fbpx

วีรชน 6 ตุลา : จารุพงษ์ ทองสินธุ์

คนจำนวนไม่น้อยที่เดินผ่านสนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ฝั่งคณะนิติศาสตร์ อาจไม่เคยสังเกตเห็นป้ายชื่อ ห้องประชุม จารุพงษ์ ทองสินธุ์ ติดอยู่ที่ตึกกิจกรรมนักศึกษา แม้อีกหลายคนจะมองเห็น ก็อาจไม่นึกอยากรู้จักชื่อของบุรุษผู้นี้

ทว่า จารุพงษ์ ทองสินธุ์ เป็นนักศึกษาเก่าคนแรกของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ได้รับเกียรตินำชื่อมาตั้งเป็นห้องประชุมภายในมหาวิทยาลัย เมื่อเขาตายไปจากครบ 20 ปี ในปี พ.ศ. 2539 ทั้งนี้ ไม่ใช่เพียงเพราะเขาตายที่นี่ แต่เป็นเพราะเขาเป็นคนที่มีอุดมคติ เขาใช้ชีวิตเพื่อคนอื่น และตายเพื่อปกป้องคนอื่นๆ   

จารุพงษ์ตายเมื่ออายุเพียง 19 ปี ในวันพุธที่ 6 ตุลาคม 2519 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์


ห้องประชุม จารุพงษ์ ทองสินธุ์ ชั้น 3 ตึกกิจกรรมนักศึกษา 
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์


กำเนิด


จารุพงษ์ ทองสินธุ์ เป็นบุตรของนายจินดากับนางลิ้ม ทองสินธุ์ เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 7 กันยายน 2500 หรือ 9 วันก่อนที่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จะลงมือทำรัฐประหารรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม แล้วนำพาประเทศไทยเข้าสู่ยุคเผด็จการทหารเต็มรูปแบบ  

จารุพงษ์เป็นพี่ชายคนโตของน้องชาย 3 คน และน้องสาวอีก 1 คน เขาเกิดที่บ้านย่านดินแดง ตำบลอิปัน อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีพ่อเป็นครู และแม่เป็นชาวสวน  

ก๋งสุ่น คุณตาของจารุพงษ์ รักหลานคนนี้มาก ตั้งชื่อเรียกเล่นๆ ให้เขาว่า ‘เค้าเกี๊ยะ’ มาจากภาษาไหหลำ ซึ่งแม่ลิ้มอธิบายว่า หมายถึงข้าวต้ม อาจเป็นเพราะเมื่อแรกคลอด ร่างกายสมบูรณ์ ผิวขาว หน้าตาน่ารัก  แต่พ่อแม่และญาติเรียกตามกันแค่พยางค์เดียว คือ ‘ลูกเกี๊ยะ’ หรือ ‘เกี๊ยะ’

คุณพ่อจินดาเล่าว่า “เล็กๆ ลูกจารุพงษ์เลี้ยงง่าย ไม่ค่อยเจ็บป่วย พอเริ่มพูดได้เขาสนใจ อยากรู้จักสิ่งของต่างๆ เขาจะตั้งคำถามขึ้นก่อน เช่น เมื่อเห็นนก เขาจะถามว่า ‘นกไหร่’ (นกอะไร) พ่อ-แม่จะตอบเขาว่า ‘นกเขา’ แล้ว เขาจะถามว่า ‘เขาไหร่’ ตอบว่า ‘เขาว่า’ (เขาชะวา) และ ‘วาไหร่’ ถามจนผู้ตอบจะจนแล้วเขาจึงหยุดถาม


จารุพงษ์ในวัยเด็ก
(ภาพจาก https://doct6.com/)
จารุพงษ์ (ขวาสุด) กับครอบครัว
(ภาพจาก https://doct6.com/)


การศึกษา


เมื่ออายุ 5 ขวบ (พ.ศ. 2505) เข้าศึกษาชั้นอนุบาลที่โรงเรียนบ้านย่านดินแดง ซึ่งอยู่ใกล้บ้านประมาณ 200 เมตร ต่อมาปี 2506-2509 เรียนต่อในชั้นประถมปีที่ 1-4 ในโรงเรียนเดียวกัน

