fbpx
เส้นสมมติสาละวิน : ชายแดนชีวิตผู้ลี้ภัยกะเหรี่ยง

เส้นสมมติสาละวิน : ชายแดนชีวิตผู้ลี้ภัยกะเหรี่ยง

1

“มาสาละวิน ห้ามพูดถึงโขง” พี่ชัย – วิชัย จันทวาโร คนรักแม่น้ำผู้รับหน้าที่สารถีพูดขึ้นบนรถระหว่างทางคดเคี้ยว เบื้องขวาของเราคือแม่น้ำแจ่มที่ไหลลงไปหาแม่น้ำปิง อากาศข้างนอกเย็นชื้นจากไอฝน

อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอนคือเป้าหมายของเรา หลังออกเดินทางจากเชียงใหม่เมื่อตอนเย็นย่ำ มาตอนนี้ท้องฟ้ามืดมิด โชคร้ายที่ฝนตกลงมาด้วย ทำให้การขับรถบนทางที่ขึ้นเขาอยู่แล้วยากขึ้นไปอีก เราขับตามคันหน้าอย่างเคร่งครัด ทุกคนลงความเห็นตรงกันว่าบนเส้นทางที่มืดสนิทเช่นนี้ การมีเพื่อนร่วมทางเป็นเรื่องสมควรทำ

“มีตำนานเล่าว่า แม่น้ำโขงกับแม่น้ำสาละวินเป็นพี่น้องกัน เพราะมีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาหิมาลัยเหมือนกัน แม่น้ำทั้งสองสายแข่งกันว่าใครวิ่งถึงทะเลก่อนคนนั้นชนะ” พี่ชัยเล่าต่อ

“แล้วใครชนะ” ฉันถามเร็ว

“แม่น้ำสาละวินสั้นกว่า เลยถึงทะเลก่อน” พี่ชัยว่า

“ถ้าอย่างนั้นก็แปลว่าสาละวินชนะ แล้วจะน้อยใจทำไม” ฉันพูดหลังได้ยินคำตอบ น้องช่างภาพที่นั่งเบาะหลังหัวเราะร่วน พี่ชัยก็หัวเราะไปด้วย

“ถ้าเห็นสาละวินแล้วจะรัก” พี่ชัยทิ้งท้ายเรื่องแม่น้ำไว้ตรงนั้น แล้วตั้งใจขับรถต่อไป

ไม่ใช่แค่ฝน แต่หมอกหนาเริ่มคลุมเต็มท้องถนน แม้จะเปิดไฟตัดหมอกแล้ว แต่แสงไฟหน้ารถส่องเห็นถนนได้ไม่เกิน 15 เมตร ในช่วงเวลาที่ทุกคนกลั้นหายใจลุ้นโค้งอยู่นั้น เกิดเสี้ยววินาทีที่หมอกคลุมหนาจนข้างหน้ามืดสนิท คล้ายว่าตรงหน้าเป็นหุบเหว ทุกคนบนรถร้องลั่น โชคดีที่ข้างหน้ายังเป็นทางราบเรียบ และเรายังอยู่บนเส้นทางที่ปลอดภัย

ถ้าเป็นในยามปกติ การมาแม่น้ำสาละวินช่วงฤดูร้อนอาจไม่ใช่ช่วงที่เหมาะสมกับการท่องเที่ยวอย่างเย็นสบายนัก แต่เราไม่ได้มาเที่ยว และยิ่งชัดเจนว่าช่วงนี้ไม่ใช่เวลาปกติ

ข่าวคราวเหตุการณ์ความไม่สงบในพม่าตั้งแต่รัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ดำเนินมายาวนานสองเดือนกว่าแล้ว จากกลุ่มผู้ประท้วงในหลายเมือง ขยับขยายกลายเป็นความขัดแย้งเกือบทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ไม่เว้นแม้แต่พื้นที่ของชาวกะเหรี่ยง ที่เกิดการสู้รบระหว่างทหารพม่ากับสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ที่กลับมาปะทุอีกครั้งหลังการทำรัฐประหารของมิน อ่อง หล่าย

