fbpx

ดีเบตครั้งที่ 1 เลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย เปิดฉากอย่างร้อนระอุ

ภาพประกอบ: Yasuyoshi CHIBA / AFP

ประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ของโลกอย่างอินโดนีเซีย กำลังเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปในทุกระดับในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2024 โดยหลังจากที่เปิดตัวผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีไปเมื่อประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา ศึกการดีเบตถกแถลงนโยบายรอบแรก จากทั้งหมด 5 รอบ ก็เกิดขึ้นในวันที่ 12 ธันวาคม งานนี้ต้องบอกว่า มวยถูกคู่ คนดูสะใจ ออกอาวุธกันทุกดอก เถียงกันทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องนโยบาย

กติกาการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีของประเทศอินโดนีเซียในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ คือคู่ท้าชิงที่จะได้รับตำแหน่งดังกล่าวต้องมีคะแนนเลือกตั้งเกินกว่า 50% โดยหากไม่ถึง 50% จะต้องมีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้งในเดือนมิถุนายน 2023 ซึ่งทีมที่ได้คะแนนเลือกตั้งต่ำที่สุดจะหมดสิทธิ์แข่งขันในรอบที่ 2

จากการสำรวจคะแนนนิยม (poll) พบว่า ทีมหมายเลข 2 โดยพันธมิตรพรรคการเมือง Advanced Indonesia Coalition ซึ่งมีนายพล Prabowo Subianto ผู้ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นครั้งที่ 3 และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมในรัฐบาลปัจจุบัน จับมือกับ Gibran Rakabuming ผู้ว่าการเขต Surakarta (หรือที่นิยมเรียกว่า Solo) ใจกลางเกาะชวา และเป็นบุตรชายคนโตของประธานาธิบดี Joko Widodo กำลังมาเป็นอันดับที่ 1 ด้วยคะแนนสนับสนุนกว่า 40%

ในขณะที่ทีมที่ผลัดกันขึ้นเป็นอันดับ 2 ได้แก่ ทีมผู้สมัครหมายเลข 1 ทีม Amin ที่ได้รับการสนับสนุนจากแนวร่วมพรรคการเมือง Coalition of Change for Unity และมีอดีตผู้ว่าการกรุงจาการ์ตา อย่าง Anies Baswedan เป็นตัวเลือกประธานาธิบดี และมี Muhaimin Iskandar รองประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานพรรคการเมือง National Awakening Party (PKB) ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี ก็กำลังขับเคี่ยวกับทีมผู้สมัครหมายเลข 3 Ganjar Pranowo ผู้ว่าการรัฐชวากลาง ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี คู่กับ Mahfud MD ซึ่งปัจจุบันควบสองเก้าอี้รัฐมนตรี ได้แก่ Coordinating Minister for Political, Legal, and Security Affairs of Indonesia และ Minister of Communication and Information Technology เป็น running mate ลงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี โดยมีแนวร่วมพรรคการเมือง Alliance of Political Parties ที่มีพรรคใหญ่อย่าง Indonesian Democratic Party of Struggle (PDI-P) ซึ่งมีอดีตประธานาธิบดีและบุคคลมากบารมีอย่างนาง Megawati Sukarnoputri เป็นฐานเสียงสนับสนุน แต่ไม่ว่าอย่างไร ทีมหมายเลข 1 และ 3 นี้ก็มีคะแนนนิยมเพียง 16-18% เท่านั้น

ภาพระหว่างการดีเบตผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอินโดนีเซียครั้งที่หนึ่ง โดยประกอบด้วย Ganjar Pranowo (ซ้าย), Prabowo Subianto (กลาง) และ Anies Baswedan (ขวา)
ภาพโดย Yasuyoshi CHIBA / AFP

ดังนั้นเมื่อมีห้วงเวลาทองคำอย่างการดีเบตซึ่งจะจัดทั้งหมด 5 ครั้ง และเป็นที่สนใจของทั้งสื่อสารมวลชนกระแสหลักและ Social Media รวมทั้งประชาชนชาวอินโดนีเซียก็เฝ้าติดตาม การดีเบตจึงเป็นเวทีสำหรับการปล่อยของและฟาดฟันทางการเมืองอย่างเต็มที่ โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งของอินโดนีเซีย กำหนดวัน เวลา และหัวข้อในการดีเบตทั้ง 5 ครั้ง ไว้ดังนี้

ครั้งที่ 1: 12 ธันวาคม 2023 ในประเด็น กฎหมาย สิทธิมนุษยชน การขจัดการทุจริต การกำกับดูแลและการปรับปรุงการบริการสาธารณะ การเสริมสร้างประชาธิปไตย การรับมือกับข้อมูลที่บิดเบือน และการจัดการความสามัคคีของพลเมือง โดยในครั้งนี้ ผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเท่านั้นที่จะมีสิทธิในการดีเบต

