fbpx

“แม่ฮะ…พุติดยา” ละครชีวิตซ้อนชีวิตของน้ำพุ และสุวรรณี สุคนธา

คนรุ่นหลังอาจไม่คุ้นกับสุวรรณี สุคนธาเท่ากับชื่อของ ‘น้ำพุ’ วงศ์เมือง นันทขว้าง ผู้เป็นลูก ซึ่งกลายเป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดี ถูกเสนอภาพว่าเป็นวัยรุ่นผู้หลงผิด ติดยาเสพติด เสพยาเกินขนาดจนตัวตาย เพราะครอบครัวมีปัญหา พ่อแม่หย่าร้างกัน

เรื่องของน้ำพุถูกตีพิมพ์อย่างเป็นทางการผ่านหนังสืองานศพของเขาที่มีชื่อว่า เรื่องของน้ำพุ (2517) และถูกหลอมอยู่ในนิยายของสุวรรณีชื่อว่า พระจันทร์สีน้ำเงิน (2518) เด็กหนุ่มชื่อ ‘รอม’ ก็คือ ‘น้ำพุ’ นั่นเอง ทั้งคู่เป็นวัตถุดิบที่ถูกนำมาถ่ายทอดลงบนแผ่นฟิล์มในชื่อ น้ำพุ (2527)

นอกจากคำนำและหนังสือเรื่องของน้ำพุที่เขียนด้วยสุวรรณีแล้ว จดหมายของน้ำพุที่เขียนถึงแม่ น่าจะมองในฐานะ ‘หลักฐานทางประวัติศาสตร์’ ได้ ส่วนเรื่องเล่าในนาม ‘บันทึกหน้าที่สอง’ ที่เขียนโดยสุวรรณี เป็นการเล่าชีวิตจริงผ่านรูปแบบเรื่องสั้นขึ้นมา เช่นเดียวกับนิยายหลายเรื่องของเธอที่ถูกประพันธ์ในลักษณะนิยายที่สร้างจากเรื่องจริง (based on true story) ที่พ่อครัวนำเลือดเนื้อตัวเองมาปรุงเป็นอาหารในเมนูที่เรียกว่านิยาย

เรื่องของวงศ์เมือง นันทขว้าง และยุคสมัยของเขา

เมื่อนำเอาน้ำพุ ครอบครัว และผองเพื่อนของเขามาจัดวางไว้ตามบริบททางประวัติศาสตร์ จะเห็นว่าน้ำพุเกิดในปี 2499 เติบโตมาในยุคเผด็จการเต็มใบ และยุคที่เศรษฐกิจไทยกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดดโดยเฉพาะในเขตเมือง ชนชั้นกลางกำลังขยายตัวขึ้นมาตั้งคำถามกับความไม่ชอบมาพากลของระบบการปกครอง การมีอิทธิพลของสหรัฐอเมริกา และการคอร์รัปชันของเหล่าข้าราชการ สิ่งเหล่านี้นำไปสู่การตื่นตัวทางการเมืองแบบเสรีนิยม และนำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

เรื่องของน้ำพุไม่ปรากฏว่าอยู่ในขบวนการนักศึกษา หรือความเคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆ น้ำพุกลายเป็นปัจเจกโดดเดี่ยวที่ว่ายอยู่ท่ามกลางทะเลแห่งความเปลี่ยวเหงา แม่อันเป็นที่รักของเขาก็วุ่นวายอยู่กับงานเขียน และภาระหน้าที่เพื่อนำรายได้มาสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัว วงเพื่อนของเขาก็ไม่ใช่เด็กผู้ยากไร้หรือด้อยโอกาสอะไร คำบรรยายถึงเพื่อนน้ำพุผ่านสายตาของแม่ ชี้ให้เห็นว่าพวกเขาล้วนเป็นลูกคนมีเงินแทบทั้งสิ้น การเข้าถึงยาเสพติดในยุคนั้นหมายถึงชีวิตที่มีเวลาว่างและเงินมากพอที่จะแสวงหาความสุขจากสิ่งเหล่านี้ น้ำพุเติบโตมาในยุคที่ข้าราชการเป็นใหญ่ ระบบอำนาจนิยมเป็นเครื่องมือจัดระเบียบสังคมให้สงบเรียบร้อย และประชาธิปไตยยังเป็นความแปลกปลอม

