fbpx

เหล้ายา บาร์ สาวเปลือย มรดกรักจากสหรัฐฯ ถึงพัทยา

“The old hometown looks the same
As I step down from the train
And there to meet me is my mama and papa”

พอร์เตอร์ วากอเนอร์ กรีดนิ้วลงบนสายกีตาร์ ร่วงหล่นทำนองจากสามคอร์ดหลัก เล่าเรื่องภาพฝันของชายหนุ่มผู้หวนกลับคืนสู่อ้อมอกบ้านเกิด พ่อแม่ และหญิงสาวอันเป็นที่รัก

‘Green Green Grass of Home’ ไต่อันดับความนิยมบนชาร์ตเพลงคันทรีของสหรัฐฯ ปี 1965 ขวบปีเดียวกันกับที่เด็กหนุ่มชาวอเมริกันเรือนแสนถูกส่งตัวห่างจากบ้านเกิดไปแปดพันไมล์ ปลายทางอยู่ที่ดินแดนแปลกหน้าในอินโดจีน ร่วมกระโจนเข้าสู่ ‘สงครามเวียดนาม’ บนความแค้นเคืองที่พวกเขาไม่มีส่วนร่วม

สองปีถัดจากนั้น หนุ่มน้อย มูฮัมหมัด อาลี ลั่นวาจาสะเทือนหัวใจคนหนุ่มสาวผู้รักสันติภาพทั้งโลก และอาจสะเทือนไปถึงบัลลังก์ประธานาธิบดีของ ลินดอน บี. จอห์นสัน ด้วยประโยค “ข้าพเจ้าไม่ไปรบหรอก เพราะข้าพเจ้าไม่ได้มีเรื่องโกรธเคืองอะไรชาวเวียดกงเหล่านั้น”

และนั่นก็เป็นขวบปีเดียวกันกับที่รัฐบาลของจอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีไทย อนุมัติให้กองทัพสหรัฐฯ เข้ามาใช้บริการสนามบินอู่ตะเภา จังหวัดระยอง ใช้เป็นฐานทัพลำเลียงหน่วยรบ และเป็นท่าอากาศยานสำหรับปฏิบัติภารกิจทางการทหารในประเทศใกล้เคียงอย่างลาวและเวียดนาม

มากกว่านั้น ไทยยังเป็นจุดยุทธศาสตร์สำหรับการ ‘ทิ้งบอมบ์’ ลงบนบ้านเรือนและชีวิตของชาวเวียดกงอีกนับล้าน ฐานทัพอเมริกันจึงปักหลักที่ไทย ด้านหนึ่งหอบเอาความตายไปทิ้งยังประเทศใกล้เคียง อีกด้านก็ก่อกำเนิดวิถีชีวิตใหม่ในพื้นที่

‘พัทยา’ งอกเงยขึ้นมาจากตรงนั้น

หกทศวรรษก่อน เด็กหนุ่มอเมริกันพลัดถิ่นที่เพิ่งหัดจับปืนครั้งแรกคงนั่งเศร้า หลับฝันถึงเสียงครวญเพลงของพอร์เตอร์ วากอเนอร์ เอนหลังหลับลงบนดินแดนติดชายหาดที่ไม่ชวนคุ้นเคย รอวันเวลาถูกส่งตัวไปยังสังเวียนรบของคนแปลกหน้า

ความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกันกับพัทยาเริ่มขึ้นจากตรงนั้นและแยกจากกันไม่ขาดจนถึงเวลานี้

1

ต้นทศวรรษที่ 70s โลกสั่นสะเทือนเมื่อการเมืองแตกเป็นสองขั้วภายใต้ชื่อระบบเสรีประชาธิปไตยกับระบบสังคมนิยม สหรัฐฯ ยึดครองนิยามของโลกเสรี ถือสิทธิ์สะบัดผ้าคลุมปกป้องประชากรอเมริกันและประชากรโลกจากการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ ที่เข้มแข็งและชัดเจนขึ้นภายหลังกลุ่มปฏิวัติในจีนได้รับชัยชนะ สอดรับกันกับที่ โฮจิมินห์ เริ่มยึดครองพื้นที่หัวใจคนในเวียดนามทางตอนเหนือได้

ทหารอเมริกันนับหมื่นทยอยจากบ้าน ร่อนลงจอดใช้ชีวิตวัยหนุ่มที่มีเพียงครั้งเดียวในเขตร้อนของอุษาคเนย์

งานวิจัย ‘กำเนิดและการขยายตัวของพัทยา’ ของ ขวัญแก้ว อุดมบุญญานุภาพ ระบุว่า “เมื่อสถานการณ์ในเวียดนามตึงเครียดมากยิ่งขึ้น รายจ่ายของสหรัฐฯ ในประเทศไทยก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 157 ล้านเหรียญอเมริกันและเพิ่มเป็น 318 ล้านเหรียญในปี พ.ศ. 2511 […] ซึ่งรายจ่ายทั้งหมดของรัฐบาลอเมริกันนั้นแบ่งออกเป็น 3 รายการที่สำคัญ ได้แก่ รายจ่ายเกี่ยวกับทหารอเมริกันในประเทศไทย อันเนื่องมาจากการตั้งฐานทัพ, รายจ่ายจากการพักผ่อนหย่อนใจของทหารอเมริกันในเมืองไทย และรายจ่ายของหน่วยงาน USOM เกี่ยวกับการจัดสรรสิ่งอำนวยความสะดวกด้านยุทธศาสตร์และการต่อต้านการคุกคามภายใน” (หน้า 53)

