fbpx

ความสัมพันธ์อินเดีย-พม่าในวันที่รัฐบาลทหารเรืองอำนาจ

เป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาที่ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและการทหารภายในพม่ากลับมาเข้มข้นและดุเดือดอีกครั้ง เมื่อกลุ่มกองกำลังชนกลุ่มน้อยต่างๆ กลับมาจับอาวุธเพื่อต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า และขยายเขตอิทธิพลของตนเอง จนส่งผลให้กองทัพพม่าต้องส่งกำลังทหารกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ของประเทศอีกครั้ง เพื่อรักษาความสงบ ยึดคืนพื้นที่ และปราบปรามกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่ต่างเป็นพันธมิตรกับขบวนการล้มล้างรัฐบาลทหารพม่า

แม้ว่าการรัฐประหารยึดอำนาจของพม่าจะเกิดขึ้นนับตั้งแต่ปี 2021 แล้ว แต่จนถึงวันนี้ดูเหมือนรัฐบาลทหารพม่าจะยังไม่สามารถมีอำนาจเบ็ดเสร็จภายในประเทศของตนเองดังที่กระทำมาก่อนหน้านี้ หนำซ้ำรัฐบาลทหารชุดนี้ยังต้องเผชิญแรงกดดันจำนวนมากจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มกองกำลังชาติพันธ์ที่นับวันจะมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น

และแน่นอนว่าความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นในพม่านั้นย่อมส่งผลกระทบโดยตรงกับประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นประเทศไทย จีน บังคลาเทศ หรือแม้กระทั่งอินเดีย เป็นที่ทราบกันดีว่านับตั้งแต่เกิดรัฐประหารในพม่า ประเทศเหล่านี้ต่างวางท่าทีในการตอบสนองสถานการณ์โดยไม่ได้กระทำการที่รุนแรงใดๆ ต่อพม่านัก ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ เพราะต่างฝ่ายต่างรู้กันดีว่าการมีท่าทีแข็งกร้าวกับรัฐบาลทหารพม่าจะยังผลเสียมากกว่าผลดี และไม่ว่าจะแสดงท่าทีอย่างไร ประเทศเหล่านี้คือผู้ได้รับผลกระทบทางตรงการจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะในทางเศรษฐกิจ การเมือง หรือสังคม โดยเฉพาะจำนวนผู้อพยพลี้ภัยสงครามที่นับวันจะมากขึ้นเรื่อยๆ สถานการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับประเทศไทย ที่มักถูกหลายชาติมองว่ามีท่าทีประนีประนอมกับรัฐบาลทหารพม่ามากเกินไปเท่านั้น เพราะกระทั่งอินเดียก็มีท่าทีไม่ได้แตกต่างกันมากนัก

ครั้งนี้จึงอยากถือโอกาสพาทุกท่านอ่านทบทวนความสัมพันธ์อินเดีย-พม่า รวมถึงท่าทีนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลอินเดียต่อสถานการณ์ในพม่าเวลานี้ ที่นับวันจะถูกตั้งคำถามมากยิ่งขึ้น รวบไปถึงความเป็นไปได้ต่างๆ ที่รัฐบาลอินเดียอาจเปลี่ยนท่าทีของตนเองต่อสถานการณ์ความขัดแย้งของพม่าในอนาคต

บ้านใกล้เรือนเคียงที่มีความสัมพันธ์แบบซับซ้อน

เรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียและพม่าเป็นหนึ่งในประเด็นที่มีการศึกษากันอย่างจำกัด ไม่เฉพาะในภาษาไทยแต่รวมถึงภาษาอังกฤษ นั่นเป็นเพราะความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศมักถูกมองข้ามหรือได้รับความสนใจอย่างเฉพาะในหมู่นักวิชาการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในอินเดีย มีผู้เชี่ยวชาญด้านพม่าศึกษาอย่างค่อนข้างจำกัด แตกต่างกันอย่างชัดเจนกับการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับปากีสถาน หรืออินเดียกับประเทศเอเชียใต้อื่นๆ ที่เป็นเพื่อนบ้านอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นเนปาล ภูฏาน บังคลาเทศ หรือศรีลังกา

