fbpx

ถึงเวลาเปลี่ยนรูปแบบคำพิพากษา จาก ‘อำนาจนิยม’ เป็น ‘เหตุผลนิยม’

รูปแบบการเขียนคำพิพากษาและคำสั่งของศาลไทยโดยเฉพาะศาลยุติธรรมมีลักษณะเฉพาะของตัวเองและแตกต่างจากรูปแบบการเขียนคำพิพากษาของศาลต่างประเทศส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่เป็นการวินิจฉัยและปรับบทกฎหมาย (analysis) มีลักษณะสั้นและกระชับมากจนดูเหมือนจะเน้นไปที่ ‘ผล’ หรือ ‘ธงคำตอบ’ มากกว่า ‘เหตุผลในทางกฎหมาย’ ทำให้บ่อยครั้งผู้อ่านต้อง ‘คาดเดา’ เหตุผลของการตีความหรือการให้เหตุผลทางกฎหมาย

นอกจากนี้ยังมีเรื่องรูปแบบการเรียบเรียงที่แต่ละส่วนของเนื้อหามีลักษณะปะปนกันจนทำให้ผู้อ่านหรือแม้แต่นักกฎหมายที่มากประสบการณ์ไม่สามารถจำแนกแยกแยะได้โดยง่ายว่าส่วนไหนเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ‘ข้อเท็จจริง’ และส่วนไหนเป็นการปรับใช้ ‘ตัวบทกฎหมาย’

ตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมานักกฎหมายและนักศึกษากฎหมายไทยดูเหมือนจะคุ้นชินกับรูปแบบการเขียนคำพิพากษาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของศาลไทย อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2557 มีการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการละเมิดสิทธิเสรีภาพในรูปแบบต่างๆ มากเป็นประวัติการณ์ ในขณะที่ความคาดหวังของผู้คนในสังคมที่มีต่อองค์กรตุลาการในการทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพก็เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์เช่นกัน

เมื่อผู้คนมีความคาดหวังต่อองค์กรตุลาการสูงขึ้น ย่อมมีความสนใจและตรวจสอบการทำงานขององค์กรตุลาการเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว คำพิพากษาและคำสั่งของศาลในหลายคดีที่เกี่ยวข้องกับคดีละเมิดสิทธิเสรีภาพ โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ถูกนำมาตีแผ่ ศึกษาและวิพากษ์วิจารณ์โดยนักกฎหมาย สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไปอย่างเข้มข้น รูปแบบการเขียนคำพิพากษาและคำสั่งที่ใช้กันมายาวนาน อาจเป็นความคุ้นชินของนักกฎหมายและนักศึกษากฎหมายไทย แต่กลับสร้างความเคลือบแคลงสงสัยให้กับประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีที่ศาลต้องใช้ดุลยพินิจพิจารณาว่าสิทธิเสรีภาพของผู้ถูกกล่าวหาควรถูกจำกัดโดยเหตุผลอันสมควรหรือไม่ ซึ่งมีการทำคำวินิจฉัยหรือคำสั่ง ‘ห้วนๆ’ โดยเฉพาะการอ้าง ‘คุณค่าในทางจารีตประเพณี’ มาเป็นเหตุผลของคำวินิจฉัยโดยปราศจากการอธิบายเหตุผลอย่างละเอียดว่ามีความชอบธรรมอันใดที่สามารถพราก ‘สิทธิเสรีภาพ’ ของประชาชนที่ได้รับการรับรองไว้ในกฎหมายสูงสุดและกติการะหว่างประเทศทั้งหลาย

