fbpx
ความน่าจะอ่าน : หนังสือชวนอ่านรับปี 2021 โดยคอลัมนิสต์ 101

ความน่าจะอ่าน : หนังสือชวนอ่านรับปี 2021 โดยคอลัมนิสต์ 101

ในวาระขึ้นปีใหม่นี้ 101 ชวนคอลัมนิสต์และพิธีกรมาเลือกหนังสือ ‘น่าอ่าน’ รับปี 2021 ที่มีเนื้อหาหลากหลาย ทั้งชวนมองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2020 และอ่านองค์ความรู้ในหลายสาขาที่ช่วยให้เราทำความเข้าใจโลกที่กำลังจะมาถึง

หนังสือเกี่ยวกับสังคม การเมือง วรรณกรรม ประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา วิทยาศาสตร์ ฯลฯ ที่ปรากฏขึ้นในบรรณพิภพ อาจช่วยให้เรารู้จักบรรณพิภพนี้ได้ดีขึ้น

หนังสือกว่า 40 เล่มที่คอลัมนิสต์เลือกมา มีหลากหลายตั้งแต่หนังสือการ์ตูน ประวัติศาสตร์ลูกหนัง ประวัติศาสตร์การเมืองไทย เศรษฐศาสตร์ความจน ตำราอาหาร หนังสือเรียนนิติศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วรรณกรรมเยาวชน ประวัติบุคคลสำคัญ ความสัมพันธ์ของกองทัพกับระบอบประชาธิปไตย ไปจนกระทั่งรัฐธรรมนูญไทยปี 2560 ฯลฯ

มิใช่เพียงรายชื่อหนังสื่อน่าอ่านเท่านั้น แต่ ‘คำชวนอ่าน’ ที่เหล่าคอลัมนิสต์เขียนมาก็น่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ว่าแล้วเชิญพิจารณา

 

 

1. Together: The Rituals, Pleasures and Politics of Cooperation

Richard Sennett เขียน

จัดพิมพ์โดย Yale University Press

แนะนำโดย รชพร ชูช่วย

 

ในขณะที่มนุษย์โลกกำลังเผชิญกับปัญหามากมาย ที่ต้องร่วมมือกันในการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เรากลับหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับผู้คนที่คิดเห็นต่างจากเรามากขึ้นทุกที เพราะแม้สภาพสังคมจะมีความหลากหลายแต่แบ่งแยก มีปฏิสัมพันธ์แต่ในกลุ่มเล็กๆ ได้ ทำให้เราคุยกับคนเห็นต่างได้ยากขึ้นเรื่อยๆ

หนังสือเล่มนี้ของ Richard Sennett นักสังคมวิทยาชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นหนึ่งในสามเล่มของซีรีส์ Homo Faber ชี้ให้เห็นถึงปัจจัยรายรอบความร่วมมือกันของมนุษย์ ผ่านตัวอย่างตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน และเชื่อว่าการร่วมมือกันนั้นเป็นทักษะที่จะต้องฝึกฝน โดยเฉพาะการฟังและการหารือกัน ถ้ามนุษยชาติต้องการรอดพ้นจากวิกฤตต่างๆ นี้ไปให้ได้ เราต้องกลับมาเรียนรู้ทักษะเหล่านี้ เพราะในที่สุดแล้วการร่วมมือกันเป็นธรรมชาติที่สำคัญของมนุษย์ ที่ทำมนุษย์อยู่รอดและมีพัฒนาการมาได้จนถึงทุกวันนี้  

 

 

2. 60 ปีโพ้นทะเล

อู๋จี้เยียะ เขียน

ปนัดดา เลิศล้ำอำไพ บรรณาธิการแปล

สำนักพิมพ์ โพสต์บุ๊กส์

แนะนำโดย อรอนงค์ ทิพย์พิมล

 

แม้หนังสือเล่มนี้จะตีพิมพ์เมื่อปี 2010 คือผ่านมา 10 ปีแล้ว แต่ทุกครั้งที่หยิบมาอ่านจะได้ความรู้สึกเหมือนมีญาติผู้ใหญ่มาเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่ท่านเคยผ่านประสบพบเจอด้วยตัวท่านเองให้ฟัง

อู๋จี้เยียะเป็นนักหนังสือพิมพ์ชาวจีนโพ้นทะเลที่ผ่านประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตของผู้เขียน ผู้อ่านจะได้รับรู้เรื่องราวชีวิตของอู๋จี้เยียะพร้อมๆ กับเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ในประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ที่จะทำให้เราตระหนักว่าการอุบัติขึ้นของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ณ ที่ใดที่หนึ่ง ไม่ใช่การเกิดขึ้นลอยๆ แบบไร้ที่มาที่ไปหรือวิเศษกว่าที่อื่น หากแต่เป็นปรากฏการณ์ที่ส่งผลต่อเนื่องซึ่งกันและกัน

เราจะได้เห็นพัฒนาการของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากยุคอาณานิคมสู่ยุคเอกราชและพัฒนาการหลังจากนั้น เป็นทั้งประวัติศาสตร์แบบมหภาคและจุลภาคไปพร้อมๆ กัน และหนังสือเล่มนี้ยังเป็นหลักฐานชั้นต้นชิ้นดีที่บันทึกโดยสายตาและปากคำของผู้ที่เข้าไปอยู่ร่วมสมัย ร่วมเหตุการณ์นั้นๆ และถ่ายทอดออกมาได้อย่างน่าสนุกและน่าติดตาม  

 

 

3. ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี

ณัฐพล ใจจริง เขียน

สำนักพิมพ์ ฟ้าเดียวกัน

แนะนำโดย พริษฐ์ วัชรสินธุ

 

ไม่ว่าในแวดวงใดก็ตาม ผมเชื่อว่าการทำความเข้าใจอดีต เป็นวิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งในการวิเคราะห์ปัจจุบันและคาดการณ์อนาคต 

ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่กำลังก้าวเข้าสู่หน้าใหม่ของประวัติศาสตร์ และท่ามกลางการเคลื่อนไหวที่ผสมผสานทั้งข้อเรียกร้องที่ทะลุเพดานในอดีต แต่คงไว้ถึงจิตวิญญาณของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในหลายครั้งที่ผ่านมา การย้อนเวลาไปศึกษาช่วงเวลาสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทยใน พ.ศ. 2491-2500 ผ่านงานเขียนของอาจารย์ ณัฐพลใจจริง จึงมีความสำคัญในการเข้าใจที่มาที่ไปของการเคลื่อนไหวครั้งนี้

แน่นอนว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ใดๆ จะมีคุณค่าต่อเมื่อผู้ศึกษาสามารถเข้าถึงชุดข้อมูลที่ครบถ้วนและหลากหลาย เพื่อเข้าใจและประเมินความแตกต่างของแต่ละมุมมอง ชุดความเชื่อ หรือการตีความเหตุการณ์ในอดีต — ในวันที่ตำราเรียนประวัติศาสตร์ในโรงเรียนอาจยังไม่ตอบโจทย์จุดประสงค์นี้ได้ แต่ยังคงนำเสนอเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ผ่านความจริงด้านเดียว การมีอยู่ของหนังสือเล่มนี้จึงมีคุณค่าอย่างยิ่งต่อการศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทย

 

 

4. ไกลกะลา (A Life Beyond Boundaries)

Benedict Anderson เขียน

ไอดา อรุณวงศ์ แปล

สำนักพิมพ์ อ่าน

แนะนำโดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

 

เป็นหนังสือเล่มสุดท้ายในชีวิตของอาจารย์เบน แอนเดอร์สัน นักวิชาการผู้ช่ำชองเรื่องอุษาคเนย์ โดยเฉพาะอินโดนีเซีย ไทย และฟิลิปปินส์ ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา และคณะการปกครอง (Government) ไม่ใช่รัฐศาสตร์แบบคนอื่นเขา ณ มหาวิทยาลัยคอร์แนล 

หนังสือเล่าถึงเส้นทางเดินในชีวิตของเบนว่าทำไมถึงมาเป็นผู้เชี่ยวชาญอุษาคเนย์ได้ คำตอบคือเป็นโชคชะตาที่นำพาไป แต่เมื่อเข้าไปแล้ว เขาทำอย่างไรถึงทำให้กลายเป็นนักอุษาคเนย์คนสำคัญที่ใครๆ ในวงการและกระทั่งนอกวงการอุษาคเนย์ต้องหันมามองและอ่านงานเขียนของเขาด้วย ไม่งั้นจะตกกระแสและพลาดข้อคิดเห็นและวิธีการศึกษาของเขาที่ท้าทายการทำงานวิชาการของคนอื่นๆ ทั่วโลก 

เขาเล่าถึงเคล็ดลับ (ที่ไม่ใช่ความลับ) ในการทำงานวิชาการของเขา หนึ่งคือต้องหัดอ่านและพูดในภาษาท้องถิ่นให้ได้ สองต้องออกภาคสนาม ไปสอบถามพูดคุยและกินอยู่กับชาวบ้านและผู้รู้ในพื้นถิ่นให้ได้มากที่สุด สามต้องอ่านหนังสือที่คนพื้นถิ่นเขียน แล้วสุดท้ายต้องลงมือเขียนหนังสือบทความบทวิจารณ์ในที่สุดหนังสือของตนเองออกมาให้ได้ 

ว่าไปแล้ว แนวทางและวิธีวิทยาดังกล่าวก็ไม่ได้วิเศษวิโสแปลกเหนือกว่าของนักวิชาการคนอื่นๆ ทั่วไปแต่อย่างใด ใครที่ทำงานด้านนี้ก็คงได้ทำแบบนี้มากันแล้วทั้งนั้น แล้วจะอ่านหนังสือของเบนไปทำไม

ตรงนี้คือประเด็นสุดท้ายที่ผมอยากนำเสนอและแนะนำสำหรับนักศึกษา นักเรียน และนักวิชาการรุ่นใหม่ ว่าสิ่งที่เราจะได้จากการฟังอาจารย์เบนในหนังสือเล่มนี้ คือการเห็นและสัมผัสประสบการณ์ที่เป็นของจริง โดยไม่ปิดบังและสร้างเรื่องให้ดูดีและน่าเชื่อถือ เขาไม่อายที่จะบอกว่า เขาได้แนวคิดในการเขียนบทความเรื่อง ‘The Idea of Power in Javanese Culture’ หลังจากแอบได้ยินอาจารย์ผู้ใหญ่คนหนึ่ง (อัลลัน บลูม) คุยกับเพื่อนระหว่างเดินไปกินข้าวเที่ยง ว่ากรีกโบราณนั้นไม่มีมโนทัศน์เรื่องอำนาจแบบสมัยใหม่หรอก ทำให้เขาได้บทความที่โด่งดังในวงการไปอีกหลายปี ผมชอบท่วงทำนองการเล่าที่ไม่รักษาหน้า หากแต่เป็นการเล่าจากความรู้สึกของคนที่ไม่รู้เรื่อง ไม่เคยคิดและตั้งเป้าว่าจะได้รับอะไรด้วยฐานะของคนที่มาจากอารยธรรมและความรู้สมัยใหม่ที่เหนือกว่าของคนและสังคมอุษาคเนย์ 

จุดยืนอันไม่เรรวนซวนเซของเบนได้แก่ความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อความรู้ของท้องถิ่น เขาไม่เคยหมดความกระหายใคร่รู้ในความคิด ความเข้าใจ ความไม่เข้าใจ ความโกรธและความเศร้าของคนท้องถิ่นทั้งหลาย บรรดาคนที่ไม่มีฐานะชื่อเสียงอะไรในสังคมของพวกตนคือต้นธารและสายน้ำในความรับรู้และการศึกษาชั่วชีวิตของเขา 

