การเลี้ยงลูกเล็กนั้นประกอบด้วยประเด็นหลายอย่างที่พ่อแม่ต้องทบทวนและตัดสินใจ ตั้งแต่แนวคิดในการเลี้ยงลูก การสร้างพัฒนาการที่เหมาะกับวัย การเลือกโรงเรียนให้ลูก ชีวิตและวิธีการดูแลตัวเองของพ่อแม่ ไปจนถึงประเด็นที่น่าตั้งคำถามอย่าง การสอบคัดเลือกเข้าโรงเรียน
101 เก็บทัศนะบางส่วนจาก เมริษา ยอดมณฑป นักจิตวิทยาเด็กและครอบครัว เจ้าของเพจ ตามใจนักจิตวิทยา ผู้ร่วมก่อตั้ง ‘ห้องเรียนครอบครัว’ ห้องเรียนที่ส่งเสริมพัฒนาการเด็กด้วยการเล่น ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและให้ความรู้กับพ่อแม่ ในรายการ 101 One-on-One EP.83 “เปิดโลกพัฒนาการเด็กปฐมวัย”
:: เรียนรู้พัฒนาการทำให้เข้าใจมนุษย์ ::
จิตวิทยาพัฒนาการจะเรียนตั้งแต่มนุษย์ปฏิสนธิไปถึงเชิงตะกอน ทุกวัยมีความต้องการที่ควรได้รับการตอบสนองเพื่อจะได้ผ่านพัฒนาการช่วงวัยนั้นอย่างสมบูรณ์ เรียกว่าการเติบโตที่มีความสุข แต่ละช่วงวัยมีจุดละเอียดอ่อนที่ต้องให้ความสำคัญแตกต่างกันไป
ความรู้เรื่องพัฒนาการทำให้เข้าใจมนุษย์คนหนึ่งว่าเกิดมาแล้วต้องการอะไร จะตอบสนองอย่างไรให้เขาเติบโตอย่างสมบูรณ์ เป็นผู้ใหญ่ที่อยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข ไม่ใช่แค่ครูหรือพ่อแม่เท่านั้น แต่ทุกคนที่ทำงานร่วมกันควรเรียนรู้เรื่องพัฒนาการ เพราะเป็นเรื่องของมนุษย์ เมื่อเรียนรู้มนุษย์ซึ่งกันและกัน แม้อยู่คนละช่วงวัยก็จะเข้าใจกันมากขึ้นและทำให้ขัดแย้งกันน้อยลง ส่วนในเด็กก็จะทำให้เราไม่คาดหวังอะไรที่เกินวัยของเขา
เรื่องพัฒนาการเด็กทำให้ได้เรียนรู้ว่าอะไรสำคัญกับเด็กแต่ละวัย ถ้ารู้ว่าอะไรสำคัญแล้วเราจะไม่พรากมันไปจากเขา เช่น เด็กเล็ก 0-2 ปี พ่อแม่สำคัญกับเขามาก พ่อแม่ก็อาจเสียสละเวลาให้ลูกมากขึ้น เด็กวัย 3-4 ปีต้องการสำรวจโลก พ่อแม่อาจพาเขาไปที่สวนหรือไปเที่ยวที่ต่างๆ ต้องเรียนรู้ว่าเด็กทำอะไรได้ดีที่สุดในแต่ละช่วงวัย
:: การเลี้ยงเด็กไม่มีทางลัด ::
บทความที่เราเขียนจะเป็นค่าเฉลี่ยของเด็กส่วนใหญ่ แต่ไม่ได้หมายความว่าเด็กทุกคนจะแก้ไขด้วยวิธีการเดียวกันได้ และไม่ได้หมายความว่าสอนครั้งแรกแล้วลูกจะเรียนรู้เลย เด็กบางคนอาจเรียนรู้จากครั้งที่ 100 ก็ได้ แต่ถ้าเริ่มไม่ไหวก็อาจมาคุยกับหมอว่าทำถูกต้องไหม ลูกมีพัฒนาการบางด้านช้าหรือเปล่า
