fbpx

ความสุข ค่าแรง นโยบาย : สำรวจมิติเศรษฐศาสตร์ความสุข กับ ณัฐวุฒิ เผ่าทวี

อีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งทั่วไป หลายพรรคเริ่มเสนอนโยบายในการหาเสียง สนามนโยบายจึงเป็นสนามที่ดุเดือดเพราะนับเป็นเครื่องมือสำคัญของพรรคการเมืองในการผลักดันประเด็นต่างๆ ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแก่มวลชน

หลายพรรคเสนอถึงนโยบายทั้งในเรื่องปากท้อง การเมือง สิทธิเสรีภาพเพื่อสร้างความสุขให้แก่คนไทย เกิดเป็นคำถามว่าความสุขนั้นวัดได้หรือไม่ และหากว่าวัดได้ นโยบายที่สร้างความสุขจะมีหน้าตาเป็นเช่นไร

101 พูดคุยกับ ณัฐวุฒิ เผ่าทวี ศาสตราจารย์ทางด้านเศรษฐศาสตร์ ประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง ตอบคำถามว่าด้วยการออกแบบนโยบายผ่านฐานคิดของเศรษฐศาสตร์ความสุขมีหน้าตาเป็นเช่นไร และเศรษฐศาสตร์กับความสุขนั้นเกี่ยวข้องกันอย่างไร

หมายเหตุ : เก็บความบางส่วนจาก 101 One-on-One Ep.285 ออกแบบนโยบายความสุข กับ ณัฐวุฒิ เผ่าทวี ออกอากาศเมื่อวันพุธที่ 7 ธันวาคม 2565 ดำเนินรายการโดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

การเกิดขึ้นของเศรษฐศาสตร์ความสุข

ท่ามกลางทรัพยากรอุดมสมบูรณ์

หากจะเข้าใจเศรษฐศาสตร์ความสุข ต้องเข้าใจถึงแนวคิดของเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก เดิมทีเศรษฐศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ตั้งข้อสันนิษฐานถึงการตัดสินใจของมนุษย์ เช่น ประเด็น ‘เงิน’ หากมองตามหลักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักเข้าใจว่าเงินเป็นเครื่องมือที่สร้างความสุขแก่มนุษย์ หากมนุษย์มีเงินมากก็มีความสุขมาก ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับความสุขของมนุษย์ เศรษฐศาสตร์ความสุข เป็นการตั้งคำถามใหม่ๆ ว่าเมื่อเราสามารถวัดความสุขของมนุษย์จริงๆ และนำข้อมูลไปทดสอบข้อสันนิษฐานหลายๆ คำถามในเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ผลลัพธ์จะสอดคล้องกันหรือไม่

ประเด็นแรกที่เศรษฐศาสตร์ความสุขสนใจคือ ‘เงิน’ ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีนักเศรษฐศาสตร์ความสุขเข้าไปสำรวจและเปรียบเทียบคนมีฐานะและคนจนในแต่ละปีนั้นคนรวยมีจำนวนมากกว่าคนจน แต่เมื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาสำรวจประชากรทั้งประเทศจะพบความน่าสนใจว่า ประเทศสหรัฐอเมริกาหลังช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รายได้ต่อครัวเรือนในประเทศอเมริกาเพิ่มขึ้น แต่ความสุขโดยเฉลี่ยของประชากรกลับไม่เพิ่ม ข้อค้นพบดังกล่าวไม่สอดคล้องกับผลลัพธ์ในเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่เชื่อว่า หากมนุษย์มีเงินมากขึ้น ความสุขก็จะมากขึ้น

ที่ผ่านมาเศรษฐศาสตร์กระแสหลักถูกสร้างขึ้นจากสังคมที่มีทรัพยากรที่จำกัดและให้มนุษย์ใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่ปัจจุบันสังคมไม่เป็นเช่นนั้น กล่าวคือเราอยู่ในโลกที่มีทรัพยากรอย่างอุดมสมบูรณ์ แต่มนุษย์กลับตัดสินใจเลือกสิ่งที่ไม่ได้เสริมความสุข ทำให้เงินที่มากขึ้นไม่ได้ก่อประโยชน์อะไรกับความสุข 

