fbpx
ประกันการว่างงานอย่างไรให้ทั่วถึง

ประกันการว่างงานอย่างไรให้ทั่วถึง

ภาวิน ศิริประภานุกูล[1] เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

1

บทนำ

 

การประกันการว่างงาน เป็นรูปแบบหนึ่งของการให้สวัสดิการภาครัฐ เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านรายได้แก่แรงงานผู้ที่ต้องออกจากการทำงาน โดยการให้ความช่วยเหลือดังกล่าวมักมาพร้อมกับเงื่อนไขที่แรงงานคนดังกล่าวต้องหางานทำต่อไป หรืออาจต้องเข้าร่วมกับโปรแกรมสนับสนุนการหางาน (active labor market programs) ลักษณะต่างๆ ของทางภาครัฐ[2] การตั้งเงื่อนไขการรับประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการ (ออกจากการ) ทำงาน รวมทั้งเงื่อนไขจูงใจให้หางานทำต่อไป เป็นลักษณะเด่นของสวัสดิการรูปแบบนี้

การประกันการว่างงานมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้แรงงานผู้ที่ต้องออกจากการทำงาน รวมถึงครอบครัวและผู้พึ่งพิงแรงงานคนดังกล่าว สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างต่อเนื่อง ลดโอกาสของการตกอยู่ภายใต้สภาวะความยากจน มีแรงจูงใจและทรัพยากรในการออกไปหางานทำ นอกจากนั้น การประกันการว่างงานยังถูกมองว่ามีความสำคัญในฐานะของตัวรักษาเสถียรภาพโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะช่วยอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจในช่วงที่เกิดการชะลอตัวอีกด้วย[3] โดยจะเป็นเม็ดเงินที่ถูกนำไปใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในสัดส่วนที่สูง เนื่องจากถูกส่งผ่านไปที่ผู้ที่กำลังขาดรายได้จากการทำงานอย่างตรงจุด

เพื่อให้การประกันการว่างงานสามารถทำหน้าที่ต่างๆ ข้างต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โครงสร้างการประกันการว่างงานควรมีความครอบคลุมผู้มีงานทำส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งจะทำให้สามารถรองรับการออกจากงานของแรงงานได้อย่างทั่วถึง รวมทั้งยังสามารถอัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมากพอต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงของการชะลอตัวด้วย ทั้งนี้ โครงสร้างการประกันการว่างงานของประเทศต่างๆ มักอยู่ในรูปแบบของการร่วมจ่ายระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ ซึ่งจะช่วยให้ภาครัฐสามารถประหยัดเม็ดเงินงบประมาณลงไปได้ระดับหนึ่งด้วย

ถึงแม้ว่าวิกฤตโรคติดเชื้อโควิด-19 จะช่วยเปิดเผยสภาพปัญหาของโครงสร้างการประกันการว่างงานของประเทศไทยให้เด่นชัดขึ้น แต่บทความนี้จะกล่าวถึงกรณีการประกันการว่างงานในสถานการณ์ปกติเพียงเท่านั้น โดยไม่กล่าวถึงเงื่อนไขพิเศษที่เกิดขึ้นจากวิกฤติโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยบทความนี้ต้องการนำเสนอข้อเสนอแนะเบื้องต้นเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างการประกันการว่างงานในระยะยาว รวมทั้งยังอยากเชิญชวนให้สังคมร่วมอภิปรายถึงข้อดีข้อเสียของโครงสร้างการประกันการว่างงานของประเทศไทย รวมไปถึงร่วมให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมด้วย

 

2

โครงสร้างการประกันการว่างงานในประเทศไทย

 

หน่วยงานภาครัฐหลักในประเทศไทยที่ทำหน้าที่ประกันการว่างงาน ได้แก่ สำนักงานประกันสังคม ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2533 ในปัจจุบัน สำนักงานประกันสังคมให้ความคุ้มครองแก่แรงงานรวมทั้งสิ้น 7 กรณี ประกอบด้วย เจ็บป่วย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ทุพพลภาพ ชราภาพ เสียชีวิต และว่างงาน โดยบทความนี้จะให้ความสนใจกับการให้ความคุ้มครองกรณีว่างงานเพียงกรณีเดียวเท่านั้น โดยสำนักงานประกันสังคมเริ่มให้ความคุ้มครองแก่แรงงานในกรณีว่างงานในปี 2547 ผ่านการจัดตั้งกองทุนที่ทำหน้าที่ประกันการว่างงานแยกต่างหากออกจากกองทุนที่ให้ความคุ้มครองในกรณีอื่น

