ที่ประเทศฝรั่งเศสในวันนี้ ผู้คนกำลังพากันลงถนนประท้วงและนัดหยุดงานกว่า 1 ล้านคนเพื่อต่อต้านการแก้กฎหมายของรัฐบาล ซึ่งปรับอายุการเกษียณจาก 62 ปีไปที่ 64 ปี ส่งผลให้การคมนาคมทั้งในปารีสและเมืองอื่นๆ ชะงัก โรงเรียนหลายแห่งต้องปิดเรียนชั่วคราว
ก่อนหน้านี้ เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสพยายามแก้กฎหมายการเกษียณอายุ โดยหนึ่งในนโยบายสำคัญของมาครงคือการปฏิรูปเงินบำนาญเพื่อหวังแก้ปัญหาการเงินขาดดุล เมื่อวันพุธที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา เขาให้สัมภาษณ์กับสื่อสเปนว่าการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ “ยุติธรรมและเต็มไปด้วยความรับผิดชอบ” จากรัฐบาลแล้ว หากแต่ดูเหมือนประชาชนชาวฝรั่งเศสจะไม่คิดเช่นนั้น ทั้งยังเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้ประชาชนลุกฮือลงถนนในวันถัดมา ฟากสหภาพแรงงานยืนกรานว่ากฎหมายการเกษียณอายุต้องอยู่ที่ 62 ปีเช่นเดิม และภายหลังจากเกษียณแล้ว ประชาชนย่อมต้องได้รับเงินบำนาญจากรัฐเต็มจำนวน

ผู้ประท้วงที่รวมตัวกันในกรุงปารีสได้รับการประมาณการว่ามีจำนวนอยู่ราว 80,000 คน ขณะที่อีกหลายหมื่นคนรวมตัวกันที่เมืองอื่นๆ อีกกว่า 200 เมืองในฝรั่งเศส การคมนาคมต่างๆ หยุดชะงักขณะที่โรงเรียนหลายแห่งต้องปิดชั่วคราว รัฐบาลประกาศว่ามีคุณครูเข้าร่วมการหยุดงานประท้วงราว 35 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่สหภาพแรงงานชี้แจงว่ามีครูร่วมหยุดงานมาลงถนนถึง 65 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ผลสำรวจของ IFOP -สถาบันทำแบบสำรวจเจ้าใหญ่ในฝรั่งเศส- ระบุว่ามีประชาชน 68 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่เห็นด้วยต่อมาตรการปรับอายุการเกษียณของรัฐบาล อีกทั้งมาตรการนี้ยังถูกต่อต้านจากเหล่าสหภาพแรงงานทุกแห่งในประเทศ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเตรียมยื่นเสนอแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าวต่อรัฐสภาในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากพรรคฝ่ายค้านทั้งฝ่ายซ้ายสุดและขวาสุด ขณะที่พรรค Renaissance ซึ่งเป็นพรรคสายกลางของมาครงสูญเสียที่นั่งในสภาเป็นจำนวนมาก บีบให้มาครงต้องเรียกเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. ของพรรค The Republicans อันเป็นพรรคอนุรักษนิยมเสรีของฝรั่งเศสและครองที่นั่งในสภาเป็นจำนวนมากเพื่อโหวตรับรองการเสนอแก้กฎหมายปฏิรูปเงินบำนาญดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศในยุโรป ฝรั่งเศสเผชิญหน้ากับความยากลำบากของค่าครองชีพ -ไม่ว่าจะค่าอาหารหรือค่าพลังงาน- เพิ่มขึ้นมหาศาลหลังการระบาดของโรคโควิด-19 และผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และจากสถิติเมื่อปี 2018 โดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (The Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) พบว่าฝรั่งเศสใช้เงินเกือบ 14 เปอร์เซ็นต์ของ GDP (Gross Domestic Product: ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) ไปกับการจ่ายเงินบำนาญโดยรัฐ ซึ่งถือว่ามากกว่าหลายประเทศทั่วโลก
