fbpx

“ผมปวด…แต่ไม่อยากไปห้องน้ำ” ทำความรู้จักนิสัยการเข้าส้วมของเด็กญี่ปุ่น

เรื่องของห้องน้ำ เชื่อว่ามีผู้คนไม่น้อยที่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขนิสัยเรื่องการเข้าห้องน้ำ ใครไม่มีปัญหาคงไม่ค่อยเข้าใจ ยิ่งเป็นเด็กเล็กด้วยแล้ว บอกได้คำเดียวว่าน่าสงสาร…

มีข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับการเข้าห้องน้ำ ‘ปลดทุกข์หนัก’ ของเด็กนักเรียนชั้นประถมในญี่ปุ่น องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ‘สถาบันวิจัยห้องน้ำแห่งญี่ปุ่น’(日本トイレ研究所)มีสำนักงานอยู่ที่โตเกียว ได้ทำการสำรวจเกี่ยวกับการเข้าห้องน้ำ ‘ปลดทุกข์หนัก’ ของนักเรียนชั้นประถม พบว่ามีจำนวนไม่น้อยที่ ‘แม้รู้สึกปวด…แต่ก็กลั้นไว้’  เป็นเช่นนี้ต่อเนื่องเป็นประจำ จนเป็นสาเหตุของ ‘ท้องผูก’(便秘)

ผลการสำรวจเด็กนักเรียนชั้นประถม 1-6 จำนวน 1,000 คน โดยการสอบถามเด็กร่วมกับผู้ปกครอง ระหว่างวันที่ 9-10 พฤศจิกายน 2022  พบว่า เด็กชายประมาณ 10%  มีอาการ ‘ท้องผูก’ แล้ว

สถาบันวิจัยห้องน้ำแห่งญี่ปุ่นให้คำจำกัดความของอาการ ‘เริ่มท้องผูก’ หากพบ 2 อาการดังต่อไปนี้  

  • ถ่าย ‘หนัก’ น้อยกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์ 
  • มี ‘อุนจิ’ (うんち)เล็ดเปื้อนกางเกงใน (เพราะกลั้นไม่อยู่…)   
  • กลั้น ‘อึ’ บ่อยๆ แม้รู้สึกอยากถ่าย
  • ‘อึ’ แข็ง จนรู้สึกเจ็บ แสบ ตอนเบ่งเวลาถ่าย
  • มีเลือดออกเวลาถ่าย
  • ถ้าถ่ายออกมาได้ ก็จะมีปริมาณ ‘อุนจิ’ มากจนส้วมอาจจะตันเลยทีเดียว

ผลสำรวจพบว่า มีเด็ก 9.9% ‘ท้องผูก’ และ 10.2% ‘เริ่มท้องผูก’  ที่น่าสนใจคือ จากการสำรวจ ได้พบความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกันระหว่างการ ‘กลั้นอึ’ กับอาการ ‘ท้องผูก’ อย่างมีนัยสำคัญ จากคำถามว่า ‘หนูเคยกลั้นอึที่โรงเรียนหรือไม่’ เด็กที่ยังไม่มีอาการท้องผูก มีเพียง 4.7% ที่ตอบว่า ‘บ่อยๆ’  33.1% ‘บางครั้ง’ เมื่อรวมกันแล้วมีราว 40% แต่หากเปรียบเทียบกับเด็กที่จัดว่ามีอาการท้องผูกแล้ว ตอบว่า ‘บ่อยๆ’  38.4% ‘บางครั้ง’ 43.4% โดยรวมแล้วสูงถึง 81.8% ทีเดียว

ทีนี้มาหาสาเหตุว่าทำไมหนูๆ จึงกลั้นอึ? ให้ตอบได้หลายข้อกันเลย คำตอบที่มากที่สุดคือ ‘ไม่อยากให้เพื่อนรู้ อายเพื่อน’ 26.5% อันดับต่อมา 22.2% ‘รู้สึกว้าวุ่นใจ  ไม่ชิน ไม่คุ้นสถานที่’ (ข้อนี้หลายคนคงเข้าใจ)  22% ‘ใช้เวลานาน ทำธุระยังไม่เสร็จดี ก็หมดเวลาพักแล้ว’ (ข้อนี้น่าเห็นใจ) 15% ‘ถูกเพื่อนล้อ’ เป็นต้น 

นอกจากนี้ยังมีคำตอบว่า ‘ห้องน้ำสกปรก’ 12.9% ‘ห้องน้ำมีกลิ่น’ 10.5% และ 9.1% บอกว่า ‘ใช้ส้วมแบบญี่ปุ่นไม่ถนัด’ สำหรับข้อสุดท้ายนี้กลายเป็นปัญหาระดับชาติเลย

ส้วมแบบญี่ปุ่น(和式便器)เป็นอย่างไร? ทำไมเด็กๆ จึงใช้ไม่ถนัด? 

