fbpx

รัฐบาลชายแท้ x กระแสต่อต้านจากคริสเตียน: การต่อสู้ที่ยังไม่เห็นเส้นชัยของ LGBTQ+ เกาหลี

ภาพปกโดย Ed JONES / AFP

บ่ายวันเสาร์ปลายเดือนมิถุนายนหรือต้นเดือนกรกฎาคมนับตั้งแต่ปี 2015 ที่โซลพลาซ่า ด้านหน้าศาลาว่าการกรุงโซล (Seoul City Hall) ประเทศเกาหลีใต้ ธงรุ้งผืนน้อยใหญ่จากผู้เข้าร่วมเรือนแสนพัดไสวพาดผ่านลานหญ้าสีเขียวขนาดกว้างไปตามท้องถนนใจกลางกรุงโซล บรรยากาศนี้คืองานเทศกาลวัฒนธรรมเควียร์แห่งกรุงโซล (Seoul Queer Culture Festival) กิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลอง ‘Pride month’ เดือนแห่งความภาคภูมิใจของชุมชน LGBTQ+ ในเกาหลี ทุกปี ที่แห่งนี้มีการเดินขบวนไพรด์พาเหรดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเกิดขึ้น เป็นพื้นที่แสดงออกถึงการมีตัวตนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในสังคมที่คนหมู่มากบอกให้พวกเขาอยู่เงียบๆ

แต่ปีนี้บรรยากาศคงต่างออกไป ไม่ใช่เพราะโควิดเหมือนตอนปี 2020-2021 ที่ทำให้งานไพรด์ต้องชะงัก แต่เป็นคำสั่งจากเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมที่ผ่านมา ครั้งนี้เทศบาลกรุงโซล ปฏิเสธคำขอการจัดงาน Seoul Queer Culture Festival โดยให้เหตุผลว่ามูลนิธิคริสเตียน CTS Cultural Foundation ยื่นขอจัดงานดนตรีของกลุ่มศาสนาเพื่อเยาวชนในวันเดียวกัน หลังเทศบาลขอให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเลื่อนจัดงาน และไม่มีผู้ใดยอมเลื่อน คณะกรรมการของเทศบาลได้พิจารณาให้มูลนิธิคริสเตียนได้สถานที่นี้ไป

การปฏิเสธคำขอจัดงานไพรด์ครั้งนี้เป็นอีกเหตุการณ์ที่สะท้อนการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในเกาหลี และฉายภาพความขัดแย้งระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยมกับกลุ่มผู้สนับสนุนความหลากหลายที่ร้าวลึกเสียจนฝ่ายอนุรักษนิยมผู้ถือครองอำนาจอยากกดปราบไม่ให้อีกฝ่ายมีพื้นที่แสดงออก

มิใช่แค่รัฐที่เปิดหน้าคัดค้านอย่างโจ่งแจ้ง แต่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในเกาหลีเผชิญกับการต่อต้านอย่างขันแข็งจากกลุ่มคริสเตียนที่มีอิทธิพลต่อสังคมมาหลายปี ทั้งบนท้องถนนและในสภา

ภาพคุ้นตาในข่าวที่วนมาทุกปีเมื่อมีงานไพรด์ที่กรุงโซล คือภาพคริสต์ศาสนิกชนเกาหลี ส่วนใหญ่นับถือนิกายโปรเตสแตนต์ ถือไมค์ป่าวร้องว่าคนรักเพศเดียวกันนั้นเป็นบาป บ้างสวดอ้อนวอนต่อพระเจ้าให้กอบกู้เกาหลีจากคนรักเพศเดียวกัน จำนวนมากชูป้ายหรือแจกแผ่นพับที่มีข้อความทำนองว่าไม่เอากฎหมายสมรสเพศเดียวกันและกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติ หลายคนยืนดักรอคนเข้าร่วมงานไพรด์เพื่อโน้มน้าวว่าหากเดินมาหาเราคือทางไปสวรรค์ ถ้าเดินไปงานไพรด์คือทางสู่นรก หลากถ้อยคำ หลายวาทกรรมจากกลุ่มคริสเตียนเหล่านี้กำลังสื่อสารกับสังคมว่าโลกจะถล่ม เกาหลีจะสลาย หากให้สิทธิ เสรีภาพแก่กลุ่มเพศหลากหลาย กิจกรรมต่อต้านในหนึ่งวันนี้ของกลุ่มคริสเตียน เป็นจิ๊กซอว์ของการต่อต้านที่แผ่ขยายไปทั้งสังคมและแผ่อิทธิพลครอบการเมืองจนไม่สามารถผ่านกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศได้

แม้ปีนี้จะถูกสกัดกั้นจากรอบทิศทาง แต่งานไพรด์ที่กรุงโซลก็จะถูกจัดขึ้นตามกำหนดเดิม 1 กรกฎาคมไม่เปลี่ยนแปลง ในวันที่ LGBTQ+ เกาหลีมองไปทางไหนก็ไร้ความเข้าอกเข้าใจทั้งจากผู้ทรงอำนาจในรัฐบาลที่เต็มไปชายแก่ผู้ชิงชังคนรักเพศเดียวกัน ชาวคริสต์ที่โหมกระพือความเกลียดชัง และสังคมที่ยังไม่ยอมรับความหลากหลาย

101 ชวนอ่านอดีต ปัจจุบัน และอนาคต LGBTQ+ ในเกาหลีใต้ ตั้งต้นจากงานไพรด์ที่รัฐไม่อยากให้จัด พูดคุยกับตัวแทนผู้จัดงาน Seoul Queer Culture Festival และชาวต่างชาติผู้ศึกษาชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศในเกาหลีใต้

