fbpx
อิสลามกับการเมืองในอินโดนีเซีย

อิสลามกับการเมืองในอินโดนีเซีย

อรอนงค์ ทิพย์พิมล เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ศาสนากับการเมืองแยกออกจากกันได้หรือไม่? ศาสนาสัมพันธ์กับการเมืองอย่างไร? ดูเหมือนประเด็นนี้กำลังเป็นประเด็นร้อนที่เป็นที่ถกเถียงในบ้านเรา เมื่อพระสงฆ์และสามเณรออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองและเรียกร้องประชาธิปไตยร่วมกับนักศึกษาและประชาชน ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ครั้งแรกที่คณะสงฆ์ไทยออกมามีท่าที แสดงจุดยืน หรือเกี่ยวข้องกับการเมือง เฉกเช่นเดียวกับหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ศาสนามีบทบาทสำคัญกับการเมือง เช่น ในพม่าและอินโดนีเซีย เป็นต้น ในโอกาสนี้จะขอกล่าวถึงศาสนาอิสลามกับการเมืองในอินโดนีเซีย

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก แต่ไม่ได้เป็นรัฐอิสลามที่มีรูปแบบรัฐเป็นรัฐศาสนาหรือใช้กฎหมายอิสลามในการบริหารและปกครองประเทศ และไม่ได้ประกาศให้ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ไม่ได้หมายความว่าศาสนาอิสลามไม่มีบทบาทในสังคมและการเมืองอินโดนีเซีย ในทางตรงกันข้าม อิสลามมีบทบาทสำคัญในดินแดนอิเหนานับตั้งแต่ลงหลักปักฐานในดินแดนหมู่เกาะอินโดนีเซีย

ศาสนาอิสลามเข้าสู่หมู่เกาะอินโดนีเซียที่แรกที่บริเวณอาณาจักรปาไซ เกาะสุมาตรา ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่เขตปกครองพิเศษอาเจะห์ จังหวัดหนึ่งเดียวในประเทศที่มีการใช้กฎหมายอิสลามอย่างเป็นทางการ แต่ยังเป็นการใช้เพียงบางมาตรา ไม่ได้ครอบคลุมทุกด้านของวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชน หลังจากปักหลักที่ปาไซแล้ว อิสลามก็ถูกเผยแผ่ไปยังดินแดนอาณาจักรต่างๆ ในเกาะชวา และเกาะอื่นๆ เมืองที่หันมารับนับถืออิสลามก่อนใครมักจะเป็นเมืองท่าที่ทำการค้าขายกับดินแดนต่างๆ อย่างไรก็ดี แม้เมื่อรัฐต่างๆ เปลี่ยนมานับถืออิสลามแล้ว แต่ความเชื่อดั้งเดิมหรือศาสนาพุทธและฮินดูที่ดำรงอยู่มาก่อนก็ไม่ได้ถูกทำลายทิ้งลงไป หากมีการผสมผสานปรับให้เข้ากันและอยู่ร่วมกันได้ มีหลักฐานยืนยันว่ามีการใช้กฎหมายอิสลามผสมผสานกับกฎหมายจารีต (Adat law) ของแต่ละพื้นที่ กล่าวได้ว่าในขณะที่เจ้าผู้ปกครองมีอำนาจในการกุมอำนาจในการปกครอง ผู้นำศาสนาอิสลามก็กุมอำนาจในเรื่องการด้านศาสนา การศึกษาศาสนา รวมถึงอำนาจในการตัดสินคดีในศาลศาสนาอิสลาม ถือเป็นสองขั้วอำนาจที่สนับสนุนและพึ่งพิงกันและกัน

 

อิสลามกับการต่อต้านอาณานิคมดัตช์

 