สุวรรณีเขียนเรื่องสั้นถึงน้ำพุที่ชื่อว่า ‘บันทึกหน้าที่สอง’ ลงวันที่ไว้ ณ 1 มีนาคม 2515 เล่าผ่านมุมมองของน้ำพุเมื่อวันที่เขาถูกตำรวจจับพร้อมกับเพื่อน เรื่องสั้นเขียนไต่บนความพร่าเลือนของความจริงและเรื่องแต่ง คดีอื้อฉาวที่ลงพาดหัวตัวไม้ในหน้าหนังสือพิมพ์ก็ไม่แน่ใจนักว่าเป็นข้อเท็จจริงแค่ไหน แต่เป็นที่น่าสะกิดใจมาก

ตัวบทเล่าว่าพ่อของเพื่อนคนหนึ่งที่เป็นเจ้าของบ้านที่น้ำพุไป ‘มั่วสุม’ เล่นยา โทรศัพท์แจ้งตำรวจให้จับพวกเขา ในยุคดังกล่าว การที่ถูกตำรวจซ้อมด้วยการเตะเข้าที่ท้องน้อย ปลายคาง หรือบีบไข่ แม้จะน่ารังเกียจแต่ก็ไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่โตอะไร ในสายตาของพวกถูกกระทำเองอาจคิดด้วยว่า นั่นคือมาตรการสั่งสอนให้พวกเขาเข็ดหลาบ สาสมกับที่ได้ทำอะไรแผลงๆ อย่างเล่นยาเสพติดที่จะทำลายอนาคตของเขาและอนาคตของชาติ ทุกคนถูกนำขึ้นศาลคดีเด็กและเยาวชน และถูกตัดสินว่าจะต้องถูกดัดสันดานในบ้านเมตตาสำหรับผู้ชาย และบ้านปรานีสำหรับฝ่ายหญิง ที่นั่นไม่อาจทำให้เขาสำนึก แม้ว่าจะถูกเปลี่ยนรูปกายด้วยการกล้อนผมให้สั้นเกรียนก็ตาม

น้ำพุมีผลงานเขียนอยู่สามชิ้นนั่นคือ บันทึก ‘ครอบครัวของข้าพเจ้า’ เรื่องสั้น ‘พฤติกรรมของวัยรุ่น’ และ ‘จดหมายจากน้ำพุถึงแม่’ 10 ฉบับที่เขียนจากถ้ำกระบอก สำหรับเขาที่เป็นลูกชายติดแม่ น้ำพุอยากได้การยอมรับ อยากให้แม่ผู้รักในงานเขียนสนใจตีพิมพ์ต้นฉบับของเขา

แต่เสียงของน้ำพุเหมือนจะถูกละเลยมาตลอดเมื่อตอนเขามีชีวิต ถ้อยคำในจดหมายที่เขียนถึงแม่จากถ้ำกระบอกช่างแสดงความน้อยเนื้อต่ำใจได้ดี “แม่ไม่จำเป็นต้องตอบจดหมายพุก็ได้ เพราะตัวหนังสือของแม่มีค่าทุกตัว พุพอใจที่จะเขียนถึงแม่ฝ่ายเดียว” ในหนังสือยังมีการสแกนจดหมายต้นฉบับ จะพบว่าข้อความนี้ถูกขีดฆ่าทิ้งไปด้วย ก็ไม่แน่ใจว่าเป็นน้ำพุขีดเองหรือใคร[1] สุวรรณีกล่าวอย่างสำนึกเสียใจว่า “น้ำพุถามแม่และเพื่อนร่วมงานแม่บ่อยๆ เมื่อไรจะลงเรื่องของพุสักทีนะ” [2]