ใน 318 ล้านเหรียญฯ ไม่มากไม่น้อยงอกงามขึ้นในพัทยา เมืองเล็กๆ ติดทะเลที่ย้อนกลับไปไม่กี่ขวบปีก่อนหน้าการมาเยือนของทหารอเมริกัน ยังเป็นเมืองทำประมงชายฝั่ง สวนมะพร้าวและนาเกลือ

ณัฐรินทร์ รัตนะพิบูลย์

“เมื่อทหารอเมริกันไปเที่ยว เขาเรียกกันว่าโปรแกรม R and R หรือก็คือ Rest and Recuperation หรือจะเป็น Rest and Relaxation ก็ได้ เป็นโปรแกรมพักผ่อนของทหารอเมริกัน” ณัฐรินทร์ รัตนะพิบูลย์ อธิบายในฐานะที่เคยทำงานเป็นล่ามให้ทหารอเมริกันอยู่หกปี ทั้งยังเชี่ยวชาญด้านการสงครามและอาวุธยุทโธปกรณ์จนคว้าตำแหน่ง สุดยอดแฟนพันธุ์แท้ สงครามเกาหลี จากรายการ ‘แฟนพันธุ์แท้’ เมื่อปี 2014 มาแล้ว “ช่วงแรกๆ พัทยาก็ไม่มีอะไรให้เที่ยวหรอก แต่เมื่อคนไทยเห็นฝรั่ง ต่างบ้านต่างเมืองเข้ามาเที่ยว ก็มีอุตสาหกรรมเกิดขึ้น ซึ่งอุตสาหกรรมช่วงแรกๆ คือการเปลี่ยนบ้านตัวเองเป็นที่พักให้ชาวต่างชาติมาอาศัยค้างคืน เป็นเกสต์เฮาส์ เพราะพวกทหารมาแล้วหาที่หลับนอนไม่ได้ แล้วจากนั้นก็เริ่มมีการขายอาหาร เครื่องดื่ม มันก็มีการพัฒนามาเรื่อยๆ ตามลำดับ

“แต่การเติบโตครั้งสำคัญที่สุดของพัทยาเกิดขึ้นพร้อมการสร้างฐานบินอู่ตะเภา ซึ่งเป็นฐานทัพอากาศที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะกองทัพอากาศสหรัฐฯ ต้องการเอาเครื่องบิน B-52 สำหรับทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์มาประจำการในไทยเพื่อเอาระเบิดไปทิ้งที่เวียดนาม”

กล่าวให้ย่นย่อที่สุด ไทยเป็นเสมือนทำเลทองในการจะหอบเอาลูกกระสุนกับทุ่นระเบิดหนัก 30 ตันไปเยือนชาวเวียด โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับทำเลเก่าอย่างฐานทัพอากาศแอนเดอร์สันบนเกาะกวม

สองพันห้าร้อยไมล์เทียบกันกับหกร้อยไมล์ หายใจอึดเดียวความตายก็ปรากฏที่หน้าบ้านศัตรู

“ปี 1965 สหรัฐอเมริกาสร้างท่าเรือจุกเสม็ดหรือท่าเรือสัตหีบ กลายเป็น military facility ที่ใหญ่มาก ทหารเขาก็บอกกันปากต่อปากว่ามาพัทยาสิ ของดีเยอะ อ่าวสวยเหมือนไมอามี อุตสาหกรรมในพัทยาก็โตขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆ ที่ทหารอเมริกันเข้าไปยึดครอง มีช่างตัดเสื้อ ธุรกิจบาร์ มีผู้หญิงบริการ คนเริ่มมาทำมาหากินที่พัทยามากขึ้น จนสุดท้ายก็กลายเป็นเมือง hospitality เปลี่ยนวิถีชีวิตเดิมของผู้คนไปหมดสิ้น

“แล้วลองนึกภาพคนที่มารบในเวียดนาม เป็นทหารหนุ่ม อยู่ไกลบ้าน ไม่รู้ว่าจะตายวันตายพรุ่ง เวลาทหารอเมริกันในช่วงนั้นมาเที่ยว เขาจึงเที่ยวกันหนักมาก”

บทความ ‘กามารมณ์กับสงคราม’ โดย นิรันดร์ ประดิษฐกุล ที่ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ระบุว่า ขณะที่ทางการอังกฤษออกกฎให้นายทหารเก็บเงินเบี้ยเลี้ยงส่วนหนึ่งเพื่อครอบครัว แต่กองทัพสหรัฐฯ ไม่มีนโยบายเช่นนั้น ยังผลให้นายทหารอเมริกันทั้งหลายใช้จ่ายเงินเบี้ยเลี้ยงซึ่งขั้นต่ำตกอยู่ที่ 200 เหรียญฯ อย่างสุดขีด ความพลุ่งพล่านของวัยหนุ่มบวกความหวาดหวั่นเอาแน่เอานอนไม่ได้ของสงครามยิ่งทำให้ผู้คนผลักชีวิตเข้าสู่เพดานของความสุดเหวี่ยง

