fbpx

LGBTQ ในญี่ปุ่น: ส่องก้าวย่างด้านสิทธิจากมิติแรงกดดันระหว่างประเทศ

ช่วงที่ผ่านมาในเดือนมิถุนายนนี้ที่เรารู้กันดีว่าเป็นเดือนแห่งการยอมรับความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) หรือ Pride Month มีความเคลื่อนไหวในญี่ปุ่นว่าด้วยเรื่องสิทธิของคนกลุ่มนี้ ซึ่งที่นั่นเรียกว่า ‘คนกลุ่มน้อยทางเพศ’ (sexual minority / 性的マイノリティ) โดยมีการผ่านกฎหมาย ‘ส่งเสริมความเข้าใจ’ (理解増進) เกี่ยวกับ LGBTQ แก่สังคม ฟังเผินๆ แล้วราวกับว่ารัฐบาลต้องการให้กฎหมายนี้ออกมาพอเหมาะพอดีกับเดือนแห่งการเฉลิมฉลอง LGBTQ ช่างเป็นก้าวย่างที่น่ายินดีไม่น้อย

แต่เมื่อลองสำรวจเส้นทางความเป็นมาจนถึงตัวเนื้อหาของกฎหมายฉบับนี้ ก็จะเห็นถึงอุปสรรคขวากหนาม ความอิดออด และการยื้อยุดระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยมที่กุมอำนาจรัฐกับกลุ่มผู้รณรงค์เคลื่อนไหวด้านสิทธิ สภาวะนี้ส่งผลให้กฎหมายดังกล่าว ‘เพิ่ง’ สามารถผ่านรัฐสภาออกมาได้กลางเดือนมิถุนายนนี้ ‘ล่าช้า’ และ ‘พลาด’ เงื่อนเวลาสำคัญที่ตั้งเป็นหมุดหมายเอาไว้ก่อนทั้งสำหรับปีนี้ และปีที่ผ่านๆ มาไปมาก

อันที่จริง ญี่ปุ่นได้จัดพาเหรดฉลองเทศกาลไพรด์ หรือ ‘โตเกียวเรนโบว์ไพรด์’ ไปตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายน โดยได้รื้อฟื้นการจัดงานขึ้นอีกครั้งหลังจากระงับไปช่วงการระบาดของโควิด โตเกียวไพรด์มีความเป็นนานาชาติไม่แพ้ที่ไหนๆ แต่ ‘ความเป็นนานาชาติ’ ที่กลายเป็นข่าวใหญ่ในปีนี้เห็นจะเป็นเรื่องที่เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ และอีก 15 ชาติที่ประจำในญี่ปุ่นเข้าร่วมขบวนพาเหรด เพื่อผลักดันให้รัฐบาลออกกฎหมายคุ้มครองความเสมอภาคของกลุ่ม LGBTQ และรับรองการสมรสเพศเดียวกัน (same-sex marriage)

ข้อเรียกร้องของชาว LGBTQ ในงานไพรด์ครั้งนั้นคือ การให้ญี่ปุ่นมีกฎหมายปกป้องสิทธิและการไม่เลือกปฏิบัติบนความแตกต่างทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศ โดยพยาามออกมาให้ทันก่อนการประชุมสุดยอด G7 ที่กำหนดจัดวันที่ 19-21 พฤษภาคมที่ผ่านมา เงื่อนเวลานี้มีนัยสำคัญตรงที่ในหมู่สมาชิก G7 ทั้งหลาย มีแต่ญี่ปุ่นเท่านั้นที่ยังไม่มีกฎหมายรับรองการสมรสเพศเดียวกัน หรือแม้แต่กฎหมายคุ้มครองสิทธิและความเท่าเทียมให้แก่ชุมชน LGBTQ

ที่น่าตกใจกว่านั้นคือจริงๆ แล้วญี่ปุ่นมีร่างกฎหมายว่าด้วยเรื่องนี้ที่ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านร่วมกันร่างทิ้งไว้ตั้งแต่ต้นปี 2021 โดยตั้งใจจะผ่านกฎหมายนี้ก่อนการจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกกรุงโตเกียวปี 2020 ที่ต้องเลื่อนวันจัดไปถึงเดือนกรกฎาคมปี 2021 เพราะสถานการณ์โควิด ทั้งนี้เพื่อย้ำการยอมรับค่านิยมสากลให้สอดคล้องต้องตรงตาม ‘จิตวิญญาณโอลิมปิก’ ที่มุ่งเน้นการยอมรับและความเสมอภาคทางเพศ ซึ่งรวมไปถึงกลุ่ม LGBTQ