น้ำพุกล่าวใน ‘ครอบครัวของข้าพเจ้า’ ว่า เกิดในกรุงเทพฯ เมื่อ 17 ปีมาแล้ว เท่ากับว่างานชิ้นนี้เขียนเมื่อราวปี 2516 เป็นบันทึกถึงครอบครัวสั้นๆ ที่แนะนำตัวเองและชี้ให้เห็นว่า “ไม่มีใครเข้าใจข้าพเจ้านอกจากแม่…” และอธิบายไปถึงพี่สาว และน้องสาวอีกสองคน แต่ใน ‘พฤติกรรมของวัยรุ่น’ กลับเป็นเรื่องสั้นที่น้ำพุเล่าผ่านตัวละครเอกชื่อ ‘จัตวา’ ที่มีวิธีการเขียนคล้ายสุวรรณี คือนำเอาชีวิตเลือดเนื้อของตัวเองเติมเข้าไปในนั้น

ช่วงแรกของ ‘พฤติกรรมของวัยรุ่น’ เล่าถึงตัวเอกที่มีพ่อแม่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยและมีชื่อเสียง ก่อนจะแยกทางกัน จนทำให้จัตวาเกิดปมด้อย จัตวาเรียนในโรงเรียนเอกชนย่านสุขุมวิทที่เต็มไปด้วยลูกหลานคนรวย เขาคบกับลูกหัวหน้าศาลฎีกา สำมะเลเทเมาเสพยาติดจนถูกตำรวจจับและส่งเข้าบ้านเมตตา อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นเพื่อนสนิทคนดังกล่าวก็ปรับปรุงตนเองใหม่ ส่วนจัตวายังดำดิ่งลงไปติดเฮโรอีน และต้องชิงทรัพย์เพื่อนำไปซื้อยา จนในที่สุดก็ฆ่าเจ้าทรัพย์ตาย ส่วนเขาต้องติดคุก ไม่แน่ใจว่าต้นฉบับถูกเขียนขึ้นปีไหน แต่จุดจบของเรื่องช่างเป็นตลกร้าย เพราะพฤติกรรมของจัตวานั้นไปพ้องกับคดีฆาตกรรมของสุวรรณีในปี 2527 อย่างน่าสะท้อนใจ

ส่วนที่มาของจดหมาย มาจากความใฝ่ดีของเขาที่อยากจะเลิกเฮโรอีนด้วยการไปที่สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก สระบุรี พร้อมกับเพื่อนรักของเขา ที่แห่งนี้น้ำพุมีโอกาสสงบจิตสงบใจ และเขียนจดหมายหาแม่ จดหมายเริ่มตั้งแต่วันแรกจนถึงวันที่ 10 เป็นบันทึกจากประสบการณ์จริงที่มีเนื้อหามากที่สุดในสามงานเขียนของเขา เมื่อแกะดูจดหมายจะเห็นถึงการบรรยายกิจกรรมภายในถ้ำกระบอกที่มีพระสงฆ์เป็นผู้บริหาร ผู้ติดยาจะต้องผ่านกิจกรรมกิน ‘ยาอ้วก’ คือ ยาสมุนไพรที่ผู้บำบัดดื่มไปแล้วจะกระหายน้ำ เมื่อดื่มไปมากๆ ก็จะอาเจียนออกมาจนหมดเรี่ยวหมดแรง และลดอาการ ‘เสี้ยนยา’ ลงไป นอกจากนั้นก็ยังเล่าถึงการพบปะผู้คนที่เข้ามาบำบัดมาว่ามีทั้งชายและหญิง พระที่มาบวชบางคนก็เคยเป็นผู้บำบัดที่มีทั้งพระไทยและพระฝรั่ง ที่น่าสนใจคือน้ำพุเล่าว่าแม้เขาจะเสพ ‘แค็ป’ (เฮโรอีน) แต่เขาใช้วิธีการสูบ (นำเฮโรอีนยัดไส้บุหรี่) ไม่กล้าฉีดเข้าเส้น