ครั้งหนึ่งเมื่อได้ศึกษารายวิชาอาณาบริเวณศึกษาของมหาวิทยาลัยชวาหระลาล เนห์รู (Jawaharlal Nehru University) เกิดหนึ่งข้อถกเถียงสำคัญระหว่างอาจารย์ผู้สอนและเพื่อนร่วมชั้นเรียนของผมประการหนึ่งว่า “ทำไมพม่าจึงไม่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศเอเชียใต้” ทั้งที่มีประวัติศาสตร์อาณานิคมแบบเดียวกันคืออยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ หนำซ้ำพม่ายังแบ่งเทือกเขาหิมาลัยและอ่าวเบงกอลเช่นเดียวกันด้วย ซึ่งไม่ว่าจะถกเถียงไปยาวนานมากแค่ไหน ผลสรุปของเรื่องนี้ก็ไม่มีที่สิ้นสุดเพราะเหตุผลที่พม่าไม่ได้อยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้นั้นเกิดขึ้นจากหลากหลายปัจจัยประกอบกัน

แต่สิ่งที่ผมได้เรียนรู้ประการหนึ่งก็คือสายสัมพันธ์ระหว่างอินเดียและพม่านั้นมีลักษณะขึ้น-ลง โดยอาจแบ่งได้เป็นหลายช่วง ช่วงแรกถือเป็นช่วงที่ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนั้นแนบแน่นและมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน นั่นคือช่วงการเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษจนกระทั่งถึงก่อนรัฐประหารในพม่าปี 1962 กล่าวได้ว่าความสัมพันธ์ของสองชาติแนบแน่นอย่างมากในช่วงทศวรรษแรกที่ทั้งสองประเทศได้รับเอกราช โดยในปี 1951 ทั้งสองประเทศลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพระหว่างกัน ทั้งยังมีส่วนร่วมในการก่อตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement: NAM) อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์อันดีต้องจบลงเมื่อนายพลเนวิน กระทำรัฐประหารและเปลี่ยนพม่าสู่ระบอบเผด็จการทหาร เหตุการณ์นี้ส่งผลให้อินเดียไม่สามารถมีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับพม่าได้ดังเดิม เนื่องจากเวลาดังกล่าว พม่ามีการปราบปรามชนกลุ่มน้อยอย่างหนัก รวมถึงคนอินเดียในพม่าด้วย กระนั้นรัฐบาลอินเดียก็ยังให้การสนับสนุนหลายอย่างกับฝ่ายประชาธิปไตย ไม่ว่าจะให้การลี้ภัยกับอองซานซูจี หรือนายกรัฐมนตรีอูนุ ในเวลานั้น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าอินเดียจะตัดขาดกับพม่าอย่างสิ้นเชิง แม้อินเดียจะมองว่าพม่ามีแนวนโยบายโน้มเอียงเข้าหาจีนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะท่าทีของพม่าที่มีต่อสงครามจีน-อินเดียในปี 1962 ที่พม่าเลือกวางตัวเป็นกลาง

เช่นนั้นแล้ว ระหว่างช่วงปี 1962 กระทั่งถึงทศวรรษ 1990 ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียและพม่าไม่สู้จะราบรื่นเท่าไรนัก เพราะอินเดียมองว่าพม่ามีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับจีนเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการซื้อขายอาวุธและการลงทุนของจีนในพม่าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลเสียต่ออินเดีย ส่งผลให้เหตุการณ์ปี 1988 อินเดียมีจุดยืนสนับสนุนฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า และวิจารณ์รัฐบาลทหารอย่างตรงไปตรงมาก แต่การกระทำดังกล่าวดูเหมือนจะยิ่งทำให้พม่าเข้าหาจีนมากยิ่งขึ้น และส่งผลให้อินเดียต้องเผชิญกับวิกฤตพื้นที่ชายแดนโดยเฉพาะในเขตติดกับพม่าที่หลายรัฐ (ในเวลานั้น) มีกลุ่มแบ่งแยกดินแดนเคลื่อนไหวอยู่ โดยเฉพาะในรัฐนากาแลนด์

เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดและภูมิรัฐศาสตร์โลกเริ่มปรับเปลี่ยนอีกครั้ง อินเดียมีการปรับยุทธศาสตร์การต่างประเทศครั้งใหญ่ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 โดยเฉพาะนโยบายมองตะวันออก (Look East Policy) ที่จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพม่ามากยิ่งขึ้น นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาอินเดียจึงมีการปรับท่าทีกลับเข้าหาพม่าอีกครั้ง เพราะอินเดียต้องการให้พม่าพึ่งพาจีนน้อยลง ในขณะเดียวกันอินเดียทราบดีว่าจะจัดการความสงบภายของประเทศในด้านตะวันออกเฉียงเหนือให้ได้ จำเป็นต้องอาศัยสายสัมพันธ์ที่ดีและความช่วยเหลือจากพม่า

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียและพม่าค่อยๆ ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงที่พม่าเป็นระบอบกึ่งประชาธิปไตยในช่วงปี 2011-2021 พม่าเปิดโอกาสให้อินเดียเข้าไปลงทุนอย่างต่อเนื่องจนส่งผลให้ขอบเขตการลงทุนในพม่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญไปกว่านั้น พม่ายังร่วมมือกับอินเดียในการปราบปรามกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่หลายครั้งหลบหนีเข้าไปในพม่า เพราะท้ายที่สุดแล้วพม่ากับอินเดียก็ยังคงเป็นเพื่อนบ้านระหว่างกัน และพม่ามีความจำเป็นกับอินเดียมากกว่าที่อินเดียจำเป็นกับพม่า โดยเฉพาะในมิติทางด้านความมั่นคงภายในและภูมิรัฐศาสตร์

ความมั่นคงภาคตะวันออกเฉียงเหนือและการขยายอิทธิพลของจีน

หลายท่านคงสงสัยว่าทำไมพม่าจึงมีความสำคัญมากนักสำหรับอินเดีย อาจต้องกล่าวให้เห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่า แม้อินเดียจะได้รับเอกราชมามากกว่า 70 ปีแล้ว อินเดียยังคงเผชิญปัญหาการแบ่งแยกดินแดนและกลุ่มติดอาวุธที่พยายามต่อต้านรัฐบาลอยู่อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าข่าวสารหรือข้อมูลส่วนใหญ่จะถูกเน้นย้ำไปที่ชายแดนฝั่งตะวันตกของอินเดียในบริเวณแคชเมียร์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทั้งพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียเองก็ยังมีกลุ่มติดอาวุธเคลื่อนไหวอยู่อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้วยแล้ว อินเดียมีความกังวลเป็นพิเศษ เนื่องจากพื้นที่นี้มีภาษา วัฒนธรรม และชาติพันธ์ุแตกต่างจากคนอินเดียส่วนใหญ่

ที่สำคัญไปกว่านั้น บริเวณดังกล่าวยังใกล้กับ ‘คอไก่’ ของอินเดียที่อยู่ติดกับพรมแดน ดังนั้น พื้นที่บริเวณนี้จึงมีผลโดยตรงต่อยุทธศาสตร์ทางการทหารและความมั่นคงของอินเดียด้วย ฉะนั้น ตลอดหลายปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ได้รับเอกราช รัฐบาลอินเดียจึงมีการต่อสู้กับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนอย่างต่อเนื่อง และด้วยสายสัมพันธ์ทางเครือญาติและชาติพันธ์ที่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนเหล่านี้มีในฝั่งพม่า ส่งผลให้หลายครั้งขบวนการเหล่านี้หลบและฝึกฝนกองกำลังของตนเองในฝั่งพม่า เพื่อมาปฏิบัติการในอินเดีย ซึ่งจุดนี้ถือว่าอยู่เหนือขอบเขตอำนาจที่อินเดียจะเข้าไปจัดการได้

