fbpx
วิธีอ่านสถานการณ์ 101

วิธีอ่านสถานการณ์ 101

ศุภมิตร ปิติพัฒน์ เรื่อง

อ่านสถานการณ์ แบบ 101

ยินดีที่ได้มาพบกันอีกครั้งครับ พบกันเดือนก่อน ได้โอกาสนำ วิธีอ่าน 3 ชั้น อย่างง่ายๆ มาชวนท่านอ่านเอกสารยุทธศาสตร์สมัยรัชกาลที่ 5 คราวนี้ขออนุญาตอาจารย์ปกป้องฯ นำวิธีอ่านอีกแบบหนึ่งของวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (IR) มาเสนอ คือ การอ่านสถานการณ์ระดับ 101

สถานการณ์ของ IR จะเป็นอะไรได้ ถ้าไม่ใช่สถานการณ์ในการเมืองโลก แต่จะไปอ่านการเมืองระดับสูงอย่างนั้นได้ คนเรียนก็ต้องรู้พื้นฐานวิธีอ่านก่อน

ครูสอนวิชา IR เบื้องต้นให้แก่ผม ท่านสอนวิธีอ่านสถานการณ์ของการเมืองโลกให้ด้วย แม้จะนำทั้งหมดที่ท่านสอนมาเสนอตรงนี้ไม่ได้ แต่ผมคิดว่า พื้นฐานวิธีอ่านสถานการณ์ 2 แบบ และ เครื่องมือสำรับต่างๆ ที่ท่านให้ไว้ น่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้เริ่มเรียน IR และกำลังหัดอ่านสถานการณ์โลกอยู่ไม่น้อย[1]

การอ่านสถานการณ์ 2 แบบ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ควรรู้ก่อนจะไปอ่านการเมืองโลกขั้นสูงต่อไปได้นั้น แบบแรก ได้แก่ อ่านการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ แบบที่ 2 ครูของผมท่านเรียกของท่านว่า อ่านลงไปในตัวสถานการณ์ การอ่านแต่ละแบบท่านบอกวิธีอ่าน แนะนำกล่องเครื่องมือ พร้อมกับสาธิตการใช้เครื่องมือบางอย่างให้ดูด้วย นำเสนอพอเป็นเค้าให้เข้าใจได้ดังนี้ครับ

อ่านการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์

ถ้าเราสนใจเหตุการณ์บนคาบสมุทรเกาหลี เราคงอยากรู้ว่ามันจะเป็นอย่างไรต่อไป หรือถ้าเราต้องวิเคราะห์การต่อสู้ทางการเมืองหรือสถานการณ์ประชาธิปไตยในโลกอาหรับ เราคงอยากได้วิธีอ่านพลวัตและทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดจากการต่อสู้และการก่อตัวของพลังทางการเมืองเหล่านี้ เราคงอยากรู้ว่าความขัดแย้งที่เราติดตามอยู่จะยกระดับไปสู่วิกฤตไหม เป็นวิกฤตประเภทไหนในลักษณะไหน แล้วถ้าเกิดวิกฤตดังว่าขึ้นมา มันมีทางจะจบลงอย่างไรได้บ้าง หรือจะเปลี่ยนเป็นสถานการณ์แบบไหนต่อไป การอ่านพลวัตแบบนี้แหละครับ ที่ครูของผมจัดว่าเป็น การอ่านหาความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์

การอ่านการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์เป็นวิธีอ่านเพื่อหาความเข้าใจว่า สถานการณ์ที่เป็นอยู่มีทางเปลี่ยนไปได้อย่างไร มีทางเปลี่ยนไปเป็นอะไรได้ ในเงื่อนไขอะไรที่มันจะเปลี่ยนรูปแบบ เปลี่ยนลักษณะจากที่เป็นอยู่ ไปเป็นแบบอื่นประเภทอื่น อะไรคือเหตุผลักดันที่เพียงพอ อะไรคือสาเหตุเงื่อนไขที่จำเป็น หรือเป็นตัวจุดประกาย ที่จะพลิกสถานการณ์ให้เปลี่ยนไป ปัจจัยเหล่านั้นก่อตัวมาจากไหน ไหลมารวมกันหรือตัดขัดขวางกันอยู่อย่างไร

