fbpx
อุ้มเก่ง : บทเรียนจากทีวีดิจิทัล เมื่อรัฐอุ้มทุน ประชาชนได้อะไร

อุ้มเก่ง : บทเรียนจากทีวีดิจิทัล เมื่อรัฐอุ้มทุน ประชาชนได้อะไร

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่องและภาพ

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

แม้ว่าสังคมไทยจะเริ่มด้านชากับการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จนแทบจะหมดสิ้นความประหลาดใจแล้ว แต่มาตรา 44 ครั้งล่าที่ประกาศเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562 โดยอ้างว่าเพื่อแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม กลับปรากฏเบื้องหน้าและเบื้องหลังที่เต็มไปด้วยความฉงนสงสัย จนต้องถอนหายใจกันหลายรอบ

เล่าใจความของเรื่องราวให้เข้าใจกันง่ายๆ คือ มาตรา 44 ฉบับนี้ ‘อุ้ม’ กิจการโทรทัศน์ ด้วยการอนุญาตให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลคืนใบอนุญาตได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตส่วนที่เหลือ แถมยังได้เงินที่จ่ายให้รัฐไปแล้วในงวดก่อนๆ คืนกลับมาบางส่วนอีกต่างหาก ส่วนผู้ประกอบการที่เลือกเดินหน้าต่อ ก็ยังได้อานิสงส์ ไม่ต้องจ่ายเงินสองงวดสุดท้ายกับเขาไปด้วย ทั้งหมดนี้ กสทช. อ้างว่าจำเป็นต้องเรียกคืนคลื่นทีวีดิจิทัลเพื่อนำมาจัดสรรใหม่สำหรับประมูล 5G ในอนาคต

กิจการโทรคมนาคม หรือค่ายมือถือ เลยได้ประโยชน์ ถูก ‘อุ้ม’ ไปด้วย โดยได้รับอนุญาตให้ขยายเวลาการชำระค่าประมูลคลื่น 4G ออกไป ด้วยข้ออ้างว่าจะได้มีเงินมาประมูล 5G

การแจกจ่ายผลประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนสื่อสารและกลุ่มทุนโทรคมนาคมงวดนี้ประมาณการกันว่าทำให้รัฐเสียหายมากกว่าห้าหมื่นล้านบาทเป็นอย่างต่ำ

เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดสัมมนาสาธารณะเพื่อตอบคำถามที่สื่อไม่ค่อยให้ความสนใจ (ก็ใครได้ประโยชน์ละ) ว่า “ม.44 อุ้มทีวีดิจิทัล: รัฐเอื้อทุน ประชาชนได้อะไร” โดยมีวิทยากรคือ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ), นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), สุภิญญา กลางณรงค์ อดีต กสทช., ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และ กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

และนี่คือเนื้อหาส่วนหนึ่งของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ คสช. และ กสทช. นอกสภา ในวันนั้น

 

นิทาน ‘ลุง’ ‘เฮีย’ ‘เสี่ย’ สอนให้รู้ว่า…

 

 

มาตรา 44 อุ้มทีวีดิจิทัล เมื่อแปลตามแบบฉบับของ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ จะได้ความว่า “ลุง (คสช.) สั่ง เฮีย (กสทช.) อุ้ม เสี่ย (ผู้ประกอบการใหญ่) ด้วยเงินของเรา (ประชาชน)” (ในวงเล็บ เป็นคำใบ้ของผู้เขียนที่ช่วยให้คนนอกวงการไม่ต้องตีความ)

ดร.สมเกียรติ อธิบายว่า แม้ทีวีดิจิทัลหลายช่องจะประสบภาวะขาดทุนจริง ประจวบเหมาะกับการที่ประเทศไทยกำลังเริ่มพูดถึงเรื่องบริการ 5G เรื่องราวจึงรวมกันกลายเป็นนิทานหลอกประชาชนที่ลงเอยด้วยการอ้างว่าเอาคลื่นทีวีดิจิทัลที่ล้มเหลวทางธุรกิจ มาทำบริการ 5G แทน แล้วเอาเงินที่จะได้จากการประมูลคลื่น 5G กลับมาอุ้มทีวีดิจิทัล และเพื่อให้ผู้ประกอบการ 4G สามราย คือ AIS, DTAC และ True มีแรงจูงใจเข้าประมูลคลื่น 5G ก็เลยยืดหนี้ใบอนุญาต 4G ที่ติดค้างอยู่ให้ด้วย

