fbpx

การเมืองเยอรมนีหลัง Merkelism กับ จันจิรา สมบัติพูนศิริ

อังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) นายกรัฐมนตรีหญิงแห่งเยอรมนี ได้อำลาตำแหน่งอย่างเป็นทางการ (และตลอดกาล) ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 กันยายน 2021 หลังจากครองเก้าอี้นายกรัฐมนตรีต่อเนื่อง 4 วาระ เป็นเวลายาวนานถึง 16 ปี 

นับตั้งแต่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2005 แมร์เคิลผ่านวิกฤตใหญ่ระดับโลกมาหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตซับไพรม์โลกและวิกฤตยูโรโซนปี 2008-2009 ต่อด้วยวิกฤตผู้ลี้ภัยปี 2015 วิกฤตเสรีประชาธิปไตย และวิกฤตสหภาพยุโรปในปี 2016 กระนั้นวิถีทางแบบแมร์เคิล (Merkelism) ก็สามารถนำเยอรมนีผ่านวิกฤตเหล่านี้ได้อย่างมีเสถียรภาพ

ด้วยสถานะของเยอรมนีบนเวทีโลก สื่อตะวันตกถึงกับยกย่องให้แมร์เคิลให้เป็น ‘ราชีนีแห่งยุโรป’ (Queen of Europe) หรือกระทั่งเป็น ‘ผู้นำโลกเสรี’ (Leader of the Free World) ในวันที่สหรัฐอเมริกาถดถอย การลงจากตำแหน่งของแมร์เคิลจึงส่งผลต่อทั้งการเมืองเยอรมนี การเมืองยุโรป และการเมืองโลกอย่างปฏิเสธไม่ได้

101 ชวน ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ นักวิจัยประจำสถาบัน German Institute of Global and Area Studies (GIGA) และสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาวิเคราะห์การเมืองเยอรมนีและการเมืองโลกในยุคหลัง Merkelism 

:: การพลิกกลับสู่ชัยชนะของพรรค SPD ::

พรรคที่คะแนนนำอย่าง SPD (พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมนี) เมื่อต้นปีที่ผ่านมามีคะแนนดิ่งเหวที่สุด ทุกคนก็ปรามาสไว้ว่าตกกระป๋องแน่ ไม่น่าจะได้เป็นพรรครัฐบาล คะแนนเสียงที่ดิ่งลงเหวของ SPD เป็นกระแสมาเรื่อยๆ ตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งที่แล้วในปี 2017 พรรค SPD เกือบจะไม่ร่วมเป็นรัฐบาล เพราะหากร่วมอีกครั้ง คนเริ่มแยกไม่ออกแล้วว่าอะไรคือพรรคซ้ายกลาง SPD และอะไรคือพรรคขวากลาง CDU (พรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียนแห่งเยอรมนี) และคนก็มักจะเทโหวตไปที่พรรคขวากลาง เพราะเชื่อมั่นในตัวอังเกลา แมร์เคิล ตั้งแต่จุดนั้นเป็นต้นมา พรรค SPD ก็ระหองระแหง

ภายในพรรค SPD มีทั้งปีกที่เป็นฝ่ายสังคมนิยม เล่นประเด็นทางเศรษฐกิจ สนับสนุนเรื่องการจัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำหรือรัฐสวัสดิการ และปีกการเมืองอัตลักษณ์ ที่เล่นเรื่องสิทธิผู้ลี้ภัย การกีดกันคนต่างเชื้อชาติในเยอรมนี ทั้งสองปีกทะเลาะกันและตกลงกันไม่ได้ว่าพรรคควรจะชูประเด็นไหน จนกระทั่งเมื่อปี 2018-2019 มีการคุยกันในพรรคเพื่อสร้างเอกภาพ

เอกภาพเกิดขึ้นจากการทะเลาะกันในพรรค นำมาสู่การเชือดเฉือนกันด้วยการตั้งแกนนำพรรคใหม่ สุดท้ายพรรคสามารถสร้างเอกภาพได้ด้วยการบอกกับประชาชนว่า นโยบายหลักของพรรคคือการให้ความเคารพคนทุกคนไม่ว่าจะเป็นชนชั้นแรงงาน ชนชั้นกลาง คนมุสลิม LGBTQ คุณจะนับถือศาสนาใด สีผิวใด ทุกคนสมควรที่จะมีชีวิตและอนาคตที่ดี โดยพรรคเริ่มพูดถึงบทบาทในการทำให้เยอรมนีพัฒนาไปมากกว่านี้  เป็นการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ต่อประชาชนว่า พรรคสนใจประเด็นทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็ไม่ละทิ้งประเด็นอัตลักษณ์ เอกภาพครั้งนี้ทำให้คะแนนเสียงที่เคยอยู่กับพรรค CDU ขยับมาที่ SPD

