fbpx

“ถ้าแพ้ก็แพ้ เราจะไปขอร้องใครให้ชนะได้” ลำหักลำโค่นอันแข็งแกร่งของ โจ ณัฐวุฒิ – ‘มวยแทนแห่งปี’

ภาพประกอบ : ONE Championship

เสียงแข้งเปลือยสาดกระทบกันดังสนั่น ตามด้วยเสียงกำปั้นบดเข้าตรงไหนสักแห่งของคู่ชก ทับด้วยกระหึ่มจากคนดูที่สนองตอบต่อความแม่นยำนั้น

เวทีมวยลุมพินีเป็นสถานที่พิเศษเสมอ ในแง่ที่ว่า ไม่ว่าจะเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณมาเยือน มันเรียกร้อง มันเค้นให้หัวใจเต้นถี่รัวทุกครั้งไป ลองว่ามีคนยืนอยู่บนผืนผ้าใบจัตุรัสแล้วสาวกำปั้นใส่กันให้เห็นคาตา หัวใจใครบ้างยังนิ่งสงบไหว -ภาพนักบวชยืนตะโกนเชียร์มวยมีให้เห็นออกบ่อย

แต่กับการชกระหว่าง โจ-ณัฐวุฒิ และ ลุค เลสซี ในศึก ONE Fight Night 17 ของเวที ONE Championship เมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมามันอีกเรื่อง เมื่อฝ่ายแรกแข้งแตก เลือดสาดท่วมขาขวาตัวเองตั้งแต่ยังไม่ทันพ้นยกแรก

ในอื้ออึงของเสียงเชียร์ ใครสักคนรำพึงกับตัวเอง “เลือดจากไหนวะ”

จากสายตาคนดู สภาพการณ์ ‘เสียอาวุธ’ เช่นนี้ชวนให้หัวใจลีบเล็ก มือไม้เย็นเฉียบ ความระทึกปนเครียดเขม็งวิ่งพล่านไปทั่ว และดำเนินเช่นนี้ไปจนครบสามยกซึ่งณัฐวุฒิหวดทั้งหมัด ศอกและเข่า -หรือคืออาวุธที่ยังเหลืออยู่กับตัว- ใส่อีกฝ่าย 

พ้นยกสาม นักชกเดินกลับเข้ามุมตัวเอง ทิ้งแดงของเลือดไว้บนผืนผ้าใบอย่างที่คงแยกไม่ออกว่ามาจากใครบ้าง ก่อนที่กรรมการจะยกมือณัฐวุฒิ ประกาศว่าเขาเป็นผู้ชนะของการแข่งขันนัดนั้น และคงเป็นช่วงเวลานั้นเองที่หลายคนกลับมาหายใจหายคอได้เป็นปกติ ก้อนหนักหน่วงปริศนาที่กินพื้นที่ในอกอยู่เก้านาทีเต็มตั้งแต่ยกแรกหายลับไปทันทีที่ได้ยินชื่อคนคว้าชัย

ตอนที่ได้สนทนากัน เราบอกณัฐวุฒิถึงภาวะลุ้น นั่งไม่ติดระหว่างดูเขาขึ้นชก

เขาหัวเราะ ถามกลับมาคำแรกว่า “สนุกไหมครับ”

Smokin’ Jo

ชื่อของ โจ-ณัฐวุฒิ โสมกูล กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้งเมื่อเขาขึ้นชกกับ ‘ตะวันฉาย’ แชมป์โลก มวยไทย เฟเธอร์เวตในกติกาคิกบ็อกซิ่งเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีหลายเงื่อนไขที่ทำให้แมตช์นี้ถูกพูดถึงหนาหู ข้อแรก เดิมทีมันเป็นแมตช์ใหญ่ที่ถูกวางให้เป็นการชกนัดสำคัญระหว่างตะวันฉายกับ ‘ซุปเปอร์บอน’ อดีตแชมป์โลกคิกบ็อกซิ่ง แต่ฝ่ายหลังบาดเจ็บจึงต้องเลื่อนการชกออกไป

ข้อสอง ยากจะปฏิเสธเรื่องความแรงของตะวันฉาย ก่อนหน้านี้นักชกวัย 24 เพิ่งใช้แข้งซ้ายเตะขาคู่ต่อสู้จนปิดเกมไปภายใน 49 วินาที กับอีกนัดซึ่งกลายเป็นที่โจษจันไปทั่วเมื่อเขาเตะอัดแขนคู่ชกจนกระดูกร้าวกลางเวที สด แรงและแม่นยำ -ตะวันฉายเป็นนักชกประเภทนั้น คนดูมวยไม่คล่องยังมองออกว่าการจะหาคู่ชกมาเข้าเวรถือเป็นเรื่องยาก ใครจะอยากมาเป็น ‘มวยแทน’ ในไฟต์แบบนี้ 

แต่ ‘ใคร’ ที่ว่าก็คือโจ-ณัฐวุฒิ นักชกที่ห่างจากสังเวียนไปร่วม 15 เดือน นับว่าไม่ใช่เวลาน้อยๆ สำหรับนักกีฬาอาชีพ

“ผมเป็นคนไม่คิดเยอะ ก็เลยตกลงง่ายๆ” เหตุผลมีแค่นั้น ไม่มากและไม่น้อยไปกว่านี้ 

มองจากระยะไกล ไม่ยากที่หลายคนจะสรุปปลายทางการชกครั้งนี้ไว้คร่าวๆ ในหัวว่าคงไม่เหลือบ่ากว่าแรงตะวันฉายนัก ด้วยเงื่อนไขของความสด ความห่างเวทีไปจนถึงอายุที่ไกลกันร่วมเก้าปีเต็ม 

