fbpx
วิธีอ่าน 101

วิธีอ่าน 101

ศุภมิตร ปิติพัฒน์ เรื่อง

 

อ่านโลก แบบ 101

สวัสดีครับ ผมชื่อศุภมิตร อาจารย์ปกป้องฯ ชวนผมมา ‘อ่านโลก แบบ 101’ ในวันศุกร์กลางเดือนที่นี่ ขอแนะนำตัวกับท่านผู้อ่านสั้นๆ ว่า ผมมาจากสาขาวิชาน่าเรียนสาขาหนึ่ง ที่ไม่เพียงจะเรียนเกี่ยวกับโลกส่วนที่ความรุนแรงซึ่งมนุษย์ทำต่อมนุษย์ด้วยกันยังเกิดขึ้นเป็นปกติ แต่ยังเป็นสาขาที่สอนถึงเหตุผลข้ออ้างและวิธีให้ความชอบธรรมแก่กิจการทหารและสงครามทุกรูปแบบได้อีกด้วย

อาจารย์ปกป้องฯ อาจไม่ทันได้นึกถึงตื้นลึกหนาบางที่ชวนผมมาแทรกเป็นยาดำอยู่กลางเดือนทุกเดือนตรงนี้ ว่าน่าจะก่อโทษและเป็นพิษภัยในระยะยาวต่อเยาวชนมากกว่าจะเป็นผลดี ดังนั้น ถ้าผมจะหายหน้าไป ก็คงไม่ได้มาจากเหตุอะไร นอกจากเจ้าของวิกเขาจับทางได้เสียแล้วละครับว่า ถ้าปล่อยให้ผมวาดลวดลายต่อไป จะเกิดความเสียหายแก่ตรีอานุภาพสมัยใหม่ อันได้แก่ เสรีภาพ เสมอภาพ และภราดรภาพ เป็นแน่แท้

แต่เพื่อไม่ให้เขาไหวทันเร็วนัก หรือกว่าจะไหวก็สายเกินไปมากแล้ว เดือนแรกนี้เรามาเริ่มต้นแบบยังไม่หาเรื่อง แต่พูดถึงวิธีอ่านเอาเรื่องก่อนคงจะดี ก็คอลัมน์เขาให้เขียน ‘อ่านโลก 101’ ระยะทดลองนี่ครับ จะเริ่มด้วยเรื่องอ่านโลกเข้าใจยากก็กระไรอยู่

สาขาวิชาที่ผมเรียน มีวิธีอ่านเอาเรื่องกับโลกมากมายหลายวิธีเหมือนกัน จะเหมือนกับของสาขาอื่นบ้างไหม ผมก็ไม่แน่ใจ แต่ในนัดแรกผมขอทำตามธรรมเนียมไทยๆ ที่จะไหว้ครูสอนอ่านก่อน ด้วยการนำพื้นฐานวิธีอ่านแบบหนึ่งที่ท่านสอนผมไว้นานแล้วมาเสนอในการเปิดคอลัมน์ที่นี่ และถือโอกาสนี้ชวนท่านอ่านอะไรไปด้วยกันสักหน่อย ได้ไหมครับ

ตัวบทที่เลือกมาเป็นอุปกรณ์เสนอวิธีการอ่านของครู แม้จะเป็นเอกสารเก่า แต่ก็หาได้ไม่ยาก ค้นจากออนไลน์ก็มีครับ เอกสารนี้รู้จักกันในชื่อ ‘เจ้านายและข้าราชการกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงระเบียบราชการแผ่นดิน ร.. ๑๐๓’ ที่ผมเลือกเอกสารคำกราบบังคมทูลฯ มาเป็นอุปกรณ์แสดงวิธีอ่าน เพราะว่า

หนึ่ง เอกสารนี้เป็นเอกสารบังคับอ่านที่คนเรียนการต่างประเทศไทยสมัยใหม่ต้องอ่านกันทุกคน อ้อ หมายถึงว่า ถ้าเรียนในสำนักผมน่ะนะครับ คนสอนสำนักอื่นก็คงมีเอกสารอื่นในดวงใจของเขา จะไปบังคับใครได้ที่ไหนเล่า