ภาพหมู่บ้านร้างใกล้แม่น้ำสาละวินปรากฏในหน้าสื่อ ชาวกะเหรี่ยงหลายพันคนต้องหลบระเบิดที่ทหารพม่าทิ้งลงในหมู่บ้าน ส่งผลให้ชาวบ้านจำนวนมาก โดยเฉพาะเด็กและคนชราต้องอพยพข้ามมาฝั่งไทย แม่น้ำสาละวินที่เป็นพรมแดนธรรมชาติ มาถึงตอนนี้กลายเป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างผู้คนจากสองฝั่ง และยิ่งกลายเป็นเกราะคุ้มครองสำคัญ เมื่อชาวบ้านหลายคนข้ามมาอยู่บนแผ่นดินไทยได้สำเร็จ

เรื่องควรจะเรียบง่ายแบบนั้น แต่ความจริงไม่ใช่ เมื่อพวกเขาหนีจากภัยสงคราม แต่กลับต้องมาเจอกับภัยความหิวโหย เพราะที่ที่พวกเขาหนีมาถึงไม่มีเสบียงเพียงพอ และดูเหมือนว่าการช่วยเหลือจากฝั่งไทยในฐานะเพื่อนมนุษย์จะถูกหดแคบลงผ่านกระบวนการที่ซับซ้อนเกินจะทำความเข้าใจ

เรามาถึงตัวเมืองแม่สะเรียงประมาณสามทุ่ม ยินข่าวคราวว่าผู้ลี้ภัยกว่า 2,500 คนที่อยู่ริมแม่น้ำสาละวินแถวแม่สะเกิบ สบแงะ และแม่นึท่า กำลังตกอยู่ในภาวะยากลำบากเพราะไม่มีอาหารและยา

ฉันไม่เคยมาสาละวิน ถ้าจะมีแม่น้ำไหนที่พอคุ้นเคยกันอยู่บ้างก็คือแม่น้ำโขง แต่เมื่อเรียนรู้กฎข้อแรกของการมาที่นี่แล้ว ฉันจึงปิดปากเงียบ รอวันทำความรู้จักกับแม่น้ำสาละวินอย่างใจจดในวันรุ่งขึ้น

2

เส้นทางเดินรถจากแม่สะเรียงไปที่แม่สามแลบใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง แม้ระยะทางจะอยู่ที่ประมาณ 30 กิโลเมตรเท่านั้น กูเกิลแม็ปปรากฏภาพงูคดเคี้ยว แทบไม่มีจังหวะไหนที่ไม่ต้องหมุนพวงมาลัยแบบหักศอก ฉันควักยาดมมาช่วยบรรเทาความหวาดเสียว และเรียนรู้ที่จะเหยียบเบรกทิพย์

เป้าหมายของเราคือจุดชมวิวแม่น้ำสาละวิน ซึ่งเป็นบริเวณสุดท้ายที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปได้ นับแต่มีผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงข้ามมาฝั่งไทย สถานการณ์ทั้งหลายยังคลุมเครือ ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าผู้ลี้ภัยข้างในต้องเผชิญกับอะไรบ้าง ขณะเดียวกันก็มีการตั้งคำถามว่า เพราะอะไรผู้คนจึงถูกห้ามไม่ให้ข้ามด่านเข้าไป ทั้งที่ยังอยู่ในเขตแดนไทย มีเพียงชาวบ้านที่อยู่อาศัยในหมู่บ้านเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้ผ่านป้ายเหล็กนั้นเข้าไปได้

ใช้เวลาไม่นานเราก็ไปถึงแม่น้ำสาละวิน วันนั้นแดดแรง แม่น้ำสาละวินในสัมผัสแรกแห้งขอดและแสบตา แต่เมื่อเอาเท้าไปสัมผัสแล้วกลับเย็นอย่างไม่น่าเชื่อ

“มีแต่แม่น้ำที่ไหลมาจากหิมาลัยเท่านั้นแหละ ที่จะเย็นขนาดนี้ในวันที่แดดร้อนแบบนี้” พี่ชัยว่า เขาเป็นคนหนึ่งที่รักสาละวิน และรู้จักมักคุ้นกับแม่น้ำสายนี้เป็นอย่างดี


ไม่ใช่แค่เราที่ยืนอยู่ตรงนั้น แต่ยังมีเด็กหนุ่มวัย 14 ปี ชื่อแสบเหมือนบุคลิกว่า ‘ตัวฤทธิ์’ ยืนอยู่ริมแม่น้ำกับเราด้วย

