fbpx

ขวากหนามบนเส้นทางการต่อสู้เพื่อ ‘สิทธิทำแท้ง’ ในสังคมที่ยึดมั่นด้วย ‘ศีลธรรมอันดี’ – กฤตยา อาชวนิจกุล

หนึ่งในสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกายสตรีที่มีประวัติศาสตร์การต่อสู้อันยาวนานเรื่องหนึ่งในสังคมไทย คงหนีไม่พ้นการต่อสู้เพื่อ ‘สิทธิทำแท้ง’ ของผู้หญิง กระทั่งเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นวันที่กฎหมายทำแท้งฉบับใหม่มีผลใช้บังคับ โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ.2564 สาระสำคัญของกฎหมายใหม่คือการเปิดให้มีการทำแท้งได้ตามความต้องการของผู้หญิง โดยไม่มีความผิดทั้งผู้หญิงและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้งที่ชอบด้วยกฎหมาย นับว่าเป็นชัยชนะของกลุ่มต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีซึ่งสู้เรื่องนี้มาเป็นเวลานาน โดยเนื้อหาของกฎหมายใหม่สรุปความได้ดังนี้

1) ผู้หญิงที่อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ (3 เดือน) ทำแท้งเองหรือไปให้แพทย์ทำแท้งได้ไม่มีความผิดใดๆ อีกต่อไป เรียกว่าการทำแท้งตามคำขอของหญิง (on request) ตามมาตรา 301

2) ผู้หญิงที่อายุครรภ์เท่าใดก็ได้ที่ตั้งครรภ์ต่อไปแล้วจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพกายหรือจิตใจของผู้หญิงเอง สามารถให้แพทย์ทำแท้งได้ ตามมาตรา 305 (1)

3) ผู้หญิงที่อายุครรภ์เท่าใดก็ได้ที่หากคลอดออกมาแล้วทารกจะมีความผิดปกติถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง ก็สามารถให้แพทย์ทำแท้งได้ ตามมาตรา 305 (2)

4) ผู้หญิงที่อายุครรภ์เท่าใดก็ได้ที่ตั้งครรภ์เพราะถูกกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ เช่น ถูกข่มขืนกระทำชำเรา สามารถให้แพทย์ทำแท้งได้ ตามมาตรา 305 (3)

5) ผู้หญิงที่อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ (3 เดือน) แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ (5 เดือน) ที่ได้รับคำปรึกษาจากแพทย์หรือผู้ประกอบวิชาชีพอื่นตามที่กฎหมายกำหนด สามารถให้แพทย์ทำแท้งได้ ตามมาตรา 305 (5) ซึ่งเรียกว่าการทำแท้งตามคำขอของผู้หญิง (on request) อีกมาตราหนึ่งเช่นเดียวกัน แต่อายุครรภ์ที่มากขึ้นช่วงนี้จะต้องผ่านกระบวนการให้คำปรึกษาทางเลือก (counselling) ก่อนที่จะทำแท้ง

แม้จะเห็นได้ว่าอัตราโทษลดลงจากประมวลกฎหมายอาญาเดิม ทว่าการยังคงกำหนดโทษสำหรับผู้ทำแท้งที่มีอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์อาจยิ่งเป็นผลักให้เกิดการทำแท้งนอกระบบมากขึ้น เพราะอีกความเป็นจริงหนึ่งที่เกิดขึ้นในสังคมคือ หากผู้ที่ต้องการทำแท้งไม่ได้ติดต่อไปยังหาองค์กรที่ทำงานเรื่องนี้ เช่น เครือข่ายท้องไม่พร้อมฯ กลุ่มทำทาง หรือสายด่วนท้องไม่พร้อม 1663 ฯลฯ ก็แทบจะไม่มีช่องทางรับข้อมูลเกี่ยวกับการทำแท้งที่ถูกต้อง กระทั่งชื่อโรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่ทำแท้งถูกกฎหมายก็เข้าถึงได้อย่างยากลำบาก

กระทั่งจนถึงวันนี้ ยิ่งไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ‘การทำแท้ง’ ในสายตาของหลายคนในสังคมยังคงมีประเด็นเรื่องผิดศีลธรรมอันดี อันเป็นเรื่องที่สังคมไทยยึดมั่นถือมั่น จนพลอยเกิดเป็น ‘ตราบาป’ ต่อผู้ที่เคยทำแท้งหรือแม้แต่ต้องการจะทำแท้ง ในความเชื่อมโยงของการท้องไม่พร้อม การทำแท้ง และสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกายผู้หญิง ไปจนถึงนิยามความเป็นแม่ที่สะท้อนว่าหลายครั้งหลายครา ในสังคมที่เราดำรงและเติบโตมา ร่างกายของผู้หญิงกลับกลายเป็นเพียงพื้นที่รองรับระบบความคิดอุดมการณ์ของสังคมหลายอย่าง ทั้งอุดมการณ์เรื่องเพศ อุดมการณ์ชายเป็นใหญ่ และอุดมการณ์ครอบครัวสมบูรณ์ จนทำให้ผู้หญิงไม่สามารถแสดงออกความตั้งใจหรือตัดสินใจในเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ของตัวเองที่ต่างไปจากที่สังคมกำหนดได้