เขาจึงประทับใจและติดอกติดใจในคติว่าด้วย ‘กบในกะลา’ ของคนอุษาคเนย์มาก เพราะมันสะท้อนภาวะของการต่อสู้ทางความคิดของตะวันตกมานับแต่เริ่มก่อรูปเป็นกรอบภูมิปัญญาของภูมิภาคจนกระทั่งก้าวขึ้นมาเป็นปัญญาของโลก แต่ขณะที่ในโลกอุษาคเนย์เป็นปริศนาชาวบ้านธรรมดาที่ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายแต่อย่างใด ผมคิดว่าเบนบรรลุแสงสว่างในภูมิปัญญาแบบชาวบ้านในโลกที่เขาใช้ชีวิตส่วนใหญ่กับมัน ซึ่งเป็นโลกฆราวาส (secular) อันต่างจากคนตะวันตกอื่นๆ ซึ่งมักบรรลุแสงสว่างก็จากในโลกธรรมะ

 

 

5. Fighting for Virtue: Justice and Politics in Thailand

Duncan McCargo เขียน

จัดพิมพ์โดย Cornell University Press

แนะนำโดย เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง

 

ปี 2563 ย้ำกับเราว่า ตุลาการภิวัตน์ ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2549 นั้นยังไม่สิ้นสุดโดยง่าย นิติสงครามคงดำเนินต่อไป โดยเฉพาะกับผู้ชุมนุมคณะราษฎร 2563 ที่ผ่านมา แม้สถาบันตุลาการจะเป็นเป้าการวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น แต่งานศึกษาตัวตนของสถาบันตุลาการกลับมีน้อยกว่าหัวข้ออื่น อาทิ ระบบเลือกตั้ง กลุ่มทุน ทหาร หรือแม้แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างเทียบไม่ได้ ที่พอมีบ้างก็จะเป็นงานวิจารณ์ตัวคำวินิจฉัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ Fighting for Virtue: Justic and Politics in Thailand ศึกษาตัวตนของบุคคลในสถาบันตุลาการที่เก่าแก่และน่าเชื่อถือที่สุด คือ ศาลยุติธรรม ซึ่งงานประเภทนี้ นักนิติศาสตร์เองไม่ถนัดนัก

ครึ่งแรกของหนังสือพาผู้อ่านเข้าไปสู่โลกของผู้พิพากษา ซึ่งเป็นโลกที่แม้แต่นักกฎหมายด้วยกันเองก็ไม่ได้รู้ละเอียดนัก ครึ่งหลังเป็นรายละเอียดคดีเกี่ยวกับการเมืองบางคดีพร้อมข้อสังเกต ต้องบอกไว้ ณ ที่นี้ว่าผู้เขียนเป็นคนนอกก็จริง แต่เป็นคนนอกที่เข้าใจเมืองไทยดีพอสมควร มุมมองจึงแตกต่างจากคนในด้วยกันเขียนถึงศาล มีคำถามน่าสนใจจำนวนมาก อาทิ ความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับตุลาการ ซึ่งบ่มสร้างมานานมากกว่าเพียงแค่ตุลาการภิวัตน์รอบล่าสุด

ในขณะเดียวกัน ผู้เขียนก็พยายามแสดงความเห็นใจต่อผู้พิพากษาเป็นที่สุด ที่ต้องกระโดดเข้ามารับเผือกร้อนในรูปแบบของคดีความที่อื้อฉาวครั้งแล้วครั้งเล่า แม้จะพยายามแสดงความเที่ยงธรรมากเพียงใด แต่สภาวะการเมืองแหลมคมก็ไม่เปิดโอกาสให้ และยิ่งพยายามใช้อำนาจตุลาการแก้ไขปัญหาการเมืองในรูปแบบของคดีความ เสียงวิพากษ์วิจารณ์ศาลก็ดังอื้ออึงขึ้นทุกที บทสรุปของหนังสือเล่มนี้คงเป็นว่า ผู้พิพากษานั้น แม้จะฉลาดหลักแหลม แต่ก็ไม่ได้ฉลาดพอ หรือเหมาะสมที่จะเข้ามารับใช้ชาติด้วยการแก้ไขปัญหาการเมืองด้วยอำนาจพิจารณาคดี หนังสือเล่มนี้ช่วยล้างอคติบางประการให้แก่ผู้อ่านได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่สนับสนุน หรือต่อต้านตุลาการภิวัตน์ก็ตามที

 

 

6. Soldiers, Politicians, and Civilians

David Pion-Berlin และ Rafael Martínez เขียน

จัดพิมพ์โดย Cambridge University Press

แนะนำโดย เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์

 

สำหรับในปีนี้หนังสือที่กระผมอยากจะแนะนำให้ผู้อ่านที่สนใจเรื่องบทบาทความสัมพันธ์ของกองทัพกับระบอบประชาธิปไตยคือหนังสือเรื่อง Soldiers, Politicians, and Civilians: Reforming Civil-Military Relations in Democratic Latin America ของ David Pion-Berlin และ Rafael Martínez

กล่าวคือในขณะที่สังคมไทยในช่วงหลังสงครามเย็นเป็นต้นมา เรามีรัฐประหารถึง 3 ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหารในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 รัฐประหารวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 และล่าสุดคือรัฐประหารวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 แม้กระทั่งในปัจจุบันเมื่อเกิดวิกฤตการทางการเมืองก็มีเสียงเรียกร้องจากบางฝ่ายให้กองทัพออกมาทำรัฐประหารอีก แต่เมื่อมองย้อนกลับไปในลาตินอเมริกาที่มีกว่า 20 ประเทศ การรัฐประหารในช่วงหลังสงครามเย็นแทบไม่มีปรากฏให้เห็น ถึงจะมีก็ล้มเหลวดังที่เกิดขึ้นในเวเนซุเอลาเมื่อค.ศ. 2002 กลายเป็นข้อถกเถียงหลักในหนังสือเล่มนี้ว่าเพราะอะไร หรือมีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพ นักการเมือง และประชาชนสามารถอยู่ร่วมกันได้ภายใต้กติกาประชาธิปไตย

มีหนังสือจำนวนมากที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับประชาชนในลาตินอเมริกา แต่ข้อแตกต่างสำคัญที่ยังขาดการศึกษาที่หนังสือเล่มนี้มองเห็นความสำคัญ คือบทบาทของนักการเมืองที่เป็นตัวเชื่อมประสานระหว่างกองทัพกับประชาขน โดยมีกรณีศึกษาทั้งในอาร์เจนตินา บราซิล ชิลี และอุรุกวัย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประเทศที่บทบาทของกองทัพมีสูงมากในช่วงสงครามเย็น เกิดการรัฐประหารนับครั้งไม่ถ้วนในประเทศเหล่านี้ แต่แล้วเมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลง กองทัพของประเทศเหล่านี้ต่างถอยกลับเข้ากรมกอง ไม่แทรกแซงทางการเมืองอีกต่อไป โดยยอมรับการอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย

แน่นอนว่าในสังคมไทยย่อมมีปัจจัยอะไรบางอย่างที่ทำให้ประชาธิปไตยแบบไทยๆ แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญกับประชาธิปไตยในลาตินอเมริกา แต่การเรียนรู้จากลาตินอเมริกาอาจจะทำให้คนไทยเข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ของกองทัพว่าควรจะวางตนหรือมีที่ยืนอย่างไรในสังคมประชาธิปไตย

ท้ายที่สุดนี้ กระผมขอให้ทุกท่านมีความสุขกับปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง ปลอดภัยห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ และอยู่อย่างสร้างสรรค์ในสังคมประชาธิปไตยที่กำลังก้าวหน้าต่อไปของไทยอย่างมีความหวังครับผม

 

 

7. Essays

Lydia Davis เขียน

จัดพิมพ์โดย Hamish Hamilton

แนะนำโดย แมท ช่างสุพรรณ

 

“ตอนเราฝึกโซโล่กีตาร์ใหม่ๆ เราบ้ามาก ฝึกคนเดียว ทำทุกอย่างเพื่อพยายามให้เร็วขึ้น แต่มันก็ไม่เร็วได้เหมือนในเพลง เหมือนจุดหนึ่งมันถึงข้อจำกัด วันหนึ่งเราไปเจอเพื่อนอีกคน เล่นเพลงเดียวกัน แต่ความเร็วและความแม่นยำเหนือกว่าเรามาก เลยพยายามเข้าไปดูใกล้ๆ จึงเห็นความแตกต่าง เราจับปิ๊กแบบยังไงดี แบบตรงๆ เหมือนขีดเส้นตรง แต่เขาจับปิ๊กแบบเอียงๆ มันทำให้ดูเหมือนเขาขยับมือได้ง่ายกว่าในตอนโซโล่ พอกลับมาถึงบ้าน เรามาลองดูบ้าง โอ้โห ที่เราฝึกมาตั้งนานไม่ไปไหน ปรับนิดเดียว ได้เลย เราเลยเข้าใจในความสำคัญเรื่องความคิดและความต่างของวิธีการมาตั้งแต่ตอนนั้น”

บทสนทนานี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 15 ปีก่อน เพื่อนนักดนตรีที่มีชื่อเสียงเล่าถึงประสบการณ์การฝึกกีตาร์ในวัยหนุ่มให้ผมฟัง ตอนนั้นผมไม่ค่อยเข้าใจความรู้สึกของเขามากนัก เพราะตัวเองไม่ได้เล่นกีตาร์ (เคยฝึกบ้าง—ที่แปลว่าไม่ประสบความสำเร็จ) แต่น้ำเสียงและท่าทางของเขากระตือรือร้นมาก มากจนกลายเป็นภาพจำในใจ

Essays หนังสือรวมบทความว่าด้วยการเขียนจากประสบการณ์ของ Lydia Davis ทำให้ผมเข้าใจความรู้สึกของเพื่อนอย่างลึกซึ้งในปีนี้

 

 

8. รักโลก: การจาริกของนักบวชผ่านบาร์โดชีวิตและความตาย

ยงเก มินจู ริมโปเช และ เฮเลน ทวอร์คอฟ เขียน

สดใส ขันติวรพงศ์ แปล

สำนักพิมพ์ สวนเงินมีมา

แนะนำโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

 

ในชีวิต หลายๆ ครั้งที่เราคงอยากเลือกที่จะซุกตัวอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่ที่เราคุ้นเคย ไม่อยากเผชิญกับปัญหา ไม่อยาก ‘เติมฟืนเข้าไปในไฟ’ ตามสำนวนทิเบต นั่นคือการจงใจเพิ่มความท้าทายเวลาที่เราพยายามประคองจิตให้นิ่ง จงใจดึงปัญหาออกมาวางข้างหน้าให้เห็นชัดๆ เพื่อที่เราจะได้จัดการกับมันโดยตรง แต่อีกหลายครั้งที่เราไม่มีทางเลือก

ยงเก มินจู ริมโปเช ดาวเด่นในหมู่ธรรมาจารย์ทิเบตร่วมสมัย ในวัย 36 ปีเป็นเจ้าอาวาสซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของอารามสามแห่ง เลือกที่จะหลบหนีออกจากอารามในอินเดียเพื่อจาริกปลีกวิเวกตามธรรมเนียมปฏิบัติอันศักดิ์สิทธิ์เพื่อค้นหาเป้าหมายที่เป็นที่สุดของชีวิต

ก่อนที่ท่านจะออกเดินทาง ท่านคงมั่นใจระดับหนึ่งว่า การศึกษาและการปฏิบัติธรรมตลอดชีวิตที่ผ่านมา น่าจะพาให้ท่านผ่านการจาริกนี้ได้อย่างไม่ยากเย็นมากนัก แต่นั่นไม่ใช่ความจริงที่ท่านต้องเผชิญในการจาริก ทั้งความอึดอัด ความติดข้องในอารมณ์ ความคับข้องทางกายที่ทำให้ท่านตระหนักว่าที่ผ่านมาท่านเกิดมาอย่างคาบช้อนเงินจริงๆ จนถึงขั้นได้สัมผัสกับประสบการณ์เฉียดใกล้ความตาย