คุณพ่อจินดาเล่าถึงอุปนิสัยของลูกชายคนโตเอาไว้ว่า “พ่อรู้ว่า เขาชอบเป็นผู้นำเพื่อน เวลาเล่นก็เป็นคนจัดเขตแบ่งทีม เขาเป็นนักกีฬาของโรงเรียนด้วย แต่เป็นนักกีฬาที่วิ่งไม่เก่ง เพราะเขาอ้วน  เขาชอบอ่านหนังสือ อยู่ชั้น ป.4 ก็ตื่นมาอ่านหนังสือตั้งแต่ตีสี่ ต้องจุดตะเกียงน้ำมันก๊าดอ่าน เพราะเครื่องปั่นไฟเขาปิดตอนห้าทุ่ม

จากนั้นไปเรียนประถม 5 ที่โรงเรียนพระแสงวิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนประถมปลายในอำเภอพระแสง ต่อมาในปี 2511-2512 ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนมานิตานุเคราะห์ในตัวเมืองสุราษฎร์ธานี เมื่อจบประถมปลาย สอบเข้าเรียนในโรงเรียนชั้นมัธยมประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี คือโรงเรียนสุราษฎร์ธานี จบชั้นมัธยมต้น (ม.ศ. 3) เมื่อปี 2515

ต่อมาจารุพงษ์ย้ายมาเรียนมัธยมปลายที่โรงเรียนวัดสุทธิวราราม จนจบชั้นมัธยมปลาย (ม.ศ. 5) เมื่อ พ.ศ. 2517 ซึ่งระหว่างนั้นเขาเป็นทั้งกรรมการนักเรียนและนักโต้วาทีประจำโรงเรียน จากนั้นสอบเข้าเรียนในชั้นอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


ขณะเรียนที่โรงเรียนวัดสุทธิวราราม
บัตรประจำตัวประชาชนของจารุพงษ์ ทองสินธุ์
(ภาพจาก https://doct6.com/)


ชีวิตนักศึกษา


จารุพงษ์เข้าเรียนธรรมศาสตร์ ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งนักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชนได้ร่วมกันขับไล่รัฐบาลเผด็จการทหารของจอมพล ถนอม กิตติขจร และพวก ออกจากตำแหน่งไปได้ กระแสประชาธิปไตยกำลังเบ่งบานในสังคมไทย พร้อมๆ กับแนวคิดสังคมนิยมที่กำลังเฟื่องฟู

จารุพงษ์เรียนในคณะศิลปศาสตร์ และเข้าร่วมกิจกรรมนักศึกษากับพรรคยูงทอง ได้ร่วมออกค่ายพัฒนาชาวเขา ไปสอนหนังสือเด็กๆ สร้างห้องสมุด สร้างอาคารเรียน  ต่อมาเขาแลกเปลี่ยนกับรุ่นพี่อย่างอ่อนโยนให้กิจกรรมของพรรคเป็นไปในทิศทางที่สร้างคนได้ มากกว่าการให้เพียงอย่างเดียว  จารุพงษ์เคยอธิบายให้เพื่อนฟังด้วยว่า ที่เลือกเข้าพรรคยูงทองซึ่งเป็นพรรคเล็กกว่าพรรคพลังธรรมนั้น เป็นเพราะพรรคเล็กที่ขาดคนทำงาน ท้าทายกว่าการไปอยู่พรรคใหญ่

โดยพรรคยูงทองลงสมัครรับเลือกตั้งร่วมกับพรรคพลังธรรม ตอนอยู่ปี 1 จารุพงษ์ลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งแรกเป็นสมาชิกสภานักศึกษา แต่สอบตก ต่อมามีการเลือกตั้งใหม่ในปี 2518 หลังจากที่องค์การนักศึกษาและสภานักศึกษาลาออกเมื่อเกิดเหตุอาชีวะบุกเผามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเดือนสิงหาคมศกนั้น ซึ่งในครั้งนี้จารุพงษ์ได้รับเลือกตั้งในชั้นปี 1 พร้อมกับเพื่อนอีก 1 คน คือ กฤษฎางค์ นุตจรัส

