fbpx
เหตุใดนโยบายสนับสนุน ‘โอกาสที่เท่าเทียม’ กลับบ่อนทำลายสังคม

เหตุใดนโยบายสนับสนุน ‘โอกาสที่เท่าเทียม’ กลับบ่อนทำลายสังคม

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เรื่อง
ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

หากฟังดูเผินๆ การสนับสนุนให้สังคมส่งเสริม ‘ความเท่าเทียมของโอกาส’ (Equality of Opportunity) น่าจะเป็นนโยบายในอุดมคติที่ไม่มีใครโต้แย้ง การที่เราทุกคนมีสิทธิสอบเข้ามหาวิทยาลัยหรือทำงานอย่างเสมอภาค โดยไม่ขึ้นกับชนชั้นหรือสถานะครอบครัว ย่อมเป็นสิ่งที่ดีมิใช่หรือ

แต่น่าเสียดายที่โลกของเราไม่ได้เรียบง่ายขนาดนั้น ไมเคิล แซนเดล (Michael Sandel) นักปรัชญาแห่งฮาร์วาร์ด ชวนเราขบคิดเรื่องนี้อย่างจริงจังในหนังสือเล่มใหม่ของเขา The Tyranny of Merit (2020) ซึ่งได้เสนอว่า การสนับสนุนโอกาสที่เท่าเทียมอาจเป็นการบ่อนทำลายสังคมและคุณค่าความเป็นมนุษย์ของเราในที่สุด

 

คำสวยๆ ที่ทุกคนอยากฟัง

 

“You can make it if you try – แค่ตั้งใจจริง ทุกสิ่งก็เป็นไปได้” เป็นประโยคที่บารัค โอบามา กล่าวในสุนทรพจน์ต่างๆ ในระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี บ่อยถึง 140 ครั้ง

ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ท่ามกลางการแตกแยกทางความคิดอย่างรุนแรงในสหรัฐฯ ประโยคข้างต้นกลับเป็นอุดมการณ์ที่นักการเมืองทั้งฝ่ายก้าวหน้าและฝ่ายอนุรักษ์นิยมพร้อมใจกันสมาทานอย่างไร้ข้อกังขา

อย่างไรก็ตาม การเห็นพ้องต้องกันของฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวากลับสะท้อนความฉาบฉวยของยุคสมัย ไม่ใช่ฉันทามติที่ช่วยผลักดันสังคมให้ดีขึ้น

ประโยคทองของโอบามาสะท้อนแก่นของหลักการ Meritocracy ที่ยึด ‘ความรู้ความสามารถ’ เป็นเกณฑ์ตัดสินคุณค่าของปัจเจกชน

หลักการนี้เชื่อว่า สังคมควรตัดสินการแพ้ชนะระหว่างบุคคลบนฐานของความสามารถเฉพาะตัว เพราะเป็น ‘ปัจจัยภายใน’ ของปัจเจกบุคคล ที่ไม่ขึ้นกับ ‘ปัจจัยภายนอก’ อย่างเพศสภาพ ชนชั้น เชื้อชาติ หรือสถานะครอบครัว

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้ชนะหรือผู้แพ้ก็พร้อมยอมรับผลการตัดสินแต่โดยดี เพราะถือว่าได้รับผลลัพธ์ที่คู่ควรกับความสามารถของตนเองแล้ว

 

คุณค่าที่คู่ควร

 

การสอบเข้ามหาวิทยาลัยเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของการยึดหลักความรู้ความสามารถ จนทำให้การ ‘ช่วยเตรียมสอบ’ กลายเป็นธุรกิจทำเงินแห่งยุคสมัย พ่อแม่ยอมจ่ายเงินทั้งทางตรงและทางอ้อมมหาศาลในแต่ละปีเพื่อให้ลูกเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในฝัน

เมื่อปี 2019 ข่าวใหญ่ข่าวหนึ่งของสหรัฐฯ คือ การจับกุมเอเจนท์การศึกษารายหนึ่งที่ช่วยผู้สมัครทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะเป็นการปลอมแปลงรูปถ่ายให้ผู้สมัครกลายเป็นนักกีฬาดาวรุ่ง หรือจ่ายเงินใต้โต๊ะให้คนตรวจข้อสอบ SAT ช่วยแก้คำตอบให้ระหว่างตรวจ เอเจนท์รายนี้ทำธุรกิจลักษณะนี้มานานถึง 8 ปี และทำรายได้ถึง 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่จะถูกจับกุมในที่สุด