รัฐมนตรีแรงงานฝรั่งเศสระบุว่า การเพิ่มอายุเกษียณและการขยายวงเงินที่จะใช้ไปกับการบำนาญจะทำให้ระบบเงินบำนาญในตอนนี้ถึงจุด ‘คุ้มทุน’ ที่ราวๆ ปี 2027 ซึ่งเท่ากับว่า แรงงานต้องทำงานมาแล้วอย่างน้อย 43 ปีจึงจะมีสิทธิได้รับเงินบำนาญเต็มจำนวน ทำให้เกิดปัญหาสำหรับคนที่เคยหยุดงานเพื่อไปทำอย่างอื่นหรือคนที่เริ่มทำงานช้าที่อาจต้องทำงานอีกหลายปีกว่าจะถึงจุดที่จะได้รับเงินบำนาญเต็มจำนวน ซึ่งเป็นดังที่รัฐบาลระบุว่า การให้แรงงานมีอายุงานที่ยาวนานขึ้นนั้นคือทางออกเดียวที่จะสร้างสมดุลให้ระบบเงินบำนาญในระยะยาวได้ผ่านการจ่ายภาษีของแรงงานและนายจ้าง ฟากสหภาพแรงงานในฝรั่งเศสก็โต้กลับแนวคิดของรัฐบาลอย่างเจ็บแสบว่า หากรัฐบาลมุ่งมั่นเก็บภาษีและเงินปันผลจากกลุ่มมหาเศรษฐีให้มากขึ้น น่าจะเป็นวิธีที่ได้ผลมากกว่าการเรียกเก็บภาษีเพื่อไปอุดหนุนระบบเงินบำนาญ

นอกจากนี้ แผนการแก้กฎหมายของฝรั่งเศสยังมีรูโหว่ เนื่องจากหลายคนระบุว่าแทบไม่มีบริษัทไหนรับพนักงานที่มีอายุมาก ซึ่งหากการเกษียณอายุต้องล่าช้าออกไปตามแผนงานของมาครง เท่ากับว่าหลายคนที่อาจหางานทำไม่ได้ในวัยสูงอายุ อาจต้องใช้ชีวิตอย่างลำบากเนื่องจากไม่ได้รับเงินบำนาญจนกว่าจะอายุ 64 ปี
เว็บไซต์นิวยอร์คไทม์สทำสกู๊ปว่าด้วยแรงงานสูงอายุในฝรั่งเศส โดยมีการสัมภาษณ์คริสตีน เยอเกนง อดีตผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาดที่กลายเป็นคนว่างงานก่อนหน้าวันเกิดวัย 59 ปี -และมีเงินเก็บพอเหลือใช้จนอายุ 62 ซึ่งเธอวางแผนชีวิตไว้ว่าจะเป็นปีที่เธอเข้ารับเงินบำนาญของรัฐบาล- เธอกล่าวว่าแผนงานยืดอายุแรงงานของมาครงส่งผลกระทบต่อเธอโดยตรง เยอเกนงระบุด้วยว่า แม้จะมีประสบการณ์การทำงานสายนี้มา 38 ปีเต็ม แต่บริษัทส่วนใหญ่ก็ไม่รับเธอเข้าไปเป็นพนักงานเนื่องจากเธอ “อายุมากเกินไป”
การสำรวจจาก Indeed France เว็บไซต์จัดหางานที่ใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศสระบุว่า ที่ผ่านมามีผู้สมัครหางานที่อายุมากกว่า 55 ปีเป็นจำนวน 1 ใน 4 ของผู้สมัคร และส่วนใหญ่บริษัทหลายแห่งในฝรั่งเศสไม่รับพวกเขาเข้าทำงานด้วยเงื่อนไขเรื่องอายุ ขณะที่นายจ้างจำนวน 4 ใน 10 ชัดเจนว่าจะไม่จ้างพนักงานใหม่ที่อายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป ขณะที่บริษัทจำนวน 1 ใน 4 บอกว่าผู้สมัครที่อายุน้อยนั้นมีแนวโน้มจะเรียกเงินเดือนต่ำกว่าผู้สมัครที่อายุมากด้วย