การผ่านกฎหมายที่มีชื่อกำกวมอย่าง ‘กฎหมายส่งเสริมความเข้าใจ’ ในจังหวะเวลาที่ล่าช้ากว่าที่วางไว้เช่นนี้ สะท้อนถึงการขับเคี่ยวและต่อรองที่ไม่ราบรื่นนักระหว่างหลักคุณค่าดั้งเดิมกับบรรทัดฐานใหม่ ซึ่งจะได้เสนอลงรายละเอียดภายในข้อเขียนนี้ เพื่อให้เห็นบริบทความเป็นมา ก็ขาดไม่ได้ที่จะต้องสำรวจพลวัตการเรียกร้องและตอบสนองด้านสิทธิของกลุ่ม LGBTQ ในญี่ปุ่นในระยะที่ผ่านมา โดยมุ่งชี้ให้เห็นมิติที่ว่า ‘พลังระหว่างประเทศ’ ถูกใช้เป็นเครื่องมือผลักดันที่สำคัญไม่น้อยเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในประเด็นนี้

ความคืบหน้าใหม่ในญี่ปุ่นว่าด้วยประเด็น LGBTQ

การพรั่งพรูของอารมณ์ความรู้สึกต่อต้านหลากหลายระดับต่อร่างกฎหมายเกี่ยวกับ LGBTQ สะท้อนได้ดีจากคอมเม้นต์ใต้ข้อความทวิตของ ราห์ม เอมมานูเอล เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงโตเกียว ผู้ร่วมประกาศจุดยืนกับชุมชน LGBTQ ในงานไพรด์เดือนเมษายน เขาทวิตแสดงความยินดีที่คณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนฯ อนุมัติร่างกฎหมาย ‘ส่งเสริมความเข้าใจคนกลุ่มน้อยทางเพศ’ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา และคาดว่ารัฐสภาจะผ่านร่างนี้ได้ในอีกไม่ช้า (กฎหมายผ่านสภาแล้วเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน)

แม้จะมีคนกดไลค์ให้ทวิตนี้ไม่น้อย แต่ข้อความก่นด่ายาวเป็นหางว่าวต่อว่าที่เขา ‘แทรกแซง’ กิจการภายใน ‘ยัดเยียด’ ค่านิยมแปลกปลอมให้แก่ญี่ปุ่น และขับไล่เขาให้กลับประเทศไปซะ! ดูจะเผยความขุ่นเคืองที่แฝงอยู่ในความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ทั้งยังสอดคล้องกับทัศนะของสมาชิกหัวอนุรักษนิยมฝั่งรัฐบาลที่ต่อต้าน ‘การออกตัวแรง’ ของเขาในประเด็นนี้ ถึงกระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสเรียกร้องของกลุ่มคนและองค์กรด้านสิทธิ LGBTQ ในญี่ปุ่นมีอยู่จริงและมองทูตสหรัฐฯ ผู้นี้ว่าเป็นแนวร่วมสำคัญในการผลักดันวาระ

ขณะเดียวกัน ความเคลือบแคลงของกลุ่ม LGBTQ ต่อเนื้อหาของกฎหมายที่เพิ่งออกมาก็ปรากฎให้เห็นในบทวิจารณ์และแถลงการณ์ของบรรดานักเคลื่อนไหว โดยมองว่าเป็นการสยบยอมให้แก่พลังอนุรักษนิยมในพรรครัฐบาลจนลดความจริงจังเรื่องการปกป้องสิทธิและต่อต้านการเลือกปฏิบัติ ซึ่งก็จริงที่ว่าสาเหตุที่ทำให้ร่างกฎหมายออกมาช้าขนาดนี้ ก็เพราะความพยายามปรับแต่งคำและภาษาเพื่อลดแรงต้านจากสมาชิกในพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) แกนนำรัฐบาล

ทั้งที่มีร่างต้นแบบปี 2021 มาก่อนแล้วจากการหารือร่วมฝ่ายค้านกับรัฐบาล แต่เมื่อรื้อฟื้นร่างนี้มาอภิปรายใหม่ ฝั่งผู้ที่ไม่เห็นด้วยมองว่าถ้อยคำเรื่องการเลือกปฏิบัติฟังดูเด็ดขาดรุนแรงเกินไป โดยแย้งว่าญี่ปุ่นไม่ได้เป็นสังคมที่มีปัญหาการกีดกันเรื่องเพศร้ายแรงอย่างในชาติอื่นๆ ความยืดหยุ่นของความคิดในสังคมญี่ปุ่นที่มีอยู่แล้วทำให้ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายห้ามการเลือกปฏิบัติที่จริงจัง ทั้งยังมองว่าความไม่ชัดเจนของนิยามคำว่า ‘เลือกปฏิบัติ’ (差別 / discrimination) อาจทำให้เกิดคดีฟ้องร้องโดยไม่จำเป็นและก่อความวุ่นวายในสังคมเปล่าๆ

