fbpx

ปลดล็อกการวัดผลแบบเดิมๆ ด้วยการประเมินศักยภาพความคิดสร้างสรรค์

“เกรดและคะแนนสอบคือตัวกำหนดชีวิต”

เป็นคำกล่าวที่ไม่เกินจริงสำหรับคนที่เติบโตมาในระบบการศึกษาที่เน้นความเป็นเลิศทางวิชาการกว่าสิ่งอื่นใด ในสังคมเช่นนี้ การให้คุณค่าต่อพัฒนาการของเด็กคนหนึ่งจึงอิงอยู่กับตัวเลขในใบเกรดจนกลบความสำคัญของความถนัดด้านอื่น แต่หากมองในมุมที่ต่างออกไป เหตุที่คะแนนสอบกลายเป็นสรณะในการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ก็อาจเป็นเพราะทักษะทางวิชาการนั้นวัดและประเมินได้ง่าย เมื่อดูจากคะแนนสอบ ผู้สอนก็พอจะบอกได้ว่าผู้เรียนเข้าใจเนื้อหามากน้อยเพียงใด แต่ในโลกแห่งความจริง พัฒนาการของเด็กมีมิติอื่นที่ควรให้ความสนใจมากกว่าการคร่ำเคร่งกับเนื้อหาทางวิชาการในห้องเรียน

แน่นอนว่าความรู้ทางวิชาการอย่างเดียวไม่อาจทำให้มนุษย์อยู่รอดในโลกที่เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาได้ ย้อนไปเมื่อ 2 ล้านปีก่อน ในวันที่โลกยังไม่มีวิทยาการล้ำสมัย ไม่มีเตาไฟฟ้าไว้ประกอบอาหาร ไม่มีรถไฟฟ้าไว้ประหยัดเวลาเดินทาง หรือไม่มี ChatGPT ไว้เป็นเพื่อนคู่คิด แต่เผ่าพันธุ์มนุษย์ก็พัฒนามาได้ด้วย ‘ความคิดสร้างสรรค์’ (creativity) ในอดีต บรรพบุรุษของเราขัดหินรูปทรงธรรมดาให้แหลมคมเหมาะแก่การล่าสัตว์มาเป็นอาหาร จนถึงปัจจุบันที่ล้ำหน้าไปถึงการผลิตเนื้อสังเคราะห์ (lab-grown meat) เพื่อเป็นอีกทางเลือกในการรับมือกับปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการทำปศุสัตว์ จะผ่านไปกี่ยุคสมัย ความสามารถในการสร้างสรรค์อยู่ในตัวเราทุกคน

แต่จะดีแค่ไหนหากเราค้นพบและสามารถส่งเสริมศักยภาพความคิดสร้างสรรค์ได้ตั้งแต่วัยเด็ก และก่อนจะกล่าวไปถึงการใช้ศักยภาพจากความคิดสร้างสรรค์ เราจะทราบได้อย่างไรว่าเรามีความคิดสร้างสรรค์ในด้านใดเป็นพิเศษ?

101 สรุปความจากการนำเสนอของท็อด ลูบาร์ต (Todd Lubart) ศาสตราจารย์สาขาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยปารีส (Université Paris Cité) และผู้อำนวยการ LaPEA (Le laboratoire de Psychologie et d’Ergonomie Appliquées) ในหัวข้อ การประเมินศักยภาพความคิดสร้างสรรค์ในเด็ก (Evaluation of Creative Potential: EPoC) จากเวทีเสวนาวิชาการนานาชาติ การประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ (International Seminar on Pupil Outcomes Assessments) จัดโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ Creativity, Culture and Education (CCE)

ร่วมทำความเข้าใจความคิดสร้างสรรค์ให้ลึกซึ้ง และเรียนรู้จากประสบการณ์มากกว่าสิบปีของท็อดในการศึกษา วิจัย พัฒนาเครื่องมือที่ทำให้ความคิดสร้างสรรค์ ‘วัดได้’ วงการศึกษาไทยสามารถประยุกต์ใช้อะไรได้บ้างจากนวัตกรรมการวัดผลนี้ มาสำรวจไปพร้อมกันได้ตั้งแต่บรรทัดถัดไป

ความคิดสร้างสรรค์สำคัญไฉน ทำไมต้องมีการวัด?

