fbpx

‘ปิดเทอมเราไม่เท่ากัน’ เส้นขนานกิจกรรมยามว่างของเด็กในเมืองและชนบท

สำหรับเด็กวัยเรียน ช่วงเวลาที่รอคอยมากที่สุดเวลาหนึ่งคงเป็นเวลาปิดเทอม หลังจากเคี่ยวกรำร่ำเรียนวิชาการอยู่ในรั้วโรงเรียนราว 4 เดือน นักเรียนก็จะได้ใช้เวลาว่างราว 1-2 เดือนของการปิดเทอมไปกับกิจกรรมที่อยากทำ ความสนใจที่อยากทุ่มเทเวลาให้ หรืออกไปเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ทำให้ได้ค้นพบตัวตนและความชอบ เวลาว่างไม่กี่เดือนนี้ยังเป็นโอกาสทองในการสร้างเสริมพัฒนาการทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม และสติปัญญา

ถึงกระนั้น ค่านิยมสังคมเอเชียที่ให้ความสำคัญกับการศึกษา ในแง่ที่ว่าคือบันไดในการเลื่อนสถานะทางชนชั้นและการแข่งขันให้ได้มาซึ่งความสำเร็จตามขนบ ทำให้เวลาปิดเทอมของเด็กหลายคน โคจรอยู่รอบการเรียนหรือการเสริมทักษะที่จะเพิ่มแต้มต่อในการแข่งขันเข้าโรงเรียนดังในระดับมัธยม ต่อด้วยสถาบันมีชื่อเสียงในระดับมหาวิทยาลัย เพื่อไต่บันไดไปสู่หน้าที่การงานที่ดี มีเกียรติ มีรายได้มากพอจะเลี้ยงชีพได้

ค่านิยมที่ยังฝังราก-ยังทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย เมื่อโลกเคลื่อนเข้าสู่ยุคดิจิทัล และมีสถานการณ์โรคระบาดเป็นตัวเร่งให้กิจกรรมหลายอย่างของมนุษย์อยู่ในพื้นที่ออนไลน์ เด็กที่เติบโตมาท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงนี้จึงใช้เวลาไปกับหน้าจอคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และโทรศัพท์มือถือเสียมาก ทั้งเรียนออนไลน์ ใฝ่หาความรู้ ดูคลิปสันทนาการ หรือเล่นเกม ขณะเดียวกันก็มีหลายแพลตฟอร์มที่สร้างขึ้นเพื่อพัฒนาทักษะใหม่ๆ ให้กับเด็ก เสริมพลังให้เป็นมนุษย์เป็ด ที่จำเป็นต้องเก่งทุกด้านในสมัยนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าอินเทอร์เน็ตมีประโยชน์สำหรับการเรียนรู้ของเด็ก แต่การอยู่แต่กับโลกบนจอเล็กๆ ตลอดเวลาจะส่งผลเสียในระยะยาวต่อด้านร่างกาย และขาดโอกาสในการพัฒนาทักษะการอยู่ร่วมกับสังคม เมื่อผ่านพ้นยุคเรียนออนไลน์ เด็กที่กำลังเติบใหญ่ควรได้ออกไปเจอโลกให้กว้างขึ้น

ปิดเทอมจึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ผู้ปกครองหลายคนหมายมั่นจะส่งเสริมพัฒนาการให้ลูกหลานได้เผชิญกับสิ่งแวดล้อมแปลกใหม่อันหาไม่ได้จากในห้องเรียน และเป็นโจทย์ใหญ่ของเด็กสมัยใหม่ว่าจะดึงเด็กออกจากหน้าจออย่างไร เมื่อโอกาสแห่งการเรียนรู้และสร้างสรรค์นอกรั้วโรงเรียนเวียนมาทุก 4-5 เดือน พ่อ-แม่และเด็กเองจึงอยากใช้เวลานี้เสริมศักยภาพอย่างเต็มเปี่ยมก่อนกลับเข้าสู่โรงเรียน ในยุคสมัยที่มีกิจกรรมมากมายให้เลือกสรร แต่ความเป็นจริงนั้นเด็กๆ เข้าถึงได้หรือไม่