หนังสือเล่มนี้ เป็นบันทึกการจาริกและสภาวะการเดินทางภายในอย่างละเอียดและซื่อตรง

ฉันได้รับคำแนะนำให้อ่านหนังสือนี้ จากผู้ใหญ่ที่ขณะนั้นกำลังเดินทางเข้าสู่ความตาย “อ่านจบแล้ว 2 ครั้ง อยากจะอ่านอีกสักครั้งหนึ่งถ้าเป็นไปได้” ท่านคงไม่มั่นใจหรอกว่าฉันอ่านแล้วจะเข้าใจ แต่ย้ำหลายครั้งว่า อยากให้ฉันได้เรียนรู้และเตรียมตัว เพราะถึงยามที่เผชิญความตายอยู่ข้างหน้า ท่านยังรู้สึกว่า การเตรียมตัวมาเกือบค่อนชีวิตนั้นยังไม่เพียงพอ

เราทุกคนต้องเรียนรู้และเตรียมตัว

 

 

9. ห้องอาหารนกนางนวล

มูเระ โยโกะ เขียน

สิริพร คดชาคร แปล

สำนักพิมพ์ Sandwich Publishing

แนะนำโดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง

 

ตอนเห็นข่าวว่านิยายญี่ปุ่นเล่มนี้จะวางขายในไทยก็เกิดความรู้สึกสองอย่างใหญ่ๆ ด้วยกัน หนึ่ง คือตกใจว่าทำไมฉบับแปลไทยเพิ่งมาออกเอาป่านนี้ เพราะนิยายเรื่องนี้เคยถูกสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง Kamome Diner (2006) ที่โด่งดังในบ้านเราพอสมควร สอง คือรู้สึกดีใจว่าตลาดนิยายแปลยังไปต่อได้ เท่าที่สังเกตอย่างคร่าวๆ ผมคิดว่าปี 2020 เป็นปีที่คึกคักของวรรณกรรมแปลจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

‘ห้องอาหารนกนางนวล’ เล่าถึงหญิงสาวญี่ปุ่นวัยกลางคนที่อยู่ดีๆ ก็ตัดสินใจไปเปิดร้านอาหารที่ฟินแลนด์ พอมาอ่านในยุคโควิดเช่นนี้ การโยกย้ายไปต่างประเทศอย่างง่ายดายดูเป็นเรื่องเหนือจินตนาการอย่างยิ่ง อีกทั้งหนังสือเล่มนี้ยังอาจถูกค่อนขอดว่าไร้เดียงสาหรือโลกสวย แต่ส่วนตัวคิดว่าผู้เขียนสอดแทรกเรื่องการใคร่ครวญชีวิตไว้พอสมควร เพียงแต่ทำอย่างเจือจางและแนบเนียน ไม่ได้มีท่าที ‘ฉอด’ แบบหนังสือไลฟ์โค้ช

หากอ่าน ‘ห้องอาหารนกนางนวล’ แล้วติดใจ ขอแนะนำผลงานอีกเรื่องของ มูเระ โยโกะ ที่ชื่อว่า ‘วันที่เหมาะกับขนมปัง ซุป และแมว’ (มีแปลไทยเช่นกัน) ว่าด้วยผู้หญิงที่เปิดร้านอาหารหลังจากแม่ตาย เรื่องนี้อาจมีโทนหนักหน่วงกว่าเล็กน้อย แต่ก็ทำให้เราคิดทบทวนถึงการใช้ชีวิตเช่นกัน และหนังสือยังถูกสร้างเป็นมินิซีรีส์ยอดเยี่ยมในชื่อ Bread and Soup and Cat Weather (2013)

 

 

10. The Windup Girl

Paolo Bacigalupi เขียน

สำนักพิมพ์ Night Shade Books

แนะนำโดย จักรกริช สังขมณี

 

ท่ามกลางปัญหาโรคระบาดใหม่ ระดับน้ำทะเลที่สูงท่วมมหานครอันเป็นผลมาจากสภาวะโลกร้อน การล่มสลายของสังคมเกษตรทั่วโลก การครองอำนาจของบรรษัทพลังงานและพันธุวิศวกรรมขนาดใหญ่ ผู้ลี้ภัยจากการกวาดล้างทางชาติพันธุ์ ธุรกิจค้าบริการเลื่องชื่อ ที่ใช้มนุษย์ดัดแปลงพันธุกรรมเป็นผู้ให้บริการ ระบบราชการที่เต็มไปด้วยอำนาจ การใช้ความรุนแรง และปัญหาคอร์รัปชัน ตลอดจนผู้สำเร็จราชการแทนสมเด็จพระราชินีผู้ทรงพระเยาว์ ผู้ซึ่งฝักใฝ่ความแปลกใหม่ทางเพศอยู่เสมอ ยังคงครองอำนาจนำในการปกครอง กรุงเทพมหานครในศตวรรษที่ 23 จะดำรงอยู่อย่างไรท่ามกลางความท้าทายดังกล่าวนี้

The Windup Girl (2009) นวนิยาย sci-fi / cli-fi ของ Paolo Bacigalupi เล่มนี้จะชวนเราท่องไปกับอนาคต ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ไม่ได้แยกขาดจากโลกปัจจุบันที่เราดำรงอยู่อยู่นี้เลย ท่ามกลางการขับเคลื่อนของเยาวชนรุ่นใหม่ในการสร้างสังคมอุดมคติ และการกำจัดสภาวะอันไม่พึงประสงค์ให้หมดสิ้นไปในช่วงปีที่ผ่านมา นวนิยายดิสโทเปียเล่มนี้ กำลังบอกเราว่าโลกข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ถ้าอะไรๆ ที่ว่ามันไม่จบที่รุ่นเรา

 

 

11. Ancient Brews: Rediscovered and Re-created

Patrick E. McGovern เขียน

สำนักพิมพ์ W. W. Norton & Company

แนะนำโดย ณัฎฐา ชื่นวัฒนา

 

หนังสือเล่มนี้จะพาผู้อ่านไปรู้จักการทำงานของนักวิทยาศาสตร์ ดร.แพทริค แมคโกเวิร์น ซึ่งนอกจากจะเป็นนักเคมีที่ศึกษาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสมัยโบราณจากคราบบนภาชนะดินเผาอายุนับพันปีจากทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น จีน อียิปต์ โรมัน ฯลฯ

ในสายตาคนทั่วไปจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าคราบเกรอะกรังบนภาชนะดินเผาพวกนี้คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไรกันแน่ ดร.แพททริค จะนำคราบที่ได้ไปแยกองค์ประกอบทางเคมี เพื่อหาว่าคราบโบราณนั้นมีส่วนประกอบของพืช สัตว์ หรือผลไม้ชนิดใดบ้าง

นอกจากจะแยกองค์ประกอบทางเคมีของคราบอาหารโบราณจากเศษภาชนะดินเผาแล้ว ดร.แพททริค ยังได้ร่วมมือกับโรงเบียร์ Dogfish Brewery ใช้การตีความร่วมกับหลักฐานทางเอกสารแวดล้อม เพื่อสร้างกระบวนการหมักเบียร์ตามวิธีการหมักที่มีส่วนประกอบแบบโบราณให้คนปัจจุบันได้ดื่มกันอีกครั้ง ซึ่งเครื่องดื่มที่ ดร.แพทริค วิเคราะห์และตีความนั้นก็มีหลายชนิดจากทั่วโลก ตั้งแต่ ‘ชิชา’ จากอเมริกาใต้ ‘ไมดาสทัช’ จากตุรกี ไปจนถึง ‘ชาโตว์เจียหู’ จากจีน ฯลฯ

นอกจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่อัดแน่นในเล่มแล้ว สูตรการหมักเบียร์ก็ยังเขียนไว้อย่างละเอียดแบบไม่มีการหมกเม็ดใดๆ ทั้งสิ้น ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีสูตรอาหารกับแกล้มที่มีรสชาติเข้ากับเครื่องดื่มแต่ละชนิดแถมมาอีกด้วย เรียกได้ว่านอกจากได้ความรู้แบบเบิ้มๆ แล้ว หนังสือเล่มนี้เป็นเหมือนสะพานเชื่อมเบียร์โบราณกับอาหารปัจจุบันให้ผู้อ่านลิ้มรสได้อย่างสุนทรีครบรส ทั้งเบียร์ กับแกล้ม และเรื่องเล่า เหมาะแก่การมีไว้อ่านอย่างละเมียด (พร้อมแก้วเครื่องดื่มเย็นเจี๊ยบ) ในช่วงปีใหม่เป็นอย่างยิ่ง

 

 

12. Angels with Dirty Faces: The Footballing History of Argentina

Jonathan Wilson เขียน

สำนักพิมพ์ Orion

แนะนำโดย ตฤณ ไอยะรา

 

หนังสือเล่มนี้พาผู้อ่านท่องไปในประวัติศาสตร์ของอาร์เจนตินาผ่านกีฬาของประชาชนอย่างฟุตบอลที่ความเปลี่ยนแปลงของมันเป็นภาพสะท้อนถึงความหวังและกังวลของผู้คนในแต่ละช่วงเวลา ยิ่งกว่านั้น ในสภาวะที่พวกเราเผชิญกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมือง หนังสือเล่มนี้เผยให้เห็นว่า มวลมนุษย์ใช้กิจกรรมความบันเทิงในการปรับสภาวะจิตใจของตนเองให้รับมือกับความผันผวนและขัดแย้งอย่างไร

 

 

13. The Ickabog

J. K. Rowling เขียน

สำนักพิมพ์ Little, Brown Young Readers

แนะนำโดย ธนาวิ โชติประดิษฐ

 

พระราชาเฟรดผู้ไม่หวั่นเกรงสิ่งใดแห่งอาณาจักรคอร์นูโคเปียอันสงบสุขเป็นบุรุษผมทองรูปงาม ภาพเหมือนของพระองค์ติดอยู่ในศาลาว่าการทุกเมืองและบ้านทุกหลัง พระองค์เสด็จออกไปล่าสัตว์กับเพื่อนรัก ลอร์ดสปิตเติลเวิร์ธและลอร์ดฟลาปูนสัปดาห์ละห้าครั้ง เป็นโอกาสให้ได้โบกไม้โบกมือทักทายเหล่าราษฎร การได้รับความนิยมจากทวยราษฎร์กลายเป็นสิ่งเสพติด

คำว่า ‘Ickabok’ มาจาก ‘Ichabod’ หมายถึง ‘สง่าราศีที่หายไป’

พระราชาเฟรดผู้ไม่หวั่นแกรงสิ่งใดไม่ใช่คนชั่วร้าย แต่เป็นคนเขลา หายนะมาเยือนอาณาจักรของพระองค์เพราะคำลวงและเล่ห์เพทุบาย จนกระทั่งความจริงปรากฏในร่างของสัตว์ประหลาดในตำนาน เจ้า Ickabok จากดินแดนแห่งหนองบึง

เจ. เค. โรว์ลิ่ง เขียน The Ickabog ไปพร้อมๆ กับหนังสือชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ แต่ทิ้งค้างไว้จนกระทั่งช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา โรว์ลิ่งเปิดวรรณกรรมเยาวชนเล่มนี้ให้อ่านฟรีออนไลน์สำหรับเด็กๆ ทั่วโลกที่ติดอยู่ที่บ้าน

 

 

14. My Life in Red and White

Arsene Wenger เขียน

สำนักพิมพ์ W&N

แนะนำโดย ธร ปีติดล

 