หายใจคละกลิ่นเนื้อสาวเคล้ากลิ่นบุหรี่ เผื่อไว้คิดถึงในวันหน้าที่ต้องสูดดมคาวเลือดเคล้าเขม่าปืน

ช่วงรอยต่อระหว่างปี 1965-1966 อันเป็นช่วงที่สงครามกำลังไต่ขึ้นไปถึงขีดสุดทั้งในแง่ความรุนแรงและพละกำลังของโลกสองขั้ว ประมาณการกันว่ามีเครื่องบินอเมริกันจากฐานทัพไทยบินไปเวียดนามราวหนึ่งพันเที่ยวต่อสัปดาห์ ขณะที่ประเทศต้นทางทยอยส่งทหารหนุ่มเข้ามาอยู่ไม่ขาด ทั้งเพื่อเพิ่มกำลังพลและอุดรูรั่วนายทหารคนเก่าที่บาดเจ็บหรือตายจาก

สงครามเวียดนามล่วงผ่านมาอีกหลายปี ลงเอยที่อเมริกาเป็นผู้พ่ายแพ้ ประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ประกาศถอนกำลังทหารออกจากสงครามท่ามกลางเสียงก่นด่าจากประชาชนในบ้านตัวเอง กระแสธารกลุ่มฮิปปี้โหยหาธรรมชาติและสันติทะลักถะถั่งในสหรัฐฯ พร้อมกันกับความล่มสลายของรัฐบาลไซง่อนที่เวียดนาม แต่ท่ามกลางการดับและการเกิดต่างๆ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ยั่งยืนยาวนานกว่าสิ่งใด แม้เมื่อสหรัฐฯ จะถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่อุษาคเนย์แทบทั้งหมดจน “รายได้จากทหารอเมริกันที่เคยใช้จ่ายฟุ่มเฟือยมาโดยตลอดนั้น ได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ค่าใช้จ่ายสำหรับการบันเทิงจากทหารอเมริกันทั้งประเทศจำนวน 458.6 ล้านบาทใน พ.ศ. 2512 ได้ลดลงเหลือเพียง 62.8 ล้านบาทในพ.ศ. 2515” ( ขวัญแก้ว อุดมบุญญานุภาพ, กำเนิดและการขยายตัวของพัทยา, 2546) หากแต่ยังเกิดการแลกเปลี่ยนปฏิบัติการทางทหารระหว่างสองประเทศอยู่เป็นประจำทุกปี

หนึ่งในนั้นคือนโยบายการฝึกทางการทหารระดับพหุภาคีหลายสัญชาติอย่าง คอบรา โกลด์ (Cobra Gold-CG) และ การัต (Cooperation Afloat Readiness and Training – CARAT) การฝึกระหว่างกองทัพเรือสหรัฐฯ กับภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ดำเนินมาอย่างยาวนานที่สุด

“ผมเคยร่วมงานกับหน่วยการัตครั้งหนึ่งกับเรือ USS Germantown เฝ้าเรือประมาณสิบกว่าวัน ดูคิวรถตู้ที่เขาจะจัดจากเรือลำนี้เข้ามาในเมืองพัทยา” ณัฐรินทร์ยิ้ม รำลึกความหลังสมัยทำงานล่ามให้นายทหาร “ดูว่าใครไปบ้าง ไปกันกี่คน หลังเที่ยงคืนไม่มีรถรับส่งแล้วคุณก็ต้องนอนที่พัทยา ใครที่ไม่อยากเสียเงินค่าโรงแรมก็กลับมานอนบนเรือ

“นายทหารทุกคนเขาได้รับ cultural brief มาก่อนว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ ออกจะเคารพคนไทย รู้มารยาทต่างๆ เช่น สวัสดี ขอบคุณ เพราะภารกิจหนึ่งของการมาฝึกคือสร้างสัมพันธ์อันดี represent คนอเมริกัน มาเป็นแขกที่ดี ต้องรู้มารยาทเบื้องต้น รู้ว่าอะไรควรพูดไม่ควรพูด รู้ว่าประเด็นไหนอ่อนไหว

“ผมเคยทำงานกับเจ้าหน้าที่พิเศษของกองทัพอากาศ เขาแคร์ชีวิตและความปลอดภัยของกำลังพลเขามาก ไปติดต่อตำรวจท้องที่ ไปแนะนำตัวว่าถ้าเกิดเหตุเกี่ยวกับทหารอเมริกัน ให้โทรศัพท์มาหาเขานะ เขาจะประสานทางสถานทูตให้ คือเขาพยายามลดความสูญเสียให้ได้น้อยที่สุด เรียกว่า force protection ไม่ให้มีอะไรกระทบกำลังพลของเขาเลย เพราะให้คุณค่ากับหนึ่งชีวิตมาก”