การอ่านหาพลวัตหาความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์จะทำได้ถนัดขึ้น ต้องมีทฤษฎีมีแนวคิดเป็นกรอบ ยิ่งถ้าได้ความรู้ประวัติศาสตร์มาผสมด้วยก็จะออกมาได้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น แต่นอกจากประวัติศาสตร์และแนวคิดทฤษฎีแล้ว เรายังต้องการ เครื่องมือ ครูของผมบอกคนเรียนว่าให้ไปเรียนแนวคิดทฤษฎีที่สนใจสำหรับอ่านสถานการณ์ในชั้นเรียนสูงขึ้นต่อไป ครูจะสอนให้แต่วิธี ถ้ารู้จักวิธีใช้เครื่องมือแล้ว จะใช้แนวคิดทฤษฎีให้ทำงานดีขึ้นได้

ในกล่องเครื่องมือสำหรับช่วยเราอ่านการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ เครื่องมือที่ครูให้ความสำคัญเป็นพิเศษคือ การคัด-จัด-แยก และการใช้คำหรือความเปรียบที่เรียกเป็นศัพท์เฉพาะว่า อุปลักษณ์ (metaphor) ครูว่าเครื่องมือ 2 อย่างนี้เป็นอุปกรณ์ช่วยคิดที่วิเศษมาก

 

การคัด-จัด-แยก

 

การคัด คือ การใช้แนวคิดคัดสิ่งสำคัญออกมาจากข้อเท็จจริงหลากหลายที่ประชุมเกี่ยวเนื่องโยงใยรวมกันอยู่ คัดว่าเรื่องไหน คุณสมบัติคุณลักษณะอะไร ความสัมพันธ์แบบใดที่ควรดึงมาพิจารณา กรณีใดที่เข้าข่าย ตัวบ่งชี้ไหนควรแก่การจับตาติดตาม เมื่อคัดได้แล้วเราก็นำมาจัด

การจัด คือ การจัดองค์ประกอบ จัดลำดับขั้นตอนกระบวนการ จัดโครงสร้าง จัดประเภท จัดกลุ่ม เมื่อจัดได้แล้วทีนี้ก็แยกได้

การแยก คือ การพิจารณาเกณฑ์แบ่งที่ทำให้แยกสิ่งที่จัดแล้วออกเป็นระดับ ชั้น ขั้ว ฝ่าย ภาคส่วน หรือแยก เรา-เขา ภายใน-ภายนอก ศูนย์กลาง-ชายขอบ วงใน-รอบนอก พวกเดียวกัน-คนอื่น ออกจากกันได้ หรือเห็นเหตุที่ทำให้มันแยกออกจากกันแบบนั้น

นิสิตจำนวนไม่น้อยเมื่อเรียนแนวคิดของทฤษฎีแล้วไม่รู้จะใช้มันทำงานให้อย่างไร ได้แต่ท่องจำไปตอบข้อสอบ  การคัด-จัด-แยก เป็นเครื่องมือแบบหนึ่งในการนำแนวคิดมาใช้ให้เกิดผล และเป็นเครื่องมือพื้นฐานที่สำคัญมากในการอ่านสถานการณ์ เช่น ในการอ่านสถานการณ์ความขัดแย้งที่มีโอกาสจะนำไปสู่วิกฤต เราจะอ่านได้ถนัดขึ้นว่าพลวัตจะเป็นไปแบบไหน ถ้าเราพอจะเห็นและแยกได้ว่าในสถานการณ์เช่นนั้นมีวิกฤตที่เป็นไปได้อยู่กี่แบบ เราจะแยกได้ก็ต่อเมื่อรู้ว่าจะจัดประเภทวิกฤตอย่างไร และจะจัดได้ก็เมื่อเรารู้ลักษณะต่างๆ ของวิกฤตที่เราคัดออกมาได้จากวิกฤตระหว่างประเทศที่เคยเกิดขึ้น