ครั้งที่ 2: 22 ธันวาคม 2023 ในประเด็นเศรษฐกิจ ทั้งเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน และเศรษฐกิจดิจิทัล การเงิน การลงทุน ภาษี การค้า การจัดการงบประมาณของรัฐหรือภูมิภาค โครงสร้างพื้นฐาน และเขตเมือง โดยในครั้งนี้เฉพาะผู้ท้าชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีเท่านั้นที่จะมีสิทธิอภิปราย

ครั้งที่ 3: 7 มกราคม 2024 ผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจะถกแถลงในมิติกลาโหม ความมั่นคง ภูมิรัฐศาสตร์ การเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ครั้งที่ 4: 21 มกราคม 2024 ว่าที่รองประธานาธิบดีจะดีเบตในหัวข้อ พลังงาน ภาษีคาร์บอน สิ่งแวดล้อม เรื่องเกษตรกรรม ชนเผ่าพื้นเมือง ความมั่นคงทางอาหาร และทรัพยากรธรรมชาติ

และครั้งสุดท้ายวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2024 หรือ 10 วันก่อนการเลือกตั้ง ว่าที่ประธานาธิบดีจะดีเบตในมิติเทคโนโลยีสารสนเทศ การปรับปรุงบริการสาธารณะ การบิดเบือนข่าวสารข้อมูล การไม่ยอมรับความแตกต่าง การศึกษา สุขภาพ และการจ้างงาน

ในการดีเบตครั้งแรกที่เพิ่งผ่านพ้นไป สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปตามที่ทุกคนคาดการณ์นั้น คือทุกทีมต่างกล่าวหา เบี่ยงเบนประเด็น เลี่ยงการตอบคำถาม เน้นความสะใจของผู้ชม หัวคะแนน และฐานเสียง มากกว่าที่จะเป็นการแถลงนโยบาย

การดีเบตเริ่มต้นโดย Anies Baswedan ผู้สมัครหมายเลข 1 เจาะจงถามไปที่นายพล Prabowo ผู้สมัครหลายเลข 2 ต่อความเห็นของเขาเกี่ยวกับการละเมิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง จากกรณีคำตัดสินของศาลที่ลดอายุขั้นต่ำสำหรับผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีจาก 40 ปีเหลือ 35 ปี ซึ่งปูทางให้กับ Gibran Rakabuming ลูกชายคนโตของประธานาธิบดี Joko Widodo ให้สามารถเข้าชิงตำแหน่งนี้และเป็น running mate ร่วมกับ Prabowo ได้สำเร็จ โดยที่หัวหน้าคณะผู้พิพากษาในการตัดสินครั้งนี้คือ Anwar Usman ซึ่งเป็นน้องเขยของ Joko Widodo และเป็นอาเขยของ Gibran

แน่นอนว่า Prabowo ก็เลี่ยงที่จะไม่ตอบคำถามนี้โดย ตอบว่า “คำตัดสินของศาลถือเป็นที่สิ้นสุดและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้” และยังกล่าวในเชิงหยันว่า “เราไม่ใช่เด็กเล็กๆ แล้วนะคุณ Anies แค่นี้ก็น่าจะพอแล้ว ให้ประชาชนตัดสิน หากประชาชนไม่ชอบ Prabowo และ Gibran พวกเขาก็จะไม่เลือกเราในวันที่ 14 กุมภาพันธ์” ก่อนที่จะตัดจบแบบอดีตนายพล “ขอโทษด้วยนะ Anies ที่ผมไม่มีอะไรจะแจ้งเพิ่มเติม นอกจาก ผมพร้อมที่จะตายเพื่อประเทศนี้”

นั่นทำให้ Anies รุกคืบต่อ โดยพุ่งเป้าไปยังผู้ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีของ Prabowo โดยกล่าวว่า “เราเห็นกันแล้วว่าในทุกวันนี้ คนรุ่นมิลเลนเนียลสามารถเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีได้ (ล้อเลียน Gibran ที่มาสมัครทั้งที่อายุยังไม่ถึง) แต่คนรุ่นมิลเลนเนียลอีกหลายพันคน คนรุ่น Z เหล่านี้ เมื่อพวกเขาแสดงความคิดเห็น เมื่อพวกเขาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล พวกเขามักจะเผชิญกับการต่อต้าน เผชิญกับความรุนแรง และบางครั้งต้องเผชิญแม้กระทั่งกับแก๊สน้ำตา เราควรทนต่อสภาวะนี้หรือไม่?” ซึ่งแน่นอนว่านี่คือการนอกจากจะตัดฐานเสียงทีม Prabowo แล้ว ยังเป็นการประกาศจุดยืนเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของทีม Anies ด้วย