แม้เส้นทางแห่งการต่อสู้เพื่อสิทธิทำแท้งนี้จะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ซ้ำยังเต็มไปด้วยขวากหนามและทางเดินอันขรุขระ ถึงกระนั้น หลายต่อหลายองค์กรและกลุ่มคนที่เชื่อมั่นในสิทธิเสรีภาพของสตรีก็ยังคงไม่ย่อท้อที่จะงัดข้อกับอำนาจและกฎหมายที่กดทับชีวิตของผู้หญิงไว้

101 สนทนากับ รองศาสตราจารย์ ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม (Choices Network) ถึงแนวทางการต่อสู้ต่อประเด็นดังกล่าว ความคิดเห็นต่อสถานการณ์ทำแท้งที่เกิดขึ้น ไปจนถึงภาพอนาคตที่ยังคงเต็มไปด้วยความหวังต่อสิทธิสตรี

อยากให้ช่วยเริ่มต้นเล่ากระบวนการทำงานผลักดันสิทธิการทำแท้งขององค์กรท้องไม่พร้อมว่ามีที่มาที่ไปจากอะไร และมีแนวทางการทำงานอย่างไรบ้าง

เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม (Choices Network) ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2550 มีองค์กรที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกประมาณ 80 องค์กร ทั้งสถานพยาบาลเอกชน องค์กรที่ทำงานด้านเด็กและสตรี ไปจนถึงองค์กรที่ทำงานด้านสุขภาพ โดยพวกเราจะทำงานขับเคลื่อนไปด้วยกัน เนื่องจากตัวเครือข่ายท้องไม่พร้อมไม่ได้มีคณะทำงานโดยตรง มีแต่ตัวผู้ประสานงานซึ่งก็คือเรา เราจึงคอยทำงานช่วยเหลือให้ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมสามารถเข้าถึงทุกทางเลือกเมื่อเกิดสภาวะตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม เช่น ถ้าเขาต้องการยุติการตั้งครรภ์ ก็ต้องเป็นการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย หรือแม้แต่ถ้าเขาต้องการท้องต่อ แต่ประสบปัญหาเรื่องการเลี้ยงดูลูก เรื่องค่าใช้จ่าย หรือปัญหาใดๆ ก็ต้องมีบริการของรัฐและสวัสดิการต่างๆ เข้ามาโอบอุ้มเขา

โดยภาพรวม เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมทำงานทั้งหมดสี่ด้าน ด้านแรกคือการประสานและส่งต่อการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยและถูกกฎหมาย ด้านที่สองคือเรื่องจัดการบ้านพักและดูแลการท้องต่อ ด้านที่สามคือให้ความรู้เรื่องการคุมกำเนิดต่างๆ และด้านสุดท้ายคือการให้ความรู้และขับเคลื่อนนโยบายเกี่ยวกับ sex education หรือเพศศึกษารอบด้าน 

ในการทำงานสี่ด้านนี้ งานที่ยากที่สุดคือการผลักดันเรื่องท้องต่อ เพราะในยุคสมัยนี้การท้องต่อในสภาวะไม่พร้อมไม่ใช่เรื่องง่าย ส่วนงานที่เราประสบความสำเร็จมากที่สุด ซึ่งเป็นด้านเดียวกันกับตอนที่เราเริ่มทำงานแล้วรู้สึกว่าน่าจะขับเคลื่อนยากที่สุด คือการผลักดันเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายสิทธิการตัดสินใจในเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และที่สำคัญที่สุดคือการยุติการตั้งครรภ์หรือการทำแท้งจะต้องไม่เป็นอาชญากรรม 