พวกอเมริกันหลงใหล ติดใจอะไรพื้นที่แห่งนี้นัก คำตอบอาจอยู่ที่เบียร์ไทยเข้มข้น ยิ้มแฉล้มของหญิงหลังบาร์ หรืออาจไปจนถึงเมามายในแสงสียามค่ำคืน

“กับบางร้าน ถ้าทหารอเมริกันเขาสนิทสนมมากๆ เขาจะให้ military badge หรือ plaque จำพวกโล่ต่างๆ ให้ ซึ่งโล่ที่ว่านี้ก็จะต่างกันไป เช่น ถ้าเป็นเรือ USS Gerald R. Ford ก็จะเป็นโล่ที่มีม็อตโต้ของเขา หรือไม่ก็เป็นเหรียญที่เขาออกแบบเฉพาะเรือนั้น หรือมีสัญลักษณ์เฉพาะบางอย่างให้ทางร้าน หรือแม้แต่ทหารอากาศที่มา ก็อาจจะมีรูปถ่ายเครื่องบินตัวเอง ติดโล่ติดอะไรให้เจ้าของร้าน เวลามีแขกมาเยี่ยมชมที่ร้านก็จะรู้ว่าใครเคยมาที่นี่บ้าง ทหารอเมริกันหน่วยไหนมา บอกกันปากต่อปาก”

บาร์เล็กบาร์น้อยแห่งหนไหนในพัทยาที่โอบรับทหารอเมริกันผู้ฟกช้ำจากกรำศึกกรำซ้อมมานานหลายทศวรรษด้วยน้ำกลั่นและน้ำหมักไม่ย่อไม่หย่อน จนเขามอบของรักจากกองทัพให้

บาร์แห่งนั้นตั้งอยู่ในซอยไดมอนด์ ครวญ Green Green Grass of Home ให้คนหนุ่มในและนอกสงครามได้ฟัง

2

คืนนั้นพัทยาเล่นพวกเราเสียหนัก ต้อนรับด้วยพายุฝน ชื้นแดดชื้นเกลือจากทะเลเข้ามาสำทับ แล้วจึงเผยเงาแดดจ้าส่งท้ายวันก่อนหรุบหายหลังเส้นขอบทะเลเวิ้งว้าง

เสื้อยังหมาดฝน เปียกเหงื่อ โซซัดโซเซจากหน้าหาดที่ละลานด้วยผู้คน -เช่นเดียวกับกรุงเทพฯ พัทยาอยู่ในระยะเลือกตั้ง ‘พ่อเมือง’ สองข้างทางจึงพร้อยด้วยป้ายหาเสียงทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่- ไปยังวอล์กกิง สตรีต ดินแดนศักดิ์สิทธิ์สำหรับผู้มาเยือน แสวงหาธรรมจากแสงนีออน เสียงเบสกีตาร์ ราดรดผนังคอด้วยแอลกอฮอล์แล้วหลับใหลบนตักของใครสักคน

B.J.3 Bar โลมไล้ด้วยแสงสีชมพูบาดตา ช่วงเวลาหัวค่ำ ลูกค้ายังไม่มากนักแต่ก็ไม่ได้บางตาถึงขั้นแล้งไร้ ส่วนหนึ่งนั่งอยู่บนเก้าอี้หัวโล้นที่ตั้งอยู่รอบบาร์ทรงตัวยู อีกส่วนไปกองกันอยู่หน้าโต๊ะพูล ทุกคนล้วนถือขวดเบียร์เย็นเฉียบในมือ

เพลงของพอร์เตอร์ วากอเนอร์จบลง รับไม้ต่อด้วยการกระโจนข้ามมายังศตวรรษที่ 21 ด้วย The Weeknd แว่วเสียงตัวเองสั่งมาร์ตินี อึดใจต่อมาค็อกเทลในแก้วทรงสูงก็ปรากฏตรงหน้า อึกแรกเหมือนลำคอโดนลวกด้วยไฟที่หอมกว่าไฟนรก

ย้อนกลับไปช่วงก่อนหน้าที่สงครามปิดฉากลงและพัทยายังคงเป็นดินแดนแสวงธรรมของเหล่าทหารจีไอ ไนต์คลับหรือสถานบันเทิงในพัทยายังไม่อู้ฟู่มากนัก มากสุดมันยังคลาคล่ำไปด้วยร้านอาหารและที่พักสำหรับทหารอเมริกันเป็นหลัก กระทั่งเมื่อความพ่ายแพ้เอื้อมมือบีบลูกกระเดือก ‘ลุงแซม’ สหรัฐฯ ก็ถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ รายได้ที่ลดลงผิดหูผิดตาทำให้รวงร้านต่างๆ ค่อยๆ ทยอยปรับตัว จากสถานะร้านอาหารหรือคลับหรูในโรงแรมใหญ่โต ก็ค่อยๆ แปรรูปมาเป็นบาร์เล็กๆ ที่เปิดบริการเฉพาะฤดูท่องเที่ยวเพื่อประหยัดต้นทุน งานวิจัย ‘กำเนิดและการขยายตัวของพัทยา’ ระบุว่า ‘บาร์เบียร์’ ลักษณะเช่นนี้ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกของไทยที่พัทยานี่เอง