ความคิดสร้างสรรค์ (creativity) เป็นหนึ่งในทักษะจำเป็นในศตวรรษที่ 21 ร่วมกับทักษะในการสื่อสาร (communication) การทำงานร่วมกับผู้อื่น (collaboration) และทักษะการคิดวิเคราะห์ (critical thinking) หรือที่เรียกกันว่า 4C การประชุมระดับโลกอย่าง World Economic Forum กล่าวถึงความคิดสร้างสรรค์ว่าเป็น 1 ใน 3 ทักษะสำคัญที่สุดที่นายจ้างจะพิจารณารับเข้าทำงาน ในยุคสมัยที่โลกฉายสปอตไลต์ไปยังความคิดสร้างสรรค์เช่นนี้ ครูและโรงเรียนในหลายชาติหันมาให้ความสนใจกับการพัฒนาศักยภาพความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น ในปี 2021 การประเมินวัดระดับนักเรียนทั่วโลกที่จัดโดย OECD หรือ PISA (Programme for International Student Assessment) ได้รวมเอาความคิดสร้างสรรค์เป็นหนึ่งในสมรรถนะที่จะมีการประเมินด้วย

แต่ก่อนจะพูดถึงการวัดและการประเมิน ท็อดชวนเราทำความเข้าใจความคิดสร้างสรรค์และศักยภาพความคิดสร้างสรรค์ให้ลึกซึ้งเสียก่อน

หากพูดให้เข้าใจง่าย ความคิดสร้างสรรค์ คือความสามารถในการสร้างสิ่งใหม่ หรือความคิดใหม่ที่มีความหมายต่อบริบทเฉพาะในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง และมีความเป็นต้นฉบับ (original) อย่างไรก็ตาม ท็อดกล่าวว่าความเป็นต้นฉบับไม่จำเป็นต้องเป็นคนเดียวในโลกที่คิดได้เท่านั้น เด็กที่มีความคิดใหม่ๆ ซึ่งผู้ใหญ่เคยคิดได้มาก่อนแล้วก็จัดว่าเป็นความคิดสร้างสรรค์ และความคิดสร้างสรรค์สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในงานทุกประเภท

ท็อดยกตัวอย่าง อาชีพครู ที่มีหน้าที่ออกแบบการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละช่วงวัย การมีความคิดสร้างสรรค์จะช่วยให้ครูสามารถสร้างชั้นเรียนที่มีคุณภาพและทำให้นักเรียนรู้สึกสนุกกับการเรียน หรือแม้แต่ในอาชีพที่มีข้อจำกัดการสร้างสรรค์จากกฎระเบียบอันเคร่งคัด เช่น นักบิน ในบางครั้งความคิดสร้างสรรค์ก็จำเป็นต่อการเอาชีวิตรอดในสถานการณ์ฉุกเฉิน

ตัวอย่างที่ยกมาสะท้อนว่าเราจะเห็นว่ามนุษย์คนหนึ่งได้นำความคิดสร้างสรรค์มาใช้ประโยชน์ก็ต่อเมื่อทำภารกิจบางอย่างสำเร็จ แต่ความสำเร็จที่ว่านี้มักจะปรากฏชัดเมื่ออยู่ในวัยผู้ใหญ่ ซึ่งสามารถตัดสินใจด้วยตัวเองได้ในทุกเรื่อง ตรงข้ามกับเด็กที่มีประสบการณ์น้อย ฉะนั้น หากจะมองหาร่องรอยความคิดสร้างสรรค์ในเด็ก ท็อดจึงเสนอให้พิจารณาจาก ‘ศักยภาพด้านความคิดสร้างสรรค์’ (creative potential) โดยการจำลองสถานการณ์เฉพาะบางอย่างที่จะทำให้เด็กเผยศักยภาพออกมา ท็อดอธิบายศักยภาพความคิดสร้างสรรค์ผ่าน ‘การเปิดตู้เย็น’ ที่มีวัตถุดิบ เช่น ไข่ แป้ง กล้วย ส้ม อยู่ข้างใน ด้วยวัตถุดิบที่เหมือนกันนี้ มีความเป็นไปได้มากมายที่แต่ละคนจะนำวัตถุดิบเหล่านี้ไปรังสรรค์เป็นเมนูอาหารที่หลากหลาย หรือพูดได้ว่าศักยภาพความคิดสร้างสรรค์คือความสามารถในการหยิบจับวัตถุดิบทางความคิดและวัตถุที่จับต้องได้ไปรังสรรค์เป็นสิ่งใหม่

