fbpx

เมื่อเราไม่อาจผิดพลาดซ้ำสอง : จากความล้มเหลวเชิงโครงสร้างเหตุการณ์โรงงานกิ่งแก้วระเบิด สู่การวางแผนรับมืออนาคต

เหตุเพลิงไหม้และเกิดระเบิดที่โรงงานผลิตเม็ดโฟมพลาสติกในซอยกิ่งแก้ว 21 อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา อาจนับเป็นสาธารณภัยสะเทือนขวัญที่สุดครั้งหนึ่งของชีวิตคนเมือง

เหตุการณ์นี้สร้างความเสียหายต่อบ้านเรือนกว่าร้อยหลังคา ผู้คนในรัศมี 5 กิโลเมตรจากจุดเกิดเหตุต้องอพยพ เจ้าหน้าที่ดับเพลิงบาดเจ็บหลายนายและเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ 1 ราย คล้อยหลังเปลวไฟซึ่งโหมหนักกว่า 27 ชั่วโมง เรายังต้องเฝ้าระวังเรื่องมลพิษ อันตรายจากสารเคมีตกค้างในพื้นที่ และมาตรการชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอุบัติภัย จึงไม่น่าแปลกใจหากเพลิงไหม้โรงงานกิ่งแก้วจะยังคงสร้างกระแสร้อนระอุในสังคม ชวนให้คนตั้งคำถามหลายประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกัน

แต่คำถามสำคัญที่ขาดไปไม่ได้ คือคนเมืองเรียนรู้อะไรจากสาธารณภัยครั้งนี้บ้าง และจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดความผิดพลาดซ้ำสอง

101 ชวนถอดบทเรียนจาก #โรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้ ว่าด้วยเรื่องวิธีจัดการสาธารณภัย – ผังเมือง – การจัดการมลพิษ ผ่านทัศนะ 4 นักวิชาการ ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารสาธารณะและนโยบาย โดยเฉพาะการจัดการภัยพิบัติ รศ.ดร.พนิต พู่จินดา อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายกสมาคมผังเมืองไทย สุรชัย ตรงงาม ทนายความและเลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) และ รศ.ดร.สราวุธ เทพานนท์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสุขาภิบาล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


มองการบริหารจัดการสาธารณภัย
– ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช


ทวิดา กมลเวชช


:: ปฏิบัติการหน้างานบนข้อมูลที่ขาดหาย ::


ภัยครั้งนี้เป็นอัคคีภัย แต่เป็นไฟไหม้ในโรงงานซึ่งมีสารเคมี ทำให้มีความยากทางเทคนิค ประเด็นปัญหาคือเมื่อไฟไหม้ด้วยสารเคมี หนึ่ง เราควรจะรู้เกี่ยวกับข้อมูลต้นกำเนิดเพลิง เพราะการดับไฟ ยิ่งเข้าไปถึงพื้นที่ได้เร็ว ยิ่งดับได้ถูกวิธีตามลักษณะของต้นเพลิง การจัดการสถานการณ์ก็จะง่ายขึ้น

สอง เราควรรู้ข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ เช่น พิมพ์เขียว (Blueprint) เป็นอย่างไร เขาเก็บข้าวของไว้ตรงไหน ขนาดของพื้นที่เท่าไหร่ การรู้ข้อมูลเหล่านี้จะทำให้การขออุปกรณ์เพื่อดับเพลิงเพิ่มเติมทำได้เร็วกว่าปกติ

สาม ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบต่อเนื่องที่เกิดจากตัวภัย เราต้องดูว่าภัยที่เกิดนั้นซับซ้อนแค่ไหน และมีภัยซ้อนหรือเปล่า สองอย่างนี้ไม่เหมือนกัน ภัยซับซ้อนแค่ไหนคือการดูว่าต้นกำเนิดคืออะไร โครงสร้างกายภาพของพื้นที่เป็นอย่างไร และเมื่อเกิดเรื่องขึ้นแล้ว ควันพิษและการกระจายของสารเคมีจะเป็นอย่างไร ส่วนภัยซ้อนก็เช่น ในขณะที่ดับเพลิง สารเคมีอาจรั่วไหลฟุ้งกระจาย ต้องประเมินว่าสามารถเกิดระเบิดได้หรือเปล่า หรือถ้าฝนตกลมแรงขึ้นมา เป็นไปได้ไหมว่าจะเปลี่ยนจากภัยสารเคมีเป็นภัยอย่างอื่น เป็นต้น

สี่ ข้อมูลเกี่ยวกับประชาชนที่อยู่ในรัศมี ประชาชนเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการดับเพลิงว่าจะทำได้ง่ายหรือไม่ อย่างไร เราจึงต้องระวังว่าประชาชนอยู่ในพื้นที่มากน้อยแค่ไหน ไม่ใช่แค่พื้นที่เกิดเหตุ แต่รวมไปถึงบริเวณโดยรอบที่สารเคมีอาจฟุ้งกระจายไปถึงด้วย

ในปฏิบัติการครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ที่พยายามควบคุมเพลิงและสถานการณ์หน้างานถือว่าทำได้ดีที่สุดแล้ว แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราขาดข้อมูลอีกเยอะมาก เป็นข้อมูลที่จะทำให้การแก้สถานการณ์เร็วและแม่นยำ ไม่ใช่เพราะเจ้าหน้าที่ไม่เก่ง สรุปคือ ถ้าให้คะแนนแค่เฉพาะการปฏิบัติการหน้างาน ให้คะแนนเต็ม แต่จะหักคะแนนตรงข้อมูลที่เราไม่รู้