ภาพโดย Ed JONES / AFP

เมื่อชายแท้ปกครองบ้านเมือง การกดทับ LGBTQ+ ก็ฟูเฟื่องในเกาหลี

ผมไม่สนับสนุนพวกรักร่วมเพศ” – โอ เซฮุน นายกเทศมนตรีกรุงโซล

ผมต่อต้านพวกรักเพศเดียวกันอย่างสุดกำลัง” – พัค ฮยองจุน นายกเทศมนตรีปูซาน

พวกรักเพศเดียวกันควรโดนลงโทษอย่างเด็ดขาด” – ฮง จุนพโย นายกเทศมนตรีแดกู

ถ้อยคำเหล่านี้ เป็นหนึ่งในคำพูดที่แสดงออกถึงการต่อต้านกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศจากปากผู้นำรัฐบาลระดับท้องถิ่นในเมืองใหญ่ของเกาหลี เมื่อขยับมามองระดับประเทศ หลังยุน ซอกยอล ผู้นำฝ่ายขวา ฉายา ‘ทรัมป์แห่งเกาหลี’ ขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี 2022 มวลความเกลียดชังผู้หญิง และชนกลุ่มน้อยทางเพศเริ่มจับจองพื้นที่สาธารณะทั้งบนโลกออนไลน์และออฟไลน์มากขึ้น ถึงยุนซอกยอลจะไม่เคยพูดอย่างเต็มปากว่าเขาต่อต้าน LGBTQ+ แต่สิ่งที่ชัดเจนคือผู้สนับสนุนและฐานเสียงหลักของเขาเป็นกลุ่มต่อต้านสตรีนิยม (anti-feminism) ที่ไม่สนับสนุนนโยบายสร้างความเท่าเทียมทางเพศเพราะมองว่าเพศชายคือผู้เสียเปรียบ ไม่ใช่แค่เหยียดผู้หญิง แต่คนกลุ่มนี้ยังมีอคติกับกลุ่มเพศหลากหลาย หากพูดให้เข้าใจง่ายก็คงเรียกว่า ‘ชายแท้’ ตามภาษาชาวเน็ตไทย

แม้หลายคนจะรู้กันดีว่าดินแดนแห่งนี้เป็นสังคมปิตาธิปไตยเข้มข้น ผู้ใดแสดงออกผิดแปลกไปจากกรอบชาย-หญิงตามขนบจะไม่ได้รับการยอมรับและถูกขับจากสังคม แต่ก่อนหน้านี้รัฐบาลทั้งระดับชาติและท้องถิ่นก็ไม่ได้แสดงออกชัดเจน เพราะอีกด้านหนึ่งต้องการสร้างภาพลักษณ์เป็นประเทศที่ก้าวหน้า โอบรับความหลากหลายอันเป็นคุณค่าสากลที่ประเทศเสรีนิยมพึงมี แต่ในระยะหลังมานี้การเลือกปฏิบัติและวาทกรรมบ่งชี้ความเกลียดชังมีให้เห็นถี่ขึ้นจากนักการเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่น

ข่าวการปฏิเสธคำขอจัดงาน Seoul Queer Culture Festival (SQCF) จากเทศบาลกรุงโซลในปีนี้ คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เกิดขึ้นในสมัยที่ยุน ซอกยอลเป็นประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ (ปีที่แล้วตอนที่ SQCF ทำเรื่องขออนุญาตจัดงานยังถือว่าอยู่ในสมัยมุน แจอิน) แม้โอ เซฮุน นายกเทศมนตรีกรุงโซลได้รับเลือกตั้งมาตั้งแต่ปี 2021 แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ทางการปฏิเสธคำขอจากกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ใช้พื้นที่นี้ คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญอีกเช่นกันที่ฝ่ายผู้ได้รับอนุญาตให้จัดงานในพื้นที่หน้าศาลาว่าการคือกลุ่มคริสเตียน ฐานเสียงใหญ่ของนักการเมืองเหล่านี้

“อันที่จริง นายกฯ คนก่อนก็ใช่ว่าจะอำนวยความสะดวกให้เราขนาดนั้น แต่โอเซฮุน นายกเทศมนตรีคนปัจจุบันนี่ตัวพ่อแห่งการต่อต้าน LGBTQ+ เลย เขาแสดงออกชัดเจนมากว่าเกลียดผู้มีความหลากหลายทางเพศและมีอคติต่อคนข้ามเพศ เราคิดว่าท่าทีเช่นนี้ของนายกเทศมนตรีมีผลต่อการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้จัดกิจกรรม” ยาง ซอนอู หัวหน้าคณะกรรมการจัดงาน Seoul Queer Culture Festival (Head of SQCF Organizing Committee) ให้สัมภาษณ์กับ 101

ยาง ซอนอู หัวหน้าคณะกรรมการจัดงาน Seoul Queer Culture Festival | ภาพจากเฟซบุ๊ก 서울퀴어문화축제