ส้วมแบบญี่ปุ่นเป็นส้วมแบบนั่งยองๆ  ปัจจุบันที่พบเห็นกัน เป็นแบบกดชักโครกเมื่อเสร็จธุระแล้ว มีรูปร่างลักษณะเหมือนส้วมซึมแบบตักน้ำราดของไทยเรา ซึ่งเป็นลักษณะแบบเดียวกันกับอีกหลายประเทศในแถบเอเชียอาคเนย์ แต่ของญี่ปุ่นมีความพิเศษเล็กน้อย คือมีส่วนโค้งสูงขึ้นมาเป็นเหมือนกระบัง โอบล้อมเหนือส่วนที่เป็นคอห่าน เป็นที่สงสัยถกเถียงกันในหมู่คนญี่ปุ่นปัจจุบันว่า การใช้ที่ถูกต้องนั้น ควรหันหน้าไปทางกระบังนี้หรือหันหลังให้ดี? มีหลายเหตุผล บ้างก็คำนึงถึง ‘ของหนัก’ ที่ปล่อยลงมา บ้างก็ว่าตั้งแต่โบราณมากระบังที่ว่านี้ไว้ใช้พักชายเสื้อไม่ให้หล่นลงมา เป็นต้น บริษัทสุขภัณฑ์เคยเฉลยว่า ต้องหันหน้าไปทางกระบัง แต่ในที่สุดก็สรุปกันว่าหันไปทางไหนก็ได้ ขอเพียงช่วยกันรักษาความสะอาดก็พอ

ส้วมแบบญี่ปุ่น

ตั้งแต่ราวปี 1914 ญี่ปุ่นเริ่มผลิตส้วมนั่งยองๆ แบบนี้ใช้ในประเทศ ทุกบ้านใช้กันแพร่หลายเพราะราคาไม่แพง ทำความสะอาดง่าย ยิ่งพื้นห้องน้ำเป็นกระเบื้องด้วยแล้ว ขัดพื้นห้องน้ำไปพร้อมกันได้เลย ส่วนส้วมนั่งแบบตะวันตกนั้น นำเข้ามาใช้ในหมู่ชาวตะวันตกที่อยู่ในญี่ปุ่นแล้วตั้งแต่สมัยเมจิในศตวรรษที่ 19

ต่อมาราวทศวรรษ 1960 คนญี่ปุ่นก็เริ่มใช้ส้วมแบบนั่งและใช้ชักโครกตามแบบตะวันตกบ้าง จนใช้กันอย่างแพร่หลายในบ้านทั่วไป ทั้งนี้เป็นเพราะสมาคมบ้านอยู่อาศัยแห่งญี่ปุ่น(日本住宅公団)ริเริ่มนำสุขภัณฑ์แบบตะวันตก(洋式便器)เข้ามาแนะนำลูกค้า บ้านไหนที่ปรับปรุงบ้าน ก็มักจะพ่วงการปรับปรุงห้องน้ำเป็นแบบตะวันตกไปด้วย กรรมวิธีไม่ยุ่งยากเมื่อเทียบกับความสะดวกสบายที่จะได้รับ เพียงปรับวางโถสุขภัณฑ์ลงในตำแหน่งเดิมเท่านั้น  

ในปี 1963 ยอดขายส้วมนั่งยองๆ แบบญี่ปุ่นของบริษัทสุขภัณฑ์ชื่อดังยังมีสัดส่วนการขาย 83% แต่อีกเกือบ 30 ปีต่อมาคือ ปี 1990 ยอดขายลดลงเหลือ 18% เมื่อล่วงเข้าปี 2015 ยอดขายก็ลดฮวบลงเหลือเพียง 0.7% เท่านั้น แต่ก็ยังไม่ได้หยุดการผลิตเสียทีเดียว ยังมีให้หาซื้อได้

