ผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อสังคมไทย เมื่อพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่อย่างพรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งได้รับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และคะแนนนิยมมากที่สุด แบ่งเป็น ส.ส. แบบแบ่งเขต 112 คน จากทั้งหมด 400 คน และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 39 คน จากทั้งหมด 100 คน รวมถึงคะแนนนิยมทั่วประเทศจากการลงคะแนนแบบบัญชีรายชื่อซึ่งกวาดไปได้ทั้งสิ้นมากกว่า 14 ล้านเสียงจากผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศทั้งหมด 39.3 ล้านคน
พรรคก้าวไกลสามารถเอาชนะพรรคใหญ่ที่คว้าชัยในการเลือกตั้งมาตลอดกว่า 20 ปีอย่างพรรคเพื่อไทย ซึ่งได้รับจำนวน ส.ส. ตามมาเป็นอันดับที่ 2 คือ ส.ส. แบบแบ่งเขต 112 คน และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 29 คน รวมถึงคะแนนนิยมทั่วประเทศอีก 10 ล้านเสียง ขณะที่ในฟากฝั่งของพรรคการเมืองอื่นๆ ทั้งพรรคที่มีกองทัพหนุนหลัง พรรคการเมืองอนุรักษนิยม และพรรคการเมืองเจ้าพ่อท้องถิ่นอื่นๆ ซึ่งเป็นอดีตรัฐบาลนั้นแทบจะไม่สามารถรักษาหรือเพิ่มคะแนนเสียงของตัวเองได้เลย อันจะเห็นว่าพรรคพลังประชารัฐ, พรรครวมไทยสร้างชาติ, พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย ได้รับจำนวน ส.ส. เพียง 40, 36, 25 และ 71 คนตามลำดับ
ในการอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าว สื่อและนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างมองว่าเป็นผลจากทั้งความล้มเหลวในการบริหารงานของอดีตรัฐบาลอำนาจนิยม นโยบายและแคมเปญทางการเมืองที่ดูประนีประนอมกว่าของพรรคเพื่อไทย ส่วนพรรคก้าวไกลมีเป้าหมายและการหาเสียงที่ชัดเจนในการไม่เอาพรรคที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร ข้อเสนอในเชิงการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง และภาวะผู้นำที่โดดเด่นของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค โดยหลายความเห็นมองว่าเป็นผลจากการที่ฝ่ายต่อต้านทักษิณจำนวนมากยอมหันเหการสนับสนุนจากพรรคการเมืองที่มีกองทัพหนุนหลังมาสู่พรรคทางเลือกอื่นๆ ที่ไม่ใช่พรรคเพื่อไทย ทั้งหมดนี้เป็นส่วนสำคัญในชัยชนะของพรรคก้าวไกล
อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยที่สำคัญอีกประการ นั่นคือการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ในการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นผลมาจากพัฒนาการความสัมพันธ์และอิทธิพลที่มีต่อกันระหว่างขบวนการเคลื่อนไหวคนรุ่นใหม่และพรรคก้าวไกล
จากการเคลื่อนไหวออนไลน์สู่คูหาเลือกตั้ง
สัญญาณแห่งชัยชนะของพรรคก้าวไกลในวันนี้ เริ่มก่อตัวให้เห็นตั้งแต่การเกิดขึ้นของการเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชนเพื่อต่อต้านการรัฐประหารในปี 2557 ถึงแม้ว่าเยาวชนซึ่งเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองรุ่นบุกเบิกเหล่านี้จะไม่สามารถจัดการสนับสนุนของคนรุ่นใหม่ได้ในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ทว่าตั้งแต่ปลายปี 2558 เป็นต้นมา คนรุ่นใหม่จำนวนมากก็เริ่มมีความตื่นตัวทางการเมืองและเริ่มมีปฏิบัติการตอบโต้คณะรัฐประหารผ่านการเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์