ทั้งยังอ้างอีกด้วยว่ารัฐธรรมนูญญี่ปุ่นมีบทบัญญัติรับประกันความเสมอภาคทางเพศอยู่แล้ว ซึ่งมาจากการกะเกณฑ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ที่มายึดครองญี่ปุ่นหลังสงคราม ซึ่งก็อาจใช้ตีความให้คลุมถึงกลุ่มหลากหลายทางเพศในยุคสมัยนี้ได้ จึงไม่จำเป็นต้องตรากฎหมายขึ้นอีกให้สับสนซ้ำซ้อน ทั้งยังเกรงว่าการยอมรับสิทธิพวกนี้อาจเปิดช่องให้มี ‘การละเมิดหรืออาชญากรรมทางเพศต่อสตรี’ ในพื้นที่อย่างห้องน้ำและโรงอาบน้ำมากขึ้น

กฎหมายส่งเสริมความเข้าใจ แต่ไม่ได้ให้หลักประกันอันหนักแน่น

ดังนั้นถ้อยคำสำคัญในร่างเดิมปี 2021 ที่ระบุว่า “จะต้องไม่ยอมให้มีการเลือกปฏิบัติ” ซึ่งมีน้ำเสียงขึงขังจริงจังและหลักประกันกลับถูกปรับให้อ่อนเบาลงในร่างใหม่ เหลือเพียง “ต้องไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติ ‘ที่ไม่ถูกต้อง’ ” บนความแตกต่างทางเพศสภาพ ซึ่งการปรับแก้นี้นอกจากจะถูกมองเป็น ‘การก้าวถอยหลัง’ แล้ว ทัศนะที่ดื้อดึงคัดค้านของฝ่ายการเมืองก็เป็นหลักฐานชี้ชัดถึงความหวาดระแวง ไม่เปิดใจรับ และการแบ่งแยกกีดกันที่แอบแฝงรูปแบบหนึ่งต่อกลุ่ม LGBTQ

จึงไม่น่าแปลกใจที่มีกลุ่มสังคมออกมารณรงค์ต่อต้านความเชื่อและข่าวลือผิดๆ ที่ว่า ถ้ามีกฎหมายห้ามการเลือกปฏิบัติแล้ว ทุกคนที่อ้างว่า ‘มีจิตใจเป็นหญิง’ ก็สามารถใช้พื้นที่ร่วมกับสตรีได้อย่างไม่มีเงื่อนไข ทัศนะเชิงลบต่อคนกลุ่มนี้ยังมีให้เห็นเป็นเรื่องใหญ่ในหน้าสื่ออยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำพูดเหยียดเพศที่มาจากนักการเมือง อย่างกรณีล่าสุดที่เลขานุการคนใกล้ชิดของนายกฯ คิชิดะ ถูกสื่อตีข่าวว่าเคยพูดเหยียดถึงขนาดว่า ไม่อยากอยู่อาศัยใกล้กับคู่รักเพศเดียวกันและไม่อยากแม้แต่จะเห็นคนกลุ่มนี้

จะว่าไปแล้วข่าวเลขาฯ ของคิชิดะที่ถูกตีแผ่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้กลายเป็นอีกปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดกระแสเรียกร้องสิทธิทางเพศขึ้นอีกระลอก กลุ่มนักเคลื่อนไหวใช้โอกาสนี้ควบคู่กับเทคนิกวิธีการที่คุ้นเคยนั่นคือการดึงเอา ‘แรงกดดันจากภายนอก’ (external pressure / 外圧 – gai-atsu) มาเป็นเครื่องต่อรอง โดยใช้สถานะที่ด้อยด้านกฎหมาย LGBTQ ของญี่ปุ่นเมื่อเทียบกับสมาชิกอื่นอีกหกชาติใน G7 เป็นเหตุผลให้ประเด็นนี้ดูสำคัญเร่งด่วน

นายกฯ คิชิดะ เองที่มีแนวคิดโอนเอียงไปในทางก้าวหน้า ซึ่งผิดกับสมาชิกจำนวนมากในพรรค LDP ก็หยิบใช้ gai-atsu ในการผลักดันฝ่ายต่างๆ ให้ช่วยกันเข็นกฎหมายนี้ออกมาให้ได้ก่อนวันนัดหมายประชุมสุดยอด G7 นั่นก็เพื่อไม่ให้น้อยหน้าหรือถูกครหาว่าล้าหลังด้านสิทธิในหมู่ชาติเสรีประชาธิปไตย แนวโน้มที่กลุ่มผู้เรียกร้องจะใช้จังหวะนี้ที่สื่อมวลชนทั่วโลกจับตาญี่ปุ่นปลุกปั่นประเด็นให้รัฐบาลอับอายก็เป็นอีกปัจจัยทำให้ต้องดำเนินการเคลื่อนไหวบางอย่าง

