fbpx

หรืออินเดียกำลังจะสูญเสียพันธมิตรในเอเชียใต้อีกครั้ง?: ในวันที่การเมืองมัลดีฟส์ผลัดใบ

เอเชียใต้ถือเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ทราบกันดีว่าเป็นเขตอิทธิพลสำคัญของอินเดีย และอินเดียถือเป็นตัวแสดงที่มีบทบาทอย่างมากทั้งในมิติทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ต่อประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ หลายครั้งอินเดียมีการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียใต้อย่างชัดเจน หนึ่งในนั้นคือ ‘ประเทศมัลดีฟส์’ ประเทศหมู่เกาะที่เราคนไทยอาจได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของประเทศนี้ ผ่านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยว ว่าเป็นแดนสวรรค์ของใครก็ตามที่รักในธรรมชาติ ทะเล และหาดทรายขาว แต่จริงๆ แล้ว ประเทศหมู่เกาะนี้ซึ่งตั้งอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย กลับมีพลวัตรทางการเมืองที่น่าสนใจ และผ่านการใช้กำลังทางการทหารเข้าห้ำหั่นกันเพื่อการเข้าสู่อำนาจสูงสุดด้วย

น่าสนใจว่าภายใต้ความวุ่นวายทางการเมืองของมัลดีฟส์ที่เกิดขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมานี้ หนึ่งในตัวแสดงสำคัญก็คืออินเดียนั่นเอง ถึงขนาดที่อินเดียเคยส่งกองกำลังทางความมั่นคงเข้าไปในมัลดีฟส์เสียด้วยซ้ำ โดยเฉพาะในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 และปัจจุบันอินเดียยังคงทิ้งกองกำลังบางส่วนไว้ในมัลดีฟส์ด้วย

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การเมืองภายในมัลดีฟส์ รวมถึงความสัมพันธ์ที่มัลดีฟส์มีต่ออินเดียนั้นจะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ภายหลังสถานะนำของอินเดียในภูมิภาคเอเชียใต้นั้นถูกสั่นคลอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้ามามีบทบาทและอิทธิพลทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นของจีนในภูมิภาคนี้ ซึ่งส่งผลให้บรรดาประเทศในเอเชียใต้ ที่แต่เดิมพึ่งพิงอินเดียเป็นสำคัญเริ่มมีทางเลือกมากยิ่งขึ้น และหลายครั้งจีนสามารถให้ข้อเสนอที่ดีกว่าได้ ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียและประเทศในเอเชียใต้เริ่มเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยยะสำคัญ

แน่นอนว่าหนึ่งในนั้นก็คือประเทศมัลดีฟส์ โดยเฉพาะหลังปี 2014 เมื่อรัฐบาลมัลดีฟส์ตัดสินใจเข้าร่วมยุทธศาสตร์ข้อริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ของจีน ซึ่งส่งผลให้มีเงินลงทุนจำนวนมากหลั่งไหลเข้าไปในมัลดีฟส์และส่งผลให้เศรษฐกิจมัลดีฟส์พึ่งพิงจีนมากยิ่งขึ้น แม้ว่ารัฐบาลสมัยถัดมาจะปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เพื่อสร้างสมดุลระหว่างจีนกับอินเดียมากขึ้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าจีนมีอิทธิพลที่เพิ่มมากยิ่งขึ้นเหนือมัลดีฟส์ และดูเหมือนว่าผลร้ายนั้นจะไปตกกับอินเดียมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเกิดกระแส “India Out” ภายในมัลดีฟส์ และน่าสนใจว่าเมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมามัลดีฟส์จัดการเลือกตั้งทั่วไปเพื่อหาประธานาธิบดีคนใหม่ และดูเหมือนว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นฝันร้ายสำหรับอินเดีย เพราะผลปรากฎว่า Mohamed Muizzu แกนนำคนสำคัญที่เคลื่อนไหวเรื่อง “India Out” ได้รับความไว้วางใจให้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จึงส่งผลโดยตรงกับอินเดียอย่างไม่ต้องสงสัย