การทำคำวินิจฉัยในคำพิพากษาและคำสั่งที่ ‘สั้นกระชับ’ จนเกินไป ไม่ว่าในอรรถคดีทั่วไปหรือคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน อาจก่อให้เกิดเป็นวัฒนธรรมบนความเข้าใจผิดในหมู่ผู้พิพากษาตุลาการว่า ‘คำพิพากษาคืออำนาจในตัวมันเอง’ และตัวบทกฎหมายที่อ้างอิงในคำพิพากษาคือ ‘ความชอบธรรมของอำนาจ’ เพราะฉะนั้นไม่ว่าเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยในพิพากษาและคำสั่งจะมีเนื้อหาอย่างไรและเขียนอย่างสั้นกระชับเพียงใด คู่ความและประชาชนทั่วไปก็ต้องยอมรับใน ‘อำนาจแห่งคำพิพากษา’ การไม่ยอมรับใน ‘อำนาจศาล’ อาจตามมาด้วยการใช้กฎหมายว่าด้วยการ ‘ละเมิดอำนาจศาล’ ซึ่งเกิดเป็นคดีมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ก่อนที่ความเข้าใจผิดที่ว่า ‘คำพิพากษาคืออำนาจในตัวมันเอง’ จะทำลายความเชื่อมั่นศรัทธาที่ประชาชนชาวไทยมีให้กับศาลยุติธรรมมาอย่างต่อเนื่องยาวนานตลอด 100 ปีจนยากที่จะฟื้นฟูกู้คืนมา ผู้พิพากษาตุลาการควรหันมาทบทวนกันอย่างจริงจังว่าแท้จริงแล้วอะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้คำพิพากษาและคำสั่งของศาลเป็นที่ยอมรับของประชาชนกันแน่?

รูปแบบเฉพาะของคำพิพากษาและคำสั่งของศาลไทย

โดยทั่วไปคำพิพากษาของศาลไม่ว่าจะเป็นศาลในระบบซีวิลลอว์หรือคอมมอนลอว์จะมีองค์ประกอบที่เป็นสาระสำคัญ 4 ส่วน ดังนี้ 1. ประเด็นที่พิพาท 2. สรุปข้อเท็จจริงในคำฟ้องและคำให้การ 3. การวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่ศาลรับฟังจากพยานหลักฐาน 4. การวินิจฉัยข้อกฎหมาย เหตุผลแห่งคำวินิจฉัย และคำชี้ขาด

คำพิพากษาของศาลต่างประเทศส่วนใหญ่จะมีความยาวหลายสิบหน้าถึงหลายร้อยหน้า ในขณะที่คำพิพากษาของศาลยุติธรรมไทยจะมีความยาวโดยเฉลี่ยอยู่ในช่วง 10-30 หน้ากระดาษ A4 หากพิจารณารูปแบบหน้ากระดาษของคำพิพากษา รูปแบบและความหนาแน่นของการจัดเรียงตัวอักษรของคำพิพากษาของศาลไทย ในหนึ่งหน้าของคำพิพากษามีปริมาณถ้อยคำค่อนข้างน้อยและมีพื้นที่ว่างค่อนข้างมาก ถ้านำถ้อยคำในสามหน้าคำพิพากษามารวมกันอาจมีปริมาณเท่ากับจำนวนถ้อยคำของหนึ่งหน้าของเอกสารทั่วไปขนาด A4 เท่านั้น

ในขณะที่คำพิพากษาของศาลต่างประเทศส่วนใหญ่มีการจัดโครงสร้างอย่างชัดเจนด้วยการกำหนดหัวข้อของแต่ละส่วนหรือแม้แต่มีการจัดทำสารบัญหัวข้อ หรืออาจมีการกำหนดตัวเลขย่อหน้าเพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจคำพิพากษาได้โดยง่ายและเป็นระบบ คำพิพากษาและคำสั่งของศาลไทยไม่มีการกำหนดหัวข้อ ไม่มีสารบัญ นอกจากนี้การแบ่งย่อหน้าในคำพิพากษาส่วนใหญ่ไม่มีความสม่ำเสมอ ในบางคำพิพากษามีย่อหน้าที่มีความยาว 3-4 หน้าติดต่อกัน

