fbpx

ที่นี่ไม่ใช่ Little Japan: บ้าน บาร์ ศาลเจ้า และเรื่องเล่าของคนญี่ปุ่นในศรีราชา

1

บ้าน

แม้ไม่มีธงปลาคาร์ฟ ธงชาติรูปวงกลมดวงอาทิตย์สีแดงบนพื้นขาว หรือป้ายตัวอักษรญี่ปุ่น แต่บรรยากาศโดยรอบพื้นที่แห่งนี้ก็บ่งบอกถึงความเป็นญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี

หากใครเคยผ่านไปทางถนนศรีราชา-ไร่กล้วย ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี อาจเคยเห็นโรงเรียนสมาคมไทย-ญี่ปุ่น ศรีราชาอยู่บ้าง โรงเรียนกำแพงสีขาวสวยสะอาดตา มีธงชาติไทยบนยอดเสาสูง และอาคารทรงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ที่มีตราดอกซากุระแปะไว้เด่นชัด ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสมาคมแห่งนี้

ลักษณะเฉพาะของโรงเรียนสมาคมไทย-ญี่ปุ่น ศรีราชา คือเปิดรับเฉพาะนักเรียนชาวญี่ปุ่นหรือลูกครึ่งญี่ปุ่นเท่านั้น โดยมีค่าเล่าเรียนประมาณ 160,000 บาท ต่อหนึ่งปีการศึกษา ซึ่งนับว่าสูงมากหากเทียบกับโรงเรียนอื่นในอำเภอศรีราชา ที่นี่มีนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมจนถึงมัธยมทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 700 คน

เย็นวันอังคารเช่นวันนี้ เหล่าบรรดาคุณแม่ชาวญี่ปุ่นกำลังจูงมือเด็กที่สะพายเป้และใส่หมวกสีสดใสข้ามถนนกลับบ้าน เหมือนเช่นปกติที่เคยทำ  

คำว่าข้ามถนนกลับบ้านนั้นมีความหมายตรงตัวอักษร เพราะฝั่งตรงข้ามของโรงเรียนสมาคมไทย-ญี่ปุ่นคือโครงการเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ HarmoniQ Residence Sriracha ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 44 ไร่ มีจำนวนบ้านมากกว่า 200 หลัง เป็นหมู่บ้านที่เปิดรับเฉพาะผู้อาศัยชาวญี่ปุ่นในศรีราชาเท่านั้น ภายใต้การร่วมลงทุนระหว่างบริษัทไทยกับญี่ปุ่น เพื่อรองรับครอบครัวชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาทำงานในศรีราชา

การเกิดขึ้นของโรงเรียนและหมู่บ้านที่รองรับคนญี่ปุ่นในศรีราชา ย่อมหมายถึงจำนวนคนญี่ปุ่นที่มาอยู่รวมกันมากพอจนเกิดเป็นชุมชนคนญี่ปุ่นอย่างที่เห็น ซึ่งสาเหตุหลักมาจากคนญี่ปุ่นที่เข้ามาทำงาน ‘ชั่วคราว’ ในศรีราชา แต่คำว่าชั่วคราวนั้นก็นานพอที่พวกเขาจะวางชีวิตไว้เป็นระบบ

เมืองศรีราชาเป็นที่ตั้งของท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง ซึ่งเป็นจุดขนส่งสินค้าสำคัญของประเทศไทย อันเป็นที่มาของการตั้งนิคมอุตสาหกรรมมากกว่า 10 แห่งและโรงงานมากกว่า 1,300 โรงงาน โดยหลายโรงงานเป็นฐานการผลิตสำคัญของบริษัทรถยนต์และผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่น ยิ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ก็ทำให้โรงงานญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตเดิมจากอยุธยาซึ่งเป็นพื้นที่น้ำท่วม เข้ามาอยู่ที่ศรีราชาจำนวนมาก

คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ในศรีราชามักเป็นพนักงานบริษัทที่ถูกส่งตัวจากบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นให้ประจำในตำแหน่งระดับผู้จัดการหรือผู้บริหารขึ้นไป เพื่อดูแลโรงงานสัญชาติญี่ปุ่น พนักงานเหล่านี้ได้รับเงินเดือนจากทั้งบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นควบคู่กับบริษัทลูกที่ไทย รวมถึงได้รับสวัสดิการบ้านพักอาศัย ประกันสุขภาพ คนขับรถส่วนตัว ฯลฯ บางบริษัทมีเบี้ยเลี้ยงให้เบิกค่าเทอมบุตรและค่าใช้จ่ายของภรรยาที่ย้ายมาด้วยกัน