หลังจากนั้นในปี 2519 พรรคยูงทองลงสมัครในองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมกับพรรคพลังธรรม จารุพงษ์ได้รับเลือกในตำแหน่งสถาบันสัมพันธ์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนไปประชุม หารือ หรือเคลื่อนไหวร่วมกับองค์กรภายนอก เช่น ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เป็นต้น และมีหลายครั้งเขาเป็นตัวแทนนักศึกษาในนามศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยไปยื่นหนังสือประท้วงหน่วยงานที่กระทำสิ่งที่ทำลายผลประโยชน์ของประชาชน เช่น การยื่นหนังสือประท้วงการลงข่าวทำลายขบวนการนักศึกษาประชาชนอย่างบิดเบือนของหนังสือพิมพ์ ดาวสยาม เป็นต้น


(ภาพจาก ฟ้ารุ่ง ศรีขาว)


ชีวิตของชายหนุ่ม


จารุพงษ์มีความสามารถหลายด้าน เขาชอบเขียนบอร์ดอันเป็นพื้นที่กระจายข่าวสารในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชอบวาดลายเส้นการ์ตูนอย่างชัย ราชวัตร  แม้เขาเป็นคนที่สู้ไม่ถอย แต่ก็สุภาพในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างจากเพื่อนฝูง บุคลิกที่องอาจไม่ยอมท้อถอยต่อปัญหาของเขาทำให้เพื่อนๆ ขนานนามเขาว่า ‘จา หรือจ๋า สิบล้อ’

เขาเป็นคนว่องไว ร่าเริง และมีชีวิตชีวา จนทำให้เพื่อนร่วมงานพลอยกระฉับกระเฉงตามไปด้วย

เกษียร เตชะพีระ เล่าว่า “ทุกครั้งที่ผมนึกถึงจารุพงษ์ เขาคือชายหนุ่มผู้ร่าเริง แจ่มใส อุทิศเวลาแทบจะ 24 ชั่วโมง เพื่องานกิจกรรมเพื่อประชาชน

จารุพงษ์เป็นคนรักเสียงเพลง เขามักเปิดเทปฟังเพลงเพื่อชีวิต และร้องคลอตามอย่างมีความสุข แม้ขณะกำลังทำงาน เช่น เขียนบอร์ด อยู่ก็ตาม

ในด้านการแต่งกาย เขามีความเป็นระเบียบมาก มักสวมเสื้อชาวเล มีซิปหน้า แขนยาว สีดำบ้าง สีเทาบ้าง นุ่งกางเกงยีนส์ มีผ้าขาวม้าติดตัว ไม่คาดเอวก็โพกศีรษะ

ในช่วงที่เรียนธรรมศาสตร์ ทางบ้านส่งเงินให้เขาใช้เดือนละ 2,000 บาท เป็นค่าเช่าหอพักและค่ากินอยู่ ซึ่งทำให้เขาไม่เดือดร้อนเรื่องเงินมากนัก ยุวดี มณีกุล เปรียบเปรยได้อย่างจับใจว่า “หยาดเหงื่อจากการทำสวนและค่าแรงรับจ้างเย็บผ้าของแม่ รวมกับเงินเดือนข้าราชการของพ่อหวังเพียงแลกกับความสำเร็จในการศึกษาของลูกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า แต่ทุกสิ่งทุกอย่างกลับพังทลายลงอย่างไม่ทันตั้งตัว และเป็นสิ่งตอบแทนที่เจ็บปวดที่สุดในชีวิตของพ่อจินดาและแม่ลิ้ม

นั่นคือเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 พรากชีวิตจารุพงษ์ไปจากครอบครัวของเขาตลอดกาล โดยไม่มีโอกาสได้บอกลา


จารุพงษ์ (คนถือกระดาษ) กับเพื่อนนักศึกษา
(ภาพจาก ธานี จิริยะสิน)


ฉากสุดท้ายของชีวิต


จารุพงษ์ในฐานะแกนนำนักศึกษา เป็นผู้หนึ่งที่ชุมนุมอยู่ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ต้นเดือนตุลาคม 2519 เพื่อคัดค้านการกลับมาเหยียบมาตุภูมิของทรราชอย่างจอมพล ถนอม กิตติขจร จนในที่สุด วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ก็มาถึง ทหาร ตำรวจเข้าสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง ใช้อาวุธปืน และอาวุธต่างๆ โจมตีผู้ที่อยู่ภายในธรรมศาสตร์ตั้งแต่เช้าตรู่