SPD เป็นพรรคฝ่ายซ้ายและพรรคที่เก่าแก่ที่สุดในเยอรมนี แต่ในช่วงประมาณ 50-60 ปีได้ละทิ้งความเป็นซ้ายไป เพราะฉะนั้นคะแนนเสียงที่หายไปคือคนที่เคยโหวตให้พรรคฝ่ายซ้าย ที่ไปโหวตให้กับพรรคฝ่ายขวาสุดโต่งอย่าง AfD (พรรคทางเลือกเพื่อเยอรมนี) แทน ด้วยนโยบายเศรษฐกิจที่สัญญาว่าจะเอาประเทศเยอรมนีกลับมาสู่คนเยอรมัน และสร้างความเท่าเทียมกัน แต่เมื่อ SPD สร้างเอกภาพในพรรคได้แล้ว กลุ่มคะแนนเสียงดังกล่าวก็กลับคืนสู่ SPD

ขณะเดียวกัน ผู้สมัครนายกรัฐมนตรีของพรรค SPD คือ โอลาฟ ชอลซ์ ก็เป็นคนที่ลงร่องกับ อังเกลา แมร์เคิล เป็นอย่างดี ชอลซ์เคยทำงานในรัฐบาล เป็นคนที่มีบุคลิกลุ่มลึก ตัดสินใจอะไรได้เด็ดขาด และเป็นคนที่ค่อนข้างมั่นคง คนจึงเห็นชอลซ์ในฐานะสะพานที่จะจูงมือคนเยอรมันท่ามกลางวิกฤตต่างๆ ไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ ขณะเดียวกันก็ยังเป็นสัญลักษณ์ของความมั่นคงในการเปลี่ยนแปลง ฉะนั้นเสียงจากพรรค CDU จึงย้ายมาที่พรรค SPD จำนวนมาก

:: การเมืองแบบก้าวหน้าและไม่ทิ้งคนที่กลัวการเปลี่ยนแปลง ::

พรรค SPD โอบกอดความย้อนแย้งของโลกหลายอย่าง บอกว่าอยากให้ประเทศเปลี่ยนแปลง แต่ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงนี้ก็ต้องมีสเถียรภาพ พรรคจึงโอบกอดความย้อนแย้งว่าจะทำอย่างไรให้คนรุ่นเก่าที่กลัวการเปลี่ยนแปลงพร้อมเดินทางไปด้วยกัน ขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่ก็เห็นพรรคเป็นสัญลักษณ์ของอนาคต

ประเด็นนี้หากจะสะท้อนกลับไปที่ประเทศไทยก็คือ หนึ่ง พรรคการเมืองที่เข้มแข็ง เมื่อถึงจุดตกต่ำจะพร้อมปรับตัว ระบบพรรคที่สามารถสร้างเอกภาพได้มันเวิร์ก

สอง ประชาธิปไตยก็มีด้านมืด มันเคยให้กำเนิดพรรคฝ่ายขวาสุดโต่งมาแล้ว แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่เคยเลือกพรรคขวาจัดจะสมาทานอุดมการณ์ขวาจัด มันให้ความหวังว่าจริงๆ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขึ้นอยู่กับว่าพรรคก้าวหน้าต่างๆ สามารถขายฝัน-ขายนโยบายให้กับคนที่กลัวการเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ ไม่ใช่ขายกับคนที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลง

:: ภูมิทัศน์สังคมประชาธิปไตยในยุโรป ::

มองเยอรมนีต้องมองให้เห็นการกลับมาของวิธีคิดแบบสังคมประชาธิปไตยในโลกตะวันตก คือสังคมประชาธิปไตยในฐานะอุดมการณ์มันตกต่ำไปเรื่อยๆ เช่น ในอังกฤษมีปัญหาว่าพรรคแรงงานกลับมาไม่ได้อีกเลย แต่ขณะเดียวกัน เราก็เริ่มเห็นการกลับมาของพรรคซ้ายกลางในเดนมาร์ก หรือกระทั่งในสหรัฐอเมริกา ถึงแม้ไบเดนจะเป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครต แต่เราจะเห็นนโยบายที่เน้นเรื่องการสร้างงาน สร้างสวัสดิการ สร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้กับคน มีจุดยืน Green New Deal ที่สะท้อนวิธีคิดแบบสังคมประชาธิปไตย