เมื่ออิทธิพลของลัทธิล่าอาณานิคมมาถึงดินแดนบริเวณหมู่เกาะอินโดนีเซีย โดยเนเธอร์แลนด์หรือดัตช์เป็นชาติที่ประสบความสำเร็จในการยึดครองดินแดนส่วนต่างๆ ของหมู่เกาะอินโดนีเซียเป็นอาณานิคม ในช่วงเวลานั้นศาสนาอิสลามได้ตั้งมั่นแล้ว ผู้นำศาสนาอิสลามเป็นพลังสำคัญในการต่อต้านเจ้าอาณานิคม ทำหน้าที่แทนเจ้าผู้ปกครองดั้งเดิมที่ทำหน้าที่ในการต่อต้านไม่ได้ หรือในบางกรณีก็ยอมสวามิภักดิ์กับเจ้าอาณานิคมเพื่อความอยู่รอดปลอดภัยหรือผลประโยชน์ที่มีการตกลงกัน และด้วยบทบาทในการนำการต่อต้านชาวดัตช์ทำให้ในหลายพื้นที่ เจ้าอาณานิคมดัตช์ลดอำนาจและบทบาทของผู้นำศาสนาอิสลามโดยออกกฎหมายยกเลิกการใช้กฎหมายอิสลามแล้วแทนที่ด้วยกฎหมายของอาณานิคม ยกเว้นในบางพื้นที่ที่ให้คงการใช้กฎหมายอิสลามต่อไปโดยขึ้นกับสุลต่านของรัฐนั้นๆ ที่ยอมอยู่ภายใต้อำนาจการควบคุมของดัตช์

ในยุคอาณานิคมได้มีการก่อตั้งองค์กรศาสนาอิสลามที่สำคัญ บางองค์กรยังคงดำรงอยู่และมีบทบาทสำคัญจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ ซาเรกัต อิสลาม (Sarekat Islam) ก่อตั้งในปี 1911 มูฮัมมัดดียะฮ์ (Muhammadiyah) ปี 1912 และ นาฮ์ดาตุล อูลามา (Nahdlatul Ulama) ปี 1926 องค์กรมูฮัมมัดียะฮ์และนาฮ์ดาตุล อูลามายังคงเป็นองค์กรมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับหนึ่งและสองของประเทศ โดยองค์กรมูฮัมมัดดียะฮ์เป็นองค์กรของมุสลิมสายปฏิรูปหรือแบบสมัยใหม่นิกายซุนหนี่ ในขณะที่องค์กรนาฮ์ดาตุล อูลามาเป็นองค์กรมุสลิมสายจารีตนิกายซุนหนี่ อย่างไรก็ตาม การแบ่งนี้เป็นเพียงการแบ่งแบบกว้างๆ ในปัจจุบันการนิยามมุสลิมในอินโดนีเซียมีความซับซ้อนและไม่ตรงไปตรงมาแบบนี้

ความแข็งขันขององค์กรอิสลามนี่เองที่ทำให้อิสลามเป็นหนึ่งในพลังที่คนพื้นเมืองใช้ขับเคลื่อนในการต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมในเวลาต่อมา

อิสลามกับขบวนการชาตินิยม

 

ในช่วงที่อุดมการณ์แนวคิดชาตินิยมก่อตัวขึ้น นอกจากแนวคิดชาตินิยมและคอมมิวนิสต์ซึ่งมีอิทธิพลอยู่ในสังคมของอินโดนีเซียและนักชาตินิยมในขณะนั้น อิสลามก็ถือเป็นหนึ่งในพลังที่มีบทบาทสำคัญเช่นเดียวกัน โดยเมื่อญี่ปุ่นรุกรานและยึดครองอินโดนีเซียช่วงปี 1942-1945 ได้ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อการเคลื่อนไหวของขบวนการชาตินิยมอินโดนีเซีย ญี่ปุ่นส่งเสริมและให้ความสำคัญกับศาสนาอิสลาม แม้ว่าเบื้องหลังคือต้องการให้ชาวพื้นเมืองสนับสนุนญี่ปุ่นในการทำสงคราม แต่ก็ส่งผลให้อิทธิพลของศาสนาอิสลามเพิ่มมากขึ้นและมีบทบาททางการเมือง หลังจากที่เคยถูกลดบทบาทในช่วงสมัยที่ดัตช์ปกครอง มีการก่อตั้งสภาอิสลามอันยิ่งใหญ่ของอินโดนีเซีย (Mejelis Islam A’la Indonesia) ในปี 1937 และ องค์กรมุสลิมแห่งชาติ (Masjumi) ในปี 1943 นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังได้ก่อตั้งกองกำลังพื้นเมืองขึ้นมากมายรวมถึงกองกำลังมุสลิม เช่น ยุวชนทหารของพระเจ้า (Hizbullah) และพลทหารพลีชีพ (Jibakutai) ในปี 1944 องค์กรต่างๆ เหล่านี้ได้มีบทบาทสำคัญในขบวนการชาตินิยมและต่อสู้เพื่อเอกราชของอินโดนีเซียในเวลาต่อมา

