fbpx
GDP ไตรมาสสาม บอกอะไรเรา?

GDP ไตรมาสสาม บอกอะไรเรา?

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

ตัวเลข GDP ไตรมาสที่ 3/2561 ซึ่งเพิ่งเปิดเผยออกมา เริ่มส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงมากกว่าที่คาด เศรษฐกิจไทยเติบโต 3.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และถ้าเทียบกับไตรมาสที่ 2 เมื่อปรับปัจจัยด้านฤดูกาลแล้ว ปรับลดลงเล็กน้อย ซึ่งเป็นการปรับลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2557 เลยทีเดียว

หลังจากที่ตัวเลขเศรษฐกิจโตถึง 4.8% ในครึ่งปีแรก ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจเริ่มสะดุด ทำให้สามไตรมาสของปีนี้ เศรษฐกิจเติบโตเหลือ 4.3% เมื่อเทียบกับสามไตรมาสปีก่อน  จากตัวเลขล่าสุด หลายสำนักคงต้องนั่งคิดว่าจะปรับประมาณการ GDP ปีนี้ลงดีหรือไม่

อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ด้านการใช้จ่าย

อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ด้านการใช้จ่าย

เมื่อพิจารณาถึงรายละเอียดเบื้องหลังตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจล่าสุด ผมพบว่ามีข้อสังเกตที่น่าสนใจสามข้อดังนี้ครับ

1. อุปสงค์ภายนอกหยุดโตไปเฉยๆ

สาเหตุที่เศรษฐกิจชะลอตัวลงค่อนข้างเร็วในไตรมาสที่ 3 เป็นเพราะการชะลอตัวของ external demand หรือปัจจัยภายนอก เช่น การส่งออก รวมถึงการท่องเที่ยวที่ชะลอลงค่อนข้างมากในช่วงเดือนสุดท้ายของไตรมาสที่ 3

การส่งออกปรับลดลง 5% ในช่วงเดือนกันยายน เช่นเดียวกับประเทศในเอเชียทั้งหลาย หลายคนอธิบายว่าเป็นเพราะเริ่มเห็นผลกระทบจากความไม่แน่นอนเรื่องสงครามการค้า บางคนอธิบายว่าเป็นผลจากสภาพอากาศของประเทศคู่ค้า เช่น พายุเข้าญี่ปุ่น เป็นต้น

ในขณะเดียวกัน การท่องเที่ยวก็ติดลบเป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือน เพราะผลจากนักท่องเที่ยวจีนที่เริ่มหายไป หลังเกิดเหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ต ซึ่งคนจีนไม่พอใจการจัดการ และการตอบสนองของผู้บริหารประเทศบางท่าน ทำให้นักท่องเที่ยวจีนหายไปกว่า 15% เมื่อเทียบกับปีก่อน  ในปัจจุบัน จำนวนนักท่องเที่ยวจีนคิดเป็นกว่าหนึ่งในสามของนักท่องเที่ยวทั้งหมด  การหายไปของนักท่องเที่ยวจีนจึงทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวรวมแทบไม่โต เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

เมื่อเป็นเช่นนี้ ตัวเลขการส่งออกสินค้าและบริการ ซึ่งส่วนสำคัญคือรายได้จากการท่องเที่ยว จึงแทบไม่โตขึ้นเลยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การนำเข้ายังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การส่งออกสุทธิ (การส่งออกลบการนำเข้า) จึงกลายเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจ

ที่น่าสนใจคือ ในช่วงครึ่งปีแรก การส่งออกสินค้าและบริการสวมบทพระเอกหลักที่ผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโต ถ้าเราคิด contribution to growth คือตั้งคำถามว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ 4.8% มีที่มาจากไหนบ้าง จะพบว่า ลำพังเพียงการท่องเที่ยวอย่างเดียว ซึ่งโตถึง 9% ในครึ่งแรก และมีความสำคัญถึง 13% ของ GDP ก็ส่งผลให้ GDP ในครึ่งปีแรกเติบโตถึง 1.2% แล้ว (สมมติให้รายได้จากการท่องเที่ยวมีส่วนที่มาจากการนำเข้าไม่เยอะมาก ไม่งั้นต้องหักออกด้วย)

การท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่แรงส่งหายไปในไตรมาสที่ 3/2561

การท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่แรงส่งหายไปในไตรมาสที่ 3/2561

นั่นหมายความว่า การท่องเที่ยวไม่ถึงกับต้องหดตัว เอาแค่ไม่โตอย่างเคย การเติบโตก็อาจหายไป 1.2% จากปัจจัยด้านการท่องเที่ยว นี่ยังไม่นับการส่งออกที่ชะลอตัวหยุดโตไปด้วยเหมือนกัน การที่การท่องเที่ยวและการส่งออกหยุดโตไปเฉยๆ ในไตรมาสที่ 3 คำนวณดูแล้ว พบว่า องค์ประกอบของการส่งออกสุทธินี้ส่งผลให้ GDP ในไตรมาสที่ 3 ติดลบถึง 7% เลยทีเดียว