สำหรับแฟนปืนและประชาชนชาวไทยผู้ปวดร้าวกับความเป็นไปของปัจจุบันกาล ไม่มีอะไรจะโอบอุ้มจิตใจของเราได้ดีไปกว่าการหยิบเอาอดีตที่ดีต่อใจมาปลอบประโลม หนังสืออัตชีวประวัติที่เขียนจากคำบอกเล่าด้วยตนเองของอาร์แซน เวนเกอร์เล่มนี้จะช่วยเยียวยาเรา เวนเกอร์ผู้ซึ่งเคยข้องเกี่ยวแค่กับทีมฟุตบอลเสื้อสีขาวแดงมาทั้งชีวิต เล่าเส้นทางของตนเองตั้งแต่เกิดและโตในหมู่บ้านเล็กๆที่ชายแดนฝรั่งเศส-เยอรมัน การได้เรียนรู้วิธีสร้างสัมพันธ์กับผู้คนจากการเฝ้าสังเกตลูกค้าที่มาเยี่ยมเยียนร้านอาหารของครอบครัว การได้เรียนรู้ชีวิตนักฟุตบอลทีมระดับล่างในลีกฝรั่งเศส จนไปถึงจุดที่เขาได้ก้าวไปคุมทีมใหญ่อย่างโมนาโกและเป็นผู้เจียระไนเพชรเม็ดงามหลายเม็ดให้กับวงการฟุตบอลระดับโลก เวนเกอร์ยังเล่าถึงประสบการณ์การณ์แปลกๆจากการได้ไปคุมทีมฟุตบอลที่ญี่ปุ่น และที่สำคัญเขาเล่าถึงเบื้องหลังช่วงเวลาที่ยิ่งใหญ่กับอาร์เซนอล ช่วยพาแฟนปืนไปดื่มด่ำกับฤดูกาลนั้นอีกครั้ง

 

 

15. Cosmos: Possible Worlds

Ann Druyan เขียน

สำนักพิมพ์ National Geographic

แนะนำโดย นำชัย ชีววิวรรธน์

 

ค.ศ. 1980 คาร์ล เซแกน ตีพิมพ์หนังสือ Cosmos ที่กลายมาเป็น ‘มาสเตอร์พีซ’ และหนังสือเบสต์เซลเลอร์ของเขาในทันที โดยแค่สิ้นปีถัดมาก็ขายไปได้มากถึง 5 ล้านเล่ม ได้รับ ‘รางวัลฮิวโก’ ในฐานะหนังสือสารคดียอดเยี่ยม และห้องสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ ยกย่องให้เป็น 1 ใน 88 เล่มของหนังสือที่ช่วย ‘ก่อร่างสร้างอเมริกา’ (พูดง่ายๆ ว่า อเมริกาจะไม่มี ‘ตัวตน’ แบบนี้ไปได้ ถ้าไม่มีหนังสือเหล่านี้) ท่านที่ได้อ่านแล้ว คงไม่ปฏิเสธความวิเศษของหนังสือเล่มนี้!

แต่ที่สำคัญกว่านั้น หนังสือ ‘คอสมอส’ ได้รับการยกย่องว่าสร้างแรงบันดาลใจจนทำให้นักเรียนอเมริกันกลายมาเป็นนักวิทยาศาสตร์อย่างนับไม่ถ้วน เหนือกว่าหนังสือเล่มอื่นใด!

แต่อีกบุคคลที่มีส่วนทำให้หนังสือเล่มนี้สมบูรณ์ได้คือ แอน เดรียน ภรรยาของคาร์ล เซแกน ซึ่งช่วยเขาทำสารคดีขึ้นจากเนื้อหาเดียวกัน (ในชื่อ Cosmos: A Personal Voyage) ที่มีคนชมเกินกว่า 1,000 ล้านคนแล้วในขณะนี้ น่าเสียดายที่คาร์ลอายุสั้นไปหน่อย จึงไม่มีโอกาสทำหนังสือตอนต่อของคอสมอส (เขาเสียชีวิต ค.ศ. 1996) จึงตกเป็นหน้าที่แอน เดรียน ในการเขียนตอนต่อของหนังสือคอสมอสในอีก 40 ปีให้หลัง เธอเลือกใช้ชื่อ Cosmos: Possible Worlds ซึ่งดัดแปลงเป็นสารคดีเช่นกัน (ร่วมกับเนชันแนล จีโอกราฟิก) จึงเป็นเรื่องน่าตื่นตาตื่นใจว่า มุมมอง ‘จักรวาล’ ใน 4 ทศวรรษให้หลัง มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง และมีอะไรให้เราตื่นเต้นตื่นตาตื่นใจมากแค่ไหน

หวังว่าจะมีสำนักพิมพ์ในไทยซื้อลิขสิทธิ์มาแปลให้คนไทยอ่านกันอย่างเร็วที่สุดครับ

 

 

16. หมุนนาฬิกาสู่เวลาทางสังคม

ฐานิดา บุญวรรโณ เขียน

สำนักพิมพ์ Illuminations Editions

แนะนำโดย นิติ ภวัครพันธุ์

เป็นหนังสือเล่มเล็กๆ เนื้อหาไม่ยาวมากนัก แต่น่าสนใจมาก ฐานิดาพยายามรวบรวมและสรุปประเด็นสำคัญเรื่อง ‘เวลา’ ในความคิดของนักสังคมวิทยา/มานุษยวิทยารุ่นก่อน โดยเน้นที่สกุลฝรั่งเศส เริ่มที่ข้อเสนอและความคิดของ Durkheim ปรมาจารย์คนสำคัญ ผู้ให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องศาสนา ซึ่งมีปฏิสัมพันธ์กับเวลา และต่อมามีอิทธิพลทางความคิด/ข้อเสนอของลูกศิษย์ นำไปสู่การถกเถียง วิวาทะและข้อเสนออื่นๆ เกี่ยวกับเวลา

ผู้อ่านบางคนอาจคิดว่านี่เป็นหนังสือวิชาการที่อภิปรายในเรื่องที่เฉพาะเจาะจงมาก คำตอบคือ ‘ใช่’ และ ‘ไม่เชิง’ ที่ว่า ‘ไม่เชิง’ เพราะหากผู้อ่านท่านใดตั้งใจอ่านและพยายามคิดตามการอภิปรายของฐานิดา ก็จะเห็นว่าประเด็นเรื่องเวลา นอกจากมีความสำคัญกับชีวิตของผู้คนแล้ว เวลายังมีความหมายทางสังคมที่หลากหลายยิ่ง ผู้คนในแต่ละสังคมรับรู้ คิด สร้าง ให้ความหมายกับเวลาที่ต่างกัน ด้วยเงื่อนไข เหตุผล โลกทัศน์ของตนเอง จนอาจกล่าวได้ว่า เวลาไม่ใช่สิ่งสากล แม้ว่ามนุษย์ในปัจจุบันจะพยายามที่จะทำให้มันเป็นสากลก็ตาม (เช่น เวลาตามนาฬิกาที่ถูกกำหนดโดยอำนาจทางการเมืองของจักรวรรดินิยมอังกฤษในอดีต เป็นต้น)

 

 

17. An Introduction to International Criminal Law and Procedure

Robert Cryer เขียน

จัดพิมพ์โดย Cambridge University Press

แนะนำโดย ปกป้อง ศรีสนิท

 

ธรรมนูญกรุงโรมได้กำหนดกลุ่มความผิดอาญาร้ายแรงสูงสุด (most serious crimes) และให้อยู่ในเขตอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศที่กรุงเฮก คือ การล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ อาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมรุกราน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความผิดฐานล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ (genocide) ได้ชื่อว่าเป็นอาชญากรรมของอาชญากรรม (the crime of crimes)
หนังสือที่อธิบายเรื่องดังกล่าวมีอยู่หลายเล่ม แต่ An Introduction to International Criminal Law and Procedure ที่เขียนโดย Robert Cryer และเพื่อน เป็นหนึ่งในเล่มที่ผมชอบมากที่สุด เขาใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายและอธิบายชัดเจนแจ่มแจ้ง อ่านได้ทั้งนักกฎหมายและไม่ใช่นักกฎหมาย

ความน่าจะอ่านของหนังสือเล่มนี้มี 2 ประการ

ในเชิงลึก ผู้เขียนและเพื่อนได้เจาะลึกเรื่องต่างๆ ทั้งยังอธิบายถึงคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในอดีตและปัจจุบัน

ในเชิงกว้าง ผู้เขียนและเพื่อนได้เขียนครอบคลุมในทุกมิติ โดยเริ่มจาก Part I บทนำ Part II การดำเนินคดีโดยศาลภายในประเทศ Part III การดำเนินคดีโดยศาลระหว่างประเทศ Part IV สารบัญญัติของอาชญากรรมระหว่างประเทศ (ฐานความผิดอาญาร้ายแรงสูงสุด) Part V วิธีพิจารณาคดีและการลงโทษระหว่างประเทศ และ Part VI ความสัมพันธ์ระหว่างระบบกฎหมายภายในกับระบบกฎหมายระหว่างประเทศ

หนังสือจัดพิมพ์โดย Cambridge University Press พิมพ์ครั้งแรก เมื่อ ค.ศ. 2007 และปัจจุบันพิมพ์ครั้งที่ 4 ค.ศ. 2019

 

 

18. Corona, Climate, Chronic Emergency: War Communism in the Twenty-First Century

Andreas Malm เขียน

สำนักพิมพ์ Verso

แนะนำโดย ปรีดี หงษ์สต้น

 

ไฟป่าที่เผาผลาญพิ้นที่ขนาดใหญ่ในทวีปออสเตรเลียและอเมริกา เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ระบาดไปรอบโลก ฝูงตั๊กแตนเป็นจำนวนล้านๆ ตัวที่บุกทวีปแอฟริกาทั้งทวีป ฯลฯ

อันเดรียส มาล์ม อาจารย์ประจำภาควิชาภูมิศาสตร์มนุษย์ มหาวิทยาลัยลุนด์ พาเราคิดถึงปีที่กำลังจะสิ้นสุดลงด้วยภาพอันน่าหดหู่ ในขณะเดียวกันก็เชื่อมให้เห็นว่าวิกฤตโรคระบาดที่เป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่างในโลกเวลานี้ต้องถูกมองเป็นเรื่องวิกฤตสิ่งแวดล้อม และหากจะแก้เรื่องแรกได้ต้องแก้เรื่องหลัง – ส่วนวิธีแก้ไม่ใช่เพียงการรีไซเคิลหรือการลดใช้พลาสติกเท่านั้น แต่คือ war communism!