แพ็คเกจใหญ่เพื่ออุ้มทุนใหญ่เหล่านี้ จะเกิดขึ้นได้จริง และนักอุ้มพ้นความเสี่ยงจากการติดคุกติดตาราง ก็จำต้องใช้ดาบกายสิทธิ์อย่าง มาตรา 44 เท่านั้น เพราะทำให้ผู้มีอำนาจไม่ต้องรับผิดจากการกระทำของตัวเอง

“เมื่อธุรกิจดำเนินกิจการได้ไม่ดี ก็มักจะวิ่งเต้นให้รัฐเข้ามาอุ้ม แต่การอุ้มครั้งนี้ ไม่ได้เป็นไปเพื่อประชาชน สื่อ หรือนักวิชาชีพ แต่เป็นการอุ้มเพื่อผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ทั้งทุนขนาดกลาง ไปจนถึงทุนใหญ่หลายพันล้าน ซึ่งการช่วยเหลือครั้งนี้ไม่มีเหตุผลที่ยอมรับได้ หากธุรกิจใดๆ ขาดทุนแล้วรัฐต้องเข้าไปอุ้ม ร้านขายส้มตำ ร้านขายลูกชิ้นปิ้ง หรือร้านขายหมูกระทะ ที่ไหนๆ ล้ม รัฐก็ต้องเข้าไปอุ้มอย่างนั้นหรือ” ดร.สมเกียรติกล่าว

ประเด็นหนึ่งที่เป็นที่ถกเถียงกันในกรณีนี้คือ ความจำเป็นในการมีคลื่น 5G ในประเทศไทย ซึ่งผู้มีอำนาจให้เหตุผลว่า ‘ประเทศต้องรีบให้บริการ 5G มิเช่นนั้นจะเกิดความเสียหายอย่างยิ่ง’ ปมนี้เป็นปมสำคัญ เพราะทำให้ ม.44 เชื่อมการ ‘อุ้ม’ ทีวีดิจิทัลเข้ากับการเอื้อทุนโทรคมนาคมได้อย่างแนบเนียนและลงตัว

ข้ออ้างเรื่องรีบประมูล 5G นี้ ดร.สมเกียรติ แย้งว่า ที่จริงแล้วประเทศที่เปิดให้บริการ 5G เป็นเรื่องเป็นราวในเชิงพาณิชย์นั้นมีน้อยมาก ไม่เกิน 5-6 ประเทศเท่านั้น นั่นหมายความว่า ประเทศไทยยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งรีบในการเปิดบริการ 5G แต่อย่างใด

“ทุกๆ ประเทศที่เปิดให้บริการ เป็นประเทศที่ผลิตอุปกรณ์และเทคโนโลยี 5G ขาย เพราะฉะนั้นการชิงเข้าตลาด 5G ก่อนจึงเป็นข้อจำเป็นและได้เปรียบสำหรับประเทศเหล่านั้น นั่นหมายความว่า 5G ยังไม่มีประโยชน์อะไรสำหรับประเทศไทย เพราะไทยไม่ได้เป็นผู้ผลิตเทคโนโลยี ที่สำคัญ ว่ากันตามความต้องการใช้แล้ว มันไม่มีบริการอะไรที่ 5G ทำได้ แล้ว 4G ทำไม่ได้”

“ลองนึกดูนะครับ ผู้ประกอบการโทรคมนาคมสามรายมีคลื่น 3G และ 4G อยู่แล้ว เขายังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องรีบเอาคลื่น 5G แต่เพราะกติกาของรัฐและ กสทช.จะชดเชยให้ทีวีดิจิทัล ทั้งที่เลิกให้บริการ และที่ให้บริการต่อ ในงบประมาณจำนวน 31,000 ล้านบาท จึงไม่มีเงินมาอุ้มทีวีดิจิทัล ถ้าไม่จัดสรรคลื่น 5G”

“แม้ผมจะไม่เห็นด้วยกับการอุ้มทีวีดิจิทัลในหลายประการ แต่ในความเป็นจริง ถ้ารัฐไม่ยืดหนี้ 4G ก็จะมีเงินเข้ามามากมายมหาศาลในปีนี้ พออุ้มทีวีดิจิทัลได้เลย”

เหตุผลที่ ดร.สมเกียรติ ไม่เห็นด้วยกับการใช้มาตรา 44 อุ้ม ‘เสี่ย’ ในครั้งนี้ เพราะสร้างความเสียหายอย่างน้อย 8 ประการ ทั้งในแง่การสูญเสียเงินของประเทศโดยใช่เหตุ ความเสียหายต่อตลาด 5G ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค และความเสียหายต่อระบบนิติรัฐของประเทศ ดังนี้