เพราะฉะนั้น เวลาเราต่อสู้เรื่องการแก้กฎหมาย ณ ตอนนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือเรากำลังต่อสู้เพื่อต้องการลบล้างมาตรา 301 ในประมวลกฎหมายอาญา ที่กำหนดให้หญิงที่ทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูกขณะมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ โดยที่ไม่เข้าเงื่อนไขอื่นๆ ตามมาตรา 305 มีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่เรากำลังทำสิ่งที่เรียกว่า decriminalization หรือการทำให้ไม่เป็นอาชญากรรม ซึ่งข้อนี้เรายังทำไม่สำเร็จ แต่เราประสบความสำเร็จครึ่งทาง คือตัวประมวลกฎหมายอาญาที่มีการแก้ไขล่าสุดเมื่อปี 2564 ได้ขยายสิทธิให้ผู้หญิงสามารถยุติการตั้งครรภ์ของตัวเอง คือสามารถทำแท้งได้เมื่อรู้ตัวเองว่าท้องแล้วภายใน 12 สัปดาห์ 

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากว่าอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ขึ้นไป ก็ยังมีมาตรา 305 (5) กำหนดไว้ว่าผู้หญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ และยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ภายหลังการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด โดยคำแนะนำของแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ยังคงสามารถทำแท้งได้อย่างถูกกฎหมาย

ในขณะที่มาตรา 305 (1) (2) (3) (4) เป็นมาตราที่ไม่กำหนดอายุครรภ์ คือถ้าผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมมีปัญหาเหล่านั้น ไม่ว่าอายุครรภ์เท่าไรก็สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ ถ้าทางสถานพยาบาลสามารถให้บริการได้ ได้แก่ 

(1) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากหากหญิงตั้งครรภ์ต่อไปจะเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายต่อสุขภาพทางกายหรือจิตใจของหญิงนั้น 

(2) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากมีความเสี่ยงอย่างมากหรือมีเหตุผลทางการแพทย์อันควรเชื่อได้ว่าหากทารกคลอดออกมาจะมีความผิดปกติถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง

(3) หญิงยืนยันต่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมว่าตนมีครรภ์เนื่องจากมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ

(4) หญิงซึ่งมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ สามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย

ที่อยากจะชี้ให้เห็นเป็นพิเศษคือข้อที่สาม อันระบุว่าสามารถทำแท้งได้หากการตั้งท้องนั้นเกิดจากการกระทำความผิดทางอาญาทางเพศโดยที่ไม่ต้องแจ้งความ ขอให้เพียงผู้หญิงยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้นเอง เพราะหากเป็นกฎหมายเก่าจะมีประเด็นปัญหาว่า คดีความผิดเกี่ยวกับเพศนั้นต้องมีการดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบเป็นภาระของหญิงที่จะทำแท้งว่า ต้องพิสูจน์ถึงการกระทำผิดดังกล่าวอันอาจส่งผลต่อจิตใจ อันนี้เป็นตัวอย่างชัดเจนให้เห็นว่ากฎหมายทำแท้งที่แก้ไขล่าสุดได้ขยายสิทธิการทำแท้งเพิ่มขึ้นไปพอสมควร

อันที่จริงการให้บริการยุติการตั้งครรภ์เราต้องไม่ลืมว่า สปสช. ถือเป็นหน่วยงานหนึ่งที่น่ายกย่อง เพราะเขาเห็นสถานการณ์และปัญหาการยุติการตั้งครรภ์มาตั้งแต่ก่อนจะมีการแก้กฎหมายเมื่อปี 2564 คือ สปสช. มีนโยบายตั้งแต่ปี 2558 ให้บริการยุติการตั้งครรภ์เข้าไปอยู่ในแพ็กเกจของ PP (Prevention and Protection) ให้บริการยุติการตั้งครรภ์เป็น safe abortion service ดังนั้น ถ้าผู้หญิงต้องการเข้ารับบริการยุติการตั้งครรภ์ในโรงพยาบาลจะสามารถเบิกได้รายละ 3,000 บาท เช่น สมมติเบิกได้ 3,000 บาท ถ้าค่าบริการ 5,000 บาท เขาก็จะคิดคุณแค่ 2,000 บาท เป็นต้น

ขณะเดียวกัน สปสช. ก็มีงบประมาณในการสนับสนุนบริการเกี่ยวกับเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิง เช่น ฝังยาคุมเบิกได้ 2,500 บาท จำนวนค่าใช้จ่ายเหล่านี้เป็นรายได้ที่เพิ่มเข้ามาในการให้บริการของสถานพยาบาลที่ร่วมรายการ นี่คือบริการที่มีมาตั้งแต่ก่อนแก้กฎหมายด้วยซ้ำ

ถ้าเทียบตัวบทกฎหมายเก่ากับที่แก้ไขล่าสุดเมื่อปี 2564 จะพบว่ามาตรา 301 ลดอัตราโทษลงจากประมวลกฎหมายอาญาเดิมพอสมควร แต่ถึงกระนั้นก็ยังเป็นจุดที่แสดงให้เห็นว่าการทำแท้งในบางกรณีก็ยังมีความผิดอยู่ ตรงนี้อยากให้อาจารย์ช่วยขยายความปัญหาของการมีมาตรา 301 ในประมวลกฎหมาย

