fbpx

บทบาทของจีนในวิกฤตการณ์พม่า: สัจธรรมของหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน

หลังจากการรัฐประหารของมิน อ่อง หล่าย เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 แล้วมีรัฐมนตรีต่างประเทศจีนสองคนต่างยุคต่างรัฐบาลเดินทางไปเยือนพม่าด้วยท่าทีที่แตกต่างกัน หวัง ยี่ รัฐมนตรีต่างประเทศจีนคนก่อนเดินทางเยือนเนปิดอว์ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ระหว่างการประชุมความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง แต่ไม่ได้เข้าพบมิน อ่อง หล่าย ประธานสภาบริหารแห่งรัฐ นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุด นักสังเกตการณ์ทั้งหลายตีความว่านี่เป็นการแสดงออกถึงการไม่ยอมรับ (recognize) รัฐบาลทหารพม่าของทางการจีน

แต่หลังจากนั้นไม่ถึงปี คนที่สอง ฉิน กัง (Qin Gang) รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ที่มาแทนหวัง ยี่ เดินทางเยือนเนปิดอว์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ได้พบกับมิน อ่อง หล่าย อย่างเปิดเผยและพูดถึงความร่วมมือกับรัฐบาลทหารพม่าเสมือนหนึ่งประเทศนี้อยู่ในสภาพปกติ แถมบอกว่าการเดินทางครั้งนี้เป็นการสานต่อภารกิจที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้ดำเนินเอาไว้ระหว่างการเยือนพม่าในโอกาสฉลองครบรอบ 70 ปีของการเปิดสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เมื่อเดือนมกราคม 2563 ซึ่งเป็นเวลาที่พม่ายังอยู่ภายใต้การนำของรัฐบาลพลเรือนของออง ซาน ซู จี

จีนมองความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเป็นความสัมพันธ์ฉันพี่น้อง (fraternal) รัฐมนตรีฉิน กังกล่าวระหว่างการหารือกับ มิน อ่อง หล่ายว่ารัฐบาลปักกิ่งสนับสนุนกระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองพร้อมทั้งสนับสนุนให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหาทางสร้างความปรองดองภายใต้กรอบกฎหมายและรัฐธรรมนูญ

ในขณะที่มิน อ่อง หล่าย พูดถึงหลักการกว้างๆ ในการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับจีนว่าจะให้ความร่วมมือและมีมิตรภาพที่ดีต่อกันเพื่ออนาคต ตัน ส่วย รัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลทหารพม่าบอกกับฝ่ายจีนว่าจะมีการกระชับความร่วมมือกันทางด้านความมั่นคง และประการสำคัญจะร่วมมือในการปราบปรามอาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ตซึ่งกำลังเป็นปัญหาสำคัญที่สร้างผลกระทบต่อชาวจีนอยู่ในปัจจุบัน

นอกจากนี้แล้ว ทางฝ่ายจีนได้เน้นย้ำและจะดำเนินการเร่งโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-พม่า (China-Myanmar Economic Corridor) ให้มีความคืบหน้า เพื่อผลประโยชน์ร่วมทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ

ทั้งนี้มีรายงานข่าวด้วยว่า ก่อนที่จะเดินทางไปเยือนพม่าในคราวนี้ ฉิน กังได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมชายแดนของสองประเทศด้านมณฑลยูนนาน เพื่อเปิดมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองของพม่าอันเกี่ยวข้องเนื่องกับความมั่นคงตามแนวชายแดนและที่สำคัญดูเหมือนทริปนี้จะช่วยเน้นย้ำบทบาทของจีนต่อวิกฤตการณ์ทางการเมืองของพม่าด้วย แม้ว่าทางการจีนจะพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าจะไม่ดำเนินการใดๆ ที่อาจจะถือได้ว่าเป็นการ ‘แทรกแซงกิจการภายใน’ ของพม่า และกล่าวหาประเทศตะวันตกเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ ว่าได้กระทำการละเมิดหลักการระหว่างประเทศ ทำการแทรกแซงกิจการภายในของพม่าด้วยการคว่ำบาตรและให้การสนับสนุนฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า