แม้เขาจะบอกว่าตัวเองอายุ 14 ปี แต่หากคะเนด้วยสายตา เขาตัวเล็กและเสียงยังไม่แตกหนุ่ม กะคร่าวๆ น่าจะประมาณ 11 ปี ตัวฤทธิ์พูดคล่องปร๋อ วิ่งจากเนินบ้านลงมาที่แม่น้ำในเวลาเพียงเสี้ยววินาที และมีรอยยิ้มจริงใจอย่างที่เด็กเท่านั้นจะมีได้

“ประมาณ 4-5 โมงเย็น ทหารพม่าจะลงมาอาบน้ำที่นี่” ตัวฤทธิ์พูดพลางชี้ไปที่ฝั่งตรงข้ามสาละวิน บนเนินนั้นมีกระท่อมประมาณ 4-5 หลัง เป็นค่ายทหารพม่าที่ตั้งอยู่ตรงข้ามกับด่านทหารพรานของไทย น่าสนใจว่าเป็นค่ายทหารพม่าขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ท่ามกลางพื้นที่ของรัฐกะเหรี่ยง

แม้แม่น้ำสาละวินจะแห้งกว่าปกติ แต่น้ำยังไหลแรง เรายืนบนผืนทราย มองเห็นเกาะแก่งที่อวดโฉมในช่วงฤดูแล้งชัดถนัดตา หากถึงฤดูน้ำหลาก ที่ที่เรายืนอยู่จะกลายเป็นใต้น้ำลึกหลายเมตร โชคดีที่ฉันมีโอกาสจับแก่งหินใกล้ๆ – หินมันเลื่อมและส่องแสงสะท้อนเมื่อต้องแดด น่าคิดว่าแก่งหินอยู่ตรงนั้นตลอดมา ยืนหยัดสู้น้ำที่ไหลผ่านไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ธรรมชาติแข็งแกร่งกว่าเราจะนึกออกเสมอ

ที่บ้านแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีชุมชนของผู้คนหลากชาติพันธุ์และศาสนา ทั้งชาวมุสลิม กะเหรี่ยง และไทใหญ่ พวกเขาสร้างบ้านริมแม่น้ำสาละวิน และกลายเป็นบ้านบนภูเขาสูงเมื่อน้ำลด การอยู่รวมกันนั้นแทบจะสลับกันหลังต่อหลัง ในพื้นที่ประมาณร้อยหลังคาเรือนนี้ มีทั้งวัด โบสถ์ และมัสยิด เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชน และเด็กๆ ก็วิ่งเล่นกันโดยไม่ได้แบ่งแยกสีผิวหรือความหยักของเส้นผม

“ตกเย็นเราจะมาเตะบอลกันตรงนี้” ตัวฤทธิ์ว่าพลางชี้ไปที่โกลสีขาวไร้ตาข่าย สนามฟุตบอลบนพื้นทรายไม่มีเส้นแดนขีดไว้ชัดเจน พวกเขาจินตนาการเอาเองว่าตรงไหนจะถือว่าลูกบอลออก

“ถ้าเราอยากไปฝั่งตรงข้าม ก็แกล้งทำเป็นเตะบอลข้ามแม่น้ำไป แล้วบอกว่ามาเก็บบอลครับ ได้มั้ย” พี่ชัยยิงมุกที่เฉียบขาดอีกครั้ง ตัวฤทธิ์ยิ้มฟันขาว ไม่แน่ใจว่าขำหรือสงสาร ฉันหัวเราะ พลางคิดไปว่า เราก็ห่างกันแค่นี้เอง แค่ระยะเก็บบอล

หากถึงฤดูน้ำหลาก โกลตรงนี้จะถูกเก็บไว้บนที่สูง พื้นสนามบอลจะจมลงใต้น้ำ—แม้แต่เมสซี่ก็เตะไม่ได้

ชาวมุสลิมที่นี่ปลูกผัก เลี้ยงแพะ และค้าขาย ส่วนชาวกะเหรี่ยงและไทใหญ่ก็ทำไร่และค้าขายเช่นกัน พวกเขาเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับแม่น้ำสาละวิน ตั้งแต่อาบน้ำไปจนถึงซักผ้า ในวันที่หนุ่มสาวอยากหาที่พลอดรัก ริมแม่น้ำสาละวินย่อมเหมาะกับการนั่งโอบกอดอย่างไม่ต้องสงสัย