สมมุติว่าถ้าเราจะอ่านสถานการณ์ความขัดแย้งบนคาบสมุทรเกาหลี ในทางว่ามันมีโอกาสจะยกระดับไปหาวิกฤตที่จะพาเข้าสู่สงครามได้ไหม ถ้านำเครื่องมือการคัด-จัด-แยกข้างต้นมาใช้กับแนวคิดวิกฤตระหว่างประเทศ คนที่ใช้เป็นก็จะเห็นและแยกวิกฤตที่เป็นไปได้ออกมาได้หลายแบบ สำหรับให้พิจารณาว่า จากสถานการณ์ที่ประกอบด้วยตัวแสดงแต่ละฝ่ายในเงื่อนไขที่เป็นอยู่นั้น ถ้าหากจะเกิดวิกฤตขึ้นมา วิกฤตแบบไหนมีความเป็นไปได้บ้าง เมื่อแจกแจงออกมาได้ ก็จะทำให้เราอ่านการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ได้ละเอียดลออขึ้น

เช่น จะเป็นวิกฤตแบบที่เรียกว่า brinkmanship ไหมที่ 2 ฝ่ายที่ประจันกันอยู่หันมาเล่นเกม Chicken ตะบึงเข้าใส่กันเพื่อทดสอบว่าที่ตีเกราะเคาะไม้อยู่หน้าบ้านนั้น ที่แท้ก็เก่งแต่ปากว่า พอเอาจริงขึ้นมาก็ไม่กล้า ไม่แน่จริงหรือเปล่า

หรือว่าจะเป็นวิกฤตแบบที่มีฝ่ายหนึ่งในความขัดแย้งคิดใช้สงครามจัดการอีกฝ่ายอยู่ก่อนแล้ว จึงจงใจสร้างวิกฤตขึ้นมา เพื่อระดมพลังสนับสนุนจากประชาคมระหว่างประเทศ และจะได้ใช้เหตุนั้นเป็นข้ออ้างความจำเป็นให้ความชอบธรรมต่อการใช้กำลังเข้าจัดการอีกฝ่าย[2]

หรือจะเป็นวิกฤตอีกแบบ ที่ความขัดแย้งที่มีอยู่ก่อนจะสร้างปฏิกิริยาลูกโซ่ขยายวงขยายผลออกไปกระทบความมั่นคงสำคัญของมหาอำนาจชาติอื่น ทำให้ความตึงเครียดที่มีอยู่แล้วกระจายและยกระดับขึ้นไปอีก วิกฤตแบบนี้ถ้าเกิดสงครามก็จะจำกัดวงได้ยากขึ้น

จะเห็นได้ว่า วิกฤตแต่ละแบบมีเงื่อนไขต่างกันอยู่ และมีสัญญาณบ่งชี้ต่างกัน แต่เมื่อแยกออกมาเป็นแต่ละแบบได้ จะทำให้การอ่านหาความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ทำได้กระจ่างขึ้น

 

อุปลักษณ์

 

อุปลักษณ์ เป็นการใช้เครื่องมือทางภาษาในการสื่อสร้างความหมาย ที่เราใช้คำหรือความที่มีภาพพจน์และความหมายอยู่ในตัว เช่น สงคราม มาใช้เทียบแทนอีกคำหนึ่ง เช่น นโยบายป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เพื่อให้คนอ่านคนฟังเข้าใจคำหลังโดยนัยความหมายและภาพพจน์ที่คำแรกที่ใช้เป็นอุปลักษณ์จะสื่อออกมา