ทั้งนี้ เราต้องย้อนกลับไปดูว่าข้อมูลเหล่านี้อยู่ที่ไหน แม้เราจะได้คำอธิบายว่าโรงงานเปิดมาก่อนจะมีชุมชน แต่ในเมื่อเราให้ประชาชนอยู่อาศัยและเป็นย่านพาณิชยกรรมด้วย เราจำเป็นต้องได้รู้ว่าโรงงานนี้ทำอะไร เป็นภาวะเสี่ยงของพื้นที่แค่ไหน เนื่องจากเป็นโรงงานที่ตั้งมานาน ข้อกำหนดเงื่อนไขและมาตรฐานหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นภายหลังอาจไม่ได้ครอบคลุมหรือเปล่า ถ้าใช่ ควรมีมาตรการดูแลเขาอย่างไร หากมีข้อมูลตรงนี้ จะทำให้ทำงานได้เร็วขึ้นและเจ้าหน้าที่จะปลอดภัยกว่านี้แน่นอน

นอกจากนี้ ถ้าเรารู้ว่ามีโรงงานที่เก็บสารเคมีมากขนาดนี้อยู่ในชุมชนและมีความเสี่ยงที่จะเกิดภัย เราก็ควรมีอุปกรณ์เตรียมไว้ก่อนหน้า ไม่มีอุปกรณ์ใดที่เสกขึ้นได้ทันควันเพื่อจัดการกับภัยแต่ละครั้ง ต่อให้เสกได้ อย่างไรก็สู้การมีอุปกรณ์อยู่แล้วในศูนย์กลางของพื้นที่หรือในพื้นที่อื่นๆ ที่วิเคราะห์ความเสี่ยงมาแล้วไม่ได้

การวิเคราะห์ความเสี่ยงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน การจัดเตรียมแผนต่างๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งแผนปฏิบัติการ แผนเผชิญเหตุ แผนทรัพยากร แผนกำลังคน แผนการเข้าพื้นที่ หรือกระทั่งในโรงงานนั้นๆ มีกลไกช่วยเหลือตัวเองได้แค่ไหน ข้อมูลทั้งหมดนี้เราต้องมีแต่ต้น เราชอบไปคิดว่าข้อมูลพวกนี้เรียกหาเอาตอนที่เกิดเรื่องก็ได้ ไม่จริงค่ะ ต้องรู้ก่อนไปถึงพื้นที่ปฏิบัติการ


:: การบริหารจัดการแบบอ่อนซ้อม  ::


นอกจากเรื่องข้อมูลแล้วก็ยังมีประเด็นการบริหารสถานการณ์ ในทางกฎหมายเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นสาธารณภัยความรุนแรงระดับ 2 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ เวลาเกิดเรื่องเราต้องพยายามทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแข็งแรงที่สุดเพราะเป็นด่านหน้า ต้องรู้เหตุการณ์ให้เร็วและครบถ้วน มีอุปกรณ์พร้อม และมีข้อมูลในการจัดการได้อย่างเหมาะสม เมื่อมีอุปกรณ์หรือกำลังคนไม่พอ ผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องใช้อำนาจในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ขอความร่วมมือ และสั่งให้ทุกหน่วยในพื้นที่ระดมสรรพกำลังเข้าช่วยเหลือ แต่การระดมสรรพกำลังก็ไม่ใช่ว่าทุกคนเฮโลกันเข้าไปในพื้นที่ เพราะจะทำให้ด่านหน้าติดขัด ดังนั้น การประสานงานในการจัดการสถานการณ์จะต้องดีด้วย

คนชอบเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอยู่ทุกที่ แต่ในความเป็นจริงทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดต้องมีตัวแทนคุมเป็นส่วนๆ สังคมกำลังเรียกหาว่าศูนย์บัญชาการ, ผู้ว่าฯ, อบจ.อยู่ไหน คนเรียกหาข้อมูลที่จะให้กับสาธารณะว่าสถานการณ์เป็นอย่างไรและจะให้ปฏิบัติตนอย่างไร ในเชิงหลักการแล้ว เมื่อมีสาธารณภัยในสเกลเล็ก เราอาจไม่จำเป็นต้องมีศูนย์ข้อมูลกลาง หรือศูนย์ประสานงานทรัพยากรใหญ่โต แต่ในกรณีนี้ แม้จะดูเหมือนว่าเหตุการณ์ไฟไหม้ไม่ได้ใหญ่ครอบคลุมทั้งจังหวัด แต่ต้องมองไปที่ความซับซ้อนของภัย อย่าลืมว่ามีสารเคมีที่เรายังดับไม่ได้ หรือการมีไฟปะทุต่อเนื่อง ถือว่าเป็นสเกลใหญ่ ถ้าเอาไม่อยู่จริงๆ ภัยจะกระจาย ตามหลักการแล้วเราจะไม่รอจนมันกระจาย ดังนั้นเราจึงต้องมีการประสานข้อมูลกลางที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งในเหตุการณ์ครั้งนี้เราไม่ได้พบเห็นการประสานข้อมูลกลาง ไม่ใช่ว่าเขาไม่ทำนะ แต่ไม่ปรากฏให้คนพบเห็นได้ง่าย

จังหวัดต้องมีทีมข้อมูล ทำหน้าที่ประสานข้อมูล 3 แบบ แบบแรกคือข้อมูลสำหรับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน เพื่อวางแผนรับมือกับสถานการณ์  

ข้อมูลแบบที่สองคือข้อมูลของหน่วยงานที่กำลังจะเข้าสู่พื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลือ ไม่ใช่เฉพาะทีมดับเพลิง อาจจะเป็นทีมแพทย์พยาบาล ทีมอพยพดูแลผู้คน ทีมอุปกรณ์พิเศษ ทีมตำรวจ หรือทีมอาสาสมัคร ฯลฯ ดังนั้นทีมข้อมูลจึงต้องเกี่ยวข้องกับการประสานงานเบื้องหลังด้วย

