fbpx

‘ล่า’ ความชอบธรรมของการฆ่า ก่อน 6 ตุลาฯ  เสรีภาพอันวุ่นวาย โรคจิตเวช และผีหญิงผู้คั่งแค้น

ซีรีส์ดังเรื่อง The Glory ที่ฉายจบไปในช่วงก่อน เผยให้เห็นเรื่องราวการแก้แค้นของผู้หญิงที่ถูกกลั่นแกล้ง หากย้อนกลับมาดูในสังคมไทย เรามีนิยายเรื่องหนึ่งที่ว่าด้วยการแก้แค้นของผู้หญิงคนหนึ่งเหมือนกันนั่นคือ ล่า ประพันธ์โดยทมยันตี ว่ากันว่าล่าได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งจากชีวิตจริงของเด็กหญิงคนหนึ่งที่ถูกข่มขืนช่วงปี 2517 โดยได้ทยอยตีพิมพ์ในนิตยสาร ลลนา เมื่อปี 2519 ต่อมาได้รับการถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ในปี 2520 ละครช่อง 5 ในปี 2537 และละครช่องวันในปี 2560[1]

การที่ผู้หญิงกลายเป็นตัวเอก ไล่ฆ่าล้างแค้นผู้ล่วงละเมิดต่อลูกสาวของเธอทั้ง 7 คน ถือเป็นเรื่องที่ไม่ปกตินักในสังคมพุทธ ที่มักพร่ำสอนให้รับกรรม และเวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร

เสรีภาพและสังคมอันตึงเครียด

กลางทศวรรษ 2510 อาจเป็นที่รู้จักกันดีในเหตุการณ์ที่เป็นเรื่องเล่าขนาดยักษ์อย่าง 14 ตุลาคม 2516 ที่มีการลุกฮือของประชาชนเพื่อต่อต้านเผด็จการ ขณะนั้นสังคมไทยเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงอยู่หลายประการ น้ำเสียงของมธุสร ตัวเอก อาจสะท้อนแนวคิดของผู้แต่งที่ดูไม่พอใจกับสภาพการณ์เหล่านั้น

เสรีภาพและการเปิดกว้างหลัง 14 ตุลาคม 2516 ที่ไม่มีรัฐบาลเผด็จการควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จได้อีกแล้ว นำมาซึ่งโลกอีกใบที่แตกต่าง เห็นได้จากการกล่าวถึงตั้งแต่ระดับเรือนร่าง เช่น การแต่งตัวของนักศึกษา ‘ปัญญาชน’ ที่อาจแสดงให้เห็นว่าทมยันตีมองคนกลุ่มนั้นว่าอย่างไร เมื่อพวกเขาผมยาวถึงบ่า นุ่งกางเกงคับติ้ว เสื้อสกปรก “การแต่งเนื้อแต่งตัว กิริยามรรยาทมันส่อชาติส่อสกุล” นักศึกษาเหล่านั้นถูกมองจากน้ำผึ้งว่าเป็น ‘ลิง’ เสียด้วยซ้ำ[2]

นอกจากนั้น เสรีภาพของสิ่งพิมพ์ก็เติบโตมากขึ้น หนังสือพิมพ์ในฐานะพื้นที่กระจายข่าวสาธารณะได้มีบทบาทสำคัญต่อชีวิตเธอในหลายกรณี ตั้งแต่การตกเป็นข่าวกรณีคดียาเสพติดใกล้บ้านมธุสร การที่เธอและลูกกลายเป็นข่าวอาชญากรรมทางเพศบนหน้าหนังสือพิมพ์ หรือการที่อาชญากรรมของเธอสามารถตามอ่านได้จากหนังสือพิมพ์ นอกจากนั้นการแพร่หลายของความรู้ด้านอาชญากรรมโดยหนังสือนักสืบ และหนังสือของกรมตำรวจยังเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญที่จะเป็นประโยชน์ต่อมธุสร-รุ่งฤดีในเวลาต่อมา[3] ยังไม่นับถึงการ ‘สไตรก์’ หรือนัดหยุดงานของแรงงาน[4] ที่เป็นเรื่องปกติเมื่อขอบฟ้าเสรีภาพทางการเมืองเปิดออก