ในที่นี้ต้องการที่จะแสดงให้เห็นว่าหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน (non-interference) เป็นคาถาที่ไม่ศักดิ์สิทธิ์ที่อ้างขึ้นมาเพื่อกันท่าคนอื่นเท่านั้นเอง หลังจากการรัฐประหารของมิน อ่อง หล่าย ทางการจีนได้ดำเนินการหลายอย่างอันถือได้ว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายใต้ของพม่าด้วยเช่นกัน ทั้งในแบบที่รัฐบาลทหารพม่าให้ความยินยอมและจำยอม หรือแม้แต่ไม่ยินยอมก็ตามเพื่อประโยชน์ทางด้านยุทธศาสตร์ในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ของจีนเอง

ความได้เปรียบทางการเมือง

จีนเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่ไม่ได้ประณามการก่อการรัฐประหารของมิน อ่อง หล่าย ซึ่งยึดอำนาจโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 รัฐบาลในปักกิ่งเพียงแต่พูดว่ารับรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพม่าและพยายามจะทำความเข้าใจสถานการณ์ กระทรวงการต่างประเทศของจีนมีแนวทางในการพิจารณาปัญหาพม่าที่ค่อนข้างคงเส้นคงวา คำพูดที่ฉิน กัง เอ่ยกับมิน อ่อง หล่าย ที่ว่าทางการจีนหวังว่าทุกฝ่ายจะสามารถจัดการกับความแตกต่างได้ภายใต้กรอบของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ คือประโยคเดียวกันกับที่หวัง เวินบิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวในวันที่มิน อ่อง หล่ายก่อรัฐประหาร

ท่าทีเช่นนั้นของรัฐบาลจีนถูกตีความไปได้ว่า แม้รัฐบาลปักกิ่งไม่ค่อยยินดีกับการรัฐประหารเท่าใดนัก แต่ไม่สามารถแสดงท่าทีแบบเดียวกับประเทศตะวันตกได้เพราะพม่าอยู่ใกล้ชิดจีนมากและเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่จีนไม่อาจจะทิ้งได้ ไม่ว่ารัฐบาลประเภทใด เป็นที่ชื่นชอบหรือไม่เป็นที่ชื่นชอบของประชาชน หากปรากฏว่ายังครองอำนาจอยู่ในเมืองหลวงได้ รัฐบาลปักกิ่งก็มีความจำเป็นที่จะต้องเกี่ยวพันด้วย เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของจีนเป็นสำคัญ

ถึงจะมีจุดยืนเช่นนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าปักกิ่งจะไม่ดำเนินการใดๆ เลยกับเหตุการณ์ในพม่า มีรายงานว่าทางการจีนพยายามแสดงบทบาทและอิทธิพลเหนือการเมืองพม่าอยู่เนืองๆ ในเดือนกันยายน 2564 คือ 7 เดือนหลังการรัฐประหาร รัฐบาลในกรุงปักกิ่งส่ง ซุน โก๊ะเซียง (Sun Guoxiang) ผู้แทนพิเศษด้านพม่าในขณะนั้นเดินทางไปเนปิดอว์เพื่อพบปะกับผู้นำรัฐบาลทหารพม่าและเขาได้ขอพบกับออง ซาน ซู จี ด้วยแต่ได้รับการปฏิเสธจากทางการพม่า อีกทั้งปักกิ่งก็ยังได้แสดงไมตรีในระดับพรรคต่อพรรค ด้วยการเชิญผู้แทนพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยเข้าร่วมประชุมพรรคการเมืองร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนและพรรคการเมืองอื่นๆ จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกจำนวนหนึ่ง

อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องที่ปฏิเสธได้ยากว่า รัฐบาลปักกิ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับตัดมาดอว์อย่างต่อเนื่องยาวนาน แม้ว่ามันจะไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่หวานชื่น ราบรื่นหรือไว้เนื้อเชื่อใจกันไปเสียทั้งหมดก็ตาม แต่จีนก็เป็นแหล่งซัพพลายอาวุธรายใหญ่ของพม่า รายงานของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่เผยแพร่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ชี้ให้เห็นว่าจีนยังคงส่งอาวุธขายให้ตัดมาดอว์หลังการรัฐประหารแม้ว่าจะมีเสียงเรียกร้องและข้อมติให้สมาชิกสหประชาชาติยุติการส่งอาวุธให้ทหารพม่าไปสังหารประชาชนก็ตาม นับจากวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา รายงานดังกล่าวเปิดเผยว่าซัพพลายเออร์ 41 รายที่มีฐานอยู่ในจีนและฮ่องกง ส่งอาวุธไปขายให้ตัดมาดอว์ผ่านช่องทางต่างๆ คิดเป็นมูลค่า 267 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยยุทโธปกรณ์สำคัญที่ส่งไปจากจีนมีตั้งแต่เครื่องบินรบ ขีปนาวุธ ไปจนถึงลูกกระสุนทั้งปืนเล็กและปืนใหญ่[1]

ความจริงแล้วประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ของยุทโธปกรณ์ที่ตัดมาดอว์ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นมาจากจีน ทั้งที่มาจากความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ และที่จัดซื้อมาเอง ผู้นำตัดมาดอว์เองก็ตระหนักดีว่าพึ่งพิงจีนมากจนเกินไป จึงได้พยายามมองหาแหล่งอาวุธอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากรัสเซียซึ่งอยู่ในสารบบเดียวกับจีนและทหารตัดมาดอว์คุ้นเคยอยู่แล้ว แต่สัดส่วนของยุทโธปกรณ์ที่ผลิตในรัสเซียที่ตัดมาดอว์ใช้อยู่ยังอยู่ในสัดส่วนไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมดแม้ว่ารายงานฉบับเดียวกันของสหประชาชาติจะระบุว่าหลังการรัฐประหารตัดมาดอว์ซื้ออาวุธจากรัสเซียมีมูลค่ามากกว่าจีนเกือบเท่าตัวคือ 406 ล้านดอลลาร์สหรัฐจาก 28 ซัพพลายเออร์

ในขณะที่มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับตัดมาดอว์ แต่ก็เป็นเรื่องที่รู้กันโดยทั่วไปอีกเช่นกันว่า รัฐบาลจีนมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับกองกำลังของกลุ่มชาติพันธ์หลายกลุ่มที่อยู่ตามแนวชายแดนของสองประเทศ ในระยะที่ผ่านมาจีนได้แสดงความชัดเจนว่าต้องการให้กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของจีนอย่างน้อยเจ็ดกลุ่มเจรจาสงบศึกกับตัดมาดอว์เพื่อเริ่มต้นกระบวนการสันติภาพไปสู่การปรองดองแห่งชาติ

ทั้งเจ็ดกลุ่มนั้นประกอบไปด้วย กองทัพสหรัฐว้า (United Wa State Army) กองทัพคะฉิ่นอิสระ (Kachin Independent Army) กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ (National Democratic Alliance Army) พรรครัฐฉานก้าวหน้า (Shan State Progressive Party) กองทัพอาระกัน (Arakan Army)  กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอั้ง (Ta’ang National Liberation Army) และกองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติพม่า (Myanmar National Democratic Alliance Army) หรือกองกำลังของกลุ่มโกกั้ง