ช่วงก่อนหน้าญี่ปุ่นจะแพ้สงคราม ได้มีการก่อตั้งคณะกรรมการเตรียมการเพื่อเอกราชของอินโดนีเซียซึ่งประกอบด้วยคนหลายกลุ่ม ทั้งนักชาตินิยม กลุ่มคอมมิวนิสต์ และกลุ่มอิสลาม และได้มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นในวันที่ 22 มิถุนายน 1945 ในร่างรัฐธรรมนูญปี 1945 นั้นมีการระบุในตอนหนึ่งว่า “โดยให้ใช้กฎหมายอิสลามกับผู้นับถือศาสนาอิสลาม” แต่เมื่อซูการ์โนและฮัตตาได้ประกาศเอกราชของอินโดนีเซียในวันที่ 17 สิงหาคม ปีเดียวกัน วลีนี้ถูกลบออกจากรัฐธรรมนูญ นำไปสู่ความไม่พอใจของกลุ่มผู้สนับสนุนให้อินโดนีเซียเป็นรัฐอิสลาม เพราะในความคิดของพวกเรา การที่ให้มีวลีนี้เป็นการประนีประนอมของพวกเขาแล้ว

ในช่วงที่มีการถกเถียงกันอย่างดุเดือดถึงอนาคตและหน้าตาของประเทศอินโดนีเซียที่จะถือกำเนิดขึ้นมาว่าควรจะเป็นรัฐแบบไหน ซูการ์โนผู้นำนักชาตินิยมในขณะนั้นได้เสนอปัญจสีลา (Pancasila) เพื่อเป็นหลักการที่ทุกอุดมการณ์ ทุกแนวคิด ทุกศาสนาสามารถยึดถือร่วมกันได้ เขากล่าวว่าหลักปัญจสีลาไม่ได้ให้ความสำคัญแก่ศาสนาใดศาสนาหนึ่งโดยเฉพาะ เพื่อต้องการให้ทุกกลุ่มทุกศาสนาสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยที่ไม่ต้องเกรงว่าจะถูกครอบงำโดยศาสนาอิสลาม ปัญจสีลาประกอบด้วยหลัก 5 ข้อได้แก่

  1. ยึดมั่นในพระเจ้า (ตามแต่ศาสนาของตน)
  2. ยึดมั่นในหลักมนุษยนิยม
  3. ยึดมั่นในความเป็นหนึ่งเดียวของอินโดนีเซีย
  4. ยึดมั่นในประชาธิปไตย
  5. ยึดมั่นในสังคมที่ยุติธรรมสำหรับทุกคน

        

ขบวนการดารุล อิสลาม (Darul Islam) กับการเรียกร้องรัฐอิสลาม

 

ความไม่พอใจของกลุ่มที่ต้องการให้อินโดนีเซียเป็นรัฐอิสลามนำไปสู่การก่อตั้งขบวนการดารุล อิสลามในปี 1949 นำโดยการ์โตซูวีรโย (Kartosoewirjo) ที่จับอาวุธเพื่อทำการปฏิวัติและสร้างรัฐอิสลาม ขบวนการนี้ได้รับการสนับสนุนจากสุลาเวสีใต้และอาเจะห์ ขบวนการดารุล อิสลามพ่ายแพ้ในปี 1962 ผู้นำขบวนการถูกจับกุม ดำเนินคดี และตัดสินประหารชีวิตในปี 1965 ถือเป็นการสิ้นสุดขบวนการต่อสู้เพื่อตั้งรัฐอิสลาม

การนำศาสนา (อิสลาม) ออกจากการเมืองในยุคระเบียบใหม่

 