ราวกับว่าเสรีภาพนำไปสู่ความวุ่นวายอันไม่รู้จบที่กระทบต่อชีวิตของพวกเขาที่เคยมั่นคง ซึ่งพวกเขาอาจเคยเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ทางอ้อมจากระบบแบบเดิมไม่มากก็น้อย มธุสรและลูกที่เป็นเหยื่อของเดนมนุษย์ อาจเป็นเหยื่อจากโครงสร้างที่เปลี่ยนไปนี้ด้วย

ชนชั้นล่างกับยาเสพติด และชนชั้นกลางกับโรคทางจิตเวช ทศวรรษ 2510

‘มธุสร’ ตัวเอกของเรื่องที่ต้องเผชิญปัญหาชีวิตจากการหย่าร้างกับสามี โดยมีเงื่อนไขการหย่าคือต้องยกทรัพย์สมบัติทั้งหมดเพื่อแลกกับลูกสาวชื่อ ‘มธุกร’ หรือน้ำผึ้ง ชีวิตที่พลิกผันทำให้เธอเปลี่ยนสถานภาพจากชนชั้นกลางระดับบน กลายเป็นชนชั้นกลางระดับล่าง ต้องหาบ้านเช่านอกเมือง ในซอยที่มีทุ่งนาอยู่ใกล้ๆ และรายรอบไปด้วยบ้านของชาวบ้านที่ไม่ถือว่าเป็นสภาพแวดล้อมที่ดีนัก มีคำด่า คำบริภาษของชาวบ้าน การถูกซุบซิบนินทา จนเธอเอือมระอาที่จะพบปะพูดคุยกับเพื่อนบ้าน ยังไม่นับว่าแถบนั้นเป็นที่ตั้งของกระต๊อบที่เป็นแหล่งมั่วสุมของคนติดยาอีก

ชีวิตชนชั้นกลางอย่างมธุสร อาจมีบางส่วนที่คลับคล้ายคลับคลาและเหลื่อมซ้อนกับครอบครัวของน้ำพุตรงที่ครอบครัวพวกเขาเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลง น้ำพุเสียคนและเสียชีวิตเพราะยาเสพติดช่วงปี 2517 แต่ในล่า คนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดคือชนชั้นล่าง โดยเฉพาะเมื่อฉายภาพให้เห็นแก๊งผู้ค้ายาเสพติด และในเรื่องนี้ ‘ผงขาว’ หรือเฮโรอีนนี่เองที่เป็นชนวนนำความวุ่นวายมาสู่แม่ลูก การนำของกลางไปให้ตำรวจ กลายเป็นความยุ่งยากกับชีวิต

ตั้งแต่ต้นเรื่อง เราได้ยินเสียงมธุสรคุยกับตัวเองและโทษตัวเองที่ตัดสินใจหย่า ซึ่งเป็นต้นเหตุให้ชีวิตของเธอและลูกต้องตกระกำลำบาก เช่นเดียวกับการเผยให้เห็นปัญหาชีวิตของเธอทีละน้อยและเผยถึงความเลวร้ายของสามีเก่า นอกจากนั้น มธุสรดูเป็นคนไม่มีความสุข อยู่ผิดที่ผิดทาง ไปทำงานบริษัทเอกชนก็เจอคนจ้องจับผิดหรือหาเรื่องว่าเธอหว่านสเน่ห์ให้กับผู้บริหาร ด้านสถานการณ์ที่บ้านเช่าก็เดือดร้อนรำคาญของการตกเป็นขี้ปากชาวบ้าน หรืออาจกล่าวได้ว่าเหล่านี้คือ ‘เสียง’ ที่แปลกแปร่ง ไม่ใช่เสียงมธุรสชื่นหู