จากความสุขสู่การออกแบบนโยบาย

หากวันนี้พรรคการเมืองในประเทศไทยต้องการออกแบบนโยบายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นความสุขของมวลชน นโยบายแรกที่ต้องเร่งดำเนินการคือ ‘การวัดความสุข’ อย่างสหราชอาณาจักร ช่วงที่ เดวิด แคเมอรอน (David Cameron) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก่อนเริ่มผลักดันนโยบายต่างๆ เขาให้สํานักงานสถิติแห่งชาติดำเนินการวัดความสุข สุขภาพจิต และความหมายของประชาชนในแต่ละปี ตั้งแต่ค.ศ.2011 จนถึงทุกวันนี้ นโยบายดังกล่าวทำให้รัฐสามารถหยิบข้อมูลดังกล่าวมาผลิตเป็นนโยบายได้ และสามารถจะประเมินว่านโยบายส่งผลกับความสุขของประชาชนหรือไม่ ผ่านข้อมูลในแต่ละปีอย่างชัดเจน 

นโยบายที่ผ่านการออกแบบและพัฒนาจากข้อมูลความสุขประชาชนนี้ ได้กลายออกมาเป็นนโยบายในสองระดับ คือ การรักษา (cure) และการป้องกัน (prevention)

หนึ่งนโยบายที่เกิดขึ้นผ่านฐานคิดนี้คือ ‘Improving Access to Psychological Therapies (IAPT)’ เป็นการวางระบบการเข้าถึงการรักษาจิตแพทย์ของประชาชนโดยใกล้ ง่าย และไม่เสียค่าใช้จ่าย นโยบายนี้นับเป็นนโยบายที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาสุขภาพของประชาชน

นอกจากนโยบาย ‘Improving Access to Psychological Therapies (IAPT)’ ที่เป็นขั้นตอนการรักษา (cure) ยังออกแบบนโยบายเพื่อป้องกัน (prevention) ที่เสริมสร้างให้เยาวชนเติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างมีความอดทนด้านสภาพจิตใจสูง นโยบายนี้ถูกปรับใช้ภายในโรงเรียนผ่านรูปแบบการสอนเกี่ยวกับคุณลักษณะภายในความคิดของเยาวชน ซึ่งหากเยาวชนมีทักษะด้านนี้ทำให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแรงในสุขภาพจิตมากขึ้น

ณัฐวุฒิยอมรับว่า การออกแบบหรือผลักดันนโยบายใดๆ ต้องใช้ระยะเวลานาน ดังนั้นเสถียรภาพของผู้ผลักดันต้องสูงมาก ในสหราชอาณาจักร หน่วยงานที่เป็นผู้ดำเนินนโยบายคือ ‘ข้าราชการ’ รัฐบาลเข้ามาเพียงปรับความสำคัญและงบประมาณ แต่หลักการของนโยบายยังอยู่ เสถียรภาพของผู้ดำเนินการจึงเป็นสิ่งสำคัญ

ทุกวันนี้ประเทศไทย หน่วยงานที่บริหารและดำเนินนโยบายคือ ‘รัฐบาล’ ที่ไม่มีเสถียรภาพมาก เพราะเมื่อรัฐบาลเปลี่ยนจะเกิดวัฒนธรรมไม่ยอมรับนโยบายเก่า เพราะมองว่าเป็นคู่แข่งทางการเมือง ส่งผลให้นโยบายไม่ยั่งยืนและไม่ประสบความสำเร็จ เช่น ประเทศนิวซีแลนด์ เพิ่งผ่านงบประมาณเพื่อพัฒนาความสุขของประชาชน นโยบายดังกล่าวถูกผลักดันจากผลงานวิจัย ซึ่งหากรัฐบาลไม่อยู่นโยบายก็สามารถดำเนินต่อไปได้ เพียงแต่รัฐบาลแต่ละขั้วจะใช้งบไปไหนทิศทางใด การยกเลิกนโยบายดังกล่าวต้องผ่านช่องทางของรัฐสภาเท่านั้น แนวทางนี้จะทำให้โอกาสที่นโยบายนั้นสำเร็จสูงขึ้น