แซนเดลบอกว่านี่แทบจะเป็นข่าวเดียวที่สำนักข่าวทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา ทั้งฝั่งหัวก้าวหน้าและฝั่งอนุรักษ์นิยม พร้อมใจกันนำเสนอและรุมประนาม

เขาชวนให้คิดต่อว่า ทำไมบรรดามหาเศรษฐีถึงยอมจ่ายเงินให้กับเอเจนท์ เพราะที่จริง ถ้าอยากให้ลูกตัวเองมีหน้ามีตาในสังคม ก็แค่ยกเงินก้อนนั้นให้ลูกโดยตรงไปเลยก็ได้ หรือไม่ก็แค่ซื้อสิ่งของราคาแพงต่างๆ มาประดับตัวลูกให้ดูดี

แต่ที่คนรวยยอมจ่ายเงิน ‘ทางอ้อม’ ให้ลูกเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำได้แทน เป็นเพราะพวกเขาต้องการซื้อ ‘คุณค่าแห่งชัยชนะ’ ที่ทั้งสังคมยึดถือไว้ร่วมกัน

หากลูกของพวกเขาสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยในกลุ่ม Ivy League หรือ Oxbridge ได้ก็จะเป็นการแสดงให้เห็นว่าความสำเร็จดังกล่าวเกิดจากปัจจัยภายใน อย่างความสามารถของลูกเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่คนในสังคมยุคสมัยนี้ให้คุณค่ามาก

แซนเดลเห็นว่า ปัญหาของการยึดความรู้ความสามารถเป็นเกณฑ์คือ การที่คุณค่าที่ใช้รองรับในการตีความ ‘ความสำเร็จ’ และ ‘ความล้มเหลว’ ถูกตีกรอบให้เป็นเรื่องในระดับปัจเจกเท่านั้น โดยไม่เหลือที่ทางที่จะคำนึงถึงปัจจัยรอบตัวอีกมากมายที่ก็มีส่วนกำหนดชะตาชีวิตของเราเหมือนกัน

ค่านิยมนี้บั่นทอนความสามารถของผู้คนในการมององค์ประกอบอื่นๆ ที่เป็นปัจจัยส่งผลต่อชัยชนะและความพ่ายแพ้ ทั้งยังทำให้ผู้คนมองข้ามที่จะเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขกันในสังคม และยังทำลายความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสังคมอีกด้วย

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้ชนะ อย่างเช่น ผู้ที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ตั้งเองใฝ่ฝันได้ จะรู้สึกดีอกดีใจราวกับเหยียบโลกไว้ใต้เท้า ในขณะที่ผู้แพ้ก็จะรู้สึกต่ำต้อยด้อยค่าเกินจริง

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ทั้งผู้ชนะและผู้แพ้ยอมรับร่วมกันคือความรู้สึกที่ว่า “สมควรแล้วที่เราได้รับสิ่งนี้ – You deserve it!”

 

คุณพ่อที่รู้ดี

 

ปรากฏการณ์ Meritocracy ในระดับปัจเจกเกิดขึ้นคู่ขนานกับแนวทาง ‘การบริหารจัดการแบบเทคโนแครต’ (Technocracy) ในระดับมหภาค

แนวทางเทคโนแครตเชื่อว่า นโยบายสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นทางเศรษฐกิจหรือสังคม ล้วนเป็นเรื่องทางเทคนิคที่สามารถประเมินผลดี-ผลเสีย และต้นทุนได้เบ็ดเสร็จ ดังนั้น การตัดสินใจในการวางนโยบายแต่ละเรื่องจึงควรจะเป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ ไม่ใช่เรื่องของคนธรรมดาหรือแม้แต่นักการเมืองที่เป็นตัวแทนประชาชน

แรกเริ่มเดิมที แนวทางนี้เชื่อมั่นในกลไกตลาด บนฐานคิดที่ว่า นอกจากตลาดจะเป็นกลไกที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดในการจัดสรรทรัพยากรแล้ว ยังเป็นกลไกที่ช่วยสนับสนุนเสรีภาพของปัจเจกในการแลกเปลี่ยนด้วย แต่นับจากทศวรรษ 1980s เป็นต้นมา หลักการดังกล่าวยังสร้างความเชื่ออีกประการหนึ่งขึ้นมาคู่กันด้วย นั่นคือ ในเมื่อตลาดมีการแข่งขันอย่างเสรีแล้ว สิ่งที่ปัจเจกแต่ละคนได้รับจากตลาด (อาทิ งาน รายได้ และคุณภาพชีวิต) ย่อมเป็นสิ่งที่ทุกคนสมควรได้รับแล้วเช่นกัน