ด้วยสวัสดิการและเงินเดือนที่ดีขนาดนี้ ทำให้คนญี่ปุ่นที่ศรีราชาสามารถเช่าเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ที่ราคาสูงถึง 6-8 หมื่นบาทต่อเดือนได้ โดยคุณภาพของที่อยู่อาศัยมาพร้อมการตกแต่งพร้อมอยู่ มีเครื่องอำนวยความสะดวกในบ้านพร้อมใช้ เช่น ส้วมอัตโนมัติแบบญี่ปุ่น อุปกรณ์เครื่องครัว รวมไปถึงมีพื้นที่ส่วนกลางในหมู่บ้าน เช่น สระว่ายน้ำ สนามเทนนิส สนามฟุตบอล สนามบาสเกตบอล ห้องออกกำลังกาย ห้องบรรเลงเปียโน และสตูดิโอบัลเลต์ส่วนตัว ไปจนถึงบริเวณตั้งแคมป์ปิ้งที่ครอบครัวชาวญี่ปุ่นใช้จัดงานเลี้ยงพบปะกันในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์

วันนี้ก็เป็นเช่นวันอื่น เมื่ออยู่ในช่วงหลังเลิกเรียน สนามหญ้าในหมู่บ้านเต็มไปด้วยเด็กกำลังวิ่งเตะฟุตบอล มีโค้ชชาวญี่ปุ่นยืนอยู่ข้างสนาม ในบริเวณใกล้เคียง คุณแม่ชาวญี่ปุ่นต่างจับกลุ่มพูดคุยกันในโถงล็อบบี้ส่วนกลาง มีนิตยสารและหนังสือพิมพ์ภาษาญี่ปุ่นที่เล่าข่าวสารในศรีราชาวางแจกฟรีอยู่บนชั้นวาง

เนื่องด้วยทำเลที่ตั้งของ HarmoniQ Residence Sriracha ห้อมล้อมด้วยนิคมอุตสาหกรรม โรงงาน และใกล้ชิดกับคอมมูนิตี้มอลสไตล์ญี่ปุ่นอย่าง J-Park และโรงเรียนสำหรับเด็กญี่ปุ่น ทำให้ที่นี่กลายเป็นทางเลือกลำดับต้นๆ ของครอบครัวชาวญี่ปุ่น

แน่นอนว่าหมู่บ้าน HarmoniQ Residence Sriracha ไม่ใช่ ‘หมู่บ้านคนญี่ปุ่น’ เพียงแห่งเดียวในศรีราชา เพราะการเติบโตของนิคมอุตสาหกรรมทางภาคตะวันออก โดยเฉพาะศรีราชา ทำให้โครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ดเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของคนญี่ปุ่นที่เข้ามาทำงานในไทย

การแข่งขันของหมู่บ้านคนญี่ปุ่นในประเภทเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์นั้นอยู่ในระดับเข้มข้น โดยหากยกตัวอย่างเฉพาะที่หมู่บ้านแห่งนี้ ก็มีกิจกรรมที่หลากหลายสำหรับครอบครัว โดยเฉพาะ ‘แม่บ้านญี่ปุ่น’ ที่ต้องอยู่บ้านในช่วงที่สามีออกไปออกไปทำงานที่บริษัท เช่น คลาสเรียนทำอาหาร สอนศิลปะ คลาสออกกำลังกาย สอนภาษาไทย ไปจนถึงการมีบ่อน้ำร้อนออนเซ็น บริการรถรับส่ง และเรือยอร์ชส่วนตัว

พรรษา (นามสมมติ) คนไทยที่แต่งงานกับสามีญี่ปุ่นที่ทำงานในศรีราชากว่า 7 ปี ก็เคยอาศัยในเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ที่ส่วนใหญ่มีผู้อาศัยเป็นชาวญี่ปุ่น เธอเล่าถึงการรวมตัวของแม่บ้านชาวญี่ปุ่นในศรีราชาให้ฟังว่า อพาร์ตเมนต์แบบนี้ทำให้รู้จักเพื่อนคนญี่ปุ่นมากขึ้น

“เรามีโอกาสรู้จักกับเพื่อนญี่ปุ่นคนอื่นๆ ก็จากเพื่อนที่อยู่ร่วมอพาร์ตเมนต์เดียวกันนี่แหละ เพราะในหมู่บ้านมีแต่คนญี่ปุ่น ไม่มีคนญี่ปุ่นคนไหนหรอกที่ไปเช่าบ้านของคนไทยในพื้นที่อยู่เอง”

เธอเล่าให้ฟังถึงการรวมตัวทำกิจกรรมที่เรียกว่า ‘playgroup’ ของบรรดา ‘แม่ๆ’ ชาวญี่ปุ่นในศรีราชา ที่ในทุกสัปดาห์จะมีคุณแม่ชาวญี่ปุ่นหมุนเวียนมาจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปต่างๆ เช่น ร้องเพลง เล่านิทาน สอนศิลปะให้เด็กเล็กวัยก่อนเข้าอนุบาลเพื่อให้เหล่าลูกๆ ญี่ปุ่นเข้าร่วม