ตอนที่ผมเรียนกับครูอยู่นั้น แนนซี เรแกน กำลังรณรงค์ต้านยาเสพติดในสังคมอเมริกันด้วยวลี Just Say No ครูเลยหยิบเรื่องนี้มาสอนอิทธิฤทธิ์ของอุปลักษณ์ว่าสร้างนัยที่ให้ความหมาย และผลในทางปฏิบัติที่เป็นไปได้อย่างไรบ้าง เมื่อเลือกใช้อุปลักษณ์หนึ่งๆ สื่อสร้างความหมายออกมา

ครูเปรียบเทียบให้เราเห็นความแตกต่างในนัยความหมายที่มีอยู่ในการรณรงค์ Just Say No กับการใช้ War on Drugs มาเป็นอุปลักษณ์ให้แก่นโยบายต่อต้านยาเสพติด และชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนอุปลักษณ์และนัยความหมายที่เกิดจากการใช้คำหนึ่งมาแทนอีกคำหนึ่งไม่เพียงจะส่งผลในทางปฏิบัติที่อนุญาตให้รัฐทำอะไรต่ออะไรได้มากขนาดไหนในการ “ทำสงครามต่อต้าน” ยาเสพติด แต่การเปลี่ยนอุปลักษณ์อาจเป็นตัวสะท้อนสถานการณ์ได้ด้วยว่าสถานการณ์มันกำลังจะเปลี่ยน หรือมันได้เปลี่ยนไปแล้ว

ผมมาเข้าใจฤทธิ์ของอุปลักษณ์ war นี้ดีขึ้นอีกจริงๆ ก็เมื่อได้มาเห็นกวนตานาโมและอาบูกราอิบงอกออกมาจาก War on Terrorism ของประธานาธิบดีบุช และที่เขียนมานี้ ท่านก็คงสังเกตได้ว่าผมก็กำลังใช้กวนตานาโมและอาบูกราอิบย้อนมาเป็นอุปลักษณ์สะท้อนความหมายกลับไปหา War on Terrorism ของท่านประธานาธิบดีเช่นกัน

อุปลักษณ์ยังเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มากในการใช้สร้างความคิดรวบยอด (conceptualization) เพราะนัยความหมายและภาพพจน์ต่างๆ ที่มันสื่อขึ้นมาให้เราเห็น จะช่วยทำให้เราคิดต่อออกไปเกี่ยวกับ concept นั้นได้อีกมาก ยิ่งถ้าคำที่ใช้เป็นอุปลักษณ์มีนัยความหมายหลากหลายในตัวเอง เช่นคำว่า games ก็ยิ่งทำให้เราอาศัยความหมายอันหลากหลายที่แฝงนัยอยู่ใน concept ดังกล่าวในการอ่านสถานการณ์ได้หลายแง่หลายมุมมากขึ้น[3]

ถ้ามีใครสนใจ วันหลังผมจะได้ขออนุญาตอาจารย์ปกป้องนำมาเสนอที่นี่อีกทีนะครับ แต่ตอนนี้ ขอย้ายไปพูดถึงการอ่านสถานการณ์อีกแบบหนึ่งก่อนที่เนื้อที่จะหมดเสียก่อนนะครับ

อ่านลงไปในตัวสถานการณ์

อย่างไรที่เรียกว่า “อ่านลงไปในตัวสถานการณ์”? วิธีอ่านแบบนี้ถ้าตอบโดยยกตัวอย่างน่าจะเข้าใจได้ง่ายกว่า คืออย่างนี้ครับ

ถ้าเป็นการป้องปราม อันเป็นสถานการณ์ที่ฝ่ายหนึ่งหาทางยั้งไม่ให้ใครกล้าทำอะไรที่จะกระทบต่อความมั่นคงสำคัญของตน ด้วยการแสดงออกว่ามีกำลัง และมีความเต็มใจที่จะใช้กำลังนั้นลงโทษเพื่อตอบโต้ต่อใครก็ตามที่ฝ่าฝืน