เสียงที่ระเบิดออกมาครอบงำมธุสรในท้ายสุดคือเสียงของ ‘รุ่งฤดี’ ตัวตนอีกด้านของเธอ ตัวตนนี้เองที่เป็นผู้ริเริ่มสร้างความชอบธรรมในการลงมือฆ่าเพื่อแก้แค้น เสียงนี้เริ่มเข้ามากำกับเธอหลังจากที่พบน้ำผึ้งในสภาพน่าอนาถหลังถูกทารุณกรรม ดังคำบรรยายว่า “ประสาทส่วนหนึ่งของฉันด้านชา แต่ประสาทอีกส่วนหนึ่งกลับขมึงเกลียวเข้าหากันทีละน้อย” [5] จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เธอรู้สึกว่า “ภายในอีกร่างหนึ่งของฉันกลับแข็งแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว มันสมองของร่างนั้นดูจะปราดเปรียวเฉลียวฉลาด และมีอำนาจเหนือร่างกายภายนอกของฉันขึ้นเป็นลำดับ” [6] และได้ชื่อว่า ‘รุ่งฤดี’ หลังจากที่เธอต้องตอบคำถามเจ้าของบ้านเช่า[7]

ส่วนน้ำผึ้ง ผู้เป็นแก้วตาดวงใจและเป็นสิ่งที่มธุสรหวงแหนที่สุด ได้ถูกล่วงละเมิดพร้อมกับแม่ในคืนฝนตก เหตุการณ์นี้ทำให้เธอเปลี่ยนจากเด็กร่าเริงสดใสไปอยู่ในโลกแห่งความหวาดกลัว จนต้องเลือกเข้ารับการรักษาด้วยวิธี ‘ตัดเส้นประสาท’ [8] เพื่อลบความทรงจำ จนกลายเป็นดังตุ๊กตาที่ไม่มีความทรงจำ การรักษาเช่นนี้น่าสงสัยว่าทำได้จริงเหมือนกับลบความจำในฮาร์ดดิสก์จริงหรือ?

เมื่อโลกของราชการเชื่อไม่ได้ ปัจเจกจึงต้องช่วยตัวเอง

มธุสรมักจะวิจารณ์ระบบราชการผ่านการเปรียบเทียบกับบริษัทเอกชนอยู่เสมอ เช่น เวลาเข้างานที่ราชการมักจะไม่เคร่งครัด และทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม[9] แสดงให้เห็นความคาดหวังว่าระบบราชการจะมีประสิทธิภาพได้มากกว่านี้ อย่าลืมว่าตัวบทของนิยายถูกเขียนในช่วงใกล้ 14 ตุลาคม 2516 เป็นเวลาที่รัฐไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อกับเผด็จการและคณะรัฐประหาร

นอกจากนั้น ระบบยุติธรรมตั้งแต่ตำรวจไปถึงศาลก็ไม่ใช่สิ่งที่น่าเชื่อถือ ตำรวจที่ทำคดียาเสพติดกลายเป็นผู้ทำให้มธุสรกับลูกของเธอตกอยู่ในความยากลำบากและความอันตรายในฐานะเหยื่อของแก๊งค้ายาเสพติดในที่สุด การตัดสินใจเก็บหลักฐานอย่าง ‘ผงขาว’ ส่งให้ตำรวจ กลายเป็นบัตรเชิญให้เจ้าของยามาย่ำยีสองแม่ลูก

ดังนั้นทางออกของมธุสรคือการพึ่งรุ่งฤดี ตัวตนอีกคนหนึ่งของเธอ แทนที่จะเชื่อมั่นในระบบยุติธรรม เพราะในที่สุด 7 คนที่เป็นผู้ลงมือ ก็ถูกตัดสินโทษจำคุกเพียง 2 คน ที่เหลือกลับหลุดรอดเพราะหลักฐานพยานไม่พอ

ผู้เขียนยังพยายามแสดงให้เห็นว่า โลกสีเทากลายเป็นช่องโหว่สำหรับการก่ออาชญากรรม เช่น ธุรกิจให้เช่ารถ การติดฟิล์มกรองแสงสีดำทึบ ที่ทำให้คนไม่รู้ว่ามีอาชญากรรมเกิดขึ้นในรถคันนั้น การฆาตกรรมอำพรางในพื้นที่อโคจรก็เกิดขึ้นได้โดยง่าย ไม่ว่าจะเป็นในโรงแรมจิ้งหรีดที่เปลี่ยวร้างไกลผู้คน รางรถไฟ ฯลฯ