ผู้คนสองฝั่งไทย-กะเหรี่ยง ใช้ชีวิตเชื่อมโยงกันด้วยแม่น้ำเสมอ มูซาเก็น เจ้าของร้านขายของชำบอกฉันว่า ก่อนหน้าที่จะมีโควิดและรัฐประหารในพม่า คนกะเหรี่ยงมักข้ามฝั่งมาซื้อของที่นี่ ตั้งแต่น้ำปลา พืชผัก ไปจนถึงโซดาน้ำแข็ง

มาวันนี้บริเวณตลาดที่จุดชมวิวสาละวินและท่าเรือเงียบเหงา จากที่เคยเป็นแหล่งท่องเที่ยว พอเจอโควิด ด่านทั้งหมดก็ถูกปิดตาย ร้านอาหารและร้านค้าเลยเงียบสนิทไปด้วย

วันที่เราไปมีร้านขายก๋วยเตี๋ยวเปิดอยู่หนึ่งร้าน ห่างกันไม่ไกล มีร้านขายน้ำเปิดอยู่สองคูหา นอกนั้นปิดประตูเงียบสนิท เห็นใบปลิวโฆษณานมถั่วเหลืองภาษาพม่าแปะอยู่บนประตูไม้อย่างเงียบเหงา

“ไม่มีคนเลย ส่วนมากที่มากินก็นักข่าวทั้งนั้น” คุณป้าเจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวเล่าให้เราฟัง พลางตักน้ำซุปราดบนมาม่าต้มยำไปด้วย

พื้นที่บริเวณจุดชมวิวสาละวิน หากเป็นช่วงเวลาปกติเราจะสามารถเดินไปถึงท่าเรือที่นักท่องเที่ยวใช้ลงเรือเพื่อล่องชมสาละวินได้ แต่มาวันนี้มีทหารพรานตั้งด่านกั้นไม่ให้คนเข้าไป อนุญาตให้เพียงชาวบ้านที่มีบ้านอยู่ในพื้นที่ด้านในเท่านั้น และเพราะเหตุนี้เองที่ทำให้นักข่าวมาทำข่าว เพราะนี่คือพื้นที่สุดท้ายก่อนถึงบริเวณค่ายอพยพ

หากคะเนด้วยสายตา ป้ายเหล็กที่กั้นไม่ให้เข้าไปข้างในนั้น ใช้แรงผลักไม่เท่าไหร่ก็คงสามารถผ่านไปได้ แต่ ‘คำสั่ง’ ที่กั้นไว้อยู่นั้น แม้ตาจะไม่เห็น แต่ดูเหมือนมีพลังหนักแน่นจนไม่มีใครผลักออกได้เลย

“ได้ยินเสียงปืนดัง 3-4 ครั้ง ตอน 2 ทุ่มของเมื่อวาน ขนาดไกลๆ นะนั่น” ป้าเจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวชี้มือไปอีกฝั่งของสาละวิน ขึ้นทางทิศเหนือ เลยออกไปข้างหลังด่านทหารพราน

เสียงปืนที่ว่า คือเสียงการปะทะกันระหว่างทหารพม่ากับกองกำลังกะเหรี่ยงที่อยู่ในรัฐกะเหรี่ยง พื้นที่สู้รบสำคัญคือบ้านอิตุท่า ที่มีคนอาศัยอยู่กว่าพันคน ซึ่งนับเป็นค่ายลี้ภัยของผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (Internally Displaced Person – IDP) มาวันนี้ชาวบ้านจำนวนมากต้องหนีระเบิดและลูกปืนข้ามมาแม่สะเกิบที่ฝั่งไทย มีการคะเนว่ามีผู้ลี้ภัยกว่าสองพันคนตรงบริเวณนั้น ซึ่งรองรับชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้านอื่น นอกจากอิตุท่าด้วย

ไม่ใช่แค่อิตุท่า แต่ที่บ้านสิกอท่าที่มีคนอาศัยอยู่ประมาณ 150 คน ก็โดนกราดยิงจากเครื่องบินและจรวดระเบิดสามลูกเมื่อปลายเดือนมีนาคม หอประชุมหมู่บ้านโดนระเบิด บ้านหลายหลังถูกไฟเผาไหม้เกรียม ในช่วงต้นเดือนเมษายนมีผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่าตอนที่เสียงปืนดัง ชาวบ้านหลายคนต้องทิ้งหม้อข้าวที่กำลังหุงอยู่เพื่อหนีเอาชีวิตรอด