101 พาไปสำรวจช่วงเวลาปิดเทอมของเด็กมัธยมต้นต่างพื้นที่ เมืองและชนบท กิจกรรมยามปิดเทอมที่เหมือนเส้นขนาน สะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำทางโอกาสที่แผ่ไปถึงเวลาว่างของเด็กไทย

ปิดเทอมฉบับเด็กในเมือง: หลากทางเลือก หลายความเป็นไปได้ แต่มีต้นทุนในการเข้าถึง

“เวลาปิดเทอมส่วนใหญ่ผมจะเล่นเกม แล้วก็ตัดต่อคลิปตอนเล่นเกมลงยูทูบ วิธีตัดวิดีโอก็เรียนมาจากยูทูบนี่แหละครับ ผมเรียนพิเศษออนไลน์วิชาภาษาอังกฤษกับคณิตศาสตร์ด้วย แต่ผมชอบเล่นเกมมากกว่านะ โตขึ้นผมอยากเป็นพิธีกรข่าวไอทีครับ”

พัตเตอร์ นักเรียนชั้น ม.1 จากโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เพิ่งเปลี่ยนผ่านจากวัยประถมมาสู่มัธยมได้ราว 2 เดือนบอกเล่ากิจกรรมที่ทำเป็นประจำในช่วงปิดเทอม จะกล่าวได้ว่าเด็กในช่วงวัยนี้โตมากับจอก็คงไม่เกินจริง เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2020 ทำให้ช่วงชีวิตตอนประถมศึกษาตอนปลายของพัตเตอร์ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีในการเรียนและการทำกิจกรรมเพื่อเสริมพัฒนาการ เด็กชายวัย 12 ปีคนนี้กล่าวอย่างเสียดายว่าช่วงปิดเทอมก่อนจะขึ้น ป.6 เขากำลังจะได้ไปเข้าค่ายวิทยาศาสตร์ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แต่กลับมีการระบาดของโควิด-19 อีกระลอก ทำให้โครงการนี้ต้องยกเลิกไป โควิดได้พรากโอกาสการเรียนรู้ช่วงปิดเทอมของเด็กวัยกำลังโตไปเหลือคณานับ

พ้นไปจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ ที่คุณแม่ของพัตเตอร์เสริมว่ามีการจำกัดเวลาการเล่นเกม พัตเตอร์บอกว่าตอนปิดเทอมเขามักจะไปว่ายน้ำและไปดูหนังบ้างเป็นครั้งคราว เขาชอบกิจกรรมแอดเวนเจอร์ที่ได้ใกล้ชิดธรรมชาติ แต่ไม่บ่อยครั้งนักที่พัตเตอร์จะได้ออกจากพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ปิดเทอมที่ผ่านมาพัตเตอร์มีโอกาสนัดเจอกับเพื่อนที่โรงเรียนตอนประถมศึกษาเพียงแค่ 2 ครั้ง เมื่อถามว่าเพื่อนๆ ร่วมชั้นมักจะทำกิจกรรมอะไรยามปิดเทอม คุณแม่ของพัตเตอร์เล่าว่าส่วนมากก็มักจะไปเข้าค่าย ไปเที่ยวต่างประเทศ เรียนภาษา เรียนดนตรี หรือเรียนตีกอล์ฟ

‘ตีกอล์ฟ’ ในความเข้าใจของคนทั่วไปดูจะเป็นกิจกรรมยอดนิยมในหมู่ผู้ใหญ่วัยทำงาน สำหรับเด็กแล้ว กีฬาชนิดนี้ ช่วยเสริมพัฒนาการของเด็กในหลายด้าน ด้านร่างกาย การตีกอล์ฟช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว และเพิ่มความแข็งแรงของกระดูกสันหลัง อีกทั้งมีความเสี่ยงที่จะได้รับบาดเจ็บน้อย ด้านจิตใจและอารมณ์ ช่วยฝึกสมาธิและทำให้เด็กจดจ่ออยู่กับเป้าหมาย ส่วนด้านสังคม หากเล่นเป็นทีมก็จะทำให้เด็กได้ฝึกการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น หรือ ‘ฝึกการเข้าสังคม’