บริบทโลกหลังวิกฤตการเงินในช่วงปี 2008-2010 ในยุโรปและอเมริกา จะเห็นสังคมที่ฉีกแบ่งคนออกเป็น ‘คนที่มี’ และ ‘คนที่ไม่มี’ ความเหลื่อมล้ำกลายเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลกและวิกฤตเศรษฐกิจก็ยิ่งสะท้อนความลึกซึ้งของปัญหา เพราะฉะนั้นรัฐบาลที่เคยบอกว่าฉันเป็นกลาง ก็เลยเริ่มที่จะยืนยันจุดยืนที่จะต่อสู้เพื่อประชาชนมากขึ้น

พรรค SPD เป็นตัวแทนของกระแสการเมืองที่กลับมาเพื่อบอกว่า พรรคการเมืองเป็นตัวแทนของประชาชน ไม่ใช่ตัวแทนของชนชั้นนำ ดิฉันคิดว่าอย่างน้อยในโลกตะวันตก เราจะเห็นการกลับขึ้นมาของพรรคก้าวหน้ามากขึ้น เช่น ในสเปน ทั้งพรรคซ้ายกลางและซ้ายจัดต่างเป็นรัฐบาล

ถามว่าอนาคตภายในมือของพรรคซ้ายกลางจะเป็นอย่างไร ดิฉันคิดว่าเราจะเห็นการอุดรอยรั่วของวิกฤตต่างๆ ในยุโรปที่ยั่งยืนมากขึ้น ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ปัญหาการกีดกันเชื้อชาติ สีผิว และศาสนาก็จะได้รับการพูดถึงมากขึ้น ขณะเดียวกันพรรคซ้ายกลางเหล่านี้ก็ไม่ได้ทอดทิ้งคนอนุรักษนิยมเสียทีเดียว เราจะเห็นความพยายามประคับประคองโลกใบเก่าและใบใหม่ไว้อย่างน่าสนใจ

:: มรดกและการเมืองโลกหลัง Merkelism​ ::

ภาพลักษณ์ของแมร์เคิลในสายตาผู้นำและคนในโลกต่างทวีปแตกต่างกันราวกับเป็นคนละคน ในสายตาอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของกรีซที่เคยต้องดีลกับแมร์เคิลในช่วงวิกฤตการเงินยูโร บอกว่าแมร์เคิลเป็นผู้จัดการที่ดี แต่เป็นผู้นำที่แย่ ไม่มีวิสัยทัศน์ หลายคนในเยอรมนีที่เป็นฝ่ายก้าวหน้าก็รู้สึกว่าแมร์เคิลเป็นเช่นนี้ คือเป็นคนที่สามารถจัดการวิกฤตได้ สามารถเจรจาผลประโยชน์กับกลุ่มต่างๆ ทั้งภายในพรรคตัวเองและในพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งยังเป็นสะพานระหว่างผู้นำโลกที่ทะเลาะเบาะแว้งกัน แต่มองว่าแมร์เคิลไม่มีวิสัยทัศน์สำหรับเยอรมนีในอนาคต

ขณะเดียวกันในการเมืองโลก ถ้าไปถาม จอร์จ ดับเบิลยู. บุช อดีตประธานาธิบดีแห่งสหรัฐ เขาก็จะชอบแมร์เคิลมาก เพราะแมร์เคิลเป็นคนที่พร้อมประนีประนอม แต่ก็มีจุดยืน และเนื่องจากแมร์เคิลโตมาในโลกคอมมิวนิสต์ในเยอรมนีตะวันออก จึงเป็นคนที่ปกป้องคุณค่าเรื่องประชาธิปไตย เรื่องสิทธิมนุษยชน ในสายตาพันธมิตรโลกตะวันตกหลายคนก็เห็นว่าแมร์เคิลเป็นพันธมิตรที่สำคัญ ที่จะปกป้องระเบียบโลกที่มีชาติตะวันตกเป็นแกนนำ