 

 

19. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

แนะนำโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

 

อ่านให้รู้ว่ามันห่วยยังไง

 

 

20. ศิลปในบางกอก

น. ณ ปากน้ำ เขียน

แนะนำโดย ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์ (ลุงเฮม่า)

 

หนังสือเก่าเล่มนี้มีอยู่ในตู้ได้สิบยี่สิบปีแล้ว นานๆ จะหยิบมาพลิกๆ อ่านเสียที ทว่าอยู่ๆ ปีนี้หนังสือเล่มนี้ก็มีความหมายใหม่ เพราะลุงเพิ่งย้ายบ้านกลับมาฝั่งธนฯ ว่างๆ ออกเดินเล่นไปเรื่อยไม่ก็ปั่นจักรยานเบาๆ ลัดเลาะไปตามย่านใกล้บ้านซึ่งมีวัดอยู่แน่นไม่แพ้ในเวียงที่เชียงใหม่ ก็ไม่ค่อยรู้จักหรอกนะว่าอะไรเป็นอะไร จนนึกถึงหนังสือเล่มนี้ ซึ่งเขียนโดยศิลปินและนักสำรวจโบราณสถานตัวยงที่แอคทีฟมากเมื่อ 40-50 ปีก่อน

อาจารย์ น. มาเดินสำรวจวัดในย่านฝั่งธนฯ ที่มาที่แท้จริงของฉายา ‘เวนิสแห่งตะวันออก’ ในช่วง พ.ศ. 2510 อ่านแล้วได้ทั้งบรรยากาศและข้อมูลเกี่ยวกับบ้านใกล้เรือนเคียงที่เพิ่งย้ายมาอยู่

ข้อความอย่าง “…ข้างอุโบสถมีวิหารเล็กประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ชาวบ้านนับถือกันมาก…” วัดที่ว่านั้นลุงเคยเดินผ่านแล้วเห็นวินฯ จอดมอไซค์ฯ พรืดแล้วยกมือไหว้หันหน้าไปทางวิหารหลังที่ว่า หรือ “…ธรรมชาติของวัดนี้งดงามมาก ด้วยมีสายน้ำโอบรอบวัดเป็นเส้นโค้งสองด้าน แลดูเหมือนอยู่บนเกาะ…” คือที่อาจารย์ไปเจอเมื่อปี 2514 ซึ่งทุกวันนี้วัดเกาะแห่งนี้ยังร่มรื่น อ่านแล้วภูมิใจในละแวกย่านยังไงก็ไม่ทราบ แม้คนที่ไม่ได้อยู่ฝั่งธนฯ อาจจะไม่รู้สึกรู้สมอะไรด้วย แต่การได้อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวกับย่านตัวเอง สถานที่ต่างๆ ในระยะเดินไปถึง ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นเรื่องสนุกไม่แพ้อ่านการเดินทางสู่ดินแดนไกลโพ้น

 

 

21. โอลด์รอยัลลิสต์ดาย

วาด รวี เขียน

สำนักพิมพ์ Shine Publishing House

แนะนำโดย วรพจน์ พันธุ์พงศ์

 

จริงดังคำเขาว่ากันนั่นแหละ อย่าตัดสินหนังสือจากปก ให้ดูเนื้อหาเนื้อๆ เน้นๆ ให้ดีก่อน แต่–ขอให้เป็นยกเว้นไว้สักคนเถอะ สำหรับ วาด รวี เห็นชื่อนี้แล้วควักเงินซื้อได้เลย อดีตของเขาอธิบายเพียงพอแล้วว่า นี่คือของจริง ของแข็ง ของที่มีคุณค่าความหมายของสังคมวรรณกรรมไทย ทุกหน้าหนังสือคือก้อนความคิดและผลึกภูมิปัญญาที่น่าเสพ สังสรรค์ ใคร่ครวญ พิจารณา

 

 

22. ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี

ณัฐพล ใจจริง เขียน

สำนักพิมพ์ ฟ้าเดียวกัน

แนะนำโดย วิมุต วานิชเจริญธรรม

 

หนังสือที่ได้ประมวลหลักฐานทางวิชาการว่าด้วยประวัติศาสตร์การเมืองไทยในยุคสงครามเย็น ช่วยให้ผู้อ่านได้เห็นบทบาทของกลุ่มอำนาจหลักๆ ในเวทีการเมืองไทย ซึ่งความขัดแย้งนี้ส่งผลต่อเนื่องยาวนานมาถึงสถานการณ์การเมืองในช่วงเวลาต่อมา หนังสือเล่มนี้ถือเป็นของจำเป็นสำหรับคนที่สนใจติดตามการชุมนุมของคณะราษฎร 2563

 

The Bullet Journal Method: วิถีบันทึกแบบบูโจ

Ryder Carroll เขียน

สำนักพิมพ์ Bookscape

แนะนำโดย วิมุต วานิชเจริญธรรม

 

เป็นหนังสือที่ช่วยจัดระเบียบชีวิต ที่ไม่เพียงแต่จะทำให้เราพร้อมสำหรับเป้าหมายทางด้านการงาน การเงิน และความสุขในชีวิตในปีใหม่นี้ได้ แต่ยังช่วยให้เรามีเวลาขีดเขียนบนกระดาษ มีเวลาอยู่กับตัวเองมากยิ่งขึ้น หนังสือเล่มนี้ถือเป็นตัวช่วยฟื้นธุรกิจสมุดบันทึกในปีที่ผ่านมาเลย

 

 

23. The India Way: Strategies for an Uncertain World

Subrahmanyam Jaishankar เขียน

สำนักพิมพ์ HarperCollins India

แนะนำโดย ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

 

หนังสือเล่มนี้เขียนโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศอินเดีย S. Jaishankar ถือเป็นอดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตเอกอัคราชทูตอินเดียประจำจีน ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดการกับความสัมพันธ์ระหว่างอินเดีย-จีน ส่งผลให้หนังสือเล่มนี้เป็นที่นิยมอย่างมากทั้งในและนอกอินเดีย โดยเขาพยายามให้ภาพกว้างเกี่ยวกับมุมมองด้านการต่างประเทศของอินเดียภายใต้บริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ประเด็นความสัมพันธ์อินเดีย-จีน รวมถึงการอธิบายท่าทีของอินเดียในเวทีโลกผ่านคติคิดแบบอินเดียโบราณ

หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับอ่านรับปี 2021 เพื่อเรียนรู้และทำความเข้าใจหนึ่งในประเทศมหาอำนาจในภูมิภาคเอเชียและกำลังก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจโลก อย่างอินเดีย

 

 

24. Meltdown: The End of the Age of Greed

Paul Mason เขียน

สำนักพิมพ์ Verso

แนะนำโดย สมชัย สุวรรณบรรณ

 

ในสถานการณ์ล็อกดาวน์ทำให้มีเวลาไปค้นหนังสือเก่าๆ กลับมาอ่านใหม่เพื่อทบทวนเปรียบเทียบเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

มีนักเศรษฐศาสตร์หลายคนประเมินว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจทั่วโลกอันเนื่องมาจากวิกฤตโคโรนาไวรัสระบาด จะมีความรุนแรงมากกว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยเมื่อครั้งเกิดวิกฤตทางการเงิน-ธนาคาร เมื่อธนาคารยักษ์ใหญ่หลายแห่งในประเทศอุตสาหกรรมเข้าขั้นล้มละลายเพราะการเก็งกำไรไร้จริยธรรมตามระบอบทุนนิยม กว่าจะฟื้นตัวกลับมาได้ก็ใช้เวลาเกือบสิบปี

แม้ว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะล้มพังของเศรษฐกิจเมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว กับภาวะวิกฤตคราวนี้จะต่างกัน แต่ผู้คนที่จะเดือดร้อนมากที่สุดก็คือประชาชนยากจนในระดับล่างๆ ของสังคม  เนื่องจากวิกฤตโควิด 19 คราวนี้กระจายไปทุกหย่อมหญ้าถึงระดับฐานราก จะต้องใช้เวลายาวนานแค่ไหนระบบเศรษฐกิจจึงจะฟื้นตัวกลับมาดังเดิม

Paul Mason เป็นอดีตผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจของ BBC เขาทำงานอยู่ในแนวหน้าของข้อมูลข่าวสาร มองเห็นสภาพความเป็นจริงซึ่งๆ หน้า จึงมีความเชื่อว่า ต้นเหตุแห่งความชั่วร้ายที่เปรียบเหมือนวงจรอุบาทว์ที่เราเห็นกันทุกสิบปีคือ ระบบตลาดเสรีทุนนิยมแบบมือใครยาวก็สาวได้สาวเอา

 

 

25. นิติปรัชญา : หลักนิติธรรม สภาวะยกเว้น และปฐมบทแห่งคำพิพากษาแนวรัฐประหารนิยม

จรัญ โฆษณานันท์ เขียน

สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง

แนะนำโดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล

 

ผลงานชิ้นใหม่ของ จรัญ โฆษณานันท์ นักนิติปรัชญาคนสำคัญของแวดวงนิติศาสตร์ไทย เขาได้พยายามตอบคำถามของปัญหาร่วมสมัยในสังคมไทยเกี่ยวกับการใช้อำนาจของรัฐภายใต้สภาวะยกเว้น ดังที่เขาได้อธิบายถึงงานชิ้นนี้ว่า “งานชิ้นนี้เป็นการวิจัยเชิงความคิด (Conceptual Research) ที่เกี่ยวกับสภาพปัญหาสำคัญเรื่องการใช้อำนาจทางกฎหมายในสถานการณ์ไม่ปกติ หัวข้อศึกษาวิจัยนี้ถือกำเนิดจากการพยายามไขปริศนาต่อบทยืนยัน (Thesis) ทางทฤษฎีบางประการที่มักนำไปใช้สนับสนุนหรือรับรองความชอบธรรมทางกฎหมายของการเกิดรัฐประหารที่เป็นไปอย่างสืบเนื่องในสังคมไทยจนกลายเป็นประเทศที่มีการทำรัฐประหารสูงสุดในระดับต้นๆ ของโลก” (หน้า 2)

แม้งานชิ้นนี้จะพิมพ์เผยแพร่ในลักษณะตำราเรียนของคณะนิติศาสตร์ รามคำแหง แต่เป็นงานที่จะเป็นหมุดหมายสำคัญอีกชิ้นหนึ่งในประเด็นปัญหาของสถานะทางกฎหมายของการรัฐประหาร/ ตุลาการภิวัตน์ / อำนาจนิยมในกฎหมายไทย

(ข้อติงประการหนึ่งก็คือ หนังสือหรือตำราเรียนที่ผลิตจำหน่ายของมหาวิทยาลัยแห่งนี้มักจะมีคุณภาพต่ำ ทำให้หลายชิ้นแม้จะเป็นงานที่มีคุณค่าอย่างสูงแต่ก็ไม่อาจเก็บไว้ให้อยู่ในสภาพดีเมื่อระยะเวลาผ่านไปไม่นาน หากผู้รับผิดชอบมีแนวทางในการแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นบ้างก็จะเป็นคุณูปการไม่น้อย ขอขอบคุณไว้ล่วงหน้า ณ ที่นี้)

 

 

26. ทักษะความสุข

นิ้วกลม เขียน

สำนักพิมพ์ KOOB

แนะนำโดย กษิดิศ อนันทนาธร

 

ทักษะความสุข (2563) โดย นิ้วกลม เป็นหนังสือเล่มที่ผมอยากแนะนำสำหรับนักอ่านที่ต้องการความสุขในชีวิต และมีชีวิตที่มีความหมาย นิ้วกลมได้เรียบเรียงข้อคิด มุมมอง ตัวอย่าง และข้อเสนอจากทั้งงานวิจัย หนังสือ การสัมภาษณ์ และประสบการณ์ส่วนตัว เสนอว่า ความสุขเกิดจากการมี ‘หัวใจที่มั่นคง’ ซึ่งเป็นผลมาจากประสบการณ์ที่ผ่านสุขทุกข์มาพอสมควร สติ และความรัก โดยที่ความรักดีครอบคลุมไปถึงมิติในทางสังคมอีกด้วย

ประโยคสำคัญในหนังสือ คือ “ผมเชื่ออย่างยิ่งว่า เราไม่สามารถมีความสุขอยู่ได้ในสังคมที่เต็มไปด้วยคนที่เป็นทุกข์ หรือท่ามกลางโลกที่เต็มไปด้วยปัญหา การมีชีวิตอยู่ของคนเราจึงควรเป็นชีวิตที่ได้แก้ปัญหาของคนรอบตัวไปด้วยไม่มากก็น้อย และนี่ก็อาจเป็นเหตุผลที่เราเกิดมาก็เป็นได้ นี่อาจเป็นความหมายของการมีชีวิตอยู่ของเรา”

กล่าวคือ “มีชีวิตอยู่เพื่อทำให้คนอื่นมีความสุขมากขึ้น มีชีวิตอยู่เพื่อทำให้คนอื่นทุกข์น้อยลง”
นี่คือสารที่น่าจะเหมาะกับบรรยากาศแห่งการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยบนภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองนั่นเอง

 

 

27. เหยื่ออธรรม (Les Misérables)

Victor Hugo เขียน

วิภาดา กิตติโกวิท แปล

สำนักพิมพ์ ทับหนังสือ

แนะนำโดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

 