แต่กระนั้น ในโลกอยุติธรรมเช่นนี้ ศาลและตำรวจจึงไม่ใช่ทางออก การลงมือล้างแค้นด้วยปัจเจกควรจะเป็นทางเลือกอันแสนแฟนตาซีทางหนี่ง

อิทธิพลญี่ปุ่นและการแปลงร่าง

การอ้างอิงถึงความเป็นญี่ปุ่นของทมยันตีจะปรากฏชัดใน คู่กรรม และ คู่กรรม ภาค 2 โดยเฉพาะภาคหลังที่ถูกวางท้องเรื่องไว้ช่วง 14 ตุลาคม 2516 โดยเฉพาะการที่พระเอกเป็นลูกของโกโบริที่มีบทบาทสำคัญในการนำนักศึกษาประท้วงต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น

อนึ่ง ช่วง 14 ตุลาคม 2516 ญี่ปุ่นมีบทบาททางเศรษฐกิจต่อสังคมไทยสูงมาก จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็น ‘สัตว์เศรษฐกิจ’ ที่เอารัดเอาเปรียบคนไทย จนมีการเดินขบวนประท้วงต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นโดยนักศึกษา ในเรื่อง ล่า ตัวละครชาวญี่ปุ่นเป็นอาจารย์สอนแต่งหน้าให้กับมธุสร ต่อมาเธอจะรับรู้ถึงตัวตนและช่วยเหลือมธุสรเพื่อแก้แค้นทางอ้อม โดยทิ้งสุภาษิตญี่ปุ่นไว้ให้กับเธอ นั่นคือ “ความพยาบาทเป็นของหวาน” การแต่งหน้าและแต่งตัวของมธุสรทำให้เธอกลายเป็นรุ่งฤดีในทางกายภาพ นั่นคือด้านมืดของอีกฝั่งของชีวิตหญิงชนชั้นกลางบน รุ่งฤดีอาจนับเป็นชนชั้นกลางล่างที่มีรูปลักษณ์แบบโสเภณีที่หากินกับฝรั่ง

เสียงด้านมืดของมธุสรได้กลายเป็นจริง หลังจากเธอแปลงเรือนร่างของเธอให้เป็นรุ่งฤดี ก็นำไปสู่ปฏิบัติการแก้แค้นให้ลูกสาวหัวแก้วหัวแหวนของเธอ

อย่างไรก็ตาม มธุสรในร่างรุ่งดีก็สามารถเปลี่ยนโฉมกลับมาเป็นมธุสรคนเดิมได้ เทคนิคการแปลงร่างแม้ไม่ได้เกี่ยวอะไรโดยตรง แต่ก็ทำให้ผู้เขียนประหวัดนึกถึงซีรีส์ไอ้มดแดงที่เข้าฉายในไทยในปี 2514[10] ที่ก่อนจะทำการต่อสู้จะต้องทำการแปลงร่างอยู่เสมอ

รุ่งฤดีกับการแก้แค้นทั้ง 7+1

มธุสรเคยเชื่อบาปกรรมขนาดที่ว่าไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เพราะกลัวว่าบาปกรรมจะตกไปถึงลูกในท้อง แต่ในทางกลับกัน เมื่อเธอคลอดลูกแล้ว การฆ่ามดและแมลงเพื่อไม่ให้ทำร้ายร่างกายลูกของเธอก็ถือเป็นการรับกรรมนั้นเองเพื่อปกป้องลูกน้อย[11] ดังนั้น การที่น้ำผึ้งถูกกระทำอย่างโหดร้ายโดยคนที่เธอคิดว่าเป็นเดนมนุษย์จึงพอเข้าใจได้ว่าทำไมเธอถึงล้างแค้น