Prabowo ตอบคำถามนี้โดยแจ้ง Anies ว่าเขากำลังหมกหมุ่นกับการวิพากษ์วิจารณ์และเข้าใจผิดไปมากเกี่ยวกับประชาธิปไตย พร้อมกับเตือน Anies ว่า “เขาเองได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้ว่าการกรุงจาการ์ตา ในขณะที่เขาเองก็กำลังต่อต้านรัฐบาล Jokowi ที่มีอำนาจในขณะนั้น ถ้าประชาธิปไตยของอินโดนีเซียไม่ดีจริง และถ้า Jokowi เป็นเผด็จการ คุณซึ่งเป็นฝ่ายค้านไม่มีทางที่จะถูกเลือกหรอก”

จากนั้น Prabowo ก็เริ่มต้นเอาคืน Anies บ้าง โดยการตั้งคำถามว่า ในสมัยที่ Anies เป็นผู้ว่าการกรุงจาการ์ตา และด้วยงบประมาณมหาศาลที่รัฐบาลสนับสนุน แต่การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในเมืองหลวงก็แทบจะไม่มีความคืบหน้าเลยแม้แต่น้อย และจาการ์ตาก็ยังถูกกล่าวถึงเสมอว่า นี่คือเมืองที่มลพิษเลวร้ายที่สุดในโลก

Anies โต้แย้งว่า มลพิษไม่เพียงแต่เกิดจากเมืองเท่านั้น แต่ยังมาจากพื้นที่โดยรอบอื่นๆ ด้วย ซึ่งนั่นคือการเปิดช่องให้ Prabowo เอาคืนโดยการบอกว่า “สำหรับคุณการแก้ปัญหาคงเป็นเรื่องยากเพราะคุณเอาแต่โทษลมฟ้าอากาศ”

ในขณะนี้ผู้สมัครหมายเลข 3 อย่าง Ganjar ก็เข้ามารุมกินโต๊ะ Prabowo ด้วยเช่นกัน โดยใช้ประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในสมัยที่ Prabowo ในฐานะนายพล และเป็นอดีตลูกเขยของผู้นำเผด็จการ Suharto ที่ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 เขาถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการอุ้มหายของเหล่านักเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ก่อนที่ระบอบ Suharto จะล่มสลายในปี 1998

Ganjar ตั้งคำถามต่อ Prabowo ว่า หาก Prabowo ได้เป็นประธานาธิบดี เขาจะจัดตั้งศาลสิทธิมนุษยชนหรือไม่ และ จะช่วยค้นหาศพของนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนในอดีตที่หายตัวไปและไม่เคยพบอีกเลยหรือไม่

สิ่งที่ Prabowo ตอบก็คือ นี่คือคำกล่าวหาที่เขาต้องเจอมาตลอดการลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา และขอให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน

Ganjar ยังไม่ยอมเลิกรา โดยถามอีกครั้งว่า “Prabowo คุณอาจจะไม่เข้าใจคำถาม คำถามของผมจริงๆ คือ คุณจะจัดตั้งศาลสิทธิมนุษยชนหรือไม่หากคุณได้เป็นประธานาธิบดี และคำถามที่สองคือ คุณจะสามารถหาทางช่วยเหลือครอบครัวของนักเคลื่อนไหว เพื่อที่พวกเขาจะได้ไปเยี่ยมหลุมศพบุคคลที่เขารักได้หรือไม่ สองคำถามนี้ ผมยังไม่ได้รับคำตอบ”

และสิ่งที่ Prabowo ใช้ในการตอบคำถามนี้ก็คือ การตั้งคำถามกลับว่า “Ganjar สมัยที่คุณเป็นผู้ว่าการรัฐชวากลาง พื้นที่ของคุณมีปัญหาหนักมากเรื่องการขาดแคลนปุ๋ย คุณล้มเหลวในการทำหน้าที่”

แน่นอนว่า Ganjar ก็ไม่สามารถตอบเรื่องนี้ได้เช่นกัน โดยโบ้ยไปว่า ที่อื่นๆ ก็มีปัญหาเหมือนกัน และปัญหามาจากข้อมูลที่ไม่ดีทำให้การจัดสรรปุ๋ยมีปัญหา

นี่คือบรรยากาศบางส่วนของการดีเบตรอบแรก ซึ่งตลอดทั้งการถกแถลง สิ่งที่เราจะได้รับชมตลอดเวลาคือ พ่อยก แม่ยก ของแต่ละทีมต่างก็ออกอาการเต็มที่เกินความสมจริงทั้งในการชื่นชมผู้สมัครของตนเอง และก่นด่าทีมตรงข้าม บรรยากาศการดีเบตไม่ต่างอะไรจากเวทีมวยปล้ำ WWE ที่เหมือนจะรุนแรง ดุดัน ท่ามกลางอะดรีนาลินที่พุ่งถึงขีดสุดของกองเชียร์ แต่การต่อสู้ที่แม้จะสมจริง แต่ก็ไม่มีสาระแต่อย่างใดในเรื่องการแข่งขันกันเพื่อชี้แจงนโยบายที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และประเทศชาติ

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save