สำนักงานประกันสังคมให้ความคุ้มครองกับผู้ประกันตน 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) ผู้ประกันตนภาคบังคับ ตามมาตรา 33 ซึ่งหมายถึงกลุ่มลูกจ้างของนายจ้างที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคมและจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน (2) ผู้ประกันตนโดยสมัครใจ ตามมาตรา 39 ซึ่งเป็นผู้สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง แต่มีความประสงค์ได้รับความคุ้มครองจากกองทุนประกันสังคมอย่างต่อเนื่อง และจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน และ (3) ผู้ประกันตนโดยสมัครใจ ตามมาตรา 40 ซึ่งเป็นผู้ไม่เข้าข่ายตามมาตรา 33 และ 39 ข้างต้น สามารถสมัครและส่งเงินสมทบ เพื่อขอรับความคุ้มครองบางกรณีจากกองทุนประกันสังคมได้ อย่างไรก็ตาม การคุ้มครองกรณีว่างงานจะครอบคลุมเฉพาะกลุ่มผู้ประกันตนตามมาตรา 33 เท่านั้น

กองทุนกรณีว่างงานจัดเก็บเงินสมทบจากนายจ้างและผู้ประกันตน ฝ่ายละร้อยละ 0.5 ของค่าจ้าง และรัฐบาลสมทบร้อยละ 0.25 ของค่าจ้าง รวมอัตราเงินสมทบที่จัดเก็บได้คือร้อยละ 1.25 ของค่าจ้าง ซึ่งถ้าหากผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ก่อนการว่างงานโดยไม่มีความผิดตามกฎหมาย และปฏิบัติตามข้อกำหนดทั้งหมด ซึ่งรวมถึงการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานจัดหางาน และยินยอมเข้าร่วมการฝึกงานกับภาครัฐแล้ว[4] จะสามารถขอรับประโยชน์ทดแทนได้ โดยแบ่งเป็น

– กรณีถูกเลิกจ้าง ผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน (ราว 6 เดือน) ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย ซึ่งมีเพดานค่าจ้างอยู่ที่ 15,000 บาท

– กรณีการลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง จะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน (ราว 3 เดือน) ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย ซึ่งมีเพดานค่าจ้างอยู่ที่ 15,000 บาท

 

3

ความครอบคลุมของการประกันการว่างงานในประเทศไทย

 

จากโครงสร้างการประกันการว่างงานในส่วนก่อนหน้า สามารถกล่าวได้ว่าผู้ได้รับสวัสดิการลักษณะนี้จากรัฐบาลในปัจจุบัน ได้แก่ ผู้ประกันตนมาตรา 33 ของสำนักงานประกันสังคม เพียงเท่านั้น ทั้งนี้ ไม่นับรวมข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐบางลักษณะ ที่ได้รับเงินชดเชยการว่างงานเช่นเดียวกัน ผ่านการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาลหรือหน่วยงานภาครัฐดังกล่าว โดยลักษณะสวัสดิการประกันการว่างงานของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐถือได้ว่าเป็นสวัสดิการที่ภาครัฐจ่ายให้หมดทั้งจำนวน

ณ สิ้นปี 2562 ผู้ประกันตนมาตรา 33 ของสำนักงานประกันสังคมมีจำนวนทั้งสิ้นราว 11.7 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30.6 ของกำลังแรงงานทั้งประเทศ (ราว 38.2 ล้านคน) และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32.5 ของผู้มีงานทำทั้งหมดหักด้วยจำนวนข้าราชการทั้งประเทศ (ราว 36.0 ล้านคน)[5] สัดส่วนของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ดังกล่าวปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงราว 10 ปีที่ผ่านมา (ดูภาพที่ 1 ประกอบ) ทั้งนี้ สามารถกล่าวได้ว่าผู้ได้รับสวัสดิการประกันสังคมของภาครัฐอยู่ในระดับเพียงราว 1 ใน 3 ของผู้มีงานทำในภาคเอกชนทั้งหมด สะท้อนถึงโครงสร้างการจ้างงานของประเทศที่ยังเป็นลักษณะการจ้างงานนอกระบบในสัดส่วนที่สูง

