fbpx
เกียรติภูมิอยู่กลางสนาม

เกียรติภูมิอยู่กลางสนาม

วรพจน์ พันธุ์พงศ์ เรื่อง

 

“บิดาแห่งการชูสามนิ้ว” เด็กหนุ่มคนหนึ่งพูดถึง ไผ่ ดาวดิน ต่อหน้ามวลชน บนเวทีอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ในคืน ‘นอนแคมป์ ไม่นอนคุก’ เพื่อว่าเช้าวันรุ่งขึ้นจะไปรายงานตัวที่ สน.สำราญราษฎร์

“ไอ้สัส” ไผ่สวนกลับเพื่อนหนุ่มด้วยรอยยิ้ม

สะท้อนระหว่างบรรทัดว่า–มึงอย่าเว่อร์

บิดาแห่งการชูสามนิ้ว–บิดานั่น บิดานี่ ถ้อยคำทำนองนี้เป็นโวหารอย่างไม่ต้องสงสัย โวหาร ยกยอ ล้อเล่น แต่ต่อกรณีนี้ จะบอกว่าไม่เป็นความจริงเอาซะเลย มันก็ไม่ถูก พูดตรงๆ ว่าฟังแล้วผมเห็นดีเห็นงามด้วยเต็มๆ เอาไปเลยไอ้หนุ่ม รับไปเถอะ ผมยินดีชูมือสูงๆ อีกหนึ่งเสียง ยกตำแหน่งนี้ให้คุณ

หลังรัฐประหาร พฤษภาคม 2014 ภาพการชูสามนิ้วก่อเกิด ลุกลาม แพร่กระจาย และแน่นอน, ไผ่ ดาวดิน ไม่ใช่มือแรก คนแรก

แต่เป็นครั้งแรก ที่ไปชูต่อหน้า ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลางเมืองขอนแก่น

เราต้องเข้าใจร่วมกันก่อนนะครับว่า ตอนนั้น คสช. มีอำนาจเต็มมือ อ้างกฎหมายเถื่อนเรียกคนเข้าไปปรับทัศนคติเป็นร้อย ไล่ล่า ไล่จับ จนหลายคนต้องหนีกระเซอะกระเซิง

ปืนและคุกรออยู่เบื้องหน้า ไผ่ ดาวดิน เดินเข้าไปหามันอย่างไม่เกรงกลัว

เขาติดคุกจริงๆ –ในท้ายที่สุด ติดในคดีอันเกิดจากการแชร์ข่าวบีบีซี

2 ปี 6 เดือน ที่ไร้อิสรภาพเพราะการใช้นิ้วจิ้มไปที่ ‘มือถือ’ จำนวนหนึ่งครั้ง อย่างที่รู้กัน เมื่อพ้นสภาพนักโทษ ม.112 ออกมา เขาชูสามนิ้วเหมือนเดิม ยิ้มยียวนและเยาะเย้ยชีวิตเหมือนเดิม

ดูเหมือนจะกล้าหาญ และมีบทบาทแหลมคมเพิ่มมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

 

ผมยังไม่เคยสัมภาษณ์ ไผ่ ดาวดิน

ในคุกที่ขอนแก่น ผมเคยไปเยี่ยมเขาครั้งหนึ่ง บินหลา สันกาลาคีรี โทร.มาชักชวน และขับรถจากเชียงใหม่ลงมารับที่จังหวัดแพร่ เราใช้เวลาหนึ่งวันเต็มๆ กับการเดินทาง และช่วงสายวันรุ่งขึ้น จึงได้เจอหน้าไผ่ในเรือนจำ

ห้านาที–ไม่เกินนั้น ที่ผมเห็นหน้าและสนทนาวิสาสะเล็กๆ น้อยๆ ผ่านลูกกรง กระจก

ออกจากคุกมาแล้ว เขาโทร.มาคุยกับผมครั้งหนึ่ง ขอบคุณที่มีไมตรี ทั้งที่แทบไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว ถัดมาอีกราวสักปีกว่า ในคืน ‘นอนแคมป์ ไม่นอนคุก’ จากจังหวัดน่าน ผมตั้งใจไปร่วมงานที่อนุสรณ์สถานฯ ฟังเขาปราศรัย รอจนงานเลิก ลงจากเวที ผมเดินไปจับไม้จับมือ ทักทายกันได้ประมาณหนึ่งนาที มิตรสหายคนโน้นคนนี้ก็มารุกรุม ล้อมรัก

