fbpx
55 ปีเหตุการณ์เกสตาปู: การสังหารหมู่คอมมิวนิสต์ในอินโดนีเซีย (1)

55 ปีเหตุการณ์เกสตาปู: การสังหารหมู่คอมมิวนิสต์ในอินโดนีเซีย (1)

อรอนงค์ ทิพย์พิมล เรื่องและภาพ

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ล้วนมีประวัติศาสตร์บาดแผล เป็นเหตุการณ์ความรุนแรงทางสังคมและการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของผู้อยู่ร่วมในเหตุการณ์และผู้เกี่ยวข้องอย่างรุนแรง เป็นเหตุการณ์ที่อยากจะจำก็จำไม่ได้ อยากจะลืมก็ลืมไม่ลง และในหลายเหตุการณ์ยังไม่มีการชำระสะสางหรือนำตัวผู้กระทำผิดมารับโทษตามกฎหมาย เช่น เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ในไทย เหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ช่วงเขมรแดงครองอำนาจในกัมพูชา หรือการสังหารคอมมิวนิสต์ในอินโดนีเซีย เป็นต้น

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองมาหลายครั้ง หนึ่งในนั้นคือเหตุการณ์การสังหารหมู่สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียในช่วงปี 2508-9 หลังจากเกิดเหตุการณ์เกสตาปู เหตุการณ์ที่นำไปสู่การสิ้นสุดอำนาจของประธานาธิบดีซูการ์โน พร้อมกับการกำเนิดยุคระเบียบใหม่ภายใต้การนำของประธานาธิบดีซูฮาร์โต ซึ่งในปี 2563 นี้จะครบรอบ 55 ปีของเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งเป็นเหตุการณ์การสังหารหมู่ที่เลวร้ายที่สุดเหตุการณ์หนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือของโลกเสียด้วยซ้ำ แต่กลับเป็นเรื่องต้องห้ามในสังคมอินโดนีเซียและเป็นที่รับรู้ในวงกว้างน้อยเกินกว่าที่ควรจะเป็น และบ่อยครั้งที่ผู้คนมักสับสนนำภาพเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ไปประกอบคำอธิบายเหตุการณ์เกสตาปู

 

เหตุการณ์เกสตาปูคืออะไร?

 

จุดเริ่มต้นของการสังหารหมู่คอมมิวนิสต์มาจากเหตุการณ์ที่เรียกกันโดยย่อว่า ‘เกสตาปู’ (Gestapu) มาจากคำว่า Gerakan September Tigapuluh ในภาษาอินโดนีเซียที่มีความหมายว่า ‘ขบวนการวันที่ 30 กันยายน’ โดยในวันที่ 30 กันยายน 2508 กลุ่มกองกำลังที่นำโดยพันโทอุนตุง ชัมซูรี (Untung Syamsuri) ผู้บัญชาการกองทหารอารักขาประธานาธิบดี (Tjakrabirawa Regiment) ได้นำกองกำลังซึ่งประกอบด้วย กองทหารอารักขาประธานาธิบดี กองกำลังดีเปอเนอกอรอ (Dipenegoro) ชวากลาง และบราวีจายา (Brawijaya) ชวาตะวันออก ซึ่งกองกำลังดังกล่าวมีฐานอยู่ที่ฐานทัพอากาศฮาลิม เปอร์ดานากูซูมา ทางตะวันออกของกรุงจาการ์ตา และประกาศว่าจะทำการปฏิวัติและจะตั้งสภาปฏิวัติขึ้น โดยได้จับตัวนายทหาร 7 นาย ประกอบด้วยนายพล 6 นายและพลทหารติดตามอีก 1 นาย ซึ่งนายทหารทั้งหมดถูกสังหารและทิ้งศพในบ่อน้ำร้างบริเวณเขตฐานทัพอากาศดังกล่าว นอกจากที่จาการ์ตาแล้ว ยังเกิดเหตุการณ์ทำนองเดียวกันในที่อื่นๆ ของประเทศ ทั้งในและนอกเกาะชวา

