กล่าวกันว่า ฟุตบอลโลกนัดชิงระหว่างอาร์เจนติน่ากับฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา ถือเป็นหนึ่งในนัดชิงที่เดือดดาลที่สุด สนุกที่สุดของเวิลด์คัพ กับรูปเกมแสนจะเร้าระดับเอาไปเขียนใส่นิยายน่าจะถูกบรรณาธิการตีกลับด้วยข้อหาว่า ‘เหนือจริง’ เกินไป เมื่อหลังจากถูกอาร์เจนติน่านำไปสองลูกเน้นๆ ตลอดครึ่งแรก ครึ่งหลังฝรั่งเศสก็ไล่กวดตีเสมอในเวลาเพียงสองนาทีจนต้องไปแลกกันอีกคนละหมัดช่วงต่อเวลา ตามด้วยช่วงที่แฟนบอลน่าจะมือไม้หงิกเกร็งที่สุด (อันที่จริงก็น่าจะหงิกมาทั้งเกมแล้ว) เมื่อต้องตัดสินกันที่จุดโทษ และอาร์เจนติน่าเป็นฝ่ายคว้าถ้วยกลับบ้านได้เป็นสมัยที่สามตามหลังปี 1978 และ 1986
และยังไม่ต้องพูดว่า ‘เส้นเรื่อง’ ของนัดชิงนี้ก็ราวกับถูกเขียนมาไว้เหมือนกัน เมื่อฟุตบอลโลกเองก็มีตำนาน ‘อาถรรพ์แชมป์เก่า’ ที่ว่ากันว่าเจ้าของตำแหน่งครั้งก่อนมักไม่อาจป้องกันตำแหน่งแชมป์ไว้ได้ (มีเพียงสองประเทศเท่านั้นที่ฝ่าอาถรรพ์ที่ว่านี้ได้คือ อิตาลีซึ่งคว้าแชมป์สองสมัยติดเมื่อปี 1934 และ 1938 กับบราซิลเมื่อปี 1958 และ 1962) มิหนำซ้ำ ความที่เวิลด์คัพเลื่อนมาเตะปลายปียังทับซ้อนกับการแข่งขันของสโมสรหลายๆ แห่ง สภาพร่างกายนักเตะจึงบอบช้ำกันระนาว รวมถึงกำลังสำคัญของฝรั่งเศสอย่าง เอ็นโกโล ก็องเต, พอล ป็อกบา และชายที่เพิ่งจะคว้าบัลลงดอร์มาหมาดๆ อย่าง การิม เบนเซมา ก็ไม่อาจลงเล่นเวิลด์คัพได้ เส้นทางสู่ชัยชนะของฝรั่งเศสจึงถูกมองว่าทุลักทุเลตั้งแต่เริ่ม (ถึงขั้นที่อัตราการเดิมพันของฝรั่งเศสหล่นวูบในหลายๆ บ่อน)
ไม่ต่างกันกับอาร์เจนตินา หลายคนมองว่านี่อาจเป็นการลงสนามเวิลด์คัพครั้งสุดท้ายของ ลีโอเนล เมสซี ที่สื่อกีฬาทั่วโลกให้การยกย่องว่าเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโลก และหากนับรวมจากที่เขาลงเล่นมาตลอดทั้งชีวิตการเป็นนักกีฬาอาชีพ การลงแข่งในเวิลด์คัพครั้งนี้จะทำให้เขาลงสนามครบนัดที่หนึ่งพันพอดี เหนืออื่นใดนั้น ในบรรดาถ้วยโทรฟีระดับโลก ถ้วยเดียวที่เมสซีและอาร์เจนติน่าในการนำของเขายังไม่เคยไปถึงคือถ้วยเวิลด์คัพ -หากยังจำกันได้ ครั้งที่เขา ‘เข้าใกล้’ มากที่สุดคือการแข่งขันฟุตบอลโลกเมื่อปี 2014 ที่อาร์เจนติน่าพ่ายให้เยอรมนีเฉียดฉิว ภาพที่เขามองโทรฟีโดยไม่มีโอกาสได้สัมผัสกลายเป็นภาพที่หลายคนรู้จักในเวลาต่อมา