ข้อมูลแบบที่สามคือข้อมูลสาธารณะ ซึ่งเป็นงานหน้าบ้าน คนเหล่านี้จะเอาข้อมูลมาให้สื่อมวลชนได้ต้องรู้ว่ากระบวนการทำงานเป็นอย่างไร การประสานงานของหน่วยงานต่างๆ เป็นอย่างไร โดยต้องสื่อสารอย่างเข้าใจง่าย กระชับ ครบถ้วน และสื่อสารข้อมูลทั้งในปัจจุบันและการดำเนินงานอนาคต เพื่อให้สื่อมวลชนไปรายงานกับสาธารณะได้อย่างถูกต้อง

ในสถานการณ์เช่นนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องเป็นผู้สั่งการโดยอำนาจ โดยผู้ว่าไม่จำเป็นต้องเป็นคนบัญชาการหน้างานเอง แต่ให้เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ เป็นผู้บัญชาการหน้างาน ผู้ว่าคือคนที่ต้องรู้ทุกเรื่องเกี่ยวกับปฏิบัติการ รู้ว่าใครคุมปฏิบัติการส่วนไหน และรู้ผลกระทบต่อสาธารณะ มีปัญหาเมื่อไหร่สามารถสั่งให้ภาคส่วนต่างๆ แก้ปัญหา หรือให้ความช่วยเหลือได้ทันที

สิ่งที่เรายังขาดคือการซ้อม ไม่ใช่แค่การซ้อมสาธิตหรือการเขียนบทซ้อมโดยไม่ฝึกการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และไม่ใช่การสร้างสถานการณ์ซ้อมจากการเพ้อเจ้อ การซ้อมจะมีประสิทธิภาพถ้าเรามีระบบข้อมูล มีสถานการณ์จากข้อมูลความเสี่ยงที่ถูกวิเคราะห์ไว้ บวกเข้ากับความเป็นไปได้อื่นๆ เช่น ถ้าภัยเกิดในอาคารเก่า มีน้ำหนักกดทับเยอะๆ เป็นไปได้ไหมถ้าเกิดไฟไหม้แล้วจะทำให้อาคารพัง หรือการซ้อมถอนกำลังทันควันของเจ้าหน้าที่ดับเพลิง หรือเหตุการณ์สารเคมีรั่วไหลที่ไม่ใช่ก๊าซในครั้งนี้ เราก็ต้องเอาไปเป็นฉากซ้อมในอนาคต เป็นต้น นอกจากนี้ต้องซ้อมให้ครบถ้วน ซ้อมประสานงานเข้าพื้นที่ ซ้อมสถานการณ์ที่มีคนเจ็บที่ต้องโยกย้าย และอีกหลายความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะการซ้อมของผู้บัญชาการในการสั่งการ ประสานงานมาตรการและการสื่อสารกับสาธารณะ


:: Safety First! ต้องทำข้อมูลความเสี่ยงให้เป็นข้อมูลสาธารณะ ::


ข้อมูลความเสี่ยงในประเทศนี้อยู่ไหนบ้าง คุณรู้ไหมว่าตำแหน่งพื้นที่ที่มีความเสี่ยงอยู่ตรงไหน โรงงานหรือโรงงานที่มีสารเคมีอยู่ตรงไหน กรมโรงงานอุตสาหกรรมอาจจะตอบคำถามนี้ว่าเขามีข้อมูลอยู่ แต่ดิฉันหมายถึงข้อมูลที่สาธารณะจะทราบได้ด้วย เพราะถ้ามีข้อมูลที่เป็นสาธารณะ จะเกิดกลไกคือ หนึ่ง กรมโรงงานและกรมมลพิษจะเริ่มปรับการตรวจ เพราะเขารู้ว่ามีโรงงานอยู่ในตำแหน่งที่พักอาศัยของประชาชน สอง เมื่อโรงงานรู้ว่าข้อมูลของตัวเองเป็นข้อมูลสาธารณะ เขาจะมีมาตรการต่างๆ ที่รอบคอบขึ้นทันที เพราะเขามีความรับผิดรับชอบ สาม ประชาชนในพื้นที่จะรู้ว่าต้องมีมาตรการป้องกันตัวเองอย่างไร ต้องคอยฟังข่าวสารอย่างไร ในขณะเดียวกัน ถ้ามีความผิดปกติเกิดในพื้นที่ ประชาชนอาจจะเป็นผู้แจ้งเหตุให้คุณด้วย

ไม่ใช่เฉพาะแค่เรื่องโรงงาน แต่ควรทำข้อมูลพวกนี้ให้กับความเสี่ยงอื่นๆ เช่น โครงสร้างอาคารเก่า หรือพื้นที่ชุมชนแออัดในสถานการณ์โควิด-19 ฯลฯ ถ้าคุณมีข้อมูลวิเคราะห์ความเสี่ยงที่จริงจัง แล้วเอาข้อมูลนี้ไปใช้ในการเตรียมการจริง คุณก็จะสามารถจัดการกับสถานการณ์ได้ ป้องกันสถานการณ์ล่วงหน้าได้ คุณจะสามารถแก้ไขได้ทั้งโครงสร้างกายภาพ โครงสร้างการบริหารจัดการ คุณทำได้ถึงขนาดว่า ถ้าพื้นที่บางพื้นที่มีความเสี่ยงภัยพิเศษจริงๆ คุณจะรู้ว่าต้องมีหน่วยพิเศษอะไร ถ้ามีสัญญาณผิดปกติ ยังไม่ถึงกับต้องมีภัย คุณก็ติดต่อหน่วยงานไปประจำพื้นที่ก่อนได้ เพื่อช่วยให้ปฏิบัติการดีขึ้น



มองผังเมือง – รศ.ดร.พนิต พู่จินดา


รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา


:: ที่ดินเปลี่ยน โรงงานไม่(อาจ)เปลี่ยน ::