ในวันรุ่งขึ้น (1 ตุลาคม) ภายใต้การนำของพลตรีซูฮาร์โต (ยศในขณะนั้น) ได้นำกองกำลังสำรองช่วยรบ (Komando Strategis Cadangan Angkatan Darat) ทำการปราบปรามกลุ่มขบวนการดังกล่าว และได้ทำการรัฐประหารซ้อนรวบอำนาจได้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้น ซูการ์โนยังคงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีดังเดิม

การกระทำของผู้ก่อการในเหตุการณ์เกสตาปูถูกมองว่าเป็นการกระทำที่เหี้ยมโหด และเป็นการทรยศต่อการปฏิวัติแห่งชาติหรือจิตวิญญาณแห่งการประกาศเอกราชของชาติซึ่งไม่สามารถยอมรับได้ โดยซูฮาร์โตและกองทัพอินโดนีเซียกล่าวหาว่า พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย หรือ PKI เป็นผู้บงการอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์เกสตาปูและต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ดังนั้น นอกจากอินโดนีเซียจะเรียกเหตุการณ์นี้ว่า Gestapu ยังนิยมเรียกเหตุการณ์นี้ว่า G30S/PKI โดย G หมายถึงขบวนการ 30 คือวันที่ 30 และ S คือเดือนกันยายน ส่วน PKI หมายถึงพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย ซึ่งสื่อความหมายว่า พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าว หรือบางครั้ง เหตุการณ์นี้ก็จะถูกเรียกว่า Gestok ซึ่งย่อมาจากคำว่า Gerakan Satu Oktober ซึ่งมีความหมายว่า ‘ขบวนการวันที่ 1 ตุลาคม’ การเรียกเช่นนี้เป็นการเชิดชูและเน้นให้ความสำคัญกับกองกำลังที่มาทำการปราบปรามขบวนการวันที่ 30 กันยายน และยังมีการสถาปนาวันที่ 1 ตุลาคมเป็นวันพิทักษ์ปัญจสีลาด้วย

 

ผลของเหตุการณ์เกสตาปู

 

จากข้อกล่าวหาอันร้ายแรงนำไปสู่การประกาศยุบพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียอย่างเป็นทางการในวันที่ 12 มีนาคม 2509 เป็นเวลาเพียง 1 วัน หลังจากซูฮาร์โตได้รับมอบอำนาจการดูแลความสงบเรียบร้อยของประเทศ มีการออกกฎหมายที่ระบุว่า การกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ซูฮาร์โตได้รับการมอบอำนาจจากประธานาธิบดีซูการ์โน และดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในที่สุด พร้อมทั้งได้สถาปนายุคระเบียบใหม่

แม้ว่าพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียจะถูกประกาศยุบอย่างเป็นทางการในปี 2509 แต่การกวาดล้างสมาชิกและผู้สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์เริ่มต้นก่อนหน้านั้น โดยพื้นที่แรกๆ ที่มีการออกใบอนุญาตให้มีการกวาดล้างสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียคือที่อาเจะห์ บนเกาะสุมาตรา ในต้นเดือนตุลาคม 2508 สภาผู้นำศาสนาอิสลามได้ออกคำวินิจฉัยประณามการกระทำของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย และกล่าวว่าการกำจัดสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เป็นเรื่องที่กระทำได้ เกิดการสังหารสมาชิกและผู้สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเขตที่มีสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จำนวนมาก เช่น ในเขตชวากลาง ชวาตะวันออก เมดาน และบาหลี เป็นต้น