แต่ก็อีกนั่นแหละ โจ-ณัฐวุฒิสำแดงให้เห็นแล้วว่ากระดูกที่ผ่านสังเวียนมาโชกโชนมันเป็นแบบไหน แม้ถึงที่สุดจะแพ้ด้วยคะแนนเอกฉันท์ แต่ก็ไม่บ่อยที่เราจะได้เห็นคู่ชกยืนแลกกับตะวันฉายทั้งยังหวดด้วยแข้งขวาจนเนื้อขึ้นเป็นรอยแดงก่ำ ยังไม่ต้องพูดถึงลูกล่อลูกชนตลอดเก้านาทีเต็มบนสังเวียน

นักมวยที่ถูกเรียกมาให้ขึ้นชกกระทันหัน บ่อยครั้งถ้ากระดูกไม่แข็งจริงก็ร่วงเอาตั้งแต่ยกแรกๆ กรณีนี้จึงไม่ใช่เส้นเรื่องตามปกติเท่าไหร่ถ้ามองจากสายตาคนนอก

แต่อีกด้าน นี่ก็อาจเป็นความสามัญในอีกรูปแบบหนึ่งของณัฐวุฒิ ซึ่งคุ้นเคยกับฐานะมวยแทนมาร่วมสิบปี และบางทีอาจใกล้ชิดกับหน้าที่นี้เสียกว่าใครด้วยซ้ำ

มวยแทน

เช่นเดียวกับเด็กอีกหลายสิบล้านคน ณัฐวุฒิเติบโตมากับกีฬา ตีนเปล่าไล่เลาะเกี่ยวตั้งแต่ลูกฟุตบอลไปจนถึงตะกร้อ รวมถึงกระสอบทราย แล้วชีวิตจึงเหวี่ยงเขาในวัยหนุ่มไปที่เกาะพะงัน สุราษฎร์ธานี ในชีวิตที่แวดล้อมด้วยร้านอาหารและงานบริการ 

“ตอนนั้นกำลังแรงเลย” เขาในวัย 34 บอก หลังเย็บแผลที่แข้งซึ่งกินพื้นที่ร่วมห้าเข็ม เขาออกเดินทางกลับไปยังบ้านเกิดซึ่งห่างจากกรุงเทพฯ หลายชั่วโมงเพื่อพักผ่อน “ผมเต้นตั้งแต่แปดโมงเช้าถึงสองทุ่ม แล้ววนไปถึงเก้าโมงเช้าของอีกวัน”

ก็ดูเป็นชีวิตที่น่าสนุกสำหรับคนหนุ่ม เราตั้งข้อสังเกต เขาพยักหน้ารับเงียบเชียบก่อนขยายความ “ผมว่าชีวิตผมเปลี่ยนไปครั้งใหญ่ก็ช่วงนั้น ก่อนหน้าไปอยู่ที่พะงัน ผมเป็นคนไม่มีความรู้และความสามารถอะไรเลย แต่ผมมีบอสที่ดีมาก ช่วยเหลือเรา สอนเราเรื่องต่างๆ แกไม่ได้ต้องการอะไรอื่นนอกจากจะให้ผมได้ดี หรือเพื่อนกับพี่บนเกาะที่คอยดูแลคอยช่วยเหลือกันมาตลอด ทั้งหมดนี้ทำให้ชีวิตผมเปลี่ยนไปเลย”

แต่ชีวิตก็พาเขาออกเดินทางไปไกลกว่านั้น ปี 2013 เขาออกเดินทางไปยังสหรัฐฯ แลกแรง -ที่เขาบอกว่า “ทำมันทุกอย่าง”- กับเงินดอลล่าร์ มากน้อยค่อยว่ากันทีหลัง เรื่องมีอยู่แค่ว่าต้องทำ ไม่ทำไม่ได้

โลกยื่นตัวเลือกให้ณัฐวุฒิอีกครั้งตอนที่เขาได้ทำงานเป็นครูสอนมวยไทยในยิมออกกำลังกายที่แอตแลนตา ปีเดียวหลังจากนั้น เขาก็หวนกลับเข้าสังเวียนอีกครั้ง -แน่นอนว่าในฐานะมวยแทน

ตามเงื่อนไขปกติ นักมวยจะทำการบ้าน เตรียมตัวหาทางรับมือคู่ต่อสู้แต่ละไฟต์ และหากเกิดข้อผิดพลาดที่ทำให้การแข่งขันเดินหน้าต่อไม่ได้ -ไม่ว่าจะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบาดเจ็บหรือไม่อาจขึ้นชก- ปลายทางอยู่ที่การหามวยแทนมาขึ้นสังเวียน

การหามวยแทนจึงเป็นเรื่องยาก ยิ่งบวกกับความกระทันหันให้ต้องวุ่นวายเรื่องการเตรียมตัวและทำน้ำหนัก ใครจะอยากเอาเผือกร้อนมากอดให้ลวกผิวหนังเล่นๆ

รายการ Lion Fight ซึ่งเป็นรายการมวยไทยชื่อดังในลาสเวกัส ควานหาตัวคู่ชกกระทันหันให้ คอสโม อเล็กซานเดร นักชกสัญชาติบราซิลในเวต 165 ปอนด์ และหลังต่อสายตรงมายังยิมที่ณัฐวุฒิทำงานอยู่ เขาก็ตกปากรับคำไปขึ้นชกให้ง่ายๆ ท่ามกลางสายตากังขาของทั้งเพื่อนทั้งลูกศิษย์ในยิม 