ในบันทึกที่ถ้ำกระบอกได้ลงท้ายไว้ว่า กุมภาพันธ์ 2517 ซึ่งเป็นหนึ่งเดือนก่อนที่ครอบครัวจะพบว่าเขาช็อคอยู่ห้องนอนและเสียชีวิตในเวลาต่อมา หนึ่งเดือนหลังกลับจากถ้ำกระบอก ไม่มีข้อมูลว่าน้ำพุคิดอะไรยังไง กลับไปเสพยาอีกครั้งหรืออย่างไร หรือกระทั่งการเล่าว่า น้ำพุใช้ยาเสพติดใดในวันที่จาก เพียงแต่ทางบ้านลงความเห็นว่าเขาจากไปเพราะยาเสพติด

ตัวตนของ ‘น้ำพุ’ ในทศวรรษ 2520

ประเด็นยาเสพติดกลายเป็นเรื่องใหญ่ในสังคมไทยมากขึ้น คณะกรรมการปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ที่ตั้งขึ้นในปี 2519 ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2519 แสดงถึงความจริงจังในการแก้ปัญหา เช่นเดียวกับพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522

สถิติในปี 2525 ระบุว่ามีผู้ติดยาเสพติดที่เข้ารับการบำบัดกว่า 31,482 คน จากสถานบำบัด 86 แห่ง เป็นเพศชายร้อยละ 95 อายุระหว่าง 14-25 ปี ส่วนใหญ่มีการศึกษาระดับประถม รายได้ต่ำ รองลงมาคือผู้ว่างงาน นักเรียน นักศึกษา ผู้รับการรักษาที่ติดเฮโรอีนมีมากถึง 90.23 [3] อาจตีความได้ว่ายาเสพติดแพร่หลายและเคลื่อนมาสู่ครอบครัวชนชั้นล่างมากขึ้น

เพลง ‘เอาไปเผา’ ของวงดนตรีเด็กที่คนยุคก่อนรู้จักกันดีในนาม XYZ ในปี 2525 มีเนื้อหาต่อต้านยาเสพติด ดังท่อนฮุกที่ว่า “ต่อต้านต่อต้านยาเสพติด เอาไปเผา เอาไปเผา ทิ้งลงทะเล” ก็ได้รับรางวัลจาก ป.ป.ส. ก่อนหน้าในหนังสือเรียนภาษาไทยระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เล่ม 1 (พิมพ์ครั้งที่ 2 ปี 2524) มีเนื้อหาต่อต้านยาเสพติดสอนใจเด็กอย่างตรงไปตรงมา ในตอนที่ชื่อว่า ‘ลูกกวาดมหาภัย’ [4] ที่เล่าเรื่องของเด็กนักเรียนคนหนึ่งที่ติดยาเสพติดแต่ไม่มีเงินซื้อจึงต้องลักขโมยเงินและสิ่งของของเพื่อนนักเรียนด้วยกันซึ่งก็ถูกจับได้ในที่สุด นักเรียนถูกส่งไปบำบัด ส่วนผู้ขายก็ถูกดำเนินคดี

หากเปรียบเทียบกับประวัติศาสตร์การเมือง ปี 2525 เป็นปีที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) พ่ายแพ้อย่างเป็นทางการหลังจากประสบปัญหาอย่างหนักทั้งภายนอกภายใน และการใช้คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เพื่อรับ ‘ผู้หลงผิด’ คืนเมือง ศัตรูที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติที่เป็น ‘คอมมิวนิสต์ร้าย’ ได้หมดบทบาทลงไป[5] แต่ภัยคุกคามใหญ่หลวงที่ ‘บ่อนทำลายความมั่นคง’ กลับเป็นยาเสพติดที่ระบาดอยู่ในหมู่เยาวชนแทน ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจไทยก็เริ่มเติบโต คนในชนบทอพยพเข้าเมือง คนต่างจังหวัดอพยพเข้ากรุงเทพฯ มากขึ้นเรื่อยๆ