แต่สังคมที่ว่านี้ ก็คงมีเด็กจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับเด็กทั้งประเทศ ที่จะได้เข้าไปอยู่ในแวดวง หากค้นหาคอร์สสอนตีกอล์ฟสำหรับเด็กอายุ 5 ปี ขึ้นไป จะพบว่าค่าสอนเริ่มที่ราคา 550 บาทต่อชั่วโมง ยังไม่นับว่ามีค่าธรรมเนียมการใช้สนาม และรายจ่ายอื่นๆ เช่น ค่าชุด ค่าอุปกรณ์ โดยเฉลี่ยแล้วการเรียนตีกอล์ฟต่อครั้งอาจจะต้องจ่ายขั้นต่ำราว 2,000 บาทเลยทีเดียว แม้จะเป็นกิจกรรมที่ช่วยเสริมพัฒนาการหลายด้าน แต่ในสังคมที่ค่าแรงขั้นต่ำถูกแช่แข็งอยู่ที่วันละ 300 กว่าบาท การตีกอล์ฟจึงอาจไม่ใช่ตัวเลือกแรงสำหรับเด็กและผู้ปกครองส่วนใหญ่ในประเทศนี้

นอกจากกิจกรรมกีฬา อีกหนึ่งกิจกรรมยามปิดเทอมยอดนิยมคือการไปเรียนภาษาอังกฤษที่ต่างประเทศในหลักสูตรระยะสั้น 4-8 สัปดาห์ การได้ลองไปใช้ชีวิตไกลบ้าน-ต่างวัฒนธรรม ได้ปะทะกับความหลากหลาย และอยู่ท่ามกลางผู้คนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ แม้จะในระยะเวลาไม่กี่เดือนก็ทำให้ทักษะการฟังและพูดภาษาอังกฤษของเด็กคนหนึ่งพัฒนาขึ้นได้ อีกทั้งทำให้เด็กได้ฝึกการพึ่งพาตัวเอง และกล้าที่จะเผชิญความท้าทายใหม่ๆ ในอีกทางหนึ่ง การได้ออกไปเจอโลกกว้างย่อมทำให้เด็กได้ค้นพบตัวเองและพบเจอความเป็นไปได้ที่หลากหลายของชีวิต

โดยทั่วไปแล้วผู้ปกครองจะเริ่มส่งบุตรหลานไปเรียนภาษาที่ต่างประเทศในช่วงวัยมัธยมต้น หากต้องการไปเรียนประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ จะมีประเทศให้เลือกค่อนข้างหลากหลาย เช่น ในภูมิภาคคือประเทศฟิลิปปินส์ มีค่าใช้จ่ายเริ่มที่ประมาณ 60,000 บาทต่อ 4 สัปดาห์ หรือขยับออกไปอีกนิด ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ก็เป็นปลายทางยอดนิยม ที่มีค่าใช้จ่ายราว 100,000 บาท และสูงขึ้นไปอีกในประเทศสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังมีภาษาที่สามที่ได้รับความนิยม เช่น ภาษาจีนและภาษาญี่ปุ่น สำหรับพัตเตอร์เองแม้จะยังไม่เคยไปเรียนภาษาที่ต่างแดนเช่นนี้ แต่พัตเตอร์ก็มีโอกาสเรียนเสริมด้านภาษาอังกฤษอยู่ตลอด คุณแม่ของพอตเตอร์เองมีแผนจะสนับสนุนให้ลูกชายได้เรียนภาษาอิตาลี เพราะพัตเตอร์ชื่นชอบอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศอิตาลี

นอกจากการเรียนภาษาแล้ว อีกหนึ่งกิจกรรมปิดเทอมยอดนิยมคือค่าย STEM ที่มุ่งบูรณาการความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ (science) เทคโนโลยี (technology) วิศวกรรมศาสตร์ (engineering) และคณิตศาสตร์ (mathematics) มีกิจกรรมให้เลือกสรรตั้งแต่การฝึกทดลองในห้องปฏิบัติการ ค่ายดูดาว การเดินป่าสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ การประดิษฐ์หุ่นยนต์ หรือจะเป็นค่ายที่เกี่ยวกับอาชีพมาแรงในโลกดิจิทัล เช่น อีสปอร์ต ศิลปะ NFT เมื่อเป็นการเรียนรู้ในสาขาที่รัฐไทยสนับสนุนเช่นนี้ ทางเลือกย่อมหลากหลาย มีทั้งค่ายที่จัดโดยหน่วยงานรัฐแบบไม่เสียค่าใช้จ่ายและหน่วยงานอิสระที่อาจจะมีค่าใช้จ่ายบ้าง ส่วนมากจะอยู่ที่ราคาประมาณ 3,000-6,000 บาทสำหรับค่าย 3 วัน 2 คืน เมื่อค้นหาค่าย STEM ในประเทศ จะพบว่า ‘เขาใหญ่’ เป็นสถานที่จัดค่ายยอดนิยม พัตเตอร์เองก็เกือบได้สัมผัสประสบการณ์เข้าค่ายเช่นนี้แล้วหากไม่ต้องยกเลิกเพราะโควิดไปเสียก่อน

หลากหลายค่ายพัฒนาทักษะทางสังคม อารมณ์ และวิชาการเหล่านี้ เด็กในเมืองไม่มากก็น้อยต้องเคยเฉียดผ่านสักกิจกรรมเป็นแน่แท้ สำหรับพัตเตอร์ที่เรียนอยู่โรงเรียนในฝันของเด็กไทยหลายคนขณะนี้ ต่อให้ไม่ใช่เวลาปิดเทอม เขาก็มีโอกาสทำกิจกรรมที่หลากหลาย เพราะหลักสูตรของโรงเรียนปรับให้เท่าทันกับยุคสมัยและไม่กักเด็กไว้แต่ในห้องเรียน เราจึงถามพัตเตอร์ต่อว่าปิดเทอมในอุดมคติของเขาเป็นแบบไหน เด็กชายตอบเสียงดังฟังชัดว่าคือการได้ไปเปิดหูเปิดตาที่ต่างประเทศ

“ผมอยากไปเมืองโบโลญญา ประเทศอิตาลี ที่นั่นเป็นบ้านเกิดของรถ Lamborghini ที่ผมชอบมากๆ แล้วก็อยากไปแอนตาร์กติกา อยู่ใต้สุดของโลกเลย มีหิมะ มีเพนกวิน ผมคิดว่ามีธรรมชาติที่น่าสนใจ เป็นพื้นที่ที่คนไม่ค่อยรู้จักด้วยครับ ถ้าจะมีการสนับสนุนก็อยากได้ตั๋วเครื่องบินครับ แล้วก็โทรศัพท์มือถือน่าจะเป็นสิ่งจำเป็นในสมัยนี้ครับ”

แม้จะค้นพบว่าโลกกว้างใหญ่แค่ไหนได้ผ่านอินเทอร์เน็ต แต่การซึมซับผ่านหน้าจอคงไม่เทียบเท่าการได้ไปสัมผัสสถานที่จริง ความฝันของเด็กไทยคนอื่นก็คงไม่ต่างจากพัตเตอร์นัก แต่จะมีสักกี่คนที่ได้ทำตามฝัน กิจกรรมยามปิดเทอมดังที่กล่าวถึงไปตอนต้นเป็นเพียงบางส่วนของเด็กที่เติบโตมาในศูนย์กลางแห่งโอกาสและความเป็นไปได้ ไม่อาจเหมารวมได้ว่าเมื่อมีกิจกรรมสร้างเสริมพัฒนาการ ส่งเสริมการเรียนรู้ที่หลากหลายแล้วเด็กทุกคนจะเข้าถึงได้ ในอนาคต ความฝันของพัตเตอร์อาจเกิดขึ้นจริงได้ คงไม่ใช่จากรัฐ แต่จากครอบครัวที่มีกำลังสนับสนุนลูกอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ใช่ว่าเด็กทุกคนจะมี

