่าโดยพื้นฐานแล้ว กลุ่มชาติพันธุ์ทั้งสองมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน แต่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างสองชาติพันธุ์นี้หยั่งรากลึกมาอย่างยาวนาน และกินขอบเขตมากกว่าเพียงเรื่องความต่างทางวัฒนธรรม

แต่สามารถกล่าวได้ว่าความขัดแย้งระหว่างสองชาติพันธุ์เริ่มเข้มข้นและตึงเครียดมากยิ่งขึ้นภายหลังการเข้ามาของอังกฤษ เพราะนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการสถาปนาอำนาจเหนือดินแดน ซึ่งมีอาณาจักรชาวเมเตและชนเผ่ากูกิอาศัยอยู่ เมื่อเจ้าอาณานิคมอังกฤษเริ่มใช้ระบบภาษีและส่งเสริมการเกษตรรูปแบบใหม่บริเวณเนินเขามากยิ่งขึ้น แน่นอนว่าปัจจัยนี้ส่งผลให้เกิดข้อพิพาทเรื่องที่ดินและทรัพยากรระหว่างชุมชนชาวเมเตและกูกิ ที่แต่เดิมทั้งสองชาติพันธุ์รับรู้พื้นที่การประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจของตนเองเป็นอย่างดี ปัจจัยนี้จึงได้ก่อให้เกิดความตึงเครียดระหว่างสองกลุ่มชาติพันธุ์ขึ้น

แต่สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสองชาติพันธุ์ทวีความรุนแรงอย่างชัดเจนในช่วงหลังอินเดียได้รับเอกราชในปี 1947 โดยมณีปุระซึ่งแต่เดิมเป็นรัฐมหาราชาถูกผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย ปัจจัยนี้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างทางสังคมและการเมืองหลายประการ โดยเฉพาะการออกแบบการบริหารที่แบ่งแยกระหว่างพื้นที่หุบเขาและเนินเขาที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ปัจจัยเชิงบริหารนี้ส่งผลให้ชาวมณีปุระจำนวนมากเกิดความไม่พอใจ จึงก่อให้เกิดกลุ่มแบ่งแยกดินแดนขึ้น โดยมีทั้งกลุ่มกองกำลังติดอาวุธทั้งของชาวเมเตและชาวกูกิ

ด้วยพื้นฐานของการมีกองกำลังแบ่งแยกดินแดนที่จับอาวุธของทั้งสองกลุ่มชาติพันธุ์นี้เอง ส่งผลให้ในช่วงทศวรรษที่ 1990 เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างชาวเมเตและชาวกูกิ ความขัดแย้งดังกล่าวจึงมีความรุนแรงอย่างมาก เกิดการพลัดถิ่น การสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก เหตุการณ์ในครั้งนั้นได้สร้างบาดแผลลึกไว้ในใจของชาวเมเตและชาวกูกิมาโดยตลอด แม้รัฐบาลอินเดียจะสามารถยุติความขัดแย้งของทั้งสองกลุ่มได้ แต่นั่นก็เป็นเพียงการซุกปัญหาไว้ใต้พรมเท่านั้น เพราะสุดท้ายแล้วจนกระทั่งถึงวันนี้ยังไม่มีกระบวนการสร้างความปรองดองในพื้นที่อย่างแท้จริง ยิ่งไปกว่านั้น ลักษณะการแยกกันอยู่อย่างชัดเจนได้ส่งเสริมให้เกิดการสร้างความเป็นชาตินิยมระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ที่เพิ่มขึ้นมาโดยตลอด

แต่ที่จะเป็นปัญหาใหญ่และส่งผลอย่างมากต่อความรู้สึกของทั้งสองกลุ่มชาติพันธุ์คือนโยบายว่าด้วยสิทธิชนเผ่าซึ่งรัฐบาลอินเดียปฏิบัติใช้ในหลายพื้นที่ ทั่วประเทศอินเดีย เพื่อให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษต่อกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะชนกลุ่มน้อยที่มีชาติพันธุ์แตกต่างจากประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ความหวังดีของรัฐบาลอินเดียได้สร้างปัญหาใหม่ในรัฐมณีปุระ เพราะในขณะที่ชาวกูกิได้สิทธิชนเผ่า ชาวเมเตกลับไม่ได้รับ และนั่นนำมาซึ่งการเรียกร้องสิทธิชนเผ่าของชาวเมเต เพราะแม้ว่าชาวเมเตจะเป็นประชากรส่วนใหญ่ของรัฐมณีปุระ แต่ก็ยังถือเป็นชาติพันธุ์ส่วนน้อยของประเทศอินเดีย