นี่คือสังคมไทยในช่วงก่อนที่น้ำพุจะฉาย ที่มีความตื่นตัวเรื่องยาเสพติดในระดับหนึ่งอยู่แล้ว น้ำพุ (2527) จัดฉายหลังจากน้ำพุเสียชีวิตไปราว 10 ปี กำกับการแสดงและเขียนบทโดยยุทธนา มุกดาสนิท โดยมีอำพล ลำพูน รับบท ‘น้ำพุ’ และภัทราวดี เมฆไตรรัตน์ รับบทเป็น ‘แม่’ เต๋อ เรวัติ พุทธินันท์ รับบทเป็น ‘น้ารัญ’ แฟนใหม่ของแม่ หนังเรื่องนี้ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม ว่ากันว่าทำเงินมากถึง 16 ล้านบาท ทำลายสถิติแผลเก่า 10 ล้านบาทที่ฉายในปี 2513[6]  

น้ำพุ ถูกเล่าในยุคสมัยหลังจากที่เขาจากไปหนึ่งทศวรรษ จึงไม่แปลกที่หนังมีลักษณะเป็นการเล่าผ่านประเด็นร่วมสมัยเพื่อการต่อต้านยาเสพติดมากกว่าจะเป็นหนังแนวย้อนยุค โปสเตอร์ต่อต้านยาเสพติด ปรากฏอยู่ชัดหราในซีนหนึ่ง โปสเตอร์นั้นเขียนว่า “มันใกล้ชิดคุณทุกทีแล้ว อย่าให้มันครอบงำคุณ…ยาเสพติด อันตรายต่อชีวิต” ไม่แน่ใจนักว่าเป็นโปสเตอร์ที่ผลิตโดย ป.ป.ส. หรือไม่ แต่เรารู้กันแล้วว่า ป.ป.ส. นั้นเกิดหลังปีที่น้ำพุตายเสียอีก

หนังเรื่องนี้ ทำให้ถ้ำกระบอกกลายเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะฉากกินยาอ้วก กระนั้นก็ยังเขียนถึงความเป็น ‘น้ำพุ’ ในอีกรูปแบบหนึ่งขึ้นมาด้วย เขากลายเป็นตัวละครที่ถูกเขียนขึ้นมาชั้นแรกจากบันทึกของเขา ชั้นที่สองจากบันทึกหน้าที่สองของผู้ที่เขาคิดว่าเข้าใจเขาดีที่สุด ชั้นที่สามโดยผู้กำกับและผู้เขียนบท และชั้นสุดท้ายคือ บรรยากาศบ้านเมืองขณะนั้น

วลีหนึ่งที่เป็นที่จดจำก็คือ “แม่ฮะ…พุติดยา” ซึ่งเป็นสิ่งที่น้ำพุบอกแม่ก่อนที่เขาบอกว่าจะไปเลิกยาเสพติดที่ถ้ำกระบอก ไม่เพียงเท่านั้นภาพที่น้ำพุฉีดผงขาวเข้าเส้นก่อนที่เขาจะช็อก กลายเป็นภาพอันทรงพลังที่ทำให้เห็นว่าเฮโรอีนนั้นร้ายแรงเพียงใด มีเกร็ดเล่าว่าผู้กำกับเคยทดลองฉีดเฮโรอีนเข้าเส้นภายใต้การควบคุมของแพทย์ เพื่อจะรับรู้ว่าอารมณ์ความรู้สึกของผู้เสพเป็นอย่างไร[7] บนช่องว่างของความไม่รู้ว่าน้ำพุตายด้วยยาเสพติดชนิดใด ภาษาของหนังช่วยเติมเต็มช่องว่างตรงนี้  