ถึงอย่างไรเราก็มองว่าการยุติการตั้งครรภ์หรือการทำแท้งเมื่อไม่พร้อมไม่ควรเป็นอาชญากรรม เพราะถ้าการทำแท้งในอายุครรภ์ต่ำกว่า 12 สัปดาห์ไม่เป็นอาชญากรรม การทำแท้งในอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ก็ต้องไม่เป็นอาชญากรรมด้วยเช่นกัน ดังนั้น การลบมาตรา 301 ออกไปจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุด คือต้องไม่มีการเอาผิดคนที่ทำแท้งเลย อย่างกฎหมายในหลายประเทศ เช่น ประเทศแคนาดาไม่มีกฎหมายทำแท้งเลยด้วยซ้ำ เขามีแต่กฎของกระทรวงสาธารณสุขที่กำหนดแนวทางการให้บริการทำแท้ง พูดง่ายๆ ว่าที่แคนาดาลบเรื่องอาชญากรรมเกี่ยวกับเรื่องการทำแท้งออกไปจากกฎหมายอาญาเลย แต่ของเราการเอาผิดคนทำแท้งยังคงอยู่ในประมวลกฎหมาย แม้แก้กฎหมายไปแล้วแต่ก็ยังอยู่ที่เดิม คืออยู่ในมาตรา 301 เพียงแต่ลดอัตราโทษลง

นอกเหนือจากการกำหนดโทษในมาตรา 301 แล้ว อาจารย์มองว่า ณ ปัจจุบันยังมีช่องโหว่อะไรอีกบ้างที่ทำให้ผู้หญิงไม่สามารถเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยและถูกกฎหมายได้

จริงๆ แม้แต่มาตรา 305 (5) ในทางปฏิบัติก็ยังมีช่องโหว่ เพราะในรายละเอียดบอกว่าผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมในอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ และต้องการยุติการตั้งครรภ์ เขาต้องไปที่สถานพยาบาลและเข้ารับการให้คำปรึกษาทางเลือก โดยผู้ให้คำปรึกษาทางเลือกในทางกฎหมายจะมีระบุไว้ว่าต้องเป็นผู้ประกอบวิชาชีพใดบ้าง และต้องผ่านการเทรนการให้คำปรึกษาทางเลือก ตรงนี้ในทางปฏิบัติจริงยังมีปัญหาอยู่มาก และผู้หญิงส่วนใหญ่มักจะถูกปฏิเสธจากทางโรงพยาบาล แต่สถานพยาบาลที่เข้าใจสิทธิของผู้หญิงในการยุติการตั้งครรภ์ก็ยังคงให้บริการอย่างสม่ำเสมอ

ทว่าปัญหาที่เกิดขึ้นคือต่อให้แก้ไขกฎหมายใหม่มาแล้ว แพทย์ที่ไม่สะดวกใจจะให้บริการยุติการตั้งครรภ์ ถึงอย่างไรเขาก็ไม่ทำ ต่อให้มีกฎหมายใหม่มาก็ไม่ยอมทำให้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎเกณฑ์ภายในของหลายสถานพยาบาลที่กีดกันผู้หญิงหลายคนจากการเข้ารับบริการยุติการตั้งครรภ์ เช่น สถานพยาบาลบางแห่ง ถ้ามีคนเข้ามาติดต่อขอรับบริการยุติการตั้งครรภ์ ไม่ว่าคุณจะอายุครรภ์เท่าไหร่ คุณต้องผ่านการพิจารณาจากกรรมการของสถานพยาบาลนั้นก่อน ซึ่งในความเป็นจริงกฎหมายไม่ได้ระบุไว้เลยว่าต้องมีการพิจารณาจากสถานพยาบาลก่อน แต่เมื่อสถานพยาบาลหลายแห่งมีกฎเกณฑ์ภายในเช่นนี้ ยิ่งทำให้ผู้หญิงท้องไม่พร้อมเข้าถึงบริการช้าเข้าไปอีก และการทำแท้งล่าช้านับเป็นความรุนแรงชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

ยิ่งถ้าผู้หญิงเข้ามาสถานพยาบาลในช่วงอายุครรภ์ 11 สัปดาห์ใกล้จะ 12 สัปดาห์ แล้วเขายังต้องมารอกรรมการของสถานพยาบาลพิจารณาว่าจะให้บริการได้ไหมอีก บางทีกว่าผลการพิจารณาจะออกมา อายุครรภ์เขาก็เกิน 12 สัปดาห์ไปแล้ว ทำให้เขาไม่สามารถยุติการตั้งครรภ์ตามมาตรา 305 (4) เพราะแพทย์อาจอ้างได้ว่าสถานพยาบาลแห่งนี้ไม่ให้บริการสำหรับอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แล้วก็บอกให้เขาไปเข้ารับบริการที่อื่น

