fbpx

เปลี่ยน ‘วิชาแนะแนว’ แบบ one size fits all สู่บริการให้คำปรึกษาที่ตอบโจทย์เส้นทางอนาคตของเด็กทุกกลุ่ม

แม้โลกใบนี้จะขับเคลื่อนด้วยคนหลากหลายอาชีพ แต่การจะตอบคำถามที่ว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร” ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เงื่อนไขชีวิต เวลา และทรัพยากรทางสังคมย่อมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการกลั่นกรองคำตอบสำหรับคำถามนี้

แต่สำหรับเด็กในไทย การหาคำตอบนี้อาจจะยากกว่านั้น เพราะดูเหมือนว่าการบริการข้อมูลเพื่อเป็นตัวเลือกมองเส้นทางอนาคตในไทยไม่ได้ขยายกว้างอย่างที่เด็กหลายคนฝัน หรืออยากจะฝัน

หลายคนเคยผ่านห้องเรียนแนะแนวมาก่อน ย่อมมีประสบการณ์ตรง ไม่ว่าจะการได้รับข้อมูลจำกัด มีเพียงไม่กี่อาชีพที่ได้รับการสนับสนุนด้านข้อมูล หรือที่หนักกว่านั้นวิชานี้อาจกลายเป็นชั่วโมงว่างที่เอาไว้ทำงานวิชาอื่น

แต่ปัญหาการแนะแนวอาชีพในไทยไม่ได้อยู่แค่ในวิชาเรียน เพราะเมื่อนึกถึงเด็กในกลุ่มอื่นๆ เช่น เด็กสายอาชีพ หรือแม้กระทั่งเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้าตลาดแรงงานอย่างรวดเร็ว พวกเขาแทบเข้าไม่ถึงข้อมูลเหล่านี้เพื่อมองหาเส้นทางในอาชีพตัวเองได้มากนัก

การหาทางออกในเรื่องนี้จึงไม่ได้ทำความเข้าใจเพียงแค่ว่าเกิดอะไรขึ้นภายใต้วิชาแนะแนวในโรงเรียน แต่มองไปถึง ‘ระบบการแนะแนวอาชีพ’ ในไทย อะไรคือสิ่งที่หน่วยงานต่างๆ ลงมือทำและต้องลงมือทำ ภายใต้โจทย์การสนับสนุนเส้นทางอนาคตที่เยาวชนต้องการและสอดคล้องไปพร้อมกับตลาดแรงงาน

101 ชวนสำรวจระบบการแนะแนวอาชีพในไทยผ่านงานวิจัย Mapping of career guidance services โดย UNICEF Thailand เพื่อสร้างการแนะแนวอาชีพให้เยาวชนไทยสามารถตอบคำถามได้ว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร” 

มองภาพใหญ่การแนะแนวอาชีพที่ไม่ได้มีแค่ในวิชาแนะแนว

หากมองในเชิงโครงสร้าง วิชาแนะแนวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการแนะแนวอาชีพในไทย ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ พ้นไปจากห้องเรียนนี้ การจัดการระบบแนะแนวอาชีพในไทยประกอบด้วยหลากหลายรูปแบบและมีหลายหน่วยงานที่ดูแล 

“หน่วยงานหลักๆ ที่ดูก็จะแบ่งได้เป็นสามส่วนคือ ภาครัฐ อย่างกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจะรับผิดชอบในส่วนของเด็กที่อยู่ในโรงเรียน ส่วนกระทรวงแรงงานจะดูแลกำลังแรงงานทั่วไป ในขณะเดียวกันเด็กที่อาจจะไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาก็สามารถใช้บริการของกระทรวงแรงงานได้ ส่วนที่สองคือภาควิสาหกิจเพื่อสังคมและองค์กรภาคประชาสังคมที่ตั้งขึ้นมาแนะแนวอาชีพให้เด็ก ส่วนที่สามคือ ภาคเอกชนที่ดำเนินโครงการเพื่อสนับสนุนด้านอาชีพ” วิลสา พงศธร เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาวัยรุ่นและการมีส่วนร่วมจาก UNICEF ประเทศไทย ผู้ร่วมจัดทำวิจัย Mapping of career guidance services ให้ข้อมูล

บริการแนะแนวอาชีพเป็นสิทธิที่รัฐระบุไว้ในแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติปี 2560-2579 และแผนแม่บทพัฒนาแรงงานปี 2560-2564 โดยหน่วยงานรัฐที่มีส่วนรับผิดชอบตามแผนเหล่านี้จะทำงานภายใต้จุดประสงค์สามทางคือ หนึ่ง-เตรียมพร้อมและพัฒนาแรงงานให้มีประสิทธิภาพให้กับภาคการจ้างงาน 10 สาขาหลัก สอง-เพิ่มจำนวนนักเรียนสายอาชีพเมื่อเทียบกับนักเรียนสายสามัญทุกๆ 5 ปี ระหว่างปี 2560-2579 เพื่อให้ตอบโจทย์กับสาขาอาชีพที่ต้องการในตลาดแรงงานของประเทศ สาม-ออกแบบและขยายคำจำกัดความของการเรียนรู้เป็น ‘การเรียนรู้ตลอดชีวิต’ และ ‘การเรียนรู้ด้วยตนเอง’