ในมิติด้านกิจการความมั่นคงภายในนี้จึงส่งเสริมให้พม่ามีความสำคัญยิ่งต่อความสงบเรียบร้อยภายในของอินเดีย สิ่งเหล่านี้เห็นได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นในช่วง 2 ทศวรรษให้หลังที่ผ่านมา เมื่อทั้งอินเดียและพม่ามีข้อตกลงร่วมกันในการจัดการกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนหรือขบวนการต่างๆ ที่ต่อต้านรัฐ ยิ่งไปกว่านั้นกองทัพของทั้งสองยังมีการทำงานร่วมกันในการปราบปรามกลุ่มเคลื่อนไหวเหล่านี้ด้วย เช่น ปฏิบัติการกวาดล้างกลุ่มติดอาวุธที่เกิดขึ้นในปี 2015 ที่มีหลายแหล่งข้อมูลระบุว่าพม่าอาจเปิดทางให้อินเดียส่งกองกำลังทหารเข้าไปในพื้นที่ตัวเองเพื่อกวาดล้างกลุ่มติดอาวุธ หรือ Operation Hot Pursuit ดังนั้นนับตั้งแต่การรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศกลับมาดีมากขึ้น สถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียก็ค่อยๆ ลดลง มีการลงนามความตกลงสันติภาพหลายฉบับกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนและกลุ่มติดอาวุธอย่างต่อเนื่อง ทำให้รัฐบาลสามารถมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ได้มากยิ่งขึ้น

ในมิติด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ พม่ายิ่งทวีความสำคัญอย่างมากต่ออินเดีย โดยเฉพาะในวันที่จีนกำลังขยายอิทธิพลเข้ามาในพื้นที่ภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งนักความมั่นคงบางส่วนของอินเดียมองว่าแนวนโยบายของจีนในลักษณะนี้กำลังค่อยๆ ปิดล้อมอินเดีย ยิ่งพม่าในฐานะเพื่อนบ้านของอินเดียมีความใกล้ชิดกับจีน สายสัมพันธ์เช่นนี้ย่อมไม่ส่งผลดีต่อยุทธศาสตร์การต่างประเทศและความมั่นคงของอินเดียเท่าไรนัก เพราะในหลายมุมมอง หรือแม้กระทั่งบางบทวิเคราะห์ เชื่อกันว่าจีนมีส่วนให้การสนับสนุนกลุ่มขบวนการติดอาวุธที่เคลื่อนไหวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย แม้ว่าทางการจีนจะปฏิเสธข้อกล่าวหานี้มาอย่างต่อเนื่องก็ตาม

แต่ที่ปฏิเสธยากก็คือการที่จีนมีอิทธิพลเหนือพม่าจะไม่เป็นผลดีกับอินเดีย เพราะพม่าคือปราการด่านแรกทางบกที่สำคัญหากอินเดียต้องการเข้าถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฉะนั้นความใกล้ชิดทางเศรษฐกิจของจีนที่มีต่อพม่า หรือความพยายามครอบงำทางเศรษฐกิจที่จีนมีเหนือพม่า จะส่งผลให้โครงการระเบียงเศรษฐกิจอินเดีย-พม่า-ไทย ประสบความสำเร็จได้ยาก มิหนำซ้ำอินเดียยังอาจเผชิญการไหลทะลักของสินค้าจีนเข้ามายังประเทศตนเองผ่านทางพม่าได้อีกด้วย

ด้วยเพียงปัจจัยสองประการที่กล่าวมาข้างต้นนี้ก็เพียงพอที่จะเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าพม่ามีความสำคัญอย่างมากต่ออินเดีย แม้ว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศจะไม่ได้แนบแน่นหรือแน่นแฟ้นเหมือนประเทศเพื่อนบ้านอื่น หรือไม่ได้บาดหมางรุนแรงเหมือนปากีสถาน แต่อินเดียยังคงต้องการมีพม่าเป็นพันธมิตร และนั่นส่งผลให้อินเดียต้องมีท่าทีที่จำกัดต่อการรัฐประหารครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นในปี 2021 ด้วย

ท่าทีอินเดียกับรัฐบาลทหารพม่า

นับตั้งแต่กองทัพพม่ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนในปี 2021 รัฐบาลทหารต้องเผชิญกับการวิจารณ์และการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากหลายชาติตะวันตกและเอเชีย ในขณะที่ชาติในอาเซียนยังคงมีท่าทีที่หลากหลาย แต่ที่น่าสนใจไม่ต่างกันคือทั้งจีนและอินเดียต่างมีท่าทีน้อยมากต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หนำซ้ำทั้งสองประเทศยังคงดำเนินความสัมพันธ์กับรัฐบาลชุดใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอินเดียที่ยังคงรักษาความสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารเอาไว้ ทั้งยังดำเนินนโยบายในทางพฤตินัยที่ถูกมองว่าให้การรับรองรัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยเฉพาะการส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงเข้าไปประชุมระดับทวิภาคีกับรัฐบาลทหารพม่าหลายครั้ง ท่าทีเหล่านี้ของอินเดียถูกมองว่าให้การรับรองรัฐบาลทหารและยืนยันถึงความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีที่เข้มแข็ง

