fbpx

อินเดียในวิกฤตพม่า, เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติต้องมาก่อน

“ในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน อินเดียแสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ทางด้านมนุษยธรรมและได้เสนอให้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง อินเดียสนับสนุนกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยในพม่าและเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการสร้างสันติภาพและเสถียรภาพ เราจะประสานนโยบายของเราในเรื่องนี้กับกลุ่มอาเซียนอย่างใกล้ชิด”

ข้อความดังกล่าวข้างต้นปรากฏในทวิตเตอร์ของสุพรหมณยัม ชัยศังกร รัฐมนตรีต่างประเทศอินเดียหลังจากที่ได้พบปะหารือแบบทวิภาคีกับตัน ส่วย รัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลทหารพม่าในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมระหว่างที่ทั้งสองเดินทางมาร่วมประชุมความร่วมมือแม่โขง-คงคาในประเทศไทย เป็นการแสดงให้เห็นถึงท่าทีและนโยบายของเพื่อนบ้านยักษ์ใหญ่อีกแห่งหนึ่งของพม่าต่อวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นมากว่าสองปีแล้วนับแต่การรัฐประหารของมิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพพม่า (ตัดมาดอว์) เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021

ท่าทีและนโยบายดังกล่าวของอินเดียดูเหมือนจะสอดคล้องกับประเทศที่มีชายแดนติดกับพม่าอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นจีนหรือไทย ที่ด้านหนึ่งก็อ้างว่าสนับสนุนและประสานนโยบายกับกลุ่มอาเซียนในการดำเนินการแก้ไขวิกฤตการณ์ในประเทศเพื่อนบ้านที่ทหารปกครองมายาวนานอย่างพม่า แต่ในอีกด้านหนึ่งการดำเนินการดังกล่าวดูเหมือนจะขัดแย้งกับท่าทีและแนวทางของกลุ่มอาเซียนอย่างเห็นได้ชัด

ในฐานะที่เป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประชาคมนานาชาติคาดหวังให้อินเดียแสดงบทบาทและท่าทีในทางที่กดดันต่อรัฐบาลทหารพม่าให้มากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่ออย่างน้อยที่สุดก็ยืนยันความถูกต้องของหลักการทางการเมืองที่ยึดถือมาเป็นเวลาช้านาน แต่อินเดียเป็นประเทศหนึ่งที่หลีกเลี่ยงที่จะออกเสียงประณามการรัฐประหาร และละเลยที่จะปฏิบัติตามมติของสหประชาชาติในอันที่จะไม่ส่งอาวุธสนับสนุนตัดมาดอว์ มิหนำซ้ำยังดำเนินนโยบายในแนวทางที่ไทยและจีนริเริ่มคือ ติดต่อประสานงานกับรัฐบาลทหารพม่าราวกับไม่รับรู้ว่ารัฐบาลนั้นขึ้นสู่อำนาจอย่างไม่ชอบธรรมและโดนต่อต้านอย่างหนักทั้งจากประชาชนของพม่าเองและชุมชนนานาชาติ

ในที่นี้ต้องการที่จะอธิบายถึงสาเหตุและปัจจัยที่ทำให้อินเดียต้องแสดงท่าทีและดำเนินนโยบายต่อพม่าในลักษณะดังกล่าว ซึ่งในเบื้องต้นพบว่า ผลประโยชน์แห่งชาติทั้งในทางยุทธศาสตร์ความมั่นคงและทางเศรษฐกิจ รวมตลอดถึงความต้องการที่จะสร้างสมดุลกับจีน เป็นมูลเหตุสำคัญในการผลักดันให้รัฐบาลในกรุงนิวเดลีต้องเลือกหนทางที่ดูเหมือนว่าจะขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานทางการเมืองของตัวเอง

ผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ความมั่นคง

มองในแง่ภูมิรัฐศาสตร์แล้วอินเดียตั้งอยู่ในพื้นที่ซึ่งล่อแหลมต่อปัญหาทางด้านความมั่นคงอย่างมาก เฉพาะด้านตะวันออกเฉียงเหนือติดกับพม่าที่มีความยาวถึง 1,463 กิโลเมตรนั้นมีความเคลื่อนไหวของกองกำลังติดอาวุธอยู่หลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มที่ต่อต้านอินเดียเองและที่ต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า ยังไม่นับด้านเหนือที่ติดกับจีน 3,488 กิโลเมตรตามที่อินเดียอ้างนั้นมีปัญหาพิพาทกับจีนมาเป็นเวลาช้านาน และประเด็นสำคัญในทางยุทธศาสตร์ความมั่นคงที่แทรกซ้อนกันขึ้นมาอีก คือปัจจุบันจีนมีอิทธิพลเหนือพม่าอย่างมากทั้งในด้านการเมือง ความมั่นคง และเศรษฐกิจ จีนใช้พื้นในรัฐยะไข่ทางด้านตะวันตกของพม่าเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษและทำระเบียงเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงการขนส่งและโลจิสติกต่างๆ จากมหาสมุทรอินเดียผ่านพม่าเข้าสู่มณฑลยูนนาน

สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญที่อ่อนไหวต่อยุทธศาสตร์ความมั่นคงของอินเดียคือ โครงการพัฒนาเกาะโคโคของพม่าที่ดำเนินการโดยจีนซึ่งใช้ประโยชน์ทางทหารได้ เกาะแห่งนี้อยู่ในเขตพม่าแต่อยู่ห่างจากเกาะนิโคบาและอันดามันซึ่งเป็นสถานีเฝ้าระวังทางทหารของอินเดียไปไม่ไกลนัก โครงการนี้กำลังได้รับการพัฒนาในอัตราเร่งที่รวดเร็วมากขึ้นทุกที

ปัญหาความมั่นคงตามแนวชายแดนกับพม่าโดยตรงนั้นจัดได้ว่ายุ่งยากและซับซ้อนไม่น้อย พื้นที่ของรัฐชายแดนด้านตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียในส่วนที่ติดกับพม่านั้นเป็นพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่สู้จะลงรอยกับรัฐบาลในนิวเดลีมานาน ประกอบไปด้วย มิโซลาม มณีปุระ และนากาแลนด์ กองกำลังติดอาวุธที่อยู่ในบัญชีของฝ่ายความมั่นคงอินเดียนั้นมีอยู่มากมายหลายกลุ่ม อาทิ กองทัพปลดปล่อยประชาชน กองทัพประชาชนมณีปุระ พรรคประชาชนปฏิวัติแห่งกังเลปาค ซึ่งเคลื่อนไหวอยู่ในมณีปุระ และกลุ่มซึ่งเป็นที่รู้จักดีในนากาแลนด์คือ สภาสังคมนิยมแห่งชาตินากาแลนด์ ซึ่งต่อสู้เพื่อแยกตัวออกเป็นอิสระจากอินเดียมาช้านาน ทางการอินเดียถือว่ากลุ่มเหล่านี้เป็นกลุ่มก่อการร้ายนอกกฎหมาย

พื้นที่ชายแดนของอินเดียนั้นเชื่อมต่อกับพื้นที่ของพม่าซึ่งเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวสำคัญของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารคือรัฐชินและภาคสะกาย แต่โดยที่ตัดมาดอว์ไม่มีขีดความสามารถจะควบคุมพื้นที่เหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงทำสัญญาลับๆ กับกองกำลังติดอาวุธที่เคลื่อนไหวในมณีปุระ คือ กองทัพปลดปล่อยประชาชน และกลุ่ม Kanglei Yawol Kanna Lup (KYKL) เพื่อให้ช่วยโจมตีขนาบกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People’s Defense Force) ของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ แลกกับการที่ตัดมาดอว์จะให้กลุ่มเหล่านี้หลบเข้ามาซ่อนตัวในพม่าในยามที่โดนกองทัพอินเดียโจมตี ซึ่งนั่นก็เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้รัฐบาลในนิวเดลีแสดงความวิตกกังวลมาโดยตลอด[1]) และมักถูกหยิบยกขึ้นมาหารือทุกครั้งที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงหรือรัฐมนตรีของสองรัฐบาลมีโอกาสได้พบปะกัน