ตามหลักการนี้ มีสองหน่วยงานรัฐที่เป็นแกนหลักในการบริการแนะแนวอาชีพ คือ กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงแรงงาน โดยกระทรวงศึกษาธิการดูแลเด็กในระบบการศึกษาตั้งแต่วัยอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งมีจำนวนประมาณ 12 ล้านคน รวมทั้งเด็กสัญชาติไทยและเด็กต่างสัญชาติที่อาศัยในไทย นอกจากนี้ ยังดูแลอบรมครูแนะแนวหรือผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยสังคมไทยมีโรงเรียนหลากหลายรูปแบบ ทำให้การจัดแนะแนวอาชีพแตกต่างกันไปตามทรัพยากร ความสามารถ แหล่งข้อมูลของโรงเรียน อย่างเช่น โรงเรียนเอกชนสามารถออกแบบโปรแกรมได้อย่างอิสระ โดยไม่ต้องขึ้นกับหลักสูตรของรัฐ

ในขณะที่กระทรวงแรงงานให้บริการครอบคลุมตั้งแต่เด็กในระบบการศึกษา เด็กนอกระบบการศึกษา เยาวชนผู้พิการ ไปจนถึงเด็กในสถานพินิจ และอื่นๆ ผ่านสำนักงานแรงงานจังหวัด และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยมีคู่มือการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน การบริการแนะแนวอาชีพของกรมการจัดหางาน และคู่มือการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน: กระบวนการช่วยให้ผู้รับบริการแนะแนวรู้ทิศทางตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นคู่มือสำหรับเจ้าหน้าที่และผู้ให้บริการแนะแนวอาชีพ นอกจากนี้ยังมีเว็บไซต์ให้บริการด้านการแนะแนวอาชีพบริการด้วย แต่ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากนัก

อีกหนึ่งหน่วยงานที่เป็นกำลังสำคัญในการแนะแนวอาชีพ คือสถาบันพัฒนาคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งเป็นองค์กรราชการในสังกัดของสำนักนายกรัฐมนตรี มีบทบาทในการพัฒนาและสนับสนุนระบบคุณวุฒิวิชาชีพ สนับสนุนการจัดตั้งวิชาชีพต่างๆ และรับรองความสามารถตามมาตรฐานวิชาชีพ เป้าหมายของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพครอบคลุมตั้งแต่กลุ่มคนทำงานหลากหลายวัย กลุ่มเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา เยาวชนทั่วไปที่กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงาน เยาวชนในสายการเรียนอาชีพ 

“อย่างล่าสุดสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพพัฒนาแพลตฟอร์มชื่อ e-workforce ecosystem (EWE) แพลตฟอร์มนี้เกิดขึ้นภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศ เป้าหมายคือเป็นพื้นที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์แรงงานทั้งหมด ถ้าใครเข้าไปดูจะเห็นว่าสามารถทำได้ทุกอย่าง ตั้งแต่ทำ e-portfolio ทำแบบประเมินตัวเองว่าเราเหมาะกับอะไร  job matching ในตลาดแรงงาน มีการเทรนด์ในออนไลน์ เป็นเป้าหมายของสถาบันฯ ที่อยากทำให้เกิดศูนย์รวมข้อมูล” วิลสาให้ข้อมูล

นอกไปจากหน่วยงานรัฐ องค์กรที่มีบทบาทสำคัญต่อการแนะแนวอาชีพในไทยอย่างมากคือ กิจการเพื่อสังคมและภาคประชาสังคม ซึ่งได้รับความสนใจจากเยาวชนในวัยเตรียมตัวก่อนเข้ามหาวิทยาลัยอย่างมาก โดยมีบริการแนะแนวทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ ซึ่งรวมไปถึงการให้คำแนะนำผ่านโซเชียลมีเดีย ทำให้เข้าถึงเยาวชนที่สนใจแนะแนวอาชีพได้ง่าย บางองค์กรยังมีโปรเจกต์เวิร์กช็อปครูแนะแนวร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม กิจกรรมบางอย่างขององค์กรเอกชน เช่น การเข้าค่ายแนะแนวอาชีพ หรือการปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญอาชีพนั้นๆ อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

เห็นได้ชัดว่า ภาพรวมสังคมไทยประกอบด้วยหลายหน่วยงานที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการแนะแนวอาชีพ โดยแต่ละหน่วยงานมีกรอบแนวทางที่ยึดถือชัดเจน แต่เพราะอะไรการแนะแนวอาชีพในไทยยังไม่ตอบโจทย์ต่อสังคมและเยาวชนมากนัก?