 

ภาพที่ 1 จำนวนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 เทียบกับกำลังแรงงาน และผู้มีงานทำ ไม่รวมข้าราชการ

ที่มา: รายงานประจำปี 2551 – 2561 สำนักงานประกันสังคม และธนาคารแห่งประเทศไทย

 

ในส่วนของผู้รับประโยชน์วทดแทนกรณีว่างงานของสำนักงานประกันสังคม ในปี 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 1.7 แสนคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 45.6 เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ว่างงานทั้งประเทศที่ 3.7 แสนคน ค่าสัดส่วนนี้ถูกมองว่าอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ[6] อย่างไรก็ตาม ค่าสัดส่วนที่สูงดังกล่าวน่าจะมีสาเหตุหลักมาจากตัวเลขจำนวนผู้ว่างงานของประเทศไทยที่อยู่ในระดับต่ำมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานทั้งประเทศ การใช้ค่าสัดส่วนนี้เพื่อสะท้อนความครอบคลุมของโครงสร้างการประกันสังคมจึงดูไม่เหมาะสมนักกับกรณีของประเทศไทย

 

4

บทบาทในฐานะตัวรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยอัตโนมัติ

 

การพิจารณาการเคลื่อนไหวของการจ่ายเงินประโยชน์ทดแทนและผู้รับประโยชน์ทดแทน[7] กรณีว่างงาน กระทำผ่านค่าสัดส่วนการจ่ายเงินประโยชน์ทดแทนต่อมูลค่าเงินสมทบเข้ากองทุนประกันการว่างงาน และสัดส่วนผู้รับประโยชน์ทดแทนต่อจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 ทั้งนี้ เนื่องจากจำนวนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกปี การคำนวณค่าสัดส่วนทั้งสองลักษณะจะช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงจำนวนผู้ได้รับประโยชน์จากโครงสร้างการประกันการว่างงานของประเทศลงไปได้

การจ่ายเงินประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานและจำนวนผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ของสำนักงานประกันสังคม เคลื่อนไหวสะท้อนการปรับตัวของอัตราการว่างงานของประเทศ มากกว่าอัตราการเติบโตของ GDP โดยเมื่อพิจารณาค่าสัดส่วนข้างต้น ในช่วงปี 2551 – 2562 จะเห็นได้ว่ามีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปี 2552 ซึ่งประเทศไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจซับไพร์ม (sub-prime financial crisis) ในประเทศสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ ค่าสัดส่วนทั้งสองไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนักในช่วงปี 2554 ที่เกิดปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในช่วงปลายปี และปี 2557 ที่เกิดความรุนแรงทางการเมืองในช่วงต้นปี โดยการเคลื่อนไหวดังกล่าวสอดคล้องกับการปรับของอัตราการว่างงานของประเทศ ที่เพิ่มขึ้นเฉพาะในปี 2552 เช่นเดียวกัน (ดูภาพที่ 2 ประกอบ)

สามารถกล่าวได้ว่าการปรับตัวของมูลค่าการจ่ายเงินประโยชน์ทดแทน ที่ไม่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของอัตราการเติบโตของ GDP มากนัก มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ในส่วนของข้อเสียนั้น การเคลื่อนไหวลักษณะดังกล่าว ส่งผลให้การจ่ายเงินประโยชน์ทดแทนไม่สามารถทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพของอัตราการเติบโตของ GDP ได้ดีนัก อย่างไรก็ตาม การที่อัตราการว่างงานในภาพรวมของทั้งประเทศไม่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในปี 2554 และ 2557 สะท้อนว่าการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในช่วงดังกล่าว มิได้ส่งผลกระทบไปสู่ตัวแรงงาน ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักในการให้ความคุ้มครองของรัฐบาล มากนัก ซึ่งจะทำให้เกิดข้อดีในแง่ของการประหยัดเม็ดเงินงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจได้

 