การใช้แนวโน้มระหว่างประเทศและมาตรฐานสากลเป็นเครื่องมือกดดันยังสะท้อนจากวาทกรรมที่นักเคลื่อนไหวและสื่อหัวก้าวหน้าในญี่ปุ่นตอกย้ำให้เห็นบ่อยๆ ถึงสถานะ ‘รั้งท้าย’ โดยเปรียบเทียบ อย่างกรณี ‘สมรสเท่าเทียม’ ในหมู่ชาติ G7 มีแต่ญี่ปุ่นเท่านั้นที่ยังไม่ให้การยอมรับ ขณะที่จนถึงตอนนี้มี 33 ประเทศทั่วโลกแล้วที่มีกฎหมายรับรองเรื่องดังกล่าว ญี่ปุ่นยังไม่มีกฎหมายห้ามการเลือกปฏิบัติต่อ LGBTQ เป็นผลให้ถูกจัดอันดับเมื่อปี 2019 ไว้ท้ายๆ ที่ 34 จาก 35 ชาติพัฒนาใน OECD (ตุรกีได้อันดับท้ายสุด) ในแง่การมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิและความเสมอภาค (inclusivity) แก่กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ

บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศ

ข้อมูลว่าด้วยสถานะระดับโลกมักถูกยกเป็นหลักเหตุผลในการผลักดันบรรทัดฐานให้เป็นที่ยอมรับในสังคม พร้อมกันนั้น กลุ่มผู้สนับสนุนยังย้ำให้เห็นจิตวิญญาณของรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นเองที่ให้การรับประกันความเสมอภาคทางเพศที่อยู่คู่การปกครองและอุดมการณ์แบบประชาธิปไตยมาตลอดสมัยหลังสงคราม ทำให้เห็นว่าข้อเรียกร้องทางการเมืองของ LGBTQ ไม่ได้เป็นสิ่งแปลกปลอมแต่อย่างใด กลับสอดคล้องกับแนวคิดเสรีนิยมที่ญี่ปุ่นยึดมั่นมาโดยตลอด

เมื่อพูดถึงกฎหมายรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติว่าด้วยความเท่าเทียมทางเพศในมาตรา 14 และ 24 ในรัฐธรรมนูญก็เป็นที่อ้างถึงบ่อยในการเรียกร้องสิทธิทางเพศ ผู้ริเริ่มร่างมาตรานี้คือเจ้าหน้าที่ฝ่ายสหรัฐฯ ที่เข้ามายึดครองญี่ปุ่นสมัยหลังสงครามโลก เธอเป็นหญิงอายุเพียง 20 กว่าๆ ชื่อ บีอาเต ซีโรตา กอร์ดอน ซึ่งเคยอยู่และโตมาในญี่ปุ่น จึงเข้าใจความยากลำบากของสตรีในสังคมบุรุษเป็นใหญ่ กลุ่ม LGBTQ กำลังต่อสู้ให้หลักประกันทางกฎหมายนี้ขยายจากกรอบเพศชาย-หญิง ครอบคลุมอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลายมากขึ้น

ม.14 มีใจความหลักว่าจะต้องไม่มีการกีดกันเนื่องด้วยเชื้อชาติ ศาสนา เพศ หรือชาติตระกูลใดๆ ส่วน ม.24 บัญญัติคลุมถึงความสัมพันธ์ระดับคู่สมรสว่าจะต้องเกิดจาก “ความเห็นพ้องระหว่างเพศ” “บนพื้นฐานสิทธิเท่าเทียมระหว่างสามีและภรรยา” ทั้งยังกำหนดว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องเรื่องนี้จะต้องยึดหลัก “ความเสมอภาคระหว่างเพศและศักดิ์ศรีของบุคคล” ไม่ว่าเรื่องสิทธิในทรัพย์สิน การสืบทอดมรดก การเลือกที่อยู่อาศัย หย่าร้าง ฯลฯ ซึ่งก็เป็นพื้นฐานสำหรับการถกเถียงเรื่องการมีกฎหมายรับรองคู่ครองเพศเดียวกันด้วย

อย่างไรก็ดี แม้จะมีหลักประกันวางไว้ในกฎหมายสูงสุด แต่ความเสมอภาคทางเพศ แม้ในกรณีชายและหญิงก็มักถูกมองจากโลกภายนอกว่าไม่ได้รับการปฏิบัติตามอุดมคติ สตรีถูกกีดกันในเชิงสถานะจนฝังแน่นเป็นวิถีปกติแบบที่สมาชิกในสังคมชินชา อย่างกรณีการแบ่งบทบาทให้ฝ่ายหญิงเลี้ยงลูกดูแลงานที่บ้าน ฝ่ายชายทำงานออกสังคม หรือบทบาทหญิง-ชายในที่ทำงานที่สถานะฝ่ายหญิงมักด้อยกว่าและก้าวหน้ายากกว่า ซึ่งกลายเป็นที่ครหาถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศในสายตานานาชาติ

การรับรู้บรรทัดฐานสากลสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดความริเริ่มทางนโยบายหลายอย่าง เพื่อขยายโอกาสให้ผู้หญิงมีส่วนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ไม่แปลกที่จะมีผู้แย้งว่านี่เป็นมาตรการแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลนต่างหาก โดยมองสตรีเป็นแรงงานหลบซ่อนที่สามารถระดมมาใช้ประโยชน์ได้ แต่สถานการณ์นี้ก็ช่วยเปลี่ยนทัศนะเกี่ยวกับศักยภาพและความสำคัญของเพศหญิงในสังคม และยอมรับบทบาททางการเมือง ตำแหน่งบริหาร กองกำลังป้องกันประเทศ ไปจนถึงภาคที่ใช้แรงงานชายเป็นหลักอย่างการเกษตรและประมงมากขึ้น

ความเท่าเทียมและสถานะสตรีที่รั้งท้ายในระดับโลก

แม้จะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นบ้าง แต่ญี่ปุ่นก็ไม่ค่อยขยับจากตำแหน่งท้ายๆ ในการจัดอันดับระหว่างประเทศ และข้อเท็จจริงนี้ก็ไม่รอดพ้นความสนใจของสื่อและสังคมภายใน อย่างล่าสุด World Economic Forum (WEF) จัดญี่ปุ่นไว้ลำดับที่ 116 จากทั้งหมด 146 ชาติในหัวข้อช่องว่างระหว่างเพศหญิง-ชายในสังคม (gender gap) ตัวเลขของปี 2022 นี้ดีกว่าปีก่อนหน้าซึ่งญี่ปุ่นรั้งอันดับ 120 แต่อันดับที่กระเตื้องขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะจำนวนรัฐที่ถูกจัดอันดับลดลง 10 ประเทศ อย่างน้อย WEF พิจารณาว่าญี่ปุ่นดีเด่นด้านโอกาสการศึกษาและการเข้าถึงบริการสุขภาพที่เท่าเทียมแก่สตรี

รายงานของ The Economist ยิ่งย้ำความย่ำแย่ในแง่บทบาทสตรีในที่ทำงานเมื่อเทียบกับชาติพัฒนากลุ่ม OECD ในบรรดา 29 ประเทศที่ถูกจัดอันดับ ญี่ปุ่นจอดคาอยู่อันดับ 28 (เกาหลีใต้อยู่ท้ายสุด) ติดต่อกันเป็นปีที่ 7 แล้ว ข้อมูลเหล่านี้กระตุ้นให้เกิดความสนใจบทบาทสตรีขึ้นในญี่ปุ่น อย่างเช่น ในการเลือกตั้งแต่ละครั้งมีผู้แทนฯ หญิงเข้าสภาไปกี่คน ในคณะรัฐมนตรีมีสัดส่วนผู้หญิงคิดเป็นเท่าไหร่เมื่อเทียบกับมาตรฐานสากล อีกทั้งมีการสานต่อนโยบาย ‘สังคมที่ให้ผู้หญิงเฉิดฉาย’ (society which women shine) ล่าสุดรัฐบาลตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนสตรีในตำแหน่งผู้บริหารในบริษัทใหญ่ๆ ไม่ไห้ด้อยกว่าชาติอื่นๆ ในโลก

แต่ความคิดอนุรักษนิยมยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญที่ฉุดรั้งความพยายามลดช่องว่างทางสถานะและบทบาทระหว่างหญิง-ชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมืองพรรค LDP ซึ่งมักอ้าง ‘ค่านิยมครอบครัวแบบดั้งเดิม’ ที่ควรปกปักษ์รักษาอันหมายถึงการคงบทบาทความสัมพันธ์ระหว่างเพศไว้ไม่ให้ผิดเพี้ยนไปจากที่เป็นมา อย่างกรณีล่าสุดที่มีการเรียกร้องให้คู่ครองสามารถใช้นามสกุลต่างกันได้หลังแต่งงาน เรื่องที่ดูเหมือนเล็กน้อยแบบนี้ก็ยังเผชิญกระแสต่อต้านในพรรค LDP อย่างรุนแรง

ดังนั้นแล้วนับประสาอะไรที่จะยอมให้มีการสมรสเพศเดียวกันตามข้อเรียกร้องของกลุ่ม LGBTQ เกิดขึ้นได้โดยง่าย แต่ก็อยากชี้ให้เห็นว่าการแย่งยื้อเชิงคุณค่าระหว่างเก่ากับใหม่ก็ทำให้เกิดความคืบหน้าขึ้นบ้างในประเด็นการสมรสเท่าเทียม โดยตั้งแต่ปี 2015 เขตชิบูย่าในกรุงโตเกียวริเริ่มใช้ระบบออกใบรับรองคู่ชีวิตเพศเดียวกัน (same-sex partnership) อันเป็นการให้สิทธิทางกฎหมายบางประการแก่คนกลุ่มนี้เสมือนเป็นคู่สมรส จนถึงตอนนี้มีทางการท้องถิ่นญี่ปุ่นกว่า 300 แห่งแล้วที่นำระบบแบบนี้มาใช้