และยิ่งกับชาวอาร์เจนติน่าเอง การที่อาร์เจนติน่าคว้าแชมป์กลับมาบ้านได้ อาจเป็นเสมือนของขวัญปลอบประโลมหัวใจพวกเขาในห้วงยามแห่งความทึมเทาที่สุดครั้งหนึ่ง ไม่น่าแปลกใจที่หลังจากไม่กี่ชั่วโมงให้หลังการแข่งขันจบลง ผู้คนอาร์เจนไตน์เรือนหมื่นพากันออกมาเฉลิมฉลองที่ถนน 9 เดอฆูลิโออะเวนิว เสาโอเบลิสก์ใจกลางเมืองก็ฉายภาพใบหน้าของเมสซีขณะยิงประตูชัย ยิ่งเมื่อนักกีฬากลับบ้านเกิดไปขึ้นขบวนแห่พร้อมถ้วยรางวัล ประมาณกันว่ามีชาวเมืองออกมาร่วมฉลองบนท้องถนนราวสี่ล้านจนย้อมถนน 9 เดอฆูลิโออะเวนิวให้กลายเป็นสีฟ้าขาวซึ่งเป็นสีประจำชาติ

ปี 2022 นี้ถือเป็นปีที่ลำบากของชาวอาร์เจนติน่า เมื่อค่าเงินเฟ้อส่อแวววิกฤตมาตั้งแต่ต้นปีด้วยค่าเฉลี่ย 50.7 เปอร์เซ็นต์เมื่อเดือนมกราคม และกระโดดไปที่ 71 เปอร์เซ็นต์ในช่วงกลางปีจนคนแห่ลงถนนเพื่อประท้วง อัลแบร์โต เฟอร์นันเดซ ประธานาธิบดีจากพรรคฝ่ายซ้ายเป็นจำนวนมหาศาล และยิ่งหนักหนามากขึ้นเมื่ออัตราเงินเฟ้อยังกระฉูดอย่างต่อเนื่องไปที่ 88 เปอร์เซ็นต์เมื่อเดือนตุลาคม และทะยานไปที่ 92.4 เปอร์เซ็นต์ในเดือนพฤศจิกายน นักเศรษฐศาสตร์หลายคนจึงคะเนว่า สิ้นปีนี้เงินเฟ้อในอาร์เจนติน่าคงจะแตะตัวเลข 100 เปอร์เซ็นต์ได้พอดี (!!)
อย่างไรก็ดี หลายคนมองว่าประวัติศาสตร์หน้านี้เคยถูกเขียนขึ้นมาแล้วเมื่อครั้งมาราโดนายังเรืองรอง กาลครั้งหนึ่งเมื่อเขาพา ‘อัลบิเซเลสเต’ คว้าชัยเมื่อปี 1986 -หนึ่งปีก่อนหน้าเด็กชายเมสซีจะถือกำเนิด- อาร์เจนติน่าภายใต้การทำงานของอดีตประธานาธิบดี ราอุล อัลฟอนซิน ก็เผชิญหน้ากับเงินเฟ้อสูงถึง 116 เปอร์เซ็นต์ หรือกระทั่งปี 1978 ซึ่งอาร์เจนติน่าคว้าแชมป์ ประเทศก็ปวดร้าวจากค่าเงินเฟ้อที่ 176 เปอร์เซ็นต์เช่นกัน แฟนบอลหลายคนจึงเริ่มสร้างทฤษฎีสมคบคิดว่า เมื่อประเทศต้องรับมือกับภาวะเงินเฟ้อในช่วงที่มีการแข่งฟุตบอลโลก เมื่อนั้นแปลว่าพวกเขาจะคว้าถ้วยรางวัลกลับมานอนกอดที่บ้านได้ ซึ่งกลายเป็นทฤษฎีที่ถูกตีตกกลับมาอย่างรวดเร็วว่า การที่เงินเฟ้อย่อมไม่ใช่ตัววัดว่าทีมชาติจะคว้าชัยมาครองได้ เพราะอย่าลืมว่าการแข่งขันฟุตบอลโลกเมื่อปี 1990 ที่อาร์เจนติน่าตะลุยไปถึงรอบชิงก่อนจะพ่ายให้เยอรมนีตะวันตก เงินเฟ้อก็พุ่งเป็นประวัติการณ์ที่ 2,000 เปอร์เซ็นต์ (หรือแม้แต่ในปี 2014 ที่อาร์เจนติน่าชิงแชมป์กับเยอรมนี -อีกแล้ว- ค่าเงินเฟ้อก็โดดไปเบาะๆ ที่ 22 เปอร์เซ็นต์ ท่ามกลางข้อครหาว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าอัตราจริงเพราะรัฐบาลพยายามปกปิดไว้)