ซอนอูเป็นนักกิจกรรมที่ต่อสู้เรื่องความหลากหลายทางเพศมานานกว่า 10 ปี ร่วมจัดกิจกรรมเพื่อคนในชุมชน LGBTQ+ มาทั่วเกาหลี ซอนอูเล่าว่างานไพรด์ที่กรุงโซลเริ่มจัดครั้งแรกเมื่อปี 2000 ที่ชินชน (ย่านที่อยู่ใกล้มหาวิทยาลัยอีฮวาและมหาวิทยาลัยฮงอิก) ตอนนั้นมีผู้เข้าร่วมเพียงกลุ่มเล็กๆ ราว 50 คน จนกระทั่งปี 2015 ได้ย้ายมาจัดที่โซลพลาซ่า เมื่อเป็นพื้นที่ใจกลางกรุงโซลก็มีผู้เข้าร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ จนปีล่าสุดที่กลับมาจัดเป็นครั้งแรกหลังการระบาดของโควิดคลี่คลาย มีผู้เข้าร่วมราว 135,000 คนเลยทีเดียว

ปีนี้แม้ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่เดิม แต่ซอนอูยืนยันว่าเจตนารมณ์ในการจัดงานยังไม่เปลี่ยนแปลง แม้จะต้องเปลี่ยนสถานที่แต่กิจกรรมยังหลากหลายเช่นเดิม เพราะไม่ได้มีโอกาสบ่อยครั้งนักที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศทั้งในเกาหลีและต่างประเทศจะมารวมตัวกันมากขนาดนี้ นอกจากขบวนพาเหรดซึ่งถือเป็นไฮไลต์ของงาน ยังมีการจัดไพรด์พาเหรดออนไลน์และเทศกาลภาพยนตร์เควียร์ขึ้น

เมื่อถามว่านี่เป็นครั้งแรกเลยหรือไม่ที่ถูกปฏิบัติเช่นนี้จากหน่วยงานรัฐ ซอนอูตอบว่า “การเลือกปฏิบัติแบบนี้ไม่ได้มาจากแค่เทศบาลกรุงโซล แต่คุณพบได้ทั่วทุกพื้นที่ในแผ่นดินเกาหลีเลยแหละ เราจัดงานไพรด์และกิจกรรมสำหรับคนในชุมชน LGBTQ+ ระดับภูมิภาคหลายพื้นที่มาก และเกือบทุกที่ก็ได้รับการปฏิบัติแบบไม่ใยดี เจ้าหน้าที่ไม่ค่อยจะอนุญาต ครั้งหนึ่งเราเคยขอใช้พื้นที่สนามกีฬาเพื่อจัดการแข่งขันกีฬาสำหรับ queer woman แต่อยู่ดีๆ ก็มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่แบบไม่ให้เหตุผล แต่มันชัดเจนมากว่าเพราะเป็นกิจกรรมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ”

ซอนอูยังเล่าว่าไม่ใช่แค่โดนกีดกันจากรัฐ แต่คนในพื้นที่ก็ไม่สนับสนุนการทำกิจกรรมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเช่นกัน ซอนอูเล่าว่าช่วงเตรียมงาน SQCF พยายามขอเช่าสถานที่เพื่อให้ข้อมูลและเตรียมพร้อมอาสาสมัครสำหรับงานไพรด์ที่จะถึงนี้ แต่ปรากฏว่าอาคารนั้นเป็นของกลุ่มคริสเตียน “แน่นอนว่าเราโดนปฏิเสธ เขาให้เหตุผลว่าเราเป็นองค์กรเควียร์เลยให้ใช้ไม่ได้ ปีนี้การเตรียมงานย่อยๆ ของเราผิดแผนไปเยอะเพราะขอใช้สถานที่ไม่ได้” ซอนอูกล่าว

เมื่อวันเสาร์ที่ 17 มิถุนายน ที่ผ่านมา ที่แดกู มหานครที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองอนุรักษนิยมและเป็นเมืองใหญ่เป็นอันดับ 4 ของเกาหลีใต้ มีการจัดงานเทศกาลวัฒนธรรมเควียร์แห่งแดกู (Daegu Queer Culture Festival) ขึ้น ไม่ต่างจากเหตุการณ์ที่โซลมากนัก ก่อนจัดงานนี้คริสตจักรและผู้ประกอบการในละแวกพื้นที่จัดงาน ยื่นฟ้องศาลท้องถิ่นแดกูห้ามมิให้มีการจัดงานไพรด์ โดยอ้างว่าเป็นกิจกรรมที่ขัดขวางเสรีภาพในการดำเนินธุรกิจ ต่อมาศาลแขวงปฏิเสธคำร้องดังกล่าว

ก่อนงานไพรด์จะมีขึ้นไม่กี่ชั่วโมงความตึงเครียดระหว่างฝ่ายรัฐบาลท้องถิ่นและผู้สนับสนุนการจัดงานเริ่มปรากฎให้เห็น ฝ่ายเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น นำโดยฮง จุนพโย นายกเทศมนตรีแดกู กล่าวว่าการจัดกิจกรรมละเมิดต่อกฎหมายเพราะไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่บนท้องถนนเพื่อเดินพาเหรด ด้านฝ่ายผู้จัดงานยังเดินหน้าตามแผน พร้อมด้วยการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ยืนยันว่าจะปกป้องสิทธิของผู้ชุมนุมอย่างถึงที่สุด และสถานทูตนานาประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์ เยอรมนี ที่ยังยืนยันเข้าร่วมในวันงาน เมื่อวันงานมาถึง เกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐราว 500 คนที่เข้ามาขวางรถขนของของผู้จัดงาน และเจ้าหน้าที่ตำรวจจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ หลังเกิดความวุ่นวายดังกล่าว ฮง จุนพโย ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กเรียกร้องความรับผิดชอบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ซอนอูกล่าวว่าเหตุการณ์ที่แดกูทำให้ทีมจัดงานไพรด์ที่โซลต้องมาทบทวนมาตรการเรื่องความปลอดภัยกันใหม่ว่าอาจเกิดเหตุเช่นนี้ได้เหมือนกัน ที่ผ่านมากลุ่ม LGBTQ+ ที่เข้าร่วมงานไพรด์เคยมีการปะทะกับกลุ่มคริสเตียนในปี 2015 ปีแรกที่ SQCF จัดงานที่โซล พลาซ่า