ความเห็นของศาลกับการรับรองสิทธิสมรสเพศเดียวกัน

ในวันวาเลนไทน์ปี 2019 กลุ่มรณรงค์ขับเคลื่อนนามว่า Marriage For All Japan ได้ดำเนินการเชิงรุกร่วมกับคู่รักเพศเดียวกัน 13 คู่ยื่นฟ้องศาลแขวงเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้งโตเกียว โอซาก้า นาโงย่า และซัปโปโร และในเวลาต่อมาก็มีการฟ้องศาลแขวงฟุกุโอกะเพิ่มอีกแห่ง โดยเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐที่ทำให้พวกตนต้องแบกรับความทุกข์ใจที่ไม่อาจแต่งงานกันได้ตามกฎหมาย โดยเป้าประสงค์หลักคือ ต้องการให้ศาลชี้ชัดว่าการไม่ให้สิทธิแต่งงานแก่คู่รักเพศเดียวกัน ‘ขัดรัฐธรรมนูญ’ หรือไม่

จนถึงขณะนี้คำตัดสินของศาลทั้งห้าได้ออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เรามาลองวิเคราะห์ผลคร่าวๆ ดูว่าแนวโน้มเรื่องนี้เป็นอย่างไร ศาลซัปโปโรเป็นแห่งแรกที่ออกคำตัดสิน (ปี 2021) โดยพิจารณาเห็นว่า การขาดกฎหมายรับรองสิทธินี้ ‘ขัดรัฐธรรมนูญ’ โดยเฉพาะ ม.14 ที่ห้ามการเลือกปฏิบัติบนความแตกต่างทางเพศ แต่ฝ่ายโจทก์ผู้ร้องก็ดีใจได้ไม่นานเมื่อในเดือนมิถุนายนปีถัดมาศาลโอซาก้ากลับตัดสินไปในทางตรงข้าม โดยฟันธงว่าไม่ได้เป็นเรื่องขัดรัฐธรรมนูญมาตราที่เกี่ยวข้อง (ม.14 / ม.24) แต่อย่างใด

ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน ปี 2022 ศาลแขวงโตเกียวมีคำตัดสินว่าสภาวะที่เป็นอยู่ ‘เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ’ (違憲状態 / in a state of unconstitutionality) โดยเฉพาะ ม.24 วรรคที่ว่าด้วยการรับประกันว่ากฎหมายเกี่ยวกับครอบครัวจะต้องเคารพหลักความเสมอภาคทางเพศและศักดิ์ศรีบุคคล แม้ศาลใช้คำที่ ‘ไม่ฟันธง’ ชัดเจนแต่ก็มีนัยเป็นการตั้งข้อแม้แก่รัฐบาลว่าถ้ายังปล่อยปละไม่ดำเนินการอย่างใดในเวลาอันควรแล้วก็อาจถูกพิจารณาว่าขัดรัฐธรรมนูญได้ พูดอีกอย่างคือศาลโตเกียวให้ ‘ใบเหลือง’ แก่รัฐบาล เป็นการเตือนก่อนจะให้ใบแดง

แต่ศาลโตเกียวก็พิจารณาว่าเรื่องนี้ไม่ได้ขัด ม. 14 ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติหรือกีดกันทางเพศ กลุ่มโจทก์ผู้ร้องมองคำตัดสินนี้ว่าแม้จะคลุมเครือไม่เด็ดขาด แต่ก็นับเป็น ‘ความคืบหน้า’ สำคัญในเรื่องสิทธิ โดยเน้นย้ำความเห็นของศาลที่ว่าการไม่มีหลักประกันทางกฎหมายให้แก่คู่รักเพศเดียวกันอาจส่งผลร้ายต่อการดำเนินชีวิตของพวกเขา นับเป็นอีกศาลที่มีคำตัดสินโอนเอียงไปในทางที่เอื้อต่อฝ่ายโจทก์

มาถึงเดือนพฤษภาคมปีนี้ ศาลนาโงย่าก็ได้มีคำตัดสินประเด็นเดียวกันออกมา โดยเห็นว่าการไม่ให้สิทธิสมรสแก่คนกลุ่มนี้ ‘ขัดรัฐธรรมนูญ’ อย่างชัดแจ้ง ทั้ง ม.24 เหมือนความเห็นของศาลโตเกียว และ ม.14 เหมือนศาลซัปโปโร เรียกได้ว่าศาลนาโงย่ามีจุดยืนที่ก้าวหน้ากว่าใครเพื่อน มาถึงกรณีล่าสุดเมื่อวันที่ 8 มิถุนายนนี่เอง ศาลฟุกุโอกะ ก็เพิ่งออกคำตัดสินโดยใช้คำที่คลุมเครือว่า ‘เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ’ นั่นเพื่อเร่งให้รัฐเคลื่อนไหวในประเด็นนี้ โดยมองว่า ‘เข้าข่ายขัด’ ม.24 ที่ให้มีกฎหมายที่เคารพความเสมอภาคทางเพศ แต่ศาลไม่ได้มองว่าขัด ม.14 เรื่องการเลือกปฏิบัติ