การอ่านลงไปในสถานการณ์การป้องปราม ก็ต้องตั้งต้นว่า ในบริบทสถานการณ์ของการเมืองภายใน[4] หรือการเมืองระหว่างประเทศที่เราอ่านอยู่นั้น ใช้วิธีอะไรในการป้องปราม เพื่อที่จะตามดูการทำงานของมันต่อไป โดยจุดมุ่งหมายของการอ่านก็เพื่อหาว่า การทำงานบรรลุเป้าหมายของการป้องปรามด้วยวิธีเหล่านั้น จะส่งผลบวกลบดีร้ายต่อสถานการณ์ความมั่นคงที่ตั้งใจรักษาอย่างไร จะให้ผลเป็นไปตามที่ตั้งใจไว้ หรือให้ผลลัพธ์กลับกลายแบบไหนออกมา

ในการอ่านลงไปในสถานการณ์แบบนี้ ครูแนะให้รู้จักกับ กล่องเครื่องมือ 2 สำรับ ครูเรียกเครื่องมือสำรับแรกว่า เครื่องมือสำหรับอ่านสภาพปัญหา สำรับที่ 2 ครูเรียกของครูง่ายๆ ว่า เครื่องมือสำหรับอ่านคน[5]

 

เครื่องมือสำหรับอ่านสภาพปัญหา

 

เครื่องมือสำหรับอ่านสภาพปัญหา เป็นเครื่องมืออ่านโครงสร้างของสถานการณ์ภายนอก ภายนอกในที่นี้คือนอกตัวคนนั่นเอง ตัวอย่างเครื่องมือในกล่องนี้ที่ใช้กันมากในวิชา IR เช่น การเปรียบเทียบอำนาจและขีดความสามารถ, ขั้วอำนาจ, เทคโนโลยีและพลังการผลิต, security dilemma, tragedy of the commons, prisoners’ dilemma และอีกหลายเกมจากคลังทฤษฎีเกม เป็นต้น

เครื่องมือสำรับนี้แสดงสภาพปัญหาให้เห็นว่า ผู้ที่อยู่ในสถานการณ์เผชิญกับเหตุปัจจัยที่ผูกไว้ในลักษณะไหน ที่ส่งผลวางเงื่อนไขต่อความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น ต่อทางเลือก ต่อการชั่งน้ำหนักผลดีผลเสียของแต่ละทางเลือก ต่อแรงผลักดันจูงใจที่เป็นเหตุผลพาให้ตัดสินใจเลือก ต่อผลลัพธ์และโอกาสที่ผลลัพธ์จะเปลี่ยนแปลง

 

เครื่องมือสำหรับอ่านคน

 

เครื่องมือสำหรับอ่านคน เป็นเครื่องมืออ่านสิ่งที่อยู่ภายในตัวคน ไม่ว่าจะเป็นภูมิหลัง สายสัมพันธ์ วิธีคิดและความคิดอ่าน คุณค่าปทัสถานอุดมการณ์ที่ยึดถือ การใช้เหตุผลและอารมณ์ความรู้สึก กระบวนการรับรู้และรับข้อมูล แรงจูงใจทางจิตวิทยา ที่ผลักดันทำงานอยู่ภายในตัวคน

 

การอ่านสถานการณ์ป้องปราม หรืออ่านลงไปในตัวสถานการณ์ใดก็ตาม จะอ่านจากเครื่องมืออ่านสภาพปัญหากล่องแรกก็ได้ จะอ่านจากเครื่องมืออ่านคนในกล่องที่ 2 ก็ได้อีก แต่ถ้าจะให้ดี ต้องใช้เครื่องมือทั้ง 2 สำรับนี้อ่านไปด้วยกัน