จะจากแง่มุมไหน คนที่ต้องขึ้นชกกับคู่ต่อสู้โดยมีเวลาเตรียมตัวแค่สัปดาห์เดียวก็เสียเปรียบทุกทาง ยังไม่ต้องพูดเรื่องความเข้มข้นของการซ้อมหรือการทำน้ำหนัก โดยเฉพาะกับมวยที่น้ำหนักถือเป็นเรื่องคอขาดบาดตายเพราะนั่นหมายถึงความต่างของแรงปะทะ “มีแต่คนบอกว่าเราจะไปเป็นขนมให้เขาเตะเล่น” เขาย้อนความ

คนเรา อยู่ดีๆ จะเอาเนื้อเอาตัวไปให้คนเขาบดสันหมัดใส่ทำไม และคำตอบของเขาก็เหมือนเดิม “ส่วนตัวผมไม่ใช่คนคิดเยอะ ก็เลยตอบตกลงทั้งที่น้ำหนักตัวเองก็ไม่ถึง ขณะที่คู่ชกเขาตัวใหญ่มากและลดน้ำหนักจนถึงเวต ตอนนั้นไม่มีใครเห็นด้วยที่ผมจะไปชกเลย เพราะผมหยุดมวยไปนานมาก น่าจะร่วมสี่ปีได้ เพราะตอนอยู่เกาะพะงันก็แทบไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับมวย หรือที่ยิมในแอตแลนตา เราก็ไปสอนมวยไม่ได้ไปเป็นนักมวย” 

“ตอนนั้นผมแค่รู้สึกว่าช่างมันเถอะ อะไรก็ได้ เดี๋ยวรู้กัน ได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้น” กับคู่ชกที่ขนาดตัวใหญ่กว่าหรือพร้อมกว่าอันเป็นเงื่อนไขที่ชวนให้เสียเปรียบ เขาก็ไม่ได้เห็นเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโตอะไร “ไม่ได้มีความกลัวอะไรในสมอง ผมแค่มองข้ามไปเลย ในหัวมีแค่ว่าก็เราตกลงไปชกแล้วก็ไปชกแค่นั้น” 

ประโยคหลังเรียบง่าย ให้ความรู้สึกเหมือนรับปากคนไปซื้อข้าวแกงหน้าปากซอย ผิดกันก็แค่เป็นการไปโหมประเคนหมัดประเคนศอกใส่คน

ณัฐวุฒิเลยกลายเป็นมวยแทนแปลกหน้าที่พกหัวใจเปลือยๆ เดินทางข้ามรัฐไปขึ้นชก ไม่มีใครมีข้อมูลของ Jo Smokin’ Nattawut ที่มาปรากฏตัวบนสังเวียน ไม่มีกระทั่งอายุหรือยิมที่เขาสังกัดเสียด้วยซ้ำ มากที่สุดคือมีแค่สัญชาติและส่วนสูง และเป็นฝ่ายเอาชนะไปด้วยคะแนนไม่เอกฉันท์

ในความงุนงง ตั้งรับไม่ทันของชัยชนะที่ตัวเองเพิ่งคว้ามานอนกอด ก็น่าจะเป็นตอนนั้นเองที่ไอ้หนุ่มไทยไม่ได้เป็นแค่คนแปลกหน้าของวงการมวยไทยในสหรัฐฯ อีกต่อไปแล้ว 

แข้งแตก แต่จะไปสนอะไรกับแข้งขวาแข้งเดียว

ณัฐวุฒิไม่ได้เป็นมวยแทนแค่ในนัดการแข่งขันกันอเล็กซานเดร อีกไม่กี่เดือนหลังจากนั้น เขาขึ้นชกรายการเดิมโดยรู้ตัวล่วงหน้าแค่ 24 ชั่วโมง และเช่นเดิม เขาตกปากรับคำ เดินขึ้นไปชกแบบ ‘เท่าที่มี’ และกลับลงเวทีพร้อมชัยชนะอีกหน ถึงตอนนั้นจังหวะชีวิตก็ผลักให้เขากระโจนขึ้นสังเวียนอยู่อีกไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง จากมวยแทนที่ไม่มีใครรู้จักหน้าค่าตาหรือชื่อเสียง ก็คว้าเข็มขัดแชมป์มาครองถึงสองเส้น 

“ความยากของมวยแทนคือการซ้อม เรากังวลเรื่องหมดแรง ถ้าเราไม่ใช่มวยแทนเรามีเวลาซ้อมเต็มที่ แต่ถ้าเราซ้อมไม่เต็มที่แล้วหมดแรง อันนี้ลำบาก” เขาบอก “แต่ถึงที่สุดก็ต้องขึ้นไปลุ้นเอาล่ะนะว่าจะหมดแรงไหม”

คำตอบอย่างคนที่เปิดเปลือยตัวตนต่ออนาคตและความน่าจะเป็นตรงหน้าเสมอ บนผืนผ้าใบนั้นไม่มีอะไรแน่นอน การ์ดหล่นก็โดนหวดคางหลับ หรือกระทั่งแค่ยกขาขึ้นบังไม่ทันก็พับให้เห็นกันมาแล้ว 

เอาแค่การชกครั้งล่าสุดที่หน้าแข้งขวาแตกเลือดท่วมตั้งแต่ยังไม่พ้นนาทีแรกดี ใครจะไปคำนวณล่วงหน้ากันว่าจะเกิดเรื่องนี้ขึ้น