มีข้อที่น่าสังเกตอยู่ตรงที่ศาลทั้งหมดเห็นตรงกันว่า ม.24 วรรคที่รับประกันว่าการสมรสต้องเป็นไปตาม “ความเห็นพ้องระหว่างเพศ” (両生の合意) มีความหมายจำกัดเฉพาะ ‘ชาย-หญิง’ และมองภาวะที่เป็นอยู่ว่าไม่ขัดข้อบัญญัติส่วนนี้ใน ม.24 แม้แต่ศาลเดียว ทั้งยังเห็นร่วมกันด้วยว่ารัฐไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ตามที่เรียกร้อง ศาลฟุคุโอกะยังให้เหตุผลที่ให้แค่ ‘ใบเหลือง’ ว่าความเห็นในประเด็นนี้ยังเป็นที่โต้แย้งกันในสังคม ซึ่งอาจต้องใช้เวลาอภิปรายให้ได้ข้อสรุปก่อน ขณะที่ในเวลานี้ก็มีกลไกและแนวทางต่างๆ ที่ทางการท้องถิ่นจัดให้เพื่อเอื้อต่อคู่รักเพศเดียวกัน

การยื้อยุดระหว่างค่านิยมกับแรงกดดันจากภายนอก

สื่อญี่ปุ่นมักรายงานถึงเงื่อนเวลาที่บรรดาโจทก์คู่รักเพศเดียวกันยื่นคำร้องต่อศาล นั่นคือปี 2019 ว่า เป็นปีที่ไต้หวันเริ่มใช้กฎหมายรับรองการแต่งงานเพศเดียวกันเป็นชาติแรกในเอเชีย แม้เหตุการณ์ในไต้หวันกับญี่ปุ่นจะไม่ได้เกี่ยวข้องเป็นเหตุเป็นผลกัน แต่การผูกโยงเรื่องนี้เข้าในวาทกรรมช่วยชี้ชัดถึงความช้าและล้าหลังในเรื่องสิทธิ LGBTQ ของญี่ปุ่น ที่จริงการคืบคลานเชิงกฎหมายนี้สวนทางกับการเคลื่อนตัวของทัศนคติที่ปรากฏในการสำรวจความคิดเห็นโดยสื่อหลายสำนัก ซึ่งพบว่าคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่ ไม่ได้รู้สึกติดขัดหากรัฐจะรับรองสิทธิการสมรสเพศเดียวกัน

ระหว่างช่วงการเลือกตั้งสภาผู้แทนฯ ปลายปี 2021 กลุ่ม Marriage For All Japan (MFAJ) ได้รายงานผลสำรวจทัศนะพบว่า 56% ของผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้แทนทั้งหมดราวหนึ่งพันคนมีจุดยืนสนับสนุนให้มีการสมรสเท่าเทียม ขณะที่ 6 พรรคฝ่ายค้านใหญ่ก็ถือเป็นวาระร่วมกันว่า จะผลักดันกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติและรับรองการสมรสให้คู่รักเพศเดียวกัน ฝ่ายที่ดูจะลังเลที่สุดเห็นจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่ให้สัญญาแค่เพียงว่าจะ “ส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับกลุ่ม LGBTQ”

MFAJ และแนวร่วมได้ผลักดันให้เกิดความคืบหน้าในวาระนี้ โดยใช้ช่วงปีที่จัดโตเกียวโอลิมปิกเป็นโอกาสเร่งเร้ารัฐและสังคม วิธีหนึ่งคือการยกชูจิตวิญญาณของกฎบัตรโอลิมปิกที่มีกฎข้อหนึ่งระบุว่า การเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบต่อชาติหรือบุคคลบนความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา เพศ หรืออื่นใดล้วนขัดกับก้าวย่างของโอลิมปิก (Olympic Movement) เพื่อให้สอดรับกับ ‘บรรยากาศสากล’ ที่แผ่คลุมญี่ปุ่นขณะนั้น พรรครัฐบาลและฝ่ายค้านได้ร่วมกันร่างกฎหมายปกป้องสิทธิ LGBTQ ตั้งแต่ต้นปี 2021 แต่ก็ถูกสกัดไม่ให้ไปถึงสภาโดยฝ่ายอนุรักษนิยมใน LDP ดังที่ไล่เรียงมาตอนต้น