ในช่วงปลายยุคประธานาธิบดีซูการ์โน เมื่อเกิดความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองอย่างหนักจนดำเนินไปสู่ความพยายามทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 30 กันยายน 1965 มีการจับกุมนายทหารคนสำคัญและสังหารนายทหารที่ถูกจับตัวไปในเหตุการณ์ที่รู้จักกันในชื่อ ‘เกสตาปู’ (Gerakan Semtember Tigapuluh) ซึ่งในเวลาต่อมา พันตรีซูฮาร์โตผู้เข้ามาควบคุมสถานการณ์ได้กล่าวหาว่า พรรคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียเป็นผู้อยู่เบื้องหลังและต้องรับผิดชอบต่อการกระทำอันอุกอาจดังกล่าว ข้อกล่าวหานี้ขยายไปสู่การยุบพรรคคอมมิวนิสต์ จับกุมผู้นำพรรค กวาดล้างสมาชิกและผู้สนับสนุนพรรคอย่างบ้าคลั่ง จนถึงปัจจุบันไม่สามารถยืนยันจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองดังกล่าว แต่มีผู้ประเมินคร่าวๆ ว่าอยู่ที่ระหว่าง 500,000-2,000,000 คน ในช่วงเวลาแห่งการกวาดล้างนี้ ผู้นำและองค์กรศาสนาอิสลามมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการสนับสนุนนโยบายดังกล่าว ซึ่งหมายความว่าองค์กรศาสนาอิสลามเป็นกลุ่มผู้สนับสนุนหลักในการทั้งให้กำเนิดยุคระเบียบใหม่และความชอบธรรมแก่ซูฮาร์โต

แต่เมื่อผ่านพ้นช่วงเวลาฮันนีมูนแล้ว ซูฮาร์โตได้หันมากำจัดและจำกัดการเคลื่อนไหวขององค์กรศาสนาอิสลามด้วยการออกกฎหมายควบคุมพรรคการเมือง ยุบรวมพรรคการเมือง พรรคอิสลามที่เคยมีอยู่หลายพรรคให้ยุบรวมกันภายใต้พรรค Partai Persatuan Pembangunan หรือ PPP (พรรคสหพัฒนาการ) รัฐให้ความสำคัญกับปัญจสีลา ทำการปราบปรามกลุ่มอิสลามหัวรุนแรง ยุคระเบียบใหม่เน้นบทบาทและความสำคัญของกองทัพ ในขณะเดียวกันก็ลดบทบาทและความสำคัญของอิสลามที่เคยมีมาตลอดในทางการเมือง อินโดนีเซียกลายเป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก แต่มีความเป็นอิสลามน้อยที่สุดในโลกเช่นกัน มีหลายกรณีที่สะท้อนถึงคำกล่าวนี้ เช่น การห้ามนักเรียนหญิงใส่ผ้าคลุมผมไปโรงเรียน การไม่สนับสนุนการใช้สัญลักษณ์ของอิสลาม เป็นต้น การให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจและการเป็นประเทศอุตสาหกรรม และระบอบอำนาจนิยมของยุคระเบียบใหม่ไม่มีพื้นที่ให้กับอิสลามในทางการเมือง เกิดสโลแกนโดยปัญญาชนมุสลิมผู้ทำงานใกล้ชิดกับซูฮาร์โตว่า “Islam Yes, Islamic Parties No!” ซึ่งหมายความว่าอินโดนีเซียไม่ได้ปฏิเสธอิสลาม การดำรงรักษาอัตลักษณ์ แบบแผนประเพณีของอิสลามสามารถกระทำได้ แต่ไม่ใช่ในปริมณฑลทางการเมือง สภาพการณ์เช่นนี้ทำให้อิสลามกลายเป็นชายขอบทางการเมืองในยุคระเบียบใหม่ หมดบทบาททางการเมืองที่เคยมีมาตลอด

อย่างไรก็ตาม ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980 เกิดกระแสฟื้นฟูอิสลามในอินโดนีเซียขึ้น โดยมีปัจจัยทั้งจากอิทธิพลของกระแสฟื้นฟูอิสลามจากภายนอกและพลวัตภายในประเทศอินโดนีเซียเอง อิทธิพลจากภายนอกคือการปฏิวัติอิหร่านในปี 1979 และการสิ้นสุดของสงครามเย็น ที่ทำให้รัฐอินโดนีเซียต้องเปลี่ยนท่าทีต่ออิสลามในประเทศ ส่วนพลวัตภายในประเทศเริ่มต้นจากช่วงทศวรรษ 1980 เกิดกลุ่มชนชั้นกลางที่มีการศึกษาเริ่มประพฤติตามหลักคำสอนทางศาสนาอิสลามเคร่งครัดมากขึ้น มีการเคลื่อนไหวของกลุ่ม dakwah (กลุ่มเผยแพร่ศาสนาอิสลาม) ในมหาวิทยาลัยต่างๆ เริ่มมีกลุ่มมุสลิมที่ออกมาตั้งคำถามและกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางด้านศีลธรรมและสังคมจากการที่ยุคระเบียบใหม่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจนดูเหมือนละเลยด้านศาสนา

