fbpx
เหงาตาย : ใครว่าไม่เป็นจริง

เหงาตาย : ใครว่าไม่เป็นจริง

ยุคนี้เป็น ‘ยุคสมัยแห่งความเหงา’ ว่ากันว่า คนอเมริกันหนึ่งในห้า มีอาการ ‘เหงาเรื้อรัง’ เราไม่รู้ว่าตัวเลขคนเหงานั่งหว่องในเมืองไทยมีเท่าไหร่กันแน่ (เพราะไม่มีใครทำสำรวจ) แต่เท่าที่เห็นๆ จากคนรอบข้าง ก็พอบอกได้ว่า-ไม่น้อยทีเดียวเชียวแหละ

 

คำว่า ‘ยุคสมัยแห่งความเหงา’ นี่ไม่ใช่แค่คำเท่ๆ ของคนหว่องๆ เท่านั้น แต่มีการสำรวจกันมาตั้งแต่ปี 2010 ในอังกฤษแล้วว่าความเหงาทำร้ายคนที่เป็นวัยรุ่นอย่างมากด้วย ความเหงาเชื่อมโยงกับปัญหาทางจิตใจ ซึ่งเชื่อมโยงกับความเครียด โรคซึมเศร้า หวาดระแวง การใช้ยาเสพติด เกิดปัญหาการรับรู้ต่างๆ พบว่าในคนวัย 18 ถึง 34 ปี จะมีอาการเหงาบ่อยครั้งขึ้น เหงาที่ว่าไม่ใช่เหงาเท่ๆ แบบถ่ายมิวสิควิดีโอ แต่เป็นความเหงาที่ตัวเองก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น และมักเกิดอาการซึมเศร้าร่วมไปด้วย โดยคนในวัยนี้จะมีอาการที่ว่ามากกว่าคนวัย 55 ปีขึ้นไป

แต่ความเหงาไม่ได้เกิดแค่กับคนหนุ่มสาวเท่านั้น ผู้สูงวัยก็เหงา และเหงามากด้วย มีการสำรวจโดย Independent Age ในอังกฤษ พบว่าผู้สูงวัยที่มีอายุเกิน 50 ปี และมีปัญหาความเหงานั้นมีจำนวนมากมายมหาศาล เป็นผู้ชายราว 700,000 คน เป็นผู้หญิงราว 1.1 ล้านคน

ว่าแต่อะไรคือความเหงากันแน่ John Cacioppo นักวิจัยที่ทำงานเรื่องความเหงาโดยเฉพาะแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกบอกว่า ปกติแล้วก็คือความรู้สึกทุกข์เศร้า หวาดหวั่น และไม่พึงพอใจในชีวิต เกิดจากการที่คนเราต้องการความสัมพันธ์ทางสังคม แต่ไม่ได้รับ ความเหงาจึงสัมพันธ์กับความโดดเดี่ยว (Social Isolation) อย่างมาก

ความเหงามีหลายแบบ ความเหงาที่เกิดจากอยู่ห่างไกลจากคนพิเศษหรือคนรักเป็นแบบหนึ่ง แต่ความเหงาที่เกิดขึ้นทั่วๆ ไป ความเหงาชนิดที่ไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ แม้อยู่กับคนอื่นมากมายเต็มไปหมดก็อาจยังเหงา หรือความเหงาในแบบที่บางคนเรียกว่า ‘ความหว่อง’ นั้น ที่จริงเป็นสิ่งสำคัญมาก

ความเหงาแบบนี้ไม่ได้เป็นแค่อารมณ์หรืออาการทางใจเท่านั้น แต่คุณจอห์นบอกว่า มันอาจเป็น ‘ระบบเตือนภัยทางชีวภาพ’ (Biological Warning System) ที่เกิดขึ้นกับทั้งมนุษย์และสัตว์บางชนิด โดยเฉพาะสัตว์ที่อยู่รวมกันเป็นฝูง

ความเหงาแบบนี้เกิดขึ้นเพื่อกระตุ้นให้เราตระหนักว่า เราได้พเนจรร่อนเร่อยู่ห่างจากชุมชน (หรือฝูง) ของเรามากเกินไปแล้ว

และการอยู่ห่างฝูงก็เป็นเรื่องอันตราย เพราะมันไปลดอัตราการอยู่รอดและอัตราการเพิ่มเผ่าพันธุ์ ความเหงาจึงไม่ใช่เรื่องของคนสมัยใหม่เท่านั้น แต่เป็นกลไกทางวิวัฒนาการอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ยุคโบราณก่อนประวัติศาสตร์ด้วย มันมีหน้าที่กระตุ้นให้คนเราหวนกลับไปเชื่อมโยง (Reconnect) กับสังคมหรือฝูง เพื่อป้องกันเราจากสัตว์ผู้ล่า

คุณจอห์นถึงกับตั้งสมมุติฐานว่า ความเหงาก็เหมือนความหิวหรือความเจ็บปวดนั่นแหละ มันคือสภาวะที่สมองกระตุ้นให้เรารู้สึกว่าตัวเองอยู่ในอันตรายบางอย่าง อันตรายที่ว่าก็คือการอยู่ห่างจากฝูงมากเกินไป