“ตอนปี 2015 ขณะที่เรากำลังเคลื่อนขบวนไปได้เกือบ 1 ชั่วโมง จู่ๆ ก็มีฝูงชนราว 3,000 คนปรากฏตัวพร้อมกับเก้าอี้ที่มาวางขวางการเดินขบวนของเรา แทนที่งานจะจบตั้งแต่ 5 โมงเย็น แต่วันนั้นปาเข้าไป 3 ทุ่มครึ่งเลย แต่ละปีหลังจากนั้น ทุกครั้งที่เราจัดงาน กลุ่มต่อต้านผู้มีความหลากหลายทางเพศซึ่งแทบทั้งหมดคือคริสเตียนก็มาป่วนการจัดงานของเราตลอด การขัดขวางงานไพรด์ดูเป็นระบบมากขึ้นด้วย”

ซอนอูเสริมว่าหลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นเธอตระหนักว่าต้องสร้างความร่วมมือกับตำรวจ เพื่อให้การจัดงานเป็นไปอย่างราบรื่น แต่เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นสดใหม่ที่แดกู ทำให้เห็นว่าไม่ใช่แค่กลุ่มคริสเตียน แต่ตอนนี้มีเจ้าหน้าที่รัฐเป็นตัวแสดงเพิ่มเข้ามาในสมการการขัดขวางงานพาเหรด เป็นเรื่องไม่ง่ายเลยสำหรับนักกิจกรรมและองค์กรผู้มีความหลากหลายทางเพศที่จะสร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อแสดงออกถึงอัตลักษณ์ของตน

‘โซล พลาซ่า’ สถานที่จัดงาน Seoul Queer Culture Festival ตั้งแต่ปี 2015 | ภาพจากเฟซบุ๊ก 서울퀴어문화축제

จากโซล สู่แดกู และล่าสุดสภามหานครอินชอน ก็เพิ่งมีคำสั่งให้ตัด ‘ภาพยนตร์เควียร์’ ออกจากโปรแกรมฉายในงาน Incheon Women’s Film Festival ต่างพื้นที่ ต่างผู้นำ ต่างมาตรการกดทับการแสดงออก แต่สิ่งที่ 3 เหตุการณ์นี้มีเหมือนกันคือผู้นำที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจล้วนเป็นสมาชิกพรรคพลังประชาชน (People Power Party: PPP) พรรครัฐบาลขณะนี้

เส้นทางขรุขระในการจัดกิจกรรมของชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศนี้อาจจะดูเป็นจุดเล็กๆ ในสายตาใครหลายคน แต่เมื่อประกอบกันก็สะท้อนภาพใหญ่ของการเลือกปฏิบัติจากรัฐและทัศนคติของคนในสังคมเกาหลีต่อชุมชน LGBTQ+ อคติที่หยั่งราก เมื่อปะทะกับรัฐบาลที่ผายอกยอมรับว่าเกลียดชังผู้มีความหลากหลายทางเพศย่อมนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่เป็นมิตรกับคนในชุมชน ซอนอูกล่าวว่าสมัยรัฐบาลมุนแจอินก็ใช่ว่าจะยอมรับ LGBTQ+ แต่อย่างน้อยก็รับฟังเสียงของคนกลุ่มน้อย

“ถ้าถามว่ามีความแตกต่างที่จับต้องได้ของสองรัฐบาลนี้ไหม ตอบได้เต็มปากว่าไม่มี แต่อย่างน้อย สมัยมุน แจอิน เราเห็นความพยายามของรัฐบาลในการทำให้ชนกลุ่มน้อยในสังคมมีตัวตน อย่างน้อยที่สุดคือเขารับฟัง เราเชื่อมั่นในรัฐบาลมุนได้ว่าถ้าเราเรียกร้องอะไรบางอย่างไป แล้วเขาจะรับเรื่องไว้ แต่ในทางกฎหมาย ไม่ได้มีอะไรคืบหน้าเลย ตอนนั้นเราหวังว่ากฎหมายการต่อต้านการเลือกปฏิบัติที่ชุมชน LGBTQ+ ของเราผลักดันกันมานานกว่าทศวรรษจะผ่านในสมัยนี้ แต่มันก็ไม่เกิดขึ้น แต่พอเปลี่ยนผ่านสู่สมัยของยุน ซอกยอล เขาไม่ฟังใครทั้งนั้น ประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนกำลังถดถอยในทุกมิติ”

แม้ปีนี้จะเผชิญความท้าทายรอบด้าน แต่อุปสรรคเหล่านี้ยิ่งสร้างพลังให้ซอนอูและชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศในเกาหลีอยากสู้จนถึงที่สุด แม้ซอนอูจะเคยได้ยินกับหูเวลาขออนุญาตจัดกิจกรรม เจ้าหน้าที่มักตอบกลับมาว่า “ก็ไปจัดกันเงียบๆ ในที่ที่ไม่มีคนเห็นสิ” เพื่อตอบโต้กับการใช้อำนาจที่ไม่เห็นหัวชนกลุ่มน้อยจากรัฐ ซอนอูยิ่งอยากทำให้เสียงของ LGBTQ+ เกาหลี ดังยิ่งกว่าเดิม