เพราะฉะนั้น ในความเป็นจริงมีสถานพยาบาลจำนวนมากพอสมควรที่มีกฎเกณฑ์ภายในที่ผลักผู้หญิงท้องไม่พร้อมออกไปจากการเข้ารับบริการ หรือกฎเกณฑ์ที่สำคัญอีกอันหนึ่งที่หลายแห่งมีคือ ผู้หญิงที่ต้องการทำแท้งต้องคุมกำเนิดก่อน คือคุณต้องทำหมันหรือคุณต้องฝังยาคุมก่อน ทางสถานพยาบาลจึงจะยุติการตั้งครรภ์ให้ ไม่มากก็น้อยเรารู้สึกว่าเหมือนเป็นการยื่นหมูยื่นแมว ถ้าอยากจะยุติการตั้งครรภ์ที่นี่ก็ต้องฝังยาคุม ซึ่งบางครั้งการคุมกำเนิดด้วยวิธีเหล่านี้ส่งผลข้างเคียงทางร่างกายและจิตใจต่อผู้หญิงเช่นกัน

ในด้านนานาชาติต่อเรื่องนี้ มีข้อเสนอแนะที่สำคัญขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ในระบบโครงสร้างของกระทรวงต่างๆ ที่ทำงานด้านสาธารณสุขควรปลูกฝังหรือทำให้เกิดทัศนคติที่ว่า การบริการยุติการตั้งครรภ์เป็นการช่วยชีวิตผู้หญิง ณ ตอนนี้สถานการณ์ในประเทศไทยมักเกิดขึ้นเป็นรายบุคคล แต่ไม่เป็นในเชิงนโยบายภาพใหญ่ แม้แต่ราชวิทยาลัยสูตินรีเวชก็ยังมองว่าการที่หมอจะเลือกให้บริการหรือไม่ถือเป็นเรื่องส่วนบุคคล แพทยสภาก็มองแบบเดียวกันว่าไม่บังคับให้หมอทุกคนต้องให้บริการยุติการตั้งครรภ์ แต่ยังดีว่าแพทยสภาออกข้อบังคับมาว่าถ้าสถานพยาบาลใดไม่สะดวกให้บริการยุติการตั้งครรภ์ ก็ขอให้ส่งต่อไปยังสถานพยาบาลอื่นอย่างไม่ชักช้า 

แต่คำว่า ‘ไม่ชักช้า’ ก็ไม่มีกรอบเวลากำหนดไว้ อาจจะหมายหนึ่งเดือนหรือสองเดือนก็ได้ เพราะฉะนั้น ในความเป็นจริงควรจะกำหนดไว้เลยว่าต้องส่งต่อภายใน 24 ชั่วโมงหรือไม่เกิน 48 ชั่วโมง เนื่องจากการยุติการตั้งครรภ์ขึ้นอยู่กับอายุครรภ์เป็นสำคัญ ยิ่งอายุครรภ์ของผู้หญิงเพิ่มขึ้นทุกวัน ยิ่งทำให้ผู้หญิงเสี่ยงประสบปัญหามากขึ้นในการยุติการตั้งครรภ์ เพราะยิ่งอายุครรภ์น้อยก็ยิ่งมีความปลอดภัยสูงและเป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมายด้วย 

รวมไปถึงเรื่องบริการส่งต่อที่มีปัญหา ที่ผ่านมาเราพยายามผลักดันในระดับกระทรวงให้มีนโยบายระบบการส่งต่อออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร แต่จนถึงตอนนี้ทางกระทรวงไม่เคลื่อนไหวอะไรเลย เมื่อพูดถึงระบบการส่งต่อของสถานพยาบาล เรายืนยันเสมอว่า คุณอาจไม่สะดวกใจที่จะให้บริการยุติการตั้งครรภ์ก็ได้ แต่คุณต้องมีระบบการส่งต่อที่กำหนดเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจนในโรงพยาบาลทุกแห่งว่าถ้ามีกรณีผู้หญิงท้องและต้องการยุติการตั้งครรภ์เข้ามาแบบนี้ หากคุณไม่สามารถให้บริการกับเขาได้ คุณจะมีแนวทางส่งต่ออย่างรวดเร็วอย่างไรได้บ้าง เราต้องการคำตอบที่เป็นส่วนกลางและชัดเจนที่สุด เพื่อให้สถานพยาบาลทุกแห่งมีมาตรการการส่งต่อที่มีประสิทธิภาพเหมือนกัน เช่นเดียวกัน เราต้องการให้กระทรวงสาธารณสุขออกแนวทางส่วนกลางมาว่าโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง ถ้าคุณไม่มีศักยภาพในการบริการยุติการตั้งครรภ์ตามกฎหมายใหม่นี้ ก็ขอให้มีระบบบริการส่งต่ออย่างรวดเร็วและปลอดภัยที่สุด

