fbpx

อาญาและผ้าเหลือง

เปิดปี 2565 มา วงการสงฆ์สูญเสีย พส. ไปสองรูป ละทางธรรมเข้าวงการบันเทิง แต่พอจะสิ้นเดือนมกราคม ได้ พส. กลับคืนมาสองรูป คือ ตำรวจสองนายพ่อลูก เฉพาะลูกคือผู้ต้องหาขี่รถจักรยานยนต์ชนแพทย์หญิงเสียชีวิต จึงขอบวชเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้วายชนม์

เรื่องจึงไปเปิดกระป๋องหนอนขึ้นพอดี คือไปเปิดประเด็นในเรื่องที่ไม่น่าอภิรมย์นักในวงการกฎหมาย คือ การบวชในฐานะเหตุบรรเทาโทษอาญา

ความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจบ้านเมืองกับศาสนานั้นไม่ได้ตรงไปตรงมาเสมอไป ถึงที่สุด อำนาจตามกฎหมายของไทยชนะพลังศาสนาเป็นแน่ พุทธไทยไม่เคยพัฒนาไปถึงขั้นกลายเป็น sanctuary ที่คุ้มกันคนหนีคดีเข้าสู่ร่มเมตตาของพระเจ้าจากเงื้อมมือของบ้านเมืองที่ตามล่าเหมือนศาสนาคริสต์ในยุคกลาง ถ้าจำเป็นจริงๆ กรมการเมืองหรือสังฆการีจะต้องปล้ำเอาผ้าเหลืองออกจากตัวไปลงโทษตามระบิลเมืองก็ต้องทำ

แต่โดยทั่วไป อำนาจบ้านเมืองเกรงใจผ้าเหลืองอยู่ไม่น้อย แม้ไม่มีสถานะทางกฎหมาย แต่ด้วยความเชื่อถือความศรัทธา ผ้าเหลืองจึงเป็นเกราะคุ้มกันภัยจากรัฐได้ในระดับหนึ่ง

ในประวัติศาสตร์การเมืองโบราณ เต็มไปด้วยผู้บวชหนีราชภัย เอาวัดเป็นที่พึ่ง ที่คุ้นกันดีคือขุนหลวงหาวัด เมื่อมอบราชสมบัติให้พระเจ้าเอกทัศน์แล้วก็ออกบวชเพื่อเลี่ยงราชภัยเสีย

นอกจากนี้ยังมีเจ้าฟ้ากุ้ง ผู้บวชหนีโทษครั้งลอบทำร้ายเจ้าฟ้านเรนทรด้วยเชื่อในข่าวลือว่าพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจะยกสมบัติให้เจ้าฟ้านเรนทร ครั้นทำการไม่สำเร็จก็ต้องบวชหนีอาญา

ครั้งสมเด็จพระนารายณ์จะสวรรคต ทรงทราบว่าพระเพทราชาก่อกบฏ จึงให้ขุนนางใกล้ชิดบวชเสียสิ้นเพื่อรักษาชีวิต

กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อบรรดาขุนนางยกกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ขึ้นเป็นกษัตริย์ เจ้าฟ้ามงกุฎตัดสินใจไม่สึกลาหาเพศจนสิ้นแผ่นดินจึงได้สึกมารับราชสมบัติ

ความเชื่อถือในผ้าเหลืองเป็นเกราะคุ้มภัยนี่เอง เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดข่าวขึ้นมาว่าพระเจ้าตากสินหนีไปบวชที่นครศรีธรรมราช หนีเฉยๆ ไม่ได้ ต้องหนีไปบวช เพื่อแสดงให้เห็นว่าท่านได้สิ้นความสามารถจะเป็นภัยต่อใครได้อีกต่อไปแล้ว

แต่การบวชนั้นจะเป็นไปเพราะศรัทธาปสาทะอย่างเดียวเสมอไปก็หาได้ไม่ พระเฑียรราชาใช้โอกาสตอนบวชซ่องสุมกำลังคนรัฐประหารขุนวรวงศาธิราชแล้วจึงขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ เช่นนี้ก็มี