ที่ตึก อมธ. นักศึกษาหลายคนยังไม่ได้หลบหนี จารุพงษ์คอยวิ่งขึ้นลงไล่ให้เพื่อนๆ รีบหนีไปให้หมด ขณะที่เพื่อนๆ ทยอยลงจากตึก จารุพงษ์จะคอยยืนคุ้มกันให้ หลังจากที่แน่ใจว่าไม่มีใครเหลืออยู่แล้ว เขาวิ่งไปทางตึกนิติศาสตร์เพื่อไปนำผู้บาดเจ็บที่นั่งจมกองเลือดอยู่มา แต่ยังไม่ทันถึง จารุพงษ์ก็ถูกยิงล้มลง

กฤษฎางค์ นุตจรัส เล่าว่า เช้าวันที่ 6 ตุลา หลังจากเขาเห็นนักศึกษาที่รักษาความปลอดภัยบริเวณหน้าหอประชุมใหญ่ถูกยิงล้มลงหลายราย ก็กลับมาเก็บของ “ผมเดินกลับมาที่ตึกกิจกรรมตอนนั้นเป็นตึกเล็กๆ 2 ชั้น เรียกว่า ‘ตึก อมธ.’ โดย อมธ. อยู่ชั้นบน สภานักศึกษาอยู่ชั้นล่าง กำลังจะเก็บของที่สภานักศึกษา เห็นจารุพงษ์ วิ่งขึ้นบันไดมาชั้น 1 ซึ่งเป็นสภานักศึกษา พอเจอผม เขาบอกว่า ‘เฮ๊ย ด่าง ทุกคนต้องไปแล้ว เพราะตอนนี้มันกำลังบุกเข้ามาแล้ว’ จากนั้นเขาก็วิ่งขึ้นไปชั้นบน ซึ่งเป็น อมธ. เพื่อบอกให้ทุกคนออกไปจากตึก อมธ.

สอดคล้องกับที่ กิตติศักดิ์ ปรกติ ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่จารุพงษ์ได้ช่วยชีวิตไว้ เล่าว่า “เวลาเช้ามืดของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ผมนอนหลับอยู่บนโต๊ะทำงานในที่ทำการสภานักศึกษา มหาวิทยาลัย­ธรรมศาสตร์ จารุพงษ์ ทองสินธุ์…มาปลุกผมให้ตื่นขึ้นแล้วบอกว่า ‘ตำรวจและลูกเสือชาวบ้านใช้ปืนยิงเข้ามาในธรรมศาสตร์จากด้านหอประชุมใหญ่ กำลังจะเข้ามาที่ อมธ.’ จากนั้นเขาก็ประคองผมซึ่งอิดโรยเพราะร่วมอดอาหารประท้วงการกลับมาของจอมพล ถนอม ร่วมกับคณะญาติวีรชน 14 ตุลา มาหลายวัน ไปส่งที่ตึกคณะวารสารศาสตร์ จากนั้นจารุพงษ์ก็บอกว่า จะไปช่วยพยุงผู้บาดเจ็บที่ยังหลงเหลืออยู่ด้านคณะนิติศาสตร์ แล้วจะกลับมาสมทบ นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่จารุพงษ์กับผมได้พบกัน”  

กิตติศักดิ์ได้เห็นภาพจารุพงษ์อีกครั้ง คือ “มาเห็นภาพเขาอีกครั้งก็พบว่า จารุพงษ์เสียชีวิตเสียแล้ว โดยมีผู้ที่ประกาศตนว่า ‘รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์’ หลายคน กำลังลากจารุพงษ์ไปบนสนามหญ้า โดยใช้ผ้ารัดคอเขาแล้วลากเขาไปบนพื้นสนามฟุตบอล คนเหล่านี้ล้วนแล้วคือคนไทยที่หัวใจสุมไว้ด้วยความเกลียดชังคนไทยด้วยกันที่เขาเห็นว่าเห็นต่างจากเขา อาฆาตคนที่เขาเชื่อว่าเป็น ‘ฝ่ายซ้ายคอมมิวนิสต์’ หรือนักศึกษาประชาชนที่อยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเวลานั้น ถึงขนาดฆ่าได้เมื่อพบเห็น”  

ธงชัย วินิจจะกูล เขียนถึงเพื่อนผู้นี้ไว้อย่างกระชับว่า “เขาเสียสละเพื่อปกป้องคนอื่น”