คนหนุ่มสาวจำนวนหลายแสนคนกลายเป็นนักรบออนไลน์และประสบความสำเร็จในการล้มข้อเสนอนโยบายซิงเกิลเกตเวย์ของรัฐบาล ข้อเสนอดังกล่าวเป็นพยายามควบคุมเครือข่ายอินเทอร์เน็ตตามที่รัฐบาลต้องการ จากการรณรงค์ให้ผู้คนเข้าไปกด F5 เพื่อทำให้เว็บไซต์จำนวนมากของรัฐบาลล่มในเวลาเดียวกัน พวกเขาประสบความสำเร็จในทำให้คณะรัฐบาลภายใต้การนำของคณะรัฐประหารยอมถอย ประกาศไม่ผลักดันแผนซิงเกิลเกตเวย์ต่อ นี่ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่นักเคลื่อนไหวทำแคมเปญประสบความสำเร็จในการกดดันให้รัฐบาลยอมละเลิกนโยบายผ่านช่องทางออนไลน์ อย่างไรก็ตาม คนรุ่นใหม่เหล่านี้ก็ยังไม่ได้พัฒนาก่อรูปตัวเองจากการเคลื่อนไหวออนไลน์สู่การเคลื่อนไหวบนท้องถนนในทันทีแต่อย่างใด
ในระยะต่อมาเราเริ่มเห็นการเคลื่อนไหวตัวของการเมืองคนรุ่นใหม่จากการประท้วงและโลกออนไลน์สู่การเมืองเลือกตั้งและพรรคการเมือง แกนนำกลุ่มต่อต้านรัฐประหารหลายคนเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างพรรคอนาคตใหม่ตั้งแต่วันแรกในการตั้งพรรค คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่กลายเป็นฐานเสียงในความสำเร็จของพรรคอนาคตใหม่ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ยกตัวอย่างเช่น พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักกิจกรรมต่อต้านรัฐประหารจากธรรมศาสตร์ ถือเป็นหนึ่งในสมาชิกที่ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ รังสิมันต์ โรม แกนนำกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ลงสมัครและได้รับเลือกเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคอนาคตใหม่ ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี อดีตนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็เป็นสมาชิกและผู้ปฏิบัติงานในปีกเยาวชนของพรรคอนาคตใหม่ นอกจากนี้ สมาชิกขององค์กรการเคลื่อนไหวคนอื่นๆ ก็ได้เข้าไปทำงานในพรรค ทั้งในฐานะผู้ช่วยประชาสัมพันธ์พรรค ผู้จัดการแคมเปญของปีกเยาวชน ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนฯ และผู้จัดทำนโยบายต่างๆ
ขณะเดียวกัน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก (first time voter) ซึ่งต้องการทางเลือกใหม่ๆ ในทางการเมือง (มีจำนวนมากถึง 8 ล้านคนจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งสิ้น 51 ล้านคน) ก็ถือเป็นเสียงสนับสนุนมวลชนที่แข็งแกร่งของพรรค ทำให้ในท้ายที่สุด การสนับสนุนของคนรุ่นใหม่และผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกนี้เองนำพาพรรคมวยรองอย่างพรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสามในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 โดยผลการเลือกตั้งที่เห็นนี้ ไม่ได้เป็นเพียงชัยชนะของพรรคอนาคตใหม่เท่านั้น หากแต่ยังไปช่วยสร้างสำนึกในการเป็นเจ้าของพรรคร่วมกันในหมู่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งรุ่นใหม่ด้วย คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่าพวกเขาเป็นหนึ่งในผู้ที่ทำให้พรรคชนะได้ที่นั่งในสภาและคาดหวังว่าพรรคจะผลักดันการเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปตามความปรารถนาของพวกเขาต่อไป