กระแสฟื้นฟูอิสลามดังกล่าวมีพลังและส่งผลต่อการตอบสนองของรัฐอินโดนีเซีย ในปี 1990 ซูฮาร์โตได้ก่อตั้งองค์กรปัญญาชนมุสลิมอินโดนีเซีย (Indonesian Muslim Intellectuals Association) ปี 1991 มีการตั้งธนาคารอิสลาม รัฐบาลอนุญาตให้นักเรียนหญิงใส่ผ้าคลุมไปโรงเรียนได้ ส่งเสริมการสร้างและบูรณะมัสยิด มีการเลื่อนตำแหน่งเจ้าหน้าที่ในกองทัพที่สนับสนุนอิสลาม และในปี 1991 ซูฮาร์โตได้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่เมืองเมกกะในวัย 70 ปี และเมื่อกลับมาแล้วก็ได้ชื่อใหม่เป็น Haji Muhammad Suharto อันเป็นเครื่องแสดงว่าได้ไปประกอบพิธีฮัจญ์มาแล้ว ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งยืนยันว่าซูฮาร์โตพยายามใกล้ชิดและเอาใจมวลชนมุสลิม

 

Conservative turn: การหันไปสู่ด้านอนุรักษนิยมของศาสนาอิสลามหลังยุคระเบียบใหม่

 

การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 1997 และการเลือกตั้งในอินโดนีเซียปีเดียวกันกับที่ซูฮาร์โตดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 7 วิกฤตดังกล่าวนำไปสู่กระแสความไม่พอใจอย่างรุนแรงของนักศึกษาและประชาชนจนกลายเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ และในที่สุด ประธานาธิบดีซูฮาร์โตได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 1998 ถือเป็นการสิ้นสุดและล่มสลายของยุคระเบียบใหม่ หนึ่งในกลุ่มที่ออกไปร่วมเคลื่อนไหวประท้วงคือกลุ่มนักศึกษามุสลิมซึ่งมีความแข็งขันในการต่อต้านซูฮาร์โต อย่างไรก็ตาม เมื่อซูฮาร์โตลาออกจากตำแหน่งและรองประธานาธิบดี บี เจ ยูซุป ฮาบีบี ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน กลุ่มนักศึกษามุสลิมไม่คัดค้านและคิดว่าควรให้โอกาสฮาบีบีในการบริหารงานก่อน เนื่องจากฮาบีบีเป็นผู้นำองค์กรมุสลิมปัญญาชนอินโดนีเซีย ซึ่งกลุ่มนักศึกษามุสลิมรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกัน

หลังยุคระเบียบใหม่ได้เกิดปรากฏการณ์ที่ดูเหมือนสังคมการเมืองอินโดนีเซียจะหันไปสู่ด้านที่เป็นอนุรักษนิยมมากขึ้น มีกลุ่มอิสลามหัวรุนแรงเกิดขึ้นจำนวนหนึ่ง เช่น กลุ่ม Front Pembela Islam (Islamic Defender Front) หรือ FPI กลุ่ม Laskar Jihad (Warriors of Jihad) กลุ่ม Mejelis Mujahideen Indonesia (Indonesian Mujahedeen Council) และกลุ่ม Hizbut Tahrir Indonesia เป็นต้น บางกลุ่มที่ก่อตั้งขึ้นนี้มีความใกล้ชิดกับกองทัพและมีความเชื่อกันว่าได้รับการสนับสนุนจากกองทัพด้วย กลุ่มต่างๆ เหล่านี้ได้แสดงท่าทีแข็งขันในการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่ออิสลามในประเด็นต่างๆ รวมถึงเรียกร้องให้การใช้กฎหมายอิสลามเป็นกฎหมายแห่งชาติของอินโดนีเซียและสถาปนารัฐอิสลามขึ้นในอินโดนีเซีย

นอกจากนี้ การปฏิรูปกฎหมายที่เกิดขึ้นหลังยุคระเบียบใหม่ได้ก่อให้เกิดกฎหมายพรรคการเมือง พรรคการเมืองต่างๆ สามารถตั้งได้โดยเสรี มีพรรคการเมืองอิสลามเกิดขึ้นจำนวนมากและลงเลือกตั้งในปี 1999 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังยุคระเบียบใหม่ อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองอิสลามกลับได้รับเสียงสนับสนุนค่อนข้างน้อย พรรคที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดคือพรรค PDI P (พรรคประชาธิปไตยอินโดนีเซีย – การต่อสู้) ของนางเมกาวตี ซูการ์โน ปุตรี ตามมาด้วยพรรค Golongan Karya พรรคของยุคระเบียบใหม่