ผู้แทนพิเศษด้านพม่าคนใหม่ของจีน เติ้ง ซีจุน (Deng Xijun) ได้ประชุมพบปะหารือกับผู้แทนของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านั้นอยู่เนืองๆ การพบปะกันที่ได้รับการเปิดเผยต่อสาธารณะครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเดือนมีนาคมปีนี้ ซึ่งนับเป็นรอบที่สามแล้วนับแต่เขาได้รับตำแหน่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ไม่มีการประกาศให้สาธารณะรับรู้วัตถุประสงค์ของการพบปะดังกล่าวชัดเจนนัก แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าเนื้อหาของการประชุมจะผสมปนเปกันไปหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการรักษาเสถียรภาพตามแนวชายแดนจีน-พม่า ไปจนถึงการรับทราบความเคลื่อนไหวของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมดทั้งที่ต่อต้านรัฐบาลทหารโดยชัดแจ้ง ต่อต้านบางส่วน ที่เข้ากับตัดมาดอว์และที่ทำตัวเป็นนกสองหัว โดยที่อาจจะเป็นไปได้ว่าต้องการให้กองกำลังติดอาวุธทั้งหลายเหล่านี้ปรองดอง (หรืออย่างน้อยสงบศึก) กับตัดมาดอว์ เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเมือง การทหาร หรืออาจจะต้องการคัดคานอำนาจและอิทธิพลของสหรัฐและประเทศตะวันตกหรือประเทศอื่นใดที่สนับสนุนหรือส่งความช่วยเหลือแก่กองกำลังของฝ่ายต่อต้าน ซึ่งรวมถึงกองกำลังพิทักษ์ประชาชนของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติด้วย

ความเคลื่อนไหวล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เมื่อจีนเชิญผู้แทนตัดมาดอว์ไปพบปะพูดคุยกับผู้แทนของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์สามกลุ่มได้แก่ กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติพม่า กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอั้งและกองทัพอาระกัน ซึ่งรู้จักกันในชื่อ สามกองทัพแห่งภราดรภาพ ที่เมืองลา ที่ติดชายแดนจีนด้านรัฐฉาน ไม่มีรายงานผลการประชุมที่เป็นรูปธรรมมากไปกว่าการแสดงเจตนาว่าจะมีการพบปะกันอีกครั้งหนึ่งเพื่อแผ้วถางทางไปสู่การสงบศึกระหว่างตัดมาดอว์กับกลุ่มดังกล่าว

กองกำลังสองกลุ่มแรกมีฐานที่มั่นและพื้นที่ยึดครองอยู่ทางตอนเหนือของรัฐฉานติดกับชายแดนจีน ส่วนกองทัพอาระกันนั้นเคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ทางตะวันตกของรัฐยะไข่ ทั้งสามกลุ่มมีท่าทีต่อตัดมาดอว์ไม่ค่อยคงเส้นคงวานัก ระยะแรกๆ แสดงการต่อต้านรัฐบาลทหารอย่างชัดแจ้ง ระยะหลังอยู่เหมือนว่าจะพยายามมีไมตรีกับตัดมาดอว์เพื่อรักษาฐานที่มั่นของตัวเองเป็นสำคัญ แต่ในจำนวนนี้ยังไม่มีกลุ่มใดที่ประกาศอย่างชัดเจนว่าจะร่วมการต่อสู้ของฝ่ายต่อต้านที่นำโดยรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ การพบปะประชุมกันจึงไม่ปรากฏผลว่าจะออกไปทางใดกันแน่

แต่ผลที่ตกได้กับฝ่ายจีนดูจะชัดเจนกว่าเมื่อกองกำลังแห่งภราดรภาพประกาศจับมือกันปกป้องผลประโยชน์ของจีน[2] สาเหตุสำคัญที่ทำให้กองกำลังของกลุ่มเหล่านี้ต้องออกมาแสดงจุดยืนเช่นนี้ เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากจีนเป็นสำคัญ หลังจากที่มีข่าวกระเซ็นกระสายว่า กองกำลังของฝ่ายต่อต้านเฉพาะอย่างยิ่งกองกำลังพิทักษ์ประชาชนของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพุ่งเป้าโจมตีผลประโยชน์ของจีน เพราะเหตุที่ฝ่ายจีนเคลื่อนไหวไปในทางที่เข้าข้างหรือสนับสนุนรัฐบาลทหารพม่าอย่างเห็นได้ชัด

ผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์

มองในแง่ภูมิรัฐศาสตร์แล้วจีนมีความจำเป็นที่จะต้องรักษาเสถียรภาพและระเบียบตามแนวชายแดนทางบกที่ยาวถึง 2,204 กิโลเมตร เนื่องจากเป็นพื้นที่ซึ่งมีความอ่อนไหวทางด้านความมั่นคง พื้นที่ส่วนหนึ่งเฉพาะอย่างในรัฐฉานและรัฐคะฉิ่นอันเป็นฐานที่มั่นและเขตยึดครองของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายกลุ่มที่มีความเป็นอิสระมากพอควรในบางเวลาขัดแย้งกับรัฐบาลกลางในกรุงเนปิดอว์และตัดมาดอว์ บางเวลาสามารถสงบศึกกันได้ บนพื้นฐานที่ได้รับอนุญาตให้มีอำนาจปกครองตนเองและจัดการทรัพยากรได้ระดับหนึ่ง หลายกลุ่มเช่น ว้า คะฉิ่น โกกั้ง มีความสัมพันธ์อันดีกับจีนมานานเพราะเคยเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการคอมมิวนิสต์จึงเปิดโอกาสให้รัฐบาลจีนทั้งในปักกิ่งและมณฑลชายแดนอย่างหยูนนานแทรกแซงและสร้างอิทธิพลเหนือกลุ่มเหล่านั้นได้โดยง่าย จีนมักจะใช้กลุ่มเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการต่อรองหรือบ่อนเซาะความมั่นคงของพม่าเสมอๆ แน่นอนว่าตัดมาดอว์ไม่พอใจสภาพแบบนี้แน่นอน แต่ไม่มีขีดความสามารถจะกำหราบกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีจีนหนุนหลังเหล่านี้ให้อยู่หมัดได้

อย่างไรก็ตามกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้สร้างปัญหาให้จีนเช่นกัน เพราะพวกเขาเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจสีเทาอย่างเป็นล่ำเป็นสันไม่ว่าจะเป็นยาเสพติด อาวุธ การพนัน การค้ามนุษย์ รวมตลอดไปถึงอาชญากรรมทางไซเบอร์อีกมากมาย เมืองชายแดนจีน-พม่าที่ขึ้นชื่อ เช่น เมืองลา รุ่ยลี่ มูเซ ทั้งหลายเหล่านี้อยู่ภายใต้อิทธิพลของกองกำลังฝ่ายต่างๆ รวมตลอดถึงแก๊งมาเฟียที่บ้างก็หนีเงื้อมมือกฎหมายของจีนไปสร้างฐานและอาณาจักรแห่งธุรกิจที่ผิดกฎหมายกันอย่างสนุกสนาน

ความมั่นคงตามแนวชายแดนและพื้นที่ดังกล่าวข้างต้นเป็นความจำเป็นอันดับต้นสำหรับการเปิดเส้นทางเชื่อมโยงผ่านดินแดนของพม่าไปออกมหาสมุทรอินเดีย ภายใต้โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง รัฐบาลจีนและพม่าในอดีตที่ผ่านมาสมัยออง ซาน ซู จีได้ตกลงกันในปี 2018 เพื่อสร้างระเบียงเศรษฐกิจ (China-Myanmar Economic Corridor) ภายใต้โครงการนี้จีนได้รวมเอาเส้นทางคมนาคมและระบบท่อขนส่งแก๊สและน้ำมันจากเจ้าผิวก์ในรัฐยะไข่ผ่านมัณฑะเลย์ไปยังเมืองคุนหมิง เมืองหลวงของมณฑลยูนนานที่เริ่มการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2013 เข้าไปเป็นส่วนสำคัญ พร้อมทั้งเสริมขยายโครงสร้างพื้นฐานอีกหลายอย่าง เช่น ถนน ทางรถไฟ ท่าเรือ เข้าไปในแผนและเชื่อมโยงกับย่างกุ้งอันเป็นเมืองธุรกิจอดีตเมืองหลวงทำให้ระเบียงเศรษฐกิจแห่งนี้ปรากฏเป็นรูปอักษรตัว Y กลับหัว มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจถึง 33 ฉบับ ระหว่างที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เยือนพม่าในเดือนมกราคม 2020 เพื่อพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเจ้าผิวก์ ท่าเรือน้ำลึก เส้นทางรถไฟ และทางด่วนระหว่างมูเซ-มัณฑะเลย์ และทางหลวงเจ้าผิวก์-เนปิดอว์

โครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-พม่านี้มีความสำคัญต่อจีน (อาจจะมากกว่าต่อพม่าเสียอีก) เพราะมันหมายถึงการย่นระยะทางการขนส่งพลังงานและวัตถุดิบหรือสินค้าอื่นๆ จากยุโรป แอฟริกา และตะวันออกกลางผ่านมหาสมุทรอินเดียเข้าสู่มณฑลทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน รัฐมนตรีต่างประเทศของจีนที่เยือนพม่าหลังการรัฐประหารไม่ว่าจะเป็น หวัง ยี่ หรือ ฉิน กัง ที่แม้ว่าจะแสดงท่าทีต่อมิน อ่อง หล่าย แตกต่างกันอยู่บ้างแต่เน้นสารสำคัญของการเยือนอย่างเดียวกันคือตอกย้ำความสำคัญและเร่งรัดพัฒนการของโครงการนี้ให้สำเร็จลุล่วงในเร็ววัน ในขณะที่รัฐบาลทหารพม่าภายใต้สภาบริหารแห่งรัฐก็ตอบสนองในทางบวกและรับปากว่าจะเดินหน้าโครงการนี้ต่อไปโดยไม่ลังเล แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ้างว่าโครงการทำนองนี้จะทำให้พม่าต้องพึ่งพิงจีนมากจนถอนตัวไม่ขึ้น และที่สำคัญอาจจะเหมือนประเทศยากจนอื่นๆ ในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือติดกับดักหนี้สิ้นของจีน

นอกจากนี้ระหว่างการเยือนของฉิน กัง เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ฝ่ายจีนได้เสนอโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-พม่า-บังคลาเทศ เพิ่มเติม นัยว่าจะช่วยส่งเสริมบทบาทของจีนในเอเชียใต้ให้เด่นชัดเพื่อสร้างสมดุลกับอินเดียและแถมยังจะช่วยเป็นสะพานเชื่อมระหว่างพม่ากับบังคลาเทศซึ่งมีปัญหาระหองระแหงกันอันเนื่องมาจากปัญหาชาวโรฮิงญาซึ่งอพยพไปอยู่ชายแดนบังคาเทศนับล้านคนโดยที่ความพยายามที่จะส่งกลับไม่ประสบความสำเร็จเลยนับแต่ปี 2017

เรื่องสำคัญซึ่งเป็นที่จับตามองคือการพัฒนาเกาะโคโคของพม่าเพื่อให้ใช้ประโยชน์ทางทหารได้ เกาะแห่งนี้อยู่ห่างจากย่างกุ้งไปทางใต้ประมาณ 400 กิโลเมตรและอยู่ห่างจากเกาะนิโคบาและอันดามันซึ่งเป็นสถานีเฝ้าระวังทางทหารของอินเดียไปไม่เท่าไหร่ ภาพถ่ายดาวเทียมเมื่อเดือนมกราคมปรากฏว่ามีการขยายรันเวย์และโรงเก็บเครื่องบินอยู่บนเกาะแห่งนี้แล้ว[3]