ทั้งนี้ ยังไม่แน่ชัดว่า มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากการสังหารหมู่คอมมิวนิสต์ทั่วประเทศเท่าไหร่กันแน่ แต่มีการประเมินว่าอยู่ราว 500,000 – 2,000,000 คน ผู้เขียนเคยชมภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับเหตุการณ์เกสตาปูที่จัดทำโดยนักข่าวต่างชาติ โดยภาพยนตร์สารคดีดังกล่าวได้สัมภาษณ์ผู้นำกองทัพในช่วงเวลานั้น ซึ่งเขากล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า กองทัพอินโดนีเซียได้จัดการกวาดล้างสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ไปถึง 3,000,000 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าการประเมินโดยผู้ศึกษากรณีนี้ จึงอาจเป็นไปได้ว่า ในยุคสงครามเย็น การประกาศว่าสามารถกำจัดคอมมิวนิสต์เป็นจำนวนมากก็ยิ่งน่าจะทำให้โลกค่ายเสรีประชาธิปไตยชื่นชมมากขึ้น

 

หนังสือพิมพ์ Suara Islam พรรค PKI
หัวข้อข่าวในหนังสือพิมพ์ Suara Islam (เสียงอิสลาม) ฉบับวันที่ 9 ตุลาคม 2508 ในกรอบที่ทำเน้นสีแดงความว่า “PKI tidak berhak hidup” ซึ่งแปลว่า “PKI (พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย) ไม่มีสิทธิดำรงอยู่” คำว่า hidup ยังหมายถึง ‘มีชีวิต’ ในหัวข้อข่าวนี้ หมายถึงทั้ง PKI ที่เป็นพรรคและสมาชิก PKI ที่เป็นคนด้วย

 

นอกจากการสังหารหมู่แล้ว ยังมีการจับสมาชิกและผู้สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียไปขังคุกโดยที่ไม่มีการตั้งข้อหา มีการทรมานนักโทษด้วยวิธีการทารุณต่างๆ ส่วนฝั่งอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ที่ไม่ถูกสังหาร แม้จะได้รับอิสรภาพจากคุก ก็กลับถูกจองจำทางสังคมรอบตัวด้วยข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์อย่างไม่มีวันพ้นโทษ หลายคนจึงประสบกับปัญหาในการกลับคืนสู่สังคม ถูกรังเกียจ ถูกกีดกัน และถูกเลือกปฏิบัติจากภาครัฐ และความเลวร้ายเหล่านี้ได้ถูกส่งต่อและถ่ายทอดไปยังลูกหลานของพวกเขาด้วย

 

ก่อนเกิดเหตุการณ์เกสตาปู

 

พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2467 และผ่านประสบการณ์ล้มลุกคลุกคลานโดนปราบปรามมาหลายครั้ง ทั้งในยุคอาณานิคมและในช่วงสงครามต่อสู้เพื่อเอกราชของอินโดนีเซีย แต่พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียก็สามารถกลับมาได้อีกและเป็นพรรคที่ได้คะแนนนิยมไม่น้อยในการเลือกตั้งครั้งแรกของอินโดนีเซียในปี 2498 โดยมีผู้ลงคะแนนเสียงให้ 6 ล้านกว่าเสียง คิดเป็นอันดับที่ 4 รองจากพรรคชาตินิยมอินโดนีเซียของซูการ์โน พรรคมัสยูมี และพรรคนะด์ดาตุล อูลามา

ในปี 2508 สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียมีจำนวนมากถึงประมาณ 3,500,000 คน และยังมีการจัดตั้งองค์กรกรรมกร ชาวนา ผู้หญิงและเยาวชนอีกด้วย นับเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ที่ใหญ่ที่สุดนอกประเทศจีนและสหภาพโซเวียตในขณะนั้น

เมื่อประธานาธิบดีซูการ์โนประกาศใช้ประชาธิปไตยแบบชี้นำและยกเลิกระบบรัฐสภาเมื่อปี 2502 พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ซูการ์โนยังได้ประกาศแนวคิด NASAKOM ซึ่งหมายถึง ชาติ ศาสนา (อิสลาม) และคอมมิวนิสต์ ให้เป็นแนวคิดหลักสำหรับชาติอินโดนีเซีย แม้ดูราวกับว่าพรรคคอมมิวนิสต์มีสถานะพิเศษ แต่ในขณะเดียวกัน ซูการ์โนก็ได้แต่งตั้งนายพลทหารขึ้นดำรงตำแหน่งสำคัญๆ เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ความพยายามถ่วงดุลอำนาจของประธานาธิบดีซูการ์โนดูไม่เป็นผล ช่วงก่อนปี 2508 ความขัดแย้งทางการเมืองในอินโดนีเซียตึงเครียดมากขึ้น โดยเป็นความขัดแย้งระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียกับกองทัพ ต่างฝ่ายต่างหวาดระแวงซึ่งกันและกัน สถานการณ์เลวร้ายลงเมื่อมีข่าวลือหนาหูเกี่ยวกับการทำรัฐประหาร มีทั้งข่าวลือว่าพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียและกองทัพจะทำรัฐประหาร

ในที่สุด ความขัดแย้งทางการเมืองก็ดำเนินไปถึงจุดสูงสุดในเหตุการณ์เกสตาปู นำไปสู่การล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียและถูกตอกตะปูปิดฝาโลงตราบจนทุกวันนี้ แต่ก็ยังมีการ ‘ปลุกผีคอมมิวนิสต์’ ขึ้นมาตลอด หากมีวาระทางการเมืองที่เอื้อให้กระทำได้

 

การสร้างความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์เกสตาปูโดยยุคระเบียบใหม่

 

ตลอดระยะเวลา 32 ปีของยุคระเบียบใหม่ได้มีการผูกขาดการเล่าเรื่องและความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์เกสตาปูว่า พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียเป็นผู้ก่อการและอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์เกสตาปู วาดภาพให้พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียเป็นปีศาจร้าย โดยการสร้างความทรงจำนี้ถูกกระทำในหลายรูปแบบ ได้แก่

แบบเรียนประวัติศาสตร์: ในแบบเรียนประวัติศาสตร์จะพูดถึงเหตุการณ์เกสตาปูอย่างละเอียด และระบุว่าพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าว โดยจะใช้คำเรียก G30S/PKI ทุกครั้ง

หนังสือประวัติศาสตร์: นอกจากแบบเรียนแล้ว ยุคระเบียบใหม่ยังสร้างความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์เกสตาปูผ่านหนังสือประวัติศาสตร์ โดยให้นูโกรโฮ โนโตซูซันโต (Nugroho Notosusanto) อาจารย์มหาวิทยาลัยอินโดนีเซียเรียบเรียงชุดหนังสือประวัติศาสตร์แห่งชาติอินโดนีเซีย ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 6 เล่ม และได้มีส่วนที่กล่าวถึงเหตุการณ์เกสตาปูซึ่งไม่ได้แตกต่างจากเนื้อหาที่ปรากฏอยู่ในแบบเรียนประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ ชุดหนังสือประวัติศาสตร์นี้ก็มีอิทธิพลต่อการเขียนหนังสือว่าด้วยเหตุการณ์เกสตาปู จนกลายเป็นเรื่องเล่าหรือความทรงจำกระแสหลักของสังคมอินโดนีเซียว่า พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียกระทำความผิดมหันต์และสมควรถูกกวาดล้างให้สิ้นซาก

ภาพยนตร์: ยุคระเบียบใหม่ได้ให้ผู้กำกับภาพยนตร์สร้างภาพยนตร์สารคดีจำลองเหตุการณ์เกสตาปู ชื่อเรื่องว่า Penumpasan Pengkhianatan G30S PKI มีความหมายว่า บดขยี้ผู้ทรยศ G30S PKI ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ทำหน้าที่ในการสร้างความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์เกสตาปูในเวอร์ชั่นของทางการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะในวันที่เกิดเหตุการณ์เกสตาปูของทุกปี จะมีการนำภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวมาฉายในรายการโทรทัศน์ และเลือกฉายในช่วงเวลาทองที่มีผู้ชมโทรทัศน์เป็นจำนวนมาก

วันสำคัญ: วันที่ 1 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันที่ซูฮาร์โตสามารถนำกองกำลังมาปราบปรามขบวนการวันที่ 30 กันยายนได้สำเร็จ ได้ถูกกำหนดให้เป็น ‘วันปัญจสีลาอันศักดิ์สิทธิ์’