มัลดีฟส์สำคัญอย่างไรกับอินเดีย

แม้ดูเหมือนว่ามัลดีฟส์จะเป็นประเทศหมู่เกาะเล็กๆ ในภูมิภาคเอเชียใต้ แต่ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่ามัลดีฟส์มีความสำคัญอย่างมากต่ออินเดียในหลายมิติ โดยเฉพาะผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ที่มัลดีฟส์มีต่อนโยบายต่างประเทศของอินเดียที่เกี่ยวข้องกับมหาสมุทรอินเดีย มัลดีฟส์ครองตำแหน่งที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ในมหาสมุทรอินเดีย ทำให้กลายเป็นตัวแสดงสำคัญในบริบทด้านการแข่งขันกันของมหาอำนาจ และมีส่วนสำคัญต่อการสร้างความมั่นคงทางทะเลให้กับอินเดีย เพราะมหาสมุทรอินเดียเป็นหนึ่งในเส้นทางการค้าทางทะเลที่พลุกพล่านและสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก อินเดียเองมีผลประโยชน์จำนวนมหาศาลอยู่ในบริเวณดังกล่าว โดยเฉพาะการเป็นเส้นทางขนส่งพลังงานที่สำคัญของอินเดีย ฉะนั้นความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างอินเดียและมัลดีฟส์ย่อมส่งผลโดยตรงต่อผลประโยชน์แห่งชาติของอินเดียด้วย

ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาในมิติทางด้านเศรษฐกิจอาจวิเคราะห์ได้ว่ามัลดีฟส์ในฐานะประเทศหมู่เกาะย่อมส่งผลให้เขตเศรษฐกิจจำเพาะของมัลดีฟส์มีพื้นที่กว้างขวางตามไปด้วย โดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่มหาสมุทรอินเดีย ซึ่งอุดมไปด้วยทรัพยากรจำนวนมาก ฉะนั้นในนัยยะหนึ่งมัลดีฟส์เองถือเป็นโอกาสทางธุรกิจและการลงทุนที่สำคัญของอินเดียในการขยายเศรษฐกิจของตัวเองเชื่อมโยงไปยังประเทศเพื่อนบ้านโดยมีมหาสมุทรอินเดียเป็นสะพานเชื่อม ความสำคัญในจุดนี้ยังสะท้อนผ่านกรอบความร่วมมือในการลาดตระเวนร่วมกันระหว่างอินเดียและมัลดีฟส์ในพื้นที่เศรษฐกิจจำเพาะของมัลดีฟส์ด้วย สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าอินเดียให้ความสำคัญอย่างมากต่อมัลดีฟส์

อีกหนึ่งความสำคัญที่มัลดีฟส์มีต่ออินเดียคงหนีไม่พ้นการเป็นพันธมิตรที่สำคัญทั้งในเชิงความมั่นคงและการเมืองระหว่างประเทศทั้งในระดับภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศ ซึ่งความสำคัญตรงจุดนี้ส่งผลโดยตรงต่อบทบาทนำของอินเดียในอนุภูมิภาคเอเชียใต้ ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการยกระดับอินเดียให้กลายเป็นมหาอำนาจใหม่ของโลก ความมีเสถียรภาพภายในภูมิภาคผ่านกรอบความร่วมมือต่างๆ ที่อินเดียริเริ่ม ล้วนมีมัลดีฟส์แสดงบทบาทสำคัญอยู่ด้วยทั้งสิ้น สิ่งเหล่านี้สะท้อนสายสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศที่มีมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่อินเดียและมัลดีฟส์ได้รับเอกราช

ด้วยสถานะความสำคัญของมัลดีฟส์ที่มีอยู่อย่างสูงต่อนโยบายความมั่นคงและการต่างประเทศของอินเดีย ปัจจัยนี้ส่งผลให้ความเป็นไปในประเทศมัลดีฟส์ทั้งในมิติทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมล้วนได้รับการจับตาและเฝ้ามองอย่างใกล้ชิดจากอินเดีย และในบางครั้งเมื่ออินเดียเล็งเห็นว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในมัลดีฟส์จะยังผลกระทบเชิงลบต่อยุทธศาสตร์ของอินเดีย อินเดียมักไม่รีรอที่จะยื่นมือเข้าไปยุ่งเกี่ยวโดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งมักส่งผลกระทบโดยตรงต่อนโยบายต่างประเทศของมัลดีฟส์ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าถึงขนาดที่บางครั้งอินเดียส่งทหารเข้าไปในมัลดีฟส์เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและให้ความช่วยเหลือฝ่ายที่เป็นคุณกับตน

อย่างไรก็ตามสถานการณ์ดังกล่าวเริ่มเปลี่ยนแปลงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะนับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 21 ในสภาวะที่การแทรกแซงกิจการภายในของชาติอื่นทำได้ยากมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันประเทศมหาอำนาจเกิดใหม่อย่างจีนก็เริ่มขยายอิทธิพลของตนเองในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น โดยเฉพาะนับตั้งแต่มีการผลักดันข้อริเริ่มแถบและเส้นทางที่จีนพยายามเชื่อมโยงเศรษฐกิจและเข้าไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลโดยตรงต่อสถานะความสำคัญของอินเดียต่อมัลดีฟส์ โดยเฉพาะอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนที่มีเหนือมัลดีฟส์ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จีนจึงกลายเป็นคู่แข่งและถือเป็นความท้าทายสำคัญของยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศของอินเดียในภูมิภาคนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับมัลดีฟส์