และด้วยความพยายามของชาวเมเตที่คาดว่าจะได้รับสิทธิชนเผ่าในไม่ช้านี้เอง ส่งผลให้ชาวกูกิรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมและมองว่าหากชาวเมเตได้รับสิทธิดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดการบุกรุกพื้นที่ของตน ปัจจัยนี้ส่งผลให้ชาวกูกิเดินประท้วงต่อต้านการให้สิทธิชนเผ่าแก่ชาวเมเต และนั่นก็กลายเป็นชนวนปัญหาความขัดแย้งระลอกล่าสุดที่อินเดียกำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้

สิทธิชนเผ่าจากนโยบายส่งเสริมความเท่าเทียมสู่เครื่องมือทางการเมือง

จะเห็นได้ว่าความขัดแย้งระลอกใหม่ภายในมณีปุระรอบนี้นั้นมีปัจจัยสำคัญมาจากนโยบาย ‘สิทธิชนเผ่า’ ซึ่งแตกต่างจากในอดีตที่เป็นความขัดแย้งในเชิงความแตกต่างทางด้านสังคมและวัฒนธรรม เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะหากมองลงไปในตัวนโยบายสิทธิชนเผ่าแล้ว โดยหลักการเป็นนโยบายเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมให้ชนกลุ่มน้อยในอินเดียให้สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมเป็นหลัก เพราะกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกระบุให้ได้รับสิทธิชนเผ่านั้นจะได้รับการคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญอินเดียเป็นการเฉพาะ

สิทธิที่จะได้รับนั้นจะมีความแตกต่างออกไปจากประชากรทั่วไปของอินเดีย ยกตัวอย่างเช่น ได้รับที่นั่งสำรองพิเศษในระดับรัฐสภาและสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ หน่วยงานภาครัฐต้องมีการเปิดรับตำแหน่งขึ้นพิเศษให้กับคนกลุ่มนี้ เช่นเดียวกับสถานศึกษาที่ต้องมีโควต้าพิเศษที่เป็นการสอบแข่งขันเฉพาะสำหรับกลุ่มที่ได้สิทธิชนเผ่าเท่านั้น นี่ยังไม่นับรวมว่าคนที่ได้สิทธิชนเผ่ายังสามารถเข้าถึงบริการหรือสวัสดิการพิเศษมากมายของภาครัฐ เป็นต้น ฉะนั้นการได้รับ ‘สิทธิชนเผ่า’ นี้ มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการเข้าถึงโอกาสและสิทธิพิเศษในการยกระดับคุณภาพชีวิต

ด้วยเหตุปัจจัยนี้เองส่งผลให้บรรดาชนเผ่าต่างๆ ที่ไม่ได้มีชาติพันธุ์เป็นอินโด-อารยันเช่นเดียวกับคนอินเดียส่วนใหญ่ในประเทศ จึงมีความพยายามอย่างมากที่จะเรียกร้องให้รัฐบาลบรรจุชาติพันธุ์ของตนเองเพื่อขอรับสิทธิชนเผ่านี้ และด้วยลักษณะพิเศษของระบบให้ความช่วยเหลือนี้ของรัฐบาลอินเดีย จากเป้าหมายของระบบสิทธิชนเผ่า ที่มีเป้าหมายสำคัญเพื่อให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง กลุ่มด้อยโอกาส หรือกลุ่มที่ถูกเลือกปฏิบัติจากสังคมส่วนใหญ่ ถูกทำให้กลายเป็นนโยบายหาเสียงทางการเมืองในที่สุด

หลายครั้งในหลายรัฐของอินเดียที่มีกลุ่มชาติพันธุ์และชนกลุ่มน้อยเป็นจำนวนมากอาศัยอยู่ พรรคการเมืองจำนวนมากมีการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งโดยอาศัยสิทธิชนเผ่านี้เพื่อดึงดูดให้กลุ่มชาติพันธุ์นั้นๆ มาลงคะแนนให้ในการเลือกตั้ง โดยให้คำมั่นสัญญาว่าจะผลักดันให้ชนเผ่าดังกล่าวได้รับการระบุไว้ในรายชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ที่จะได้รับสิทธิชนเผ่า ประเด็นนี้ส่งผลให้นโยบายสิทธิชนเผ่า (ไม่แตกต่างไปจากนโยบายสิทธิทางวรรณะ) ถูกทำให้กลายเป็นการเมือง และหลายครั้งการกระทำนี้นำมาซึ่งความไม่พอใจของชนกลุ่มน้อยที่แท้จริง

กรณีของรัฐมณีปุระเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของปัญหาการทำนโยบายสิทธิชนเผ่าให้กลายเป็นการเมือง กรณีนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสำคัญของแนวนโยบายนี้ด้วย เพราะตามคำอ้างของชาวเมเต พวกเขามองว่า หากเทียบกับชาวอินเดียส่วนใหญ่ แน่นอนว่าพวกเขาเป็นชนกลุ่มน้อยที่ควรได้รับสิทธินี้ แต่ในทางตรงกันข้ามหากพิจารณาเฉพาะในรัฐมณีปุระเท่านั้น ชาวเมเตกลับเป็นประชากรส่วนใหญ่ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางเศรษฐกิจในพื้นที่มาโดยตลอด ข้อถกเถียงเกี่ยวกับสิทธิชนเผ่าของชาวเมเต ที่ถูกวิจารณ์จากชาวกูกินี้ จึงเป็นสิ่งที่รับฟังได้

เพราะหากชาวเมเตได้รับสิทธิชนเผ่า และสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ที่รัฐรับรองให้ ก็ยิ่งส่งผลให้บทบาทและอิทธิพลของชาวเมเตในรัฐมณีปุระที่แต่เดิมมีมากอยู่แล้ว ทวีคูณเพิ่มขึ้นไปอีก ความขัดแย้งระลอกใหม่นี้ไม่ได้มีเพียงมิติทางด้านความขัดแย้งเชิงชาติพันธุ์อย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความขัดแย้งในมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมโดยรวมของมณีปุระด้วย

บทเรียนจากอินเดียต่อข้อควรพิจารณาเกี่ยวนโยบายชาติพันธุ์ของไทย

จากกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นในอินเดียข้างต้น เราเห็นได้ชัดเจนว่า โดยหลักการแล้วการมีอยู่ของนโยบายด้านชาติพันธุ์ล้วนมีเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ดี เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมกันของประชากรและลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจให้กับกลุ่มเปราะบางที่ไม่ได้เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งอาจเผชิญการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม แนวนโยบายในลักษณะนี้กำลังได้รับความสนใจอย่างมากจากพรรคการเมืองจำนวนมากทั่วโลก เพราะถือเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะสร้างความกินดี อยู่ดี และมีสุข ให้ประชากรทุกคนโดยไม่แบ่งแยก

ประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีกลุ่มชาติพันธุ์และชนกลุ่มน้อยเป็นจำนวนมาก แม้ว่าเราจะมองว่าทุกคนเป็นคนไทยเช่นเดียวกันหมด แต่นั่นก็เป็นเพียงมายาคติที่ถูกสร้างขึ้นมาในยุคสร้างชาติไทยเท่านั้น เพราะเมื่อเจาะลึกไปแล้ว ในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทยมักมีเอกลักษณ์และวัฒนธรรมที่แตกต่างกันออกไป และเป็นเรื่องน่าเศร้าว่า ด้วยกรอบคิดบางอย่างของรัฐไทยที่รวมศูนย์อำนาจ ส่งผลให้เกิดการเลือกปฏิบัติทางด้านชาติพันธุ์ขึ้น ทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการมีนโยบายด้านชาติพันธุ์เป็นการเฉพาะเพื่อให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางเป็นสิ่งที่ดีที่รัฐพึงมี เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิภาพผ่านการสนับสนุนของภาครัฐ แต่กรณีศึกษาของอินเดียก็เป็นสิ่งย้ำเตือนให้เห็นถึงช่องโหว่จำนวนมากของนโยบายด้านชาติพันธุ์ ที่แม้เป้าหมายจะดี แต่หากมีการใช้ไปในทางที่ผิดจะส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์อย่างรุนแรง และแทนที่จะส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างชาติพันธุ์ กลับกลายเป็นการหนุมเสริมให้ความขัดแย้งรุนแรงยิ่งขึ้น

คำถามที่น่าคิดและจำเป็นต้องถกเถียงให้มากขึ้นเกี่ยวกับนโยบายด้านชาติพันธุ์จากกรณีของรัฐมณีปุระคือ “เราควรมีนโยบายอย่างไรที่จะช่วยหนุนเสริมชาติพันธุ์ที่เป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศ แต่กลับกลายเป็นชาติพันธุ์กลุ่มใหญ่ในระดับพื้นที่” เพื่อไม่ให้นโยบายดังกล่าวกลายเป็นการส่งเสริมให้กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอำนาจมากอยู่แล้วในพื้นที่ ได้สิทธิประโยชน์จากรัฐเพื่อเอารัดเอาเปรียบชาติพันธุ์อื่นๆ

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save