รูปแบบคำพิพากษาของศาลไทยก่อให้เกิดปัญหาสำคัญกับผู้อ่านที่ต้องการศึกษาและทำความเข้าใจคำพิพากษา คือสร้างความสับสนว่าส่วนใดเป็นข้อเท็จจริงจากคำคู่ความ (คำฟ้องคำให้การ) ส่วนใดเป็นข้อเท็จจริงที่รับฟังจากพยานหลักฐาน หรือส่วนใดเป็นคำวินิจฉัยปรับบทกฎหมาย แม้แต่ในหมู่ทนายความหรือนักวิชาการกฎหมายที่มากประสบการณ์ก็ไม่สามารถแยกแยะโครงสร้างของคำพิพากษาบางฉบับได้โดยง่าย จนบางครั้งทำให้เกิดความเห็นที่ไม่ลงรอยกันในหมู่นักกฎหมาย โดยมิพักต้องพูดถึงชาวบ้านทั่วไป ที่เวลาอ่านคำพิพากษาส่วนต้นแล้วอาจจะเข้าใจผิดไปว่าเป็นคำวินิจฉัยของศาลที่ตัดสินให้ตนเองต้องรับผิดแล้ว

คำวินิจฉัยในส่วนการปรับบทกฎหมายกับข้อเท็จจริงและเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยในคำพิพากษาของศาลต่างประเทศส่วนใหญ่จะถูกเรียบเรียงอย่างละเอียดและชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการตีความกฎหมายหรือการวินิจฉัยประเด็นที่มีความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย ศาลจะอธิบายโดยอ้างอิงหลักการทางกฎหมาย แนวคำพิพากษาบรรทัดฐาน หรือความเห็นทางวิชาการที่เป็นที่ยอมรับอย่างสูง เพื่อสนับสนุนการให้เหตุผลทางกฎหมายของตน เนื่องจากศาลต้องการจูงใจให้ผู้อ่านคำพิพากษาเห็นด้วยคล้อยตามด้วย เหตุผลแห่งคำวินิจฉัย’ ไม่ใช่ด้วย ‘อำนาจแห่งคำพิพากษา’ ในขณะที่คำวินิจฉัยในส่วนของการปรับบทกฎหมายกับข้อเท็จจริงและเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยในคำพิพากษาของศาลไทยโดยทั่วไปจะมีลักษณะสั้นกระชับ อาจจะมีความยาวเพียง 2-3 ย่อหน้า หรือยาวเพียงแค่ 2-3 หน้า

ลักษณะเฉพาะที่น่าสนใจประการหนึ่งของคำพิพากษาของศาลไทย คือการอ้างเฉพาะตัวบทกฎหมายที่ปรับใช้กับข้อเท็จจริงและแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยไว้อย่างห้วนสั้น นับเป็นแนวปฏิบัติปกติของศาลยุติธรรมไทยที่จะไม่อ้างหลักการ ทฤษฎี ความเห็นทางวิชาการ รวมถึงบรรทัดฐานทางกฎหมายใดๆ แม้แต่คำพิพากษาฎีกาบรรทัดฐาน ความเห็นของที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา หรือคำพิพากษาของศาลฎีกาที่เคยตัดสินในคดีที่ใกล้เคียงกัน กลับถูกอ้างอิงน้อยมาก

จริงอยู่ว่าผู้พิพากษาที่ตัดสินคดีอาจจะศึกษาตำราทางวิชาการและคำพิพากษาบรรทัดฐานจำนวนมากก่อนเขียนคำพิพากษาหรือทำคำสั่ง แต่รูปแบบการเขียนที่ไม่อ้างอิงบรรทัดฐานอื่นใดเลยนอกเหนือจากบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทำให้ประชาชนทั่วไปไม่ทราบถึง ‘เหตุผลทางกฎหมาย’ ที่เป็นฐานสนับสนุนความชอบธรรมของคำวินิจฉัยได้อย่างชัดเจน จึงไม่น่าแปลกใจหากมีคนตีความรูปแบบการเขียนคำพิพากษาของศาลว่าแสดงให้เห็นถึงทัศนคติที่มองว่า ‘ตัวบทกฎหมายคือความชอบธรรมสูงสุด’ หรือ ‘คำพิพากษาคือความชอบธรรมในตัวเอง’