“ศรีราชาอยู่ง่ายมากๆ แทบไม่ต้องปรับตัวอะไรเลย” พรรษาพูดถึงวิถีของคนญี่ปุ่นศรีราชาในภาพรวม เธอเล่าติดตลกเพื่อให้เห็นภาพว่า สามีของเธอพูดประโยคภาษาไทยได้แค่สั่งเบียร์และผัดผักบุ้งไฟแดงเท่านั้น แต่ก็ยังอยู่รอดในศรีราชามาได้ตลอด 7 ปี ทั้งนี้สาเหตุเป็นเพราะมีพื้นที่หลายแห่งที่ให้บริการเป็นภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ร้านอาหารไปจนถึงโรงพยาบาล

“ที่ศรีราชามีโรงพยาบาลที่เปิดโซนให้บริการพิเศษเฉพาะคนญี่ปุ่น เอกสารทุกอย่างและพนักงานทุกคนล้วนใช้ภาษาญี่ปุ่นทั้งหมด ขึ้นไปข้างบนก็เป็นชั้นห้องตรวจส่วนตัวที่มองเห็นวิวทะเลแบบพาโนรามา ไม่ต้องขยับเขยื้อนไปไหน รอคุณหมอขึ้นมาตรวจให้” พรรษาเล่า

ในทัศนะของพรรษามองว่า “ศรีราชาอยู่ง่ายกว่าอยู่ญี่ปุ่นด้วยซ้ำไป” เธออธิบายว่าในอพาร์ตเมนต์ของคนญี่ปุ่นเปรียบได้กับเมืองหนึ่งที่มีบริการทุกอย่างรอบด้าน ทุกคนต่างได้รับการดูแลปฏิบัติเป็นราวกับเป็น ‘นกน้อยในเรือนแก้ว’

ทุกครั้งที่ครอบครัวฝั่งไทยมาเยี่ยมเธอ ทุกคนมักจะตื่นเต้นกับคำว่า ‘Little Japan’ หรือความเป็นญี่ปุ่นย่อส่วนในศรีราชา จากภาพที่ปรากฏในการรีวิวสถานที่ท่องเที่ยวบนโลกออนไลน์ ที่เต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้างสไตล์ญี่ปุ่น รวมไปถึงร้านอาหารญี่ปุ่น ที่ใช้ภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ป้ายร้านไปจนถึงเมนูอาหาร ซึ่งเมื่อมองให้ลึกลงไป ‘ความเป็นญี่ปุ่น’ ยังคงแยกตัวกับสังคมไทยในศรีราชา อาจเพราะการมาอาศัยพำนักชั่วคราวตามสัญญาจ้างเพียง 3-5 ปีของคนญี่ปุ่น ทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนญี่ปุ่นกับคนไทยในพื้นที่ศรีราชาไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นแฟ้น

2

บาร์

ช่วงหัวค่ำคือโมงยามที่ ‘ศรีราชานคร’ ย่านกินดื่มเที่ยวของชาวญี่ปุ่นเต็มไปด้วยผู้คนและบรรดาสาวสวยยืนแน่นหน้าร้าน  แตกต่างกับช่วงก่อนแสงอาทิตย์ลับขอบฟ้าที่เงียบเชียบ แสงไฟจากร้านอาหารและบาร์เบียร์ถูกเปิดขึ้นทำให้บรรยากาศคึกคัก และโดยเฉพาะร้านคาราโอเกะสไตล์ญี่ปุ่น หรือ snack bar ในย่านนี้ที่จะเปิดให้บริการตั้งแต่ช่วงหัวค่ำยาวไปจนถึงคืนของอีกวัน เพื่อต้อนรับลูกค้าพนักงานหนุ่มญี่ปุ่นที่เหน็ดเหนื่อยและต้องการพักผ่อนหลังการทำงานตลอดทั้งวัน

คนในเมืองศรีราชาบางส่วนเป็นลูกหลานของบรรพบุรุษเชื้อสายจีน ถ้าไม่เป็นเจ้าของกิจการค้าขาย ก็ทำประมงเลี้ยงชีพ เนื่องด้วยอยู่ในทำเลที่มีชายฝั่งทะเลเลียบยาวกว่า 24 กิโลเมตร แต่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ตึกสูงระฟ้าเริ่มผุดขึ้นมามากในศรีราชา รวมถึงการมีห้างสรรพสินค้าและโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่รองรับผู้คน แน่นอนว่าปัจจัยสำคัญคือโครงสร้างพื้นฐานอย่างถนน ทางด่วน หรือท่าเรือ ที่นำพาความมั่นคั่งต่างๆ ไหลเข้ามาในศรีราชาอย่างต่อเนื่อง และย่าน ‘ศรีราชานคร’ ก็เป็นหนึ่งในความเปลี่ยนแปลงที่ว่านั้น

คำว่า “คัมปาย” ที่แปลเป็นไทยได้ว่า “หมดแก้ว” เป็นเสียงที่ดังสร้างบรรยากาศในร้านอิซากายะค่ำคืนนี้ และเพิ่มพูนความครื้นเครงด้วยเสียงกระทบแก้วของลูกค้าครั้งแล้วครั้งเล่า