บทสนทนาเราจบลงพร้อมการมาถึงของมาม่าต้มยำ อาหารมื้อนั้นมีเสียงจักจั่นเรไรอาบอยู่ทั่วบริเวณเป็นฉากหลัง คุณป้ายังไม่มีออเดอร์ใหม่หลังจากมาม่าถ้วยนั้น


ฉันเดินลงไปริมแม่น้ำสาละวิน นั่งบนโขดหิน มองเห็นเด็กๆ มาเล่นน้ำ แม้แสงแดดไม่ปราณีปราศรัย ถึงอย่างนั้นลมแม่น้ำก็ยังทำหน้าที่ของมันอย่างเต็มกำลัง – บนแม่น้ำไม่มีเรือแล่น

ท่ามกลางบรรยากาศแบบนั้น ฉันนั่งคุยกับคนขับเรือชาวกะเหรี่ยงที่ย้ายมาอยู่บ้านแม่สามแลบตั้งแต่ 3 ขวบ เขาคือคนที่เคยเข้าไปเห็นผู้ลี้ภัยริมแม่น้ำมาด้วยสายตาตัวเอง “ผมเข้าไปเห็นที่เขาอยู่กัน คนละเรื่องกับที่ประกาศในทีวีเลย” เขาพูดถึงข่าวที่รัฐออกมาบอกว่ามีผู้อพยพทยอยกลับไปบางส่วน และไม่มีเข้ามาเพิ่มแล้ว

“คนข้ามมาเรื่อยๆ ตลอด เพราะมีเครื่องบินมาถล่มเกือบทุกคืน ตอนนี้อยู่กันริมแม่น้ำสาละวิน ยาวมากเลย พวกเขาอยู่กันมาอาทิตย์สองอาทิตย์ ถ้าบ้านเรือนสงบ เขากลับไปแล้วนะ ไม่มีใครอยากอยู่แบบนั้นหรอก ตอนนี้คนที่เกี่ยวข้องไม่มีใครเข้าไปดูแล ทหารก็ปิดทุกทาง ไม่ให้คนเข้าไปช่วยเหลือ”

จากภาพที่เห็น คนขับเรือคาดคะเนว่า หากถูกปิดเส้นทางการช่วยเหลือเช่นนี้ ผู้อพยพคงอยู่ได้ไม่เกินสามเดือน

“คนอพยพมามีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ข้ามแล้วมาคลอดลูกที่ฝั่งไทยก็มี” เขาว่า

“ผมถามว่าอาหารการกินเป็นอย่างไร เขาบอกว่าไม่มีอาหารการกินแล้ว แบ่งกันกิน ที่เหลืออยู่เป็นอาหารง่ายๆ ขอให้มีข้าวกับเกลือ พวกเขาไม่ต้องการอะไรแล้ว ตอนนี้ที่ต้องการกันที่สุดคือยารักษาโรค เพราะตอนนี้อากาศร้อน เด็กก็ไม่ได้อยู่ในบ้าน ต้องนอนใต้ผ้าใบ บางทีก็มีท้องเสียกันบ้าง”

เราคุยพักใหญ่กว่าจะมีเรือแล่นผ่าน เป็นเรือท้องแบนแล่นผ่านไปอย่างปราดเปรียว

“ส่วนมากเรือที่แล่นในแม่น้ำสาละวินคือเรือท่องเที่ยว เรือบรรทุกน้ำหนัก เรือส่งสินค้าก็มี แต่ตอนนี้เขาปิดไม่ให้เรือวิ่ง นานๆ ทีจะเห็นเรือสักลำ” คนขับเรือเล่า

ริมสาละวินที่ฉันเห็นนั้น เงียบ สงบ และเหงา แต่คนขับเรือยืนยันว่าก่อนหน้านี้หลายสิบปี ที่นี่คึกคักจนฉันไม่อาจจินตนาการได้

“ตรงนี้มีตลาดยาวเลย ตั้งแต่ยุคหนังเรื่อง มือปืน 2 สาละวิน เขาก็มาถ่ายทำที่นี่”