จากพรรคอนาคตใหม่สู่ขบวนการเคลื่อนไหวโบว์ขาว
ในช่วงก่อนการเลือกตั้งและหลังจากการเลือกตั้ง ภายในพรรคอนาคตใหม่เต็มไปด้วยข้อถกเถียงถึงทิศทางในการก้าวต่อไปของพรรค ในขณะที่ฝ่ายหนึ่งพยายามผลักดันให้พรรคผลักดันการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและข้อเสนอที่แหลมคม โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ สิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ และนโยบายทางสังคมเศรษฐกิจต่างๆ ในทางตรงกันข้ามหลายกลุ่มกลับเสนอให้พรรคพยายามที่จะลดระดับความสุดโต่งของข้อเสนอแรกเริ่มหลายข้อ โดยคาดหวังว่าจะรอดพ้นการถูกกีดกันทางการเมืองภายใต้รัฐบาลเผด็จการหลังการเลือกตั้งไปได้ ท่ามกลางความไม่ชัดเจนของพรรคและความพยายามประนีประนอมระหว่างข้อเสนอเหล่านี้ ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคและนักเคลื่อนไหวหลายคนดำเนินไปอย่างไม่ราบรื่นนัก นำไปสู่ความไม่ลงรอยและการปะทะภายในหลายกรณี ส่งผลให้หลายคนลาออกจากพรรคเพื่อไปนำการเคลื่อนไหวต่อต้านคณะรัฐประหารและชนชั้นนำในประเทศต่อ ดังเช่น ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี และพริษฐ์ ชิวารักษ์ เป็นต้น
ต่อมาเมื่อพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบโดยการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในช่วงต้นปี 2563 ก่อนที่ภายในพรรคเองจะตัดสินใจด้วยซ้ำว่าจะเปลี่ยนการต่อสู้จากในรัฐสภาไปสู่การสนับสนุนการประท้วงใหญ่หรือไม่ หลายคนที่ออกจากพรรคก็ไปนำการเคลื่อนไหวใหญ่ของเยาวชนคนรุ่นใหม่เรียบร้อยแล้ว รวมถึงคนรุ่นใหม่ทั่วไปที่เคยเป็นผู้ลงคะแนนเสียงให้พรรคก็เริ่มจัดการประท้วงแฟลชม็อบเป็นของตัวเองตามโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งพวกเขาก็ประสบความสำเร็จในการระดมการเคลื่อนไหวจากคนรุ่นใหม่ที่ใหญ่มากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยจุดสูงสุดคือการชุมนุมวันที่ 19 กันยายน 2563 ที่สนามหลวง การประท้วงใหญ่ดึงดูดผู้ประท้วงได้หลายหมื่นคน ก่อนที่ต่อมาการจลาจลเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคมปี 2564 ขบวนการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่จะขยายพ้นไปจากนักศึกษาชนชั้นกลาง สู่เยาวชนชนชั้นล่างและลูกหลานคนจนเมือง