ยิ่งดึกมากเท่าไหร่เสียงพูดคุยในร้านก็ยิ่งดังขึ้น โต๊ะและเก้าอี้ในร้านต่างถูกจับจองด้วยชายหนุ่มใส่สูทผูกไทชาวญี่ปุ่นอย่างหนาแน่น ในร้านเคล้าคลุ้งไปด้วยกลิ่นถ่านไม้ย่างไฟและควันบุหรี่ บนโต๊ะมีอาหารกับแกล้มหลายชนิด สีหน้าของพวกเขาแดงก่ำขึ้นเรื่อยๆ ตามขวดเบียร์ว่างเปล่าที่ค่อยๆ เพิ่มจำนวนขึ้น

‘Nomikai’ หรือวัฒนธรรมการดื่มหลังเลิกงาน เป็นเรื่องปกติทั่วไปของสังคมญี่ปุ่น แม้อาจดูเป็นกิจกรรมสังสรรค์หลังเลิกงาน แต่ชาวญี่ปุ่นหลายคนก็ยังคงมองว่าการกินเลี้ยงของพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของงาน เพราะเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน และยังได้ชนแก้วทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ๆ ในร้านด้วย

ทั้งนี้ ด้วยราคาอาหารและเหล้าเบียร์ที่ไม่แพงมาก และยังสามารถส่งเสียงดังได้ในร้าน ทำให้ร้านอาหารญี่ปุ่นสไตล์อิซากายะผุดขึ้นมากในศรีราชา และกลายเป็นจุดรวมตัวสำคัญยามค่ำคืนของคนญี่ปุ่น

เรียวจิ อิชิ

เรียวจิ อิชิ ลูกครึ่งชาวไทยญี่ปุ่น เจ้าของร้านอาหารญี่ปุ่นสไตล์อิซากายะที่ตั้งอยู่ในย่านนี้นานกว่า 4 ปี เล่าให้เราฟังถึงความสนิทสนมกับลูกค้าขาประจำที่มักจะมาหลังเลิกงานแทบทุกวัน จนเกิดเป็นความสนิทสนมว่า “ลูกค้าคนญี่ปุ่นมากินที่นี่แทบทุกวัน บางคนสนิทถึงขั้นชวนผมไปตีกอล์ฟด้วยซ้ำ ตอนยังทำร้านที่กรุงเทพฯ ไม่เคยเจอลูกค้าที่มาเกือบทุกวันเหมือนที่นี่เลย” เรียวจิเล่าถึงความใกล้ชิดกับกลุ่มลูกค้าชาวญี่ปุ่นที่ศรีราชา ซึ่งแตกต่างกับประสบการณ์การทำร้านอาหารญี่ปุ่นที่กรุงเทพฯ เมื่อ 10 ปีก่อน

“ลูกค้าบางคนก็เจอเพื่อนใหม่ญี่ปุ่นที่นี่ ที่ศรีราชากินข้าวก่อนแล้วค่อยรู้จักกันก็เยอะ”

แม้นิสัยของคนญี่ปุ่นมักจะเลือกคบหากับเพื่อนร่วมกันชาติเดียวกัน แต่เมื่อชาวญี่ปุ่นเข้ามาทำงานที่ไทย ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องพบเจอกับคนไทย หรือ ‘ความเป็นไทย’ ในรูปแบบที่หลากหลายรอบตัว “คนญี่ปุ่นมาอยู่ไทยแรกๆ เห็นแมลงก็ต้องขอเปลี่ยนอาหาร พออยู่ไปสักพัก เจอเส้นผมในก๋วยเตี๋ยวก็แค่หยิบออกแล้ว” เรียวจิเล่าถึงความยืดหยุ่นในชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นของคนญี่ปุ่น เมื่ออยู่ไทยนานวันเข้า

“คนญี่ปุ่นพอมาอยู่ที่นี่นานๆ ก็ติดใช้คำว่า ‘ไม่เป็นไร’ กับ ‘อะไรก็ได้’ บ่อยมาก” แม้เรียวจิจะไม่ได้ชอบ ‘ความหย่อน’ และ ‘ความง่าย‘ จากการปรับตัวของคนญี่ปุ่นเมื่อย้ายมาอยู่ที่นี่มากนัก แต่สำหรับคนญี่ปุ่นแล้ว ความอยู่ง่ายเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่เติมเต็ม ‘ความขาด’ ของคนญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี

กิจวัตรประจำวันของพนักงานคนญี่ปุ่นที่ศรีราชา หลังเลิกงานทุกเย็นจะมากินดื่มที่ร้านแห่งนี้ หรือเที่ยวผู้หญิงตามร้านคาราโอเกะ snack bar ที่อยู่ถัดไปจากร้านของเขาไม่กี่คูหา และเมื่อถึงช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ก็มักจะออกไปตีกอล์ฟและตกปลา อันเป็นกิจกรรมยอดนิยมของคนญี่ปุ่น ตลอดจนไปเที่ยวต่างจังหวัดไกลถึงเชียงใหม่