เห็นด้วยตาตัวเองยังเสียวสันหลัง นึกไม่ออกว่าถ้าเป็นคนสวมนวมเล็กขึ้นไปเผชิญหน้าสถานการณ์นี้ด้วยตัวเองจะเป็นอย่างไร เผลอๆ จะออกหน้าลนลาน สะดุดขาตัวเองล้มคว่ำไม่เป็นท่า “ตอนนั้นผมไม่ได้กลัวอะไร” ณัฐวุฒิตอบเร็ว “ผมไม่ได้กลัวอะไรทั้งนั้นอยู่แล้ว คิดแค่ว่าถ้าเตะไม่ได้ก็ทำอย่างอื่น หมัดก็มี ไปสนอะไรกับแข้งขวาแข้งเดียว แน่นอนว่ามันก็มีผลกระทบ แต่มันก็เป็นเกมการชกน่ะ”

เขาเดินหน้าออกหมัดชุดบนสลับล่าง แว่วเสียงสันหมัดจากนวมเล็กมาถึงที่นั่ง คนไม่เคยต่อยมวยไม่น่าเคยกำซาบ “ต้องลอง” เขาบอก ทิ้งระยะเหมือนให้เราหาคำตอบว่าสำหรับคนสามัญธรรมดา จะหาโอกาสจากไหนไปสวมนวมเล็กต่อยคน -ไม่น่ามี “การต่อยในนวมเล็กนี่ชกครั้งหนึ่งอย่างกับโดนระเบิดเลย ป้องกันก็ยาก ต่อยแต่ละครั้งสะเทือนไปถึงสันหมัด ผมต่อยเขาจนเลือดไหลจากจมูกเป็นน้ำก๊อกยังเอาไม่ลง ใจเขาสู้มาก” หางประโยคเจือน้ำเสียงชื่นชม ชวนนึกถึงสภาพสังเวียนหลังเขาชกเสร็จที่เปรอะทั้งเลือดจากหน้าแข้งและเลือดจากเลสซีที่ไหลอาบตัว 

พ้นจากการแข่งขัน เขาเย็บแผลที่หน้าแข้ง พร้อมรอยระบมบนบ่า ใบหน้าและแน่นอนว่ากำปั้น 

หนักหนา แต่ก็ไม่ใช่เรื่องต้องบ่น

จิตวิญญาณคนหนุ่ม

ชีวิตประจำวันของนักมวยไทยอาชีพโดยทั่วไปนั้น พวกเขาจะตื่นมาวิ่งตั้งแต่เช้ามืด กินระยะตั้งแต่ 10-15 กิโลเมตร กลับเข้าค่ายมาเตะเป้า, ชกลมหรือหวดกระสอบก็แล้วแต่ศรัทธาและตาราง เวตเทรนนิ่งเพิ่มกำลังและกล้ามเนื้อ พัก และเริ่มต้นการซ้อมช่วงบ่ายอีกครั้งด้วยการวิ่ง 4-5 กิโลเมตร ตามด้วยการเตะกระสอบ เล่นเชิงหรือเตะเป้าอีกครั้ง ยังไม่ต้องพูดถึงตารางโดยละเอียดอย่างจำนวนยกหรือความถี่ที่ต้องซ้อม รวมๆ แล้วกินเวลาหมดวันนับตั้งแต่พาร่างไปรับแสงแรกยามเช้า 

แต่ชีวิตของณัฐวุฒิในฐานะนักมวยอาชีพไม่ได้เป็นเช่นนั้น ที่สหรัฐฯ เขาตื่นเช้า ทำงานในฐานะเทรนเนอร์สองชั่วโมง ฝึกซ้อมอีกหนึ่งชั่วโมง หลังจากนั้นถือเป็นโมงยามของสุนทรียะ “ผมได้อ่านหนังสือ ได้ท่องภาษา ได้ดูหนัง เล่นกีตาร์บ้างถ้ามีเวลา แล้วตอนเย็นก็ทำงานอีกสองชั่วโมงและซ้อมอีกหนึ่งชั่วโมง จากนั้นก็กลับบ้าน พักผ่อน” 

“วันเสาร์ผมซ้อมแค่ครึ่งเช้า ที่เหลือไปเดินเล่น ปีนเขา ปั่นจักรยาน 10-20 ไมล์”

วัดกันหมัดต่อหมัด ระดับความเข้มข้นของการฝึกซ้อมมีส่วนทำให้เขาเสียเปรียบคู่ชกที่ส่วนใหญ่แล้ว ‘เกิดและโตในค่ายมวย’ ลืมตาตื่นกับมวยและหลับตานอนก็ด้วยมวยเท่านั้น “นักมวยไทยอยู่ค่าย ซ้อม-กิน-นอน ซ้อม-กิน-นอน เก่งแล้วก็เป็นแชมป์ แต่ผมไม่ได้ทำแบบนั้น ฉะนั้นถ้าวัดกันแค่เรื่องมวย ผมก็อาจเสียเปรียบนักมวยคนอื่นที่เขาซ้อมตลอดเวลา” แต่นั่นไม่เป็นอะไร เสียเปรียบก็อาจใช่ แต่ถ้ามองไกลกว่านั้น มันคือเรื่องภาพรวมที่เขาอยากเห็นชีวิตตัวเองเป็น “ถ้าให้ผมไปใช้ชีวิตแบบนั้นผมก็ไม่มีความสุข และถ้าผมไม่มีความสุข ผลงานชกมวยบนเวทีก็ไม่ดีแน่นอน แต่ถ้าผมใช้ชีวิตแบบนี้ผมมีความสุขมาก ได้ไปเที่ยว ได้ไปปีนเขา ทำอะไรเสี่ยงๆ มันทำให้ชีวิตมีความสุข และจะทำผลงานออกมาได้ดี”