คุณภาพการแนะแนวอาชีพไทยที่ยังอยู่ในระบบ One size fits all 

แม้ในเชิงโครงสร้าง การแนะแนวอาชีพในไทยจะกระจายตัวอยู่หลายหน่วยงาน และให้บริการครอบคลุมหลากหลายกลุ่ม แต่จากงานวิจัย Mapping of career guidance services พบว่าในเชิงคุณภาพ การแนะแนวอาชีพในไทยยังมีปัญหา โดยเฉพาะในเชิงนโยบาย แม้ว่ากระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงแรงงานจะให้หน่วยงานระดับจังหวัดจัดการแนะแนวอาชีพตามสถานการณ์และบริบทของแต่ละจังหวัด แต่ก็ต้องปฏิบัติตามนโยบายกระทรวงแรงงานที่ต้องการเพิ่มแรงงานใน 10 สาขาอาชีพในไทย (อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ, การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ, อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร, อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม, อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์, อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ,อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร)[1]  

นอกจากนี้จะต้องปฏิบัติตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการในแผนการศึกษาระดับชาติ ปี 2560-2579 เพื่อเพิ่มการลงทะเบียนเรียนสายอาชีวศึกษาและให้ตรงกับตัวชี้วัดในคู่มือการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน การบริการแนะแนวอาชีพของกรมการจัดหางาน ซึ่งส่งผลให้สำนักงานจัดหางานหรือกลุ่มการแนะแนวอาชีพในโรงเรียนมีข้อจำกัดในการจัดกิจกรรมที่อยู่นอกเหนือไปจากนโยบายได้ ส่งผลให้เกิดข้อจำกัดในทางเลือกของเยาวชนตามไปด้วย

ยังไม่นับว่าด้วยงบประมาณอันจำกัด กิจกรรมโดยส่วนใหญ่ที่ภาครัฐจัดให้บริการแนะแนวอาชีพจึงเป็นกิจกรรมขั้นพื้นฐาน  เช่น การประเมินทักษะ ข้อมูลอาชีพ การให้คำปรึกษาอาชีพ โดยเยาวชนจะได้เข้าร่วมผ่านชั้นเรียนวิชาแนะแนวปีละ 10-15 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม การให้บริการแนะแนวอาชีพในโรงเรียนก็ยังขึ้นอยู่กับขีดความสามารถและทรัพยากรของแต่ละสถาบัน หากโรงเรียนไหนมีทรัพยากรและงบประมาณเพียงพออาจมีกิจกรรมเรียนรู้อาชีพในสถานที่จริง หรือเชิญวิทยากร ผู้เชี่ยวชาญในอาชีพนั้นๆ มาพูดคุยประสบการณ์กับนักเรียน 

“แน่นอน ถ้าเป็นโรงเรียนของรัฐจะมีปัญหาหลักคือเรื่องบุคลากรไม่เพียงพอ ครูแนะแนวที่เรียนจบมาโดยตรงมีไม่เพียงพอ ทำให้ครูบางคนที่ไม่ได้มีภารกิจหลักเป็นการแนะแนวอาชีพต้องเข้ามาทำงานตรงนี้ แล้วด้วยความที่เขามีภารกิจอื่น เพราะฉะนั้น เราจะเห็นว่าในส่วนของการแนะแนว ครูบางคนก็จะพูดว่า “ถ้าเธอเก่งวิทยาศาสตร์ก็ไปสายวิทย์ สายวิศวะฯ สิ”  “หรือว่าเก่งเลขไปเรียนบัญชี” กลายเป็นว่าให้คำแนะนำอาชีพเดิมๆ ซึ่งอาจจะยังไม่ได้ทันกับอาชีพใหม่ๆ เท่าไหร่ แต่การที่จะให้เขาอัปเดตตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่าตอนนี้เทรนด์อาชีพเป็นยังไง ตลาดแรงงานเป็นยังไงแล้ว ก็ต้องยอมรับว่าเป็นการไปสร้างภาระให้คุณครูด้วยเหมือนกัน” วิลสากล่าว

ปัญหาเรื่องคุณภาพเนื้อหาแนะแนวยังประกอบไปด้วยการขาดแนวทางการศึกษากิจกรรมแนะแนวอาชีพในอนาคต โดยไทยยังขาดการคำนึงถึงพลวัตของอาชีพ และเยาวชนยังไม่ได้รับการส่งเสริมให้พัฒนาความรู้ในตนเองและสร้างวิสัยทัศน์ของชีวิตในอนาคต ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของการแนะแนวอาชีพ นอกจากนี้ยังขาดการให้ข้อมูลสิทธิและสวัสดิการแรงงาน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กนอกระบบการศึกษา ซึ่งต้องเข้าตลาดแรงงานรวดเร็ว แต่ไม่ได้รับข้อมูลในสิทธิการทำงานมากเพียงพอ