ขวบปีนั้นที่ B.J.3 Bar ถือกำเนิด

น้อง
เหรียญที่ระลึกที่ทหารอเมริกันมอบให้ร้าน B.J.3 Bar

“คุณประเทืองทิพย์ ผู้ก่อตั้งร้านนี้เขาอยากเปิดบาร์ ก็เลยมาเดินดูแถวตรอกไดมอนด์ เจอบาร์เล็กๆ อยู่บาร์หนึ่งก็เลยเช่าที่แล้วก็อยู่มานับตั้งแต่นั้น” น้อง บอกเราเช่นนั้น ไม่กี่วันหลังบาร์แจ้งเกิดในซอยไดมอนด์ น้องก็เข้ามาสมัครเป็นพนักงาน -กินความตั้งแต่เสิร์ฟเบียร์ ชงเหล้าไปจนถึงดูแลลูกค้าทุกคนครบถ้วน- ที่ได้กลายเป็นอาชีพติดตัวเธอมาตลอดสี่สิบปี

น้องเป็นคนระยอง ไล่เลี่ยกันกับช่วงที่การท่องเที่ยวไทยกำลังโตและหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างการปักหลักกับการลาจากของทหารอเมริกัน เธอจากบ้านเกิดมาแสวงหางานทำในเมืองพัทยา ช่วงเวลาที่บาร์เล็กบาร์น้อยต่างๆ ทยอยผุดขึ้นวันต่อวัน สถาปนาตัวเองเป็นเมืองที่ไม่เคยหลับใหล

“สามีคุณประเทืองทิพย์แกเป็นทหารเรืออเมริกัน คุ้นเคยกันดี” เธอเล่า ชี้มือไปทางรูปนายทหารหนุ่มที่ติดอยู่บนผนังร้าน ล้อมรอบด้วยรูปเรือรบ ธงสารพัดชาติ และนายทหารมากหน้าหลายตาที่ครั้งหนึ่งเคยมาฝากหัวใจไว้ในร้าน “ตัวคุณประเทืองทิพย์แกก็เข้าอกเข้าใจความเป็นคนอเมริกันของลูกค้าด้วย ร้านถึงได้ดังในหมู่ทหาร”

“สมัยก่อตั้งร้านแรกๆ มันเป็นร้านเล็กนิดเดียว มีเก้าอี้อยู่เจ็ดตัวเอง” หันมองปัจจุบันที่เก้าอี้หัวโล้นตั้งเรียงยาวเป็นตับ ขนานคู่ไปกับบาร์เหล้า “เพราะฉะนั้นเวลาลูกค้ามาเยอะๆ คนก็จะล้นออกไปที่ถนนหมด ยืนดื่มกันทั้งคืน แล้วยืนกันอยู่แบบนั้น พวกเราก็ทำงานกันอยู่ข้างใน รับออร์เดอร์แล้วก็ส่งต่อๆ ให้กัน แล้วแคชเชียร์ก็จะเก็บตังค์ ไม่มีที่ให้นั่งหรอกค่ะ ยืนล้นไปหมด

“พัทยาตอนที่เราเข้ามาใหม่ๆ ไม่เหมือนตอนนี้หรอก บูมมาก ทหารก็เยอะ พวกทหารเรือนิมิตซ์ (USS Nimitz), มิดเวย์ (USS Midway), เรนเจอร์ (USS Ranger) แล้วก็พวกอินดีเพนเดนซ์ (USS Independence) เป็นลูกค้าหลักเลย เวลาเรือเขามาเทียบทีหนึ่งทหารก็เข้ามาเรื่อยๆ จอดคราวหนึ่งก็ 6-7 ลำ ตีเสียว่าทหารเข้ามาพัทยาคราวละหมื่นคน ตรงถนนสายนี้คือรึ่มเลย มีทั้งคนผิวดำ คนผิวขาว”

รายรับเฉพาะตอนกลางวันในสมัยนั้น แปดชั่วโมงที่แดดยังจ้า คร่าวๆ ว่าได้เงินตกวันละสองหมื่นบาท -และนี่ยังไม่พูดถึงช่วงกลางคืนอันเป็นเวลาที่หลายคนเพิ่งตื่น ทั้งในเชิงร่างกายและจิตใจ

รายการเบียร์แรกๆ ของร้านมีแค่เบียร์สัญชาติอเมริกากับสัญชาติไทย และไม่มีเจ้าไหนแซงหน้าคาร์ลสเบิร์กกับคลอสเตอร์ น้ำหมักจากดินแดนแห่งเสรีภาพและความฝัน ได้ยินชื่อก็ได้กลิ่นหอมกับได้รสนุ่มผ่านลงผนังคอ