ไทม์ไลน์ของการตั้งโรงงานหมิงตี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2532 ณ วันนั้น รอบๆ ยังเป็นไร่นา โรงงานจึงถือว่าตั้งอยู่ในที่ที่ถูกต้อง เพราะโรงงานที่มีสารเคมีหรือมีความเสี่ยงต้องอยู่นอกเมือง ต่อมาเกิดผังเมืองรวมของสมุทรปราการฉบับแรกปี 2537 กำหนดให้สนามบินสุวรรณภูมิเป็นพื้นที่สีน้ำเงิน (ที่ดินประเภทหน่วยงานราชการ และสาธารณูปโภค) ริมถนนฝั่งซ้ายของถนนกิ่งแก้วเป็นพื้นที่สีม่วง (ที่ดินประเภทอุตสาหกรรม) และวางแผนว่าจะเป็นแหล่งอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการบิน การนำเข้าและส่งออก แต่เมื่อข้ามคลองลาดกระบังมาทางด้านซ้ายกลับเป็นสีส้ม คือพื้นที่ที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง

เรามีชุมชนหนาแน่นปานกลางอยู่ใกล้โรงงาน และต่อมาปี 2544 พื้นที่นั้นก็กลายเป็นสีแดง (ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม) ตามแนวคิด The Aerotropolis หรือเมืองศูนย์การบินสุวรรณภูมิ ตั้งใจให้เป็นศูนย์กลางของธุรกิจการเงินและการธนาคารของประเทศอีกแห่งหนึ่ง สิ่งที่เป็นปัญหาคือโรงงานนี้ไม่ได้ถูกสั่งปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องเพื่อให้ความเป็นเมืองที่เข้าไปอยู่ตรงนั้น ภาพที่น่าตกใจสำหรับผมมากคือหมู่บ้านจัดสรรติดรั้วโรงงานสารเคมีเลย เพราะไม่มีใครคิดว่าโรงงานจะระเบิดได้ขนาดนี้

หลักการทางผังเมืองของโลกต้องคิดไว้เสมอว่ากิจการใดก็ตาม วันหนึ่งต้องเกิดอุบัติภัย และถ้าเกิดแล้ว พื้นที่โดยรอบและโครงสร้างพื้นฐานรับมือไหวไหม เราลืมตรงนี้ไป คิดว่าอุบัติภัยอาจจะไม่เกิดก็ได้


:: ความเสี่ยงที่ไม่มีใครอยากจ่าย ::


ถ้าเราดูกฎหมายผังเมือง สามารถสรุปง่ายๆ ว่าใครมาก่อนได้สิทธิอยู่ก่อน แต่กฎหมายนี้พิเศษตรงที่ผังเมืองเป็นเรื่องส่วนรวม เราบอกว่าอยู่ได้ แต่ถ้าขัดต่อสาระสำคัญสามข้อ คือ ความปลอดภัยสาธารณะ ความเป็นอยู่ที่ดีสาธารณะ และสุขอนามัยสาธารณะ คณะกรรมการผังเมืองสามารถสั่งให้แก้ไขตามเงื่อนไขที่กำหนด ในเวลาที่กำหนด หรือกระทั่งระงับการใช้งานได้ แต่เพราะการที่เขาอยู่มาก่อนไม่ถือว่าผิด วรรค 3 ของมาตรา 37 จึงระบุให้การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงต้องมีค่าตอบแทนอย่างเป็นธรรม

ปัญหากลับเกิดขึ้นเมื่อมีกลไกตรงนี้ เพราะตอนจะสั่งปรับปรุงแก้ไขกลับไม่มีใครจ่ายตอบแทน โดยหลักแล้ว ค่าตอบแทนต้องเก็บจากคนที่ได้ประโยชน์ ในที่นี้คือเจ้าของพื้นที่ทุ่งนาที่ได้สิทธิการพัฒนาเพิ่มจนโรงงานอยู่ไม่ได้ทั้งที่เขาอยู่อย่างถูกต้องมาก่อน แต่ประชาชนที่ได้ประโยชน์ไม่ยอมจ่าย ต่อให้ภาครัฐไปเก็บเงินก็ถูกว่า ที่ผ่านมาจึงไม่เห็นมีใครออกมาบอกว่าพื้นที่ไหน โรงงานประเภทใดเสี่ยงต่อการระเบิด แม้ข้าราชการ คนดูแลเรื่องภัยสาธารณะจะรู้ แต่ถ้าออกมาบอกจะเกิดต้นทุน ต้องเกิดการแก้ไข คำถามคือใครจ่าย ค่าตอบแทนอยู่ไหน นี่เป็นปัญหาโลกแตก  

การพัฒนาเมือง ถ้าไม่พูดเรื่องเศรษฐศาสตร์จะเอาเงินที่ไหนมาใช้ จะเอาความสมดุลเป็นธรรมที่ไหนมาพัฒนา มันคือเรื่องเดียวกันที่แยกกันไม่ออก

และด้วยโครงสร้างของประเทศไทย การบอกว่าต้องจ่ายเงินชดเชยนั้นเป็นเรื่องการคลัง จึงมักเกิดคำถามบ่อยครั้งว่าผังเมืองไปยุ่งอะไรกับการคลัง เราต้องไม่อยู่แบบแยกหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งแล้ว ควรให้นายกฯ ท้องถิ่นมีอำนาจครอบคลุมรวมศูนย์ ประสานทุกหน่วยงาน เพราะผลกระทบมันถึงกันทั้งหมด


:: ทางออกอยู่ที่ไหน ถ้าอยากให้เมืองรอด ::