แต่ปัญหาใหญ่ที่สุดที่ไทยยังคงขาดการจัดทำข้อมูลอย่างเป็นระบบเพื่อส่งต่อให้ผู้ใช้บริการ คือข้อมูลเชิงลึกของความต้องการแรงงาน แนวโน้มของตลาดแรงงาน และแนวโน้มของธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันจัดทำโดยกระทรวงแรงงาน สำนักงานสถิติแห่งชาติ กรมการจัดหางาน และสถาบัน TDRI แต่ยังเป็นชุดข้อมูลทางวิชาการที่ตอบโจทย์ให้กับผู้กำหนดนโยบายมากกว่าผู้ใช้บริการทั่วไป ไทยจึงยังไม่มีองค์กรที่จัดการข้อมูลเรื่องตลาดแรงงานที่ทำให้คนเข้าถึงได้ง่าย

“ถ้าเราเจาะไปในเรื่องคุณภาพเนื้อหา อีกอุปสรรคหนึ่งคือการเหมารวมทางเพศ หลายครั้งการแนะแนวอาชีพในไทยส่วนใหญ่มองว่างานบางอย่างเหมาะกับเพศ เช่น งานในกลุ่ม STEM เป็นของผู้ชาย งานนี้ไม่ใช่งานของผู้หญิง ซึ่งทำให้เกิดการปิดกั้น เราอาจจะต้องยอมรับว่าแม้สังคมจะพูดคุยเรื่องความเสมอภาคทางเพศ แต่ก็ยังมีการเหมารวมเรื่องนี้ในการแนะแนวอาชีพอยู่” 

“อีกเรื่องคือ หลักสูตรของการแนะแนวที่เราพบยังขาดความละเอียดอ่อนในเรื่องของวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน หรือยังขาดความละเอียดอ่อนในประเด็นผู้พิการหลายครั้งเราอาจจะลืมคำนึงถึงข้อจำกัดทางวัฒนธรรมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนั้น คุณภาพของหลักสูตรจะต้องมีความยืดหยุ่นเข้าใจในความต้องการหลากหลายในกลุ่มของผู้ใช้บริการ แต่สิ่งที่เราพบคือหลักสูตรแนะแนวบ้านเราในภาพรวมยังเป็นระบบ one size fits all อยู่”  

ในขณะที่องค์กรเอกชนที่จัดบริการแนะแนวอาชีพจะเน้นความต้องการของผู้เข้ารับบริการเป็นหลัก ตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ Admission Premium โดย UPBEAN รวบรวมข้อมูลความต้องการผ่านการเข้ามามีส่วนร่วมของเยาวชนในเว็บไซต์ดังกล่าว และค้นหาว่าอะไรคือข้อมูลที่เยาวชนต้องการ เช่น ความเป็นไปได้ในการเข้ามหาวิทยาลัย, ข้อมูลอาชีพ และแนวโน้มของตลาดแรงงาน โดย UPBEAN ได้ออกแบบกิจกรรมผ่านความต้องการเหล่านี้ ทำให้ตอบโจทย์ความต้องการของเยาวชนและมีข้อมูลที่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน จึงเป็นที่มาที่หลายโปรแกรมของภาคกิจการเพื่อสังคมเป็นที่นิยมในหมู่เยาวชนมากกว่าของภาครัฐ

หัวใจสำคัญของการแนะแนวอาชีพ คือการสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วน

เราจะแก้ปัญหาระบบแนะแนวแบบ one size fits all ได้อย่างไร วิลสาในฐานะผู้จัดทำงานวิจัย Mapping of career guidance services มองว่า หัวใจสำคัญของการออกแบบการแนะแนวอาชีพในไทย คือการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของเยาวชนผู้รับบริการ แต่หากมองในเชิงระบบ แม้จะมีหลายองค์กรจัดทำบริการนี้ แต่ก็ยังขาดการประสานงานทั้งในเชิงข้อมูลและการปฏิบัติการ แม้จะมีความพยายามเชื่อมต่อกันบ้าง แต่ก็เกิดขึ้นตามวาระโอกาสของโครงการระยะสั้น โดยยังไม่มีการวางแผนร่วมมือกันในระยะยาวมากนัก

“ถ้าเรามองในเชิงระบบ เราอาจจะต้องยอมรับเหมือนกันว่าบ้านเรายังค่อนข้างมีปัญหาในเรื่องของการส่งต่อข้อมูล ในประเทศเรามีหลายโครงการที่พยายามแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน เราใช้คำว่าการบูรณาการความร่วมมือกันเยอะ แต่ในทางปฏิบัติยังไม่ได้เกิดขึ้นมากนัก คำถามคือว่าเราจะทำยังไงให้การประสานงาน อย่างเช่น การถ่ายทอดข้อมูลตลาดแรงงานที่กระทรวงแรงงานทำประจำอยู่แล้ว ส่งต่อข้อมูลให้กับกระทรวงศึกษา เพื่อให้ครูแนะแนวมีข้อมูลเหล่านี้ไปช่วยนักเรียน อันนี้คือการประสานงานที่มีความท้าทาย”