“พวกทหารอเมริกันเขาชอบคลอสเตอร์กับคาร์ลสเบิร์ก ตอนนั้นเราขายเบียร์ขวดละ 45-55 บาท ขายเป็นขวด แล้วทหารพวกนี้ดื่มกันหนักมาก บางคนดื่มเบียร์เป็นลังเลยนะคะ พอดื่มแล้วก็เฮฮาปาร์ตี้ เขาชอบสนุกกัน ถ้าฝนตกก็จะวิ่งออกไปตากฝน เปิดเพลงเต้นกันเต็มถนนหมด นึกภาพออกเลยช่วงนั้นน่ะ เราก็พลอยสนุกไปด้วยนะ เพราะเราชอบเพลง ชอบเต้นอยู่แล้ว”

การถือกำเนิดขึ้นของร้านรวงต่างๆ ในพัทยาย่อมไม่ได้เกิดขึ้นได้โดยลำพัง ด้านหนึ่งมันผ่านการผลักดันของรัฐบาลที่สานสัมพันธ์แนบแน่นกับอเมริกาในห้วงยามแห่งการขยายตัวของสงครามเย็น และคลอดผลลัพธ์เป็นย่านท่องเที่ยวกลางคืนกับไฟสลัวรางกับเสียงเพลงกระหึ่ม เป็นไมอามีแห่งอุษาคเนย์ที่อ้าแขนโอบรับผู้คนอยู่ตลอดเวลาในนามของ ‘อเมริกันทาวน์’

“พวกทหารเขาเมาแล้วสนุกมาก เต้นกัน แจกทิป ถ้าลองเขาสนุกแล้วเขาสนุกมากนะคะ โดยเฉพาะทหารผิวดำ เราคิดว่าทหารผิวดำเป็นคนน่ารักและใจดีมากเลย กับผู้หญิงเราๆ ทหารบางคนเขาก็มองว่าเราทำงานบาร์ อย่างนั้นอย่างนี้ตามประสา แต่คนผิวดำนี่เขาดูแลเราดีเสมอเลย เช่น เวลาเราเมาก็ไปซื้อผ้าเย็น สั่งอาหาร สั่งพิซซ่ามาให้เรากิน ให้เราหายเมา” เธอยิ้ม พราวระยับตรงหางตาชวนนึกถึงช่วงวัยเมื่อสักสิบปีก่อนของเจ้าตัว

“พวกทหารที่เมาเละก็มีนะคะ นอนนี่เลย” ชี้ไปที่โซฟาโล่งหน้าร้าน “เราก็ดูแล เอาถังอ้วก ผ้าเย็นมาเช็ดดูแล ดูแลกระเป๋าสตางค์ให้เขา ไม่มีหรอกนะที่ของจะหาย ไม่อย่างนั้นก็โทรศัพท์ตามเพื่อนเขาให้มารับกลับไป เพราะทหารอเมริกันนี่นะ ถ้าลูกน้องเขาเมา เขาจะเอากลับไปเลย ไม่ให้มานอนระเกะระกะ เขาจะมีคนของเขาเดินมาตรวจ ถ้าเมามากเขาก็หิ้วกลับ แล้ววันรุ่งขึ้นหากเขาขึ้นจากเรือเขาก็มาหาอีก เอาผลไม้ในเรือ หมวกหรือเสื้อ ไม่ก็ไฟแช็ก ซิปโป้ของทหารเรือน่ะค่ะ เอามาให้เราเป็นกล่องเลย”

ความสัมพันธ์ ความสนิทสนมและความไว้วางใจจากทหารอเมริกันนั้นกลายออกมาเป็นรูปธรรมอย่างที่เธอเล่า กะกันคร่าวๆ ว่านับตั้งแต่เปิดร้านมา B.J.3 Bar น่าจะได้รับของฝากจากทหารจีไอร่วมร้อยชิ้น กระจัดกระจายอยู่ในบ้านเรือนและห้วงความทรงจำของเจ้าของร้านกับพนักงาน

“แล้วหมวกนายทหารนี่ร้านเรามีเป็นร้อยลูกเลย หมวกเขาก็แบ่งเป็นระดับ ถ้ายศใหญ่หน่อยเขาจะติดช่อสีเหลืองๆ ตรงหมวก มีหมายเลขระบุ แต่ถ้านายทหารทั่วไปก็เขียนชื่อเรือแค่นั้น”

และแม้เมื่อสงครามปิดฉากแนบสนิท ทหารทยอยกลับบ้าน หากแต่พัทยาก็ดำรงอยู่และเติบโตในฐานะเมืองท่องเที่ยวแบบครบวงจร มันไม่หลับใหล ยามเช้าเมื่อวอล์กกิง สตรีตง่วงงุน จืดชืดด้วยห่างหายจากไฟนีออนและเสียงเพลง หาดจอมเทียนก็คึกคักด้วยแดดจ้าและเตียงร่ม

ไม่เกินเลยหากจะบอกว่า พัทยาในนามของเมืองท่องเที่ยว -อเมริกันทาวน์ พื้นที่หยาบช้าในสายตาผู้แสวงหาศีลธรรม และสรวงสรรค์ของคนผู้โหยหารสชาติฉูดฉาดให้ชีวิต- คือมรดกตกทอดจากกองทัพอเมริกันในยุคสงครามเวียดนาม