นอกจากนั้นขบวนการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ได้ผลักดันนโยบายในระดับแหลมคมที่บางส่วนของพรรคเคยปฏิเสธ โดยเฉพาะในเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ สิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ การต่อต้านทุนผูกขาด และอื่นๆ โดยผู้นำการเคลื่อนไหวเหล่านี้เสี่ยงชีวิตของตัวเองเพื่อผลักดันข้อเรียกร้องที่ทะลุเพดานการเมืองไทย โดยจะเห็นว่าตั้งแต่ข้อเสนอในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อถูกเสนอโดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม พรรคก็เริ่มปรับท่าที โดยหลังการประกาศข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ดังกล่าว นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคก้าวไกลได้ไม่นาน เริ่มออกมากล่าวถึงสิทธิของคนรุ่นใหม่ในการเสนอข้อเรียกร้องดังกล่าวว่าควรได้รับการปกป้องและรับฟัง แม้ในช่วงต้นจะไม่ได้ตอบรับข้อเสนอดังกล่าวในทันที แต่เมื่อการชุมนุมเริ่มขยายตัวมากขึ้น และข้อเรียกร้องดังกล่าวกลายเป็นประเด็นสาธารณะ เราเริ่มเห็นทิศทางที่เปลี่ยนแปลงไปของพรรคอย่างชัดเจน พรรคก้าวไกลเริ่มหันมาวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายและอำนาจของสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมาและเปิดเผย ไม่ว่าจะเป็นการแทรกแซงการเมืองรัฐสภาและความไม่โปร่งใสในการบริหารราชการส่วนพระองค์ นอกจากนั้นในวาระการประชุมงบประมาณประจำปี สมาชิกสภาผู้แทนของพรรคยังเดินออกจากห้องประชุมเพื่อเป็นการประท้วงการเพิ่มงบประมาณให้กับส่วนราชการในพระองค์ และที่สำคัญที่สุดคือพรรคก้าวไกลกล้าเสนออย่างเปิดเผยต่อสาธารณชนว่ามีความต้องการที่จะปฏิรูปและแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมราชานุภาพ (กฎหมายอาญามาตรา 112)
เมื่อมาถึงจุดนี้แล้ว พรรคก้าวไกลและสมาชิกส่วนใหญ่ทั้งหลายต่างก้าวออกมาจากจุดปลอดภัยของตัวเองเพื่อร่วมในการประท้วงและมีการเน้นย้ำถึงประเด็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ นี่เป็นความพยายามของพรรคในการจะกลับไปเชื่อมโยงกับบรรดาผู้นำการเคลื่อนไหว ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับที่ดี ได้รับความเชื่อใจและแรงสนับสนุนจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เป็นคนรุ่นใหม่กลับมามากขึ้น ปีกเยาวชนของพรรคก้าวไกลเองก็มีการจัดเวิร์กชอปให้คนรุ่นใหม่เพื่อเชื่อมโยงนักกิจกรรมที่มาจากมหาวิทยาลัยและโรงเรียนที่แตกต่างกันได้มาพบปะและสร้างเสริมกำลังใจซึ่งกันและกัน สมาชิกสภาผู้แทนของพรรคก็ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับการประท้วงของเยาวชนคนรุ่นใหม่ในเขตพื้นที่ของตัวเอง มีการประสานพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ในท้องที่ไม่ให้ลงมาข่มขู่คุกคามการประท้วง นอกจากนี้สมาชิกสภาผู้แทนของพรรคอีกหลายคนยังใช้ตำแหน่งของตัวเองยื่นประกันตัวนักกิจกรรมจำนวนนับไม่ถ้วนซึ่งถูกรัฐจับกุมจากการชุมนุมต่างๆ ยังไม่รวมการไปปรากฏตัวในการชุมนุมจำนวนมากในฐานะผู้เข้าร่วมทั่วไปของอดีตสมาชิกพรรคอนาคตใหม่และสมาชิกปัจจุบันของพรรคก้าวไกลด้วย เป็นต้น โดยขณะเดียวกัน ขบวนการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ก็ใช้พรรคก้าวไกลเป็นช่องทางทางการเมืองของตัวเองเพื่อจะแคมเปญและส่งเสียงเรียกร้องที่มีความสุดโต่งกว่าเข้าไปในสภาด้วย
จากขบวนการเคลื่อนไหวสู่พรรคก้าวไกล