อนุสรณ์สถาน: รัฐบาลยุคระเบียบใหม่ได้สร้างอนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกถึงนายทหารที่เสียชีวิตในเหตุการณ์เกสตาปู ณ จุดตรงที่เกิดเหตุการณ์ มีการสร้างอนุสาวรีย์ปัญจสีลา ขนาดรูปปั้นเท่าตัวคนจริง เป็นรูปนายทหารที่เสียชีวิตยืนด้วยท่าทีองอาจและสง่าผ่าเผยแบบทหาร มีรูปการูด้าหรือครุฑอยู่ด้านหลังซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชาติ และในตัวครุฑก็บรรจุปัญจสีลาด้วย ถือเป็นการส่งสารว่านายทหารทั้งหมดที่ถูกสังหารเป็นผู้พิทักษ์ปัญจสีลา ที่ฐานของอนุสาวรีย์เป็นเรื่องราวก่อนและหลังเกิดเหตุการณ์เกสตาปู มีรูปแกะสลักวาดภาพให้พรรคอมมิวนิสต์เป็นปีศาจ คือรูปผู้หญิงของพรรคเปลือยอกเต้นรำในขณะที่มีการสังหารนายทหาร ซึ่งสะท้อนถึงการลบหลู่ดูหมิ่นทั้งกองทัพและศาสนาอิสลาม เพราะการกระทำดังกล่าวผิดหลักศาสนาด้วย

 

อนุสาวรีย์ปัญจสีลา
อนุสาวรีย์ปัญจสีลา

 

ฐานของอนุสารีย์ปัญจสีลาที่แสดงภาพเหตุการณ์เกสตาปู
ฐานของอนุสารีย์ปัญจสีลาที่แสดงภาพเหตุการณ์เกสตาปู

 

นอกจากนี้ ในบริเวณใกล้เคียงยังได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ชื่อว่า ‘พิพิธภัณฑ์แห่งการทรยศของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย’ โดยมีการเชิดชูเกียรติประวัติของกองทัพอินโดนีเซีย และการให้ภาพว่าพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียเลวร้ายและป่าเถื่อน ขณะที่เนื้อหาที่ถูกจัดแสดงมีทั้งการแสดงถึงความโหดร้ายป่าเถื่อนของพรรคคอมมิวนิสต์ในเหตุการณ์เกสตาปู และการวางโครงเรื่องว่าพรรคคอมมิวนิสต์เลวร้ายมาตั้งแต่อินโดนีเซียยังไม่เป็นเอกราชเสียด้วยซ้ำ อีกทั้งยังมีการนำข้าวของเครื่องใช้และเสื้อผ้าเปื้อนเลือดที่นายทหารทั้งหมดใส่ในวันที่เสียชีวิตมาจัดแสดงด้วย

 

พิพิธภัณฑ์แห่งการทรยศของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย
ทางเข้าพิพิธภัณฑ์แห่งการทรยศของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย

 

เสื้อผ้าและข้าวของเครื่องใช้ของนายทหารที่ถูกสังหารในเหตุการณ์เกสตาปู
ตัวอย่างเสื้อผ้าและข้าวของเครื่องใช้ของนายทหารที่ถูกสังหารในเหตุการณ์เกสตาปู

 

 

ความไม่ลงรอยกันของการเล่าเรื่องเหตุการณ์เกสตาปู

 

ในการเล่าเรื่องหรือบันทึกประวัติศาสตร์เหตุการณ์เกสตาปูมีเรื่องที่ไม่ลงรอยกันอยู่เป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ใครเป็นผู้กระทำ ใครเป็นผู้ก่อการในเหตุการณ์เกสตาปู ใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง และจำนวนผู้เสียชีวิตจากการสังหารหมู่เป็นเท่าไหร่กันแน่ ไปจนถึงเรื่องที่ว่า ใครบ้างที่มีส่วนร่วมในการ ‘กวาดล้าง’ สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย

 

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save