สายสัมพันธ์จีน-มัลดีฟส์ การสั่นคลอนบทบาทของอินเดียในเอเชียใต้

นับตั้งแต่จีนเปลี่ยนผู้นำเข้าสู่รุ่นที่ 5 โดยมีประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเป็นแกนกลางสำคัญ นโยบายหลายอย่างของจีนเองก็มีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย โดยเฉพาะนโยบายต่างประเทศที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่าจีนมีแนวนโยบายเชิงรุกมากยิ่งขึ้นกว่าในอดีต จากเดิมที่จีนมีแนวนโยบายต่างประเทศแบบก้มหน้าก้มตา รักษาเนื้อรักษาตัว ไม่ทำตัวโดดเด่นมากเกินไป และมุ่งมั่นกับการพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่นคงทางการเมืองภายในประเทศ แต่นั่นเป็นภาพอดีตของนโยบายต่างประเทศจีนไปเสียแล้ว เพราะวันนี้จีนต้องการยืนอย่างภาคภูมิในเวทีระหว่างประเทศ และจะไม่ยอมให้ใครรังแก ฉะนั้น หลายครั้งการตอบโต้ทางการทูตของจีนในปัจจุบันจึงมีความแข็งกร้าวมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นจีนยังต้องการมีบทบาทในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้น และพยายามอย่างมากที่จะเข้าไปมีบทบาทในการปรับเปลี่ยนระเบียบโลกที่เป็นอยู่ให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองมากยิ่งขึ้น

ข้อริเริ่มแถบและเส้นทางหรือยุทธศาสตร์ BRI ถือเป็นหนึ่งในแกนหลักสำคัญของจีนในการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการลงทุนไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียและแอฟริกา ยุทธศาสตร์นี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของภูมิรัฐศาสตร์เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของจีนกับหลายประเทศกำลังพัฒนาแล้ว มันยังส่งผลให้จีนเพิ่มบทบาทและอิทธิพลทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจในประเทศเหล่านั้นด้วย ซึ่งแน่นอนว่าลักษณะดังกล่าวส่งผลต่อบทบาทของมหาอำนาจเดิมที่มีอิทธิพลอยู่ในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งนั่นรวมถึงบทบาทของอินเดียในเอเชียใต้ด้วย

นับตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา การลงทุนของจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายในประเทศต่างๆ ในเอเชียใต้ ซึ่งนั่นรวมถึงมัลดีฟส์ด้วย จีนได้เข้าไปลงทุนสร้างสะพานเชื่อมโยงระหว่างสองเกาะใหญ่สำคัญของมัลดีฟส์ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของมัลดีฟส์โดยสะพานดังกล่าวเพิ่งแล้วเสร็จเมื่อไม่นานมานี้ และถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของสายสัมพันธ์ระหว่างจีนและมัลดีฟส์ที่ทวีความแน่นแฟ้นกันมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในมิติทางเศรษฐกิจ ส่วนในทางการเมืองเอง นับตั้งแต่เกิดปัญหาความพยายามแทรกแซงทางการเมืองของอินเดียในมัลดีฟส์ บางกลุ่มการเมืองได้เปิดตัวอย่างชัดเจนในการต่อต้านอินเดีย และพยายามส่งเสริมให้จีนเข้ามาคานอำนาจในมัลดีฟส์มากยิ่งขึ้น

ปรากฎการณ์เช่นนี้ส่งผลกระทบอย่างมากต่ออินเดียในการแสดงบทบาทนำของตนเองเหนือมัลดีฟส์ ทำให้เวลานี้อินเดียต้องเผชิญกับข้อจำกัดทางด้านนโยบายต่างประเทศ โดยเฉพาะนโยบายที่มีต่อประเทศเพื่อนบ้านและกลุ่มเอเชียใต้ที่นับวันบทบาทและอิทธิพลของจีนจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก จนหลายครั้งอินเดียสูญเสียผลประโยชน์ของตนเองไป ทั้งนี้สถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียที่เริ่มมีปัญหามากขึ้นดูเหมือนจะเป็นไปได้ไม่ดีนัก ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีมัลดีฟส์เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ปรากฎว่ากลุ่มการเมืองที่โปรจีนและต่อต้านอินเดียอย่างชัดเจนได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง คำถามที่ตามมาก็คือว่าการเมืองที่ผลัดใบในมัลดีฟส์จะส่งผลกระทบต่อการสูญเสียพันธมิตรในเอเชียใต้อีกครั้งหรือไม่ ดังที่เกิดขึ้นในศรีลังกาและเนปาลก่อนหน้านี้

ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในมัลดีฟส์ ความสูญเสียทางยุทธศาสตร์การต่างประเทศของอินเดีย

ชัยชนะของ Mohamed Muizzu ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีมัลดีฟส์รอบล่าสุดนี้เปรียบเสมือนฝันร้ายสำหรับอินเดีย เพราะผู้นำท่านใหม่ของมัลดีฟส์นี้ถือเป็นหัวหอกสำคัญทางการเมืองในการต่อต้านบทบาทและอิทธิพลของอินเดียที่มีมากจนเกินไปภายในมัลดีฟส์ โดยเฉพาะการเคลื่อนไหว “India Out” ที่ต้องการให้อินเดียถอนทหารและหน่วยงานด้านความมั่นคงทั้งหลายออกจากมัลดีฟส์ ซึ่งน่าสนใจว่า จากการเคลื่อนไหวดังกล่าวภายใต้การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้กลายเป็นนโยบายและประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในหลายครั้งโดยเฉพาะจากพรรคที่มีแนวนโยบายต่อต้านอินเดีย แต่ที่เลวร้ายไปกว่านั้นสำหรับอินเดียคือเป็นที่ทราบกันดีว่าพรรคการเมืองที่ให้การสนับสนุน Mohamed Muizzu ในการเลือกตั้งรอบนี้มีสายสัมพันธ์ที่ค่อนข้างดีกับจีน หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มที่นิยมชมชอบให้จีนเข้ามามีบทบาทในมัลดีฟส์มากขึ้น

ฉะนั้นเป็นการยากที่จะปฏิเสธได้ว่าชัยชนะในการเลือกตั้งของประธานาธิบดี Mohamed Muizzu ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อยุทธศาสตร์การต่างประเทศของอินเดีย โดยเฉพาะในพื้นที่มหาสมุทรอินเดีย และอาจกล่าวได้ว่าอินเดียกำลังสูญเสียอิทธิพลของตนเองเหนือมัลดีฟส์โดยมีจีนเข้ามามีบทบาทเป็นคู่แข่งขันมากยิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ยังส่งผลโดยตรงต่อยุทธศาสตร์ความมั่นคงของอินเดียด้วย เพราะหลังการขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของ Mohamed Muizzu เขาได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่านโยบายต่างประเทศและความมั่นคงลำดับต้นๆ ที่สำคัญของเขาคือการผลักดันให้อินเดียถอนทหารและหน่วยความมั่นคงทั้งหลายออกจากมัลดีฟส์ แม้ว่าแนวนโยบายนี้อาจไม่สามารถกระทำได้ทันที แต่ก็เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าประธานาธิบดีคนใหม่ของมัลดีฟส์ไม่เอาด้วยกับสิ่งที่เป็นมาก่อนหน้านี้

สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นภายในมัลดีฟส์ครั้งนี้ถือเป็นความท้าทายทางด้านยุทธศาสตร์และนโยบายต่างประเทศครั้งสำคัญของอินเดีย เพราะสำหรับอินเดียแล้วเอเชียใต้ถือเป็นหลังบ้านสำคัญที่อินเดียจะสูญเสียสถานะนำไปเสียไม่ได้ หากอินเดียมีความมุ่งมั่นที่จะขึ้นไปเป็นมหาอำนาจหน้าใหม่ในเวทีโลก เห็นได้อย่างชัดเจนว่าหลังผลการเลือกตั้งของมัลดีฟส์ออกมาอย่างเป็นทางการ นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีของอินเดียได้ส่งคำแสดงความยินดีไปยัง Mohamed Muizzu โดยตรง ที่สำคัญอินเดียยังวางท่าทีนิ่งและสะท้อนจุดยืนที่จะให้ความช่วยเหลือมัลดีฟส์ต่อไปในการพัฒนาประเทศ อย่างไรก็ตามคงต้องมาตามดูกันต่อไปว่าอินเดียจะงัดไม้เด็ดอะไรขึ้นมาสู้กับจีนในวันที่กลุ่มนิยมจีนขึ้นมามีอำนาจภายในมัลดีฟส์

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save