“อีกอันหนึ่งคือ การประสานงานระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เรื่องการแนะแนวอาชีพขาดไม่ได้ที่เอกชนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วม เพราะนายจ้างจะรู้ดีที่สุดว่าต้องการพนักงานแบบไหน  ต้องการคนที่มีทักษะอะไรบ้าง เพราะสิ่งที่เราศึกษาและเจอมาคือ ผู้ประกอบการไม่ได้ต้องการแค่ฮาร์ดสกิล แต่เขาต้องการซอฟต์สกิล เด็กจะต้องสามารถคิดวิเคราะห์ได้ แก้ไขปัญหาได้ ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้”

วิลสามองว่าปัจจุบันการประสานงานของภาครัฐและเอกชนยังเป็นไปตามวาระโครงการต่างๆ มากกว่าการสร้างระบบในระยะยาว อย่างเช่นโครงการที่กิจการเพื่อสังคมหรือภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐ ซึ่งมีกรอบเวลาและงบประมาณจำกัด เมื่อจบโครงการก็จำเป็นต้องยกเลิกกิจกรรมไป “ความท้าทายคือ เราจะทำอย่างไรให้ในประเทศเราเกิดการพูดคุยกัน เกิดการส่งต่อข้อมูลกันอย่างสม่ำเสมอและเป็นระบบ” 

กลุ่มคนสำคัญอีกกลุ่มที่เข้ามามีส่วนร่วมในการประสานงาน คือผู้ปกครอง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามีอิทธิพลต่อการเลือกอาชีพของเยาวชนอย่างมาก การดึงให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมจะช่วยสร้างความเข้าใจและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเลือกเส้นทางในอนาคตของเยาวชนอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม บางโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนจะมีกิจกรรมเชิญผู้ปกครองเข้ามาแนะแนวอาชีพของตนด้วย

“เด็กบางคนอาจจะบอกว่าไม่ได้เลือกด้วยตัวเอง แต่พ่อแม่อยากให้เรียน ซึ่งพ่อแม่อาจจะเชื่อในค่านิยมบางอย่างเกี่ยวกับสวัสดิการและความมั่นคง ถ้าเราสามารถดึงพ่อแม่มามีส่วนร่วมพร้อมเยาวชน ทั้งหมดจะช่วยสามารถทลายค่านิยมและสร้างความเข้าใจได้”

“ส่วนที่สำคัญอีกอย่าง คือการเข้ามามีส่วนร่วมของเยาวชน หลายครั้งเราอาจจะลืมถามความคิดเห็นของพวกเขา เราเห็นว่าภาครัฐมีนโยบายเน้น S-curve หากมีแรงงานด้านนี้เศรษฐกิจจะต้องเติบโตในอนาคต แรงงานด้านนี้เป็นเทรนด์ต่างๆ แน่นอนว่าข้อมูลเหล่านี้จำเป็น แต่เราก็ต้องฟังเสียงจากเยาวชนด้วย เขาอาจจะอยากทำอย่างอื่น หรือบางคนอาจจะอยากมีอาชีพอิสระ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ต้องเสริมให้เขา ถ้าเขาอยากมีอาชีพอิสระ ทักษะไหนบ้างที่เขาจำเป็นต้องมี เช่น การบริหารจัดการการเงิน หรือทักษะอื่นๆ ที่จะช่วยให้เขาดำเนินเส้นทางอาชีพได้” 

“หัวใจสำคัญของการแนะแนว คือการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพราะหลักสูตรจะต้องมีความทันสมัย มีความยืดหยุ่น จึงต้องออกแบบให้อุปทานและอุปสงค์ของทักษะสอดคล้องกัน โดยคำนึงถึงความหลากหลายขอทักษะ วัฒนธรรม เพศ และไม่เฉพาะเจาะจงอาชีพแค่เพียงอุตสากรรมหลักที่ประเทศต้องการ”

บริการแนะแนวอาชีพต้องได้รับการสนับสนุนด้วยงบประมาณและทรัพยากรคน

ปัญหาคลาสสิกของระบบการศึกษาไทย คือการขาดทรัพยากรและงบประมาณที่จะเข้ามาดูแลเยาวชน ในส่วนของการแนะแนวอาชีพยังเชื่อมโยงไปถึงนโยบายที่ให้ความสำคัญต่อบทบาทของวิชาแนะแนว งานวิจัย Mapping of career guidance services พบว่าระบบแนะแนวนักเรียนไม่ได้อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ทำให้การแนะแนวอาชีพมักถูกแยกออกจากนโยบายการศึกษา และส่งผลไปยังระบบหน้าที่ครู ซึ่งมักมองว่าแนะแนวเป็นเพียงวิชาเสริมมากกว่าการผลิตครูแนะแนวที่ผ่านการฝึกด้านจิตวิทยาหรือการแนะแนวอาชีพต่อเยาวชน

