fbpx

การเลือกตั้งส่วนท้องถิ่นในอังกฤษ รากหญ้าประชาธิปไตยที่พัฒนากว่าพันปี

การเลือกตั้งครั้งล่าสุดของไทยมีประเด็นที่พรรคการเมืองบางพรรคเสนอนโยบายกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดแทนการส่งผู้ว่าจากกระทรวงมหาดไทย คล้ายๆ กับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในประเทศญี่ปุ่น ในช่วงเวลาเดียวกัน เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ที่อังกฤษก็มีการเลือกตั้งส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นการเลือกสมาชิกสภาบริหารส่วนท้องถิ่นคล้ายๆ กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วอังกฤษ (ไม่รวมแคว้นเวลส์ สกอตแลนด์ ไอร์แลนด์เหนือ) และมีการเลือกตั้ง Executive Mayor ซึ่งมีลักษณะเทียบเท่าผู้ว่าราชการจังหวัดเพิ่มอีกสี่แห่ง 

การเลือกตั้งท้องถิ่นของอังกฤษมักจัดขึ้นช่วงกลางเทอมของรัฐสภาสมัยนั้นๆ ทำให้ผลการเลือกตั้งมักเป็นตัวบ่งชี้ถึงความนิยมหรือไม่นิยมต่อผลงานของรัฐบาลกลางที่บริหารมาครึ่งเทอม และสื่อถึงทิศทางคะแนนเสียงการเลือกตั้งทั่วไปในอีกปีหรือสองปีข้างหน้า แม้จะมีนักการเมืองหลายคนบอกว่า ประชาชนสนใจปัญหาระดับท้องถิ่นมากกว่าการเมืองระดับชาติในการเลือกตั้งท้องถิ่นก็ตาม แต่มีผู้ใช้สิทธิจำนวนไม่น้อยเลยที่อยากส่งสัญญาณในบางเรื่องไปถึงรัฐบาล ครั้งล่าสุดนี้คงเป็นเรื่องปากท้อง ค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ 

เพราะปรากฏว่าผู้สมัครส่วนท้องถิ่นในนามพรรคคอนเซอร์เวทีฟ ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลแพ้ย่อยยับ โดยรวมๆ พรรคเลเบอร์ฝ่ายค้านได้คะแนนเสียง 35% ส่วนพรรครัฐบาลได้เสียง 26% พรรคอันดับสามอย่างลิเบอรัล เดโมแครต ได้ 20% ที่เหลือกระจายไปตามพรรคลำดับรองลงมา ถือว่าพรรคเลเบอร์ได้คะแนนนำสูงสุดในการเลือกตั้งท้องถิ่นนับตั้งแต่ปี 1997 และได้เข้าไปเป็นผู้บริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นหลายจังหวัด ที่เรียกว่า Local Government

หลังจากผลการเลือกตั้งออกมาเคียร์ สตาร์มเมอร์ (Kier Starmer) ผู้นำพรรคเลเบอร์แถลงว่าพรรคของตนกำลังเตรียมตัวตั้งรัฐบาลในการเลือกตั้งทั่วไปประมาณปลายปี 2024 หรือต้นปี 2025 แต่ศาสตราจารย์จอห์น เคอร์ทิส (John Curtis) กูรูในวงการคำนวนตัวเลขผลเลือกตั้งให้ความเห็นกับบีบีซีว่า เท่าที่วัดตัวเลขสวิงโหวตจากฝ่ายรัฐบาลพลิกขั้วมาให้ฝ่ายค้าน ประมาณ 4.5-5.0 จุดนั้น คงเพียงพอให้พรรคเลเบอร์ได้แค่เสียงปริ่มน้ำเท่านั้น และถ้าเป็นเช่นนี้ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้าอาจจะมีโอกาสให้เกิดการตั้งรัฐบาลผสมเหมือนกัน 