วิธีคิดข้างต้นเริ่มก่อตัวในระดับโลกผ่านตัวของผู้นำอนุรักษ์นิยมอย่างมาร์กาเรต แธตเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ และโรนัลด์ เรแกน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ และก็ไม่ได้สูญหายไป เพราะได้รับการสืบสานและต่อยอดอย่างแข็งขัน แม้กระทั่งจากผู้นำ ‘หัวก้าวหน้า’ ที่สืบทอดตำแหน่งต่อๆ มาด้วยอย่างโทนี แบลร์ และบิล คลินตัน ของอังกฤษและสหรัฐฯ ตามลำดับ

เมื่อแปลงหลักการข้างต้นมาสู่การปฏิบัติ ‘กลไกตลาด’ ก็ได้นำไปสู่การขยายตัวของ ‘องค์กรอิสระ’ ที่ให้อำนาจผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เป็นคนตัดสินใจว่า อะไรคือความเหมาะสม พฤติกรรมใดควรได้คุณหรือได้โทษ ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ อย่างการตั้งราคาสินค้าและบริการสาธารณูปโภค อัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสม เงินช่วยเหลือที่คนจนควรได้รับ รวมไปถึงในด้านการเมือง อย่างประเด็นการเลือกตั้งและการจัดสรรงบประมาณ

ในขณะเดียวกัน การลดความเหลื่อมล้ำในสังคมก็เปลี่ยนจากการเก็บภาษีผู้มีรายได้สูงในด้านต่างๆ เพื่อเกลี่ยทรัพยากรในสังคมใหม่ มาเป็นการส่งเสริม ‘โอกาส’ ให้กับคนจน ผ่านเงินอุดหนุนด้านการศึกษาและสาธารณสุข บนสมมติฐานว่าจะทำให้เยาวชนจากครอบครัวยากจนสามารถแข่งขันกับคนอื่นๆ ได้อย่างเป็นธรรม

ในแง่การกำหนดนโยบาย รัฐบาลก็จะเฮโลกันแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาดีกรีสูงจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ จากนั้นก็ใช้ชื่อโครงการที่เต็มไปด้วยคำว่า Smart เช่น Smart Diplomacy, Smart Regulations, Smart Spending Cuts หรือ Smart Investments in Education จนมีผลการศึกษาว่า อดีตประธานาธิบดีโอบามาใช้คำว่า Smart ไปกว่า 900 ครั้งในการออกนโยบายทั้งหมดของเขา

เรากำลังเดินไปสู่อะไร?

 

แซนเดลเสนอว่า อุดมการณ์คู่ขนานระหว่าง คุณค่าที่ปัจเจกคู่ควร + การให้อำนาจผู้เชี่ยวชาญตัดสินใจ มีด้านมืดที่อันตรายยิ่ง

ในระดับปัจเจก การดีอกดีใจเกินเหตุเมื่อเราสอบเข้ามหาวิทยาลัยในฝันได้ หรือเสียอกเสียใจฟูมฟายเมื่อไม่สามารถประสบความสำเร็จบางอย่างในชีวิต เป็นค่านิยมที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับความเป็นมนุษย์และการเชื่อมั่นในคุณค่าส่วนรวมของสังคม

สหรัฐอเมริกา ดินแดนที่เชื่อในอุดมการณ์ดังกล่าวอย่างแรงกล้า เป็นสนามทดลองที่แสดงให้โลกเห็นความล้มเหลวของอุดมการณ์นี้ได้เป็นอย่างดี

ในแง่การเลื่อนสถานะทางสังคม (Social Mobility) ร้อยละ 90 ของคนอเมริกันที่เกิดในทศวรรษ 1940s มีรายได้สูงกว่าพ่อแม่ของตนเอง แต่คนอเมริกันที่เกิดในทศวรรษ 1980s เพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่มีรายได้สูงกว่าพ่อแม่ ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่ต่ำมาก หากเทียบกับประเทศยุโรปที่มีระบบสวัสดิการเข้มแข็งอย่างเยอรมนีและประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย

การยึดถือในความรู้ความสามารถไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม แต่เป็นเพียงการ ‘จัดวาง’ ความเหลื่อมล้ำใหม่ ให้กลายเป็นความรับผิดชอบของใครของมัน

ถึงที่สุดแล้ว ระบบ Meritocracy จึงเป็นการแช่แข็งความเหลื่อมล้ำให้ดำรงอยู่ต่อไป เพราะทำให้การส่งเสริม ‘โอกาสที่เท่าเทียม’ เป็นสิ่งที่ดีและเพียงพอในตัวของมันเอง นอกจากคนรวยจะไม่ต้องตั้งคำถามกับเงินและความสำเร็จของตนเองแล้ว ก็ยังยกสถานะความดีของตนเองได้ด้วยการช่วยเหลือคนด้อยโอกาสเป็นครั้งคราว

ในระดับมหภาค การยึดถือกลไกตลาดและผู้เชี่ยวชาญก็ไม่ได้ทำให้สหรัฐฯ ก้าวหน้าหรือภาคภูมิขึ้น หากย้อนไปมองสหรัฐฯ ในยุคก่อนปี 1980 สหรัฐฯ ได้ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามหลายเรื่อง โดยเฉพาะการเป็นผู้ชนะในสงครามโลกครั้งที่ 2 จนสามารถผลักดันความช่วยเหลือต่างๆ แก่ชาติยุโรปและญี่ปุ่น และส่งเสริมสวัสดิการของคนในประเทศตัวเองให้ก้าวหน้า และในตอนนั้น สหรัฐฯ ก็ไม่ใช่ว่าจะขับเคลื่อนประเทศด้วยอุดมการณ์แบบ Meritocracy ในปัจจุบัน

ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นชัดคือ ในยุคของอดีตประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี รูสเวลต์ (1933–1945) ซึ่งความสำเร็จของโครงการนิวดีล (New Deal) ที่เป็นการปฏิรูปประเทศขนานใหญ่หลังมหาวิกฤตเศรษฐกิจปี 1929 ได้ถูกขับเคลื่อนด้วยคณะที่ปรึกษาที่มีประวัติแสนธรรมดา เช่น แฮรี ฮอปกินส์ ซึ่งก็เป็นเพียงนักสังคมสงเคราะห์จากรัฐไอโอวา รูสเวลต์เองยังแต่งตั้งคนอย่างโรเบิร์ต แจ็คสัน นักกฎหมายที่ไม่ได้เรียนด้านกฎหมายโดยตรงเข้าไปอยู่ในศาลสูงสุด หรือแม้แต่แมริเนอร์ เอ็กเคิลส์ ที่รูสเวลต์ตั้งเป็นประธานธนาคารกลาง (1934–1948) ก็เป็นเพียงนายธนาคารจากเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งในรัฐยูทาห์ ไม่ได้จบปริญญาด้านเศรษฐศาสตร์เลยด้วยซ้ำ

ในขณะที่สหรัฐฯ ยุคหลังปี 1980 ที่ขับเคลื่อนด้วยอุดมการณ์ใหม่และเหล่าผู้เชี่ยวชาญกลับสร้างประเทศที่เหลื่อมล้ำมากขึ้น ก่อสงครามจำนวนมาก สร้างวิกฤตการเงิน แถมยังเป็นตัวอย่างของความถดถอยทางประชาธิปไตย

การเชื่อมั่นในผู้เชี่ยวชาญกลายเป็นแนวทางบริหารจัดการประเทศที่ทำให้แต่ละนโยบายห่างไกลจากประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญกว่านั้นคือ การวางท่าทีเสมือนนโยบายสาธารณะเป็นวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ที่ปราศจากคุณค่า ทั้งที่การตัดสินใจของแต่ละนโยบายอยู่ภายใต้ค่านิยมและสมมติฐานที่มีอคติชุดหนึ่ง และยังให้คุณให้โทษในเชิงอำนาจและผลประโยชน์มหาศาลกับคนแต่ละกลุ่มไม่เท่ากัน

ปัญหาใหญ่ที่สุดของการยึดความรู้ความสามารถและการจัดการแบบเทคโนแครต ไม่ได้อยู่ที่ว่าเรายังสร้างความเท่าเทียมแห่งโอกาสได้ไม่ดีพอ แต่อยู่ที่ว่า ทั้งสองแนวคิดเป็นหลักการที่มีข้อบกพร่องระดับรากฐานในตัวเอง