องค์ประกอบของศักยภาพความคิดสร้างสรรค์ประกอบขึ้นจาก 1. การรับรู้ (cognition) คือ ความรู้ ความเข้าใจ ความยืดหยุ่นทางความคิดและการเปิดกว้างรับประสบการณ์ใหม่ๆ 2. ปัจจัยทางอารมณ์ความรู้สึก (conation emotion) คือ มีการตอบสนองต่อปัจจัยแวดล้อม และ 3. สิ่งแวดล้อม (environment) คือ สถานที่และผู้คนรอบตัว นั่นหมายความว่าเด็กจะมีศักยภาพความคิดสร้างสรรค์แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับองค์ประกอบเหล่านี้ซึ่งมีอิทธิพลต่อความคิดเด็ก เช่น เด็กที่เติบโตในย่านที่มีพิพิธภัณฑ์ ซึ่งจัดนิทรรศการหมุนเวียนทุกเดือน จะมีโอกาสสัมผัสเรื่องราวที่หลากหลาย ประสบการณ์ที่หลากหลายนี้จะแฝงอยู่ในตัวเด็ก เมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อ สิ่งที่สั่งสมมาจะถูกดึงมาใช้ได้

นำมาสู่ความทะยานอยากของคนในแวดวงการศึกษาอย่างท็อดที่จะทำให้ความคิดสร้างสรรค์ถูกวัดและประเมินได้ เพื่อจะนำไปสู่การหาคำตอบว่าปัจจัยแวดล้อมหรือการจัดการเรียนรู้แบบใดที่เราสามารถสร้างให้เด็กได้เติบโตไปพร้อมความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างไร้ขีดจำกัด และเป็นประโยชน์ต่อผู้สอนในแง่ที่ว่าการวัดความคิดสร้างสรรค์จะช่วยประเมินการจัดการเรียนรู้ที่ผ่านมาว่าบรรลุผลในการกระตุ้นให้ผู้เรียนมีความคิดสร้างสรรค์หรือไม่ ท็อดกล่าวว่า “การประเมินคือการให้คุณค่ากับสิ่งที่เราต้องการวัด และการพัฒนาเครื่องมือในการวัดจะช่วยให้ความคิดสร้างสรรค์จับต้องขึ้นมาได้ เมื่อจับต้องได้ก็ช่วยให้ครูและนักเรียน ‘พูดภาษาเดียวกัน’ และสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ทุกคนมีส่วนร่วมได้”

EPoC: นวัตกรรมการวัดความคิดสร้างสรรค์

ท็อด และคณะ ตีพิมพ์งานวิจัยว่าด้วยการประเมินศักยภาพความคิดสร้างสรรค์ในเด็ก (Evaluation of Creative Potential: EPoC) ครั้งแรกในปี 2011 เขาเรียก EPoC ว่าเป็นแบตเตอรีในการวัดศักยภาพความคิดสร้างสรรค์ในทุกแขนงวิชา ไม่ว่าจะเป็น ศิลปะ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือดนตรี EPoC ถูกนำไปใช้ในการศึกษาวิจัยด้านการศึกษาโดย OECD ซึ่งปัจจุบันนี้กำลังทำการวิจัยในประเทศไทยด้วย

การประเมินศักยภาพความคิดสร้างสรรค์จะเริ่มที่การออกแบบบททดสอบ ตั้งต้นจากฐานคิดที่ว่าความคิดสร้างสรรค์เกิดจากความคิด 2 รูปแบบ

แบบแรก divergent thinking คือการคิดให้แตกต่างหลากหลาย การคิดในแบบนี้เด็กจะอยู่ในโหมดสำรวจ (exploratory mode) ถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ จนหลุดจากกรอบความคิดเดิม ท็อดอธิบายให้เห็นภาพผ่านการออกแบบแบบทดสอบ divergent thinking ในวิชาศิลปะที่เรียกว่า Torrance Tests of Creative Thinking-Drawing Production (TCT-DP) [1] แบบทดสอบความคิดสร้างสรรค์ด้านรูปภาพ โดยจะให้เด็กต่อเติมภาพอย่างอิสระโดยใช้เส้นหรือรูปร่างที่กำหนดให้ หรืออาจกำหนดให้เด็กต่อเติมเป็นภาพสิ่งของ หากสร้างเป็นภาพได้เยอะก็บ่งชี้ว่ามีความคิดสร้างสรรค์มาก