แต่ในสังคมสมัยใหม่ การอยู่คนเดียวไม่ได้เป็นอันตรายเหมือนสมัยโบราณอีกแล้ว เราไม่ต้องเผชิญกับสัตว์ผู้ล่าหรือภัยธรรมชาติตามลำพัง การอยู่ในเมืองทำให้คนเราปลอดภัย มีสาธารณูปโภคต่างๆ เดินทางไปโน่นมานี่ได้สะดวกสบาย คนสมัยนี้จึงสามารถอยู่คนเดียวได้ในทางกายภาพ และโดยไม่รู้ตัว ก็มักเกิดภาวะตัดขาดจากสังคมทั้งที่ยังอยู่ในสังคมนั่นแหละ

นักจิตวิทยาอีกคนหนึ่งคือ Birmingham Young แห่งมหาวิทยาลัยยูทาห์ บอกว่าความเหงาโดยไม่รู้ตัวนี้อาจเป็นอันตรายกว่าโรคอ้วนอีก เขาบอกว่า Social Isolation หรือความโดดเดี่ยวจากสังคมนั้น เพิ่มอัตราการตายก่อนวัยอันควรถึง 14% ซึ่งมากกว่าโรคอ้วนเกือบสองเท่า

ในยุคก่อนหน้านี้ คนเหงาจะหันไปพึ่งโทรทัศน์ ซึ่งเป็นการรับสารแบบ passive คือแค่นั่งดูอยู่เฉยๆ ในยุคใหม่นี้ หลายคนคิดว่าเราสามารถใช้สื่ออินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะโซเชียลมีเดียในแบบ active คือแสดงตัวตนกัน จึงไม่น่าจะเหงา แต่มีการศึกษาพบว่า คนจำนวนมากใช้เฟซบุ๊กด้วยการ scroll ผ่านเนื้อหาไปเรื่อยๆ (โดยอาจไม่ได้อ่านด้วยซ้ำ) ซึ่งเทียบเท่ากับการฆ่าเวลา พูดอีกอย่างหนึ่งคือเป็นการใช้เฟซบุ๊กแบบ passive มากกว่าแบบ active

เฟซบุ๊กจึงถูกใช้งานแบบโทรทัศน์ และแสดงให้เห็นถึงการ ‘ตัดขาด’ และความเบื่อหน่าย ซึ่งก็คือต้นเหตุของอาการเหงานั่นเอง

แล้วคนรวยล่ะ คนรวยเหงาได้มั้ย

Boston College เคยศึกษาเรื่อง ‘ความเหงาของคนรวย’ (ดูรายละเอียดได้ที่นี่) เอาไว้น่าสนใจมาก เป็นการศึกษาในคนรวยที่รวยจริงๆ คือมีทรัพย์สินเฉลี่ยที่ 78 ล้านเหรียญ พบว่าคนเหล่านี้ก็เหงา เพราะเอาเข้าจริง ความรวยเป็นอุปสรรคทำให้ไม่สามารถเชื่อมโยงทางสังคมกับคนส่วนใหญ่ที่มีฐานะต่ำกว่าตัวเองได้ แต่มักจะพยายามสังสันทน์กับคนที่รวยกว่า ผลลัพธ์คือเกิดความไม่พึงพอใจ เป็นกังวล และตัดขาดจากสังคม ความไม่มั่นคงทางใจทำให้หลายคนเห็นว่าตัวเองไม่มั่นคงทางการเงินด้วยซ้ำไป จำนวนมากคิดว่าตัวเองควรรวยเพิ่มขึ้นอีกราว 25% ถึงจะมั่นคง

แล้วผู้ชายกับผู้หญิงล่ะ ใครเหงากว่ากัน

มีการศึกษาในผู้ชายสูงวัยโดย Independent Age (ดูรายละเอียดได้ที่นี่) แสดงให้เห็นว่า ผู้ชายยิ่งอายุมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งเหงามากขึ้นเท่านั้น พบว่าในอังกฤษ ผู้ชายที่อายุเกิน 65 ปี จะอยู่คนเดียวมากขึ้นเรื่อยๆ โดยจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น 65% ในปี 2030 และคนชราที่เป็นชายนี่แหละ จะเหงากว่าผู้หญิง เนื่องจากผู้ชายปรับตัวเข้าสังคมทั่วๆ ไปได้น้อยกว่า มีปฏิสัมพันธ์กับเด็ก ครอบครัว หรือเพื่อนๆ น้อยกว่าผู้หญิงมาก

ตอนนี้ ‘ความเหงา’ ในอังกฤษ กำลังถูกมองว่าเป็นปัญหาสาธารณสุขแล้ว

ถึงขั้นมีแคมเปญรณรงค์ยุติความเหงา (ดูรายละเอียดได้ที่นี่) กันเลยทีเดียว แคมเปญนี้เรียกว่า Campaign to end Loneliness ตั้งขึ้นมาในปี 2011 โดยมีองค์กรต่างๆ หลายองค์กรร่วมกัน เพื่อพยายามรณรงค์ยุติความเหงาด้วยการให้บริการและทำกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการให้คำปรึกษาและผลักดันนโยบายของรัฐ

 

เห็นหรือยังว่าความเหงาไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ดังนั้น เวลาได้ยินใครบอกว่า-เหงาจะตายอยู่แล้ว ก็อย่าคิดว่ามันเป็นอย่างนั้นไม่ได้ทีเดียวเชียว
ความเหงาอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้นะคุณ!

 

 

อ่านเพิ่มเติม

-บทความ Secret Fears of the Super-Rich ของ Graeme Wood จาก The Atlantic, April 2011

-รายงาน Isolation: the emerging crisis for older men ของ Brian Beach, Sally Bamford และ Marie Bamford จาก Independent  Age, 2013

-เว็บไซต์ Campaign to End Loneliness แคมเปญรณรงค์ยุติความเหงา

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save