การเดินตามแนวทางดังกล่าวจึงสร้างผลสะเทือนที่ไม่พึงปรารถนาระหว่างทาง โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและความขัดแย้งทางสังคม

ยิ่งไปกว่านั้น ต่อให้เดินเส้นทางนี้ต่อไปเรื่อยๆ เราก็จะไม่สามารถสร้างสังคมที่ดีได้ในปลายทางได้อยู่ดี เพราะอุดมการณ์ทั้งสองจะค่อยๆ บ่อนทำลายคุณค่าสาธารณะของสังคมไปเรื่อยๆ

 

คุณค่าสาธารณะและศักดิ์ศรีแห่งการงาน

 

ก่อนจะเสนอทางออก แซนเดลย้ำว่าระบบ Meritocracy + Technocracy มีข้อดีในตัวมันเองแน่นอน

บริษัทย่อมอยากได้คนเก่งมาทำงาน ในขณะที่เราเองก็อยากเลือกสถาปนิกหรือช่างประปาที่มีความเชี่ยวชาญมาช่วยทำบ้านเรา แต่ระบบนี้มี ‘ด้านมืด’ ที่ร้ายแรงมากเกินกว่าที่จะเป็นอุดมการณ์หลักของสังคม เพราะการบอกว่าความสำเร็จหรือล้มเหลวในชีวิตเกิดจากปัจจัยภายในตัวเองของแต่ละคนเป็นสิ่งที่ถูกและดีในระดับหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้เป็นความจริงแท้แบบสัจนิรันดร์

เรายังสามารถชื่นชมความสำเร็จจากการทำงานหนักของตัวเองได้ แต่ก็ต้องตระหนักไปพร้อมกันว่าความสำเร็จนั้นไม่ใช่ผลจากตัวเราเท่านั้น โดยเฉพาะบรรดาผู้โชคดีจากสถานะครอบครัว หรือคนที่เกิดมาในกาละและเทศะที่มีตลาดต้องการทักษะบางอย่างของเขาพอดี

คำว่า Tyranny ที่แซนเดลใช้ในชื่อหนังสือน่าจะหมายถึง “สถานการณ์ที่ชีวิตของเราถูกบางสิ่งควบคุมบงการอย่างไม่เป็นธรรม” ซึ่งในกรณีนี้คือ ระบบที่ยึดความรู้ความสามารถและการบริหารจัดการแบบเทคโนแครต ซึ่งไม่ได้มีคุณค่าดีงามมากพอที่จะยึดเป็นอุดมคติในการสร้างสังคม

ข้อเสนอของแซนเดลสรุปให้กระชับได้ภายใต้หลักการ ‘ความเสมอภาคของสภาพแวดล้อม’ (Equality of Condition) ที่ส่งเสริมให้ทุกคนในสังคมใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณค่า ได้พัฒนาและใช้ความสามารถของตัวเองในการสร้างประโยชน์สาธารณะ และได้มีส่วนร่วมในการดำเนินชีวิตและตัดสินใจเรื่องต่างๆ ร่วมกับสมาชิกคนอื่นๆ ในสังคม

ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมที่สุดของหลักการนี้คือ การสร้าง ‘พื้นที่สาธารณะ’ (Public Spaces) ที่คนทุกสถานภาพสามารถใช้ร่วมกันได้อย่างห้องสมุดประจำจังหวัด ขนส่งสาธารณะ โรงเรียน และโรงพยาบาล ซึ่งในปัจจุบัน แทบจะแบ่งแยกคุณภาพชัดเจนตามสถานะของปัจเจก ตลอดชีวิตของคนจนคนหนึ่งมักจะไม่ได้เรียนหนังสือ รักษาสุขภาพ หรือแม้แต่เดินเล่นพักผ่อนในสถานที่เดียวกับคนรวยในประเทศตัวเองเลย (หากไม่ได้เป็นคนทำความสะอาด)

เรื่องการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย แซนเดลเสนอให้กำหนด ‘คุณสมบัติขั้นต่ำ’ (Threshold Qualification) จากนั้นก็ให้ใช้การสุ่ม (Admissions Lottery) แทนที่จะใช้การประเมินจัดลำดับมนุษย์จากหนึ่งถึงพันแบบที่เป็นอยู่ หากบางมหาวิทยาลัยยังจำเป็นต้องรับเงินบริจาคก็ควรทำผ่านการประมูลมากกว่า