ผมมองว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำคัญมาก โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยสาธารณะ ประชาชนธรรมดาไม่รู้หรอกว่าพื้นที่ไหนเสี่ยงไม่เสี่ยง เป็นเรื่องสเกลใหญ่กว่าที่เขาจะรู้ และเป็นเรื่องที่ประเมินผลด้วยตัวคนเดียวไม่ได้ มันเป็นเรื่องที่ต้องการคนกลาง ไม่ว่ารัฐ เอกชน หรือมูลนิธิต่างๆ ที่เชื่อถือได้มาบอกเขา แนะนำเขาเรื่องความเสี่ยงภัยสาธารณะ ต้องทำโดยมืออาชีพ และไม่ว่าใครจะชนะการเลือกตั้งเข้ามาก็ต้องทำ ไม่ใช่สิ่งที่เลือกได้ว่าจะทำหรือไม่ทำ

ถ้าถามว่าเราสามารถไล่โรงงานออกไปเรื่อยๆ ได้ไหม ผมไม่เชื่อว่าจะไม่มีจุดจบ เพราะสุดท้ายยิ่งโรงงานตั้งไกล ค่าขนส่งจะยิ่งแพง คุณอาจรับราคาสินค้านั้นไม่ได้ ยิ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์พื้นฐาน สุดท้ายคุณจะยอมให้เขาอยู่ในตำแหน่งที่เขาสามารถขายในราคาที่ประชาชนรับไหว ไม่มีคำว่าโรงงานอยู่ที่ไหนก็ได้หรอก

ส่วนข้อเสนอเรื่องการผลักโรงงานเข้าไปอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเหมือนญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จ ปัญหาของบ้านเราคือกลไกตลาดไม่ครบสมบูรณ์ ปกติเวลาตั้งโรงงานหรือหน่วยผลิตที่ไหนก็ตาม จะตั้งโดยต้นทุนถูกที่สุด อย่างญี่ปุ่นถ้าตั้งอยู่นอกนิคมจะแพง เพราะต้องจ่ายค่าผลกระทบต่อพื้นที่โดยรอบ ทั้งเสียง ควัน การเดินทาง แต่สำหรับคนไทย การตั้งอยู่ในนิคมมีต้นทุนแพงทั้งที่ดิน ทั้งค่าโครงสร้างพื้นฐาน ประปา ไฟฟ้า การจัดการน้ำเสีย มลภาวะต่างๆ ถ้าตั้งอยู่ข้างนอกนิคมไม่เสียเลย บ้านเราไม่ต้องจ่าย ผลักผลกระทบให้สังคมรับไปหมด โดยที่เจ้าของไม่แบกรับเองเลย

ถ้าเราไม่มีกลไกคิดราคาผลกระทบตรงนี้ คนก็จะหนีออกนอกนิคมอุตสาหกรรมไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นหากเราคลี่คลายได้ว่าการตั้งโรงงานข้างนอกทำให้คนได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง เจ้าของต้องจ่ายตรงนั้น และแสดงให้เห็นว่าการอยู่ในนิคมถูกกว่า มีระบบจัดการขยะมลพิษ โครงสร้างพื้นฐาน มีการป้องกันภัยที่เหมาะสมและพร้อม คนจะอยากเข้าอยู่ในนิคม ผมคิดว่าถ้ากลไกเดินหน้าอย่างถูกต้อง ใครทำ คนนั้นจ่าย มันจะกลับเข้าสู่สมดุลของมันเอง

สุดท้าย เรื่องเมืองเป็นเรื่องของทุกคน แต่มันไม่อาจนึกทำตามใจ ต้องมีหลักการ มีข้อมูลที่ถูกต้อง การประเมินเรื่องความเสี่ยงจะนึกเอาเองไม่ได้ จะคิดว่าไม่มีไฟไหม้ ไม่มีระเบิดไม่ได้ สิ่งที่เราต้องคิดต่อไปในอนาคตคือเมื่อความเสี่ยงเหล่านี้ก่อให้เกิดต้นทุน จะทำอย่างไรให้เจ้าของโรงงานแบกรับต้นทุนที่เหมาะสม และมีความเสี่ยงในอัตราที่ประชาชนรับได้ ผังเมืองเกิดจากฐานคิดที่ว่าทำอย่างไรประชาชนจะอยู่อย่างปลอดภัยและมีความสุข แต่ปัจจุบันมันก็พัฒนาไปเรื่อยๆ จากเดิมเป็นแค่ที่ดินของรัฐ ก็กลายเป็นพื้นที่ของเอกชน มีปัจจัยต่างๆ มากขึ้น เราต้องปรับตัวอยู่บนหลักการและความเป็นจริง


หมายเหตุ – เรียบเรียงความเห็นส่วนหนึ่งของ รศ.ดร.พนิต พู่จินดา จากงานเสวนาออนไลน์ “มุมมองทางผังเมืองกรณีระเบิดโรงงานกิ่งแก้ว เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร” โดย ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ภายใต้ศูนย์เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์เมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UddC-CEUS) ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ (CUURP) สมาคมนักผังเมืองไทย สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย และ The Urbanis เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ 6 กรกฎาคม 2564



มองกฎหมายสิ่งแวดล้อม – สุรชัย ตรงงาม



:: 3 ปัญหาการจัดการมลพิษในไทยเพราะ ‘ความไม่ชัดเจน’ ::


เหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานในซอยกิ่งแก้วครั้งนี้สะท้อนปัญหาเรื่องการจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อมอยู่ 3 ประเด็นด้วยกัน

หนึ่ง ปัญหาเรื่องข้อมูลที่ไม่เพียงพอ เห็นเลยว่าทันทีที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น ชุมชนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่รู้ว่าจะต้องป้องกันกับมลพิษนี้อย่างไร และไม่รู้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมาว่าจะมีผลต่อสุขภาพอนามัยของคนตลอดจนสิ่งแวดล้อมในทิศทางใดบ้าง สาเหตุเกิดมาจากการที่เราไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับมลพิษมากเพียงพอ อย่างกรณีนี้คือสารสไตรีนโมโนเมอร์ ซึ่งเป็นสารอันตรายที่สามารถก่อมะเร็ง แต่เรากลับไม่มีความรู้ในเรื่องนี้เลย สิ่งนี้คือภาพสะท้อนของปัญหาการขาดระบบการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสารเคมีอันตรายของผู้คนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับโรงงานอุตสาหกรรม

สอง ปัญหาเรื่องช่องโหว่ของกฎหมายการจัดการมลพิษ มีข้อมูลออกมาว่า โรงงานสารเคมี บริษัท หมิงตี้ เคมิคอล จำกัด เป็นโรงงานที่ดำเนินงานมาก่อนจะมีการประกาศให้โรงงานต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA เรื่องนี้เลยทำให้เกิดคำถามตามมาว่า แล้วโรงงานที่ประกอบกิจการก่อนมีการจัดทำ EIA ซึ่งมีอยู่เยอะมากในประเทศ ทางหน่วยงานรัฐได้มีการเข้าไปควบคุมดูแลหรือไม่ หรือมีกระบวนการตรวจสอบควบคุมโรงงานลักษณะนี้อย่างไร ซึ่งก็ต้องรอทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาชี้แจง แต่ในเวลานี้ เราไม่อาจรู้ได้เลยว่าโรงงานในลักษณะดังกล่าวมีระบบจัดเก็บสารเคมีและวัตถุอันตรายที่ปลอดภัยกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน

บางเสียงอาจย้อนขึ้นมาว่านี่เป็นการบังคับใช้กฎหมายย้อนหลังหรือไม่ ผมมองว่ากฎหมายการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นกฎหมายมหาชนและมีเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม ในเมื่อวันนี้การดำเนินงานของโรงงานส่งผลมายังปัจจุบัน แม้โรงงานจะตั้งขึ้นมาก่อน แต่กฎหมายนี้ก็ควรจะเข้าไปตรวจสอบได้ไม่ใช่หรือ เพียงแต่อาจมีลักษณะเงื่อนไขที่แตกต่างจากโรงงานใหม่ ในรายละเอียดก็คงต้องพิจารณากันอีกรอบ แต่ต้องมีกฎหมายที่เข้าไปตรวจสอบเรื่องนี้ได้

สาม ปัญหาความไม่ชัดเจนของมาตรการเยียวยาและมาตรการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนของมลพิษ สารสารสไตรีนโมโนเมอร์ที่ว่าไม่ได้แค่ล่องลอยไปในอากาศ แต่ยังสามารถเกาะรวมอยู่กับดินและน้ำ ฉะนั้นนอกจากผลกระทบระยะสั้น ยังมีผลกระทบระยะยาวต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่ง ณ วันนี้ ยังไม่มีคำตอบว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ จากข้อมูลข่าวพบว่า ทางโรงงานมีเงินสำหรับประกันภัยผลกระทบต่อบุคคลภายนอกแค่ประมาณ 20 ล้านบาท ถามว่าจะเพียงพอไหม

สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าขาดระบบในการตรวจสอบโรงงานว่ามีมาตรการเยียวยาต่อชุมชนแวดล้อมที่เป็นธรรมและสามารถแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะการปนเปื้อนมลพิษทางสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วแก้ยาก ประเด็นนี้ยังไม่มีความชัดเจนใดๆ ภาครัฐเองก็ต้องออกมาตอบเรื่องนี้ว่าตกลงแล้วข้อเท็จจริงเป็นอย่างใด ซึ่งถ้าให้ผมคาดการณ์ สิ่งที่ภาครัฐจะทำคือตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ ขึ้นมาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ แต่ปัญหาตลอดมาของชุดทำงานเฉพาะกิจคือทำให้การแก้ไขปัญหาขาดความต่อเนื่อง และสุดท้ายก็ไม่ได้นำไปสู่บทเรียนเชิงโครงสร้าง เป็นเพียงแค่การแก้ไขเฉพาะหน้า

หากกล่าวสรุป ระบบการเยียวยาทั้งในมิติสุขภาพอนามัยของประชาชนหรือผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ณ วันนี้ ไร้ความชัดเจนว่าจะมีแนวทางอย่างไร ไม่มีแม้แต่ระบบเชิงกฎหมายที่มีความเฉพาะเจาะจงในการจัดการเรื่องนี้โดยตรงเสียด้วยซ้ำไป


:: กฎหมาย PRTR คือทางออก ::


การรับรู้ข้อมูลข่าวสารเรื่องมลพิษที่เกิดขึ้นของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ แต่ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันข้อมูลลักษณะนี้ถูกรายงานให้หน่วยงานรัฐเป็นหลัก ซึ่งการจะเข้าถึงข้อมูลลักษณะนี้ของประชาชนเป็นเรื่องยุ่งยากและซับซ้อนมากแม้จะมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญก็ตาม หรือต่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น แต่การจะทำความเข้าใจข้อมูลเรื่องสารเคมีและวัตถุอันตรายก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นเราจึงต้องปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารในกรณีที่โครงการอาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ประชาชนได้รับทราบโดยง่าย

มีมาตรการที่เรียกว่า ‘ร่างพระราชบัญญัติการรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม’ หรือ กฎหมาย PRTR เป็นอีกหนึ่งกลไกที่เข้ามาช่วยในเรื่องนี้ เนื่องจากกฎหมายที่ว่าจะบังคับให้ตัวผู้ประกอบการต้องรายงานว่าโรงงานของตนมีการเก็บสารเคมีหรือวัตถุอันตรายประเภทใดบ้าง และมีจำนวนเท่าไหร่ตามลิสต์ที่มีประกาศไว้ ตลอดจนมีการทำรายงานการปล่อยมลพิษที่อาจมีผลต่อสุขภาพอนามัยของผู้คนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบอย่างกรมควบคุมมลพิษ ก็ควรเป็นผู้รวบรวมประมวลข้อมูลและนำมาเผยแพร่ให้ประชาชนเข้าใจได้ง่ายๆ เพื่อช่วยให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น แต่ขณะนี้ตัวร่างฯ ยังไม่ได้ถูกผลักดันออกมาเป็นกฎหมาย และล่าสุดก็ถูกนายกประยุทธ์ตีตกไปแล้ว เนื่องจากถูกตีความว่าเป็น พ.ร.บ.การเงินฯ