พ่อแม่ที่มาหาเราทุกคนกำลังเผชิญปัญหาและความทุกข์ เราต้องช่วยทั้งพ่อแม่ลูก พ่อแม่กล้าหาญมากที่กล้ามาหาเรา ขอบคุณที่เราจะมาช่วยเด็กคนหนึ่งด้วยกัน ถ้าพ่อแม่เอาด้วยร้อยทั้งร้อยจะสำเร็จ ไม่ใช่ว่าเราทำคนเดียวได้ ปัญหาคือทำไประยะหนึ่งแล้วไม่เห็นผลลัพธ์พ่อแม่จะเริ่มหาทางลัด แต่มีแค่ความอดทนและการสอนที่สม่ำเสมอเท่านั้นที่จะช่วยให้เด็กเรียนรู้ได้ เขาไม่ใช่หุ่นยนต์ที่จะเซ็ตระบบได้ บอกไม่ได้ว่าเขาจะเรียนรู้ได้ในระยะเวลาเท่าไหร่ แต่ให้กำลังใจได้ว่าลูกเรียนรู้ถึงระดับไหนแล้ว
สิ่งท้าทายคือพ่อแม่ที่บอกว่าทำแล้วไม่เห็นจะได้ผลเลย หรือเราจะให้ไปพบผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมแต่พ่อแม่ต้องการคำตอบเดี๋ยวนั้น การเลี้ยงเด็กไม่มีทางลัด ต้องลองทำว่าอะไรเหมาะสมกับวัยของลูก แต่พ่อแม่ก็จะบอกว่าไม่มีเวลา มีวิธีการอื่นไหมที่พ่อแม่ไม่ต้องไปสอนเขาเอง
:: ปรับพฤติกรรมเด็ก ผู้ใหญ่ต้องไปทิศทางเดียวกัน ::
เด็กเรียนรู้ผ่านการกระทำ จึงต้องปรับพฤติกรรมเพื่อเปลี่ยนข้างใน ต่างจากผู้ใหญ่ที่ต้องปรับความคิด ถ้าปรับพฤติกรรมแล้วไม่ได้ผลอาจต้องเปลี่ยนวิธี ถ้าไม่รู้ว่าต้องใช้วิธีไหนควรให้ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าลูกมีพัฒนาการล่าช้าหรือพ่อแม่ไม่ได้ทำในทิศทางเดียวกัน แม่อาจใช้วิธีแบบหมอ แต่พ่อยังใช้อีกวิธีหนึ่ง คิดว่าตัวเองทำถูกแล้วแต่คนในบ้านไม่ได้ใช้วิธีเดียวกันก็ไม่ได้ผล เด็กจะเรียนรู้ว่าการทำแบบเดิมยังมีคนตอบสนองอยู่ ยังมีคนในบ้านตามใจก็จะใช้วิธีเดิมต่อไป ดังนั้นต้องปรับทั้งบ้านเพื่อจะปรับพฤติกรรมเด็กคนหนึ่ง
ถ้าต้องอยู่บ้านเดียวกับปู่ย่าตายาย อาจคุยกับพวกเขาว่า เรามีแนวทางแบบนี้ ถ้าไม่เห็นด้วยเราขอสอนลูกเอง พ่อแม่ควรเป็นบุคคลแรกที่จะสอนลูก ปู่ย่าควรให้เกียรติและเคารพสิทธิตรงนี้ เมื่อเกิดเหตุการณ์แม่จะพาลูกออกมาแล้วสอนหนึ่งต่อหนึ่ง ขออย่าเพิ่งแทรกแซง ให้เกียรติซึ่งกันและกัน อย่าเบรกกัน เพราะเด็กที่ยังพูดไม่ได้ก็เรียนรู้ได้ว่าเขามีพวก ดังนั้นพ่อแม่อย่าทะเลาะกันต่อหน้าลูกเรื่องการเลี้ยงดูลูก ให้ตกลงกันให้เรียบร้อยก่อนเกิดเหตุการณ์