อีกด้านหนึ่ง แซนเดลเสนอให้สนับสนุนการให้คุณค่ากับ ‘ศักดิ์ศรีของการทำงาน’ (Dignity of Work) เพราะมนุษย์เราไม่ได้ทำงานเพียงเพื่อหาเงินมาบริโภค แต่คุณค่าที่แท้จริงของการทำงานอยู่ที่การทำอะไรบางอย่างให้กับเพื่อนร่วมสังคมของเรา ซึ่งหมายรวมถึงการชื่นชมงานที่คนอื่นๆ ทำให้กับเราเช่นกัน เช่น การที่มาร์ติน ลูเธอร์ คิง เคยกล่าวสุนทรพจน์ยกย่องการทำงานคนเก็บขยะ

ข้อเสนอของแซนเดลนำไปสู่การถกเถียงอย่างกว้างขวาง แต่ก็ควรค่าอย่างยิ่งกับการขบคิดทบทวน เพราะเป็นค่านิยมที่เรามี (หรือเผชิญ) ร่วมกันในยุคสมัย และชวนให้เราตั้งคำถามอย่างจริงจังกับทิศทางของนโยบายสาธารณะที่พึงประสงค์

แรงผลักดันในการเขียนหนังสือเล่มนี้ของแซนเดลมาจากสถานการณ์โควิด-19 ที่คร่าชีวิตชาวอเมริกันไปแล้วหลายแสนคน

เขาเชื่อว่าสหรัฐฯ น่าจะรับมือไวรัสได้ดีกว่านี้ หากสังคมอเมริกันยึดคุณค่าสาธารณะที่ขับเคลื่อนจากการตระหนักในคุณค่าของเพื่อนร่วมสังคม ไม่ใช่ขับเคลื่อนจากความหวาดกลัวดังที่เป็นอยู่

การเปิดหนังสือด้วยเรื่องโควิดในสหรัฐฯ สะท้อนภาพของสังคมไทยไปพร้อมกัน เพราะสังคมไทยก็รับมือกับปัญหาด้วยความตื่นตระหนกและอุดมการณ์ปัจเจกนิยม ไม่ใช่การเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขและคุณค่าสาธารณะ

ทั้งที่ในความเป็นจริง ครอบครัวชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ คงล่มสลายไปนานแล้วก่อนจะมีการระบาดของโควิด หากไม่มี ‘แรงงานต่างชาติ’ ที่มาช่วยเลี้ยงลูก ช่วยทำงานบ้านด้วยค่าจ้างในระดับที่คนไทยด้วยกันไม่เหลียวแล และหากไม่มีชาวมหาชัยที่พวกเขาหวาดระแวง ลูกของพวกเขาก็จะไร้พัฒนาการทางสมองเพราะไม่มีอาหารทะเลราคาถูกมากินเพิ่มโอเมก้า-3

 


อ้างอิง/อ่านเพิ่มเติม

  • Michael Sandel (2020) The Tyranny of Merit: What’s Become of the Common Good? New York: Farrar, Straus and Giroux.
  • ผู้เขียนขอขอบคุณอาจารย์อภิวัฒน์ รัตนวราหะ ที่แนะนำให้รู้จักหนังสือเล่มนี้ใน “ความน่าจะอ่าน 2021” https://www.theworld/notablebook-2021/
  • แซนเดลแนะนำงานที่น่าสนใจของ Michael Young นักสังคมวิทยาชาวอังกฤษ ซึ่งเขียนหนังสือวิพากษ์ระบบการยึดความรู้ความสามารถไว้ตั้งแต่ปี 1958 ใน The Rise of the Meritocracy. (Harmondsworth: Penguin Books).
  • ผลข้างเคียงต่อการเลือกปฏิบัติ ดู ภาคภูมิ แสงกนกกุล (2013) “ความเท่าเทียมกันทางโอกาสกับการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มประชากรไร้ความสามารถ” https://prachatai.com/journal/2013/06/47125
  • การบริหารจัดการแบบเทคโนแครตและผลกระทบต่อการเมืองไทย ดู Veerayooth Kanchoochat (2016) “Reign-seeking and the Rise of the Unelected in Thailand.” Journal of Contemporary Asia, 46(3): 486–503. https://www.tandfonline.com/doi/full/10.1080/00472336.2016.1165857

 

MOST READ

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save