แบบทดสอบความคิดสร้างสรรค์แบบ divergent thinking ด้านรูปภาพ กำหนดให้เด็กสร้างภาพที่มีรูปร่างคล้ายกล้วย

แบบที่สอง convergent thinking คือการบูรณาการ (integrate) สิ่งที่ดำรงอยู่เดี่ยวๆ หรือจากการคิดแตกต่างแบบ divergent thinking เข้าด้วยกัน เพื่อสร้างสิ่งใหม่ที่มีความหมายขึ้นมา การออกแบบเครื่องมือเพื่อวัดความคิดสร้างสรรค์ในลักษณะนี้ เช่น ในวิชาศิลปะ ครูอาจจะให้ภาพสิ่งของหลายประเภทและกำหนดให้เด็กใช้รูปที่มีอยู่มาประกอบเป็น 1 ภาพที่สามารถอธิบายเรื่องราวหรือความเชื่อมโยงของสิ่งที่ปรากฏในภาพได้  ดังเช่น ภาพตัวอย่างที่กำหนดหมวก ดวงไฟ กะลามะพร้าว เด็กคนหนึ่งสามารถประกอบเป็นภาพห้องนอนได้ อีกคนประกอบขึ้นเป็นภาพคนไปตกปลาที่ทะเล

แบบทดสอบความคิดสร้างสรรค์แบบ convergent thinking ด้านรูปภาพ กำหนดให้เด็กวาดภาพที่อธิบายและให้ความหมายได้ โดยประกอบขึ้นจากภาพสิ่งของที่กำหนดให้

ท็อดยกตัวอย่างเพิ่มเติมในวิชาคณิตศาสตร์ เพื่อยืนยันว่าไม่ว่าจะในวิชาใดก็สามารถพัฒนาแบบทดสอบให้วัดศักยภาพความคิดสร้างสรรค์ได้ ในกรณีนี้มีการสร้างโจทย์ให้เด็กได้ฝึกคิดวิธีคำนวณทั้งแบบ divergent และ convergent ได้

แบบทดสอบความคิดสร้างสรรค์แบบ divergent thinking ทางคณิตศาสตร์ ด้านการคำนวณ ให้นักเรียนสร้างการคำนวณโดยใช้การดำเนินการทางคณิตศาสตร์ใดก็ได้ ให้ได้ผลลัพธ์เท่ากับ 7 ให้ได้มากที่สุด
แบบทดสอบความคิดสร้างสรรค์แบบ convergent thinking ทางคณิตศาสตร์ ด้านการคำนวณ กำหนดตัวเลขมาให้ 9 ตัว และให้ใช้การดำเนินการทางคณิตศาสตร์ได้ 3 การดำเนินการ ให้นักเรียนสร้างการคำนวณตามข้อกำหนดให้ได้ผลลัพธ์เท่ากับ 1

การทดสอบเพื่อประเมินความคิดสร้างสรรค์ควรออกแบบให้เป็นการทดสอบที่มีพลวัต (dynamic testing) คือให้คณะกรรมการผู้ตัดสินคอยชี้แนะ กระตุ้น หรือเปิดประตูความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้ผู้เข้ารับการทดสอบคิดต่อเองได้ ในระหว่างนั้นผู้ตัดสินจะต้องคอยสังเกตว่าผู้เข้ารับการทดสอบสามารถต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ไปได้มากน้อยแค่ไหนหลังเกิดการแลกเปลี่ยนความคิด ในกระบวนการ EPoC นี้ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้คะแนนและผู้ถูกประเมินจะเป็นแนวราบ ต่างจากความเข้าใจเดิมๆ ที่ผู้ตัดสินไม่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ทำแบบทดสอบ  