ปัจจุบันบ้านอยู่อาศัยกว่า 90% หันมาใช้สุขภัณฑ์แบบตะวันตก มีการเพิ่มฟังก์ชันการใช้งานให้สะดวกสบายแก่ผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นปุ่มฉีดล้างหลังเสร็จธุระ เลือกลักษณะละอองน้ำ ปุ่มปรับความแรงและอุณหภูมิของน้ำ ปรับอุณหภูมิของที่รองนั่งให้อุ่นสบายเมื่อใช้ในฤดูหนาว เพียงเลือกกดปุ่มบนแผงข้างที่รองนั่งเท่านั้น และมีการพัฒนาให้ประหยัดน้ำมากขึ้น จากรุ่นเดิมๆใช้น้ำครั้งละ 20 ลิตร จนปัจจุบันใช้เพียง 6 ลิตร หรือบางผลิตภัณฑ์ใช้น้ำ 3.2 ลิตร สำหรับธุระเบา และ 3.8 ลิตรสำหรับธุระหนัก เป็นต้น อีกทั้งรูปร่างลักษณะของสุขภัณฑ์ก็ดูสะอาด งามตา

สุขภัณฑ์แบบตะวันตกนี้จึงเป็นที่นิยม ใช้ได้กับทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับหญิงมีครรภ์และผู้สูงอายุ ลุกนั่งยองๆ ไม่สะดวก ปวดเมื่อยเข่าและสะโพก เกือบทุกครัวเรือนจึงหันมานิยมใช้กัน ส้วมแบบญี่ปุ่นจึงเหลือให้เห็นเพียงห้องน้ำสาธารณะ ห้างสรรพสินค้าบางแห่ง และตามโรงเรียนต่างๆ เป็นต้น เพราะคำนึงถึงสุขอนามัยของการใช้ต่อจากคนก่อนหน้า ไม่ให้ต้องสัมผัสผิวเนื้อ แต่อันที่จริงแล้วตามห้องน้ำสาธารณะเมื่อลงนั่งยองๆ ก็ใกล้ชิดกับรองเท้าที่เปื้อนบนพื้นห้องน้ำ และพบว่ามีการฟุ้งกระจายของเชื้อโรคจากของเสียมากกว่าส้วมแบบตะวันตกหลายเท่าจนน่าตกใจ

นายอัทสึชิ คาโต้ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยห้องน้ำแห่งญี่ปุ่น ให้ข้อมูลว่าโรงเรียนประถมทั่วประเทศราว 40% ยังคงใช้ส้วมแบบนั่งยองๆ อยู่ ในปี 2020 จากการสำรวจของกระทรวงศึกษาและวิทยาศาสตร์(文部科学省)โรงเรียนประถมส่วนใหญ่จำนวนเกินกว่าครึ่งหนึ่งคือราว 57% เปลี่ยนมาใช้ส้วมนั่งแบบตะวันตกแล้ว เพิ่มขึ้นจากเดิม 13.7% เมื่อห้องน้ำที่บ้านกับที่โรงเรียนไม่เหมือนกัน จึงมีเด็กเล็กจำนวนมากที่ต้องเผชิญกับความเครียดในการใช้ห้องน้ำที่ตัวเองไม่คุ้นชิน ไม่เหมือนกับที่เคยใช้ที่บ้าน จึงนำมาสู่การ ‘กลั้นอึ’ ที่โรงเรียน อยากรีบกลับไป ‘ทำธุระส่วนตัว’ ที่บ้านนั่นเอง (โถๆๆๆ)

เด็กที่ใช้ส้วมแบบญี่ปุ่น ‘ไม่ได้เลย’ มีถึง 27% เมื่อแยกระหว่างเด็กชายและเด็กหญิง พบว่าเป็นเด็กชายมากกว่า คือ 33% เด็กหญิง 19% ส่วนเด็กที่ตอบว่า ‘รู้สึกต่อต้าน แต่ก็ใช้ได้’ เป็นเด็กชาย 47% เด็กหญิง 55% แสดงว่าเด็กหญิงปรับตัวได้ง่ายกว่ากระมัง? มีเด็กอีกจำนวนหนึ่งที่ปรับตัวได้ดีมาก ตอบว่า ‘ไม่รู้สึกอะไร ใช้ได้ทั้งนั้น’ เป็นเด็กชาย 19% เด็กหญิง 26%    