“ลูกค้าเจอกันที่ร้านแห่งนี้อาทิตย์ละ 5-6 วัน ลูกค้าคนญี่ปุ่นที่นี่ผูกพันกันมาก ตอนบริษัทเรียกตัวกลับหมดสัญญา เพื่อนๆ ผู้ชายเขาร้องไห้ออกมาเลยนะ” เรียวจิเล่า

ในขณะที่คนญี่ปุ่นมุ่งมั่นและทุ่มเทให้กับงาน องค์กรก็จะให้ทุกอย่างกับคนญี่ปุ่นเช่นกัน ทั้งเงินเดือน สวัสดิการ และการจ้างงานแบบตลอดชีพ (lifetime employment) ควบคู่กับแนวคิดภักดีต่อบริษัทที่ทำให้คนญี่ปุ่นไม่ย้ายงานบ่อยๆ ซึ่งฝังรากลึกในสังคมญี่ปุ่น ทำให้คนญี่ปุ่นต้องกลับไปที่ญี่ปุ่นเมื่อทำงานครบวาระ 3-5 ปีตามสัญญาของบริษัท

มิตรภาพต่างแดนของคนญี่ปุ่นที่นี่เป็นเรื่องจริง และท่วงทำนองชีวิตแบบ ‘หย่อนๆ’ ที่นี่น่าจะเป็นสิ่งที่จูงใจให้พวกเขาอยากอยู่ต่อไปให้นานขึ้นกว่าเดิม แต่ในความเป็นจริงแล้วทุกสิ่งในโลกย่อมมีวันหมดอายุ ไม่ต่างกับ ‘ความผูกพันที่มีวันหมดอายุ’ ในศรีราชาแห่งนี้ด้วยเช่นกัน

3

ศาลเจ้า

ที่ศรีราชามีบริษัทญี่ปุ่นกว่า 270 บริษัท คนญี่ปุ่นกว่า 6,500 คน และครอบครัวญี่ปุ่นกว่า 600 ครอบครัว สิ่งนี้คือตัวเลขที่ชี้ให้เห็นภาพรวมของคนญี่ปุ่นในศรีราชา แต่เรื่องของ ‘จิตใจ’ ซึ่งเป็นที่ยึดเหนี่ยวคนไกลบ้านเอาไว้ด้วยกันนั้นถูกแสดงผ่านงานเทศกาลญี่ปุ่นศรีราชา หรือที่รู้กันในชื่อ ‘เทศกาลทานาบาตะ’ และมีสถานที่สำคัญทางศาสนาอย่างศาลเจ้าชินโตศรีราชา

มาซาฮิโร อาเบ คือผู้ก่อตั้งศาลเจ้าแห่งนี้ ควบคู่กับตำแหน่งประธานสมาคมคนญี่ปุ่นชลบุรี-ระยอง (CRJA) พาเราเยี่ยมชมศาลเจ้าชินโตศรีราชาที่มีอายุเกือบจะครบขวบปี

มาซาฮิโร อาเบ

ถึงศาลเจ้าจะอยู่ในตึกแถว แต่ก็สร้างขึ้นตามรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ถูกต้องไม่ผิดเพี้ยนไปจากที่ญี่ปุ่น โถงของศาลเจ้าปูด้วยไม้ที่ส่งกลิ่นหอม เสาของศาลเจ้า กระดิ่งขอพร เชือกกั้นเขตแดนระหว่างเทพขนาดยักษ์ ล้วนถูกขนส่งข้ามแดนมาจากศาลเจ้าต้นทาง ตลอดจนพิธีกรรมเปิดศาลเจ้าก็ได้เชิญโกะชินไตและกุจิ (นักบวชชินโต) ชาวญี่ปุ่นแท้ๆ มาทำพิธีกรรมอย่างถูกต้องตามธรรมเนียมประเพณีชินโตทุกประการ

เทพเจ้าอามาเทราสึ (เทพเจ้าแห่งพระอาทิตย์) และเทพเจ้าอุกะโนะมิทามะ (เทพเจ้าแห่งความรุ่งเรือง) ประดิษฐานอยู่ใน ‘ฮนเด็น’ หรือศาลากลางที่ตั้งอยู่บนดาดฟ้าของศาลเจ้าแห่งนี้ โดยยึดเอาต้นแบบของการสร้างจากศาลเจ้าในเมืองโตเกียว ซึ่งเป็นศาลเจ้าในตึกแถวเหมือนเช่นที่แห่งนี้

“ในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมามีคนญี่ปุ่นเข้ามาไหว้ขอพรที่ศาลเจ้ากว่า 6,000 คน มาไกลทั้งจากกรุงเทพฯ และเชียงใหม่เลยก็มี” มาซาฮิโรเล่าให้ฟังถึงธรรมเนียมของชาวญี่ปุ่นที่มักจะไปศาลเจ้าในช่วงวันขึ้นปีใหม่ของทุกปี หรือในโอกาสสำคัญของชีวิต อย่างการจัดพิธีให้พรทารกแรกเกิด หรือพิธีแต่งงานของชาวญี่ปุ่น

เขาเล่าให้ฟังถึงเพื่อนคนสนิทที่เพิ่งจะจัดพิธีแต่งงานแบบดั้งเดิมที่ศาลเจ้าแห่งนี้เมื่อเดือนก่อน โดยมีกูจิ หรือนักบวชจากประเทศญี่ปุ่นที่ศาลเจ้าต้นทางนั่งเครื่องบินมาทำพิธีกรรมอวยพรคู่บ่าวสาว การจัดพิธีแต่งงานครั้งนี้นั้นนับได้ว่าเป็นการจัดงานแต่งแบบชินโตเป็นครั้งแรกของประเทศไทย

จากตัวเลขของคนญี่ปุ่นที่มาไหว้สักการะขอพร และพิธีกรรมต่างๆ ที่ถูกจัดขึ้นอย่างถูกต้องตามธรรมเนียมญี่ปุ่น จึงทำให้ที่แห่งนี้กลายสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจที่สำคัญของคนญี่ปุ่นที่ไม่ใช่แค่จำกัดเฉพาะศรีราชาเท่านั้น หากแต่เป็นคนญี่ปุ่นทั่วประเทศที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยด้วยซ้ำไป

แม้ว่าชาวญี่ปุ่นในศรีราชานั้นจะมีงานเทศกาลเป็นของตัวเองมากแล้วกว่า 11 ครั้ง เป็นงานเฉลิมที่จัดขึ้นอย่างใหญ่โต ภายในงานมีศิลปินทั้งไทยและญี่ปุ่นขึ้นแสดงบนเวที ซุ้มผ้าใบขายอาหารจากบริษัทคนญี่ปุ่นมาออกบูทขายของ หากแต่ไม่เคยมีการจัดงานครั้งไหนนั้นสมบูรณ์ จนกระทั่งเมื่อปีที่ผ่านมาที่ชาวญี่ปุ่นในศรีราชาหามแบก ‘มิโคชิ’ ซุ้มศาลเจ้าเคลื่อนที่ไปรอบสถานที่จัดงานเทศกาล

มาซาฮิโร หนึ่งในผู้รับผิดชอบจัดงานเทศกาลญี่ปุ่นศรีราชาครั้งที่ 11 ที่ผ่านมา เล่าให้ฟังถึงอีกหนึ่งเหตุผลของการริเริ่มสร้างศาลเจ้าว่า “การจะแห่เกี้ยวโอมิโคชิได้ จำเป็นที่ต้องสร้างศาลเจ้าในพื้นที่ก่อน” เขากล่าว

เกี้ยวโอมิโคชิ หรือซุ้มศาลเจ้าขนาดเล็ก ถูกหามขึ้นในงานเทศกาลญี่ปุ่นเมื่อปลายปีที่แล้วเป็นครั้งแรก ทั้งบรรดาชายหนุ่ม และเด็กชาวญี่ปุ่นแบกท่อนไม้ขึ้นบ่าเดินแห่ไปทั่วงานเทศกาลตรงกับธรรมเนียมประเพณีชาวญี่ปุ่น แสดงให้เห็นถึงสัญลักษณ์ของความสนิทสนมเป็นหนึ่งเดียวกัน และความสนุกสนานของงานเฉลิมฉลองของคนที่นี่

ศาลเจ้าแห่งนี้ไม่ได้สะท้อนเพียงเรื่อง ‘ความศักดิ์สิทธิ์’ เท่านั้น แต่ทว่ายังทำหน้าที่เป็น ‘พื้นที่เชื่อมโยงผู้คนในชุมชน’ เข้าไว้ด้วยกัน จากการลงพื้นที่สำรวจพูดคุยกับผู้คนที่แวะวนเวียนมาศาลแห่งนี้ ไม่ใช่เพราะเพียงการขอพรโชคลาภกับเทพเจ้า หากแต่หลายคนมาศาลเจ้าแห่งนี้ เพื่อเจอผู้คนทำความรู้จักเพื่อนใหม่ๆ หรือแม้กระทั่งประเพณีพิธีกรรมต่างๆ อย่างการยกเกี้ยวนิโคชิ หรือการตำโมจิในช่วงปีใหม่เอง ก็ดูเหมือนเป็นกุศโลบายในการรวมตัวของคนชาติเดียวกัน อันแสดงถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

“คนญี่ปุ่นมารวมตัวกันที่ศาลเจ้า อาจช่วยให้นึกถึงอารมณ์เก่าๆ จากที่ที่เขาจากมาไกล หรือแม้กระทั่งการยกเกี้ยวนิโคชิด้วยกันในงานเทศกาลก็จะสร้างความสนิทในหมู่คนญี่ปุ่นกันมากขึ้น” มาซาฮิโร กล่าว