ต่อมาที่หมุดหมายถัดมา คือการประชุม G7 ที่ฮิโรชิม่าที่ก็ได้ผ่านพ้นมาแล้ว แต่แถลงการณ์ร่วม (joint communique) จากที่ประชุมได้หยิบยื่นแรงกดดันอันใหม่มาสู่รัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้รณรงค์เรียกร้องสิทธิ เพราะมีเนื้อความเน้นย้ำให้คำมั่นร่วมกันในหมู่ชาติชั้นนำว่า จะเดินหน้าปรับปรุงสิทธิและความเสมอภาคทางเพศรวมถึงกลุ่ม LGBTQ โดยสร้างสังคมที่ปลอดการแบ่งแยกกีดกันเนื่องด้วย “อัตลักษณ์ การแสดงออก หรือรสนิยมทางเพศ” (gender identity or expression or sexual orientation)

หลักการเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นแรงกดดันจากภายนอกที่ถูกผนวกเข้ากับการเรียกร้องและสร้างแนวร่วมแบบที่มักรวมพลังกลุ่ม LGBTQ ชาวต่างชาติ โดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นเข้ามา ตลอดจนผู้สนับสนุนอย่างทูตของชาติชั้นนำต่างๆ ที่ประจำอยู่ในโตเกียว นอกจาก MFAJ และพันธมิตรจะเน้นถึง ‘ความด้อย’ ของญี่ปุ่นเมื่อเทียบกับชาติอื่นเป็นเหตุผลผลักดันบรรทัดฐานใหม่แล้ว ก็ยังพยายามจูงใจว่าญี่ปุ่นอาจมีคุณูปการต่อนานาชาติได้ในประเด็นนี้เช่นกัน ยังไม่สายที่จะวางตัวเป็นแกนนำผลักดันวาระนี้ในเอเชีย

โดย MFAJ เชื่อว่า “การผ่านกฎหมายให้สิทธิสมรสเพศเดียวกันของญี่ปุ่นจะสร้างแรงกระเพื่อมอย่างมากต่อชาติอื่นๆ ในเอเชียที่ยังไม่ยอมรับสิทธินี้”

แม้กฎหมาย ‘ส่งเสริมความเข้าใจ’ ที่เพิ่งผ่านรัฐสภาจะมีเนื้อหาบางเบาดูไร้น้ำยา เป็นที่ครหาของฝ่ายค้านถึงความจริงใจ ทั้งยังดูเหมือนออกมาเพื่อขัดตาทัพในยามที่รัฐบาลสัมผัสถึงแรงกดดันเมื่อโลกจับตาและตรวจสอบคุณสมบัติความเป็นชาติชั้นนำของญี่ปุ่น แต่นี่ก็ถือเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นอันเป็นผลจากพลังในสังคมช่วยกันผลักดัน ไม่ว่าความเห็นของศาลแขวงจังหวัดต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นที่ส่วนใหญ่เป็นไปในทางเร่งเร้าให้รัฐออกกฎหมายคุ้มครองเพื่อไม่ให้ขัดบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ

ทางการท้องถิ่นก็มีการเคลื่อนไหวในแนวทางก้าวหน้า โดยริเริ่มระบบที่มารองรับการให้สิทธิคู่รักคู่ชีวิตเพศเดียวกัน อีกทั้งที่ผ่านมาท้องถิ่นถึง 60 แห่งก็ได้ออกระเบียบในเขตอำนาจของตนให้ต่อต้านการกระทำแบบเลือกปฏิบัติต่อ LGBTQ แม้จะมีอำนาจจำกัดก็ตาม ขณะที่มติมหาชน การรณรงค์ของกลุ่มประชาสังคม และแนวโน้มมาตรฐานสากลกำลังผลักดันบรรทัดฐานใหม่ในแบบที่ยอมรับและขยายสิทธิให้แก่ LGBTQ มากขึ้น

ตอนนี้กลุ่มอนุรักษนิยมกำลังเป็นฝ่ายตั้งรับ โดยอ้างการพิทักษ์หลักคุณค่าดั้งเดิมอันดีงามของญี่ปุ่นไว้ แต่เนื่องจากกลุ่มนี้มีอิทธิพลครอบงำในพรรค LDP และรัฐบาลซึ่งก็มีฐานเสียงเป็นกลุ่มคนที่มีแนวคิดชาตินิยม ประเพณีนิยม ระแวงต่อการแทรกแซงและการสูญเสียระเบียบจากการรับค่านิยมต่างชาติ อย่างที่ทูตสหรัฐฯ เผชิญแรงต้านจากการออกหน้าสนับสนุนสิทธิ LGBTQ ร่วมกับนักเคลื่อนไหวที่นั่น ดังนั้น การต่อสู้หลายแนวหน้าคงยังต้องดำเนินต่อไป แม้จะได้ผลคืบหน้าทีละนิดละหน่อยก็ตาม

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save