สรุปโดยรวมว่า เด็กชายญี่ปุ่น 1 ใน 3 คน ใช้ส้วมแบบญี่ปุ่นไม่ได้ แปลความได้ว่าคงเกิดมาในครอบครัวที่มีความเป็นอยู่แบบตะวันตก มีความสะดวกสบายเพียบพร้อม ไม่รู้จักของใช้แบบญี่ปุ่นเสียแล้ว ฝ่ายพวกอนุรักษนิยมยกข้อดีของสุขาแบบญี่ปุ่นว่า การฝึกให้เด็กๆ ใช้ จะช่วยฝึกกล้ามเนื้อขาและสะโพกให้แข็งแรง ลุกนั่งคล่องแคล่วตั้งแต่เล็กๆ ทีเดียว

กระทรวงศึกษาและวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นรับทราบปัญหานี้  อีกทั้งใส่ใจและเห็นความสำคัญเกี่ยวกับสุขนิสัยในการขับถ่ายของเด็กนักเรียน ในปี 2020 จึงให้นโยบายเร่งเปลี่ยนสุขภัณฑ์ในห้องน้ำของโรงเรียนรัฐให้เป็นแบบตะวันตกให้ได้ 90% โดยจัดงบประมาณให้เงินช่วยเหลือด้วย

นายคาโต้ ผู้อำนวยการสถาบันฯ ให้ความเห็นว่า ไม่ใช่เพียงแค่เปลี่ยนเป็นสุขภัณฑ์เป็นแบบตะวันตกแล้วปัญหาทั้งหลายเรื่องการขับถ่ายของเด็กๆ จะหมดไป ถ้าบรรยากาศในห้องน้ำและความสะอาดในห้องน้ำไม่ชวนให้เข้าไป เด็กๆ ก็ยังคงทนกลั้น ‘การปลดทุกข์’ ต่อไป ผู้ใหญ่ต้องใส่ใจฝึกนิสัยเด็กๆ ให้ช่วยกันรักษาความสะอาดของห้องน้ำ เพื่อให้แต่ละคนสะดวกใจเวลาใช้ห้องน้ำร่วมกันกับผู้อื่นด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาฝึก ไม่เหมือนการเปลี่ยนสุขภัณฑ์ที่ใช้เพียงงบประมาณเท่านั้น

กระทรวงศึกษาและวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นยังได้รับรายงานผลจากการเปลี่ยนสุขภัณฑ์เป็นแบบตะวันตกในหลายๆ โรงเรียนว่า เด็กนักเรียนที่รู้สึกไม่สบาย เจ็บป่วยจากผลของการ ‘กลั้นอึ’ มีจำนวนลดลง นอกจากนี้จำนวนนักเรียนที่ขออนุญาตครูกลับบ้านก่อนเลิกเรียน (เพื่อรีบไปปลดทุกข์ที่บ้าน) ก็มีจำนวนลดลง เรื่องนี้ผู้ใหญ่น่าจะพยายามเข้าใจความทุกข์ของเด็กๆ ด้วย สำหรับเด็กเล็ก การกลั้นอึเพราะรังเกียจห้องน้ำที่ไม่เคยชินหรือเพราะไม่สะอาด ย่อมก่อให้เกิดความไม่สบายท้องไม่สบายตัวนั้น ไม่ต่างกับเวลาหิว แต่ถูกบังคับให้กินของที่ไม่ชอบหรือกินไม่ได้ ต้องทนฝืนเช่นกัน

ปี 2013 องค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดให้ทุกวันที่ 19 พฤศจิกายน เป็น ‘วันห้องน้ำโลก’ (世界トイレデー)เพื่อกระตุ้นเตือนให้ผู้คนรักษาสุขอนามัยและสุขนิสัยในการใช้ห้องน้ำเพื่อสุขภาพอันดีด้วย  

ถึงตรงนี้… จะมีใครใส่ใจเรื่องห้องน้ำของเด็กประถมไทยตามโรงเรียนในชนบทบ้าง ไม่ต้องเอาสุขภัณฑ์แบบตะวันตกหรอก แบบนั่งยองๆ ของไทยนี่แหละ

แค่มีห้องน้ำสะอาด น่าใช้ อย่างเพียงพอเท่านั้น…

“ครูครับ ผมขอไปห้องน้ำ…ครับ”

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save