ในประวัติศาสตร์การเมืองยุคใหม่จะเห็นว่ามีกรณีบวชหนีอำนาจหนีภัยเหมือนกัน แม้บางครั้งจะไม่ถึงขั้นราชภัยก็ตาม สุเทพ เทือกสุบรรณหนีไปบวชแล้วจำพรรษาที่สวนโมกข์หลายปีเมื่อพลั้งปากไปว่าพลเอกประยุทธ จันทร์โอชานั้นได้วางแผนรัฐประหารร่วมกับตนมานับปีแล้ว กว่าจะได้สึกคือเมื่อกระแสการเมืองเรียกร้องให้ออกมาตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทยเพื่อช่วยดึงกระแสเลือกตั้ง

ตอนปลายสมัยทักษิณ ชินวัตร บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ขอลาบวช ซึ่งถูกมองว่าเป็นทางออกอย่างสุภาพในการขอตีตัวออกห่างจากนายกรัฐมนตรีผู้อื้อฉาว

ที่น่าสนใจคือสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ช่วงรัฐบาล คสช. เรืองอำนาจ “แม่หน่อย” ไม่ได้บวช แต่ไปเรียนปริญญาเอกทางด้านพุทธศาสนาจากมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย น่าสนใจว่าในกรณีนี้ แม้จะเทียบกันไม่ได้ แต่ก็มาจากฐานคิดเดียวกันหรือไม่ คือยึดเอาความสนใจในบวรพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องยืนยันว่าตนเองนั้นหมดภัยใดๆ ต่ออำนาจบ้านเมืองแล้ว จึงไม่ควรมีภัยใดๆ มาถึงตนเช่นกัน

ในกฎหมายอาญานั้น การบวชไม่ช่วยให้พ้นอาชญาสิทธิบ้านเมือง แต่การบวชก็ช่วยเจรจาต่อรองกับอำนาจได้ในระดับหนึ่ง การบวชไม่ได้ถูกบัญญัติถึงชัดแจ้ง แต่มาตรา 78 แห่งประมวลกฎหมายอาญา บัญญัติถึงเหตุบรรเทาโทษไว้ว่าได้แก่ ผู้กระทำความผิดเป็นผู้โฉดเขลาเบาปัญญาตกอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัส มีคุณความดีมาแต่ก่อน รู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้น ลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานหรือให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา หรือเหตุอื่นที่ศาลเห็นว่ามีลักษณะทำนองเดียวกัน ซึ่งการบวชก็มักถูกตีความว่าเป็นการแสดงความรู้สึกผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้นแบบหนึ่ง ซึ่งศาลอาจใช้ดุลพินิจลดโทษไม่เกินกึ่งหนึ่ง

สำนึกผิดหรือไม่นั้นเป็นเรื่องในใจสุดที่ใครจะหยั่งรู้ แต่กฎหมายถือว่า การกระทำเป็นเครื่องชี้เจตนา นอกจากการบวชแล้ว การเสนอเยียวยาความเสียหายโดยไม่ชักช้า การกราบขอขมาครอบครัวผู้เสียหาย หรือไปร่วมงานศพ ล้วนประกอบกันเป็นเครื่องชี้เจตนาว่าผู้กระทำผิดนั้นสำนึกหรือไม่ จึงเป็นข่าวอยู่เนืองๆ ว่า ผู้ต้องหาคดีนั้นนี้จะขอบวชเพื่ออุทิศส่วนกุศล บางคนบวชหลังพ้นคุกพ้นคดี บางคนก็จะขอบวชก่อน

แต่ความจริงก็คือความจริง ความจริงก็คือไม่ใช่ทุกคนที่จะบวชเพราะศรัทธาพาเป็นนิพพานปัจจโย ถึงมีคำล้อกันถึงบวชหนีสงสาร บวชผลาญข้าวสุก บวชสนุกตามเพื่อน

รวมทั้งบวชบรรเทาคดีด้วย ซึ่งเรื่องนี้ ในทางกฎหมายเองไม่ได้ห้ามผู้ต้องหาบวช บวชแล้วคดีก็ยังดำเนินตามปกติ ถ้าผิดก็จับสึกไปรับโทษ ส่วนสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติและมหาเถรสมาคม แม้จะมีกฎเรื่องคุณสมบัติการบวช ซึ่งห้ามผู้มีคดีคั่งค้างบวช แต่ก็ดูเหมือนจะไม่มีการบังคับอะไรกันจริงจัง และการตีความตัวบทเองก็คลุมเครือเหลือเกิน