สอง ผมเห็นว่าเอกสารคำกราบบังคมทูลฯ เป็นตัวอย่างอันดีของการอ่านโลกด้วยสายตาไทยในช่วงเวลาที่สยามกำลังก้าวเข้าสู่สังคมระหว่างประเทศสมัยใหม่ และเพราะอย่างนั้น เมื่อกำลังมีการคิดยุทธศาสตร์ชาติระยะยาว 20 ปีล่วงหน้าอยู่ในขณะนี้ การย้อนกลับไปดูตัวแบบตั้งต้นของการวิเคราะห์และเสนอแผนยุทธศาสตร์ชาติแก่สยามประเทศยุคนั้น ก็จะได้ข้อเปรียบเทียบกับวิธีการอ่านโลกด้วยสายตาไทยในยุทธศาสตร์ชาติยุคนี้ ที่ผมรับรองว่าจะทำให้ท่านเห็นนัยความหมายที่น่าสนใจมากจากการเปรียบเทียบที่เกิดขึ้น

แต่เรื่องนั้นค่อยมาว่ากันใหม่อีกทีเมื่อชาติต้องการนะครับ รอบนี้เราจะเพ่งเล็งไปที่วิธีอ่านก่อน

การอ่าน 3 ชั้น

ครูสอนอ่านของผมท่านสอนวิธีอ่านงานวิชาการในสาขาที่ผมเรียนว่า ดนตรีไทยเขามี 3 ชั้น การอ่านเอาเรื่องเพื่อหาและสร้างความรู้ในสาขาของเราก็ต้องฝึกอ่าน 3 ชั้นเป็นพื้นฐานเหมือนกัน

อ่านพื้นฐาน 3 ชั้นนี้ได้คล่องได้แน่นจนลึกซึ้งเจนจบเมื่อไหร่ จะเขียนอภิปรายขยายความในการทำรายงาน จะวิเคราะห์สกัดหาความรู้ความเข้าใจจากสิ่งที่อ่าน จะวิพากษ์วิจารณ์ความคิดข้อเสนออะไรของใคร ก็จะทำได้แคล่วคล่องไม่มีติดขัด และถ้าได้การอ่าน 3 ชั้นนี้เป็นพื้นฐานที่ดีแล้ว ต่อไปถ้าจะต่อยอดไปอ่านไปวิเคราะห์วิพากษ์ด้วยวิธีแบบอื่นๆ ที่ซับซ้อนกว่านี้ ยากกว่านี้ ก็จะทำได้ง่ายขึ้น

ครูของผมใช้ทางอ่าน 3 ชั้นอ่านอะไรๆ ออกมาได้ล้ำลึกพิสดาร แต่พื้นฐานตั้งต้นในการอ่าน 3 ชั้นนี้ความจริงแล้วเรียบง่ายมากครับ ขึ้นอยู่กับว่าใครจะพลิกแพลงกระบวนท่าไปใช้ได้ถึงขั้นไหน

ชั้นที่ 1 ท่านให้อ่านทำความเข้าใจเนื้อหาในตัวบท

ชั้นที่ 2 ท่านให้อ่านเพื่อหาความเข้าใจจากบริบท

และชั้นที่ 3 ท่านให้อ่านเพื่อสร้างความหมายความเข้าใจด้วยวิธีที่ท่านเรียกของท่านว่าสัมพันธบท

รวมสรุปเป็นอ่าน 3 ชั้น คือ อ่านตัวบท อ่านบริบท และอ่านสัมพันธบท แต่ละบทมีวิธีอ่านอย่างนี้ครับ ถ้าได้เอกสารคำกราบบังคมทูลฯ มาแล้ว เราอ่านไปด้วยกันเลยนะครับ

อ่านตัวบท

ครูบอกผมในภายหลังเมื่อเห็นว่าอ่านอะไรเข้าใจมากขึ้นแล้วว่า เวลาคนเขียนเขาเขียน เขาเขียนโดยสัมพันธบท คนเขียนที่จะไม่อาศัยตัวบทจากงานอื่นใดเลยมาใช้ มาอ้างอิง มาเลียนแบบ มาเป็นจุดตั้งต้น มาเป็นอิทธิพลแรงบันดาลใจ หรือจะเพื่อต่อต้านปฏิเสธ มาเติมเสริมต่อ หรือเพื่อจะวิพากษ์ยั่วล้อนั้น หามีไม่ ยิ่งงานวิชาการด้วยแล้ว จำเป็นต้องทำเช่นนั้นและต้องแสดงการอ้างอิงงานที่นำมาใช้อย่างชัดแจ้ง แต่ในการอ่านเอาเรื่อง โดยเฉพาะมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มอ่าน ครูบอกว่าให้เก็บการอ่านแบบสัมพันธบทไว้หลังสุด ให้อ่านทำความเข้าใจเนื้อหาในตัวบทก่อน โดยกำหนดเป้าหมายการอ่านตัวบทอย่างน้อย 2 จังหวะ