แต่คำถามคือ ทำไมมธุสรถึงไม่ใช้ตัวตนเดิมของเธอ แต่ต้องกลายร่างเป็นรุ่งฤดี ตัวตนอีกคน เหตุผลอาจเป็นเพราะว่า รุ่งฤดีเป็นตัวแทนของการปฏิเสธศีลธรรมเชิงพุทธ หรืออาจมองได้ว่ารุ่งฤดีคือผีแห่งการแก้แค้น เราจะเห็นว่าเรื่องราวผีอาฆาตแค้นส่วนมากมักเป็นผู้หญิง เช่น แม่นาคพระโขนงที่รู้จักกันดี หรือผีผู้หญิงเฮี้ยนๆ ก็เป็นผีตายท้องกลม รุ่งฤดีจึงเป็นเสมือนผีที่สิงร่างของมธุสร

เหยื่อแค้นคนแรกที่เสียชีวิตคือผัวเก่าของมธุสร แม้จะไม่ได้มาจากน้ำมือของรุ่งฤดีโดยตรง แต่ก็เพราะเธอนี่เองที่หลอกล่อผัวเก่าให้เข้าไปยังม่านรูด คนที่ลั่นไกฆ่ากลับเป็นเมียคนปัจจุบันที่เข้าใจผิด สังหารเขาด้วยฤทธิ์หึงหวง ผัวเก่ากลายเป็นเป้าหมายเพราะเธอคิดว่า เขาควรจะได้รับกรรมตอบสนองจากการยึดเอาทรัพย์สินและสมบัติทุกอย่างไปจนทำให้เธอและลูกตกระกำลำบาก ไม่มีแม้บ้านจะอยู่

เหยื่ออีก 7 คนที่เป็นผู้ข่มขืนมธุรสและน้ำผึ้งโดยตรง ที่อยู่นอกคุก 4 คนถูกกำจัดก่อน ส่วนอีก 3 คนจะต้องรอให้ออกจากคุก ทั้ง 7 ต่างมีพื้นเพที่เต็มไปด้วยความเลวร้าย มีประวัติพัวพันยาเสพติด หลอกผู้หญิงไปขายซ่อง ลักรถไปขาย บางคนบ้าผู้หญิง บางคนบ้าเงิน รุ่งฤดีต้องใช้ 2 สิ่งเหล่านี้เป็นเหยื่อล่อ ที่เหลือเชื่อก็คือภารกิจของเธอประสบความสำเร็จ เธอพรากชีวิตเดนมนุษย์เหล่านั้นด้วยวิธีที่ต่างกันไป ตั้งแต่การกดด้วยหมอนแล้วยิงทิ้ง เสียบด้วยมีดไปที่หัวใจ การบดอัดหน้าจนแหลกเละด้วยเครื่องถ่วงล้อ ผูกไว้กับรางรถไฟให้รถไฟทับ รดน้ำกรดใส่บาดแผลที่ถูกแทง ตัดเส้นเอ็นข้อเท้า และคนสุดท้ายที่เป็นหัวหน้าคือ ยาพิษ

ระหว่างที่รุ่งฤดีฆ่าเหยื่อไปทีละคน มธุสรจะไปเยี่ยมลูกพร้อมกับตุ๊กตาที่มีรอยบาดแผลเดียวกับศพของเหยื่อ และจุดนั้นได้เชื่อมโยงความรู้สึกที่เหมือนจะต่อกันติดระหว่างแม่กับลูกด้วยความรุนแรงและความแค้น ยิ่งครั้งหลังๆ รุ่งฤดี พาน้ำผึ้งไปอยู่ในการก่ออาชญากรรม บางครั้งใช้เป็นเหยื่อล่อด้วยซ้ำไป น้ำผึ้งจึงกลายเป็นเหยื่อความรุนแรงของแม่ของตัวเอง กลายเป็นหนึ่งในเครื่องจักรของการล้างแค้น ความจริง การที่มธุสรเลือกที่จะตัดเส้นประสาทของลูก เพื่อให้ลูกสงบและลบความทรงจำไป ได้ทำให้น้ำผึ้งกลายเป็นหุ่นยนต์ เป็นเรือนกายที่ว่างเปล่าไปตั้งแต่นั้นแล้วด้วยซ้ำ