หากมองไปข้างหน้า แม้ว่าปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวในไตรมาสที่ 3 อาจเป็นปัจจัยชั่วคราวที่จะกลับสู่ภาวะปกติในเวลาไม่นานนัก แต่ประเด็นสำคัญคือถ้าการส่งออกและการท่องเที่ยวไม่สามารถโตขึ้นแบบสุดๆ เหมือนช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ฐานที่ใหญ่มากอาจทำให้ตัวเลข GDP ไม่สามารถเติบโตหวือหวาได้อย่างเคย

2. ส่วนเปลี่ยนสินค้าคงเหลือ

หากพิจารณาส่วนประกอบของ GDP เฉพาะจากด้านการใช้จ่าย คือถามว่าสินค้าและบริการที่ผลิตขึ้นมานั้นมีใครซื้อไปบ้าง แยกออกเป็น C+I+G+X-M (การบริโภค + การลงทุน + การใช้จ่ายภาครัฐ + การส่งออก – การนำเข้า) แบบที่เราเคยเรียนในวิชาหลักเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น จะพบว่าส่วนประกอบฝั่งอุปสงค์นี้ติดลบถึง 3.4%

ถ้ายังจำกันได้ GDP คือ “มูลค่าของสินค้าและบริการที่ผลิตขึ้นในช่วงเวลาหนึ่ง” ส่วนต่างของมูลค่า GDP ด้านการใช้จ่าย กับ มูลค่า GDP ด้านการผลิต ก็คือ “ส่วนเปลี่ยนสินค้าคงเหลือ” (change in inventories) และ “ค่าสถิติคลาดเคลื่อน” (statistical discrepancy) เราพบว่าสองส่วนนี้มีค่าสูงถึง 7% ของ GDP! นั่นแปลว่ามูลค่า GDP ด้านการผลิตโตเร็วกว่าการใช้จ่ายรวม หรืออีกนัยหนึ่งคือ มีสินค้าที่ผลิตออกมาแล้ว แต่ยังไม่มีคนซื้อไป และสะสมเพิ่มขึ้นเป็นสินค้าคงเหลือมูลค่ามหาศาล

เมื่อมองย้อนหลัง จะพบว่าไตรมาสที่ 3/2561 เป็นไตรมาสที่เก้าติดต่อกัน ที่มูลค่า GDP ด้านการผลิตโตขึ้นเร็วกว่ามูลค่า GDP ด้านการใช้จ่าย ทั้งที่โดยปกติแล้วในระยะยาวสองตัวนี้ควรโตไปพอๆ กัน เพราะเมื่อมีการผลิตมากกว่าการใช้จ่าย ก็จะสะสมเป็นสินค้าคงเหลือ เมื่อธุรกิจมีสินค้าคงเหลือมากๆ ก็อาจจะชะลอการผลิตลงในช่วงระยะเวลาถัดไป ทำให้ตัวเลข GDP ในอนาคตชะลอลงได้ แม้ฝั่งการใช้จ่ายและบริโภคจะยังคงเติบโตต่อเนื่องก็ตาม

มูลค่าเศรษฐกิจด้านการใช้จ่าย (C+I+G+X-M) โตช้ากว่ามูลค่าเศรษฐกิจด้านการผลิต (GDP) อย่างต่อเนื่อง

มูลค่าเศรษฐกิจด้านการใช้จ่าย (C+I+G+X-M) โตช้ากว่ามูลค่าเศรษฐกิจด้านการผลิต (GDP) อย่างต่อเนื่อง

ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา อาจมีสาเหตุทำให้การสะสมสินค้าคงเหลือเปลี่ยนแปลงแบบแปลกๆ เช่นการสะสมสต็อกข้าวจากโครงการรับจำนำข้าว และการระบายข้าวทำให้ส่วนเปลี่ยนสินค้าคงเหลือติดลบ แต่เราน่าจะเข้าสู่ภาวะปกติได้แล้ว

อย่างไรก็ดี อาจจะมีประเด็นเชิงเทคนิคที่พออธิบายปรากฏการณ์นี้ได้ เช่น หากการส่งออกที่ติดลบในเดือนสุดท้ายของไตรมาสมาจากปัญหาสภาพอากาศในประเทศคู่ค้า สินค้าที่เตรียมส่งออกอาจจะถูกนับเป็นสินค้าคงเหลือ ซึ่งน่าจะปรับลดลงหลังจากส่งสินค้าออก (และเราเห็นแล้วว่าการส่งออกเดือนตุลาคมกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง) หรือการนำเข้าทองคำ อาจจะทำให้สินค้าคงเหลือปูดขึ้นเป็นการชั่วคราว

3. การบริโภค : แข็งบนอ่อนล่าง?