ไม่แน่ใจนักว่า การวิพากษ์วิจารณ์ของครอบครัวและผู้ใกล้ชิดน้ำพุในช่วงที่หนังฉายนั้นเป็นอย่างไร แต่เราพบข้อความของเบญญาในปกหลัง เรื่องของน้ำพุฯ ที่สะท้อนมุมมองของคนใกล้ชิดต่อภาพลักษณ์ของน้ำพุในหนังว่า “ที่เห็นในหนังเกเรเป็นอันธพาลคือไม่ใช่ แต่ถ้าหนังนั้นช่วยชีวิตคนได้บ้าง เราก็ไม่อยากจะว่าใคร”

ที่น่าเศร้าคือน้ำพุถูกฉายหลังจากที่สุวรรณีถูกฆาตกรรมไม่กี่เดือน คดีนี้ชี้ว่าเกิดจากการที่วัยรุ่นฆ่าชิงทรัพย์เพื่อจะนำไปซื้อยาเสพติด ยิ่งไปกว่านั้น เรื่องราวส่วนนี้ช่างคล้ายกับตอนจบของเรื่องสั้นของน้ำพุ ความตายของแม่และลูกคู่นี้จึงเป็นดุจบทละครโศกนาฏกรรมที่ไม่จบเฉพาะบนเวที แต่ยังสอดคล้องราวกับเอื้อมมาลิขิตถึงชีวิตจริงของผู้คนในครอบครัวนี้อย่างหลีกเลี่ยงมิได้

ที่มาภาพ เพจเฟซบุ๊กเมืองเก่าเล่าใหม่
ที่มาภาพ เพจเฟซบุ๊กเล่าตำนานวงการบันเทิง

[1] เรื่องของน้ำพุ วงศ์เมือง นันทขว้าง (กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร, 2565), หน้า 34, 36 แม้จะมีการตีพิมพ์ในหนังสืองานศพเมื่อปี 2517 แต่ก็มีการตีพิมพ์และปรับปรุงหลายครั้ง ในฉบับปี 2565 มีการเพิ่มเติมเนื้อหาของ เบญญา นันทขว้าง น้องคนสุดท้องในปี 2558 ในส่วน “เล่าเรื่องครอบครัว” ที่เล่าถึงชีวิตของครอบครัวและจบลงที่ความสูญเสียของครอบครัวกรณีน้ำพุ, สุวรรณี สุคนธา และศิริสวัสดิ์ พันธุมสุด

[2] เรื่องของน้ำพุ วงศ์เมือง นันทขว้าง, เรื่องเดียวกัน, หน้า 11

[3] กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ, หนังสือเรียนภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เล่ม 1 (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ, 2524), หน้า 118-126

[4] อรสา ปานขาว, พฤติกรรมการยอมรับสารด้านการป้องกันยาเสพติดทางวิทยุ และโทรทัศน์ของประชาชน ในเขตชุมชนแออัดคลองเตย วิทยานิพนธ์นิเทศศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาการประชาสัมพันธ์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2527, หน้า 2-3

[5] อ่านเพิ่มเติมใน ธิกานต์ ศรีนารา, หลัง 6 ตุลาฯ ว่าด้วยความขัดแย้งทางความคิดระหว่างขบวนการนักศึกษากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพฯ : สยามปริทัศน์, 2562)

[6] ณ.คอน ลับแล (นามแฝง) . “น้ำพุ (1984)”. สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2566 จาก https://raremeat.blog/น้ำพุ-1984/  (16 มีนาคม 2561)

[7] ณ.คอน ลับแล (นามแฝง) . “น้ำพุ (1984)”. สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2566 จาก https://raremeat.blog/น้ำพุ-1984/  (16 มีนาคม 2561)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save