ครูยังบอกด้วยว่า ผู้สันทัดกรณีนั้นเมื่อเขาใช้เครื่องมือจาก 2 สำรับอ่านสถานการณ์ออกแล้ว ถ้าเขาอยากเข้าไปผลักดันให้สถานการณ์นั้นทำงานให้ผลอย่างที่เขาต้องการ เขาอาจเลือกเข้าไปกำหนดหรือเปลี่ยนที่ตัวเงื่อนไขในสภาพปัญหาเพื่อที่จะเปลี่ยนแรงจูงใจของคน หรือเขาอาจเลือกหาทางตะล่อมความคิดความเข้าใจของคนเพื่อหล่อเลี้ยงหรือเปลี่ยนแปลงพลังของเหตุปัจจัยต่างๆ ในสถานการณ์ หรือทำทั้ง 2 ทาง ถ้าเขาทำไหวและทำได้

กำลังจะลงมือสาธิตให้เห็นการใช้เครื่องมือทั้ง 2 สำรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ game theory จากกล่องแรก และจิตวิทยาการรับรู้และการจัดการข้อมูลจากกล่องที่ 2 เพื่ออ่านสถานการณ์การป้องปรามนิวเคลียร์ให้ท่านเห็นข้อถกเถียงว่ามีทางที่จะช่วยสร้างเสถียรภาพให้เกิดขึ้นบนคาบสมุทรเกาหลีได้ไหม ได้แน่นอนแค่ไหน[6] ก็พอดีว่าอาจารย์ปกป้องฯ มาขยิบตาให้สัญญาณว่าเวลาและเนื้อที่ที่กำหนดไว้เลยมามากพอสมควรแล้ว

ก่อนจบ ฝากนิสิตนักศึกษา IR ที่เพิ่งเริ่มหัดอ่านสถานการณ์โลกว่า ถ้าอยากพัฒนาความสามารถในด้านนี้ จะเพื่อไว้ใช้ตอบข้อสอบอัตนัยหรือทำรายงานภาคนิพนธ์วิทยานิพนธ์ก็ตาม ให้เริ่มฝึกด้วยการจับทางการอ่านสถานการณ์จากงานของผู้สันทัดกรณีก่อน ว่าเขาและเธอเหล่านั้นมีวิธีอ่านอย่างไร

ดังนั้น เมื่ออาจารย์ของท่านกำหนดให้ท่านอ่านงานวิเคราะห์ของใครก็ตาม ขอให้ตั้งใจอ่านดีๆ และอ่านไม่แต่เฉพาะเนื้อหาใจความหลักที่จะนำมาใช้ตั้งประเด็นเขียนความเรียง (essay) ส่งอาจารย์ หรือเตรียมอภิปรายในชั้นเท่านั้น แต่ให้ดูที่กลวิธีและการใช้เครื่องมือต่างๆ ของพวกเขาในการประกอบแนวคิดและทฤษฎีเข้ากับประวัติศาสตร์ที่เป็นมาและปัญหาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จนออกมาเป็นการอ่านสถานการณ์ในการเมืองโลกที่มีน้ำหนักควรแก่การรับฟัง[7]

 

รายการอ้างอิงท้ายบท

[1] ไม่รู้ว่าครูของผมจะว่าอย่างไร ถ้าเกิดมาได้ยินคนดำเนินการต่างประเทศมหาอำนาจสมัยนี้บอกว่า การอ่านสถานการณ์ให้ออกเป็นเรื่องของเด็กๆ เพราะคนมีอำนาจยิ่งใหญ่จริง เขาสามารถที่จะเปลี่ยนสถานการณ์ใหม่ เปลี่ยนสภาพใหม่ และความเข้าใจใหม่ ให้แก่ความเป็นจริงได้ทุกครั้งที่เขาลงมือกระทำ ในขณะที่ใครกำลังตั้งหน้าตั้งตาอ่านสถานการณ์ให้ออก เขาก็ลงมือเปลี่ยนความเป็นจริงของสถานการณ์ไปแล้ว และจะเปลี่ยนไปได้อีกเรื่อยๆ อ่านทันไหมล่ะ ตามอ่านให้ทัน และตามเขาให้ทันก็แล้วกัน ดูความเห็นที่ว่านี้ในรายงานของ Ron Suskind เรื่อง “Faith, Certainty and The Presidency of George W. Bush”