ภาพที่ 2 เงินประโยชน์ทดแทนและจำนวนผู้รับประโยชน์ทดแทน กรณีว่างงาน เทียบกับตัวแปรมหภาค

หมายเหตุ: *ไม่สามารถสืบค้นข้อมูลมูลค่าเงินสมทบกองทุนประกันการว่างงานในปี 2562 ได้ / ที่มา: ข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคม และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

 

ปัญหาอีกประการของโครงสร้างการประกันการว่างงานของประเทศไทย คือ ขนาดที่เล็กเมื่อเทียบกับมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ เงินกองทุนประกันการว่างงานของสำนักงานประกันสังคมในปี 2562 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1.85 แสนล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 1.1 ของ GDP และยิ่งเมื่อพิจารณาเม็ดเงินประโยชน์ทดแทนที่สำนักงานประกันสังคมจ่ายไปในปี 2562 ที่มีมูลค่าเพียง 7.8 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.05 ของ GDP ซึ่งสัดส่วนนี้น่าจะอยู่ในระดับต่ำเกินกว่าจะทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพได้ (ดูข้อมูลในตารางที่ 1 ประกอบ)

 

ตารางที่ 1 มูลค่ากองทุน เงินสมทบ และเงินประโยชน์ทดแทน กรณีว่างงาน เทียบกับมูลค่าของ GDP

 

2557

2558 2559 2560 2561 2562
เงินกองทุนกรณีว่างงาน (ล้านบาท) 105,866 117,483 130,409 148,418 165,809 185,356
เงินสมทบกองทุนกรณีว่างงาน (ล้านบาท)  15,959  16,650  17,313  17,894  19,138  n.a.
เงินประโยชน์ทดแทน (ล้านบาท)    4,772    5,394    6,541    6,634    6,962    7,774
เงินกองทุน/GDP (ร้อยละ) 0.80% 0.85% 0.89% 0.96% 1.01% 1.10%
เงินสมทบ/GDP (ร้อยละ) 0.12% 0.12% 0.12% 0.12% 0.12% n.a.
เงินประโยชน์ทดแทน/GDP (ร้อยละ) 0.04% 0.04% 0.04% 0.04% 0.04% 0.05%

ที่มา: ข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคม

 

ต้นทุนรัฐบาลในการประกันการว่างงาน

 

โครงสร้างการประกันการว่างงานของสำนักงานประกันสังคมอยู่ในลักษณะของการใช้ทรัพยากรร่วมระหว่างเอกชนและรัฐบาล ซึ่งทำให้ต้นทุนในการประกันการว่างงานของรัฐบาลอยู่ในระดับที่ต่ำ จากอัตราการจ่ายเงินสมทบกองทุนกรณีว่างงานที่ร้อยละ 1.25 ของเงินเดือนผู้ประกันตน รัฐบาลมีส่วนรับภาระอยู่เพียงร้อยละ 0.25 ของเงินเดือนผู้ประกันตน เมื่อนำเงื่อนไขดังกล่าวไปคำนวณย้อนกลับจากมูลค่าการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันการว่างงานของสำนักงานประกันสังคม สามารถกล่าวได้ว่ารัฐบาลใช้เม็ดเงินเพียงราว 3.8 พันล้านบาท ในปี 2561 เพื่อประกันการว่างงานให้กับผู้มีงานทำในภาคเอกชนราว 11.6 ล้านคน หรือคิดเป็นเงินเพียง 330 บาท/คน/ปี (ดูตัวเลขในตารางที่ 2 ประกอบ)

ทั้งนี้ ถึงแม้ต้นทุนของรัฐบาลจะอยู่ในระดับต่ำ แต่กองทุนประกันการว่างงานก็ยังมีความเพียงพอในการทำหน้าที่ของตนเอง โดยเงินประโยชน์ทดแทน ซึ่งถือเป็นรายจ่ายหลักของกองทุนประกันการว่างงาน มีมูลค่าต่ำกว่าเงินสมทบเข้ากองทุน ซึ่งถือเป็นรายได้หลัก อย่างต่อเนื่อง ไม่เว้นแม้แต่ในปี 2552 ที่มีการจ่ายเงินผลประโยชน์ทดแทนการว่างงานในระดับที่สูงกว่าปกติ นอกจากนั้น ด้วยสัดส่วนภาระที่ต่ำของรัฐบาล ส่งผลให้เงินสมทบจากรัฐบาลอยู่ในระดับต่ำกว่าเงินผลประโยชน์ทดแทนที่กองทุนประกันการว่างงานจ่ายให้กับผู้รับประโยชน์ทดแทนในทุกปี โดยในปี 2561 รัฐบาลรับภาระจ่ายเงินสมทบจำนวนเพียง 3.8 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 55.0 ของเงินประโยชน์ทดแทนที่กองทุนประกันสังคมจ่ายให้กับผู้ประกันตน จำนวน 6.96 พันล้านบาท