‘คล้องกะปอม ขุดกะปู อยู่กับทุ่งนา’ เสียงจากเด็กต่างจังหวัดที่อยากบอกว่าอย่าโรแมนติไซส์ปิดเทอมวิถีชนบท

ขณะที่หนึ่งในกิจกรรมยามปิดเทอมของเด็กชาวกรุงหลายคนคือการไปต่างจังหวัดเพื่อสัมผัสธรรมชาติ เด็กต่างจังหวัดกลับมองว่าวิถีชีวิตแบบนี้นั้นเรียบง่ายจนน่าเบื่อหน่าย หลากกิจกรรม หลายทางเลือกที่เด็กในเมืองมีโอกาสเข้าถึง ล้วนเป็นสิ่งที่เด็กชนบทไม่เคยได้สัมผัส

“ตอนเด็กๆ หนูอยากให้ปิดเทอมนานกว่านี้ แต่พอโตมาอยากให้ปิดน้อยกว่านี้ การอยู่ชุมชนที่ห่างไกลจากตัวเมือง พอปิดเทอมนานๆ มันไม่ค่อยมีอะไรแปลกใหม่ให้ทำ

“หนูมีเพื่อนในเฟซบุ๊กเป็นคนกรุงเทพฯ เห็นเขานั่งรถไฟฟ้าไปสยาม ไปเซ็นทรัล ไปหอศิลป์ หนูก็อยากมีที่ให้ไปบ้างเหมือนกัน แต่จากบ้านหนู แค่จะไปดูหนังก็ต้องเดินทางเป็นชั่วโมงเลยนะ แล้วต้องมีรถส่วนตัวด้วย เพราะไม่มีรถสาธารณะผ่าน”

พิมบงกช บัวล้ำล้ำ หรือ ‘กิ่งไผ่’ นักเรียนวัยคอซองอายุ 15 ปี จากอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร บอกเล่าถึงความอ้างว้างยามปิดเทอมที่ต้องเผชิญ บ้านของเธออยู่อำเภอเจริญศิลป์ แต่ยามเปิดเรียนต้องข้ามไปอีกอำเภอ ซึ่งมีระยะทางกว่า 20 กิโลเมตร ทำให้เมื่อโรงเรียนปิด เธอไม่ค่อยมีโอกาสได้เจอเพื่อนหรือทำกิจกรรมร่วมกัน เพราะรถตู้รับ-ส่ง ที่ร่วมกันจ้างเหมากับเด็กคนอื่นๆ ในพื้นที่เพื่อไปโรงเรียนก็หยุดวิ่งด้วย ลงเอยที่การหากิจกรรมคั่นเวลาในละแวกบ้านที่พอทำได้คนเดียวและใช้เวลากับครอบครัว

“กิจกรรมที่ทำคนเดียวปิดเทอมหนูจะชอบเล่นกีต้าร์ แล้วก็จะใช้เวลากับครอบครัวซะส่วนใหญ่ แม่จะพาไปบ้านตา ไปขุดปู ขุดมัน ไปทุ่งนากับญาติๆ ถ้าพี่สาวกลับบ้าน ก็จะได้ดูหนังด้วยกัน ที่ชอบสุดๆ คือการได้ถ่ายคลิปพูดคุยด้วยภาษาอังกฤษแล้วนำเสนอวิถีชีวิตในท้องถิ่นกับพี่” กิ่งไผ่ไล่เรียงให้เห็นว่าเวลาว่างในยามปิดเทอมถูกใช้ไปกับอะไรบ้าง