อาร์เจนติน่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยเฉพาะในแง่การแย่งชิงทรัพยากรอาหารและเชื้อเพลิงอันเป็นปัญหาที่ชาติยุโรปหลายๆ ชาติต้องเผชิญ เฟอร์นันเดซรับปากว่าเขาจะต่อสู้ใน ‘สงครามเงินเฟ้อ’ อย่างสุดกำลังตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งก็ล้มเหลวอย่างน่าเศร้าใจเมื่อค่าเงินเฟ้อยังพุ่งสูงต่อเนื่อง ผลักให้ประชากร 43 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนประชากรทั้งหมดคือ 45.8 ล้านคนต้องอาศัยอยู่ใต้เส้นแบ่งความยากจน สำนักข่าวนิวยอร์กไทมส์ทำสำรวจคุณภาพชีวิตและการหาทางเอาตัวรอดภายใต้วิกฤตของชาวอาร์เจนติน่าและพบว่าหากพวกเขามีเงินก้อนก็มักหาทางออกเฉพาะหน้าด้วยการซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐมาไว้ในครอบครองก่อน (หรือบางคนเลือกซื้อเงินยูโร ซึ่งเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมน้อยกว่าเพราะยุโรปเองก็เผชิญปัญหาเงินเฟ้อเช่นกัน) เกลลี โอลมอส รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานของอาร์เจนติน่าประกาศในเดือนพฤศจิกายน -ซึ่งเวิลด์คัพก็เข้มงวดขึ้นทุกขณะ- ว่ารัฐบาลกำลังเร่งหาทางแก้ปัญหาเงินเฟ้อ “แต่แรกสุด อาร์เจนติน่าต้องคว้าชัยเสียก่อน”
คำตอบของโอลมอสสะท้อนทั้งความสิ้นหวังของรัฐบาลและประชาชน (ทั้งยังเป็นคำตอบที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า “ไร้ความรับผิดชอบอย่างที่สุด”) การคว้าชัยของทีมชาติฟุตบอลจึงเป็น ‘น้ำทิพย์หล่อเลี้ยงชโลมหัวใจ’ อันแห้งแล้งของชาวอาร์เจนติน่า แม้กระทั่งคนที่ไม่ดูฟุตบอลเองก็ยังรู้สึกว่าความหวังเดียวที่จะช่วยชุบชูชีวิตพวกเขาได้คือการได้เห็นเมสซีและเพื่อนร่วมทีมกอดโทรฟีเวิลด์คัพกลับบ้าน แม้ว่าถึงที่สุดแล้ว ปัญหาใหญ่ที่เป็นเสมือนแผลฉกรรจ์ของประเทศอย่างค่าเงินเฟ้อจะยังไม่ได้รับการแก้ไขก็ตาม
แต่ก็อีกนั่นแหละ การข้ามผ่านช่วงเวลาคริสมาสต์และปีใหม่โดยมีชัยชนะของทีมชาติฟุตบอลอันเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของประเทศ ก็ดูเป็นหนึ่งในทางออกชั่วคราวที่ไม่เลวร้ายนัก

“เศรษฐกิจของอาร์เจนติน่าย่ำแย่มาเป็นทศวรรษแล้ว แถมถึงตอนนี้ค่าเงินเฟ้อก็พุ่งไปที่ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ ด้านการเมืองก็เต็มไปด้วยการแบ่งขั้ว” อิเนส เฟอร์เรอ ผู้สื่อข่าวชาวอาร์เจนไตน์กล่าว “การที่ทีมชาติเราคว้าชัยชนะได้ในครั้งนี้มันเป็นเหมือนการป่าวประกาศว่า พวกเราคือชนชาติที่เก่งกาจที่สุดของกีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก”