จังหวะแรก ครูบอกว่าอ่านหาความหมายความเข้าใจตามที่คนเขียนต้องการนำเสนอ ปล่อยให้คนเขียนเขานำเราไปหาประเด็น ติดตามไตร่ตรองเหตุผลตามที่เขาใช้ พิจารณาข้อมูลหลักฐานหรือข้อโน้มน้าวอื่นใดที่เขายกมาสนับสนุน

อย่างเราอ่านเอกสารคำกราบบังคมทูลฯ ฉบับนี้ ก็ให้ได้ความเข้าใจถึงขั้นที่ว่า ถ้าพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ได้มาอ่านพบที่เราจับประเด็นที่เป็นหัวใจสำคัญเขียนสรุปออกมาแล้ว ท่านจะพอพระทัยและตรัสรับรองว่า ‘เธอเข้าใจพวกเราดี’

จังหวะที่ 2 เราอ่านหาความหมายจากตัวบทตามความเข้าใจที่เกิดขึ้นแก่เราเอง คราวนี้เราเป็นคนสร้างความหมายตามที่ตัวบททำให้เราเกิดความเข้าใจบางอย่างขึ้นมา

แต่ละคนเมื่ออ่านตัวบทหนึ่ง แม้จะเป็นเรื่องเดียวกัน แต่เมื่อต่างคนต่างมีประสบการณ์ มีความรับรู้และความรู้ความสนใจที่แตกต่างกันอยู่ไม่มากก็น้อย ความแตกต่างนั้นจะพาให้มองตัวบทเดียวกันโดยเพ่งเล็งสังเกตในจุดที่แตกต่างกันไปได้

ครูทดสอบเราด้วยการให้คนเรียนบอกว่าเห็นอะไรที่ควรแก่การสังเกตบ้างจากคำกราบบังทูลฯ ฉบับนี้ คำตอบของคนเรียนที่มาจากสาขาอื่นแตกต่างจากของผมมาก ผมตอบครูว่าผมเห็นแนวทางการตัดสินใจแบบ rational choice และการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์แบบ SWOT analysis ในขณะที่เพื่อนจากภาควิชาภาษาไทยของผม เธอเพ่งเล็งไปที่ความเปรียบเทียบที่ใช้โน้มน้าวพระราชา ส่วนเพื่อนที่เรียนปรัชญาการเมืองบอกว่าเขาเห็นว่าเหตุผลในเอกสารคำกราบบังคมทูลฯ เรื่องทางยุติธรรมของโลกว่าใครควรจะได้เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่มีอยู่ในแผ่นดินนั้นน่าสนใจมาก

อ่านบริบท

พอผ่านการอ่านตัวบทจังหวะที่ 2 อย่างที่ผมเล่ามาแล้ว ครูก็ขยับพาเราไปสู่การอ่านหาความหมายจากบริบทของเอกสารฉบับนี้ โดยให้เราใช้ประเด็นข้อสังเกตที่แต่ละคนได้จากการอ่านตัวบทในจังหวะ 2 นั้นเองสำหรับที่จะตั้งต้นฝึกอ่านจากบริบท เพื่อหาคำตอบหรือความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้นเกี่ยวกับประเด็นที่เราตั้งข้อสังเกตเหล่านั้น

บริบทพื้นฐานที่ครูใช้เป็นจุดเริ่มต้นให้เราพิจารณาคือ คนเขียนเป็นใคร เขาเขียนให้ใครอ่าน แล้วคนอ่านเป็นใคร เป็นใครในที่นี้ไม่ใช่แต่เฉพาะรู้ว่าเขาคือใคร แต่หมายถึงการตามพิจารณาภูมิหลังที่เกี่ยวข้องสำหรับจะเข้าใจเขาและการเขียนการคิด การส่งสารรับสารของเขาหรือของพวกเขาได้ดียิ่งขึ้น อีกส่วนหนึ่งของบริบทที่ครูบอกให้พิจารณา ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่โตมากเกินกว่าจะเขียนขยายความในที่นี้ได้ คือพิจารณา กาละและเทศะ ของงานเขียนนั้นๆ