เศรษฐศาสตร์ความสุขนับเป็นศาสตร์ที่มีความสำคัญในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหราชอาณาจักร นิวซีแลนด์ เป็นต้น ประเด็นดังกล่าวนำมาสู่คำถามว่า ในประเทศที่กำลังพัฒนา เศรษฐศาสตร์ความสุขนั้นยังมีความสำคัญหรือไม่ คำตอบคือหากวันนี้ประเทศยังไม่สามารถทำให้คนที่จนที่สุดเข้าถึงปัจจัย 4 ได้ อย่าเพิ่งพูดถึงเรื่องเศรษฐศาสตร์ความสุข เพราะเศรษฐศาสตร์ความสุขนั้นจะเกิดได้ ประชาชนในประเทศต้องรอดก่อน

ค่าแรงขั้นต่ำในมิติเศรษฐศาสตร์ความสุข

ความยากจนเป็นสภาวะที่มนุษย์นั้นยากจะปรับตัว กล่าวคือมนุษย์นั้นสามารถปรับตัวการมีเงินมากขึ้นง่ายกว่าความยากจน ดังนั้นจุดสำคัญของสภาวะดังกล่าวคือ ‘การลดความเหลื่อมล้ำ’ อย่างนโยบายค่าแรง 600 บาทที่พรรคการเมืองเสนอมา มีผลกับความสุขของประชาชนหรือไม่ คงมี เพราะนโยบายนี้ช่วยพัฒนาความสุขของคนได้ แต่ไม่ใช่เป็นความสุขระยะยาว สิ่งที่เราควรจะเร่งดำเนินการควรจะเป็นการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำต่างหาก เพราะมนุษย์นั้นสนใจสถานะที่แตกต่างมากกว่า กล่าวคือสถานะของตนต่างจากคนรวยมากเพียงใด

เห็นได้ว่านโยบายค่าแรงขั้นต่ำนั้นช่วยพัฒนาชีวิตประชาชนได้ก็จริง แต่ต้องไม่ลืมผลกระทบด้านอื่นๆ เช่น การว่างงาน เงินเฟ้อ ด้วย หากมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำ จะส่งผลให้ผู้ประกอบการอาจจะไม่สามารถจ้างแรงงานได้เยอะ จนเกิดสภาวะการว่างงาน หากถามว่าในมิติความสุขของมนุษย์นั้น เงินกับการมีงานทำ มนุษย์มักจะมีความสุขในการมีงานทำมากกว่าจำนวนเงิน เพราะการว่างานเป็นสภาวะความเจ็บปวดของมนุษย์ และส่งผลต่อความมั่นใจในตนเองด้วย

ดังนั้นหากพรรคการเมืองจะออกแบบนโยบาย ต้องพิจารณาผลกระทบด้านอื่นๆ ด้วย ว่านโยบายส่งผลกับความสุขโดยเฉลี่ยของประชาชนมากน้อยเพียงใด ทั้งหมดนี้ณัฐวุฒิกล่าวว่า หากไม่มีข้อมูลความสุขโดยเฉลี่ยของประชาชน ก็ยากที่จะด่วนสรุปว่านโยบายใดสามารถพัฒนาความสุขของประชาชนได้หรือไม่ อย่างเช่น การนำข้อมูลมิติความสุขร่วมพิจารณากับนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ

ทั้งหมดนี้ณัฐวุฒิเสนอว่าหน้าตาของสังคมที่มีความสุข คือสังคมที่มีความเท่าเทียมในเชิงโอกาส ประชาชนสามารถไต่เต้าเพื่อเปลี่ยนชีวิตได้ และเป็นสังคมที่ไม่แตกแยก ทั้งนี้มองว่าหากรัฐบาลโปร่งใสและรับผิดชอบ ประชาชนก็จะมีความสุขด้วยเช่นกัน

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save