เป็นฉบับสมบูรณ์ประกอบด้วยปกแข็ง 5 เล่มจบ พร้อมเชิงอรรถสมบูรณ์ ด้วยสไตล์การเขียนของอูโกที่จะบรรยายและอธิบายบริบทของเหตุการณ์อย่างละเอียดเป็นระยะๆ เราไม่คุ้นเคยกับการเมืองฝรั่งเศสเวลานั้น นโปเลียน สถาบันกษัตริย์ และชื่อนักการเมืองทั้งฝ่ายอนุรักษนิยมและหัวรุนแรง จึงอาจจะชวนให้น่าเบื่อบ้าง แต่ถ้าสนใจและอ่านเชิงอรรถด้วยก็จะช่วยได้มาก

เนื้อเรื่องและเนื้อหามีศูนย์กลางของเรื่องที่ฌอง วัลฌอง นักโทษหนีทัณฑ์บนหลังจากจำคุก 19 ปีด้วยข้อหาขโมยขนมปังไปให้หลานกิน คู่ตรงข้ามคือฌาแวรต์ ตำรวจตงฉินที่เชื่อว่าคนชั่วต้องชั่ววันยังค่ำโดยไม่ต้องนับเรื่องการปฏิวัติ ลำพังตัวเอกสองคนนี้ก็สะท้อนผู้คนมากมายในบ้านเรา ทั้งที่เป็นชาวบ้านและนักการเมือง

รวมทั้งวาทกรรมประเภทคนดีเท่านั้นที่สมควรมีชีวิตอยู่ ตัวละครอีกคนหนึ่งคือฟองตีน สาวโรงงานผู้ขายเส้นผมและขายตัวจนตัวตาย มีฟองตีนมากมายในบ้านเรา หากหนังสือเล่มนี้หรือละครเพลงนี้จะมีคุณค่ากับบ้านเราเวลานี้ก็คือตัวละครสามคนนี้ ไม่นับว่าเพลงเอก Do You Hear the People Sing? ได้ถูกแปลไทยนำไปขับร้องประกอบภาพเหตุการณ์ประท้วงเมื่อตุลาคม 2563 เผยแพร่บนยูทูบวันนี้

 

 

28. The Tyranny of Merit: What’s Become of the Common Good?

Michael Sandel เขียน

สำนักพิมพ์ Farrar, Straus and Giroux

แนะนำโดย อภิวัฒน์ รัตนวราหะ

 

คนที่สนใจในปัญหาความเป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำในสังคมควรอ่านหนังสือเล่มนี้ โดยเฉพาะนักวิจัยและเทคโนแครตที่ทำงานด้านนโยบายสาธารณะ

ไมเคิล แซนเดลได้อธิบายด้วยเหตุผลที่เฉียบคมและตัวอย่างที่น่าสนใจถึงข้อจำกัดและแง่ลบของการใช้หลักความรู้ความสามารถ (merit) ในการประเมินความสำเร็จของปัจเจกบุคคลและในการบริหารรัฐกิจและองค์กร นับเป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ทำให้ผมต้องกลับไปทบทวนและปรับแก้ความเชื่อและความรู้ของตนเองในเรื่องนี้ และเป็นหนังสือที่ตั้งใจจะใช้ประกอบการสอนในอนาคต

 

 

29. สูญสิ้นความเป็นคน (No Longer Human)

จุนจิ อิโต้ เขียน (ดัดแปลงจากวรรณกรรมของ ดะไซ โอซามุ)

สำนักพิมพ์ รักพิมพ์

แนะนำโดย พิมพ์ชนก พุกสุข

 

การจับคู่กันหลอนระเบิดระเบ้อ งานเขียนของดะไซ โอซามุที่ว่าด้วยความเป็นมนุษย์อันแปลกแยกและดำมืด ภายใต้ลายเส้นเซอร์เรียลที่แทบจะไม่เป็นมนุษย์เลยของเสด็จพ่อจุนจิ บอดี้เฮอร์เรอร์ระดับทะลวงสมองจึงแสนจะเป็นมนุษย์เมื่อมันเล่าเรื่องของความสิ้นหวังและแปลกแยกจากดะไซ — ซึ่งด้านหนึ่ง โดยตัวบทประพันธ์เองก็ถูกถอดออกมาจากชีวิตของดะไซสมัยที่ดำมืดสุดขีด ทั้งหมดนี้จึงกลายเป็นการจับคู่กันสร้างความเป็นมนุษย์ที่ทั้งบิดเบี้ยวและสิ้นหวังอันแสนสมบูรณ์

 

 

30. พวกฉัน พวกมัน พวกเรา (Moral Tribes)

Joshua D. Greene เขียน

วิสาลินี ฤกษ์ปฏิมา เดอเบส แปล

สำนักพิมพ์ Salt

แนะนำโดย ชัยภัทร ชุณหรัศมิ์

 

ผมเลือก Moral Tribes ด้วยเหตุผลหลายประการ

หนึ่ง คือ หนังสือเล่มนี้ชวนคุยว่าอะไรทำให้คนเรามักเห็นว่าพวกของตัวเองนั้นมีศีลธรรมเหนือกว่าผู้อื่น โดยนำเสนอเนื้อหาทางวิชาการได้อย่างเข้มข้นแต่ก็สนุกน่าติด+คิดตาม ซึ่งนับว่าหาได้ยาก (ขอชื่นชมผู้เขียน รวมทั้งผู้แปลฉบับภาษาไทย)

สอง ผู้เขียนเสนอปัญหาทางสังคมศาสตร์ผ่านมุมมองวิทยาศาสตร์ (สมอง) ได้อย่างเรียบเนียน ซึ่งหาได้ยากยิ่งกว่าเหตุผลประการแรกเสียอีก (ซึ่งคนมักจะมอง สายวิทย์ กับ​ สายศิลป์ แยกขาดออกจากกันทำให้เสียโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้กันอย่างน่าเสียดาย) ประการสุดท้าย หนังสือเล่มนี้ช่วยกระตุกความคิด และมีประเด็นที่น่าชวนคุยกันต่ออย่างยิ่ง ซึ่งคนที่ชวนคุยที่สุดก็ไม่ใช่ใครอื่นไกลหรอกนะครับ ก็ตัวเราเองนี่แหละ!

 

 

31. Has China Won?: The Chinese Challenge to American Primacy

Kishore Mahbubani เขียน

สำนักพิมพ์ Public Affairs

แนะนำโดย อาร์ม ตั้งนิรันดร

 

Kishore Mahbubani นักการทูตแนวหน้าของสิงคโปร์ เป็นคนที่เฉียบคมในการตั้งประเด็นและคำถามเชิงยุทธศาสตร์ หนังสือเล่มนี้เสนอมุมมองการคิดเชิงยุทธศาสตร์จากฝั่งสหรัฐฯ และจีนได้อย่างสมดุล และวิพากษ์วิจารณ์ความผิดพลาดและจุดอ่อนของทั้งสองมหาอำนาจอย่างตรงไปตรงมา อนาคตของโลกอยู่ที่สองมหาอำนาจนี้จะจัดการความสัมพันธ์และการแข่งขันระหว่างกันอย่างไร ทิศทางโลกอาจกำลังอยู่ในทางสองแพร่ง ไม่ใช้สหรัฐฯ ชนะ หรือจีนชนะ แต่เป็นทางสองแพร่งระหว่างการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันเพื่อให้ชนะทั้งคู่ หรือการตกในวังวนความขัดแย้งจนจบด้วยสงครามที่แพ้ทั้งคู่

 

 

32. 2030: How Today’s Biggest Trends Will Collide and Reshape The Future of Everything

Mauro F Guillén เขียน

จัดพิมพ์โดย St. Martin’s Press

แนะนำโดย พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

 

หนังสือเล่าถึง แนวโน้มสำคัญๆ ที่กำลังเกิดขึ้นและกำลังจะเปลี่ยนโลกในอีกสิบปีข้างหน้า น่าจะเป็นประโยชน์กับการเตรียมตัวสำหรับธุรกิจและชีวิตในอนาคต สำหรับคนที่สงสัยว่าโลกหลังโควิดจะเป็นอย่างไร

 

 

33. เศรษฐศาสตร์ความจน (Poor Economics)

Abhijit V. Banerjee และ Esther Duflo เขียน

ฉันทวิชญ์ ตัณฑสิทธิ์ แปล

สำนักพิมพ์ Salt

แนะนำโดย จิรัฐิติ ขันติพะโล

 

ทำไมคนจนถึงจน? เป็นคำถามสำคัญที่นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล 2 คน คือ Abhijit Banerjee และ Esther Duflo พยายามหาคำตอบ และใช้เวลากว่า 20 ปี ในการศึกษา ค้นคว้า วิจัย เรื่องความยากจนจากทั่วโลก

แม้จะไม่สามารถหาข้อสรุปหนึ่งเดียว ที่อธิบายต้นเหตุแห่งความยากจนได้ แต่ก็ทำให้เรารู้จักและเข้าใจมากพอ จนช่วยให้หลายประเทศรับมือกับความยากจนได้ดีขึ้น สิ่งสำคัญที่ทั้งสองคนค้นพบ คือ

หนึ่ง ‘มายาคติ’ เป็นอุปสรรคสำคัญในการต่อสู้กับความยากจน ต้นเหตุของความยากจนไม่ได้มาจากสาเหตุเดียว แต่มีความซับซ้อน เงื่อนไข เหตุผล และปัจจัยที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคล เราจึงไม่สามารถเหมารวม หรือคิดแทนใครไปได้ทั้งหมด ดังนั้น การจะหากระสุนวิเศษ หรือนโยบายที่ยิงครั้งเดียวแล้วสามารถแก้ไขปัญหาความยากจนได้อย่างครอบจักรวาล จึงเป็นเรื่องยาก หรือแทบไม่มี

สอง ระเบียบวิธีวิจัย ที่ทั้งสองใช้อธิบาย และจัดการกับความยากจน (Randomized Controlled Trials – RCTs) เป็นตัวอย่างให้เห็นว่านักเศรษฐศาสตร์สามารถเดินออกจากห้องสี่เหลี่ยม เพื่อหาหลักฐานเชิงประจักษ์ และการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสู้กับความยากจนได้ โดยไม่ต้องใช้สมการทางคณิตศาสตร์ ที่มีความสลับซับซ้อน

จากผลการศึกษาเรื่องความยากจนที่ดีที่สุด ของสองนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล และนักวิจัยคนอื่นๆ ทั่วโลก ได้ถูกนำมาเรียบเรียงในหนังสือ ‘Poor Economics’ หรือ ‘เศรษฐศาสตร์ความจน’ เพื่ออธิบายธรรมชาติ พฤติกรรม และแรงจูงใจ ที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจของคนจน

 

 

34. ดาบพิฆาตอสูร (Kimetsu no Yaiba)

Koyoharu Gotouge เขียน

สำนักพิมพ์ เอสเอ็มเอ็มพลัส (23 เล่มจบ, ปัจจุบันไทยอยู่ที่เล่ม 21)

แนะนำโดย ธีรภัทร เจริญสุข

 

หนังสือการ์ตูนที่สร้างปรากฏการณ์แห่งปี 2020 ทั้งในญี่ปุ่นและทั่วโลก อนิเมชันซีรีส์และภาพยนตร์ที่รายได้กำลังแซงหน้า Spirited Away คือจิตวิญญาณแห่งยุคสมัยที่กำลังเปลี่ยนแปลงนี้

คามาโดะ ทันจิโร่ คามาโดะ เนซึโกะ และเหล่านักล่าอสูรได้เปลี่ยนแปลงขนบดั้งเดิมหลายอย่างของทั้งวงการมังงะญี่ปุ่น อนิเมชัน สื่อบันเทิงญี่ปุ่นและสังคม งานเขียนที่กระชับฉับไวไม่ยืดเรื่องยาวนับทศวรรษ การตายของตัวละครที่ไม่มีการฟื้นคืนกลับมา ปรัชญาแห่งชีวิตของมนุษย์ที่ไปให้ถึงขีดสุดแม้มีอุปสรรคหนักหนาเกินกำลังกีดขวางอยู่และดูมองไม่เห็นทางชนะ