ถ้าพ่อแม่สอนคนละทิศทาง ต้องดูว่าใครเลี้ยงลูกเป็นหลัก ถ้าแนวทางไม่ตรงกันชัดเจนต้องคุยกันว่าถ้าเกิดสถานการณ์อย่างนี้จะจัดการอย่างไร ไม่เข้ามาแทรกหรือขอให้จบเหตุการณ์แล้วค่อยคุยกัน อย่าขัดกันต่อหน้าลูก จะทำให้ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่เคารพกัน เขาก็ไม่ต้องเคารพ
:: อย่ามีลูกเพื่อตอบสนองตัวเอง ::
การมีลูกคนหนึ่งต้องถามตัวเองว่าต้องการมีเขาเพื่อตอบสนองอะไรหรือเพราะอยากจะมีเขาจริงๆ พ่อแม่บางคนกำลังระหองระแหงกัน อยากมีลูกให้สามีกลับมา เราใส่ความคาดหวังไปก่อนเขาเกิดมาอีก ความคาดหวังนำมาซึ่งความผิดหวังและสมหวัง ถ้าเขาตอบสนองไม่ได้เราจะผิดหวังในตัวเขาตั้งแต่เกิดเลยเหรอ เด็กรู้ไหมว่าเขาเกิดมาเพื่อเป็นความคาดหวังของเรา เด็กเกิดมาเพื่อเป็นตัวของเขาเอง ไม่ได้เพื่อเป็นใครหรือเพื่อทำตามความปรารถนาของใคร
การมีลูกนอกจากความพร้อมต้องใช้ความรักและความกล้าหาญของพ่อแม่ อย่ามีลูกเพื่อตอบสนองความคาดหวังหรือความฝันของใคร เรามีลูกเพื่อให้เขาเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในแบบของเขา สมบูรณ์ไม่ได้แปลว่าเพอร์เฟ็กต์หรือดีพร้อม แต่แปลว่าเขามีความสุขในชีวิต สามารถเติบโตด้วยตัวเอง และทำในสิ่งที่เขาต้องการโดยไม่ทำให้ใครเดือดร้อนได้
ขอให้พ่อแม่มองว่าถ้าเราลงทุนลงแรงไปในวันที่เขาเป็นเด็กเล็กอยู่ มันจะคุ้มค่าเมื่อเขาเติบโตแน่นอน แต่ถ้าเราละเลยในช่วงวัยนี้จะมีดอกเบี้ยตามมาย้อนหลังให้เราไปแก้ปัญหาแน่นอน การเลี้ยงเด็กต้องค่อยๆ ไปทีละเสต็ป อย่ามองไปไกลว่าจะให้ลูกเป็นหมอหรือครู ขอแค่มองว่าวันนี้เรากับลูกมีความสุขหรือยัง มีช่วงเวลาที่ดีมากกว่าเวลาไม่ดีไหม อย่ามองว่าความสำเร็จคือการเลี้ยงเด็กให้เอาชนะใครหรือสอบแข่งขันได้ระดับโลก ขอเพียงแค่ลูกมีความสุข เรามีความสุข และใช้ชีวิตทุกวันไปทีละเสต็ปได้ก็โอเคแล้ว
:: ลูกต้องการพ่อแม่ที่มีอยู่จริง ::
จะมีเด็กคนหนึ่งพ่อแม่ต้องดูความพร้อมเรื่องสุขภาพกาย สุขภาพจิต เราพร้อมไหมที่จะสละเวลาเพื่อเขา รายได้บางส่วนจะลดลงจะจัดการอย่างไรต้องคุยกับคู่ชีวิตให้ดี ไม่ใช่เราอยากมีคนเดียวแล้วคู่ชีวิตไม่อยากจะมีปัญหา