คนขับเรือกำลังพูดถึงเรื่องราวการสู้รบของกองกำลังกะเหรี่ยงกับทหารพม่า และนายทุนที่หาประโยชน์กับเขตป่าสักที่สมบูรณ์ที่สุดในโลก โดยมีสรพงษ์ ชาตรี กับ ฉัตรชัย เปล่งพานิช เป็นตัวขับเคลื่อนเรื่องราวบนดินแดน ‘ที่ทุกชีวิตล้วนอยู่ภายใต้กฎของปืน’ แห่งนี้

ฉันพยายามนึกภาพตาม เห็นเพียงพื้นที่ว่างเปล่ากับเสียงหัวเราะของเด็กน้อยดังไกลๆ เท่านั้น


ภาพผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงริมแม่น้ำสาละวิน / ที่มา ภาพจากเครือข่าย


3

ช่วงบ่าย ตรงบริเวณจุดชมวิวสาละวิน ใกล้ด่านทหารพราน มีรถขนของบริจาคอยากเข้าไปส่งของที่ท่าเรือเพื่อส่งต่อให้ผู้อพยพ มีป้ายสีเหลืองติดด้านหลังเป็นภาษาพม่า พวกเขาคือกลุ่มคนพม่าที่อยู่ในไทยร่วมกันบริจาคของมา ของบนรถมีข้าวสาร มาม่า อาหารแห้ง ยา เสื้อผ้า และผ้าห่ม ของอัดแน่นจนแหนบรถแอ่นลงมาติดพื้น

รถกระบะสี่คันเรียงแถวกันมาอย่างเป็นระเบียบ ก่อนต้องหยุดนิ่งที่หน้าด่านทหารพราน ทหารพรานสองนายเดินออกมารับหน้า ก่อนพูดด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า “เข้าไม่ได้ครับ”

หลังจากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการเจรจา คนขับรถชาวพม่าคนหนึ่งบอกว่า เขาขับรถมาจากพระราม 2 ตั้งแต่ 2 ทุ่มของเมื่อวาน จนถึงบ้านแม่สามแลบบ่ายวันนี้

“นี่ผมยังไม่ได้นอนเลย” เขาพูดภาษาไทยคล่อง สีหน้าแสดงความอิดโรยชัดเจน “ผมดูข่าวผู้อพยพ เสร็จแล้วก็คิดว่าเราช่วยอะไรได้ก็อยากช่วย กลุ่มเพื่อนๆ ก็บริจาคมา ผมเอาของมาแล้วก็อยากส่งให้ถึงมือ” เขาว่า

ถึงอย่างนั้น เจ้าหน้าที่ก็ยังยืนยันว่าไม่สามารถอนุญาตให้เอาของไปส่งด้านในได้ ต้องมีจดหมายอนุญาตจากกิ่งกาชาดที่สถานีอำเภอแม่สะเรียงก่อนเท่านั้น ทุกคนหันไปมองของบนรถกระบะที่อัดแน่นจนไม่มีที่เหลือให้มดสักตัว และนึกภาพทางขึ้นเขาลงห้วยที่ผ่านมาก่อนจะถึงตรงนี้ หนึ่งในนั้นมีจุดชี้ขาดความสามารถในการขับรถอยู่เนินหนึ่ง ฉันสาบานว่านี่เป็นเนินสูงชันที่ช้างยังต้องกุมขมับ

“ตอนลงน่ะไม่เท่าไหร่ แต่ตอนกลับขึ้นไปนี่สิ คงต้องเอารถแม็กโครมายกไปแล้วแหละ” หนึ่งในคนขับรถว่า

ทุกคนในนั้นเข้าใจสถานการณ์ดี และรู้ว่าแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะขนของคันละ 3-4 ตันกลับไปในเส้นทางเดิม เพื่อไปเอาเอกสารหนึ่งใบจากอำเภอที่ห่างไปหนึ่งชั่วโมง

“ผมขอเอาของลงไว้ก่อนได้ไหม แล้วขับรถไปทำเรื่องที่อำเภอ เพื่อเอาเอกสารมาขอผ่านทาง” คนขับรถต่อรอง แต่ทหารพรานยังยืนกรานคำเดิม

“นายสั่งมาอย่างนี้ ห้ามให้มีของในพื้นที่ จะทำให้ผมทำอย่างไร” เขาพูดพลางมองวิทยุสื่อสารในมือ