หลังจากที่มีการต่อสู้บนท้องถนนมาเกือบสองปี ผู้นำการเคลื่อนไหวและผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนนับไม่ถ้วนต่างถูกจับกุมหรือได้รับบาดเจ็บ การประท้วงใหญ่ไม่ปรากฏให้เห็นอีก ในปี 2564 การเคลื่อนไหวเหลือเพียงบางกลุ่ม เช่น กลุ่มทะลุวังที่ยังคงเคลื่อนไหวต่อ แต่ถึงกระนั้นการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ก็ไม่ได้สลายหายไปไหน พวกเขาถอยกลับมาตั้งหลักและเปลี่ยนแปลงการเคลื่อนไหวไปสู่รูปแบบอื่นๆ คนรุ่นใหม่ที่เคยตื่นตัวทางการเมืองในช่วงการชุมนุมเลือกเข้าร่วมกิจกรรมของพรรคและการเลือกตั้ง สำหรับพวกเขาการมีส่วนร่วมทางการเมืองแบบนี้ลงทุนน้อยแต่มีประสิทธิภาพ โดยในช่วงกลางปี 2565 หลายคนเริ่มเข้าไปมีส่วนร่วมในแคมเปญทางการเมืองในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้นำการเคลื่อนไหวและผู้สนับสนุนในขบวนการต่างกระจายตัวเข้าร่วมสนับสนุนตัวแทนผู้สมัครในฝั่งประชาธิปไตยทั้ง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ และวิโรจน์ ลักขณาอดิสร ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล กิจกรรมการรณรงค์หาเสียงของผู้สมัครเหล่านี้ดึงดูดผู้ที่เคยเข้าร่วมในการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่มาก โดยผลการเลือกตั้งจบลงที่ชัยชนะอย่างถล่มทลายของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ซึ่งได้รับเสียงกว่า 51.8 เปอร์เซ็นต์ ความสำเร็จในครั้งนี้ยิ่งจูงใจให้คนรุ่นใหม่ทั่วไปเชื่อมากขึ้นอีกว่าการเลือกตั้งเป็นหนทางที่ง่ายกว่า ปลอดภัยกว่าการชุมนุมประท้วง และมีประสิทธิภาพมากกว่าในการเอาชนะระบอบอนุรักษนิยมและเผด็จการ
การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2566 ยิ่งเป็นหลักฐานที่เด่นชัดถึงการปรับเปลี่ยนการมีส่วนร่วมทางการเมือง จากการชุมนุมบนท้องถนนสู่การเลือกตั้ง ซึ่งเป็นชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์ของพลังของคนรุ่นใหม่ โดยจะเห็นได้ดังนี้
1. มีอดีตผู้นำการเคลื่อนไหวอย่างน้อย 20 คนเข้าร่วมกับพรรคก้าวไกลในฐานะผู้สมัคร ส.ส. และหลายคนชนะเลือกตั้ง เช่น ปิยรัฐ จงเทพ อดีตผู้สมัครของพรรคอนาคตใหม่และผู้นำกลุ่ม WeVo ชนะเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานคร รักชนก ศรีนอก อดีตผู้ต่อต้านการรัฐประหารอิสระ ชนะเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเขตที่มีเจ้าพ่อท้องถิ่นครองเก้าอี้ ส.ส. เดิมในนามพรรคเพื่อไทย ชลธิชา แจ้งเร็ว อดีตแกนนำกลุ่มราษฎร-ประชาธิปไตยใหม่ ชนะเลือกตั้งในเขตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จังหวัดปทุมธานี พุธิตา ชัยอนันต์ อดีตนักกิจกรรมต่อต้านรัฐประหารในจังหวัดเชียงใหม่ก็ชนะเลือกตั้งในเขตที่มั่นของพรรคเพื่อไทย เป็นต้น