แต่หากจะมองกันอย่างเสมอภาคแล้ว ก็ไม่เฉพาะแต่ตัดมาดอว์กับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอินเดียเท่านั้นที่ทำแบบนั้น กองกำลังของฝ่ายต่อต้านพม่า เฉพาะอย่างยิ่งกองกำลังพิทักษ์ประชาชนก็แสวงหาความร่วมมือกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอินเดียเป็นพันธมิตรเพื่อช่วยต้านทานรัฐบาลทหารพม่าด้วยเช่นกัน สื่อมวลชนอินเดียรายงานว่ากองกำลังพิทักษ์ประชาชนสนธิกำลังกับกองทัพแห่งชนชาติกูกี (Kuki National Army) ปะทะกับตัดมาดอว์เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กองกำลังนี้เป็นหนึ่งใน 25 กลุ่มของเผ่ากูกิ-โซมี ที่เคยทำความตกลงสงบศึกกับอินเดียเมื่อ 2-3 ปีก่อน แต่สัญญานั้นก็ถูกยกเลิกโดยรัฐบาลท้องถิ่นในมณีปุระเมื่อเดือนมีนาคมปีนี้

ความตึงเครียดและโกลาหลตามแนวชายแดนเช่นนี้ สร้างปัญหาซ้ำเติมให้กับความมั่นคงตามแนวชายแดนหลายประการ อันดับแรกเลยคือผู้อพยพลี้ภัยจากรัฐชินที่เข้าไปลี้ภัยในมิโซลาม ทางการอินเดียรายงานว่าถึงปัจจุบันมีผู้อพยพจากพม่าเข้าไปอาศัยอยู่ตามที่ต่างๆ ของมิโซลามมากถึงกว่า 30,000 คน ในจำนวนนี้มีไม่ถึงครึ่งที่อาศัยอยู่ในที่พักพิง 160 แห่งที่ทางการจัดเอาไว้ให้ ที่เหลือกระจัดกระจายไปทั่ว[2])

นอกจากนี้สิ่งที่มักจะมาพร้อมกับความไร้เสถียรภาพตามแนวชายแดนคือปัญหาอาชญากรรมข้ามชาตินานาชนิด ประเด็นหนึ่งที่ชัยศังกร รัฐมนตรีต่างประเทศอินเดียยกขึ้นหารือกับตัน ส่วย รัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลทหารพม่าคือเรื่องการค้ามนุษย์อันสืบเนื่องจากการทำธุรกิจผิดกฎหมายที่เกิดขึ้นตามแนวชายแดนหลังจากการรัฐประหารปี 2021 เป็นต้นมา ชัยศังกรให้ข้อมูลว่ามีชาวอินเดียโดนหลอกไปทำงานคอลเซ็นเตอร์ที่ยังติดอยู่ในพม่ามากถึง 400 คน ชาวอินเดียส่วนหนึ่งเดินทางจากทมิฬนาดูผ่านไทยโดยอาศัย Visa on Arrival เข้าไทยไปแม่สอดแล้วข้ามแม่น้ำเมยไปทำงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษของนักลงทุนชาวจีนที่อยู่ใกล้ๆ แถบนั้น เช่นที่ชเว ก๊ก โก อันลือลั่น เป็นต้น

เพื่อที่จะรักษาผลประโยชน์ทางด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคงในเชิงภูมิรัฐศาสตร์และความมั่นคงตามแนวชายแดน อินเดียเลือกที่จะใช้แนวทางเดียวกับจีนคืออย่างไรเสียก็ต้องเข้าไปติดต่อประสานงานกับรัฐบาลทหารพม่าบนพื้นฐานที่ว่าเป็นผู้ที่อยู่ในอำนาจและยังสามารถควบคุมกลไกรัฐได้อยู่ การมองข้ามตัดมาดอว์หรือตัดความสัมพันธ์ใดๆ ทั้งหมดที่เคยมีอยู่อาจจะทำให้ไม่ได้รับความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นบริเวณชายแดนก็เป็นได้