พี่สาวของเธอคือเจ้าของเพจ แก้วใส : Daily Life Story ที่บอกเล่าวิถีชีวิตคนอีสานด้วยคำบรรยาย 3 ภาษา ไทย อังกฤษ และ ‘เว่าลาว’ อย่างสนุกสนานผ่านคลิปวิดีโอที่เปิดโลกใครหลายคนที่ไม่เคยได้สัมผัส เช่น แหย่ไข่มดแดง จับปลา หาหอย กิ่งเล่าว่าการได้ถ่ายคลิปพูดภาษาอังกฤษกับพี่บ่อยๆ ทำให้เธอมีความมั่นใจที่จะสื่อสารและอยากพัฒนาภาษาอังกฤษให้ดียิ่งขึ้น แม้จะไม่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีคนต่างชาติเจ้าของภาษารายล้อมให้ได้ฝึกใช้ภาษาอังกฤษ แต่พี่สาวของเธอได้สร้างบรรยากาศที่สนับสนุนให้กิ่งไผ่ได้ใช้ภาษาอังกฤษบ่อยอย่างไม่เคอะเขิน

เมื่อถามว่าเด็กๆ ในหมู่บ้านเขาทำกิจกรรมอะไรกันยามปิดเทอม กิ่งไผ่เล่าว่าเพื่อนในชุมชนมักจะรวมกลุ่มกันปั่นจักรยาน ไปหาคล้องกะปอม (กิ้งก่า) หากใครได้มีโอกาสไปเยือนตลาดท้องถิ่นในภาคอีสาน ช่วงฤดูร้อนก็จะพบว่ามีกิ้งก่าวางเรียงอยู่ในถาดขาย ตัวละ 10-20 บาท เบื้องหลังของกิ้งก่าที่จะถูกนำไป ‘ก้อย’ คือเด็กน้อยใหญ่ที่ใช้เวลาว่างไปจับกิ้งก่ามาขายต่อให้พ่อค้า แม่ค้า เพื่อหารายได้ช่วงปิดเทอม กิ่งไผ่ยังเล่าว่าไม่นานมานี้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) พึ่งมาสร้างสนามฟุตซอลใกล้หมู่บ้าน พอแดดร่มลมตก เด็กในหมู่บ้านก็จะออกมาเล่นกีฬากัน ส่วนห้องสมุดชุมชนที่สร้างมานานแล้ว อยู่ห่างจากบ้านของเธอไปราว 7 กิโลเมตร กิ่งไผ่เล่าว่ามีแต่หนังสือเก่า ไม่ค่อยมีคนไปใช้บริการ บางคนยืมหนังสือแล้วไม่เอาไปคืนเลยก็มี

ส่วนเพื่อนร่วมชั้นมัธยมที่เธอเล่าว่าส่วนใหญ่มีบ้านอยู่ในตัวอำเภอ จะใช้เวลาตอนปิดเทอมที่เริ่มขยับเข้าใกล้ความเป็น ‘เด็กในเมือง’ นอกจากไปพบกันตามคาเฟ่ เพื่อนของเธอมักจะไปเรียนพิเศษ เพื่อเตรียมสอบเข้าชั้น ม.4 กิ่งไผ่เล่าว่าจำนวนหนึ่งมีแผนจะไปเรียนต่อ ม.ปลาย ในกรุงเทพหรือโรงเรียนใหญ่ๆ ระดับภาค “ใครๆ ก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอยู่ที่นี่ยังไงก็ไม่เจริญหรอก” กิ่งไผ่สะท้อนความคิดในหมู่เพื่อนๆ

เสียงจากนักเรียน ม.3 เด็กภูธรคนนี้ ตอบคำถามที่ว่ากิจกรรมปิดเทอมในฝันหน้าตาเป็นแบบไหนด้วยประกายตาแห่งความหวังว่า

“หนูอยากเรียนเปียโน ที่จริงเคยขอแม่แล้วแต่ค่าเรียนแพง แล้วโรงเรียนที่เปิดสอนเปียโนก็อยู่ไกลมาก คนจะชอบมองว่าเปียโนเป็นดนตรีไฮคลาส แต่หนูคิดว่าดนตรีมันควรเป็นของทุกคน ไม่ใช่ของชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง

“อีกอย่างที่อยากทำมากๆ คือการไปต่างประเทศ หนูฝันจะได้ไปดิสนีย์แลนด์มาตั้งแต่เด็กเลย”