ถ้าพ่อแม่ไม่พร้อมเรื่องเวลา ลูกจะมองว่าพ่อแม่ไม่มีอยู่จริง สอนอะไรลูกก็ไม่ฟัง ลูกพร้อมจะฟังพี่เลี้ยงหรือปู่ย่าตายายมากกว่า พ่อแม่ก็ต้องทำใจ การเป็นพ่อแม่เป็นงานตลอดชีวิต ต่อให้ลูกไม่ได้ต้องการเราทุกวัน แต่พอมีปัญหาเขาก็ต้องการเราอยู่ดี ถ้าพ่อแม่มีอยู่จริงในวัยเด็กของเขา พอเป็นวัยรุ่นเขาจะหันหน้ามาหาเราในวันที่เขาต้องการคนที่สามารถปรึกษาได้
ลูกต้องการพ่อแม่ที่มีอยู่จริงก่อนจะไปเรียนรู้โลก เด็กจะกล้าก้าวขาลุกตั้งไข่เมื่อรู้ว่ามีคนคอยพยุงอยู่ด้านหลัง พ่อแม่ที่มีอยู่จริงทำให้ลูกกล้าเผชิญโลก กล้าเดินในวัยที่ต้องเดิน กล้าพูดคุย กล้ารับฟังคนอื่น พ่อแม่ต้องมีเวลาคุณภาพให้ลูก ไม่ใช่มีเวลาแต่นั่งเล่นมือถือ ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับลูก เล่นกับเด็กไม่เป็นก็ลองนอนกอดลูก กล่อมลูก จูงเขาเดินเล่น
ถ้าพ่อแม่ไปทำงาน ต้องฝากลูกไว้กับปู่ย่าตายายหรือเนอสเซอรี่ อย่างน้อยหนึ่งวันต้องมี 30 นาทีหรือ 1 ชั่วโมงชดเชยให้ลูกรู้สึกว่าเรามีตัวตนทุกวัน ไม่ใช่ชดเชยแค่เสาร์อาทิตย์ เหมือนเราไม่กินข้าวเช้าและกลางวัน จะกินมื้อเย็นชดเชยมื้อเดียวไม่ได้
:: รัฐต้องกระจายคุณภาพโรงเรียนให้ใกล้เคียงกัน ::
เรื่องการสอบเข้าป.1 ภาครัฐควรดูแลการกระจายคุณภาพให้ทุกโรงเรียนใกล้เคียงกัน แต่เรื่องนี้ยังเป็นความฝันของเรา เพราะถ้าจะลดการสอบก็ไม่ได้หมายความว่าพ่อแม่จะให้ลูกเข้าโรงเรียนไหนก็ได้ ถ้าคุณภาพโรงเรียนไม่เท่ากัน
แล้วโรงเรียนมีทางเลือกอะไรได้บ้าง แต่ละโรงเรียนอาจใช้หลักสูตรกระทรวงคล้ายกัน แต่น่าจะมีแนวทางไม่เหมือนกัน พ่อแม่ควรมีเวลามาดูแนวคิดโรงเรียน ทำกิจกรรมร่วมกับโรงเรียน อาจมีอบรมผู้ปกครองที่มาซื้อใบสมัครให้เข้าใจว่าโรงเรียนเหมาะกับลูกไหม และอยากให้เน้นสัมภาษณ์ผู้ปกครองเป็นหลัก ส่วนเด็กใช้การทดสอบแทน เช่น การช่วยเหลือตัวเอง การกินข้าว อาบน้ำ แต่งตัว ให้ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนว่าสนองตอบอย่างไร และการสอบไม่ควรมุ่งไปที่การจัดอันดับเด็ก แต่ทำเพื่อดูว่าโรงเรียนจะเติมเต็มอะไรให้เด็กคนนี้ได้บ้าง สุดท้ายอาจต้องจับสลาก ดูคิวที่มาสมัคร ดูระยะทางบ้าน บางคนกังวลจะมีใต้โต๊ะ แต่เรื่องนี้ต้องแก้ปัญหาทั้งระบบ โรงเรียนต้องร่วมด้วยช่วยกัน