“หน้าที่ของครูแนะแนวอาจจะไม่ใช่แค่การบอกว่า เธอเก่งเลขเพื่อไปเรียนบัญชี เธอวาดรูปเก่งไปเรียนด้านศิลปะ แต่การแนะแนวเป็นเรื่องของการสร้างแรงจูงใจด้วย เราจะสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนมองเห็นความเป็นไปได้ในอนาคตได้อย่างไร เข้าใจในศักยภาพของตัวเองในอนาคตได้อย่างไร การจะคุยให้เด็กเข้าใจและสามารถค้นพบตัวเองได้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นแค่วันเดียว เด็กบางคนมีปัญหาเรื่องความมั่นใจ ครูแนะแนวจึงจำเป็นต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เขาด้วย เพราะฉะนั้น ภาระหน้าที่ของครูแนะแนวก็ใหญ่มากเหมือนกัน”

วิลสามองว่าการแนะแนวจึงไม่ใช่แค่การพูดถึงข้อมูลอาชีพเพียงอย่างเดียว แต่คือการสร้างวัคซีนภูมิคุ้มกันให้กับเยาวชนในอนาคต เพราะโลกที่เกิดพลวัตไม่สิ้นสุด ย่อมไม่ได้มีคำตอบของเส้นทางอาชีพตายตัวเท่านั้น และภูมิคุ้มกันนี้จะสร้างได้ คือการสร้างทรัพยากรที่ตอบโจทย์และรองรับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ด้วย

“อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการแนะแนวอาชีพ คือการสอนเรื่องการปรับตัวต่อสถานการณ์ เราจะปลูกฝังให้เขาเป็นคนที่อยากที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างไรเป็นเรื่องสำคัญมากไม่ว่าจะวัยไหนก็จะต้องเรียนรู้อยู่ตลอด เพราะว่าโลกมันเดินไปข้างหน้า สิ่งสำคัญคือต้องให้ข้อมูลไปพร้อมภูมิคุ้มกันและช่วยสร้างความยืดหยุ่นในการปรับตัวด้วย”

“เพราะฉะนั้น ครูแนะแนวเองก็มีหน้าที่สำคัญที่จะต้องบอกเด็กๆ ว่าทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้นะ หนูสนใจอะไรก็ตาม แต่จะต้องปรับตัวได้ ต้องฝึกที่จะสนใจเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา” 

นอกจากทรัพยากรคนแล้ว ปัจจัยสำคัญอีกอย่างที่มีผลต่อการแนะแนวอาชีพในไทยคือ งบประมาณ ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการจัดการระบบและการแนะแนวอาชีพที่ต้องอาศัยการสำรวจข้อมูลอย่างทันสมัย

“แต่ละปีภาครัฐจะวางแผนงบประมาณล่วงหน้า เช่น ปีนี้จะเน้นการแนะแนวเรื่องนี้ มีการวางแผนเป็นขั้นตอน และของบประมาณเป็นรายปี แต่ว่าเทรนด์โลกเปลี่ยนเร็ว เมื่องบประมาณอนุมัติให้ทำกิจกรรมแนะแนวนี้แล้ว แต่เทรนด์อาชีพโลกเปลี่ยนไปแล้ว ก็ส่งผลให้ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ เราเห็นชัดในช่วงโควิด ความต้องการทักษะเปลี่ยนมาสู่ดิจิทัล หรือว่าทุกวันนี้เราพูดเรื่องทักษะสีเขียว แต่ว่าแผนของภาครัฐที่วางไว้แล้วเมื่อปีที่แล้วไม่ได้พูดเรื่องนี้ก็ทำให้เกิดความไม่สอดคล้อง” 

ภายใต้ทรัพยากรอันจำกัดและระบบของงบประมาณ ยูนิเซฟได้ออกแบบโครงการที่ร่วมมือกับสภาพัฒน์เพื่อพัฒนากรอบการดำเนินงานแบบบูรณาการในการแก้ไขปัญหาเยาวชนที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา การทำงาน หรือการฝึกอบรม หรือ กลุ่ม NEET (Not in Education, Employment or Training) 

“การเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มเยาวชนหลุดจากระบบการศึกษา และกลุ่ม NEET เป็นเรื่องท้าทายมาก ตอนนี้ยูนิเซฟกำลังมีโครงการนำร่องที่ดึงหน่วยงานในระดับท้องถิ่น รวมถึงผู้นำชุมชน และอาสาสมัครชุมชนเข้ามาดูแลและแนะแนวเยาวชน NEET เนื่องจากทรัพยากรเรามีน้อย เราจึงคุยกันว่าใครบ้างที่จะเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงให้กับเด็กกลุ่มนี้ได้”