อนึ่งการติดต่อเกี่ยวพันดังกล่าวนั้นไม่ใช่แค่เพียงติดต่อกันเพื่อแสวงหาความร่วมมือแบบปกติธรรมดา ในความเป็นจริงกองทัพอินเดียพยายามแข่งขันกับจีนเพื่อซื้อใจตัดมาดอว์มาหลายปี ถึงขนาดเคยได้มอบของขวัญชิ้นใหญ่คือเรือดำน้ำชั้น Kilo ใช้แล้ว INS Sindhivir ขนาด 3,000 ตันให้กับกองทัพพม่าเมื่อปี 2020 ในสมัยรัฐบาลของอองซาน ซู จี เรือลำนี้เคยประจำการในกองทัพเรืออินเดียตั้งแต่ปี 1988 ตัดมาดอว์รับเข้าประจำการและตั้งชื่อให้ใหม่เป็น UMS Minye Theinkhathu ทำให้กองทัพพม่ามีเรือดำน้ำใช้เป็นลำแรก และในปีต่อมาจีนก็ต้องเร่งทำคะแนนนิยมด้วยการส่งมอบเรือดำน้ำชั้นหมิง ที่เข้าประจำการในกองทัพพม่าภายใต้ชื่อ Minye Kyaw Htin กลายเป็นว่าตัดมาดอว์มีเรือดำน้ำไว้ในครอบครองฟรีๆ สองลำ ในขณะที่กองทัพเรือของไทยสู้กัดฟันทำรัฐประหารยึดอำนาจหลายครั้งหลายครา ควบคุมการเมืองตลอดเวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมา ยังไม่มีปัญญาหาเรือดำน้ำเข้าประจำการได้แม้แต่สักลำเดียว

ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

อินเดียมีผลประโยชน์ที่สามารถคำนวณเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมในพม่าไม่น้อย ในการประชุมรัฐมนตรีพม่าที่กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้นั้นรัฐมนตรีต่างประเทศ ชัยศังกร ได้เร่งรัดโครงการถนนเชื่อมสามประเทศ อินเดีย-พม่า-ไทย ซึ่งได้ริเริ่มกันเอาไว้ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 แต่ประสบกับปัญหาล่าช้ามาโดยตลอดอันเนื่องมาจากปัญหาหลายประการ รวมทั้งปัญหาทางการเงินและปัญหาความมั่นคงบริเวณชายแดนและภายในประเทศพม่าเอง  

รายงานความคืบหน้าล่าสุดถนนจากเมืองโมเลห์ในรัฐมณีปุระภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียผ่านสะกาย-มัณฑะเลย์เพื่อมาออกชายแดนไทยด้านอำเภอแม่สอดนั้นงานก่อสร้างแล้วเสร็จไป 70 เปอร์เซ็นต์หรือคิดเป็นระยะทางทั้งสิ้น 1,512 กิโลเมตร ส่วนที่เหลือนั้นจะพยายามทำให้เสร็จภายในสามปี แต่หากพิจารณาจากสถานการณ์การสู้รบที่กำลังดุเดือดในรัฐชินและภาคสะกายของพม่าในปัจจุบันบางทีระยะเวลาสามปีที่ว่านั้นอาจจะไม่มีการก่อสร้างเลยก็เป็นได้

ทางด้านการค้านั้นอินเดียเป็นคู่ค้าใหญ่อันดับห้าของพม่า การค้าทวิภาคีระหว่างสองประเทศในช่วงปี 2021-2022 มีมูลค่า 1.89 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าออกของพม่าไปอินเดียส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร ในห้วงเวลาดังกล่าวส่งออกมีมูลค่า 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่การค้าส่วนใหญ่มูลค่ากว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐนั้นอินเดียเป็นฝ่ายส่งออกสินค้าจำพวกเวชภัณฑ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ไปพม่า รัฐบาลทั้งสองเคยตกลงให้ทำการค้ากันด้วยเงินสกุลรูปีและเงินจั๊ตโดยไม่ต้องผ่านตัวกลางหลังจากที่รัฐบาลทหารประกาศเมื่อปีที่แล้วว่าจะยอมรับเงินสกุลท้องถิ่นในการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย จีนและอินเดีย เพื่อหลีกเลี่ยงการพึ่งพิงเงินตราต่างประเทศที่เป็นสิ่งหายากในพม่าปัจจุบัน