ชีวิตเขาไม่ได้มีแค่มวย ณัฐวุฒิออกเดินทางบ่อย เขาเคยใช้เวลาร่วมสองเดือนขับรถทั่วสหรัฐฯ ระยะทางไม่รู้กี่หมื่นไมล์ กินและนอนบนรถ ถึงตำแหน่งแห่งที่เหมาะใจก็แวะเดินขึ้นภูเขา ไถสโนว์บอร์ด แล้วมุ่งหน้าไปยังยูท่าห์ทางตะวันตก ทักทายแนวผาแกรนด์แคนยอนอายุหลายร้อยปี ไปเดินป่าที่แคลิฟอร์เนียก่อนจะลงมาสำรวจทะเลทรายที่นิวเม็กซิโก ห้วงเวลาเดียวของวัยหนุ่มในชีวิตกระจัดกระจายอยู่หลายอาณาเขต -แลกกันกับเรื่องที่ว่าเขามีเวลาซ้อมน้อยกว่านักมวยอาชีพคนอื่น 

แต่เขาก็เลือกแล้ว 

และแลกแล้ว

“แพ้ก็แพ้ เราจะไปขอร้องใครให้มันชนะได้”

แต่ข้างต้นนั่นก็เป็นคนละเรื่องกับการไม่เอาจริงเอาจังหรือความไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่ของตัวเอง การขึ้นชกแต่ละไฟต์เป็นคำตอบในตัวเองอยู่แล้วว่าณัฐวุฒิมุ่งมั่นและขีดกรอบวินัยให้ตัวเองอย่างไร ลองไม่ซ้อม กระดูกไม่แข็ง คงไม่ทนหมัดทนแข้ง เตะไม่ยุบทุกยกขนาดนี้

ก็ใช่ ว่าเขาออกเดินทาง และใช่อีกเหมือนกันที่ให้ชีวิตหลับนอนนอกเหนือจากโลกของการซ้อมมวย แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าเขาอยู่ห่างไกลจากชีวิตของการเป็นนักกีฬา “ผมซ้อมนะ ผมว่าสิ่งที่ยากที่สุดของนักมวยคือระเบียบวินัย นี่น่ะยากที่สุดแล้ว มีวินัยได้ก็เหมือนคุมทุกอย่างได้ เพราะเรารู้ว่าต้องซ้อมแบบนี้ ซ้อมขนาดนี้ ถ้าคนคุมวินัยตัวเองไม่ได้ ถ้าต้องซ้อมให้ถึง 100 เขาก็ใส่แค่ 60-70 เท่านั้น”

“ผมเป็นผลจากการซ้อมหนักและเป็นคนเรียนรู้เร็ว ผมเริ่มหัดชกมวยหมัดปี 2017 จากนั้นก็เทียบชั้นมวยคนอื่นๆ ได้ โค้ชที่สอนผมกับเพื่อนๆ บอกว่า โจ คุณเรียนรู้ได้เร็วกว่าคนอื่นเป็นสิบเท่าเลย” 

ภาพที่เขาหวดกำปั้นบดลำตัวเลสซีวาบวับขึ้นมาในหัว “เราต้องทั้งซ้อมและทั้งต้องเรียนรู้ให้เร็ว ผมเคยเห็นหลายคนมีพรสวรรค์มากๆ แต่ขี้เกียจซ้อม ก็ไปไม่ได้ไกล ขณะเดียวกันก็เคยเห็นหลายคนมากที่ซ้อมหนัก ตั้งใจซ้อมหนักแต่ไม่มีพรสวรรค์ อาจจะพูดได้ว่าตาไม่ดี ก็ไปไม่ไกลเหมือนกัน”

‘ตาไม่ดี’ เป็นคนละเรื่องกับสายตาย่ำแย่หรือสายตาสั้น “อธิบายตอนนี้ก็อธิบายยาก” เขาทำหน้าลำบากใจ “แต่มันคือการที่เรามองเห็นอาวุธคู่ต่อสู้แล้วรู้ว่าควรทำอะไรต่อ มันคือไอคิวมวยซึ่งเป็นการแก้เกมบนเวทีเฉพาะตัวมากกว่า แต่หลายคน ไม่รู้ว่าต้องทำอะไร บางคนต้องรอพี่เลี้ยงบอกให้ทำอันนั้นอันนี้ เราแค่ต้องหาทางแก้ไขด้วยตัวเองให้ได้ ณ ขณะนั้น สายตาเราต้องดี รู้ว่าจังหวะนี้ต้องออกอาวุธ แต่จังหวะนี้ไม่ควร”

เช้าของการแข่งขันทุกนัดไม่ต่างจากเช้าอื่นๆ ของณัฐวุฒิ ไม่มีอะไรให้ต้องกระตุ้นหรือตื่นเต้นเป็นพิเศษ ขณะที่นักชกคนอื่นๆ ทำการบ้าน สำรวจทักษะของคู่ต่อสู้ละเอียดละออด้วยการนั่งดูฟุตเตจอยู่นานเป็นเดือน ณัฐวุฒิก็ทำสิ่งนี้ก่อนขึ้นชกไม่กี่นาที “สันดานตามปกติผมคือไม่ดูมวยอยู่แล้ว ผมเป็นนักมวยที่ไม่ดูมวยเลย ถ้าจะชก ผมจะศึกษาคู่ชกไม่เกินหนึ่งนาที ดูวิดีโอนิดๆ หน่อยๆ ก็พอ” เขานิ่งคิด ควานหาคำศัพท์บางอย่างเพื่ออธิบาย “สุดท้ายก็กลับมาที่เรื่องความสุขในชีวิตอีกนั่นแหละ เราชอบอะไรเราก็ทำอันนั้น อยากดูอะไรก็ดูอันนั้น”