“เราเห็นชัดว่าช่วงโควิด-19 อสม. มีบทบาทสำคัญในแต่ละพื้นที่และใกล้ชิดคนในหมู่บ้านมาก ถ้าเราคุยกับ อสม. ว่าบ้านไหนบ้างที่เด็กอาจจะไม่ได้ไปโรงเรียนแล้ว เพราะเหตุผลอะไร เราจึงพยายามสร้างศักยภาพให้กับบุคคลเหล่านี้ให้เขามาช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้กับเยาวชน โดยเฉพาะในระยะยาว เพราะงานเหล่านี้ต้องอาศัยความต่อเนื่องในการดูแลเด็ก” 

เนื่องจากเงื่อนไขอย่างหนึ่งของการเข้าไปดูแลเด็กนอกระบบคือการสร้างแรงบันดาลใจ วิลสาให้ข้อมูลว่า ปัญหาอย่างหนึ่งของเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาคือ เงื่อนไขในสถานะทางครอบครัวส่งผลให้เด็กขาดแรงบันดาลใจและมองไม่เห็นทางเลือกอื่นๆ ในชีวิต

“เพราะฉะนั้น เราจะต้องทำให้เกิดระบบพี่เลี้ยงที่สามารถแนะนำเยาวชนได้ว่าช่องทางที่เขาสามารถไปได้มีอะไรบ้าง บางคนอาจจะอยากกลับไปเรียนต่อ แต่ไม่มีทุนทรัพย์ ก็จะต้องรู้ว่ามีแหล่งทุนที่ไหน หรือว่าอยากกลับไปเรียน แต่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา จะเข้าไปเรียนกศน. ได้ไหม หรือมีแหล่งไหนที่สนับสนุนการเรียนได้บ้าง” 

“หรือว่ากลุ่มอยากทำงานต้องการความช่วยเหลือแบบไหน มีหน่วยงานที่ให้บริการการพัฒนาทักษะการทำงานที่ไหนบ้าง เพราะจริงๆ ไม่ได้มีเพียงแค่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่อบรมการทำงานเท่านั้น ยังมีหน่วยงานอื่นๆ แต่ข้อมูลยังกระจัดกระจาย ทำให้เด็กอาจจะไม่ทราบข้อมูล พี่เลี้ยงก็จะเข้ามาช่วยแนะนำเส้นทางต่างๆ ได้”

วิลสาให้ข้อมูลว่าโครงการนี้เป็นโครงการนำร่องในจังหวัดอุดรธานีและนครราชสีมา โดยมีการวางแผน 4 ขั้นตอนในการอบรมให้พี่เลี้ยงเข้าใจเยาวชนได้มากขึ้น คือ หนึ่ง-ทำความเข้าใจว่าเยาวชน NEET คือใคร ออกจากการศึกษาด้วยเหตุผลอะไร และพี่เลี้ยงจะสามารถเข้าไปช่วยเหลือในส่วนไหนได้บ้าง สอง-ช่วยให้เด็กได้เห็นศักยภาพของตัวเอง จัดทำแผนเส้นทางของแต่ละบุคคลที่เยาวชนต้องการเลือกเส้นทางชีวิต ภายใต้เงื่อนไขของคนแต่ละกลุ่ม สาม-เตรียมความพร้อมเยาวชนสู่เส้นทางต่างๆ ที่พวกเขาเลือก และสี่-เริ่มให้เยาวชนดำเนินการตามเส้นทางของตัวเอง โดยมีพี่เลี้ยงคอยช่วยดูแลและติดตาม

“สิ่งที่เราต้องยอมรับคือ ตอนนี้พี่เลี้ยงที่เข้ามาร่วมอบรมอยู่ในช่วงผู้สูงวัย ซึ่งอาจจะมีวิธีคิดและค่านิยมที่ต่างจากเด็ก ซึ่งเราพยายามสร้างความเข้าใจในส่วนนี้ แต่ก็พยายามเสนอว่าอยากชวนให้นักศึกษามหาวิทยาลัยในพื้นที่เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงหรือช่วยเหลือเพื่อลดช่องว่างตรงนี้ได้”

เปิดโอกาสการเข้าถึงบริการแนะแนวให้ทั่วถึงทุกคน

จุดสำคัญต่อระบบการแนะแนวในไทย คือการเปิดโอกาสให้เยาวชนเข้าถึงบริการแนะแนวอย่างทั่วถึง ซึ่งประเทศไทยยังมีเงื่อนไขที่จำกัดอยู่มาก เช่น ประเด็นเรื่องภาษา ซึ่งส่วนใหญ่มีบริการเพียงภาษาไทย ซึ่งไม่สามารถให้บริการได้ครอบคลุมแก่เยาวชนต่างสัญชาติได้ รวมถึงยังไม่มีบริการที่ตอบโจทย์ต่อเยาวชนผู้พิการด้วย