อ่านเพื่อซึมซับแนวคิดของสังคมในทศวรรษใหม่ของศตวรรษที่ 21 และสร้างกำลังใจให้ไม่พ่ายแพ้ต่ออสูรร้ายที่กำลังเผชิญหน้า เพื่อเอาชนะได้ในยามอรุณรุ่งมาถึง

 

 

35. The Law Book

สำนักพิมพ์ DK

แนะนำโดย อิสระ ชูศรี

 

ผู้อ่านหลายท่านคงคุ้นกับหนังสือชุด Big Ideas Simply Explained ของสำนักพิมพ์ DK แห่งประเทศอังกฤษที่อธิบายแนวความคิดสำคัญในสาขาความรู้ต่างๆ ด้วยภาษาที่สั้นง่ายและไม่เป็นวิชาการ นอกจากนั้นยังโดดเด่นด้วยการใช้โควต เส้นเวลาทางประวัติศาสตร์ แผนภาพ และภาพถ่าย ตามสไตล์ของหนังสืออ้างอิงประกอบภาพแบบ DK ที่ปัจจุบันกลายเป็นสไตล์คลาสสิกไปแล้ว

วิธีการสรุปแนวคิดสำคัญตาม ‘ลำดับเวลา’ วางกรอบให้เราทำความเข้าใจเนื้อหาของแต่ละสาขาความรู้ผ่านมุมมองแบบวิวัฒนาการ โดยแสดงให้เห็นการปรับแนวคิดต่างๆ เป็นไปในลักษณะปฏิสัมพันธ์ระหว่างความรู้และการปฏิบัติกับการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดขึ้นในโลก

หนังสือเรื่อง The Law Book: Big Ideas Simply Explained (2020) เป็นหนังสือใหม่ในชุด Big Ideas ที่ใช้กรอบลำดับเวลาและสมัยทางประวัติศาสตร์ในการบอกเล่าวิวัฒนาการทางกฎหมายที่สำคัญของโลก โดยแบ่งออกเป็น 6 ยุค ได้แก่ ยุคโบราณ (ประมาณ 2100 ปีก่อนคริสตกาล – ค.ศ. 313) ยุคกลาง (ประมาณ ค.ศ. 529 – คริสต์ศตวรรษที่ 13 – 15) ยุคจักรวรรดิและการรู้แจ้ง (ค.ศ. 1474 – 1791) ยุคก่อเกิดนิติรัฐ (ค.ศ. 1803 – 1935) ยุคระเบียบระหว่างประเทศ (ค.ศ. 1945 – 1975) และยุคสมัยใหม่ (ค.ศ. 1986 – 2017)

อ่านแบบรวบรัดก็จะเห็นทิศทางของวิวัฒนาการทางกฎหมายจากการใช้อำนาจตามอำเภอใจของผู้ที่แข็งแรงกว่ามาสู่การตรากฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษร มาสู่การนำหลักศีลธรรมทางศาสนามาร่วมกำกับพฤติกรรมของบุคคล การแยกศรัทธาศาสนาออกไปจากการปกครองที่อาศัยหลักเหตุผลมากขึ้น การสถาปนากฎหมายเป็นธรรมนูญปกครองรัฐแทนที่ระบอบกษัตริย์เหนือกฎหมาย การใช้กฎหมายระหว่างประเทศเพื่อจัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและสร้างมาตรฐานทางกฎหมายในระดับสากล และการยกระดับมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างความเท่าเทียมกันระหว่างมุนษย์ในฐานะปัจเจกบุคคล โดยไม่เลือกปฏิบัติด้วยเชื้อชาติ สีผิว เพศกำเนิดและเพศสภาวะ เป็นต้น

การได้พิจารณาวิวัฒนาการทางกฎหมายของโลกในเชิงเปรียบเทียบผ่านมุมมองแบบวิวัฒนาการ ช่วยให้เราเห็นว่าบทบัญญัติและวิธีปฏิบัติทางกฎหมายในลักษณะใดมีความล้าหลังหรือก้าวหน้า ยกตัวอย่างเช่น การกำหนดโทษรุนแรงสำหรับการกระทำผิดที่ไม่ร้ายแรง (Draconian Law – มีที่มาจากชื่อของนักกฎหมายชาวกรีก Draco ในช่วงศตวรรษที่ 7 ก่อนคริสตกาล) เป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ในกฎหมายโบราณและตกยุคไปแล้วเมื่อพิจารณาในทางสากล หรือการให้ใครก็ตามที่ไม่ได้เป็นผู้เสียหายสามารถแจ้งความในคดีอาญาเพื่อกล่าวหาคนที่ผู้แจ้งความเห็นว่ามีพฤติกรรมที่เป็นความผิดก็มีความคล้ายกันกับการกล่าวหาและดำเนินคดีผู้มีพฤติกรรมเป็นแม่มดในรัฐแมสซาชูเซ็ตส์ของสหรัฐอเมริกาใน ค.ศ. 1692 เป็นต้น

ในขณะที่กฎหมายรับรองการแต่งงานของคนเพศเดียวกันเหมือนกับการแต่งงานของคนต่างเพศ การไม่ถือว่าการครอบครองยาเสพติดเป็นความผิด การอนุญาตให้ยุติชีวิตได้โดยถูกกฎหมาย การกำหนดรายได้ที่เท่าเทียมระหว่างหญิงชายที่ทำงานชนิดเดียวกัน เป็นต้น ล้วนแต่เป็นแนวโน้มร่วมสมัยของกฎหมายในประเทศต่างๆ ที่มุ่งคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้เท่าเทียมกัน และส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของบุคคลเป็นสำคัญ หนังสืออ่านง่ายแบบ The Law Book เล่มนี้บางทีก็อาจช่วยขีดเส้นนำสายตาให้ผู้อ่านพิจารณาได้เองว่าความคิดความเชื่อเกี่ยวกับกฎหมายของเรากำลังพาเราเดินไปข้างหน้าหรือเดินถอยหลัง

 

 

36. เศรษฐศาสตร์ความจน (Poor Economics)

Abhijit V. Banerjee และ Esther Duflo เขียน

ฉันทวิชญ์ ตัณฑสิทธิ์ แปล

สำนักพิมพ์ Salt

แนะนำโดย ฉัตร คำแสง

 

ลีโอ ทอลสตอย เคยเขียนไว้ว่า “ครอบครัวที่มีความสุขล้วนสุขเหมือนๆ กัน แต่ครอบครัวที่เป็นทุกข์ ต่างทุกข์ในแบบของตัวเอง”

ในช่วงเวลายากลำบากเช่นนี้ ผมจึงอยากให้เลิกการตัดสินใจอะไรตามกึ๋นหรือความเชื่อที่ยึดถือกันมา แต่มองปัญหาให้ชัดเจนอย่างตรงไปตรงมา เหมือนกับที่หนังสือเล่มนี้พยายามทลายภาพจำของคนจนด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์จากทั่วโลก

 

 

37. Bending Adversity: Japan and the Art of Survival

David Pilling เขียน

สำนักพิมพ์ Penguin

แนะนำโดย ธีวินท์ สุพุทธิกุล

 

คิดว่าน่าจะเข้ากับสถานการณ์วิกฤตได้ดีครับ

 

 

38. Prosperity and Justice: A Plan for the New Economy

IPPR (Institute for Public Policy Research) เขียน

แนะนำโดย วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

 

รู้สึกว่าสังคมไทยอยู่กับโควิดแบบวันต่อวัน ได้คนละครึ่งก็ดีใจ เห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อก็ตกใจ เป็นวัฏสงสารแห่ง short-termism เลยอยากชวนอ่านอะไรที่ฉุกให้เรามองไปไกลขึ้น

หนังสือเล่มนี้เป็นข้อเสนอปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของอังกฤษ เขียนโดย IPPR ซึ่งเป็น think tank สายก้าวหน้า

Prosperity and Justice สรุปปัญหาใหญ่ๆ ของประเทศแบบตรงไปตรงมา ยืนยันว่าเราสามารถสร้างความมั่งคั่งพร้อมกับความเป็นธรรมได้ แต่ต้องเปลี่ยนวิธีการออกแบบนโยบายแบบยกกระบิ รัฐกล้าชนธุรกิจผูกขาด เทคโนแครตอัปเดตความรู้ ธุรกิจมองเป้าหมายไกลเกินหนึ่งไตรมาส คนทำงานยอมจ่ายภาษีเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งสังคมต้องขยับพร้อมกันเพื่อสร้าง ‘ธรรมนูญเศรษฐกิจใหม่’ (New Economic Constitution)

 

 

39. 24-7/1

ภู กระดาษ เขียน

สำนักพิมพ์ มติชน

แนะนำโดย อาทิตย์ ศรีจันทร์

 

เหตุผลที่ผมเลือกหนังสือเล่มนี้เพราะ ไม่ใช่ว่ามันเป็นนวนิยายที่สนุกหรือชวนให้อ่านได้อย่างเพลิดเพลิน ในทางตรงกันข้ามมันอาจสร้างความเหนื่อยราวกับการวิ่งมาราธอนด้วยความเร็วเฉลี่ย 4 นาที ต่อหนึ่งชั่วโมง แต่มันควรค่าแก่การแนะนำ เพราะมันพูดถึงสังคมไทยได้อย่างละเอียด แหลมคม ปัญหาที่ฝังรากลึกในสังคมไทยมายาวนานและหยั่งลึกไปในระดับครอบครัว ความสัมพันธ์ที่ผู้คนมีต่อกัน ในบางครั้งเราไม่อาจตระหนักได้ว่า สิ่งที่เรากำลังทำและเป็นอยู่นั้น เนื้อแท้แล้วมันอาจมาจากปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมก็ได้ สำหรับผม งานของ ภู กระดาษ ไม่เคยอ่านง่าย ต้องใช้พลังงานสูงแม้จะเป็นเล่มบางๆ ก็ตาม และยิ่งในเล่มนี้ 24-7/1 มันอาจเป็นล่มที่เหนื่อย แต่ผมก็คิดว่ามันคุ้มค่าที่จะเหนื่อยกับการอ่านนวนิยายเล่มเขื่องนี้

 

 

40. Asia’s Cauldron: The South China Sea and the End of a Stable Pacific

Robert D. Kaplan เขียน

สำนักพิมพ์ Random House

แนะนำโดย ปิติ ศรีแสงนาม

 

Robert D. Kaplan เคยทำหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าวสายความมั่นคงที่เดินทางไปทั่วโลกในช่วงปลายสงครามเย็น บทความของเขาปรากฏเสมอๆ ใน The Washington Post, The New York Times, Foreign Affairs และ The Wall Street Journal โดยนอกจากการรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มุมมองของ Kaplan ในการเชื่อมโยงปัจจัยทางด้านภูมิศาสตร์ เพื่อบรรยายสถานการณ์ด้านการเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กลายเป็นเสน่ห์ของงานของเขา

หนังสือ Asia’s Cauldron ตีพิมพ์ในปี 2014 บอกเล่ามุมมองทางภูมิรัฐศาสตร์-เศรษฐกิจ ที่เริ่มต้นจากการอธิบายประวัติศาสตร์ของกลุ่มชนที่เรียกว่า จามปา (Chumpa) เพื่อต่อยอดอธิบายความสัมพันธ์และความขัดแย้งระหว่างจีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และบทบาทของประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เกี่ยวข้องกับ กรณีพิพาทในทะเลจีนใต้ ถึงแม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะตีพิมพ์มาแล้วกว่า 6 ปี แต่การเข้าใจรากฐานจากมุมมองภูมิรัฐศาสตร์-เศรษฐกิจ ที่มีต่อมหาอำนาจใกล้บ้านอย่างจีน และเพื่อนบ้านที่ระยะหลังดูเหมือนจะถูกนำมาเปรียบเทียบและตั้งข้อสงสัยกันอยู่เสมอๆ ว่า เศรษฐกิจเวียดนามแซงหน้าประเทศไทยไปแล้วหรือยัง ก็ยังคงมีความจำเป็นและต้องทำความเข้าใจ

 

 

41. The Rights of Others: Aliens, Residents, and Citizens

Seyla Benhabib เขียน

จัดพิมพ์โดย Cambridge University Press

แนะนำโดย ศุภมิตร ปิติพัฒน์

 

หน้าแรกสุดก่อนข้อความเนื้อหาอื่นใดทั้งหมดในเล่มที่จะตามมา ผู้เขียนประทับคำประกาศด้วยตัวอักษรขนาดใหญ่ว่า

“No human is illegal.”