ภาพจาก commonslibrary.parliament.uk

Local Government ในประเทศอังกฤษคืออะไร มีบทบาทหน้าที่อย่างไร ในหน้าเว็บเพจของ Local Government Association (LGA) ระบุว่า รัฐบาลท้องถิ่นมีหน้าที่จัดบริการหลากหลายให้กับประชาชน และธุรกิจในพื้นที่เขตแดนที่กำหนด งานหน้าที่หลักๆ คือสุขภาวะชุมชน โรงเรียนระดับประถมฯ มัธยมฯ การเคหะ กำกับดูแลการก่อสร้าง การจับเก็บขยะ ทะเบียนราษฎร์ และการควบคุมแมลงและสัตว์พาหะ (pest control) บางแห่งที่เป็นเขตปกครองขนาดใหญ่อาจจะรวมไปถึง ดับเพลิง ภัยธรรมชาติ และตำรวจ

สภาปกครองส่วนท้องถิ่นถือเป็นรูปแบบประชาธิปไตยระดับรากหญ้าครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ก็ยังมีระบบที่มีโครงสร้างและการเลือกตั้งผู้บริหารที่แตกต่างกันไปตามลักษณะของพัฒนาการของพื้นที่นั้นๆ โดยเฉพาะในแคว้นเวลส์ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ แต่สมาชิกสภาท้องถิ่นต่างก็ต้องผ่านการเลือกตั้งมาจากประชาชน 

พรรคใดได้เสียงข้างมากในสภาก็จะเป็นผู้แต่งตั้งผู้บริหารท้องถิ่นนั้นๆ แสดงบทบาทเหมือนรัฐบาลของพื้นที่นั้น บางแห่งพื้นที่ใหญ่ก็จัดโครงสร้างสองระดับ คือระดับจังหวัดและระดับอำเภอ แต่ก็มีบางแห่งที่มีองค์การบริหารเดียวกินพื้นที่กว้างขวาง โครงสร้าง และอำนาจบริหารขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เมืองหรือชนบท เป็นพื้นที่เกษตรกรรม หรืออุตสาหกรรม แตกต่างกันไปตามลักษณะพัฒนาการของสังคมและประวัติศาสตร์ในพื้นที่ดังกล่าว ไม่ได้เป็นไปในลักษณะ one size fits all เหมือนบางประเทศ

พัฒนาการปกครองส่วนท้องถิ่นที่เห็นก้าวหน้าได้ชัดมากขึ้นทุกปีคือ การปรับรูปแบบรัฐบาลท้องถิ่นจากรูปสภาปกครองให้เป็นระบบ Executive Mayors คล้ายๆ กับการเลือกตั้ง London Mayor ซึ่งมีอำนาจหน้าที่เหมือนผู้ว่าการมหานคร โดยขณะนี้มีรัฐบาลท้องถิ่นในรูปแบบนี้ถึง 16 เมืองใหญ่ เช่น ลิเวอร์พูล บริสตอล วัตฟอร์ด เป็นต้น  และในการเลือกตั้งเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาได้เพิ่มขึ้นอีกสี่แห่งคือ เบดฟอร์ด เลสเตอร์ แมนส์ฟิลด์ และมิดเดิลส์เบรอ

การบริหารงานของรัฐบาลส่วนท้องถิ่นนั้นได้รับเงินงบประมาณส่วนหนึ่งมาจากรัฐบาลกลาง อีกส่วนหนึ่งเป็นรายได้จากการเรียกเก็บภาษีท้องถิ่น เช่น ภาษีโรงเรือนท้องถิ่นและภาษีจากสถานประกอบการธุรกิจในพื้นที่ หรือการเก็บค่าธรรมเนียมในรูปแบบต่างๆ 

ปีงบประมาณ 2021/2022 ของท้องถิ่นมีการแบ่งสัดส่วนรายได้ดังนี้ 55.7% มาจากการจัดสรรจากรัฐบาลกลาง อีก 28.7% มาจากภาษีโรงเรือนในท้องถิ่น และ 15.6% มาจากสถานประกอบการธุรกิจในพื้นที่ เป็นต้น สำหรับรัฐบาลท้องถิ่นในสกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ ก็มีสัดส่วนแตกต่างกันออกไป หมายความว่าครึ่งหนื่งของงบประมาณรัฐบาลท้องถิ่นมาจากรัฐบาลกลาง ส่วนรายได้ก้อนใหญ่ที่มาจากประชาชนในท้องถิ่นคือ ภาษีท้องถิ่น