การลงทุนของอินเดียในพม่ามีไม่มากนักจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน ปีนี้นักลงทุนจากอินเดียลงทุนในพม่าจากเป็นลำดับที่ 11 วิสาหกิจ 34 แห่งของอินเดียมีโครงการทั้งสิ้น 37 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 775 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยโครงการที่อยู่ในความสนใจของนักลงทุนอินเดียส่วนใหญ่เป็นทางด้านพลังงาน แก๊ส และน้ำมัน

แม้ว่าความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของอินเดียกับพม่าจะห่างชั้นจากจีนอยู่มากก็ตาม แต่โครงการที่ถือว่าเป็นการแข่งขันเพื่อสร้างสมดุลกับจีนโดยตรงคือโครงการท่าเรือชิดต่วยที่เพิ่งเปิดไปเมื่อเร็วนี้ อันเป็นส่วนหนึ่งของการขนส่งหลายรูปแบบกาเลดาน (Kaladan Multi-Model Transit Transport Project) มูลค่า 484 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่เริ่มต้นกันเอาไว้เมื่อ 15 ปีก่อน เพื่อที่จะเชื่อมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียซึ่งไม่มีทางออกทะเลผ่านรัฐชินและยะไข่ของพม่าโดยไม่ต้องผ่านบังคลาเทศ โครงการนี้จะคล้ายกับโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-พม่าที่เชื่อมเจ้าผิวก์ในรัฐยะไข่เช่นกันเพื่อให้มณฑลยูนนานของจีนมีทางออกทะเลในมหาสมุทรอินเดีย

แผนที่โครงการการขนส่งหลายรูปแบบกาเลดาน

อินเดียก็เหมือนกับจีนตรงที่มีการค้ายุทโธปกรณ์กับตัดมาดอว์อย่างต่อเนื่องมานานพอควร แม้ว่าจะเกิดการรัฐประหารแล้วและสหประชาชาติออกมติห้ามมิให้สมาชิกค้าอาวุธกับพม่าแล้วก็ตาม รายงานของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่เผยแพร่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2023 ชี้ให้เห็นว่า วิสาหกิจของอินเดียทั้งภาครัฐและเอกชนขายยุทโธปกรณ์ อุปกรณ์และวัสดุสำหรับผลิตภัณฑ์ทางทหารให้กับตัดมาดอว์คิดเป็นมูลค่า 51 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับแต่ปี 2018 เป็นต้นมาอินเดียส่งมอบเครื่องบินไอพ่นมือสองทั้งแบบฝึกและเครื่องโจมตีขนาดเบาจำนวนหกลำให้กับกองทัพอากาศของตัดมาดอว์

ในเดือนกรกฎาคม 2021 บริษัทบาราต อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของอินเดียตกลงขายระบบป้องกันภัยทางอากาศที่ควบคุมด้วยรีโมตคอนโทรลให้กับพม่าและได้มีการส่งมอบกันเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว นอกจากนี้จากการสืบค้นของผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติยังพบว่าอินเดียได้ส่งมอบอุปกรณ์สำหรับเรดาห์ตรวจการมูลค่า 28 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับตัดมาดอว์ บริษัทบาราตแห่งเดียวกันนี้ยังได้ขายกระสุนและลูกขีปนาวุธให้กับตัดมาดอว์อย่างต่อเนื่องหลังการรัฐประหาร

รายงานฉบับเดียวกันนี้ของสหประชาชาติยังได้ให้ข้อมูลอีกด้วยว่า บริษัทยานตรา ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจอีกแห่งหนึ่งของอินเดียได้ขายลำกล้องปืนใหญ่ขนาด 122 มิลลิเมตรให้กับตัดมาดอว์อีกด้วย มีบริษัทเอกชนอีกจำนวนหนึ่งถูกระบุในรายงานฉบับเดียวกันว่าได้ขายวัสดุอุปกรณ์หลายรายการให้กับตัดมาดอว์หรือหน่วยงานในสังกัดตัดมาดอว์ เช่นบริษัท Electro Pneumatic and Hydraulics ขายอุปกรณ์เครื่องกลต่างๆ ให้กับตัดมาดอว์ในมูลค่าห้าแสน-หนึ่งล้านดอลลาร์สหรัฐ บริษัท Jainkoch ในกัลกัตตา ขายมอเตอร์และสายพานไทม์มิ่ง (ที่ใช้ในระบบฉุดกำลังของเครื่องยนต์) ในมูลค่า 100,000-500,000 ดอลลาร์สหรัฐ บริษัท Sai Sree Infra Developer ขายอุปกรณ์ทางการศึกษาให้กับโรงเรียนทหารของตัดมาดอว์ เป็นต้น[3])