อีกหนึ่งปัญหาคือในแต่ละภูมิภาคมีจำนวนสถานพยาบาลที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ไม่เท่ากัน กรุงเทพฯ มีจำนวนสถานบริการมากกว่าที่อื่น แต่กลับไม่ค่อยมีสถานบริการของรัฐ ส่วนใหญ่จะมีแต่คลินิกเอกชน ซึ่งบางที่รับแค่กรณีที่อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ และโรงพยาบาลเอกชนใหญ่ๆ หลายแห่งขณะนี้ก็รับให้บริการแค่กรณีตั้งครรภ์ภายใน 12 สัปดาห์อยู่ ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราไม่มีสถานพยาบาลที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ในทุกจังหวัด ทำให้คนที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์แต่ไม่มีสถานบริการในพื้นที่ที่อยู่ของเขา ต้องเดินทางข้ามพื้นที่หรือข้ามจังหวัด ซึ่งแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายมากมาย 

ยกตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นจริงที่อยู่ในงานวิจัยของเรา กรณีนี้เกิดที่ภาคใต้ ผู้หญิงทำอัลตร้าซาวน์แล้วพบว่าตัวอ่อนในครรภ์ของเธอมีปัญหาปากแหว่งจมูกโหว่ แต่หมอที่โรงพยาบาลแห่งนั้นไม่ทำแท้งให้ เพราะตอนนั้นเขาอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์แล้ว สามีภรรยาคู่นี้ก็ปรึกษากันและตัดสินใจว่าจะยุติการตั้งครรภ์ เมื่อไปปรึกษานักสังคม เขาก็บอกว่าถ้าอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์แบบนี้ต้องไปเข้ารับบริการยุติการตั้งครรภ์ที่กรุงเทพฯ เมื่อเขาคำนวณค่าใช้จ่ายว่าถ้าต้องเดินทางไปถึงกรุงเทพฯ ทั้งค่าบริการ ค่ากินค่าอยู่ ค่าที่พัก และค่าเดินทาง สุดท้ายเขาจึงตัดสินใจไปซื้อยาทำแท้งจากอินเทอร์เน็ตมากินเอง เมื่อสอดยาเข้าไปเพื่อพยายามทำแท้งด้วยตัวเอง ปรากฏว่าผู้หญิงคนนั้นตกเลือดมหาศาล ต้องรีบเอาตัวไปส่งโรงพยาบาลระดับอำเภอ เมื่ออำเภออุปกรณ์ไม่เพียงพอก็ต้องส่งตัวต่อมาที่โรงพยาบาลจังหวัด ซึ่งเป็นโรงพยาบาลจังหวัดที่มาเคยทำอัลตร้าซาวน์ พอหมอที่เคยทำอัลตร้าซาวน์ให้มาพบ เขาจำได้ก็ด่าผู้หญิงซ้ำอีกที่พยายามจะทำแท้ง สุดท้ายหมอต้องใช้วิธีขูดมดลูกเพื่อทำการรักษาให้ ผู้หญิงคนนี้จึงปลอดภัย

ปัญหาที่จะชี้ให้เห็นคือ คำถามสำคัญที่ว่าทำไมผู้หญิงคนนี้ถึงยอมจ่ายเงินซื้อยามาทำแท้งเองในราคา 12,000 บาท ตัวยาไม่ได้ราคาถูกเลยนะ แต่เมื่อเขาเทียบราคาของยาทำแท้งกับค่าใช้จ่ายแฝงที่สองสามีภรรยาจะต้องจ่ายเมื่อเดินทางขึ้นมาที่กรุงเทพฯ รวมกันแล้วเป็นหลายหมื่นบาท ยังไม่รวมค่าเสียเวลาเดินทางไปกลับ เมื่อคำนวณออกมาแล้ว สุดท้ายเขาจึงเลือกอีกทาง ซึ่งเป็นทางที่เขาพอจะจ่ายได้มากกว่า 