เมื่อถามว่าหากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐหรือหน่วยงานอื่นๆ กิ่งไผ่อยากให้มีอะไร เธอตอบอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า ‘พื้นที่สาธารณะ’ ที่จะให้เด็กๆ ในชุมชนได้มาใช้ร่วมกัน เป็นพื้นที่พบปะ พูดคุย ทำกิจกรรมด้วยกันยามโรงเรียนปิด เพราะทุกวันนี้การจะเล่นกีฬาหรืออ่านหนังสือยังต้องพึ่งทรัพยากรของโรงเรียนอยู่มาก เมื่อปิดเทอมก็ถูกตัดขาดไปด้วย เธอคิดว่าคงจะดีกว่านี้หากเด็กในชนบทสามารถเข้าถึงทรัพยากรที่ช่วยพัฒนาทักษะต่างๆ ได้ตลอดเมื่อมีเวลาว่าง นอกจากนี้ก็อยากให้มีโปรแกรมสอนภาษาหรือสอนดนตรีที่เอื้อมถึงเด็กในพื้นที่ห่างไกลมากกว่านี้

คำบอกเล่าจากกิ่งไผ่ทำให้เราฉุกคิดได้ว่า แม้ทุกวันนี้เด็กไทยเกือบทุกแห่งหนจะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้แล้ว สามารถเห็นโลกที่ต่างออกไปจากพื้นที่ทางกายภาพที่เขาอยู่และเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้ด้วยตัวเอง แต่ในทางหนึ่งก็เป็นเรื่องปวดหัวใจว่ามีหลายทักษะ หลากกิจกรรมและสถานที่ที่เด็กผู้อยู่ห่างไกลจากโอกาสอยากไปให้ถึง แต่กลับถูกความเป็นจริงวิ่งชน ความยากจนที่ยังแผ่ขยายเป็นวงกว้างและการพัฒนาที่กระจุกอยู่แค่ตัวเมืองเป็นกำแพงกีดขวางความเป็นไปได้ที่จะไปให้ถึงความฝันเหล่านี้อยู่ เวลาว่างที่ใช้ไปกับการหาของป่า เก็บเห็ด ขุดปู อยู่กับท้องทุ่งอาจฟังดูเป็นวิถีชีวิตเด็กบ้านนาที่ชวนอบอุ่นหัวใจ แต่เสียงจากเด็กในหมู่บ้านห่างไกลคนนี้กำลังบอกเราว่าอย่าโรแมนติไซส์ชีวิตคนชนบท

เรื่องราวจากเด็ก 2 คนที่เติบโตจากต่างสังคมฉายให้เห็นว่า ขณะที่เด็กในเมืองสามารถจ่ายเพื่อไปซึมซับวิถีชีวิตแบบชนบทได้ แต่สำหรับเด็กในพื้นที่ห่างไกล กิจกรรมอันหลากหลายที่เด็กเมืองกรุงเข้าถึงได้ง่าย คือโลกอีกใบที่ยังหาทางไปไม่เจอ

แม้ผู้ใหญ่มักพร่ำบอกเด็กๆ ให้ใช้เวลาว่างช่วงปิดเทอมอย่างมีคุณค่า แต่เมื่อเด็กผละออกมาจากหน้าจอมือถือ กลับพบว่าการออกไปเจอโลกกว้างเพื่อสร้างประสบการณ์อันหลากหลายได้ มีราคาที่ต้องจ่ายสูง ฉะนั้น โจทย์ที่รัฐไทยต้องคิดต่อไปคือจะเติมเต็มช่องว่างการเรียนรู้ระหว่างเด็กในเมืองกับชนบทอย่างไรให้ไม่ถ่างกว้างถึงเพียงนี้ เพราะเราเชื่อว่าไม่มีเด็กคนไหนอยากปล่อยเวลาช่วงปิดเทอมให้ผ่านไปอย่างเปล่าประโยชน์ เพียงแต่อนาคตของชาติเหล่านี้ยังถูกลงทุนด้วยไม่มากพอ


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง the101.world และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save