2. นักกิจกรรม แกนนำ และคนรุ่นใหม่ทั่วไปเข้าร่วมกับพรรคก้าวไกลในฐานะผู้ช่วยจัดการแคมเปญ อาสาสมัคร และนักคิดนโยบาย เช่น ภายใต้กิจกรรม hackathon ซึ่งพรรคก้าวไกลจัดขึ้นเพื่อริเริ่มเฟ้นหานโยบายใหม่ๆ ของพรรค รวมทั้งการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ผู้นำการเคลื่อนไหวและนักเรียนนักศึกษาหัวกะทิจำนวนมากเข้ามาร่วมระดมสมองก่อร่างสร้างนโยบายเพื่อใช้ในการหาเสียงของพรรคก้าวไกล รวมทั้งยังช่วยกลั่นกรองข้อเสนองบประมาณของอดีตรัฐบาลเผด็จการด้วย ตัวอย่างผู้นำที่เข้ามาร่วมกับพรรคก้าวไกลในลักษณะนี้ เช่น ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล อดีตผู้นำในเครือข่ายการเคลื่อนไหวประชาชนปลดแอก และวิทยา โอซากิ นิสิตแพทยศาสตร์
3. ผู้สนับสนุนมวลชนคนรุ่นใหม่มีบทบาทอย่างมากในการช่วยสนับสนุนการรณรงค์หาเสียงของพรรค ทั้งบนพื้นที่ออนไลน์และออฟไลน์ในฐานะหัวคะแนนธรรมชาติ (organic political canvasser) ของพรรคก้าวไกล เนื่องจากการหาเสียงของพรรคก้าวไกลไม่เหมือนกับวิธีการหาเสียงทางการเมืองอื่นๆ ที่เน้นการใช้เงินทุนจำนวนมาก โดยพรรคก้าวไกลเลือกที่จะใช้วิธีการที่มีต้นทุนและงบประมาณต่ำแทน ผู้สมัครหลายคนของพวกเขาต้องปั่นจักรยานเคาะประตูหาเสียงตามบ้านเพื่อจะได้พบปะพูดคุยกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขต และก็ใช้เงินไปกับโปสเตอร์หาเสียงน้อยกว่าและทำในลักษณะที่เล็กกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ ด้วย ที่สำคัญก็คือว่าพรรคเองก็ไม่ได้ทุ่มทั้งเงินและสรรพกำลังไปกับการหาหัวคะแนนในพื้นที่ต่างๆ ที่น่าประหลาดใจคือกลับเป็นคนรุ่นใหม่ทั่วไปเองที่อาสาเข้ามาช่วยพรรคทำแคมเปญออนไลน์และชักชวนให้สมาชิกในครอบครัวมาเลือกพรรคก้าวไกลด้วย
4. ประการสุดท้าย ในส่วนของผู้เข้าร่วมการเดินขบวนหาเสียงและคาราวานทางการเมืองทั้งหลาย แตกต่างจากพรรคอื่นๆ ซึ่งผู้เข้าร่วมมีการจัดตั้งมา แต่ในเวทีและคาราวานหาเสียงของพรรคก้าวไกลกลับเป็นผู้คนที่เข้ามาร่วมเองจริงๆ มากกว่า นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมในเวทีหาเสียงของพรรคคก้าวไกลยังมักจะมีจำนวนมากกว่าที่ผู้จัดคาดการณ์ไว้ และมีบรรยากาศที่คล้ายคลึงกับการจัดการประท้วงของคนรุ่นใหม่เมื่อปี 2563 ซึ่งมีทั้งกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ถือป้ายเพื่อแสดงความเห็นทางการเมืองและปัญหาต่างๆ รวมถึงบางกลุ่มยังมีการจัดกิจกรรมของตัวเองภายในพื้นที่เวทีหาเสียงเพื่อแสดงให้เห็นถึงปัญหาที่กลุ่มของตัวเองกังวลต่อพรรคด้วย
ก่อนการเลือกตั้ง คนจำนวนมากต่างตั้งคำถามว่าผู้เข้าร่วมการชุมนุมของคนรุ่นใหม่จะยังคงตื่นตัวทางการเมืองอย่างต่อเนื่องหรือเปล่า หรือกระแสบนโลกออนไลน์และการสนับสนุนของมวลชนในเวทีหาเสียงของพวกเขาจะสามารถเปลี่ยนเป็นคะแนนเลือกตั้งจริงๆ ให้กับพรรคก้าวไกลได้หรือไม่ แต่เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมสิ้นสุดลง ผลการเลือกตั้งได้ตอบทุกอย่างแล้ว โดยสรุป การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในปี 2563-2564 เป็นผลลัพธ์ที่สุกงอมจากพรรคอนาคตใหม่ และชัยชนะของพรรคก้าวไกลก็เป็นผลต่อขยายออกมาจากการเคลื่อนไหวดังกล่าวของคนรุ่นใหม่ในปี 2563-2564 ด้วย
บทความนี้เก็บความจากบทความ The May 2023 Elections and the Triumph of Thai Youth Social Movements เขียนโดยกนกรัตน์ เลิศชูสกุล เผยแพร่ที่ Journal of Critical Asian Studies แปลเก็บความโดยอุรพี เขื่อนคำ