“เราปฏิเสธไม่ได้ว่าต้นทุนชีวิตมีผลต่อการเลือกเส้นทางอาชีพและเข้าถึงการแนะแนวอาชีพในไทยมาก โจทย์สำคัญของเราอีกอย่างคือ เราจึงต้องส่งเสริมการเข้าถึงอย่างไร ดังนั้น เราต้องเปิดช่องทางการรับรู้ให้มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น เราเปิดให้เข้าถึงผ่านออนไลน์ได้ไหม หรือผ่านโซเชียลมีเดีย เพราะตอนนี้เยาวชนเข้าถึงอุปกรณ์ได้กว่า 90% แล้ว” 

อย่างไรก็ตาม วิลสามองว่า หากมุ่งเน้นทางออนไลน์ก็จำเป็นจะต้องมีการจัดทำข้อมูลอย่างเป็นระบบ มีศูนย์กลางที่รวบรวมข้อมูลที่จำเป็นต่อการแนะแนวอาชีพในไทย ลดข้อมูลที่มีความเป็นวิชาการ ทำให้เยาวชนเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น 

“อย่างที่สถาบันพัฒนาคุณวุฒิวิชาชีพก็พยายามทำ EWE ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่น่าสนใจ ตรงนี้ยูนิเซฟก็เข้าไปมีส่วนร่วม เราก็พบว่ารูปแบบของเว็บไซต์ยังไม่ดึงดูดความสนใจเยาวชนเท่าที่ควร ทำให้เยาวชนเข้าถึงได้ยาก เราจึงต้องถามความเห็นของผู้ใช้บริการว่าจะทำอย่างไรให้เขาเข้าถึงได้ง่ายขึ้น” 

วิลสายังมองว่าสิ่งที่ขาดไปในระบบแนะแนวไทยคือการเปิดโอกาสให้เยาวชนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้อาชีพในสถานที่จริงได้มากขึ้น โดยการสร้างระบบที่สร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการรับเยาวชนเข้าไปเรียนรู้งาน สนับสนุนให้คนเข้าถึงการเลือกอาชีพผ่านการทำงานจริงได้

“เช่น ภาครัฐสนับสนุนการลดหย่อนภาษีให้ผู้ประกอบการในการรับเด็กเข้าไปเรียนรู้งานไหม หรือการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรับเยาวชนที่ขาดโอกาสหรือเยาวชนที่อาจจะหลุดออกจากระบบการศึกษาเข้าไปฝึกอาชีพและทำงานไปด้วย ให้เขาได้เงินส่วนหนึ่ง เพราะบางคนหลุดออกจากระบบการศึกษาเนื่องจากสถานะทางเศรษฐกิจของสังคม ต้องไปช่วยพ่อแม่ทำงาน แต่เขายังขาดโอกาสในการที่จะพัฒนาทักษะตัวเอง เราก็สนับสนุนให้เขาสามารถทำสองสิ่งนี้ไปพร้อมกันได้”

โดยสรุปแล้ว วิลสามองว่า การจะขับเคลื่อนให้เกิดการออกแบบระบบแนะแนวอาชีพในไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพจะต้องเกิดจากการประสานงานและร่วมมือของทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้รับบริการการแนะแนวอาชีพ ในขณะเดียวกันจะต้องมีการสนับสนุนการสร้างทรัพยากรบุคคลและการปรับระบบงบประมาณที่ตอบโจทย์กับความเปลี่ยนแปลงของสังคม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้คุณภาพการแนะแนวการศึกษาตอบโจทย์ทั้งความต้องการของผู้ใช้บริการและตลาดแรงงาน ที่สำคัญต้องเพิ่มการเข้าถึงบริการแนะแนวให้ครอบคลุมคนทุกภาคส่วนด้วย

“การบูรณาการความร่วมมือกัน ดึงคนเข้ามามีส่วนร่วม ฟังดูอาจจะไม่ง่าย แต่เราต้องทำให้เกิดขึ้นจริงได้ ในข้อเสนองานวิจัยนี้มองว่าเราต้องมีคณะกรรมการเข้ามาเป็นตัวกลางในการดูแลระบบนี้ไหม หรือว่าเราควรใช้ทรัพยากรที่เรามีอยู่แล้วอย่างเช่น สมาคมครูแนะแนวแห่งประเทศไทย ให้เขามีบทบาทในการสื่อสารและบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อจะได้ฟังเสียงจากคนหลากหลายกลุ่ม สร้างความยืดหยุ่นในระบบเพื่อให้ตอบโจทย์กับสถานการณ์ที่หลากหลายด้วย” 

References
1 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย: กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต, https://thaipublica.org/2015/11/kanis-boi/

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save