อันที่จริง การบวชเพื่อยุติความรับผิดอาญานั้นมีตัวอย่างมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว คือ องคุลีมาล เมื่อวางดาบลงก็ขอบวชกับพระพุทธเจ้า กว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลจะตามมาเจอ องคุลีมาลก็กลายเป็นพระผู้รู้ธรรมเสียแล้ว คดีก็เลิกแล้วต่อกันไป แต่ตามท้องเรื่องนั้น พระองคุลีมาลยังต้องใช้กรรมต่อในรูปของชาวเมือง ผู้ตามไปไล่ขว้างหาก้อนหินใส่ได้รับความเจ็บปวดนัก จนสุดท้ายก็บรรลุอรหันต์

ว่ากันในทางธรรม กฎหมายบ้านเมืองย่อมมีศักดิ์ต่ำกว่ากฎแห่งกรรม ซึ่งเป็นกฎหมายที่แท้จริงของชาวพุทธ ดังนั้น พระองคุลีมาลถึงจะรอดราชอาญา แต่รับกรรมแล้วก็ถือว่ายุติธรรมแล้ว อย่างไรก็ตาม ในโลกยุคใหม่ กฎแห่งกรรมไม่ควรจะเป็นเครื่องมือหลักในการอำนวยความยุติธรรม กฎหมายบ้านเมืองต่างหากที่ทำหน้าที่นี้ ไม่ใช่ทุกคนที่เชื่อในกฎแห่งกรรมแบบพุทธ

ในทางนิติปรัชญาน่าสงสัยว่าการยุติคดีด้วยการบวชนั้นเรียกว่ายุติธรรมแล้วได้หรือไม่ แม้ชาวบ้านจะได้แก้แค้นด้วยก้อนหินและท่อนไม้ แต่ก็คงเทียบไม่ได้กับการสูญเสียคนที่รักของตนไป และสุดท้ายแล้ว การบรรลุอรหันตผลนั้นถือว่าเป็นการชดใช้เยียวยาผู้สูญเสียแล้วหรือ ฉันใดก็ฉันนั้น น่าคิดว่าการที่ศาลไทยตีความการบวชเป็นการสำนึกผิด จึงเป็นเหตุบรรเทาโทษนั้น ยุติธรรมแก่ครอบครัวผู้สูญเสียหรือไม่ การบวชเป็นการสำนึกผิดจริงหรือ จะพิสูจน์ได้อย่างไรว่าไม่ใช่การบวชในเชิงเทคนิคคดี ซึ่งนักกฎหมายรู้กันทั่วไป หากครอบครัวผู้สูญเสียไม่อโหสิกรรมให้แล้ว ศาลจะยังบรรเทาโทษหรือไม่ สุดท้ายคือ สังคมโดยรวม แม้จะไม่ใช่ผู้สูญเสียโดยตรง แต่ก็มีส่วนได้เสีย หากสังคมโดยรวมไม่ยอมรับการบวชเพื่อสำนึกผิดแล้ว ศาลจะนำข้อเท็จจริงนี้มาพิจารณาด้วยหรือไม่

การใช้การบวชเป็นเหตุบรรเทาโทษ ถึงที่สุดแล้วเป็นปัญหาต่อความยุติธรรมมากกว่าจะช่วยอำนวยให้เกิดขึ้น ความอื้อฉาวที่เกิดขึ้นครั้งนี้ควรเป็นจุดเริ่มให้ศาลทบทวนบรรทัดฐานของตนที่ถือเอาการบวชเป็นเหตุบรรเทาโทษเสียที รวมทั้งคณะสงฆ์ไทยเองด้วยที่ต้องชำระการตีความกฎของตนเองในเรื่องคุณสมบัติการบวช การบวชบรรเทาโทษนั้น มัวหมองทั้งศาสนาและกระบวนการยุติธรรม

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save