จะแปลกอะไร ก็ในเมื่อเขาเป็นที่รัก เป็นนักต่อสู้ นักเคลื่อนไหวทางความคิดที่โดดเด่น

คืนก่อน ม็อบ ‘19 กันยาฯ ทวงอำนาจคืนราษฎร’ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ก่อนยกพลย้ายออกมายังสนามหลวง เอ่อ สนามราษฎร) ไผ่และเพื่อนล่วงหน้ามาปักหลักค้างคืนที่แยกคอกวัว อีกเช่นเคย, ผมแวะไปหาเขา

“เอาสักป้ายมั้ยพี่” ไผ่ชวนเขียนป้ายผ้าผืนใหม่ ความจริงพวกเขาทำเสร็จแล้ว แต่ถูกตำรวจเมืองขอนแก่นบุกเข้าไปยึดถึงที่บ้าน

ยึดไปก็เขียนใหม่

ขณะที่ผมโกหกเขาว่าเขียนไม่เป็น ไผ่พูดความจริงกับผมว่าตอนนี้เขาโดนไปแล้วสี่คดี

จะอีกกี่คดีก็สู้กันต่อไป–ใบหน้าเขายิ้มแย้มเหมือนเดิม

ดึกดื่น ในช่วงเวลาและสถานการณ์แบบนี้มีเรื่องต้องทำมาก มีคนต้องคุยเยอะ ไม่เอื้อต่อการสนทนายาวๆ หลังไถ่ถามทุกข์สุข ปลอบประโลม ทักทายเพื่อนใหม่บางคน และยืนดูบรรยากาศโดยรอบอีกสักพักผมก็บอกลา

“พรุ่งนี้เจอกัน” ไผ่ว่า

ผมพยักหน้ารับ–ครับ เจอกัน

หลังข้อเสนอ 10 ประการสะท้านฟ้า เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พลังนักศึกษากลับมายึดครองพื้นที่สื่อ และเป็นแนวรบใหม่ เป้าหมายและจุดยืนใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ ถ้าใครสักคนเพิกเฉย ละเลย หรืออคติคิดว่าใช้ความรู้เก่าก็เอาอยู่ ใครคนนั้นมีโอกาสตกยุคสมัยสูง

สิบปีมานี้การเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปจริงๆ สองเดือนที่ผ่านมานี้ สังคมไทยเปลี่ยนชนิดพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน

เปลี่ยนด้วยความรู้และความกล้าหาญของนักเรียนนักศึกษา

 

ปัตตานี, 12 กันยายน 2020

สี่โมงเย็น ฝนตกหนักแทบมองไม่เห็นหนทาง ผมนั่งอยู่ในรถเพื่อนหนุ่มคนหนึ่งมุ่งหน้าสู่วัดพรหมประสิทธิ์ อำเภอปะนาเระ ตั้งใจไปหาพระมหาอนุชา อนุชาโต ตั้งแต่ปี 2006 ที่ลงมาทำงาน ณ ที่เกิดเหตุ ผมไม่ได้กลับมาเยือนที่นี่อีกเลย

คราวนั้นที่มา เพราะมีเหตุพระชราถูกลากออกมาฟันคอ มรณภาพหน้ากุฏิ

คราวนี้ที่มา เพราะคิดถึง อยากกลับมากราบท่านเจ้าอาวาส และย้อนดูร่องรอย ถิ่นที่เคยทำงาน กินอยู่ หลับนอน

ฝนไม่หนัก แต่ก็ไม่หยุด มองไกลๆ ผมไม่แน่ใจว่าใช่พระมหาอนุชาหรือเปล่า ท่านกำลังเดินไปโบสถ์ กับพระอีกรูปหนึ่ง

หาที่จอดรถ หาร่ม หลบฝน หนีหมา ผมตามไปเลียบๆ เคียงๆ ชะโงกข้างหน้าต่าง พบว่าท่านกำลังสวดมนต์

คิดว่าใช่ พระรูปเดิมที่ผมเคยมาสัมภาษณ์

ไก่ชน ไม่ใช่ไก่แจ้

วัวชน ไม่ใช่วัวเนื้อ

ท่านเคยเปรียบตัวเองอย่างนั้น และยืนยันจะอยู่ทำนุบำรุงศาสนาต่อไป แม้ในวันเวลายากลำบาก

“หาสมดุลให้ตัวเองให้ได้ ไม่ดูถูกตัวเอง ขณะเดียวกันก็ไม่หลงตัวเอง พยายามปฏิบัติธรรมพอสมควรแก่ธรรม” ผมจดคำของท่านไว้เมื่อ 14 ปีก่อน จด และยังจำ