องค์ประกอบอีกประการหนึ่งที่ทำให้ GDP เติบโตค่อนข้างดีในครึ่งปีแรก คือการบริโภคที่มีสัญญาณดีขึ้นเรื่อยๆ แม้เป็นเรื่องน่าดีใจ แต่หากพิจารณาไส้ในจะพบว่า การบริโภคสินค้าคงทนเป็นพระเอกสำคัญที่ผลักดันการบริโภค โดยเฉพาะยอดขายรถยนต์ซึ่งเติบโตมากกว่า 15% ในช่วงสองไตรมาสที่ผ่านมา  ในขณะที่การบริโภคสินค้าไม่คงทน เช่น อาหาร เครื่องดื่ม ยังคงซบเซาอย่างต่อเนื่อง

หนึ่งในคำอธิบายคือ เราผ่านช่วงที่ใช้นโยบายรถยนต์คันแรกมาแล้วเจ็ดปี รถผ่อนหมดแล้ว และถึงเวลาเปลี่ยนรถตามอายุขัยพอดี ยอดขายรถยนต์ที่ติดลบมานานหลายปีได้เวลาหายอกหายใจ เพราะคนตัดสินใจซื้อรถในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น และมีอุปสงค์คงค้างมานานหลายปี

ส่วนคำอธิบายอีกด้านหนึ่งก็คือ คนฐานะดี ซึ่งมีกำลังเงินซื้อรถ ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ในขณะที่คนทั่วไปยังไม่ได้อานิสงส์ของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเท่าที่ควร นี่คือเหตุผลว่าทำไมหลายคนไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวตามตัวเลขเศรษฐกิจเลย

การบริโภคสินค้าคงทนปรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่การบริโภคสินค้าไม่คงทนปรับตัวลดลง

การบริโภคสินค้าคงทนปรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่การบริโภคสินค้าไม่คงทนปรับตัวลดลง
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

อีกข้อสังเกตคือ ราคาสินค้าเกษตรและรายได้ภาคเกษตร ซึ่งเกี่ยวพันกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ ยังไม่ค่อยปรับตัวดีขึ้นมากนัก แม้ปริมาณสินค้าเกษตรที่ผลิตได้ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับภาวะฝนแล้งเมื่อ 1-2 ปีก่อน แต่ราคาสินค้าสำคัญหลายชนิดยังไม่ค่อยปรับตัวดีขึ้นเท่าที่ควร

รายได้ภาคเกษตรปรับตัวดีขึ้น เพราะปริมาณการผลิตมากขึ้น ในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรปรับลดลง

รายได้ภาคเกษตรปรับตัวดีขึ้น เพราะปริมาณการผลิตมากขึ้น ในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรปรับลดลง
ที่มา:  ธนาคารแห่งประเทศไทย

ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจไทยไม่มีสัญญาณที่ดีขึ้นเลย ในช่วงที่ผ่านมาเราเริ่มเห็นองค์ประกอบอื่นๆ ของการบริโภคในประเทศปรับตัวดีขึ้น การลงทุนภาคเอกชนก็เริ่มโตขึ้นเล็กน้อย จากเดิมที่แทบไม่โตเลย

ประเด็นสำคัญคือ เราน่าจะเห็นเศรษฐกิจไทยผ่านจุดที่ดีที่สุดไปแล้วในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา และน่าจะเป็นไปได้ยากที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยกลับไปโตแรงๆ แบบนั้นได้อีก ถ้าการส่งออกและการท่องเที่ยวโตช้าลง และไม่สามารถกลับไปโตแรงๆ แบบตอนต้นปีได้อีก น่าสนใจว่าการบริโภคจะสามารถรักษาแรงส่งเหมือนสองไตรมาสที่ผ่านมา ในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรและเศรษฐกิจต่างจังหวัดยังคงซบเซาได้หรือไม่

น่าคิดนะครับว่า เครื่องจักรเศรษฐกิจที่จะรับบทพระเอกในช่วงต่อไปคืออะไร

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economic Focus

19 Apr 2023

นโยบายแจกเงินดิจิทัล: ทำได้ หรือขายฝัน?

วิมุต วานิชเจริญธรรม ชวนมองวิวาทะสองฝั่งของนโยบายแจกเงินดิจิทัลในการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย พร้อมให้ข้อเสนอถึงการปรับนโยบายให้ตรงจุดขึ้น

วิมุต วานิชเจริญธรรม

19 Apr 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save