องค์ประกอบที่สำคัญที่ทำให้ความคิดอันเป็นนามธรรมเหล่านี้จับต้องได้คือการให้คะแนนเพื่อวัดผล แต่การสร้างมาตรฐานให้การวัดผลนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมนุษย์มีความซับซ้อนในการตัดสิน ถึงกระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าทำไม่ได้เสียทีเดียว EPoC จึงให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมคณะกรรมการผู้ตัดสินให้มีมาตรฐานมากที่สุด ท็อดอ้างถึงโมเดลในประเทศฝรั่งเศส ที่เปิดพื้นที่ให้มีการรับฟังความเห็นจากผู้ตัดสิน เพื่อหาฉันทมติในการประเมิน วิธีนี้จะช่วยลดอิทธิพลจากภูมิหลังหรือความเชื่อเฉพาะบุคคลต่อการตัดสินเด็กให้เหลือน้อยที่สุด ท็อดกล่าวว่าคณะกรรมการผู้ให้คะแนนต้องได้รับการทดสอบหลังการอบรมจนแน่ใจว่าจะรักษามาตรฐานการตัดสินให้อยู่ในระดับเดียวกัน

ตัวอย่างการให้คะแนนการประเมินความคิดสร้างสรรค์ด้านรูปภาพ ที่ผู้ตัดสินร่วมกันกำหนดช่วงคะแนนไว้ 1-7 และมีการพูดคุยถึงรายละเอียดการให้คะแนนให้เข้าใจตรงกัน

เมื่อความคิดสร้างสรรค์วัดออกมาเป็นคะแนนได้ก็ต้องนำไปเปรียบเทียบผลลัพธ์ได้ แต่ข้อจำกัดของการเปรียบเทียบคือไม่สามารถเปรียบเทียบข้ามประเทศได้เพราะบริบททางวัฒนธรรม ภาษา และการจัดการเรียนรู้แต่ละประเทศแตกต่างกัน การเปรียบเทียบในระดับประเทศนั้นทำได้และพึงทำ เพราะเด็กอยู่ในสิ่งแวดล้อมคล้ายคลึงกัน บางชาติอาจจะมีแผนการจัดการเรียนรู้แกนกลางที่ทุกโรงเรียนนำไปใช้เหมือนกัน หากลองเปรียบเทียบ จัดลำดับ และพิจารณาปัจจัยที่ทำให้เด็กในพื้นที่หนึ่งมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าอีกพื้นที่ อาจจะช่วยส่งสัญญาณว่าต้องมีการปรับหลักสูตรหรือปรับวิธีจัดการเรียนการสอนแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ พิจารณาในระดับห้องเรียน การประเมินความคิดสร้างสรรค์ผู้เรียนก่อนและหลังการจัดการเรียนรู้บางอย่างจะช่วยให้ครูประเมินวิธีสอนของตัวเองได้เช่นกันว่าช่วยส่งเสริมให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์เพิ่มขึ้นไหม และกลุ่มใดควรได้รับความสนใจเป็นพิเศษ

ท็อดปิดท้ายว่าการวัดศักยภาพความคิดสร้างสรรค์นั้นทำได้ในทุกช่วงวัย แน่นอนว่าเครื่องมือการประเมินนี้มีความซับซ้อน แต่ก็ถือเป็นมิติใหม่ของการวัดผลสัมฤทธิ์ที่ผู้กำหนดนโยบายหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องน่าจะเก็บไว้พิจารณา เพราะเด็กคนหนึ่งไม่ควรถูกตัดสินจากความรู้ทางวิชาการเพียงด้านเดียว ดังที่ผู้อ่านคงเคยได้ยินคำกล่าวทำนองว่าถึงจะสอบตกวิชาคณิต แต่ก็อาจจะเป็นนักร้องที่มีชื่อเสียงได้ การศึกษาไทยควรมีพื้นที่ให้คนที่มีศักยภาพหลากหลายมากขึ้นเช่นกัน

References
1 แบบทดสอบความคิดสร้างสรรค์ของทอร์เรนซ์ (Torrance Tests of Creative Thinking: TTCT) พัฒนาขึ้นโดยเอลลิส พอล ทอร์แรนซ์ (Ellis Paul Torrance) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาชาวอเมริกัน โดยแบบทดสอบจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ แบบทดสอบรูปภาพ (figural test) และแบบทดสอบภาษา (verbal test)

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save