[2] หรือถ้าฉลาดในกลเกมระหว่างประเทศระดับบิสมาร์ก ก็เป็นการตั้งใจสร้างสถานการณ์ตึงเครียดขึ้นมาอย่างแนบเนียน เพื่อยั่วยุให้ฝ่ายตรงข้ามเป็นฝ่ายตัดสินใจใช้กำลังก่อน เพื่อที่ฝ่ายตนจะได้ไม่ถูกคนอื่นๆ มองว่าเป็นพวกก้าวร้าว ตัวอย่างที่น่าสนใจของการใช้เครื่องมือคัด-จัด-แยกวิกฤตการณ์ระหว่างประเทศเป็นแบบต่างๆ เพื่อพิจารณาพลวัตของความขัดแย้ง เช่น งานของ Richard Ned Lebow, Between Peace and War: The Nature of International Crisis (Baltimore, MD: Johns Hopkins University Press, 1981) เป็นต้น

[3] ดูตัวอย่างการการใช้อุปลักษณ์มาช่วย conceptualize ความขัดแย้งและจำแนกความขัดแย้งออกมาเป็นประเภทต่างๆ ได้ใน Anatol Rapoport,  Fights, Games, and Debates (Ann Arbor: The University of Michigan Press, 1974).

คำทั้งสาม ได้แก่  ‘fights’, ‘games’ และ ‘debates’ เป็นอุปลักษณ์แทนตัวแบบความขัดแย้ง 3 ประเภท ที่มีตรรกะแตกต่างกันเป็นคนละพวก

fights เป็นความขัดแย้งชนิดที่คู่ต่อสู้จะเล่นกันสาหัสเพื่อกำจัดหรือล้มล้างอีกฝ่ายให้พ้นทาง แต่ความขัดแย้งใน games จะเป็นการมุ่งที่ชัยชนะเหนือฝ่ายอื่นๆ ตามกติกาของเกมที่มีอยู่และเป็นกติกาที่กำหนดความเป็นเกมชนิดนั้นด้วย ในขณะที่ในวง debates คู่ขัดแย้งที่เผชิญกันอยู่จะชิงไหวชิงพริบกันด้วยข้อมูล ด้วยคำพูด การนำเสนอการชวนเชื่อต่างๆ ตลอดจนการวิจารณ์และวิพากษ์ เพื่อโน้มน้าวผลักดันให้คนคล้อยตามความเห็นและข้อเสนอของฝ่ายตน