เพราะฉะนั้น คุณจะเห็นได้ว่าถึงกฎหมายจะแก้ไขมาใหม่แล้ว แต่ถ้าผู้ให้บริการหลายคนยังไม่เข้าใจและไม่มีใจจะให้บริการยุติการตั้งครรภ์ กรณีแบบนี้จึงเกิดขึ้นซ้ำๆ ขณะเดียวกันความเหลื่อมล้ำก็เกิดขึ้นซ้ำซ้อนเข้ามาอีก มีหลายคนที่ไม่อาจเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยได้ หรืออาจเข้าถึงได้แต่ไม่มีทรัพยากรและเงินมากพอที่จะเข้ารับบริการ

เราเห็นภาพชัดเจนว่ายังมีคนเข้าไม่ถึงบริการเนื่องจากความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากความไม่รู้ อยู่ในจุดที่ไม่มีสถานพยาบาลให้บริการ ถึงอยู่ในจุดที่มีสถานพยาบาลให้บริการได้ แต่หลายครั้งเจ้าหน้าที่ก็ไม่พร้อมจะให้บริการ หรือแม้แต่อยู่ในจุดที่มีการให้บริการได้ แต่ก็ให้บริการแค่สำหรับกรณีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์เท่านั้น ถ้ามากกว่า 12 สัปดาห์ต้องเดินทางออกนอกจังหวัดไปเข้ารับบริการที่อื่น กรณีเหล่านี้ยังเกิดขึ้นในสังคมไทย มีหลายปัจจัยมากที่กีดกันไม่ให้ผู้หญิงคนหนึ่งยุติการตั้งครรภ์ได้ แต่กลับมีการรณรงค์ให้ผู้หญิงมีลูกกันมากๆ ก็น่าตั้งคำถามว่าสังคมเห็นผู้หญิงเป็นอะไร เป็นเครื่องผลิตเด็กหรืออย่างไร 

เท่าที่พูดคุยกันมา เราพูดได้ไหมว่าทัศนคติของผู้ให้บริการเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงหลายคนเข้าไม่ถึงการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยและรวดเร็ว

เรื่องทัศนคติกับเรื่องความเชื่อเป็นอุปสรรคหลักหนึ่งที่ทำให้การยุติการตั้งครรภ์ในไทยยังมีปัญหา ในระดับนโยบายเราเชื่อว่าเป็นปัญหาเรื่องทัศนคติและความเชื่อของผู้บริหารองค์กรที่ไม่ยอมขยับตัวอะไรเลย ในภาพรวมก็ยังเป็นปัญหาหลักอยู่ ทั้งที่มีข้อพิสูจน์ทางการแพทย์และงานวิจัยอย่างเป็นทางการว่าการยุติการตั้งครรภ์ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ปัจจุบันปลอดภัยยิ่งกว่าการถอนฟัน ปลอดภัยยิ่งกว่าการคลอดลูกปกติด้วยซ้ำ 

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่เราทำวิจัย เราพบว่าทัศนคติของคนในสังคมก็เคลื่อนไปข้างหน้าในระดับหนึ่ง กลุ่มคนทำงานหลายคนที่เห็นปัญหาการท้องไม่พร้อมของผู้หญิงก็เริ่มเปลี่ยนแปลงทัศนคติของตัวเองนะ เช่น เร่ิมคิดว่าเขาควรจะต้องช่วยให้ผู้หญิงเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ได้ เพราะนี่เป็นเรื่องการช่วยชีวิตผู้หญิง ไม่ใช่เรื่องผิดบาปอะไรเลย จากเดิมในการทำวิจัยเก่าๆ เราพบว่าความกังวลหรือหวาดกลัวผลพลอยบาป (associated sin) ที่ทำให้เจ้าหน้าที่หลายคนไม่อยากให้บริการยุติการตั้งครรภ์ ตอนนี้ทัศนคติต่อเรื่องนี้เคลื่อนไปข้างหน้ามากขึ้น แต่ก็ยอมรับว่าเรื่องทัศนคติโดยรวมของสังคมก็เป็นอุปสรรคอยู่

อาจารย์มองว่าปัจจัยปัญหาอะไรที่ทำให้การผลักดันเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ในไทยไม่สำเร็จลุล่วงทุกด้านอย่างที่หวังไว้ และหากมองไปยังอนาคต มีประเด็นอะไรที่อาจารย์คาดหวังให้เกิดขึ้นมากที่สุด

ประเด็นสำคัญอันดับหนึ่งคือ เราหวังว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้จะไม่ถอยหลังกลับ ไม่มีความผันผวน และไม่กลับหัวกลับหางเหมือนที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา เพราะในขณะที่เราต้องการผลักประเด็นนี้ไปข้างหน้า สิ่งที่เราต้องการในสถานการณ์แบบนี้ คือเราอยากคงลักษณะของกฎหมาย ณ ตอนนี้ไว้ และถ้าให้ดีเราอยากจะผลักให้เคลื่อนไปข้างหน้า หนึ่งคือผลักดันให้ยกเลิกมาตรา 301 ให้ได้ ถ้ายกเลิกมาตรา 301 ได้ ก็ถือเป็นความสำเร็จ