สุดท้ายหลังจากเจรจากันอยู่นาน รถกระบะทั้งสี่คันก็ไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ได้ และไม่ได้แม้แต่วางของไว้ที่แม่สามแลบ พวกเขาขับออกไปจากบริเวณด่าน แว่วว่าคงจอดรถนอนกันก่อน เพื่อหาทางว่าจะทำอย่างไรต่อไป


เมื่อพวกเขาจากไป เสียงจักจั่นก็กลับมาครองอำนาจเช่นเดิม กลายเป็นบ่ายสาละวินที่น่าเบื่อหน่าย ทหารพรานหนุ่มกลับไปนั่งบนเก้าอี้พลาสติกตรงด่าน ใส่หูฟังนั่งมองโทรศัพท์ ป้าขายก๋วยเตี๋ยวออกมานั่งหน้าร้าน ร้านใกล้ๆ กันเปิดขายผักและปลาภายในบ้านไม้ชั้นเดียวที่มืดทึม

ตัวฤทธิ์เดินขึ้นมาจากริมน้ำ สวมเสื้อสีส้มบาดตาแข่งกับแดดบ่าย เขายิ้มมาแต่ไกล มุ่งตรงมายังห้องแถวไม้เงียบเหงานี้

“มาซื้อปลา” เขาพูดพร้อมยิ้มไปด้วย ฉันเพิ่งรู้จากนั้นไม่นานว่าที่แม่น้ำสาละวินไม่ค่อยมีการจับปลา ปลาที่ขายนั้นรับมาจากตัวอำเภอแม่สะเรียง วิถีชีวิตพวกเขายังดำเนินไป แม้ลึกลงไปแล้ว พวกเขาจะบอกว่าพื้นที่ตรงนี้ในสถานการณ์นี้ เต็มไปด้วยความตึงเครียดก็ตาม

เข็มนาฬิกาเริ่มชี้ว่าเข้าสู่เย็นย่ำแล้ว แต่ดวงอาทิตย์ดูเหมือนจะยังติดลมไม่อยากเลิกงาน เพราะยังส่งไอร้อนออกมาไม่หยุด มองไปฝั่งตรงข้าม เห็นทหารพม่าลงมาตักน้ำและเล่นน้ำ – แม้แต่ทหารพม่าก็ยังอยากเลิกงานก่อนดวงอาทิตย์

ในนาทีที่สาละวินกำลังโรยแรงนั้นเอง รถกระบะสองคันที่บรรทุกผักและของแห้งมาเต็มคันรถก็ขับเข้ามาที่หน้าด่าน พวกเขาเป็นชาวทวายที่มาทำงานที่นครปฐมกว่า 10 ปี ขับรถหอบลูกหลานรวมกันแล้วกว่า 11 ชีวิตมา 18 ชั่วโมงเพื่อเอาของมาบริจาค ก่อนจะพบว่าไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไป

โชคดีที่รถของพวกเขาบรรทุกของมาเบากว่าสี่คันก่อนหน้า ทำให้เขาบ่ายรถกลับเข้าเมืองได้ง่ายกว่า แม้ว่าความเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางจะไม่ต่างกันมากนักก็ตาม

“ก็คงต้องไปทำเรื่องที่อำเภอ” ผู้หญิงชาวทวายที่เป็นตัวแทนคณะบอก ก่อนที่พวกเขาจะถอยรถกลับไปทางเดิมด้วยความทุลักทุเล

4

วันรุ่งขึ้น พวกเราตื่นแต่เช้าเพื่อตามไปดูการทำเรื่องขอใบบริจาคของที่อำเภอแม่สะเรียง หากนับข้อมูลที่คุยกับทหารพรานเมื่อวาน เขาแจ้งว่าให้ไปขอใบบริจาคจากกิ่งกาชาดที่อำเภอ แต่เมื่อไปถึงหน่วยกิ่งกาชาดแล้ว เราได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่ว่า ต้องทำเรื่องส่งไปสองทาง คือส่งไปให้จังหวัดแม่ฮ่องสอนและสภากาชาดจังหวัด และเมื่อได้ลายเซ็นจากทั้งสองทางมาแล้ว จึงค่อยสามารถเอาของไปบริจาคได้