กล่าวโดยสรุปอย่างรวบรัดแล้ว การดำเนินโยบายของอินเดียต่อพม่านั้นโดยทั่วไปแล้วก็เป็นเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติของตนเองมากกว่าอย่างอื่นทั้งหมด บทสนทนาในวงการทูตที่อินเดียพยายามจะนำเสนอในทำนองที่ว่าอยากจะเห็นการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ในพม่าเอาประชาชนเป็นศูนย์กลางและปรารถนาจะเห็นพม่าเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยโดยเร็วนั้นจึงเป็นแต่เพียงวาทะทางการทูตเท่านั้น ที่ผ่านมารัฐบาลในกรุงนิวเดลีไม่ได้ดำเนินการใดๆ ในอันจะช่วยให้เกิดการแก้ไขปัญหาให้กับพม่าเลย ตรงกันข้ามกับพยายามผลักโครงการพัฒนาต่างๆ ที่เคยริเริ่มเอาไว้ร่วมกันกับรัฐบาลก่อนๆ ราวกับว่าไม่มีเหตุการณ์ที่ผิดปกติเกิดขึ้นในพม่าเลยในช่วงกว่าสองปีที่ผ่านมา

ในขณะที่มีเสียงเรียกร้องจากสหประชาชาติ สหรัฐฯ พันธมิตรตะวันตก และสมาชิกบางส่วนของอาเซียนที่ปรารถนาอยากจะให้อินเดีย ซึ่งเป็นพันธมิตรในยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก กับสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ได้ใช้อำนาจและอิทธิพลของตัวเองที่มีอยู่ออกแรงกดดันตัดมาดอว์ให้มากกว่าที่เป็นอยู่เพื่อให้การแก้ไขวิกฤตพม่าในคราวนี้บรรลุผล

อินเดียอยู่ในฐานะเดียวกับจีนคือเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีขนาดใหญ่และมีอิทธิพลทางด้านการเมือง ความมั่นคงและเศรษฐกิจเหนือพม่ามากพอที่จะกดดันให้รัฐบาลทหารพม่ายอมโอนอ่อนผ่อนตามได้ เพื่อเห็นแก่ประโยชน์ของความสงบร่วมกันของทุกฝ่าย

นอกจากนี้แล้วอินเดียอาจจะมีข้อแตกต่างจากจีนตรงที่ยึดถือการเมืองในระบอบประชาธิปไตยมากกว่าแนวทางอำนาจนิยม กองทัพอินเดียไม่เคยใช้กำลังแทรกแซงการเมืองเหมือนอย่างกรณีของตัดมาดอว์หรือแม้แต่ไทย รัฐบาลเดลีจึงอยู่ในฐานะที่จะสอดแทรกหลักการดังกล่าวในการดำเนินนโยบายต่างประเทศต่อพม่าได้อย่างแนบเนียน


References
1 Jayanta Kalita “Indian labels now brothers in arms with Myanmar military” Irrawaddy January 27, 2022 (https://www.irrawaddy.com/opinion/guest-column/indian-rebels-now-brothers-in-arms-with-myanmar-military.html
2 Murali Krishnan “India: Will there be a roll back of Myanmar’s refugees” DW. March 22, 2023 (https://www.dw.com/en/india-will-there-be-a-roll-back-of-myanmars-refugees/a-65080896
3 Human Rights Council 53rd session. The Billion Dollar Death Trade: The International Arms Networks that Enable Human Rights Violation in Myanmar. May 27, 2023 (https://www.ohchr.org/sites/default/files/documents/countries/myanmar/crp-sr-myanmar-2023-05-17.pdf

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save