ประเด็นที่สองคือ เราอยากให้ยกเลิกกฎหมายอาญาเกี่ยวกับการทำแท้งไปเลย จริงๆ ถ้ายกเลิกมาตรา 301 ได้ก็ต้องลบ 301-305 ในกฎหมายอาญาทั้งหมดออกไปเลย และให้ข้อกำหนดทั้งหมดนี้ไปอยู่ในกฎของกระทรวงสาธารณสุขแทน พูดง่ายๆ ว่าเราไม่อยากให้เรื่องบริการอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิงเข้ามาอยู่ในส่วนของประมวลกฎหมายอาญา แต่กว่าจะไปถึงการผลักดันตรงนั้น เราคิดว่าคงต้องใช้เวลานานพอสมควร เพราะการทำให้ไม่เป็นอาชญากรรมนั้นทำได้ค่อนข้างยาก และในขบวนการที่ขับเคลื่อนไปด้วยกันก็ใช่ว่าจะเห็นพ้องต้องกันไปเสียทุกเรื่อง ทุกขบวนการต่างมีความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย นี่คือเรื่องจริงที่ต้องยอมรับ

อีกประเด็นหนึ่งที่อยากพูดถึงคือ เรารู้สึกว่าส่วนกลางไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์อย่างรอบด้าน ไม่มีแม้แต่ข้อมูลออนไลน์เกี่ยวกับบริการยุติการตั้งครรภ์ในเว็บไซต์ จริงๆ ขณะนี้เรามีรายชื่อสถานพยาบาลที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ถูกกฎหมายทั้งหมดแล้ว เราอยากให้รายชื่อทั้งหมดขึ้นไปอยู่ในเว็บไซต์ทางการของกระทรวงสาธารณสุข นี่เป็นอีกบริการหนึ่งที่ขาดหายไป จึงอยากเน้นย้ำว่าท่าที่และเจตจำนงของผู้กำหนดและผู้รับผิดชอบนโยบายส่วนกลางของกระทรวงสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นตัวรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดีกรมอนามัย ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ คือสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการยุติการตั้งครรภ์ในไทย เพราะส่วนกลางยิ่งขาดเจตจำนงและความชัดเจน เรื่องก็ยิ่งไม่ไปไหน 

สุดท้ายคือในทางด้านกฎหมาย เคยคุยกับนักกฎหมายแล้วเขาบอกว่า ด้วยลักษณะกฎหมายของประเทศไทย การที่ตัวบทกฎหมายจะย้อนกลับไปแบบเดิมอย่างที่เคยเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาอาจจะมีความเป็นไปได้น้อย อย่างที่ระบบศาลสูงสุดของอเมริกาเคยอนุญาตให้ผู้หญิงทำแท้งได้อย่างไม่ผิดกฎหมายแล้ว แต่ต่อมาศาลสูงสุดกลับวินิจฉัยว่ารัฐต่างๆ สามารถออกกฎหมายต่อต้านการทำแท้งได้เมื่อปี 2565 เป็นการแก้ไขให้เป็นการตัดสินใจเฉพาะของแต่ละรัฐแทน ซึ่งโอกาสที่จะเกิดขึ้นแบบนั้นในประเทศไทยเป็นไปได้น้อยมาก เพราะฉะนั้นที่ไทยก็คงจะได้ใช้ตัวกฎหมายทำแท้งนี้ไปอีกยาวนาน

สิ่งหนึ่งซึ่งเราควรดีใจคือตั้งแต่มีกฎหมายใหม่มา เราแทบจะไม่เห็นขบวนการต่อต้านการทำแท้งที่ชัดเจนหรือก่อรูปเหมือนสมัยที่จำลอง ศรีเมืองเคยทำเมื่อปี 2526 ตอนนี้ประเทศไทยไม่มีการต่อต้านแบบนั้น และเราหวังว่ากระบวนการต่อต้านที่เรียกว่า Pro-Life Movement จะไม่เกิดขึ้นอีกในประเทศไทย สุดท้ายเรามองว่าการแก้กฎหมายที่เกิดขึ้น ขึ้นอยู่กับทั้งจังหวะและโอกาส และเมื่อเกิดขึ้นแล้ว เราก็หวังว่ามันคงจะอยู่กับเราไปอย่างยาวนาน พร้อมๆ กับที่เราจะช่วยกันทำให้ดีขึ้นไปอีก นี่คือสิ่งที่เราคาดหวัง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save