ผลประโยชน์สำคัญประการหนึ่งของจีนในพม่าที่สมควรจะต้องกล่าวถึงในที่นี้คือการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งก็เป็นที่รับรู้กันทั่วไปแล้วว่าจีนลงทุนขุดค้นทรัพยากรในพม่ามานาน ทองคำ พลอย และหยก ดูจะเป็นสิ่งสามัญไปแล้วในปัจจุบัน แต่ที่น่าสนใจเป็นการเฉพาะเจาะจงคือแร่ธาตุหายาก (rare earth) ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมชั้นสูงอย่าง สายเคเบิลใยแก้วนำแสงและเซมิคอนดักส์ อันเป็นส่วนประกอบสำคัญสำหรับคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ รถไฟฟ้า ไปจนถึงเครื่องบินรบและขีปนาวุธ

ปัจจุบันจีนเป็นผู้ผลิต rare earth นี้มากเป็นอันดับหนึ่งของโลกคิดเป็นสัดส่วนถึง 62 เปอร์เซ็นต์ของการผลิตทั่วโลก รองลงมาเป็นสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และที่น่าสนใจมากคือพม่าสามารถผลิตได้มากถึง 12,000 ตันในปีที่แล้วจัดเป็นอันดับ 4 มีสัดส่วนการผลิตประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของการผลิตทั่วโลก ผู้ผลิตในพม่าส่วนใหญ่แล้วเป็นบริษัทจากจีน และที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ในปัจจุบันคือองค์กรคะฉิ่นอิสระ (Kachin Independence Organization) ประกาศเมื่อเดือนเมษายนว่าได้ยุติการให้สัมปทานบัตรกับนักลงทุนขุดค้น rare earth ในรัฐคะฉิ่น หลังจากมีประชาชนนับพันคนจาก 10 หมู่บ้านพากันไปประท้วง เพราะโครงการพวกนี้สร้างปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมให้กับประชาชนอย่างมาก[4]

นอกจากนี้จีนมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจทั่วไปในพม่าอีกมาก ปัจจุบันนักลงทุนจากจีนลงทุนมากในพม่าเป็นอันดับสองรองจากสิงคโปร์ จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2566 นักลงทุนจากจีนได้รับการอนุมัติการลงทุนจากทางการพม่าจำนวน 593 โครงการคิดเป็นมูลค่า 21,748 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การลงทุนจากจีนในพม่าชะลอตัวเล็กน้อยหลังการรัฐประหารใหม่ๆ เพราะประชาชนพากันต่อต้านธุรกิจจีนเนื่องจากเห็นว่าทางการจีนให้การสนับสนุนรัฐบาลทหาร โรงงานของบริษัทจีน 32 แห่งถูกเผาระหว่างการประท้วงในเดือนเมษายน 2665 ทางการจีนเรียกร้องให้ตัดมาดอว์รับประกันความปลอดภัยของธุรกิจจีนและผลประโยชน์จีนในพม่า รวมถึงพยายามติดต่อกับคณะกรรมการผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งในปี 2020 (แต่ไม่ได้เข้าสภาเพราะโดนยึดอำนาจ) เพื่อหาทางสื่อสารกัน แต่ดูเหมือนจะไม่เป็นผลเท่าใดนัก เพราะหลังจากนั้นไม่นานรัฐบาลทหารพม่าก็อนุมัติโครงการลงทุนต่างๆของบริษัทและรัฐวิสาหกิจจีนเป็นปกติ นับแต่การรัฐประหารจนถึงปัจจุบันจีนลงทุนในพม่าไปแล้ว 113 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทางด้านการค้านั้นจีนจัดได้ว่าเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของพม่าปีที่แล้วมีการค้าขายระหว่างกัน 2,159 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยที่การค้าส่วนใหญ่จะเป็นการค้าชายแดน ด่านมูเซ-รุ่ยลี่ เป็นด่านการค้าที่สำคัญที่สุดระหว่างพม่าและจีนมูลค่าการค้าที่ผ่านด่านนั้นมีสูงถึงกว่า 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรากฏการณ์สำคัญในเรื่องการค้าหลังจากโดนคว่ำบาตรหลังการรัฐประหารคือ รัฐบาลทหารพม่าพยายามที่จะพึ่งพิงเงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐให้น้อยลงด้วยการกำหนดให้ผู้ค้าที่ทำการค้าชายแดนกับจีนเปิดบัญชีเงินหยวนตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา นั่นก็หมายว่าผูกพันกับจีนเพิ่มมากขึ้น