เราจำเป็นต้องกลับมาทบทวนว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลสารเคมีอันตรายที่อาจส่งผลกระทบต่อตัวเขาได้ ผมคิดว่าเรื่องนี้มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะกฏหมาย PRTR ควรผลักดันให้เกิดขึ้นมาได้จริงๆ ประเทศไทยเจอกับปัญหาอุบัติภัยทางสารเคมีซ้ำซากมาแล้วหลายหน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับโรงงานที่กิ่งแก้ววันนี้ตอกย้ำว่าเราไม่มีความพร้อมในการรับมือเรื่องนี้แม้แต่น้อย ซึ่งความไม่พร้อมอย่างหนึ่งคือการไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร

สุดท้ายผมคิดว่าเราควรผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับการเยียวยาฟื้นฟูในกรณีการปนเปื้อนมลพิษขนาดใหญ่แบบนี้ให้มีความชัดเจน ปัจจุบันเรายังไม่มีกฎหมายในลักษณะนี้เลย เช่น ไม่มีกลไกบังคับผู้ประกอบการให้มาดำเนินการแก้ไขโดยตรงกับชุมชนก่อน หรือมีกองทุนที่สามารถชดเชยความเสียหายได้อย่างทันที ส่วนใหญ่มีแค่การผลักดันผ่านคณะกรรมต่างๆ ซึ่งไม่ได้มีผลในทางกฎหมายโดยตรง ยกเว้นกับกรมโรงงานที่ดูแลโรงงานโดยตรงอยู่แล้ว

เรื่องนี้ส่งผลให้ ‘หลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย’ ไม่เกิดขึ้นจริง ต้องคอยดูกรณีนี้ว่าหลังจากโรงงานจ่ายเงินประกันภัยผลกระทบต่อบุคคลภายนอก 20 ล้านบาทเสร็จสิ้นไปแล้ว การรับผิดชอบจะยังคงเป็นไปในรูปแบบใด เพราะที่โรงงานบอกว่าจะรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น ยังไม่ได้มีการลงรายละเอียดว่ารับผิดชอบภายใต้เงื่อนไขอะไร และถ้าเกิดผลกระทบในวงกว้างหรือเกิดการปนเปื้อนมลพิษขนาดใหญ่ ที่ต้องการเงินในการฟื้นฟูเยียวยาการปนเปื้อนจำนวนมาก ถามว่าใครจะเข้ามาจัดการและจัดการด้วยวิธีแบบใด เรื่องนี้คงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป


มองแผนรับมือมลพิษแก่ประชาชน
– รศ.ดร.สราวุธ เทพานนท์



:: มลพิษอันตรายจากโรงงานกิ่งแก้ว ::


โรงงานกิ่งแก้วเป็นโรงงานเกี่ยวกับสไตรีนพอลิเมอร์ (Styrene Polymer) ดังนั้น สาเหตุที่ยังคงเกิดเพลิงไหม้อยู่เรื่อยๆ เป็นเพราะการเผาไหม้ทำให้เกิดอนุภาคสไตรีน (Styrene) หลงเหลืออยู่ และอาจมีสารโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons, PAHs)  หรือก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ประกอบ

เอกสารขององค์กรอนามัยโลก (WHO) กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า เมื่อเกิดการเผาไหม้ของสไตรีนนั้น ใช่ว่าจะไม่มีสารชนิดนี้หลงเหลืออยู่ในพื้นที่ ผมมองว่าสิ่งที่ต้องกังวลไม่ใช่เพียงแค่สารสไตรีน แต่เป็น ‘ควันดำ’ จากการเผาไหม้ กล่าวคือ เมื่อพอลิสไตรีนเกิดกระบวนการเผาไหม้จะเป็นตัวการปล่อยมลพิษ หลักๆ คือโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง และอาจมีสารตัวอื่นๆ อย่างเบนซีน (Benzene) สารเหล่านี้มักมาพร้อมกับฝุ่น ที่ร่วมกับคาร์บอนมอนอกไซด์ในควันดำ ถ้าเราได้รับกลิ่นควัน หมายความว่าเราอาจได้รับสารที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้

ส่วนก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ มีประเด็นว่าการวัดค่ามาตรฐานของประเทศไทยมีค่าที่ค่อนข้างสูง โดยค่าฐานคาร์บอนมอนอกไซด์มีหน่วยเป็น PPM (parts per million) แต่สารอื่นๆ มีหน่วยเป็น PPB (parts per billion) เมื่อลองเปรียบเทียบระหว่าง PPM และ PPB จะเห็นได้ชัดว่ามีความแตกต่างถึง 1,000 เท่า ดังนั้นเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งนี้อาจส่งผลให้หน่วยของคาร์บอนมอนนอกไซด์มีค่าสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย

จากข้อมูลการยกตัวอย่างทั้งสองชนิดนี้ชี้ให้เห็นถึงวิธีการประเมินความเสี่ยงที่ควรมองถึงสารประกอบที่มีอยู่ด้วยกันหลากหลาย การมองในลักษณะนี้จะช่วยเรื่องการประสานงานระหว่างภาครัฐและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้สามารถจัดการปัญหาได้อย่างถูกจุด และระมัดระวังเรื่องข้อมูลเผยแพร่ต่อประชาชน ควรได้รับการตรวจสอบที่ถูกต้องก่อนนำเสนอ