อย่างไรก็ตาม ยังมีการถกเถียงกันอยู่มากทั้งในฝ่ายปฏิบัติการและฝ่ายวิชาการในประเทศอินเดีย ว่าที่อินเดียดำเนินนโยบายต่อพม่าในปัจจุบันนั้น ไม่ได้มีเป้าประสงค์เพื่อรับรองรัฐบาลทหารพม่าแต่อย่างใด แต่ในความเป็นจริงคือการดำเนินนโยบายตามแบบฉบับของอินเดียที่มองการเมืองระหว่างประเทศตามความเป็นจริง และรักษาผลประโยชน์แห่งชาติไว้เป็นอันดับหนึ่ง เพราะสุดท้ายแล้วพม่ายังคงมีความจำเป็นอย่างมากต่ออินเดียทั้งมิติการเมืองในประเทศและการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งการออกตัวสนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตยในพม่า ไม่ยังผลดีประการใดเลยต่ออินเดีย แม้หลายฝ่ายจะพยายามเรียกร้องให้อินเดียมีมาตรการกดดันรัฐบาลทหารมากยิ่งขึ้นก็ตาม

ต้องยอมรับว่ายิ่งความขัดแย้งในพม่ามีความยืดเยื้อ อินเดียย่อมได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยเฉพาะประเด็นผู้อพยพหนีภัยสงครามที่เกิดขึ้นระหว่างกองทัพชนกลุ่มน้อยกับกองทัพพม่า และแน่นอนว่าอินเดียคงไม่ต้องการถูกรัฐบาลพม่ากล่าวหาว่าให้การสนับสนุนกองกำลังชนกลุ่มน้อยอย่างแน่นอน ซึ่งนั่นเป็นหนึ่งในเหตุผลที่อินเดียไม่แสดงท่าทีใดๆ ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพม่ามากนัก หนำซ้ำเหตุการณ์ต่อสู้ครั้งล่าสุดที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน อินเดียเริ่มมีท่าทีชัดขึ้นว่าจะไม่รับผู้อพยพ หลังก่อนหน้านี้พม่าตำหนิอินเดียว่าเคยให้ความช่วยเหลือกองกำลังติดอาวุธ

มีบทวิเคราะห์หลายชิ้นชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลอินเดียเริ่มมีการปรับท่าทีต่อรัฐบาลทหารพม่า และมีการปฏิสัมพันธ์กับฝ่ายนิยมประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่องทางลับ หรือการพูดคุยในระดับย่อย (Track 1.5) หลังรัฐบาลทหารพม่าไม่สามารถควบคุมหลายพื้นที่ภายในประเทศ โดยเฉพาะในเขตชายแดนซึ่งติดกับอินเดีย ส่งผลให้กองกำลังติดอาวุธที่โจมตีอินเดียก่อนหน้านี้มีความเคลื่อนไหวอีกครั้ง การเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าทางอ้อมจึงเป็นความพยายามกระจายความเสี่ยงของอินเดียต่อสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในพม่า ซึ่งลักษณะเช่นนี้ไม่แตกต่างจากที่ประเทศเพื่อนบ้านอื่นของพม่ากระทำ ไม่ว่าจะเป็นไทยหรือจีนเองก็ตาม

ในท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับรัฐบาลทหารพม่าจะแนบชิดมากแค่ไหนในช่วงก่อนหน้านี้ แต่หากความสัมพันธ์ดังกล่าวไม่ยังผลดีต่อภาพรวมผลประโยชน์ของอินเดีย อินเดียย่อมต้องมีการปรับเปลี่ยนท่าทีนโยบายต่างประเทศของตนเอง ซึ่งเป็นแบบฉบับนโยบายต่างประเทศของอินเดียที่มีเสมอมาไม่ว่ากับชาติใด บนหลักการสำคัญที่ว่า “ไม่ลื่นไหลไปตามเสียงของใคร และยืนตรงบนขาของตนเอง”

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save