“หลังพรรคอนุรักษนิยมขึ้นมาเป็นรัฐบาล นโยบายกีดกันชนกลุ่มน้อยก็ออกมาสารพัด เราเชื่อว่าสิ่งที่พอทำได้ตอนนี้คือทำให้เสียงของเราดังที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผ่านการจัดกิจกรรม เหมือนที่เรากำลังจัดไพรด์พาเหรดในโซล กิจกรรมเช่นนี้จะทำให้คนทั้งเกาหลีต้องหันมามองและเห็นถึงการมีอยู่ของเรา

“ยิ่งถูกเลือกปฏิบัติ เรายิ่งอยากแสดงให้ทั้งสังคมเห็นว่าเราก็เป็นคนที่มีสิทธิมีเสียงเท่ากับประชาชนเกาหลีทุกคน เราจะพยายามจัดกิจกรรมให้ถี่ขึ้น และขยายพื้นที่ออกไปมากขึ้น นี่เป็นวิธีที่เราเชื่อว่าจะสามารถส่งพลังของคนในชุมชนผู้มีความหลากหลายให้ไกลออกไปได้” ซอนอูกล่าวอย่างหนักแน่น

คริสเตียน: กลุ่มต่อต้านอันดับหนึ่งของชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ

ตัวแสดงหนึ่งที่ปรากฏในทุกสมการการต่อต้านกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศคือ ‘กลุ่มคริสเตียน’ ตั้งแต่การขวางขบวนพาเหรดเมื่อปี 2015 การปักหลักต่อต้านกิจกรรมของกลุ่ม LGBTQ+ เรื่อยมา กลุ่มคริสเตียนเหล่านี้ยังเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องเพื่อกดดันรัฐบาลให้ออกกฎหมายจำกัดเสรีภาพของกลุ่ม LGBTQ+ และหาทุกวิถีทางขัดขวางไม่ให้อัตลักษณ์เหล่านี้ขยายไปถึงเด็กและเยาวชน ผู้ยึดมั่นศาสนาเหล่านี้กำลังแปะป้ายความสามานย์ให้คนที่เพียงแค่แสดงออกถึงอัตลักษณ์ของตัวเอง

ในขบวนพาเหรดแต่ละปี กลุ่มคริสเตียนมักจะใช้เครื่องขยายเสียงขนาดใหญ่เพื่อให้เสียงดังกลบกิจกรรมในงาน นอกจากการตะเบ็งเสียงว่าการรักเพศเดียวกันนั้นเป็นบาป ยังมีตัวแทนจากโบสถ์ที่ต่อต้านเข้ามาแจกแผ่นพับและโน้มน้าวรายคน ยิ่งไปกว่านั้น ‘เด็ก’ ซึ่งเป็นวัยที่ถูกกลุ่มคริสเตียนหยิบยกขึ้นมาว่าต้องปกป้องอนาคตของชาติเหล่านี้จากกลุ่ม LGBTQ+ ถูกผู้ปกครองพามาเป็นส่วนหนึ่งของขบวนต่อต้านเช่นกัน ปีที่แล้วมีเด็กจำนวนหนึ่งแต่งกายด้วยชุดทหารเขียนว่า ‘ทหารเกาหลีผู้ปกป้องพระเยซู’ แล้วป่าวร้องว่า “ขจัดกฎหมายแต่งงานเพศเดียวกัน”

พ้นไปจากท้องถนนวันงานไพรด์พาเหรด กลุ่มคริสเตียนเหล่านี้มักจะถล่มข้อความต่อต้านนักการเมืองที่สนับสนุน LGBTQ+ และเคลื่อนไหวเรียกร้องโรงเรียนต่างๆ ให้นำหนังสือที่มีตัวละครบุคคลข้ามเพศออกจากห้องสมุด ที่น่าเศร้าใจคือรัฐบาลยุนก็ดูจะขานรับเสียงเหล่านี้ เมื่อปีที่ผ่านมา มีการเปิดเผยจากกระทรวงศึกษาธิการเกาหลีว่าจะตัดคำว่า ‘ชนกลุ่มน้อยทางเพศ’ (sexual minorities) ออกจากหนังสือเรียนระดับมัธยมฯ ภายในปี 2015 การเคลื่อนไหวเหล่านี้เป็นหนึ่งในหลายเหตุการณ์อันเป็นผลพวงจากการปลุกกระแสความเกลียดชัง ซอนอูกล่าวว่าแม้นักกิจกรรมและองค์กรเพื่อผู้มีความหลากหลายทางเพศแต่ละที่จะเผชิญความท้าทายที่ต่างกันออกไป แต่สำหรับ SQCF แล้ว “คริสเตียนยังถือเป็นความท้าทายใหญ่เสมอมา”

ศาสนาคริสต์เคยเป็นศาสนาที่มีคนนับถือมากที่สุดในเกาหลีและโบสถ์หลายแห่งมีอิทธิพลในทุกมิติของสังคม ปัจจุบันจำนวนผู้นับถือศาสนาในเกาหลีลดลงอย่างต่อเนื่อง ผลสำรวจของ Gallup เมื่อปี 2021 เผยให้เห็นว่ามีผู้นับถือศาสนาคริสต์อยู่เพียง 23% แบ่งเป็นนิกายโปรเตสแตนต์ 17% และคาทอลิก 6% ขณะที่จำนวนผู้ไม่นับถือศาสนาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากมองจากมุมของ LGBTQ+ คนจำนวนมากหันเหออกจากศาสนาเพราะไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้ ขณะเดียวกันจากมุมของคริสตจักร การเคลื่อนไหวต่อต้านกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างขันแข็ง โดยเฉพาะการเดินหน้าคัดค้านกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติน่าจะเป็นอีกวิธีที่จะดึงดูดสมาชิกใหม่เข้าโบสถ์ได้