แม้ว่าจะมีกระแสอิสลามานุวัตร (ทำให้เป็นอิสลาม) ในสังคมอินโดนีเซียตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 แต่พรรคการเมืองอิสลามได้รับคะแนนเลือกตั้งน้อยลง โดยเฉพาะหากเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งในปี 1955 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกของอินโดนีเซียกับการเลือกตั้งในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเป็นความสำเร็จของการสลายความเป็นการเมืองของอิสลามในอินโดนีเซียภายใต้ยุคระเบียบใหม่ ที่ทำให้กลุ่มอิสลามหมดบทบาทและพื้นที่ทางการเมือง แต่ไปขยายอิทธิพลในด้านสังคมแทน แม้จะมีการเคลื่อนไหวอย่างเข้มข้นจากกลุ่มอิสลามหัวรุนแรงต่างๆ หลังยุคระเบียบใหม่ แต่เห็นได้อย่างชัดเจนว่าอิสลามถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือมีวาระซ่อนเร้นทางการเมือง

ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนอย่างยิ่งคือกรณีอาฮก หรือ บาซูกี จาฮายา ปูร์นามา (Basuki Tjahaja Purnama) อดีตผู้ว่าการจาการ์ตา ผู้เป็นชาวอินโดนีเซียเชื้อสายจีนและเป็นคริสเตียนที่ถูกต่อต้านประท้วงอย่างหนักจากกลุ่มมุสลิมซึ่งกล่าวหาว่า อาฮกลบหลู่ดูหมิ่นศาสนาอิสลามจากการปราศรัย ณ เกาะแห่งหนึ่งทางตอนเหนือของจาการ์ตาที่กล่าวหาว่าผู้นำศาสนาอิสลามบิดเบือนคำสอนในคัมภีร์อัลกุรอ่าน ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงที่จะมีการเลือกตั้งส่วนท้องถิ่นในปี 2017 และในที่สุดอาฮกก็ได้ถูกตัดสินว่ามีความผิดและถูกจำคุก 2 ปี คดีอาฮกนับว่าสั่นสะเทือนแนวคิดเรื่องความยอมรับความหลากหลายและการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายของอินโดนีเซียอีกครั้ง กระแสต่อต้านอาฮกนำไปสู่ความหวั่นวิตกว่าจะขยายวงกว้างไปสู่การมุ่งเป้าประสงค์ร้ายไปยังกลุ่มชาวอินโดนีเซียเชื้อสายจีน ซึ่งแม้ว่าจะมีความพยายามจริง แต่ก็ไม่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงมากไปกว่านั้น และยังมีกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวและเรียกตัวเองว่ากลุ่ม ‘พาเหรดเอกภาพท่ามกลางความหลากหลาย’ (Parade Bhinneka Tunggal Ika) ที่พยายามย้ำเตือนกับคนร่วมชาติว่า อินโดนีเซียมีความหลากหลายและยอมรับความหลากหลายมาตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ รูปธรรมที่เห็นได้ชัดคือปัญจสีลาซึ่งทุกคนควรยึดถือเฉกเช่นที่ยึดถือมาตลอด

ในปัจจุบัน สังคมอินโดนีเซียกำลังมีการแข่งกันควบคุมอิสลามระหว่างรัฐและกลุ่มอิสลามอื่นๆ ประเด็นสำคัญคือ ทำอย่างไรถึงจะเกิดความสมดุลระหว่างอิสลามกับชาตินิยมอินโดนีเซีย และเห็นได้อย่างชัดเจนว่า อิสลามนั้นสัมพันธ์กับการเมืองอินโดนีเซียมาโดยตลอด และไม่ใช่แค่ในอินโดนีเซียเท่านั้น ศาสนากับการเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แยกจากกันไม่ออกมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว การออกมาพูดว่าศาสนาไม่ควรหรือไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองจึงเป็นการพูดที่ไม่ตั้งอยู่บนความจริงหรือบิดเบือนเลยเสียด้วยซ้ำ

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save