ในส่วนการเก็บภาษีท้องถิ่น รัฐบาลท้องถิ่นเป็นผู้กำหนดอัตราเอง โดยเรียกเก็บจากทุกครัวเรือนผ่านการคำนวณจากขนาดครัวเรือน เช่น บ้านสองห้องนอน สามห้องนอน หรือสี่-ห้าห้องนอน และพื้นที่บริเวณบ้าน แบ่งออกเป็น Band A, B, C, D ใครจ่ายภาษีมากหรือน้อยก็วัดตามขนาดมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ แต่สำหรับครัวเรือนที่ยากจน มีรายได้น้อย สามารถยื่นคำร้องขอลดหย่อนภาษีโรงเรือนได้

ภาษีท้องถิ่นมีการปรับขึ้นทุกปีตามอัตราเงินเฟ้อ หรือบางครั้งก็ปรับตามค่าใช้จ่ายบริการสาธารณะในชุมชนที่เพิ่มมากขึ้น พรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากเมื่อเข้าไปเป็นผู้บริหารของสภาท้องถิ่น ก็ต้องพยายามแสดงฝีมือการบริหารด้วยการเรียกเก็บภาษีท้องถิ่นให้ต่ำที่สุด และจัดบริการสาธารณะให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อหล่อเลี้ยงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งต่อไป แต่ก็มีรัฐบาลท้องถิ่นบางแห่งที่อ้างว่าได้รับงบมาจากรัฐบาลน้อยเกินไป ภาระที่ต้องบริการสาธารณะเพิ่มมากขึ้นจำเป็นต้องขึ้นภาษีท้องถิ่น ซึ่งทำให้ประชาชนเดือดร้อน 

ดังนั้นในแต่ละปีรัฐบาลกลางจะตีพิมพ์เพดานของภาษีท้องถิ่นที่สภาท้องถิ่นจะปรับขึ้นได้ หากว่าสภาท้องถิ่นนั้นๆ ยังยืนยันที่จะปรับขึ้นภาษีทะลุเพดานที่รัฐบาลกำหนด จะต้องจัดให้มีการลงประชามติของประชาชนในพื้นที่นั้นก่อน จึงนับว่าเป็นกลไกตรวจสอบทางประชาธิปไตยระดับรากหญ้ารูปแบบหนึ่ง 

ภาพจาก commonslibrary.parliament.uk

หากย้อนไปดูในประวัติศาสตร์รูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นของอังกฤษ ถือว่าเป็นการพัฒนาการประชาธิปไตยระดับรากหญ้าที่ดำเนินมานานเป็นพันปี นับตั้งแต่ยุค Anglo-Saxon (ค.ศ. 700-1066) เนื่องจากอังกฤษไม่เคยมีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร จึงเป็นการพัฒนาปรับเปลี่ยนต่อรองกันระหว่างผู้ปกครองที่เรียกเก็บภาษีและผู้ถูกปกครองที่เสียภาษีในแต่ละยุคสมัยตามลำดับมา 

รูปแบบการปกครองดังกล่าวมีพัฒนาการแบบก้าวกระโดดในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม (ค.ศ. 1760-1840) เนื่องจากสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม สังคมความเป็นอยู่เปลี่ยน ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครองเปลี่ยนไป มีชนชั้นใหม่ๆ เกิดขึ้น ระบอบศักดินาเจือจางลง จึงทำให้เกิดแนวคิดใหม่ๆ ในการบริหารจัดการชุมชน เกิดขยายผลอุดมการณ์ทางการเมืองหลากหลาย เริ่มมีระบบการคัดเลือกผู้บริหารเมืองที่เรียกว่า Mayor ซึ่งมีวาระการบริหารที่ชัดเจนเกิดขึ้น และได้กลายเป็นแนวคิดพื้นฐานหลักของระบอบประชาธิปไตยท้องถิ่นที่มีการพัฒนาตามลำดับมา  