แต่หลังจากที่ล้างแค้นครบทั้งหมดแล้ว มธุสรถูกตำรวจสืบตามร่องรอยได้ อย่างไรก็ตามเมื่อครั้นเข้าถึงตัว มธุสรอยู่ตรงนั้นเพียงแต่เรือนร่าง แต่ความรู้สึกนึกคิดของเธอได้กลายเป็นรุ่งฤดีไปเสียแล้ว เพราะมธุสรไม่สามารถแปลงร่างกลับมา และติดกับอยู่ในสภาพของรุ่งฤดี มิหนำซ้ำยังเป็นรุ่งฤดีที่อยู่ในโลกซึ่งปิดกั้นตัวเองจากโลกภายนอก กลายเป็นหญิงที่ไม่อาจกลับมาสู่โลกแห่งความเป็นจริงอีกต่อไป รุ่งฤดีได้ก้าวข้ามการถูกลงทัณฑ์จากกฎหมาย เพราะกลายเป็นคนไม่ปกติ กลายสภาพเป็นคนนอก เป็นผีที่ล้างแค้นสำเร็จ ส่วนน้ำผึ้งก็มีสภาพที่ไม่ต่างกันนัก

ความรุนแรงที่ปรากฏในนิยายเช่นนี้ เกิดขึ้นก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 และถูกนำมาทำเป็นหนังหลัง 6 ตุลาฯ เพียงหนึ่งปี ความรุนแรงของ ล่า คือความรุนแรงของปัจเจกชนที่ลัดวงจร ไม่จำเป็นต้องพึ่งพารัฐ การฆ่าจะบาปหรือไม่ ไม่รู้ แต่มันคือ การแก้ปัญหาที่มีความชอบธรรมมากพอ แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องแลกกับสิ่งอื่นที่มีมูลค่าสูงเสียดฟ้า แม้จะละเมิดศีลธรรม

ในนิยายได้พิพากษารุ่งฤดีด้วยการทำให้มธุสรกลายเป็น ‘คนบ้า’ แต่กระนั้น ความรุนแรงจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เราไม่รู้และอาจไม่จำเป็นต้องรู้ว่ากฎแห่งกรรมทำงานอย่างไร สิ่งที่ควรจะเป็นคือ การชำระสะสางด้วยหลักยุติธรรม แม้ว่ามันจะล่าช้าเพียงใดก็ตาม


[1] ดิเรก หงษ์ทอง, ปุณนภา บุญญากิจโสภา และภควดี จรูญไพศาล, “นวนิยายเรื่อง ‘ล่า’ ของทมยันตี: การตีความและการเล่นทางภาษากับชื่อของตัวละครเอกหญิง”, Journal of Social Sciences and Humanities Research in Asia, 26 : 1 (มกราคม – สิงหาคม 2563) : 105 และ สะเลเต (นามแฝง). “‘ความพยาบาทเป็นของหวาน’ ทำความรู้จัก ‘ล่า’ ละครระดับตำนานจากปลายปากกา ทมยันตี”. สืบค้นเมื่อ 14 เมษายน 2566 จาก https://thestandard.co/effects-and-aftermath-of-rape/ (13 ธันวาคม 2560)

[2] ทมยันตี (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 112-113

[3] ทมยันตี (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 282

[4] ทมยันตี (นามแฝง), ล่า (พิมพ์ครั้งที่ 11, กรุงเทพฯ : ณ บ้านวรรณกรรม, 2562), หน้า 301

[5] ทมยันตี (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 143

[6] ทมยันตี (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 171

[7] ทมยันตี (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 158

[8] ทมยันตี (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 144

[9] ทมยันตี (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 69

[10] Prepanod Nainapat. “แปลงร่าง! 20 มาสค์ไรเดอร์ กับ 18 ปี ของการเปลี่ยนแปลงไอ้มดแดงในยุคเฮย์เซย์”. สืบค้นเมื่อ 13 เมษายน 2566 จาก https://thematter.co/entertainment/20-masked-riders-of-heisei-era/57931(21 สิงหาคม 2561)

[11] ทมยันตี (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 210

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save