ก่อนขึ้นชกนี่ตื่นเต้นมากไหม รับมือสภาพจิตใจตัวเองยังไง -เราถามซื่อ ตามประสาคนไม่เคยขึ้นสังเวียนมวย พื้นที่นั่นมีแค่คนที่เคยเอาเนื้อเอาตัวไปรับแข้งคนด้วยกันเท่านั้นจะรู้รส

“ไม่ต่างจากตอนนี้เลย” เขาตอบ -อีกครั้งที่คำตอบของเขาชวนให้ผิดคาด ยิ่งไม่อยากบอกความลับที่ว่า เผลอๆ การดูเขาชกกับเลสซีในนัดนั้น อัตราการเต้นหัวใจทางฝั่งคนดูน่าจะกระชากสูงกว่าของเขา “สันดานผมเป็นแบบนี้ ผมเป็นคนไม่ตื่นเต้นกับอะไร วันที่ผมขึ้นชกกับน้องตะวันฉาย ผมไปถึงห้องพักนักกีฬาและพันมือเสร็จก่อน ได้ยินเสียงห้องข้างๆ วอร์มร่างกาย เตะเป้ากันโครมๆ ผมเลยบอกเพื่อนว่า กูของีบสัก 15 นาที ปลุกด้วยนะ จากนั้นผมก็นั่งแล้วหลับไปเลย เพื่อนปลุกก็ค่อยมาวอร์มร่างกายและขึ้นไปชก”

พูดถึงไฟต์ระหว่างเขากับตะวันฉาย ณัฐวุฒิรับความพ่ายแพ้นั้นด้วยท่าทีสงบนิ่ง

กับนักกีฬา โดยเฉพาะอาชีพมวย เคี่ยวกรำกัดฟันซ้อมเลือดตาแทบกระเด็นอยู่หลายเดือน บดกระดูกเข้ากับกระสอบจนแทบจะกลายเป็นท่อนเหล็ก เฝ้ามองการเคลื่อนไหวของคู่ต่อสู้ในจินตนาการ อยู่กินเช่นนั้นนานเป็นแรมเดือน ลงว่าสุดท้ายความพ่ายแพ้เป็นฝ่ายส่งยิ้มให้ แผดเผาความรู้สึกและก้อนเนื้อในอกซ้ายไหม้เกรียม

แต่โจ-ณัฐวุฒิไม่ได้เป็นเช่นนั้น 

“ผมขึ้นชกก็คือผมไปทำงาน ทำเต็มที่ ชนะก็ฉลอง แพ้ก็ไปฉลอง ไปเศร้าทำไม” 

เราแย้งเรื่องการแลกเลือดแลกเนื้อแทบรากเลือดของนักมวย อุทิศเวลาไม่รู้กี่เดือนให้การแข่งขันหนึ่งนัด จะให้ยืดอกรับความพ่ายแพ้คงไม่ง่าย

“ก็ใช่ว่าซ้อมมานานแล้วแพ้ แต่จะทำยังไงล่ะ มันทำอะไรได้ ไปขอร้องใครให้มันชนะได้ แพ้ก็แพ้” เขาบอก บางอย่างในคำตอบนั้นจริงใจ “สมมติคุณแพ้แต่ไปใช้ชีวิตที่ดี ไปออกกำลังกาย กินอาหารดีๆ ไปเที่ยว คุณก็แพ้แต่ยังมีความสุข แต่ถ้าไปนั่งร้องไห้ทั้งวันทั้งคืน คุณก็แพ้อยู่ดี แล้วมันจะทำไปเพื่ออะไรกัน”

คำตอบอย่างคนเข้าใจตัวเอง เข้าใจเงื่อนไขและเหลี่ยมมุมของชีวิตที่ลงไปคลุกดินคลุกฝุ่นร่วมสิบปี

ที่ขึ้นชกก็มีแค่ร่างกายเรา

ความน่าสนใจอีกประการของการได้ดูมวยระยะประชิด คือการสังเกตพิธีกรรมนักชกแต่ละคนก่อนขึ้นสังเวียน โดยเฉพาะตรงบันไดก่อนเดินขึ้นผืนผ้าใบ เป็นเสมือนพื้นที่รวมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ใครใคร่ไหว้ก็ไหว้ ใครใคร่บูชาก็บูชา แล้วกระโดดข้ามเชือกขึ้นเวที ข้อหลังนี้ว่ากันว่าเป็นเคล็ด ในบางคนหมายถึงการไม่ให้ ‘ของ’ เสื่อม และในบางคนก็หมายถึงการปีนขึ้นที่สูงเพื่อเอาฤกษ์เอาชัย

ในศึก ONE Fight Night 17 มีไม่กี่คนที่เดินดุ่มขึ้นเวที และมีสองคนเท่านั้นที่มุดลอดเชือก นั่นคือนักชกเม็กซิกันและโจ-ณัฐวุฒิ 