การเมืองหลัง Merkelism ดิฉันคิดว่าเราจะเห็นเยอรมนีที่มีวิสัยทัศน์ในอนาคตมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ความสนใจที่จะปกป้องค่านิยมต่างๆ อาจจะเปลี่ยนไป เนื่องจากบริบทในการเมืองโลกเปลี่ยนไป ดิฉันคิดว่าเยอรมนีไม่อยากจะถูกแบ่งขั้วความขัดแย้งดังเช่นจีนและสหรัฐอเมริกา เยอรมนีในฐานะแกนนำยุโรปไม่อยากให้ยุโรปต้องเลือกข้าง เพราะฉะนั้นหลายประเด็นที่จะต้องพูดประณามประเทศจีน เช่น เรื่องประชาธิปไตย เรื่องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะคนกลุ่มน้อย เยอรมนีก็อาจจะมีท่าทีแบบเทาๆ ไม่เป็นขาวดำมากขึ้น

:: Climate Election หรือนโยบายสิ่งแวดล้อมคือโจทย์อนาคต? ::

เรื่องนโยบายสิ่งแวดล้อม ถ้าไปถามคนรุ่นใหม่เจเนอเรชัน Z คนเหล่านี้โตมาในภาวะที่ทั้งชีวิตของเขาเห็นแต่ภัยธรรมชาติ เห็นแต่ปัญหาโลกร้อน แล้วเขาก็กังวลกับอนาคต เพราะเขาต้องใช้ชีวิตที่เหลือกับโลกที่เต็มไปด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อม คะแนนเสียงของพรรคกรีนก็ปนกันระหว่างคนรุ่นใหม่ และคนที่อยู่ในเมืองและก้าวหน้าหน่อย

เพราะฉะนั้นในประเด็นสิ่งแวดล้อม เรื่องเจเนอเรชันก็มีส่วน และจริงๆ ก็มีความขัดแย้งกันเรื่องเจเนอเรชันอยู่เรื่อยๆ คือเยอรมนีเป็นสังคมผู้สูงวัย คนที่มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมากเป็นคนที่อายุมากกว่า 50 ปี เพราะฉะนั้นคนที่เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก (First Voter) ก็จะรู้สึกว่า ทำไมคนรุ่นเก่าที่มีเสียงมากกว่าเราถึงเอาอะเจนดาของตัวเองมาครอบ และสุดท้ายเสียงข้างมากก็ได้เป็นรัฐบาล เขารู้สึกว่าทำไมคนรุ่นเก่าที่มีอนาคตเหลือไม่เยอะเท่าเขา ถึงมีสิทธิเลือกรัฐบาลที่จะสร้างนโยบายและมรดกที่จะกระทบชีวิตของพวกเขา

ถ้าเป็นการเลือกตั้งที่เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม คนรุ่นใหม่ทั้งหมดก็คงเลือกพรรคกรีน แต่สุดท้ายพรรคกรีนเป็นพรรคที่มีโปรไฟล์แบบคนเมือง มีภาพลักษณ์ของคนมีฐานะที่จะสามารถยอมซัพพอร์ตนโยบายรักสิ่งแวดล้อม เช่น การไม่ใช้รถ การลดก๊าซคาร์บอน ดังนั้นมันจึงมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้พรรคกรีนได้คะแนนสูงขึ้น แต่ก็ไม่ได้สูงถึงขนาดจะเป็นประเด็นหลักของประเทศ

ขณะเดียวกัน พรรคกรีนก็เป็นพรรคที่เกิดมาจากขบวนการเคลื่อนไหวของสังคม การเดินทางของพรรคกรีนจะเห็นสิ่งที่นักรัฐศาสตร์เรียกว่า party institutionalization หรือการสร้างพรรคการเมืองให้เป็นสถาบัน การที่พรรคกรีนขึ้นมามีคะแนนเสียงมากขึ้น นอกจากสะท้อนให้เห็นว่าคนสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นแล้ว ขณะเดียวกันถ้าพรรคไม่ได้มีความเป็นสถาบัน ไม่สามารถพัฒนานโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของคนได้ ก็คงจะไม่ได้อยู่มาจนทุกวันนี้และได้คะแนนเสียงมากขึ้นขนาดนี้ ตอนนี้คนที่ควรกังวลคือพรรคซ้ายกลางอย่าง SPD ว่าพรรคกรีนจะมีคะแนนนิยมเฉียดฉิว และสามารถเป็นคู่แข่งในฝั่งฝ่ายซ้ายได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม พรรคกรีนน่าจะต้องปรับภาพลักษณ์ค่อนข้างมาก คะแนนเสียงส่วนใหญ่ของพรรคกรีนอยู่ในพื้นที่เมือง ถ้าพรรคกรีนจะขยายฐานเสียง ต้องทำให้คนที่อยู่นอกเมืองที่ไม่ใช่คนรุ่นใหม่ หรือทำให้คนอนุรักษนิยมเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมให้ได้

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save