ชายกลุ่มหนึ่งลากศพของจารุพงษ์บนสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์
ด้านหลังคือตึกคณะนิติศาสตร์
(ภาพจาก ปฐมพร ศรีมันตะ)


ชีวิตเล็กๆ ที่มีเกียรติ


พ่อผิดเองที่สอนให้เขารักความเป็นธรรมต่อทุกคน ถ้าไม่มีความเป็นธรรมตรงไหนให้ไปช่วย แล้วเราก็ต้องมาเสียลูกไปเพราะอย่างนี้” คุณพ่อจินดาเล่าถึงการอบรมสั่งสอนจารุพงษ์ตั้งแต่เด็ก

คุณพ่อจินดาเปิดเผยความรู้สึกถึงลูกผู้จากไปอีกว่า “พ่อ-แม่คิดว่า ลูกได้กระทำในสิ่งที่ถูกที่ควร แต่กาลเวลายังไม่อำนวย ประกอบกับข้อมูลข่าวสารยังไม่พร้อมอย่างปัจจุบันนี้ (พ.ศ. 2539) สิ่งที่ถูกกลับเป็นสิ่งที่ผิด และในขณะนั้นยังเป็นที่รังเกียจของสังคม พ่อ-แม่นึกอยู่ในใจแล้วว่า เพื่อน ๆ ของลูกคงจะช่วยเหลือ และลูกยังมีคุณค่าแก่สังคม แก่ประเทศชาติอยู่บ้าง

ชีวิตของจารุพงษ์มีคุณค่าอย่างแน่นอน ธงชัย วินิจจะกูล เขียนถึงเพื่อนของเขาได้อย่างกินใจว่า

ชีวิตที่มีเกียรติและวีรกรรมยิ่งใหญ่ที่ประชาชนตัวเล็ก ๆ สามารถสร้างขึ้นได้ โดยไม่ต้องแสวงหาอำนาจ คือ ชีวิตที่มีความใฝ่ฝันเพื่อความดีงาม เพื่อผู้อื่น และการทุ่มเทตนเพื่อสร้างความใฝ่ฝันนั้นขึ้นตามกำลังเท่าที่ตนทำได้ 

ชีวิตแบบนี้ดับไปหลายดวงเมื่อ 6 ตุลาคม 2519 จารุพงษ์เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น

รำลึกถึงจารุพงษ์ทีไร จึงไม่ใช่แค่ความเศร้าเสียใจ แต่คือความเคารพนับถือในวีรกรรมของชีวิตเล็ก ๆ ที่มีเกียรติ


(ภาพจาก ธานี จิริยะสิน)


ส่งท้าย

แม้ภาพศพของจารุพงษ์ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จะเป็นภาพหนึ่งที่ได้รับการจดจำ และนำไปเป็นส่วนหนึ่งของประติมานุสรณ์ 6 ตุลาคม 2519 ณ ลานกำแพงประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ก็ตาม แต่ศพของเขากลับกลายเป็น ‘ศพไม่มีญาติ’ (เนื่องจากครอบครัวของเขาตามหาศพของเขาไม่พบ) ที่ถูกเผารวมกับศพอื่นๆ ที่วัดดอน ยานนาวา ไปแล้ว

และถึงแม้ว่าจะไม่มีอัฐิของจารุพงษ์เหลืออยู่เป็นอนุสรณ์อยู่เลย แต่นับวัน เรื่องราวของเขา ชื่อเสียงของเขากลับกึกก้องขึ้นมาเป็นลำดับในสังคมไทย พร้อมๆ กับที่เยาวชนคนรุ่นหลังสนใจเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มากขึ้นเรื่อยๆ

จารุพงษ์ตายไปแล้วก็จริง แต่ชีวิตจารุพงษ์ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยยังยืนยาวไปอีกนานเท่านาน ตราบเท่าที่ยังมีผู้คนรักความเป็นธรรม และใฝ่ฝันในสิ่งเดียวกับที่จารุพงษ์เสียสละชีวิตให้


ที่มา

  • FB: Fahroong Srikhao ฟ้ารุ่ง ศรีขาว เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564
  • FB: Kittisak Prokati เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2556
  • กษิดิศ อนันทนาธร (บรรณาธิการ). 46 ปี 6 ตุลาฯ : เราไม่ลืมจารุพงษ์ (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2565)


ดาวน์โหลดได้ฟรีทาง https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:273621

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save