“ผมไม่ได้ไหว้ ไม่ได้นับถืออะไรเป็นพิเศษ จะมีก็นับถือตัวเอง นับถือเพื่อนๆ นับถือโค้ชที่ซ้อมด้วยกันมา” เขาบอก -และอย่าเข้าใจผิด นี่ไม่ใช่ความอหังการ์จองหอง หากมันเป็นคำตอบที่สบตาต่อความเป็นจริงอย่างที่สุด ความเป็นจริงที่ว่าเขาเดินมาถึงจุดที่ขึ้นสังเวียนได้ก็จากเพื่อนฝูงที่กอดคอซ้อมมาด้วยกัน

อีกสิ่งที่ทำให้ณัฐวุฒิต่างไปจากนักมวยอาชีพคนอื่นๆ ที่กินนอนในค่าย นอกไปเสียจากเรื่องที่ว่าเขาปล่อยให้ชีวิตได้ระหกระเหินอยู่นอกสังเวียนแล้ว อีกเรื่องคือเขาไม่มีเทรนเนอร์คู่บุญ คนที่คอยเคี่ยวกรำยืนเคียงบ่าเคียงไหล่มาด้วยกันจึงเป็นใบหน้า เป็นแววตาเดิมๆ ของเพื่อนฝูงคนสนิท

วัดได้จากอากัปกิริยาก่อนขึ้นสังเวียน เขาสวมกอดเพื่อนทุกคนเงียบเชียบ ถ้าติดตามการชกของณัฐวุฒิ ใบหน้าที่รายล้อมเขานั้นเป็นใบหน้าเก่าๆ ไม่เคยผิดไปจากนี้ คนหนึ่งเป็นโค้ชที่ช่วยเขาซ้อมมวยที่สหรัฐฯ อีกคนเป็นเพื่อนคนไทยที่คบหากันมาตั้งแต่อายุ 18 

ไม่แปลกถ้าเขาจะอุทิศคำขอบคุณให้เพื่อน “เรากอดกับเพื่อน ขอบคุณที่ช่วยซ้อมกันมา ที่มาช่วยเหลือกัน หลังจากนั้นก็จบแล้ว ไม่จำเป็นต้องกระโดดขึ้นเชือกหรืออะไร ลอดเชือกแล้วน้ำก็ไม่ท่วมโลก โลกก็ไม่แตกหรอก”

เขาว่าลอดเชือกเป็นลางไม่ดี -เราแย้งยิ้มๆ

อีกฝ่ายตอบกลับมาแค่ว่า “ไม่เกี่ยวเลย ไม่มีอะไรทั้งนั้น ที่ขึ้นไปชกก็มีแต่ร่างกายเรา”

อีกเช่นเคย นี่ย่อมไม่ใช่คำตอบผยองตัวใหญ่โตจากณัฐวุฒิ ตัวเขาเองใช่จะไร้ศรัทธา “เรื่องเวรกรรมหรือเรื่องอะไรผมก็ไม่เชื่อนะ ผมเชื่อเรื่องปฏิบัติดี ทำดี” เขาบอก นิ่งไปนิด “ก็ใช่ว่า คนเรามันก็มีเรื่องดีเรื่องเลวบ้าง เรื่องเลวผมก็มีเยอะ แค่ว่าผมเชื่อเรื่องการปฏิบัติมันก็เท่านั้น”

อย่างอื่นจะมีจริงไหมไม่มีใครรู้ แต่เลือดเนื้อที่เอาขึ้นไปแลก ไปปะทะ ไปรับแข้งเป็นของจริง และเพื่อนฝูงก็เป็นของจริงที่ตาเนื้อเห็น

“ทุกอย่างมีเวลาของมัน”

สมัยที่เขาเป็นนักมวยและชกในประเทศไทย ณัฐวุฒิไม่ได้เป็นนักชกชื่อดังนัก -และมวยไทยก็ไม่ได้ขยับขยายตัวใหญ่โตรวดเร็วเหมือนในทุกวันนี้- ยิ่งกับเขาที่ขึ้นชกในสหรัฐฯ ยิ่งเห็นกระแสการเติบโตของมวยไทยในต่างแดนอย่างที่ยากจะจินตนาการหากเป็นสักสิบปีก่อน

“มวยไทยในอเมริกาได้รับความนิยมมากขึ้น ธุรกิจเกี่ยวกับมวยไทยโตขึ้นมาก ผมเลือกลูกค้าได้ว่าจะสอนใคร เป็นเทรนเนอร์ให้ใคร” ณัฐวุฒิบอก และสิ่งนี้ก็แยกต่างหากจากสัมมนาพิเศษที่ทำให้เขาได้ออกเดินทางไปทั่วสหรัฐฯ อยู่เนืองๆ “เมื่อก่อนผมทำงานช่วงเช้ากับช่วงค่ำ ตอนนี้ทำงานแค่ตอนเช้าอย่างเดียวก็ได้ สักสิบโมงก็ว่างแล้ว”

มากไปกว่านั้น แผลเรื้อรังทั้งเรื่องคุณภาพชีวิตนักกีฬา ทั้งเรื่องค่าตัวก็ค่อยๆ ถูกแก้ไขไปช้าๆ

“ผมว่า ONE Championship เข้ามาเปลี่ยนวงการมวยไปในทางที่ดี เมื่อก่อน นักมวยไม่ได้เงินและไม่รู้ด้วยว่าตัวเองได้ค่าตัวเท่าไหร่ ยกตัวอย่าง นักมวยไปชกต่างประเทศ ได้ค่าตัวสักสามแสนบาท จ่ายไปที่หัวหน้าค่าย เขาบอกว่ามึงได้ค่าตัวเจ็ดหมื่นแต่มึงเอาไปก่อนสามหมื่น ขณะที่ ONE ชี้แจงชัดเจนว่านักมวยได้ค่าตัวแค่ไหน จ่ายตรงไปที่นักมวย” เขาบอก “มันคือการสร้างความโปร่งใสซึ่งเป็นสิ่งที่วงการมวยไทยไม่เคยมี ONE จึงไม่ได้เข้ามาสร้างมวยอย่างเดียว แต่มาสร้างนักมวยด้วย”