ตารางที่ 2 ยังแสดงข้อมูลสะท้อนภาพการว่างงานของกลุ่มผู้ประกันตนเพิ่มเติมด้วย โดยกลุ่มผู้ประกันตนมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ราว 1.1 หมื่นบาท/คน/เดือน ซึ่งเมื่อคำนวณจากเงื่อนไขการจ่ายเงินประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน กลุ่มผู้ประกันตนจะได้รับเงินประโยชน์ทดแทนโดยเฉลี่ยราว 5,500 บาท/เดือน ไม่เกิน 6 เดือน ในกรณีถูกเลิกจ้าง หรือ 3,300 บาท/เดือน ไม่เกิน 3 เดือน ในกรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง เพียงเท่านั้น

 

ตารางที่ 2 รายได้ของผู้ประกันตน มูลค่าการจ่ายประโยชน์ทดแทนรายปี และต้นทุนของรัฐบาล

  2557 2558 2559 2560 2561
รายได้รายเดือน (เฉลี่ย) ของผู้ประกันตน (บาท) 10,608 10,682 10,980 11,004 10,999
ต้นทุนรายปีของรัฐบาล (ล้านบาท)  3,192  3,330  3,463  3,579  3,828
ต้นทุนรายปีต่อผู้ประกันตนหนึ่งราย ของรัฐบาล (บาท)     318     320     329     330     330

   ที่มา: คำนวณโดยผู้เขียน จากข้อมูลเงินสมทบและเงินประโยชน์ทดแทน กรณีว่างงาน ของสำนักงานประกันสังคม

 

6

ข้อเสนอแนะ

 

จากภาพสะท้อนโครงสร้างการประกันการว่างงานของประเทศไทยข้างต้น สามารถกล่าวได้ว่าโครงสร้างดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมกำลังแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศ รวมทั้งยังไม่สามารถทำหน้าที่ในฐานะตัวรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยอัตโนมัติได้ดีนัก อย่างไรก็ตาม ด้วยความต้องการพึ่งพาทรัพยากรจากภาครัฐในระดับที่ต่ำ ผู้เขียนจึงมีข้อเสนอในการปรับปรุงโครงสร้างการประกันการว่างงานของประเทศ ดังต่อไปนี้

– เพิ่มความครอบคลุมการประกันการว่างงานให้กับกลุ่มแรงงานนอกระบบของประเทศ โดยในส่วนของแรงงานนอกระบบนั้น รัฐบาลอาจร่วมรับภาระในสัดส่วนร้อยละ 50 หรือสูงกว่า ในส่วนของเงินสมทบเข้ากองทุนประกันการว่างงานของแรงงานกลุ่มนี้ โดยภาระอีกส่วนหนึ่งจะตกเป็นของตัวแรงงานที่ต้องการประกันการว่างงานให้กับตนเอง โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาเงินสมทบจากกลุ่มนายจ้าง ทั้งนี้ รัฐบาลอาจกำหนดให้แรงงานนอกระบบยื่นแบบแสดงรายได้ด้วยตนเอง ในขณะที่ ประเด็นท้าทายหลักจะอยู่ที่การแสดงหลักฐานการออกจากงานของแรงงานในกลุ่มนี้ ซึ่งอาจมีน้ำหนักลดลงในกรณีที่เงื่อนไขของการรับเงินประโยชน์ทดแทนยังคงผูกโยงกับการขึ้นทะเบียนหางานกับสำนักงานจัดหางาน และยินยอมเข้าร่วมการฝึกงานกับภาครัฐ เหมือนกับในปัจจุบัน