ซอนอูเองคือผู้มีประสบการณ์ตรง เขาเติบโตมาในครอบครัวที่แม่เป็นศาสนาจารย์ในโบสถ์โปรเตสแตนต์แห่งหนึ่ง ปฏิกิริยาจากผู้ให้กำเนิดเมื่อซอนอู ‘คัมเอาต์’ คือการบอกให้ลูกไปลงนรก แม้จะพูดถึงเรื่องราวในวันนั้นได้แล้ว แต่ความเจ็บปวดยังไม่หายสนิท ซอนอูกล่าวว่ามันยากลำบากมากสำหรับคนที่เป็นคริสเตียนและมีอัตลักษณ์เพศหลากหลาย จำนวนมากบ้านแตก สาแหรกขาดเมื่อเผยอัตลักษณ์กับครอบครัวที่เคร่งศาสนา จำนวนมากหันไปหาโบสถ์ที่โอบรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ หลายคนเลิกนับถือศาสนาไปเลย ทั้งนี้ ซอนอูกล่าวว่าปฏิกิริยาที่รุนแรงไม่ได้มาจากแค่คริสเตียน แต่กลุ่มต่อต้านจากศาสนาอื่นๆ ก็มีเช่นกัน เพียงแต่ไม่ได้เสียงดังและออกมาเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องเท่าคนกลุ่มนี้

ในงานไพรด์แต่ละปี SQCF จัดให้มีพื้นที่สำหรับตัวแทนทางศาสนาที่ยอมรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อเป็นที่พักพิงจิตใจให้กับคนในชุมชนที่หันไปทางไหนก็ถูกผลักไสจากสังคม ปีที่แล้วตัวแทนจากกลุ่มศาสนาที่เข้าร่วม มีทั้งจากศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ คาทอลิก แองกลิคัน ศาสนาพุทธ และศาสนาพุทธนิกายวอน (Won Buddhism) หนึ่งในบาทหลวงผู้เข้าร่วมงานไพรด์เป็นประจำและเป็นที่เคารพรักของคนในชุมชน LGBTQ+ เกาหลีคือ สาธุคุณ ‘อิม โบรา’  

อิม โบรา คือบาทหลวงผู้ก่อตั้งโบสถ์ ซอมดล (섬돌 교회) สังกัดโบสถ์นิกายเพรสไบทีเรียน (향린교회) เป็นหนึ่งในบาทหลวงที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศมาโดยตลอด เธอก่อตั้งโบสถ์ซอมดลเมื่อปี 2013 โบสถ์แห่งนี้เป็นศูนย์รวมจิตใจและที่ประกอบพิธีทางศาสนาของคริสต์ศาสนิกชน โดยเฉพาะผู้มีความหลากหลายทางเพศ มีเพียงไม่กี่โบสถ์ในเกาหลีที่จะโอบรับกลุ่มคนที่คริสตจักรใหญ่มองว่าเป็นคนบาป สาธุคุณอิม เคยวิพากษ์วิจารณ์โบสถ์คริสเตียนในเกาหลีว่า ‘มีความอนุรักษนิยมสูงกว่าเกือบทุกประเทศในโลก’ และเป็นสังคมที่สร้างภาพศัตรูเพื่อหลอมรวมศรัทธา หนึ่งในศัตรูที่คริสเตียนเกาหลีประกอบสร้างก็คือกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ

สาธุคุณ อิม โบรา | ภาพจากเฟซบุ๊ก 서울퀴어문화축제

จากคนในชุมชน LGBTQ+ สาธุคุณอิมได้รับดอกไม้ แต่จากคริสตจักรและคนส่วนใหญ่ ท่านได้ ‘ก้อนอิฐ’ ในแต่ละวันสาธุคุณอิมได้รับอีเมลด่าทอที่เต็มไปด้วยข้อความแสดงความเกลียดชัง และมีสายโทรศัพท์ข่มขู่อยู่เป็นประจำ เมื่อปี 2017 สาธุคุณอิมถูกกล่าวหาโดยคริสตจักรเพรสไบทีเรียนเกาหลีในข้อหา ‘นอกรีต’ หนึ่งในสาเหตุเริ่มต้นนั้นมาจากการแปลหนังสือ The Queer Bible Commentary เป็นภาษาเกาหลี จนต้องมีการสืบสวนเกิดขึ้น แต่ผลการพิจารณายังไม่สิ้นสุด

งานไพรด์พาเหรดกรุงโซลปีนี้คงแตกต่างออกไป เสียงที่คุ้นเคยจากสาธุคุณอิมซึ่งทำให้ผู้เข้าร่วมงานสงบจิตใจได้จากเสียงรอบข้างที่กึกก้องไปด้วยคำว่า ‘การรักเพศเดียวกันนั้นเป็นบาป’ จะไม่มีอีกต่อไป เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาสาธุคุณอิมได้จากโลกนี้ไปวัย 55 ปี นำความเศร้าโศกมาสู่ชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นอย่างมาก

ซอนอูสะท้อนว่า “การเป็นเควียร์ในเกาหลีนั้นเต็มไปด้วยเรื่องราวแสนเจ็บปวด LGBTQ+ เกาหลีมีอัตราฆ่าตัวตายสูงมาก ในแต่ละปีเราต้องไปงานศพบ่อยมาก มันน่าเศร้าที่ชีวิตของเพื่อนเราหลายคนต้องลงเอยแบบนี้