ผู้เขียนนำความคิดของคานท์มานำเสนอเทียบกับของฮันนาห์ อาเรนด์ ผู้พา ‘The Heart of Darkeness’ ของคอนราดมาเปิดประเด็นกับสิ่งที่จักรวรรดินิยมตะวันตกกระทำต่อดินแดนและผู้คนในระหว่าง Scramble for Africa และชี้ให้เห็นว่าการก้าวล่วงข้อยับยั้งทางศีลธรรมและการล่วงละเมิด ‘สิทธิพื้นฐานที่จะมีสิทธิในฐานะมนุษย์ที่เท่ากัน’ ต่อคนอื่นที่ต่างสีผิวในแอฟริกา สุดท้ายแล้วเมื่อยุโรปหันเหเข้าสู่ totalitarianism ในศตวรรษที่ 20 ยุโรปก็ได้พบเผชิญกับ the heart of darkness เดียวกันนั้นจากน้ำมือของตัวเอง

เมื่อคนเขียนใช้การตีความความคิดของคานท์เกี่ยวกับ moral universalism และ cosmopolitan federalism พาเราติดตามหาหลักการที่จะใช้เป็นเหตุผลยืนยันสิทธิพื้นฐานสำหรับทุกคนที่พึงจะได้รับสิทธิอันพึงมีและพึงได้รับการคุ้มครองสิทธิเหล่านั้นอย่างเสมอกันในฐานะที่เป็นคนเหมือนกัน เราก็ได้ความเข้าใจที่กระจ่างขึ้นในเหตุผล (และข้อจำกัด) ที่มีอยู่ในความคิดของนักคิดคนสำคัญๆ เช่น Rawls, Walzer, Beitz และ Pogge รวมทั้งในความหมาย (และข้อจำกัด) ที่มีอยู่ในความคิดและแบบแผนวิถีปฏิบัติร่วมสมัยเกี่ยวกับการลากเส้นแบ่งทางสังคมและเส้นเขตแดน การสังกัดเป็นสมาชิกของชุมชน และการรักษาสิทธิของคนนอก คนอื่น ในโลกที่การทำตามเจตจำนง เสรีภาพ และการได้รับประโยชน์ของคนฝ่ายหนึ่งได้สร้างผลกระทบ ผลข้างเคียง หรือผลโดยตรงที่ไปจำกัดเจตจำนง เสรีภาพ และการมีชีวิตที่ดีของคนอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก

คำตอบที่คนเขียนเสนอเกี่ยวกับภาระรับผิดชอบทางศีลธรรมของสมาชิกในชุมชนการเมืองที่ต้องอยู่ร่วมกับคนและชุมชนอื่นๆ ให้แนวทางแก่เราในการหาทางทำให้ ‘No human is illegal’ เป็นวิสัยทัศน์ร่วมกันที่ทำให้เกิดเป็นจริงขึ้นได้ในโลกของชุมชนการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย

 

 

42. From Here to Eternity: Traveling the World to Find the Good Death

Caitlin Doughty เขียน

กัญญ์ชลา นาวานุเคราะห์ แปล

สำนักพิมพ์ Bookscape

แนะนำโดย อติเทพ ไชยสิทธิ์

 

หนังสือเล่มนี้พาเราไปรู้จักกับวัฒนธรรมความตายที่หลากหลายจากทั่วทุกมุมโลก ตั้งแต่โปรเจ็กต์คืนร่างสู่ธรรมชาติ (Recompose – the Urban Death Project) ในนอร์ธ แคโรไลนา (North Carolina) สหรัฐอเมริกา การบูชากะโหลกศักดิ์สิทธิ์ (ñatitas) ในลา ปาซ (La Paz) โบลิเวีย หรือการดำรงชีวิตร่วมกับมัมมี่ของบรรพบุรุษ (Ma’nene) ในสุลาเวสี (Sulawesi) อินโดนิเซีย – การสอดแทรกอารมณ์ขันของผู้เขียนทำให้การพูดเรื่องความตายกลายเป็นเรื่องสนุก และทำให้เราเปิดใจเรียนรู้กับนิยามของ ‘ความตายที่ดี’ ในวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไป

เคทลีน โดจ์ที (Caitlin Doughty) เป็นสัปเหร่อหญิงผู้รณรงค์ให้คนเปิดใจกว้างกับความตาย (death positivity) ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของสมาชิกครอบครัวในวาระสุดท้ายของคนที่พวกเขารัก และสนับสนุนการฟังศพตามธรรมชาติ (natural burial) – โดจ์ทีเผยแพร่แนวคิดโอบรับกับความตาย (มรณานุสติ – memento mori) ของเธอผ่านแชนแนล Youtube ที่ชื่อ ‘ถามสัปเหร่อ’ (Ask a Mortician)

 

 

43. เมื่อโลกพลิกผัน: การปฏิวัติอุตสาหกรรม จุดกำเนิดการเมืองและเศรษฐกิจยุคปัจจุบัน

Karl Polanyi เขียน

ภัควดี วีระภาสพงษ์ แปล

สำนักพิมพ์ ฟ้าเดียวกัน

แนะนำโดย ประจักษ์ ก้องกีรติ

 

อยากชวนให้อ่านหนังสือแปลเล่มนี้กัน เป็นหนังสือแปลงานของโปลันยี ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นหนังสือเล่มสำคัญเล่มหนึ่งของศตวรรษที่ 20 และตัวมันเองเป็น 1 ในหนังสือที่อธิบายวิกฤตช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 ได้ดีที่สุดเล่มหนึ่งทีเดียว โดยผู้เขียนพาผู้อ่านย้อนกลับไปตั้งแต่สังคมมุนษย์ก่อนยุคทุนนิยม จนกระทั่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่มาพร้อมกับการเกิดขึ้นของ 2 สิ่งคือ กำเนิดรัฐสมัยใหม่ ซึ่งเปลี่ยนรูปแบบการใช้อำนาจ และระบบเศรษฐกิจแบบตลาด ซึ่งเปลี่ยนรูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคมไปอย่างมโหฬาร

ผู้แปล – คุณภัควดี วีระภาสพงษ์ – ขยันและอุตสาหะมากในการทำงาน มีเชิงอรรถละเอียดมากสำหรับผู้อ่าน หนังสือตีพิมพ์ออกมาได้ 4 ปีแล้ว แต่คนยังรู้จักน้อยมากจนน่าเสียดาย อยากให้ได้อ่านกันกว้างขวางกว่านี้

หนังสือเล่มนี้เหมาะแก่การหยิบมาอ่านในยุคแห่งความผันผวนรอบด้าน นักประวัติศาสตร์หลายคนชี้ว่าโลกอันพลิกผันในปัจจุบันที่มีความขัดแย้งทางการเมืองสูง โรคระบาดแพร่กระจาย และภาวะเศรษฐกิจถดถอยและตกต่ำรุนแรงนั้นช่างละม้ายคล้ายคลึงกับโลกในยุคทศวรรษ 1920-1930 รอยต่อระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 และท่ามกลางวิกฤตของสงคราม ความอดอยาก การว่างงาน และความขัดแย้งทางสังคมที่ปะทุขึ้นมาโดยเป็นผลพวงของความล้มเหลวของระบบตลาดนั่นเอง ที่ลัทธิฟาสซิสต์และระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จถือกำเนิดขึ้น พร้อมกับขบวนการทางสังคมและประชาธิปไตยของฝ่ายแรงงานที่ตอบโต้กับการครอบงำของตลาดเสรี ส่วนตัวคิดว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในงานที่อธิบายการก่อเกิดของลัทธิฟาสซิสต์ได้ดีที่สุดเล่มหนึ่ง

นอกจากนั้นหนังสือเล่มนี้ยังเหมาะกับสังคมไทยในห้วงยามนี้เป็นพิเศษ ที่การถกเถียงทางความคิดว่าด้วยแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับทุนนิยม เสรีนิยม สังคมนิยม และคอมมิวนิสต์ถูกรื้อฟื้นกลับขึ้นมาใหม่ หนังสือเล่มนี้บรรจุข้อถกเถียงว่าด้วยพัฒนาการของธรรมชาติของมนุษย์ วิวัฒนาการของรัฐและเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ความสำเร็จและความล้มเหลวของตลาดเสรี และปรัชญาพื้นฐานของลัทธิสังคมนิยม มันจึงเป็นหนังสือที่ควรค่าแก่การอ่านเพื่อนำไปสู่การสนทนาถกเถียงเพื่อหาทางออกจากโลกที่พลิกผันในปัจจุบัน

 

 

44. ตำรากับข้าวหลานแม่ครัวหัวป่าก์

แนะนำโดย คำ ผกา

 

จะเป็นการเสียมารยาทหรือเปล่าที่จะแนะนำหนังสือที่ไม่น่าจะหาซื้อได้ แต่เผื่อใจว่า อาจจะมีสำนักพิมพ์ไหนอยากจะพิมพ์ขึ้นมาใหม่

หนังสือนี้ชื่อ ‘ตำรากับข้าวหลานแม่ครัวหัวป่าก์’

ฉันได้มาจากร้านขายหนังสือเก่า เป็นหนังสือไม่ระบุปีที่พิมพ์ ไม่ระบุนามผู้แต่ง เปิดเล่มก็เป็นสารบัญ

ถามว่า เราอ่านหนังสือเล่มนี้เพื่อใช้เป็นตำราอาหารหรือไม่ สำหรับบางคนอาจจะใช่ แต่สำหรับฉัน ตำราอาหารเหล่านี้เป็นหมุดหมายแห่งการกลายเป็นสังคมสมัยใหม่ของไทย

การ standardized วิถีการกิน – อยู่ ของคนชั้นกลาง และเผยแพร่มันผ่าน ‘ตำรา’ ที่อาศัย ‘การพิมพ์’ และการ ‘ขาย’ – เล่มที่อยู่ในมือฉัน พิมพ์ครั้งที่ 6 แปลว่า ชนชั้นกลางไทยสมัยนั้นมีวัฒนธรรมการแสวงหาความรู้ผ่านการ ‘อ่าน’ ที่แมสแล้วพอสมควร

ไม่นับว่าเราได้เห็นร่องรอยประวัติศาสตร์ ‘อาหารไทย’ ที่ประกอบไปด้วย การหุงข้าวแบบแขกหรือ อาหารชื่อ ‘แป้งหลอดอิตาเลียน’ หรือ ‘ขนมทองอังกฤษ’

ท้ายเล่มยังมีการกำหนด ‘หลักการจัดอาหาร’  ทั้งแบบ ช่วยตนเอง buffet และแบบ ‘มีผู้ปฏิบัติ’ หรือ Dinner

มากกว่าสูตรอาหาร หนังสือในแนวนี้ทำให้เราเห็นกำเนิดมารยาทและวิถีปฏิบัติของชนชั้นกลางไทยที่เพิ่งถือกำเนิดขึ้นมาในทศวรรษ 2470 ลงมา

มากไปกว่านั้น ใดๆ ที่เราคิดว่าเป็นอาหารไทยแทบจะไม่ปรากฏในตำราอาหาร ‘ไทย’ ในยุคเริ่มต้น

ขอให้มีความสุขกับการอ่านนะคะ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save