หากแต่สิ่งเลื่องชื่อที่สงครามคายไว้ให้ไม่ได้มีแค่เหล้า บาร์และแสงไฟจัดจ้ายามค่ำเท่านั้น มันยังหมายถึงเรื่องเล่าของโชว์ลึกลับในวอล์กกิง สตรีต

นิทานปรัมปราที่เคยได้ยินมาแต่หู ไม่เคยได้ใช้ตาเนื้อดูสักที

3

เราเดินตาม ‘น้า’ คนหนึ่งไป ถึงตอนนั้นวอล์กกิง สตรีตก็ตื่นเต็มตาแล้วในช่วงกลางดึก โลดโผนคึกคักและบ้าบิ่นของชีวิตปรากฏตัวให้เห็นตั้งแต่ฟ้ามืด มือของน้าแปลกหน้าชูขึ้นเหนือหัวเหมือนธงให้เดินตาม

ทั้งหมดเริ่มต้นด้วยคำถามเดียวของน้าว่า อยากดูโชว์ไหม

คนมันว่าง่าย ความอยากรู้อยากเห็นทำงานไว ความรู้สึกเหมือนเด็กๆ ช่วงปิดเทอมฤดูร้อนแล้วออกผจญภัยกับเพื่อนด้วยการตะลุยเข้าบ้านร้างหลังน้อย

โชว์ในพัทยา ได้ยินมาแต่หู ไม่รับรู้ว่าหน้าตามันเป็นแบบไหน คลับคล้ายคลับคลาว่าเป็น ‘อเมริกันฝันหวาน’ ของทหารหนุ่มจีไอ

“นายทหารเขาอยากไปดูโชว์กัน” ณัฐรินทร์ยิ้มตอนถูกถามว่าสมัยทำงานกับกองทัพอเมริกานั้นเคยถูกอีกฝ่ายร้องขอให้พาไปเที่ยวไปชมที่ไหนบ้าง “มัน amazing จริงๆ นะ ด้านหนึ่งมันเป็นเหมือนกลบางอย่างน่ะ คนเขาก็อยากมาดูกัน

“ภาพจำของทหารอเมริกันสำหรับพัทยา เขาไม่ได้จำเรื่อง sex workers หรืออะไร ทั้งที่เขาก็รู้นะว่ามี แต่ภาพจำสำหรับพวกเขาคือพัทยาเป็นพื้นที่สำหรับดื่มกินกับพวกโชว์เหล่านี้”

มีบันทึกถึง ‘โชว์’ สั้นๆ ว่าถือกำเนิดขึ้นในทศวรรษ 1970s และปรากฏใน Emanuelle in Bangkok (1976) หนังอื้อฉาวสัญชาติอิตาลีกับฉาก ‘เริงรัก’ ที่เห็นแล้วร้อนวาบเหมือนลวกลูกตาด้วยมาร์ตินี

แต่พูดก็พูด ทุกฉากของ Emanuelle in Bangkok จืดสนิทเมื่อเทียบกับสิ่งที่เราได้เห็นด้วยตาเนื้อในห้องเล็กๆ ขนาดไม่กี่ตารางวา นั่งสบตาคนจากอีกฝั่งหนึ่งถนัดถนี่ -ไม่ต้องพูดถึงสิ่งที่อยู่บนเวทีซึ่งอยู่ใกล้ลูกตามากกว่านั้น กลิ่นน้ำหอม กลิ่นบุหรี่อวลอยู่ในลมหายใจ

สั่งเบียร์กันมาคนละแก้ว เพื่อจะพบว่าแทบไม่พร่อง

จะติดธุระ จะมีงานเช้าหรือกระทั่งต้องไปเข้าเฝ้าพระเจ้าในนรก ใครที่ไหนจะไม่ยอมดวดเบียร์ให้หมดแก้วก่อนกลับ เว้นเสียว่าในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ที่ลูกกระเดือก-ผนังคอไม่ยอมทำงาน

จากหางตา ฝรั่งคนหนึ่งยกมือทำเครื่องหมายกางเขน ระลึกถึงพระบิดา พระบุตร พระจิตในแบบที่นักมายากลระดับโลกอาจยังไม่เคยทำให้ใครสักคนสะท้านไปถึงจิตวิญญาณได้ขนาดนั้น -แต่นั่นคือพลังของโชว์ที่ว่า นิทานปรัมปราลึกลับที่ได้ยินมาแต่ไหนแต่ไร ปรากฏอยู่ตรงหน้าพร้อมโหยหวนของเพลง Always Somewhere วง Scorpions กับบุหรี่ที่ไม่ได้พ่นควันจากปากหรือจมูก

คนคิดบุหรี่เป็นคนแรกของมนุษยชาติ อาจยังไม่เคยจินตนาการไปถึงว่า มนุษย์เราใช้อวัยวะอื่นใดนอกจากที่อยู่บนใบหน้าสูบบุหรี่ได้ด้วย

ชวนมหัศจรรย์ แต่ก็ห่างไกลจากคำว่าบันเทิง

นึกไปถึงขวบปีแรกๆ ที่โชว์ลักษณะนี้ถือกำเนิด ทหารอเมริกันกับสภาพหัวจิตหัวใจแตกสลายจากสงคราม เลือด เนื้อ เขม่าปืนกัดกร่อนไปไกลกว่ากายเนื้อ ความบันเทิงที่วาดหวังไว้เพื่อสมานแผลในจิตวิญญาณอาจไกลกว่าที่เราจะจินตนาการได้