เวลาเริ่มโพล้เพล้ ฝนพรำต่อเนื่อง ดูท่าว่าท่านคงยังไม่แล้วเสร็จกิจสงฆ์ ผมชวนเพื่อนไปวัดเทพนิมิตซึ่งอยู่ห่างออกไปราวสี่กิโลเมตร

เช่นกัน, 14 ปีก่อน ผมมาที่นี่ เพราะมีทหารนายหนึ่งถูกยิงตายกลางตลาด

ทหารเวรยามวัด ผมมาทำงานและอาศัยกินนอนในวัด เมื่อมีโอกาส ก็อยากย้อนกลับไปดู

แม้เพื่อนหนุ่มจะแจ้งก่อนแล้วว่าพระพรชัย ฐานะธัมโม เจ้าอาวาสวัดเทพนิมิตท่านมรณภาพไปหลายปีแล้ว แต่ผมก็บอกว่าไปเถอะ อยากไปเห็นที่ที่เราเคยเห็น มันเป็นความผูกพันที่ปรารถนาจะทบทวน สำรวจบางภูมิประเทศทั้งข้างนอกและข้างในจิตใจ

วัดเปลี่ยนไปผิดหูผิดตา มีอาคารใหม่ๆ เกิดขึ้น ทั้งที่เป็นรูปร่างแล้วเสร็จ และกำลังก่อสร้าง เจ้าอาวาสรูปใหม่มาจากตากใบ ภายใต้แววตากล้าแกร่งถึงลูกถึงคน ท่านมีบุคลิกแบบพระนักพัฒนา พูดยาวีคล่องแคล่ว

เพียงสนทนากันไม่มากนาที ท่านก็เล่าเรื่องทหารกินกฐิน

บวชมาเอาเงินแสน ได้แล้วก็เชิดหนี

ท่านโวยวายใส่แม่ทัพนายกอง ท่านเคยถูกขู่ฆ่า ท่านไม่หนีไปไหน บอก–มา ถ้าจะฆ่าแกงกันก็มาฆ่าในวัด

ยอมตายคาผ้าเหลือง

เหมือนหลวงพ่อรูปก่อน

 

ตีสาม, กลางสนามราษฎร, 20 กันยายน 2020

ผมนั่งอยู่กับนักข่าวหนุ่มอีกสองคน ความจริงมากันตั้งแต่บ่าย จนราวสักสามทุ่ม ผมแวบกลับเกสต์เฮาส์ไปอาบน้ำอาบท่า และหากินเบียร์กินพอหายใจหายคอโล่งขึ้น แล้วกลับมาดูปราศรัยของนักศึกษาต่อ

‘เพนกวิน’ พริษฐ์ ชิวารักษ์ ลงจากเวทีได้พักใหญ่

น้องนักข่าวเชิญชวนหญิงสาวคนหนึ่งมาสนทนา

เธอเรียนอยู่ปีสอง คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เธอทำให้ผู้ใหญ่อย่างพวกเราอึ้ง

เธอทำให้ผู้ใหญ่อย่างพวกเราก้มหัวโค้งคารวะ

มองผิวเผินผ่านหีบห่อแฟชั่น ถ้าไม่ได้ถามตรงๆ ไม่ใช้เวลาคุยลึกๆ เราไม่มีทางรู้เลยจริงๆ ว่าคนหนุ่มสาวของยุคสมัยคิดอ่านอย่างไรกับสังคมการเมืองไทยชั่วโมงนี้

คิดอ่านด้วยเข้าใจไปถึงใจกลางของปัญหา เห็นพิษภัยรัฐประหาร ตระหนักรับรู้การต่อสู้ของคนเสื้อแดง และขอบคุณที่ทนายอานนท์ นำภา เปิดเพดานขอบฟ้าใหม่

ใกล้ตีห้า มีข่าวลือเรื่องสลายการชุมนุม หญิงสาวไม่มีท่าทีตื่นตระหนกเลย ถ้าข่าวร้ายจะกลายเป็นจริงก็ยืนยันว่าไม่หนีไปไหน

“ตายก็ได้ค่ะ ยอมตายได้” เธอว่า “ถ้ามันจะทำให้คนรุ่นต่อๆ ไป ได้มีชีวิตที่ดีกว่านี้”

 