:: สิ่งที่รัฐต้องจัดการในระยะยาว ::


ประเด็นที่ต้องวางแผนการจัดการในระยะยาว คือรัฐจะจัดการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุขต่างๆ อย่างไร

ประการแรก อย่ามองเพียงมิติเดียว ให้มองผลกระทบในมุมที่หลากหลาย

สิ่งที่ควรโฟกัสให้ถูก คือการมองว่าเหตุการณ์นี้สามารถส่งผลกระทบในมิติอะไรบ้างนอกเหนือจากมิติมลพิษทางอากาศเพียงอย่างเดียว ซึ่งต้องรวมถึงมิติการได้รับสัมผัสเชื้อผ่านรูปแบบอื่นๆ เช่น ทางน้ำ ดิน หรืออาหาร ฯลฯ เนื่องจากกรณีตัวอย่างภัยพิบัติเชอร์โนบิล เหตุการณ์การระเบิดนิวเคลียร์ในตอนเหนือของยูเครน ช่วงแรกภาครัฐต่างสนใจแต่เรื่องมิติมลพิษทางอากาศ แต่ท้ายที่สุดสารต่างๆ ที่หลงเหลือจากการระเบิดนิวเคลียร์ครั้งนั้นกลับแฝงตัวอยู่ในรูปของสภาพอาหารและพื้นดิน ทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนเป็นจำนวนมาก ดังนั้นควรให้ความสำคัญกับการมองเห็นหลากหลายมิติมากยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

ประการที่สอง เงื่อนไขในการเขียนใบอนุญาตโรงงาน ควรเขียนที่เป็น worst case จริงๆ

รูปแบบเงื่อนไขของใบประกอบอนุญาตกิจการโรงงานส่วนใหญ่มักเขียนเหตุการณ์ในระดับที่สามารถคาดการณ์ได้ แม้บางกรณีอาจร่างสถานการณ์รูปแบบที่เลวร้ายที่สุดแล้ว แต่นั่นอาจจะยังไม่ใช่กรณีที่ย่ำแย่อย่างแท้จริง ดังนั้นการให้ความสำคัญถึงการตั้งกรณีที่เลวร้ายที่สุด เพื่อสมมติฐานถึงวิธีการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวมากขึ้นนั้น อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นอย่างครั้งนี้ได้

ประการที่สาม ศูนย์การให้ข้อมูล หรือคนในพื้นที่ คนในโรงงานควรรับรู้ข้อมูลต่างๆ อย่างถูกต้อง

การให้ความสำคัญเรื่องข้อมูลต่างๆ ต่อกลุ่มคนทั้งในโรงงานอุตสาหกรรม คนในพื้นที่ รวมไปถึงการมีศูนย์ให้ข้อมูลเชิงความเสี่ยงอย่างชัดเจนจะทำให้เกิดการสื่อสารข้อมูลได้อย่างถูกต้องมากกว่าเดิม เนื่องจากเหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นการกระจายข้อมูลต่างๆ ผ่านโลกโซเชียลมีเดียที่รวดเร็ว แต่ไม่มีการยืนยันถึงแหล่งที่มาว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง

เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดกรณีซ้ำ เหมือนเหตุการณ์ระเบิดและเพลิงไหม้ในโรงงาน BST นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ที่ไม่มีกระจายเรื่องข้อมูลอย่างชัดเจนจนส่งผลกระทบในเชิงกว้างต่อการจัดการ หากมีหน่วยงานที่ให้ข้อมูลถูกต้องจะเป็นประโยชน์ในการวางแผนบริหารจัดการต่อไปในอนาคตได้

ประการที่สี่ อย่าตื่นตระหนกกับสารก่ออันตรายจนเกินไป

การให้ข้อมูลเรื่องสารก่ออันตราย สารอันตราย หรือสารก่อสารพิษจากแหล่งข่าวต่างๆ ส่งผลให้เกิดความหวาดกลัวและตื่นตระหนกของประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้ผู้คนจำนวนมากต่างได้รับกลิ่นและเห็นควันกันอย่างชัดเจนเนื่องด้วยสถานที่เกิดเหตุมีระยะใกล้กับที่พักอาศัย

หากถามว่าอันตรายหรือไม่ คำตอบคืออันตราย แต่ไม่อยากให้ตื่นตระหนกมากนัก เพราะสารในกลุ่มควันอาจไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกายมากก็ได้ มันเกิดในช่วงเวลาสั้นๆ (1-2 วัน) ไม่ได้มีช่วงเวลายาวนานแบบ 1 ปี ท้ายที่สุดจะค่อยๆ ดีขึ้นเอง ยกตัวอย่าง สิ่งแวดล้อมทั่วๆ ไปในกรุงเทพฯ มีสารสไตรีนเท่ากับค่าประมาณ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เมื่อลองวัดคุณของสิ่งแวดล้อมภายในอาคาร (Indoor Environment) กรุงเทพฯ เท่ากับค่าประมาน 60-70 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเห็นได้ชัดว่ามีค่าเยอะกว่าข้างนอกประมาณ 6 เท่าในพื้นที่ที่เรามีการเผาไหม้ เช่น สูบบุหรี่ หรือจุดธูปในบ้าน

อย่างไรก็ตาม กลิ่นเหม็นๆ จากควันเป็นสารพิษที่ไม่มีใครควรจะได้รับ รัฐจึงควรเร่งแก้ไขโดยเร็วที่สุด


หมายเหตุ – เรียบเรียงความเห็นส่วนหนึ่งของ รศ.ดร.สราวุธ เทพานนท์ จากงานเสวนาออนไลน์ Mahidol Science Café ถอดบทเรียน “ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว” โดยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ 5 กรกฎาคม 2564

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save