คำพิพากษาในฐานะบ่อเกิดของกฎหมาย

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าคำพิพากษาของศาลไม่ใช่บ่อเกิดของกฎหมายในระบบกฎหมายซีวิลลอว์ซึ่งรวมถึงระบบกฎหมายไทย ขณะที่ในระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ คำพิพากษาสามารถสถาปนาหลักการที่มีอำนาจบังคับเป็นกฎหมายในลักษณะเดียวกันกับกฎหมายที่ตราขึ้นโดยฝ่ายนิติบัญญัติ การที่ศาลคอมมอนลอว์มีอำนาจในการก่อตั้งกฎหมาย ทำให้ผู้พิพากษาคอมมอนลอว์ต้องเขียนคำพิพากษาด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง คำพิพากษาจะพรรณนาข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และคำวินิจฉัยอย่างละเอียดชัดเจน เพื่อจูงใจให้สังคมยอมรับหลักการกฎหมายใหม่ที่ศาลก่อตั้งขึ้น และเพื่อแจกแจงให้ผู้อ่านทราบอย่างชัดเจนว่าหลักการที่ศาลปรับใช้เหมือนหรือแตกต่างกันกับคดีอื่นที่มีข้อเท็จจริงคล้ายคลึงกันอย่างไร ผู้พิพากษาในศาลคอมมอนลอว์จึงได้รับการยกย่องว่ามีความสามารถเป็นเลิศในการรับฟังข้อเท็จจริงและแสดงเหตุผลทางกฎหมาย

แม้ผู้พิพากษาในศาลคอมมอนลอว์จะมีอำนาจก่อตั้งกฎหมายผ่านคำพิพากษา แต่เพื่อให้คนยอมรับถึงเหตุผลความชอบธรรมของหลักการกฎหมายที่ก่อตั้งขึ้นและยอมรับในคำตัดสินแต่ละคดี ผู้พิพากษามักจะกล่าวอ้างคำพิพากษาบรรทัดฐาน ทฤษฎีกฎหมาย ความเห็นของนักวิชาการ หรือข้อมูลจากแหล่งต่างๆ (แม้แต่บทกวีของเชกสเปียร์!) ที่มีเหตุผลและความเชื่อถือที่หนักแน่น เพราะฉะนั้นความรู้และความสามารถในการวิพากษ์และนำเสนอความคิดเห็นในทางทฤษฎีของผู้พิพากษาคอมมอนลอว์ไม่ด้อยไปกว่านักวิชาการแต่อย่างใด

ในขณะที่ระบบกฎหมายซีวิลลอว์มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่ถูกจัดวางอย่างเป็นระบบ ส่วนใหญ่อยู่ในรูปประมวลกฎหมาย และมีนิติวิธีในการตีความกฎหมายลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน ทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นเกือบทุกปัญหาสามารถแก้ได้โดยการปรับใช้กฎหมายลายลักษณ์อักษร ความเป็นใหญ่ของกฎหมายลายลักษณ์อักษรนี้เอง อาจทำให้ผู้พิพากษาในระบบกฎหมายซีวิลลอว์บางประเทศเกิดความชะล่าใจและเข้าใจผิดไปว่า กฎหมาย (ลายลักษณ์อักษร) คือ ‘อำนาจ’ และ ‘ความชอบธรรม’ ในตัวมันเอง เนื่องจากมีความชัดเจนและเป็นระบบอยู่ในตัว โดยที่ศาลไม่ต้องอธิบายขยายความตัวบทกฎหมายให้ยืดยาวอีก เพียงแค่อ้างตัวบทกฎหมาย (เช่น การอ้างเลขมาตรา) ก็เพียงพอที่จะสร้างความชอบธรรมให้กับคำวินิจฉัยและเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยในคำพิพากษาแล้ว