ฟรีเดริก ดอร์ทอมป์ ผู้เข้าประท้วงวัย 52 ที่ทำงานในบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งระบุกับสื่อ The Guardian ว่าเขาเป็นหนึ่งในคนที่ลงคะแนนเสียงให้มาครง “มาครงบอกว่าเขาประกาศประเด็นการเปลี่ยนแปลงเงินบำนาญมาตั้งนานแล้ว แต่ผมจะบอกให้ว่าที่คนส่วนใหญ่ลงคะแนนให้มาครงน่ะไม่ใช่เพราะเห็นดีเห็นงามกับวิธีคิดเขาสักหน่อย แต่เพื่อกันไม่ให้ มารีน เลอ แปง (นักการเมืองจากพรรค National Rally อันเป็นพรรคขวาจัดในฝรั่งเศส เป็นหนึ่งในตัวเต็งชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีกับมาครง) ออกไปต่างหาก แล้วมาครงยังมาบอกว่าจะนำนโยบายแก้เงินบำนาญกลับไปพิจารณาใหม่ แต่ก็ไม่เห็นว่าจะทำเลย”
ขณะที่ เวโรนิก คุณครูประจำโรงเรียนมัธยมวัย 61 ปีกล่าวว่า “ครูคืองานที่หนักหนาทั้งทางร่างกายและจิตใจ เงินเดือนของเราก็หดน้อยลงทุกทีๆ เพราะพิษเงินเฟ้อ แล้วนี่เรายังต้องมากังวลอีกด้วยว่าอาจจะแก่และป่วยทั้งที่ยังต้องทำงานไปเรื่อยๆ แบบนี้” นอกจากนี้ ฌ็อง พอล กาชินา เจ้าหน้าที่บริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์วัย 56 ก็บอกว่าเขาเพิ่งเข้าร่วมการประท้วงเป็นครั้งแรกในชีวิต “ผมไม่ได้มาเพื่อตัวเองหรอก แต่มาเพื่อคนรุ่นใหม่และแรงงานที่ยังต้องทำงานอยู่ในตอนนี้ เพราะหน้าที่การงานของผมทำให้ผมได้เห็นความระทมทุกข์ของพนักงานเป็นตาแรกๆ เลย ผมรู้ดีว่าเป็นอย่างไร”

ทั้งนี้ คนหนุ่มสาวรวมทั้งนักศึกษาและนักเรียนก็เข้าร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมากเช่นกัน นาธาน อาร์แซ็ก นักศึกษาและสมาชิกกลุ่มสหภาพนักศึกษาแห่งฝรั่งเศส (The National Union of Students of France) ระบุว่า “ผมกลัวสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต เราอาจสูญเสียความสำเร็จต่างๆ ในสังคมได้เร็วมากๆ และก็กลัวเพราะอนาคต ผมก็ต้องแก่ตัวและก็ต้องเกษียณอายุอยู่ดี” เช่นเดียวกับ โธมัส โอวีราด นักศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์วัย 20 ปีและ อิกนาซิโอ ฟรังโซน พนักงานไปรษณีย์วัย 23 เข้าร่วมการชุมนุมบริเวณป้อมบัสตีย์ ถือโปสเตอร์ขนาดยักษ์ที่มีรูปมาครงแต่งตัวเป็นพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส “ก็แน่ล่ะว่าในฝรั่งเศส เราเคยบั่นหัวกษัตริย์มาแล้วในอดีต” ฟรังโซนกล่าว “ผมอยากบอกมาครงว่าเรายังไปไม่ถึงขั้นนั้น แต่ก็อยากให้เขารู้ว่าเรามาที่นี่เพื่อเอาชนะการต่อสู้นี้น่ะ”
ประเด็นเรื่องกำหนดอายุของการเกษียณนั้นก็เป็นปัญหาใหญ่ของหลายประเทศทั่วโลก สหรัฐอเมริกากำหนดให้อายุการเกษียณอยู่ที่ 67 ปีเช่นเดียวกับอิตาลีและเยอรมนี ส่วนสเปนอยู่ที่ 65 ปี พร้อมกันนี้อีกหลายประเทศในยุโรปเริ่มขยับอายุการเกษียณให้เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากประชาชนสูงวัยมีจำนวนเพิ่มขึ้น สวนทางกับอัตราการเกิดของประชากรที่ถดถอยลง ซึ่งถึงที่สุดดูจะเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่หลายประเทศต้องหาทางจัดการต่อไปในอนาคต