4

เรื่องเล่าของคนญี่ปุ่น

มาซาฮิโร อาเบ เป็นเจ้าของบริษัทในศรีราชามายาวนานกว่า 12 ปี เขาแต่งงานมีครอบครัว เลือกลงหลักปักฐานในศรีราชา และกล่าวกับเราว่าเขาจะอยู่ที่ศรีราชา ‘จนวันสุดท้ายของชีวิต’

“ผมมีครอบครัวและบริษัทที่นี่ ผมจะอยู่ประเทศไทยจนเสียชีวิต ก็หวงประเทศไทย รักมากกว่าญี่ปุ่นด้วยซ้ำ” มาซาฮิโรเล่าให้เราฟังถึงความรักและความผูกพันของเขาที่อยู่ที่นี่ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เพราะคุณพ่อของเขาเป็นคนญี่ปุ่นที่มาทำงานและลงหลักปักฐานอยู่ที่ไทยพร้อมกับครอบครัวที่ย้ายมาจากญี่ปุ่น  

ช่วงชีวิตในวัยเด็กของมาซาฮิโร คือการต้องจากแผ่นดินเกิด เผชิญกับผู้คนและวัฒนธรรมใหม่ๆ เขาเล่าให้กับเราฟังถึงความยากลำบากที่ต้องปรับตัวเข้ากับสังคมใหม่ นอกจากเรื่องของภาษาที่แตกต่างกันแล้ว ก็คือการดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิตของผู้คนที่ประเทศไทย ตั้งแต่เรื่องวินัยบนท้องถนน ตลอดจนภัยอันตรายที่อาจถึงแก่ชีวิต

“คุณจำเป็นต้องดูแลชีวิตของตัวเองให้มากที่นี่” มาซาฮิโรกล่าว พร้อมกับเสริมต่อว่าในทุกวันนี้เขาก็ไม่เชื่อใจให้ลูกเขาเดินออกไปไหนมาไหนจากบ้านเพียงลำพังได้

แม้ว่ากำแพงทางภาษา และความแตกต่างระหว่างสังคมญี่ปุ่นและไทยอาจจะเป็นปัญหาอยู่บ้างไม่มากก็น้อยสำหรับคนญี่ปุ่นที่ต้องย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำงาน แต่ทว่าเสน่ห์เฉพาะตัวของที่แห่งนี้ก็อาจจะเติมเต็ม ‘ช่องว่าง’ ที่พวกเขาขาดหายไปจากสภาพสังคมเคร่งเครียดของประเทศที่พวกเขาจากมา

“คนญี่ปุ่นเข้มงวดเยอะ อะไรๆ ก็ห้าม ต้องแยกขยะตลอด คนไหนถ้าทำผิด ต่อให้ไม่รู้จักกันก็ด่า” มาซาฮิโรแสดงมุมมองของเขาต่อประเทศญี่ปุ่น ที่แสดงให้เห็นว่าเมืองที่เต็มไปกฎระเบียบและกฎทางสังคมก็สร้างความเครียดให้คนญี่ปุ่นได้เช่นกัน

“ผมอยู่ญี่ปุ่นต้องทิ้งขยะเรียบร้อย แต่พอมาอยู่ไทยก็มีทำไม่ถูกต้องบ้าง” เขากล่าวกับเราอย่างตรงไปตรงมา ถึงการใช้ชีวิตที่อาจดู ‘หลวม’ ต่อกฎระเบียบต่างๆ ไปบ้างเมื่ออยู่ที่ประเทศไทย ตลอดจน ‘ความสะดวกสบาย’ จากบริการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นที่พักอาศัย ร้านอาหาร สนามกอล์ฟ ฯลฯ ที่มีอยู่อย่างพร้อมเพียงครบครัน

ชื่อของ ‘มาซาฮิโร’ ปรากฏอยู่บนโล่รางวัลและใบประกาศเกียรติคุณ ที่ถูกแขวนและตั้งใส่กรอบอยู่ในห้องทำงานของเขาหลากหลายอัน เขาเล่าอย่างภาคภูมิใจพร้อมกับโชว์ภาพกิจกรรมการกุศลหลากกิจกรรมที่ได้ร่วมมือกับหน่วยรัฐหลายหน่วยงานในพื้นที่ศรีราชา เขาคือคนญี่ปุ่นคนแรกที่ได้เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการตำรวจ สภ.ศรีราชา พร้อมทั้งยังเป็นคนสนับสนุนเงินบริจาคหน่วยงานในเทศบาลศรีราชาเองอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด

“ผมอยู่ประเทศไทย ทำธุรกิจที่ประเทศไทยก็ต้องคืนให้ประเทศไทยด้วย ตำรวจบ้าง สาธารณสุขบ้าง ก็ขอบคุณบริจาคเงินคืนให้กับสังคม”