แม้ระบบกฎหมายซีวิลลอว์จะโชคดีที่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรคอยแก้ปัญหาทางกฎหมายให้ได้อยู่เสมอ แต่ศาลในระบบกฎหมายซีวิลลอว์ต่างตระหนักดีว่า แม้บทบัญญัติลายลักษณ์อักษรจะมีความชัดเจนและเป็นระบบเพียงใด ความชอบธรรมในการปรับใช้กฎหมาย เกิดจากการแสดงเหตุผลในการปรับใช้ตัวบทกฎหมาย (legal reasoning) ศาลในระบบกฎหมายต้นแบบของซีวิลลอว์อย่างเช่นศาลเยอรมันเขียนเหตุผลในการตีความกฎหมายและการปรับใช้ตัวบทกฎหมายอย่างละเอียดชัดเจน จนทำให้ผู้ที่แม้จะไม่เห็นด้วยกับผลของคำวินิจฉัยก็ต้องยอมรับและเคารพในความคิดเห็นที่แตกต่าง

อย่างไรก็ตามหากระบบกฎหมายใดที่ผู้พิพากษาเขียนคำพิพากษาไว้ห้วนสั้นจนเกินไป โดยหวังที่จะยึดเอาตัวบทกฎหมายเป็นความชอบธรรมเพียงอย่างเดียว ย่อมเป็นการยากที่จะจูงใจผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับผลของคำวินิจฉัยที่ปราศจากการแสดงเหตุผลสนับสนุนอย่างละเอียดชัดเจน ความไม่ชัดเจนมีแต่ทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยและการคาดเดาในหมู่นักกฎหมายและประชาชนทั่วไป

คำพิพากษาของศาลในฐานะห้องสมุดกฎหมาย

แม้ว่าคำพิพากษาของศาลไทยจะไม่ใช่กฎหมายในตัวเอง แต่คำพิพากษาศาลฎีกาถูกอ้างอิงในฐานะวัตถุแห่งการศึกษาและตัวอย่างของการปรับใช้กฎหมายในการเรียนการสอนกฎหมายในมหาวิทยาลัย และที่สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา คำพิพากษาของศาลฎีกาเป็นแกนกลางของการเรียนการสอนและการวัดผลในระดับเนติบัณฑิต ในขณะที่ข้อสอบคัดเลือกผู้พิพากษาและอัยการส่วนใหญ่เป็นการดัดแปลงข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ในคำพิพากษาศาลฎีกา แม้ว่าคำพิพากษาของศาลไทยจะไม่ใช่กฎหมายในตัวเอง แต่คำพิพากษากลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของนักกฎหมายและนักศึกษากฎหมายไทย จนอาจจะเรียกว่าเป็นแหล่งข้อมูลหลักในห้องสมุดกฎหมายของไทย ที่สำคัญกว่านั้นความสามารถในการจดจำรายละเอียดของข้อเท็จจริงและเหตุผลของคำวินิจฉัยยังเป็นตัวตัดสินความสำเร็จในการเข้าสู่เส้นทางของผู้พิพากษาและอัยการ

แม้ว่าคำพิพากษาจะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญที่สุดแหล่งหนึ่งในระบบกฎหมายไทย แต่คำวินิจฉัยปรับบทกฎหมายและเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยที่ห้วนสั้น ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อกระบวนการเรียนรู้ของนักศึกษากฎหมายอย่างที่ควรจะเป็น บ่อยครั้งที่อาจารย์สอนกฎหมายและนักกฎหมายต้อง ‘คาดเดา’ เหตุผลแห่งคำวินิจฉัย เนื่องจากคำพิพากษาไม่ได้แสดงเหตุผลไว้อย่างละเอียดชัดเจนว่าเหตุใดองค์ประกอบของกฎหมายและข้อเท็จจริงจึงปรับเข้ากันได้ คำพิพากษาหลายฉบับทำแค่เพียงเขียนซ้ำองค์ประกอบของบทบัญญัติของกฎหมายและบอกผลทางกฎหมายเท่านั้น