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีการปฏิรูประบบการปกครองส่วนท้องถิ่นอีกครั้ง เมื่อพรรคเลเบอร์ชนะการเลือกตั้งในปี 1945 โดยช่วงนั้นคลีเมนต์ แอตท์ลี (Clement Attlee) เป็นนายกรัฐมนตรี ได้นำเอาอุดมการณ์รัฐสวัสดิการมาบริหารประเทศ โดยเปลี่ยนให้บริการสาธารณะ เช่น แก๊ส ไฟฟ้า สาธารณสุข ที่ฝ่ายปกครองท้องถิ่นเคยเป็นผู้ดำเนินการ นำมาเป็นระบบที่รัฐบาลกลางเป็นเจ้าภาพ และเป็นต้นกำเนิดของระบบสาธารณสุขถ้วนหน้า (NHS) ที่โด่งดังของสหราชอาณาจักร ต่อจากนั้น นายกรัฐมนตรีแอตท์ลียังได้ตั้งคณะกรรมการหลายชุดเพื่อทำข้อเสนอแนวทางการปฎิรูปการปกครองท้องถิ่นหลายระลอกตามมา

ครั้งหลังสุดที่มีการปรับปรุงโครงสร้างการปกครองส่วนท้องถิ่นอีกครั้ง เมื่อมีการผ่านกฎหมาย Local Government Act 1992 กำหนดให้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการ Local Government Commission for England มีหน้าที่ทบทวนขอบเขตและพื้นที่การบริหารจัดการของบรรดาหน่วยงานปกครองท้องถิ่นทั่วประเทศ แล้วเสนอให้ยกเลิกหรือจัดตั้งสภาบริหารส่วนท้องถิ่นขึ้นมาใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนแต่ละพื้นที่ ดังนั้นถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายขึ้นคือ รัฐบาลท้องถิ่นของสหราชอาณาจักรมีความหลากหลาย ทั้งขนาดและโครงสร้างการบริหารจัดการ 

ปัจจุบันนี้ทั่วสหราชอาณาจักร มีสภาปกครองระดับจังหวัดที่เรียกว่า County Council 21 แห่ง และใน 21 แห่งนี้ มีสภาระดับย่อยลงมา แต่การบริหารต้องขึ้นกับ County Council โดยมีแยกระดับตำบล และเมืองที่เรียกว่า District, Borough, หรือ City รวม 164 แห่ง

นอกเหนือไปจากนั้น ยังมีสภาปกครองท้องถิ่นที่เป็นสภาเดียวสำหรับเมืองขนาดกลาง (Urban) ที่เรียกว่า Unitary Councils 63 แห่ง มีอำนาจหน้าที่ให้บริการสาธารณะครอบคลุมทั้งพื้นที่ โดยไม่มีสภาแยกย่อยลงไป เหมือน County Council ส่วนเมืองที่มีชุมชนหนาแน่นขนาดใหญ่ที่เรียกว่ามหานคร ก็จัดระบบการปกครองท้องถิ่นเรียกว่า Metropolitan Boroughs มีรวมกันทั้งสิ้น 36 แห่ง สำหรับเมืองขนาดใหญ่แบบกรุงลอนดอน มีองค์การบริหารระดับเขตที่เรียกว่า London Boroughs รวม 33 และมีผู้บริหารระดับเขตที่รับผิดชอบพี้นที่ของตน แต่ภาพรวมมีสภาบริหารที่เรียกว่า London Assembly และมี London Mayor ที่ได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากชาวลอนดอนเป็นหัวหน้าคณะผู้บริหาร

จะเห็นได้ว่าสหราชอาณาจักร มีการจัดระบบบริหารการปกครองส่วนท้องถิ่นที่หลากหลาย ตามความจำเป็นและความต้องการของชุมชนตามพื้นที่ โดยไม่ยึดระบบ One size fits all อันเป็นพัฒนาการประชาธิปไตยแบบรากหญ้าที่ดำเนินต่อเนื่องกันมานับพันปี

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save