แม้ว่าคนญี่ปุ่นจำนวนมองว่าการกุศลเป็นสิ่งที่งมงาย (ญี่ปุ่นติดอันดับรองบ๊วยจากการจัดอันดับประเทศที่เป็นผู้ให้) แต่ในทัศนะของเขามองว่า ศรีราชาเป็นเมืองที่มีความหลากหลาย ทั้งคนในพื้นที่และคนญี่ปุ่นที่เข้ามาทำงานจำนวนมากผสมกัน การช่วยเหลือเกื้อกูลกันในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคเงิน หรือการทำการกุศล เป็นเรื่องที่เขามองว่าเป็นสิ่งที่สมควรที่จะทำเพื่อการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

“เวลาเทศบาลหรือหน่วยงานรัฐหาสปอนเซอร์ผมก็พร้อมช่วยสนับสนุน เมื่อช่วยเหลือแล้วก็เป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน”

นอกจากศรีราชาจะเป็นเมืองที่พร้อมรับการเข้ามาของคนญี่ปุ่นในทุกๆ ด้านแล้ว เมืองนี้ยังช่วยสอนให้ผู้ที่มาอยู่พร้อมจะเดิน  บนเส้นทางชีวิตสองวัฒนธรรม ที่ต้องเรียนรู้และเข้าใจความแตกต่างระหว่างกัน

5

ที่นี่ไม่ใช่ Little Japan

การเกิดขึ้นของนิคมอุตสาหกรรมโรงงาน ท่าเรือน้ำลึก และแผนพัฒนาเศรษฐกิจทางภาคตะวันออกของไทย เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของศรีราชากับคนญี่ปุ่น ด้วยเม็ดเงินการลงทุนมหาศาล และการหลั่งไหลเข้ามาของแรงงานบริษัทญี่ปุ่น จึงได้เปลี่ยนโฉมหน้าของ ‘ศรีราชา’ เมืองท่าติดทะเลไปทั้งสิ้นจนแทบไม่เหลือเค้าโครงเดิม

คนญี่ปุ่นในศรีราชาย้ายเข้ามาที่นี่ด้วยเหตุผลของการทำงานเพียงชั่วคราว และโอกาสสร้างความก้าวหน้าในชีวิตการงานอาชีพ ราวกับว่า ‘ศรีราชา’ เหมือนจะกลายเป็นเพียงทางผ่าน หรือจุดพักระหว่างทางในชีวิตของพวกเขา แต่ด้วยระยะเวลาและความต่อเนื่องของคนญี่ปุ่นที่เข้ามายัง ‘ศรีราชา’ ก็มากเพียงพอจะทำให้ที่นี่เกิดเป็น ‘ชุมชนคนญี่ปุ่นในศรีราชา’ ได้

‘ความเป็นชุมชน’ ของคนญี่ปุ่นที่นี่ไม่ได้เริ่มต้นขึ้นด้วยการเลียนแบบสิ่งก่อสร้างท่องเที่ยวสไตล์ญี่ปุ่น หรือความพยายามสร้างความเป็นญี่ปุ่นในมุมมองแบบไทยๆ หากแต่เป็น ‘วิถีของชุมชน’ อันเป็นความเฉพาะตัวของชาวญี่ปุ่นในศรีราชา ที่บางครั้งก็ดูแปลกแยกกับสังคมและผู้คนดั้งเดิมในพื้นที่ และในอีกด้านหนึ่งก็มีอีกหลายเรื่องที่พวกเขาเรียนรู้และปรับตัวท่ามกลางชีวิตสองวัฒนธรรมโดยที่พวกเขาก็อาจไม่ทันรู้ตัวเลยเสียด้วยซ้ำไป

คนญี่ปุ่นไม่ได้มองว่าที่นี่เหมือนแผ่นดินที่เขาจากมา ศรีราชาไม่เคยเป็นญี่ปุ่นย่อส่วนในสายตาของพวกเขา หากแต่ที่นี่คือเมืองท่าติดทะเลแห่งหนึ่ง เป็นโอกาสเติบโตทางอาชีพหน้าที่การงานของพวกเขา และเป็นเมืองที่อยู่ง่ายสบายๆ ไม่ยากที่จะต้องปรับตัวอะไรมากนักเสียเท่าไหร่

คำว่า ‘Little Japan’ ไม่เคยถูกเอ่ยออกจากปากคนญี่ปุ่นที่นี่สักครั้ง แม้ว่าคำดังกล่าวมีให้เห็นทั่วไปในโลกออนไลน์เพื่อใช้นิยามชุมชนคนญี่ปุ่นในศรีราชา และคงไม่ได้มีความหมายตรงตัวว่า ‘เมืองญี่ปุ่นย่อส่วน’ แต่อาจหมายความถึง ‘ความเป็นญี่ปุ่นแบบไทยๆ’ ที่เป็นจุดขายของที่นี่ต่างหาก 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save