หากไม่ไร้เดียงสาจนเกินไปนัก ฟังก็พอรู้ว่ากระบวนการที่ว่านี้ย่อมกินเวลาไม่ต่ำกว่า 1-2 วัน และยิ่งเมื่อคนที่ขับรถมา 18 ชั่วโมง มาถึงพื้นที่ไม่คุ้นเคย และมีงานที่ต้องกลับไปทำในวันรุ่งขึ้น กระบวนการเหล่านี้ยิ่งไม่อาจเป็นจริงได้เลย

แม้ทางอำเภอจะยอมเปิดพื้นที่ให้ฝากของไว้ได้ แต่เมื่อได้ใบอนุญาตออกมาแล้ว ก็จำเป็นที่ผู้บริจาคต้องเอาของไปบริจาคที่แม่สามแลบด้วยตัวเอง นั่นยิ่งเป็นไปไม่ได้เลยกับคนที่บ้านอยู่ห่างไกลไปหลายร้อยกิโลฯ หากต้องวนรถกลับมาขนของอีกครั้ง

นายอำเภอแม่สะเรียงให้เหตุผลว่าที่ต้องวุ่นวายเช่นนี้เพราะเหตุผลเรื่องความมั่นคง “เมื่อข้างบนว่ามาอย่างนี้ ผมก็ต้องทำตาม” เขากล่าวประโยคคุ้นเคยกับที่ฉันได้ยินมาเมื่อวานจากทหารพราน

ในวันที่พวกเราไป ยังไม่มีใครได้ใบอนุญาตจากกระบวนการที่ว่านี้เลย และดูเหมือนว่าทางการเองก็ยังนึกไม่ออกว่าจะจัดการอย่างไรกับคลื่นของบริจาคที่ไหลมาไม่หยุดเช่นนี้ เพราะยังติดอยู่กับเหตุผลเรื่องความมั่นคง ที่หลายคนก็ตั้งคำถามว่าหมายถึงความมั่นคงของใคร

ทางฝั่งผู้เอาของมาบริจาคยอมรับกติกาที่ว่านี้ พวกเขาใช้เวลาไม่นานในการขนของแห้งลงไว้ที่อำเภอ แต่ผักและผลไม้สดที่อยู่บนรถรอไม่ได้ ชาวทวายที่เอาของมาบริจาคจึงตัดสินใจตีรถกลับขึ้นไปบนแม่สามแลบเพื่อแจกจ่ายให้คนในชุมชน


ฉัน พี่ชัย และช่างภาพ กลับเข้าไปที่แม่สามแลบอีกครั้งเช่นกัน คราวนี้ไปเพราะคิดถึงตัวฤทธิ์ และคิดถึงความเย็นของสาละวิน เราไปถึงในตอนเย็นย่ำแล้ว มองเห็นผู้คนสาละวนบนสาละวิน ชายหนุ่มบางคนซักผ้า เด็กๆ วิ่งหยอกล้อกันเป็นกลุ่ม หญิงวัยกลางคนสวมผ้าถุง นั่งเอาเท้าแช่น้ำ สยายผมยาวถึงเอวแล้วสะบัดจนน้ำกระเด็นสะท้อนแสงเย็น

ตัวฤทธิ์ถอดเสื้อเล่นน้ำกับเพื่อนๆ เขาว่ายทวนน้ำอย่างคนไม่รู้เหนื่อย ขณะที่ฝั่งตรงข้ามที่มองเห็นกันอย่างไม่ลำบาก ก็มีทหารพม่าสองสามคน กับหมาสองสามตัวเล่นน้ำอยู่เช่นกัน

ตัวฤทธิ์เดินขึ้นมาบนฝั่ง หยิบก้อนหินแบนเรียบมาหนึ่งก้อน แล้วร่อนลงไปในแม่น้ำสาละวิน ก้อนหินเด้งบนผืนน้ำสี่ครั้ง ไปไกลจนดูเหมือนจะข้ามอีกฝั่งได้สำเร็จ ฉันลองทำตามบ้าง แต่ก้อนหินตกดังจ๋อมตั้งแต่ทีแรกที่สัมผัสผืนน้ำ – บางทีคนเราก็ถนัดกันคนละเรื่อง

ฉันเอาเท้าจุ่มลงในแม่น้ำ เย็นเฉียบ มองพระอาทิตย์ที่ค่อยๆ ตกลงจนฟ้ามืด – คืนนี้ ไม่ใช่ทุกคนจะหลับสบาย

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save