– เพิ่มการจ่ายเงินประโยชน์ทดแทนให้กับกลุ่มผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ในปัจจุบัน โดยอาจเพิ่มเงินประโยชน์ทดแทนให้อยู่ในสัดส่วนร้อยละ 50 – 75 ของอัตราเงินเดือนเดิม จากปัจจุบันที่อยู่ที่ร้อยละ 30 – 50 ทั้งนี้ การปรับเพิ่มการจ่ายเงินประโยชน์ทดแทนดังกล่าวจะช่วยทำให้รายรับและรายจ่ายรายปีของกองทุนประกันการว่างงาน อยู่ในระดับที่สมดุลกันมากขึ้น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มเติมได้

– ผูกโยงสวัสดิการภาครัฐรูปแบบอื่นเข้ากับการประกันการว่างงาน โดยรัฐบาลอาจเพิ่มสวัสดิการรูปแบบอื่นๆ อาทิ เงินสงเคราะห์บุตร รวมถึงเงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุหรือผู้พิการ ในครอบครัวของแรงงานที่ต้องออกจากงาน เพิ่มเติมให้จากกรณีปกติ เพื่อให้มีความพอเพียงต่อการดำรงชีพมากขึ้น ทั้งนี้ สวัสดิการเพิ่มเติมดังกล่าวจะมีส่วนสนับสนุนการทำหน้าที่เป็นตัวรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยอัตโนมัติของโครงสร้างการประกันการว่างงาน เพิ่มเติมอีกด้วย

ด้วยอัตราการว่างงานในภาพรวมของประเทศที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ รวมไปถึงพฤติกรรมของข้อมูลสะท้อนภาพการว่างงานของผู้ประกันตนมาตรา 33 ของสำนักงานประกันสังคมข้างต้น ข้อเสนอเหล่านี้จะไม่สามารถสร้างภาระต่องบประมาณรายจ่ายของภาครัฐมากนัก นอกจากนั้น รัฐบาลยังสามารถปรับลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยอาศัยดุลยพินิจของตนเองลงไปได้ อันจะยิ่งก่อให้เกิดการประหยัดงบประมาณรายจ่ายของภาครัฐในระยะยาว

 


[1] ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[2] อ้างอิงจากงานศึกษาของ Asenjo and Pignatti (2019)

[3] งานศึกษาจำนวนมากกล่าวถึงบทบาทของการประกันการว่างงานในฐานะของตัวรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยอัตโนมัติ ยกตัวอย่างเช่น Di Maggio and Kermani (2016) หรือ Elmendorf and Furman (2008) เป็นต้น

[4] สามารถอ่านรายละเอียดข้อกำหนดเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์กระทรวงแรงงาน

[5] ข้อมูลจำนวนข้าราชการของประเทศ ใช้ข้อมูลผู้มีงานทำในสาขาการบริหารราชการ การป้องกันประเทศ และการประกันสังคมภาคบังคับ ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เป็นตัวแทน ในขณะที่ ข้อมูลจำนวนพนักงานรัฐวิสาหกิจไม่สามารถสืบค้นย้อนหลังได้ มีเพียงข้อมูลในปี 2562 จากสำนักแรงงานสัมพันธ์ กระทรวงแรงงาน ที่ 275,051 คน

[6] งานศึกษาของ Asenjo and Pignatti (2019) ในส่วนที่ 2 และ Figure 2

[7] การรายงานข้อมูลจำนวนผู้รับประโยชน์ทดแทนของสำนักงานประกันสังคม อยู่ในลักษณะของจำนวนสะสม ณ สิ้นเดือนธันวาคม ในแต่ละปี

 

เอกสารอ้างอิง

สำนักงานประกันสังคม (2561) “รายงานประจำปี 2561”, สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน

Asenjo, A. and C. Pignatti (2019) “Unemployment insurance schemes around the world: Evidence and policy options”, Research Department Working Paper No. 49, International Labour Organization.

Di Maggio, M. and A. Kermani (2016) “The Importance of Unemployment Insurance as an Automatic Stabilizer”, NBER Working Paper No. 22625, National Bureau of Economic Research.

Elmendorf, D.W. and J. Furman (2008) “If, When, How: A Primer on Fiscal Stimulus”, The Hamilton Project, The Brooking Institution.

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save