สรุป

จะเห็นได้ว่าแนวนโยบายและการดำเนินการของรัฐบาลในกรุงปักกิ่งในกรณีของวิกฤตการณ์พม่าหลังการรัฐประหารของมิน อ่อง หล่าย นั้นยืนอยู่บนพื้นฐานที่ว่ารัฐบาลที่มีอำนาจอยู่จริงเท่านั้นจึงจะอำนวยผลประโยชน์ให้กับจีนได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจีนเล่นไพ่ใบเดียวคือตัดมาดอว์เท่านั้น ที่ผ่านมามีการติดต่อประสานงานกับกลุ่มต่างๆ รวมถึงพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยอยู่บ้างเช่นกัน เพียงแต่ปัญหาคือรัฐบาลปักกิ่งไม่อาจจะสร้างดุลภาพในการเกี่ยวพันในระดับเท่าเทียมได้ จึงทำให้กลายเป็นว่าแนวทางในการดำเนินนโยบายส่วนใหญ่เอนเอียงไปหารัฐบาลทหารและกลุ่มที่สามารถมีไมตรีให้กับรัฐบาลทหารเท่านั้น จนกลายเป็นการปฏิเสธฝ่ายต่อต้านไปโดยสิ้นเชิง

นอกจากนี้การแข่งขันในเชิงภูมิรัฐศาสตร์กับสหรัฐและพันธมิตรตะวันตกหรือแม้แต่อินเดีย ทำให้รัฐบาลปักกิ่งต้องเร่งกระชับความสัมพันธ์กับกลุ่มที่คิดคล้ายกัน (like-minded) ทั้งที่อยู่ในพม่าและในภูมิภาค เช่น กลุ่มที่อยู่ในแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เพื่อทำการคานอำนาจกัน

อย่างไรก็ตามสมการนี้จะเปลี่ยนแปลงได้ก็ต่อเมื่อจีนเปลี่ยนบทบาทใหม่ด้วยการแสดงตัวเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคอย่างแท้จริงและทำตัวเป็น ‘ผู้ประสานผลประโยชน์’ ของผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด แทนที่จะรักษาผลประโยชน์ของตัวเองแต่ฝ่ายเดียวอย่างที่เป็นอยู่


[1] UN Human Rights Council. The billion-dollar death trade: The international arm networks that enable human rights violation in Myanmar. May 17, 2023 (https://www.ohchr.org/sites/default/files/documents/countries/myanmar/crp-sr-myanmar-2023-05-17.pdf)

[2] “Three ethnic armies pledge to protect Chinese investment in Myanmar” Irrawaddy July 5, 2023 (https://www.irrawaddy.com/news/burma/three-ethnic-armies-pledge-to-protect-chinese-investment-in-myanmar.html)

[3] Katsuhiko Meshino “China’s dual aims in Myanmar: India Ocean access, crime fighting” Nikkei Asia June 12, 2023 (https://asia.nikkei.com/Spotlight/Comment/China-s-dual-aims-in-Myanmar-Indian-Ocean-access-crime-fighting)

[4] “How the Kachin public overturned a rare earth mining project in KIO territory” Frontier Myanmar May2, 2023 (https://www.frontiermyanmar.net/en/how-the-kachin-public-overturned-a-rare-earth-mining-project-in-kio-territory/)

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save