กับณัฐวุฒิเอง กว่าที่เทพธิดาแห่งโลกกำปั้นโอบแขนอ้ารับเขาเอาก็ตอนที่รับไม้ผลัดไปเป็นมวยแทนที่ศึก Lion Fight ในวัย 28 ปี ถือว่าเป็นช่วงที่กระดูกแข็งและร่างกายยังสด รู้กันว่าพ้นช่วงหลักสาม ถือเป็นปลายทางของอาชีพกีฬาหลายประเภท ยิ่งกับนักมวยที่เอาเนื้อเอาตัวเข้าฟาดเข้าปะทะเป็นสิบปี ยิ่งเห็นความต่างกับนักกีฬาที่อายุน้อยกว่า สดกว่า เร็วกว่า

ภาษาอังกฤษมีคำว่า What if… ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น สิ่งนี้อาจเกิดขึ้นแทน

ถ้ามวยไทยได้รับความนิยมเร็วกว่านี้ เป็นไปได้ไหมที่เขาจะมีชื่อเสียงในไทยก่อนวัย 34 -ภาพจินตนาการเช่นนี้ทำให้เขารู้สึกเสียดายบ้างหรือเปล่า

คราวนี้เราเดาคำตอบเขาไม่ยาก ในความเรียบนิ่งนั้น เขาตอบกลับมาแค่ว่า “ไม่ครับ ไม่เสียดาย” 

“ทุกอย่างมีเวลาของมัน”

ยากลำบากอย่างเป็นปกติ

ช่วงที่สนทนากัน ณัฐวุฒิเพิ่งเปิดประกาศหาบ้านให้หมาจร หมาที่บ้านเขาก็มีอดีตโลดโผนจากข้างถนนมาก่อน

เขาสนับสนุนให้คนรับอุปการะสัตว์จรเป็นเรื่องเป็นราว “ผมรู้จักคนที่ซื้อหมาสวยๆ มาเลี้ยง เขาเลี้ยงดีนะ แต่ประเด็นคือแม่หมามันแก่ เริ่มผลิตลูกมาขายไม่ได้ เจ้าของเลยจะเอาไปทิ้ง” เขาเล่า “ผมต้องหาเพื่อนมารับเลี้ยงแม่หมา”

“ผมเองก็เลี้ยงหมาจร หมามันก็สวยงามเหมือนกันหมด แล้วหมาที่บ้านผมเขารักเรามาก ผมว่าเหมือนเขาอวยพรให้เราทุกวัน”

แน่นอนว่าบ้านที่เขาหมายถึงคือบ้านที่ประเทศไทย ไม่ใช่ที่สหรัฐฯ อยู่โน่นเขายังเลี้ยงสัตว์ไม่ได้เนื่องจากติดข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ และหากคำนวณเวลาการออกเดินทางไปเติบโตยังพื้นที่แห่งอื่น นี่ก็ครบรอบสิบปีพอดีที่ณัฐวุฒิไปใช้ชีวิตในสหรัฐฯ สำหรับเขา ชีวิตยังเป็นเรื่องยากลำบาก -ยากลำบากอย่างเป็นปกติ ชีวิตคือก้อนรสขมปร่าที่เราต่างต้องฝืนกลืน หากไม่ได้เกิดมาบนกองเงินกองทอง

“แต่ทุกอย่างมันก็ดีขึ้นตามเวลาของมันนะ เมื่อก่อนเราทำงานหนัก ได้เงินน้อย ตอนนี้เราทำงานไม่หนักเท่าเมื่อก่อน ได้เงินเยอะกว่าเดิม มันก็ดีขึ้น แต่ตอนนี้เราแค่อยากได้เงินมากกว่าเดิมเพื่อไปทำอะไรหลายๆ อย่าง”

อะไรหลายๆ อย่างที่ว่านั่นมีอะไรบ้าง -เราถาม

“ออกเดินทาง ช่วยเหลือสัตว์” เขาตอบยิ้มๆ “จะช่วยเหลือสัตว์ก็ต้องใช้เงิน”

สิบปี คนหนุ่มออกเดินทางจากบ้านเกิดไปใช้ชีวิตในอีกซีกโลก กำซาบทุกขมปร่าของชีวิต ห่างไกลจากมวยแล้วก็กลับมาจับพลัดจับผลูใช้ชีวิตเป็นนักมวยอีกรอบ ณัฐวุฒิในวัย 23 คงไม่เคยจินตนาการเห็นตัวเองอย่างในวันนี้ “ผมไม่เคยคิดว่าจะมาถึงจุดนี้หรอก เรื่องชกมวยมาไกลเกินฝันเป็นร้อยเท่าเลย เมื่อก่อนผมฝันแค่ขึ้นชกแล้วได้ค่าตัวสักสามหมื่น มีคนรู้จักสักหน่อยก็พอ มาไกล -ไกลมาก” เขาย้ำ “จะอย่างไรผมก็มองว่าตอนนี้ประสบความสำเร็จแล้ว”

อย่างนั้น ปลายทางของนักชกแบบณัฐวุฒิอยู่ตรงไหน

“ทุกอย่างมีเวลาของมัน” เขาตอบเหมือนเคย 

แล้วยิ้มสุภาพอย่างเคย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save