“เมื่อขยับมาดูสังคมในภาพกว้าง เกาหลีไม่ได้มีอคติแค่กับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่ยังต่อต้านและเลือกปฏิบัติกับผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย ผู้พิการ ผู้หญิง และชนกลุ่มน้อยในสังคมทุกกลุ่ม ทุกวันนี้เรื่องสิทธิมนุษยชนในเกาหลีเราถดถอยลงทุกวันๆ ผู้คนที่ต่อต้านเราใช้ประเด็นการเป็น LGBTQ+ มาสร้างความเกลียดชังที่ส่งผลกับเราทั้งกายและใจ สิ่งเหล่านี้คือด้านที่ไม่น่าอภิรมย์ของประเทศเรา”

เรื่องราวอันน่าเจ็บปวดที่ชุมชน LGBTQ+ เผชิญสะท้อนความย้อนแย้งของสังคมเกาหลีที่อยากยืนสง่าอยู่แถวหน้าของโลกในฐานะประเทศที่ส่งออก soft power ไปไกลได้ทั่วโลก แต่เกาหลีจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร หากมัวแต่ส่งออก แต่ไม่ ‘นำเข้า’ คุณค่าอันเป็นสากล ส่วนหนึ่งของวิถีเสรีนิยมประชาธิปไตยที่โอบรับความหลากหลายและแตกต่าง

กฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติยังอยู่ไกล กฎหมายสมรสเพศเดียวกันน่าจะไปไม่ถึง

“ถ้าดูจากสถิติผู้นับถือศาสนาในเกาหลี คุณอาจจะพูดได้ว่าคริสเตียนคือคนกลุ่มน้อย แต่คนกลุ่มน้อยนี้กลับมีเสียงที่ดังมากจนครอบงำผู้กำหนดนโยบาย สามารถขัดขวางไม่ให้กฎหมายบางอย่างผ่านสภาได้”

ไรอัน โรดส์ (Rian Rhoades) นักศึกษาปริญญาโทชาวอเมริกันที่ศึกษาอยู่ในเกาหลีให้สัมภาษณ์กับ 101 ขณะอยู่ที่สหรัฐฯ เธอเคยเข้าร่วมองค์กรท้องถิ่นที่เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศ และเข้าร่วมกิจกรรมกับชุมชน LGBTQ+ เกาหลีบ่อยครั้ง ขณะนี้เธอกำลังทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในเกาหลี

ไม่เกินจริงอย่างที่ไรอันบอกกับเรา แม้คนนับถือศาสนาในเกาหลีจะน้อยลง แต่การเคลื่อนไหวต่อต้านที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งการคุกคามซึ่งหน้าในกิจกรรมของผู้มีความหลากหลายทางเพศ จนถึงการกดดันนักการเมืองให้ออกนโยบายกดทับสิทธิ์และลบเลือนอัตลักษณ์ของชุมชน LGBTQ+ การพร่ำบอกว่าคนรักเพศเดียวกันจะเป็นการบ่อนทำลายสังคมเกาหลีนั้นซื้อใจได้แม้ในหมู่คนไม่นับถือศาสนา เพราะสังคมเกาหลีมีความอนุรักษนิยมสูงเป็นทุนเดิม อะไรที่ผิดไปจากขนบชาย-หญิง ย่อมมีคนเห็นด้วยอยู่แล้ว

เมื่อความเกลียดชังผู้มีความหลากหลายทางเพศแผ่ขยาย ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ LGBTQ+ จึงกลายเป็นประเด็นทางการเมืองไปโดยปริยาย ดังที่ได้ยกตัวอย่างไปก่อนหน้าว่ากลุ่มคริสเตียนผู้ต่อต้านส่งข้อความถล่มนักการเมืองที่ออกมาสนับสนุนชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ ไรอันบอกกับเราว่าต่อให้จะมีนักการเมืองหัวก้าวหน้าที่อยากผลักดันการคุ้มครองสิทธิคนในชุมชน LGBTQ+ มากขนาดไหน แต่ก็ไม่สามารถพูดออกมาได้อย่างตรงไปตรงมา เพราะนั่นอาจนำไปสู่จุดสิ้นสุดอาชีพทางการเมืองได้

คุณสนับสนุนหรือคัดค้านเรื่องสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศ” เป็นหนึ่งในคำถามในขั้นตอนพิจารณารับรองผู้เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีและผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญเกาหลี แน่นอนว่าหากตอบขัดกับเสียงที่ดังก้องในสังคมก็อาจนำไปสู่ปฏิบัติการเขี่ยนักการเมืองผู้นั้นตกเก้าอี้ได้ ปี 2017 บนเวทีดีเบตผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดี มุน แจอิน ในขณะนั้น ถูกถามคำถามในทำนองเดียวกัน แน่นอนว่าคำตอบของเขาคือ “ผมไม่เห็นด้วยกับคนรักเพศเดียวกัน”