อาจารย์สอนกฎหมายทุกคนตระหนักดีว่า องค์ความรู้ทางนิติศาสตร์จะเจริญงอกงามด้วย ‘การให้เหตุผลทางกฎหมาย’ ไม่ใช่ด้วย ‘ธงคำตอบ’ เพราะธงคำตอบที่ได้อาจเป็นเพียงผลของอคติและอำเภอใจ แต่การให้เหตุผลทางกฎหมาย จะแสดงให้เห็นถึงความพยายามในสร้างความชอบธรรมด้วยกระบวนการคิดที่เป็นระบบและเป็นเหตุเป็นผล

ในประวัติศาสตร์กฎหมาย การศึกษากฎหมายยกระดับจากการตัดสินถูกผิดตามอำเภอใจมาสู่การศึกษาและการปรับใช้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งเกิดขึ้นได้เพราะความเพียรพยายามของนักกฎหมายยุโรปในยุคกลางที่ช่วยค้นหาวิธีการในการศึกษาและปรับใช้กฎหมายอย่างเป็นระบบและเป็นเหตุและผล

คำพิพากษาในฐานะเสาค้ำจุนนิติรัฐและหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน

คำพิพากษาฉบับเดียวอาจมีผลให้พรรคการเมืองที่ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนหลายล้านคนต้องถูกยุบ อาจทำให้นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศต้องพ้นจากตำแหน่ง อาจสร้างความชอบธรรมให้คณะรัฐประหารที่ล้มล้างรัฐธรรมนูญและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หรืออาจพรากซึ่งสิทธิเสรีภาพของประชาชนเพียงเพราะเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

คำพิพากษาฉบับเดียวสามารถเปลี่ยนชีวิตคนทั้งชีวิตและเปลี่ยนสังคมไทยไปอีกหลายชั่วอายุคน คำพิพากษาจะต้องมีเหตุผลหนักแน่นขนาดไหนจึงจะทำให้ผู้คนยอมรับถึงความชอบธรรมในการทำให้สิทธิเสรีภาพของตัวเองถูกลิดรอนและอนาคตของคนในสังคมจะถูกพรากไปอย่างยาวนาน ในความเป็นจริงเป็นเรื่องน่าเศร้าที่บ่อยครั้งประชาชนไม่มีโอกาสได้เห็นเหตุผลอันหนักแน่นเหล่านั้นในคำพิพากษาและคำสั่งของศาล ทำให้ความสงสัยและค้างคาใจของประชาชนพัฒนาเป็นความโกรธแค้นและชิงชัง

ไม่ว่าศาลจะมีความเห็นและทัศนคติในการปรับใช้และตีความกฎหมายอย่างไร ศาลจำเป็นต้องแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยอย่างละเอียดชัดเจน เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยจำเป็นต้องอ้างอิงหลักการหรือทฤษฎีทางกฎหมายที่เป็นรากฐานของคำวินิจฉัยอย่างหนักแน่นและมั่นคง มิใช่เพียงการอ้างอิงองค์ประกอบของกฎหมายประหนึ่งเป็น ‘อำนาจเด็ดขาด’ ที่ทุกคนต้องยอมรับโดยดุษณี ยิ่งในคดีทางการเมืองหรือคดีที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจรัฐที่ก่อให้เกิดความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย และยิ่งในคดีที่ศาลต้องวินิจฉัยการปะทะกันระหว่าง ‘เหตุผลธรรมชาติ’ เช่น สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และ ‘คุณค่าในทางจารีตประเพณี’ เช่น สถาบันพระมหากษัตริย์ ศาลยิ่งต้องแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยในคำพิพากษาหรือคำสั่งอย่างละเอียดชัดเจนและต้องอ้างอิงถึงหลักการทางกฎหมายที่เป็นรากฐานของคำวินิจฉัยอย่างหนักแน่นเพื่อแสดงให้เห็นว่าศาลต้องการใช้ ‘เหตุผลนิยม’ มิใช่ ‘อำนาจนิยม’ ในการจูงใจให้ผู้คนเห็นด้วยคล้อยตาม และเพื่อป้องกันข้อครหาว่าศาลตัดสินคดีด้วย ‘อคติ’ และ ‘อำเภอใจ’ ผู้พิพากษาตุลาการต้องตระหนักเสมอว่าวิชานิติศาสตร์ดำรงอยู่ได้ต่อเนื่องนับพันปี ไม่ใช่เพราะ ‘อำนาจ’ แต่เป็นเพราะ ‘เหตุผล’ ถ้าความยุติธรรมขับเคลื่อนด้วยอำนาจและอคติ สังคมก็ไม่จำเป็นต้องมีวิชานิติศาสตร์และวิชาชีพนักกฎหมาย ผู้ปกครองเผด็จการสามารถตั้งใครก็ได้ให้ทำหน้าที่ตัดสินคดีเพื่อให้เกิดผลที่กำหนดไว้แล้วล่วงหน้า