ถึงอย่างไร นักเศรษฐศาสตร์หลายคนก็มองว่าประธานาธิบดีเฟอร์นันเดซไม่อาจปลีกหนีความรับผิดชอบในการเยียวยาประเด็นนี้ไปได้เลย ที่ผ่านมา เฟอร์นันเดซพยายามอย่างเต็มกำลังในการจะกดค่าเงินเฟ้อให้ต่ำลงด้วยการเก็บภาษีสินค้าส่งออก ไม่ว่าจะเป็นสินค้าจากภาคการเกษตรอย่าง ถั่วเหลือง เนื้อสัตว์และข้าวสาลี ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์วิพากษ์วิจารณ์ว่าการออกนโยบายเช่นนี้มีแต่จะเป็นการซ้ำเติมประชาชนและผู้ประกอบการให้หนักหนาสาหัสยิ่งขึ้น ขณะที่จำนวนคนไร้บ้านก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างน่าตกใจตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา
ความหวังอาจอยู่ที่ปีถัดไป อันเป็นปีที่จะมีการลงนามสัตยาบันการค้าระหว่างสหภาพยุโรป (EU) กับกลุ่มเมร์โกซูร์ (Mercosur หมายถึงกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจของประเทศในอเมริกาใต้ตอนล่าง ได้แก่ อาร์เจนติน่า, บราซิล, อุรุกวัยและปารากวัย) ซึ่งก่อนหน้านี้ยืดเยื้อมานานจากความลังเลใจของเหล่านักเศรษฐศาสตร์ยุโรป กระทั่งเมื่อสงครามระหว่างรัสเซียกัยยูเครนระเบิดตัวขึ้นเมื่อต้นปี และเป็นชนวนสำคัญของการขยายอิทธิพลจากจีน บีบให้ยุโรปต้องสร้างความสัมพันธ์อันดีกับความเป็นประชาธิปไตยในอเมริกาใต้ไว้ ทั้งการลงนามนี้ก็ดูจะเป็นความหวังใหญ่ของอาร์เจนติน่าในการจะพาให้เศรษฐกิจรอดพ้นจากหุบเหวเพราะอาจเปิดพื้นที่ให้มีการลงทุนใหม่ๆ งอกเงยขึ้นได้
ฟากขั้วการเมืองเองก็มีท่าทีที่น่าจับตาเช่นกัน เมื่ออาร์เจนติน่ากำลังจะจัดการเลือกตั้งใหญ่ในเดือนตุลาคม 2023 และด้วยผลงานที่ผ่านมาของเฟอร์นันเดซก็ทำให้หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า เก้าอี้ของรัฐบาลฝ่ายซ้ายน่าจะง่อนแง่นจากความโกรธเกรี้ยวของประชาชนที่ลงถนนประท้วงเพราะเรื่องค่าเงินเฟ้อกันมาตั้งแต่กลางปี ทำให้หากเปลี่ยนตำแหน่งรัฐบาล เศรษฐกิจของอาร์เจนติน่าก็ดูจะกระเตื้องขึ้นมาได้บ้าง
ถึงเวลานั้น แน่นอนว่าความอิ่มเอมของการคว้าแชมป์เวิลด์คัพอันเป็น ‘ยาแรง’ ที่ช่วยให้คนในชาติสุขใจน่าจะยังอยู่ แต่คงจะจางหายลงไปบ้าง และคงไม่อาจมีอะไรมาช่วยให้ชาวอาร์เจนไตน์อิ่มสุขได้ในระยะยาวเท่าการที่ค่าเงินลดลงไปอยู่ในระดับปกติได้เสียที