สิบกว่าปีที่แล้ว เมื่อครั้งที่ยังเดินเข้าออกสวนทูนอินบ่อยๆ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ เคยพูดกับผม

“อาจจะเข้าข้างตัวเอง ไม่รู้นะ แต่เราคิดว่าเราเดินทาง อ่านหนังสือ คุยกับคนมามากพอที่จะเข้าใจอะไรๆ พอสมควร อย่างน้อยก็ไม่คับแคบ หรือมองโลกสวยใสเกินไป เราต้องยอมรับความจริง ปรับตัวให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง อาชีพนักหนังสือพิมพ์ทำให้เรารู้ เราเห็น และยอมรับความแตกต่างได้”

ผ่านโลกมากี่มากน้อย–ไม่รู้ แต่นโยบาย ‘เดินทาง อ่านหนังสือ คุยกับคน’ ที่ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ว่าไว้ ผมเห็นพ้อง น้อมรับ ทุบกะลาแล้วสมาทานใส่กะโหลก เป็นของขวัญมอบให้ตัวเองเสมอมา

ไกลแสนไกลก็ช่างมัน เหน็ดเหนื่อยอ่อนล้าแค่ไหนก็ทนเอา

ไปดูเยอะๆ ไปฟังมากๆ ไปด้วยสองตาสองตีนตัวเอง

ไปให้ถึงที่เกิดเหตุ ออกไปให้พ้นจากรัศมีวงโคจรของการบริโภคคลิปข่าวและไลฟ์สด

เครื่องบันทึกเสียงอาจไม่ถูกควักขึ้นมา กระทั่งบางสถานการณ์ กระดาษปากกาอาจไม่เอื้อให้ฉวยคว้าเอามาจด ออกไปก่อน ออกไป เดินไปให้ถึงเวที ไปสบตาแหล่งข่าวตัวละครเป็นๆ ไปสูดกลิ่นทั้งบรรยากาศสดชื่นและโศกศพให้เต็มปอด ไปร่วมรู้สึกรู้สากับประชาชน

นักสัมภาษณ์ไม่ได้แปลว่าต้องถือเทปสัมภาษณ์ตลอดเวลา แต่นักสัมภาษณ์พึงสะสมข้อมูลวัตถุดิบไว้ตลอดเวลา และถ้าจะต้องใช้เรี่ยวแรงกำลังมากเป็นพิเศษ นักสัมภาษณ์อย่าหวงแหน อย่าประหยัด อย่ารังเกียจหยาดเหงื่อ และการลงแรง

ใครทำ ใครได้

ทำเท่าไร ได้เท่านั้น

นี่อาจเดินสวนทางกับหลักทุนนิยม-เศรษฐศาสตร์ แต่มันเป็นสัจจะของวิชาชีพ

ฟังมาก อ่านมาก ลงพื้นที่มาก ดุลพินิจจะค่อยเติบโตงอกงาม ดุลพินิจสำคัญพอๆ กับเลือด ดุลพินิจเป็นครรภ์ของรสนิยม

ถามว่าดุลพินิจดีแล้วมีโอกาสผิดพลาดหรือเปล่า มีสิ ต่อให้มากประสบการณ์ มากความตั้งใจ เราต่างวินิจฉัยผิดพลาดกันได้

ผิดก็ยอมรับ ผิดแล้วก็พยายามแก้ไข ปรับปรุง พัฒนา

ส่วนคำใหญ่ๆ อย่างจรรยาบรรณ วางๆ ลงบ้างก็ได้ โดยเฉพาะถ้ายึดถือไว้แล้วมีส่วนเพาะสร้างนิสัยชี้นิ้วใส่ร้ายผู้อื่น จนลืมชะโงกดูเงา

 

เกียรติภูมิอยู่กลางสนาม–ผมมีทัศนะเช่นนี้

เดินลงไปล้มลุกคลุกคลานในนั้น สร้างโอกาส ขวนขวายหาโอกาสลงสนาม แล้วเราจะรู้

ผมไม่ได้คิดคำนี้ขึ้นมาเอง มันเป็นเนื้อร้องท่อนหนึ่งในเพลงเมื่อราวสิบปีก่อน

ไม่ฮอตฮิตอะไรหรอก แต่มีความหมายในระดับที่ว่ากันว่าเป็นเพลงชาติ ซึ่งถ้าเคยอนุญาตตัวเองให้ลงไปเดินบนถนนบ้าง คุณคงเคยได้ยิน พอรับรู้ และร้องได้

กระทั่งบางทีก็ร้องไห้ไปด้วยกัน.

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save