ขยับไปไปสำรวจสนามการกำหนดนโยบาย ‘กฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติ’ เป็นกฎหมายที่ถูกกลุ่มคริสเตียนผู้ต่อต้านหยิบขึ้นมาโจมตีอยู่เสมอ กฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่ที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศผลักดันมานานกว่า 2 ทศวรรษ ร่างกฎหมายถูกนำเข้าพิจารณาในสภาตั้งแต่ปี 2007 แต่ก็ถูกปัดตกเพราะไม่ได้รับเสียงมากพอจะผ่านกฎหมาย ครั้งล่าสุดที่ถูกนำเข้าสภาเมื่อปี 2021 นับว่าเป็นร่างกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติฉบับที่ 10 แล้ว ซอนอูบอกกับเราว่ามีความหวังว่าจะผ่านกฎหมายนี้ได้ก่อนหมดสมัยมุนแจอิน แต่ก็ไม่เป็นดังคาด เขาบอกว่าความหวังยิ่งดูริบหรี่ที่จะผ่านกฎหมายนี้ในสมัยรัฐบาลพรรคอนุรักษนิยม

ปี 2020 ตอนที่โควิดระบาดหนักในเกาหลี ประเด็นการผ่านกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติกลับมาจับจองพื้นที่สื่ออีกครั้ง ไรอันชวนเราย้อนมองว่าช่วงนั้นต้นตอการระบาดใหญ่ๆ มักจะมาจากโบสถ์ที่ประกอบศาสนปฏิบัติตามปกติ โดยไม่ให้ความร่วมมือกับทางการในการควบคุมการแพร่ระบาด จากโบสถ์ชินชอนจีในแดกู สู่คริสตจักรซาราง เจอิล กรุงโซล ที่เป็นคลัสเตอร์การระบาดใหญ่ ชาวคริสต์จึงตกเป็นเป้าการเลือกปฏิบัติในขณะนั้น

“ตอนนั้นคริสเตียนที่เคยต่อต้าน เปลี่ยนท่าทีมาสนับสนุนกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติ เพราะจำนวนมากได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเลือกปฏิบัติเพราะศาสนา แต่พอสถานการณ์ค่อยๆ คลี่คลายไปแล้ว ก็กลับมาต่อต้านอย่างแข็งขันเหมือนเดิม เพราะกฎหมายนี้ครอบคลุมไปถึงการเลือกปฏิบัติทางเพศ กลุ่มคริสเตียนผู้ต่อต้านจะยอมให้ LGBTQ+ ได้สิทธินี้ไม่ได้ ถ้าไปอ่านป้ายกลุ่มต่อต้านที่งานไพรด์กรุงโซลปีที่แล้ว จะเห็นเลยว่ากฎหมายต่อต้านการปฏิบัติยังเป็นประเด็นใหญ่ที่กลุ่มคริสเตียนน่าจะทำทุกวิถีทางไม่ให้ไปถึงขั้นบังคับใช้” ไรอันกล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้เสียงของฝ่ายต่อต้านจะดัง แต่หากมองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การยอมรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศถือว่าเดินมาได้ไกลเกินคาดในสังคมอนุรักษนิยมเข้มข้นเช่นนี้ ทุกวันนี้ชุมชน LGBTQ+ ขยายใหญ่ขึ้น คนรุ่นใหม่ในสังคมให้การสนับสนุนและให้กำลังใจแบบไม่ต้องปิดบังมากขึ้น หลังข่าวทางการโซลปฏิเสธคำขอจัดงานเทศกาลวัฒนธรรมเควียร์ ซอนอูเล่าว่า SQCF ได้รับความสนใจและกำลังใจจากคนหลายกลุ่ม ทั้งในเกาหลีและนอกประเทศ

ส่วนในด้านกฎหมาย ซอนอูบอกว่าไม่กล้าคาดหวังไปไกลถึงกฎหมายสมรสเพศเดียวกัน หากพอจะหวังได้คงเป็นการผ่านกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติ ซึ่งครอบคลุมชนกลุ่มน้อยและผู้ถูกเลือกปฏิบัติอื่นๆ หลายกลุ่ม แต่กฎหมายนี้ก็ค้างอยู่ในสภามานานแล้ว ซอนอูยกผลสำรวจล่าสุดโดย Gallup 57% ของชาวเกาหลีที่ตอบแบบสอบถาม สนับสนุนกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติ ผลสำรวจนี้ถือเป็นสารตั้งต้นสำคัญที่จะงอกเงยไปสู่สังคมที่โอบรับความหลากหลายกว่านี้ ทั้งซอนอูและไรอันสะท้อนว่าสังคมเกาหลีมีความพร้อมมากขึ้นแล้วที่จะเดินหน้าสู่การเปลี่ยนแปลง แต่ตอนนี้นักการเมืองอาจจะยังไม่กล้าหาญพอจะแสดงจุดยืนหรือผลักดันกฎหมาย ซอนอูเสริมว่าความหวังในการผลักดันกฎหมายอาจมีมากขึ้น หากผู้มีอัตลักษณ์ทางเพศหลากหลายได้รับเลือกเข้าสู่สภา ปัจจุบันเกาหลีมีสมาชิก LGBTQ+ แล้วบ้างในระดับท้องถิ่น แต่ยังขาดในการเมืองระดับชาติ

ซอนอูกล่าวทิ้งท้ายว่าหลังฝนตก ย่อมมีสายรุ้งปรากฏขึ้นเสมอ การขัดขวางการจัดกิจกรรมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในเกาหลีปีนี้ แสดงให้เห็นว่าชุมชนผู้มีอัตลักษณ์หลากหลายในเกาหลีผนึกกันอย่างแข็งแกร่ง และพร้อมจะสู้กับผู้ต่อต้าน แม้การต่อสู้เพื่อสิทธิและที่ทางของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในเกาหลียังอีกยาวไกล แต่พลังใจจากนานาประเทศจะเติมเชื้อไฟให้สู้อย่างมีความหวัง รอวันที่ทุกคนได้เป็นอิสระจากการกดทับของสังคม

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save