อุปลักษณ์ 3 แบบนี้ด้วยความที่มันกินนัยความหมายหลายอย่างไว้ในตัว เมื่อวางเคียงกัน มันเป็นอุปกรณ์ช่วยให้เราคิดอะไรต่อไปได้มาก เช่นคิดเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ และกลไก/วิธีการที่เป็นไปได้ สำหรับกำกับควบคุมการกระทำและปฏิสัมพันธ์ของคนในความขัดแย้งทั้ง 3 ประเภท ที่ถ้ามีเหตุให้กลับกลายเปลี่ยนแปรไปแล้ว ก็จะทำให้ความขัดแย้งประเภทหนึ่ง กลายรูปไปเป็นความขัดแย้งอีกประเภทหนึ่ง แล้วถ้าความขัดแย้งมันเปลี่ยนรูปไปเพราะ rules เปลี่ยน จะหากติกาอะไรที่จะช่วยให้มันเปลี่ยนกลับมาเป็นแบบเดิมได้ เช่น จากที่เคยเป็นความขัดแย้งอยู่ใน ‘games’ ถ้าวันหนึ่งมันมีเหตุให้กฎกติกาของเกมเปลี่ยนแปรกลับกลายไปจนเปลี่ยนความขัดแย้งแข่งขันที่เคยเป็นไปในกรอบ/ตามกรอบของเกม เปลี่ยนรูปความขัดแย้งเป็น ‘fights’ ไปแล้ว จะทำอย่างไรที่ทำให้มันเปลี่ยนกลับมาเป็นความขัดแย้งใน games ตามเดิมได้  ‘debates’ ที่เกิดขึ้นในบริบทของ ‘fights’ เป็นแบบไหน เมื่อเป็นแบบนั้น มันทำให้ยากขึ้นหรือว่าง่ายขึ้นที่จะเปลี่ยน ‘fights’ ให้กลับมาเป็น ‘games’

[4] วิธีป้องปรามที่ใช้กันในการเมืองและความมั่นคงภายในนั้น ต่างจากในการเมืองระหว่างประเทศมาก และในแต่ละประเทศในแต่ละช่วงเวลา บางทีก็ใช้วิธีป้องปรามที่ต่างกัน การอ่านสถานการณ์ของการป้องปรามในบริบทของการรักษาความมั่นคงภายในยังมีงานออกมาไม่มากนัก เมื่อเทียบกับงานด้านการป้องปรามในความมั่นคงระหว่างประเทศ

[5] อันที่จริง สภาพปัญหากับคน คนกับสภาพปัญหานั้น แยกออกจากกันยาก เพราะปัญหาในสังคมไม่ว่าระดับใดเกิดจากคน คนเป็นทั้งผู้สร้าง ผู้ได้ประโยชน์ หรือผู้รับผลกระทบจากปัญหา และเป็นผู้แก้ไข ซ้ำเติม หรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสถานการณ์ของปัญหาก็ได้ แต่เพื่อความชัดเจนในการอ่านสถานการณ์ จึงแยกเครื่องมือออกไว้เป็น 2 สำรับ สำหรับอ่านสภาพปัญหา และสำหรับอ่านคน แน่นอนว่า ศาสตร์ในการอ่านคน และอ่านสถานการณ์ไม่ได้ผูกขาดไว้โดยความรู้ของรัฐศาสตร์หรือสังคมศาสตร์เท่านั้น

[6] ท่านที่สนใจโปรดพิจารณางานอ่านสถานการณ์ป้องปรามต่อไปนี้:  Robert Jervis, The Illogic of American Nuclear Strategy (Ithaca, N.Y.: Cornell University Press, 1984); Robert Jervis, Richard Ned Lebow, and Janice Gross Stein, with contribution by Patrick M. Morgan and Jack L. Snyder, Psychology & Deterrence (Baltimore, M.D.: Johns Hopkins University Press, 1985); T. V. Paul, Patrick M. Morgan, and James J. Wirtz, eds., Complex Deterrence: Strategy in the Global Age (Chicago: University of Chicago Press, 2009).

[7] ถ้าท่านพิจารณากลวิธีและเครื่องมือที่ Hedley Bull ใช้ในการอ่านระเบียบในการเมืองโลกจนผลิตงานที่ถือว่าเป็นต้นแบบของทฤษฎี IR สำนักอังกฤษออกมาคือ The Anarchical Society: A Study of Order in World Politics (New York, NY.: Columbia University Press, 1977) ท่านก็จะพบว่าเครื่องมือหนึ่งที่เขาใช้ตลอดงานนั้นทั้งเล่ม คือการคัด-จัด-แยก เขาใช้เครื่องมือนี้อย่างไร ท่านลองอ่านจับทางของปรมาจารย์ท่านนี้ดูเถิด.

 

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save