มีคำอธิบายมากมายว่าเหตุใดทหารจากสงครามเวียดนามจึงเผชิญกับสภาวะแหลกสลายหนักหน่วงกว่าทหารในสมรภูมิอื่น หนึ่งในเงื่อนไขหลักๆ คือมันเป็นสงครามที่ก่อกำเนิดขึ้นในห้วงยามที่สิทธิมนุษยชนกำลังเป็นที่พูดถึงในสหรัฐฯ รวมถึงโลกตะวันตก รับด้วยกระแสต่อต้านสงครามและวลี Make love, not war อันโด่งดัง หนุ่มน้อยเหล่านั้นจึงไม่เคยเป็นวีรบุรุษทั้งในสายตาสังคมและอาจจะในสายตาของตัวเอง

ประการที่สอง พวกเขาถูกส่งไปรบในสมรภูมิอื่น ภาษาฟุตบอลอาจจะเรียกว่าทีมเยือน แวดล้อมด้วยการจู่โจมแบบกองโจรของเวียดกง ลงพื้นที่ป่าดิบชื้นไม่คุ้นเคย อากาศ น้ำดื่ม ประกายตาของคนแปลกหน้า เผลอกะพริบผิดจังหวะตาวูบถือว่าเดิมพันด้วยความเป็นความตาย

หลับนอนกับสภาพแบบนี้แรมเดือน หัวใจใครจะทานทนไหว หากไม่แหลกสลายไปก่อนก็อาจกลายเป็นอะไรสักอย่าง

เครียดเขม็ง ขมขื่น เศร้าสร้อยและพังทลาย วาดหวังสิ่งใดเยียวยาจิตใจในห้วงยามเหล่านั้น ใช่ไหมว่าเป็นสิ่งประหลาดไกลโพ้นจากสำนึกเคยชิน

โชว์ที่ก่อกำเนิดจากขวบปีเหล่านั้นจึงชวนมหัศจรรย์ แต่ก็ห่างไกลจากคำว่าบันเทิง

บาร์เปิดเพลง There You’ll Be ของ เฟธ ฮิลล์ ส่งท้ายแขก ภาพสุดท้ายที่เห็นคือเท้าเปลือยของหล่อนบนพื้นเวทีเปียกชื้นด้วยสารพัดน้ำจากสารพัดแหล่งที่มา เราไม่ได้สบตากัน อันที่จริง หากไม่นับลูกค้าในห้องนี้ ก็เป็นไปได้ว่าไม่ได้สบตากับใครเลยทั้งสิ้น

เราจึงได้แค่สบตากับตัวเองในหัวเท่านั้น

4

ฟ้าฝนพัทยายังครึ้มแม้ในวันกลับ เหมือนนาทีแรกที่มาเยือน

นอนหมดแรงกันอยู่ในรถ พลขับมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ เปิดเพลงอีสานคุ้นหู ทิ้ง ‘อเมริกันทาวน์’ ไว้ข้างหลัง เมืองที่เติบโตและงอกงามขึ้นภายหลังจากที่สหรัฐฯ ส่งนายทหารหนุ่มเข้ามาประจำการ พร้อมยกพลเข้าเวียดนาม ต่อสู้กับเหล่าเวียดกง

พัทยาจึงกลายเป็นเมืองที่ผูกพันกับทหารอเมริกันอย่างลึกซึ้ง ตราตรึงบางความทรงจำให้แก่เด็กหนุ่มห่างบ้าน เหล้า ปืน ผู้หญิง -เลือกจดจำตามใจชอบ หากว่าเลือกได้ และยิ่งกับบางคน จากพัทยาไปแล้วยังหวนกลับมาอีก บางบาร์แทบจะกลายเป็นครอบครัวเดียวกัน ฝากฝังโล่ หมวกและเครื่องแบบทหารไว้ให้เป็นที่ระลึก

อุตสาหกรรมของทั้งเมือง -อันหมายถึงโชว์ในบางรูปแบบ- จึงเป็นมรดกที่แยกจากกันไม่ขาดระหว่างพัทยากับสหรัฐฯ และเช่นเดียวกับสงคราม กับความสัมพันธ์ทางการเมืองในรูปแบบอื่นๆ มันได้เปลี่ยนโฉมหน้า เปลี่ยนชีวิตของผู้คนในละแวกนั้นจนหมดสิ้น งอกงามเส้นทางชีวิตใหม่ๆ อย่างที่หลายคนอาจไม่เคยจินตนาการถึง พร้อมกันกับความดำมืดบางอย่างอันยากจะมองเปล่าด้วยตาเนื้อ แต่ทั้งหมดทั้งมวลมันคือรูปธรรมของสงครามเวียดนามที่รัฐบาลอเมริกันสร้างไว้ ในยุคในสมัยหนึ่งก่อนหน้าการมาถึงของความเปลี่ยนแปลง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save