ที่ว่าเรื่องกาละและเทศะเป็นเรื่องใหญ่โตเกินจะขยายความได้ก็เพราะ เรา 3 คนที่เรียนกับครู จะอ่านบริบทที่เป็นกาละและเทศะนี้ไม่เหมือนกัน หรือซ้อนกันอยู่แต่ไม่ซ้อนกันสนิทเสียทีเดียว กล่าวพอให้เห็นนิดหน่อยได้ว่า จากประเด็นที่ผมสนใจเอกสารคำกราบบังคมทูลฯ ในลักษณะที่เป็นแผนยุทธศาสตร์ ผมจะเพ่งเล็งบริบทของกาละเทศะไปที่ภัยคุกคามจากตะวันตกที่สยามกำลังเผชิญ ในขณะที่เพื่อนจากภาควิชาภาษาไทยของผม เธอจะมองกาละเทศะของความสัมพันธ์ที่มีลำดับชั้นและแสดงออกผ่านการใช้ภาษาของรัฐราชาธิราชที่กำลังเปลี่ยนเข้าสู่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ส่วนเพื่อนนักปรัชญาการเมืองเขาจะพิจารณากาละเทศะของความคิดเสรีนิยมที่แผ่เข้ามาถึงชนชั้นนำของสยามและส่งผลต่อวิธีการมองทรัพย์สินและกรรมสิทธิ์

 อ่านสัมพันธบท

เนื่องจากบทความนี้กำลังใช้กาละและเทศะมากเกินกำหนดเสียแล้ว จึงขอพูดถึงวิธีอ่านสัมพันธบทไว้สั้นๆ ว่า  เราอ่านหาสัมพันธบทได้อย่างน้อยเป็น 2 แบบ

แบบแรก คือดูความสัมพันธ์ระหว่างตัวบทที่เราอ่านกับอิทธิพลที่มันได้รับมาจากตัวบทอื่นที่มีอยู่ก่อน และอิทธิพลที่มันส่งผ่านหรือส่งต่อให้แก่ตัวบทอื่นๆ ที่มีตามมา

อย่างเอกสารคำกราบบังคมทูลฯ ฉบับนี้ เราจะเห็นร่องรอยอิทธิพลที่กฎหมายระหว่างประเทศศตวรรษที่ 19 ซึ่งให้ท้ายระบบจักรวรรดินิยม ส่งผลต่อวิธีคิดและการใช้เหตุผลพิจารณาทางเลือกของกลุ่มผู้เขียนเอกสารนี้ขึ้นมา

แบบที่ 2 คือการอ่านโดยการนำกรอบความคิดบางอย่างจากตัวบทอื่นมาสัมพันธ์กับตัวบทที่อ่านเพื่อที่จะตีความ หรือแสดงความหมาย หรือเพื่อที่จะเปิดประเด็นวิพากษ์

จากเอกสารคำกราบบังคมทูลฯ ฉบับนี้ ถ้าเราอ่านโดยสัมพันธ์กับกรอบความคิดสำนักอังกฤษของทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ก็จะให้ผลเป็นความหมายออกมาอย่างหนึ่ง ที่จะแตกต่างจากการอ่านโดยนัยสัมพันธ์กับแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาประชาธิปไตย หรือแนวคิดจาก postcolonialism

การอ่านกับการฟัง

เมื่อเรียนอ่านกับครูมาได้พักใหญ่ ผมเคยถามครูว่า การอ่านกับการฟังสัมพันธ์กันไหม ครูตอบผมว่า การเขียนกับการพูดต้องการเสรีภาพ อันเป็นเงื่อนไขของโลกข้างนอก แต่การอ่านกับการฟังต้องการใจที่เปิดกว้าง อันเป็นสภาวะของโลกภายใน

ถ้าเราอ่านดีอ่านเป็นอ่านได้หลายชั้น จะช่วยทำให้การได้ยินของเราดีขึ้น รู้ที่จะฟังคนอื่นมากขึ้น และโดยเหตุนั้นที่การอ่านและการฟังจะช่วยขยายโลกภายในของเราออกไปได้อีกมหาศาล

ขอจบบทไหว้ครูผู้สอนวิธีอ่านโลกตรงสุจิปุลินี้ครับ.

 

เอกสารประกอบ

“เจ้านายและข้าราชการกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงระเบียบราชการแผ่นดิน ร.ศ. ๑๐๓” ใน ชัยอนันต์ สมุทวณิช และ ขัตติยา กรรณสูต รวบรวม, เอกสารการเมืองการปกครองไทย พ.ศ. ๒๔๑๗ – ๒๔๗๗ (กรุงเทพฯ: โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, ๒๕๑๘), หน้า ๔๗ -๗๕.

ค้นฉบับออนไลน์ได้ ที่นี่

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save