คำพิพากษาในฐานะเกราะป้องกันการละเมิดอำนาจศาล

เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยที่ละเอียดชัดเจนและยึดโยงอยู่กับหลักและทฤษฎีกฎหมายอย่างมั่นคงจะเป็นเกราะกำบังให้ผู้พิพากษาที่ทำคำวินิจฉัยนั้น โดยไม่ต้องมีหรือต้องบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการละเมิดอำนาจศาล คำพิพากษาหรือคำสั่งที่แสดงเหตุผลอย่างละเอียดชัดเจนจะทำให้คู่ความและประชาชนทั่วไปทำใจยอมรับคำตัดสินได้ แม้จะไม่เห็นด้วยกับผลของการตัดสินใจมากสักเพียงใด

ศาลไทยมีแนวโน้มที่จะใช้กฎหมายว่าด้วยการละเมิดอำนาจศาลในการปิดปากผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น แม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งโดยธรรมชาติเป็นศาลการเมืองและคำวินิจฉัยของศาลมักทำให้ผู้คนในสังคมมีความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายยังออกกฎหมายว่าด้วยการละเมิดอำนาจศาล ซ้ำยังมีการประกาศแจ้งเตือนการวิพากษ์วิจารณ์ศาลในเอกสารที่เผยแพร่ผลคำวินิจฉัยต่อสื่อมวลชน ในขณะที่คดีละเมิดอำนาจศาลยุติธรรมมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้แสดงให้เห็นว่าศาลมีแนวโน้มที่จะใช้ ‘อำนาจ’ มากกว่า ‘เหตุผล’ ในการสยบผู้คนที่เห็นต่าง ถึงเวลาที่ศาลควรตั้งคำถามว่า ศาลได้ให้เหตุผลอย่างละเอียดชัดเจนและอ้างอิงหลักการทางกฎหมายที่หนักแน่นเพียงพอที่จะทำให้ผู้คนที่เห็นต่างยอมรับแล้วหรือไม่ ถ้ายังไม่ได้ทำเช่นนั้น ถึงเวลาที่ศาลควรจะเปลี่ยนรูปแบบการทำคำวินิจฉัยในคำพิพากษาและคำสั่งเสียใหม่หรือไม่ เพื่อให้คนรู้สึกว่าศาลต้องการจูงใจผู้คนให้เห็นด้วยคล้อยตามด้วย ‘เหตุผลนิยม’ มากกว่า ‘อำนาจนิยม’

ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เมื่อศาลสูงสุดสหรัฐตัดสินคดีที่ก่อให้เกิดความคิดเห็นที่แตกแยกในสังคมอย่างสูง เช่น คดีว่าด้วยสิทธิในการทำแท้ง ซึ่งเพิ่งตัดสินเมื่อไม่นานมานี้ คำวินิจฉัยเสียงข้างมากก่อให้เกิดความไม่พอใจอย่างมากและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงทั้งจากประธานาธิบดี นักการเมือง นักกฎหมายและประชาชนทั่วไปที่เป็นฝ่ายเสรีนิยม แต่ยังไม่ปรากฏว่ามีใครถูกดำเนินคดีจากการวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาหรือแม้แต่วิจารณ์ผู้พิพากษา ส่วนในอังกฤษ แม้มีกฎหมายละเมิดอำนาจศาล แต่การบังคับใช้จำกัดอยู่เฉพาะการป้องกันไม่ให้มีการขัดขวางการพิจารณาของศาล ไม่ใช่ป้องกันการวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล

ในประเทศที่มีนิติรัฐเหล่านั้น แม้คำพิพากษาจะก่อให้เกิดความเห็นที่แตกต่างหลากหลายหรือถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง แต่ศาลไม่กลัวการถูกวิพากษ์วิจารณ์และไม่คิดจะลงโทษคนที่วิพากษ์วิจารณ์ เพราะศาลเห็นว่าเกราะกำบังที่ช่วยป้องกันการวิพากษ์วิจารณ์ศาลและผู้พิพากษาได้ดีที่สุด คือการแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยที่หนักแน่นและอ้างอิงหลักทฤษฎีอย่างมั่นคง แม้ผู้คนจำนวนมากจะไม่เห็นด้วยกับเหตุผลของศาล แต่เขาก็ไม่สามารถตำหนิศาลได้ว่าศาลไม่แสดงเหตุผลอย่างชัดเจน เขาคงทำได้แค่วิจารณ์ว่าเป็นเหตุผลที่ยอมรับไม่ได้ แต่ก็จะต้องค่อยๆ ยอมรับไปในที่สุด แต่ถ้าคำพิพากษาหรือคำสั่งไม่ได้แสดงเหตุผลที่ชัดเจนหรือมีหลักการรองรับที่หนักแน่นเพียงพอ ก็จะมาซึ่งข้อสงสัยและการคาดเดาในหมู่ประชาชน ซึ่งจะพัฒนากลายเป็นการต่อต้านในท้ายที่สุด

คำพิพากษาของศาลกับสังคมไทยในช่วงเปลี่ยนผ่าน

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สังคมไทยซึ่งเป็นสังคมจารีตนิยมและอำนาจนิยมต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน คือการเกิดขึ้นของทัศนคติในการวิพากษ์วิจารณ์ของคนจำนวนมากในสังคมโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มีต่อระบบและทัศนคติในเชิงอำนาจและจารีตนิยมซึ่งเป็นรากฐานของระบบ ความสัมพันธ์ และทัศนคติของคนในสังคมไทยมาอย่างช้านาน

เราต้องยอมรับว่าสังคมไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากสังคมเผด็จการไปสู่สังคมแห่งนิติรัฐที่ประชาชนจะมีสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคอย่างแท้จริง จะไม่มีระบบและคุณค่าใดที่จะต้านทานความต้องการซึ่งสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชนได้ ไม่ว่าจะต้องใช้เวลายาวนานเพียงใด สังคมไทยจะเป็นสังคมที่มีนิติรัฐในท้ายที่สุด

ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงซึ่งมีการต่อสู้กันทางความคิด ทางการเมือง และทางกฎหมายอย่างรุนแรง ศาลเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญมากที่สุดองค์กรหนึ่งซึ่งจะเป็นตัวกำหนดรูปแบบและทิศทางของการเปลี่ยนแปลง ศาลอาจช่วยขับเคลื่อนสังคมให้เป็นเสรีประชาธิปไตย หรือศาลอาจเป็นเกราะกำบังและเป็นที่มั่นสุดท้ายของอำนาจนิยม หรือศาลอาจช่วยประสานความขัดแย้งเพื่อให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลงโดยไม่เกิดความรุนแรง บทบาทอันสำคัญยิ่งเหล่านี้ของศาลจะแสดงออกมาในคำพิพากษาและคำสั่ง จึงอยากเรียกร้องให้ผู้พิพากษาและตุลาการได้ตระหนักถึงบทบาทอันสำคัญยิ่งนี้ และจงทำคำวินิจฉัยและแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยที่ชัดเจนและหนักแน่นตามหลักวิชาโดยปราศจากอคติ เพื่อช่วยค้ำจุนนิติรัฐและสิทธิเสรีภาพของประชาชนอันเป็นคุณค่าสูงสุดของวิชานิติศาสตร์และวิชาชีพนักกฎหมาย

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save