1. เงินอุ้มทีวีดิจิทัล ประมาณ 31,000 ล้านบาท ซึ่งประกอบไปด้วย การเข้าไปอุ้มทีวีดิจิทัลจำนวน 7 ช่องที่จะขอเลิกกิจการ 3,000 ล้านบาท ในขณะที่อีก 15 ช่องที่ยังเดินหน้าต่อ ก็จะได้ลดหย่อนค่าธรรมเนียมอนุญาตอีกประมาณ 9,700 ล้านบาท รวมถึงเงินสนับสนุนค่าโครงข่าย (MUX หรือ Multiplexer) อีกประมาณ 18,000 ล้านบาท ก้อนสุดท้ายนี้ผู้ที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดคือ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการโครงข่ายที่ใหญ่ที่สุด

2. ความเสียหายทางการเงินจากการเลื่อนหนี้ 4G โดยไม่คิดดอกเบี้ย รวมประมาณ 19,800 บาท ซึ่งผู้ประกอบการทั้งสามรายจะได้ประโยชน์ไปไม่เท่ากัน เมื่อคำนวณดูแล้วจะพบว่า True จะได้ผลประโยชน์ไป 8,800 ล้านบาท AIS  8,400 ล้านบาท และ DTAC  2,600 ล้านบาท

3. ความเสียหายที่เกิดขึ้นในฐานะผู้บริโภค เราจะเสียโอกาสจากตลาด 5G ในอนาคต เพราะไม่มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาแข่งขัน มีแต่ผู้ประกอบการรายเดิมสามราย แล้วได้สิทธิในการผูกขาดตลาดในราคาที่ถูกมาก คิดง่ายๆ เช่น True ที่ประหยัดหนี้ 4G ไป 8,800 ล้านบาท และเข้าไปซื้อคลื่น 5G ในราคา 11,000 ล้านบาท เท่ากับจ่ายจริงเพียง 2,200 ล้านบาท ในการได้คลื่น 700 MHz ส่วน AIS จ่ายจริง 2,600 ล้านบาท และ DTAC 8,400 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ถูกมาก

4. กติกาโทรคมนาคมของไทยจะมั่วต่อไปอีก วิธีการในการกำกับดูแลหรือการออกกติกาต่างๆ จะบิดเบี้ยวมากขึ้น หลังจากที่บิดเบี้ยวมาโดยตลอด

5. หลักการทำธุรกิจในระบบตลาดเสรีที่รัฐไม่ควรเข้าไปแบบรับความเสี่ยงทางธุรกิจแทนภาคเอกชนจะถูกทำลาย กรณีนี้เป็นการส่งสัญญาณว่า หากธุรกิจใดขาดทุน แล้วผู้ประกอบการมีอำนาจ มีอิทธิพล ก็สามารถบอกให้รัฐมาช่วยแบกรับความเสี่ยงได้

6. การสร้างแรงจูงใจที่ผิดแก่ภาคเอกชนที่ทำงานกับภาครัฐ ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีเส้นสายทางการเมือง จะตัดสินใจในลักษณะที่ ‘ประมูลไปก่อน แล้วไปตายเอาดาบหน้า’ ซึ่งมีโอกาสจะเกิดขึ้นกับสัมปทานหรือโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ เช่น รถไฟความเร็วสูงที่เพิ่งจะผ่านการอนุมัติไป ถ้าวันไหนขาดทุน อาจจะต้องมาอุ้มในวิธีการแบบนี้อีก รัฐเป็นเสาที่ไม่ตั้งตรง แต่โยกได้ถ้าคุณมีอิทธิพลมากพอ

7. รัฐทำตัวเป็นคุณพ่อรู้ดี แทรกแซงกลไกตลาดไปเสียทุกเรื่อง ซึ่งเปิดโอกาสให้มีการแสวงหาส่วนเกินทางเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น วันนี้เอกชนบอกว่ายังไม่สมควรทำ 5G รัฐก็จะทำ จะเห็นว่า กลไกของรัฐอย่าง กสทช. ล้วงเข้าไปลึกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเข้าไปในตลาดที่มีการแข่งขันน้อยราย และมีส่วนเกินทางเศรษฐกิจมาก ทำให้เอื้อต่อการฉ้อฉล

8. การทำลายหลักนิติรัฐ การใช้มาตรา 44 ที่ไม่สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจในทางกฎหมายได้ และจังหวะที่ออกมาหลังการเลือกตั้ง ก่อนที่จะมีการตั้งรัฐบาลใหม่ ก็ทำให้ตรวจสอบทางการเมืองได้ยากด้วย

 

ตีความไม่มีที่มา-เยียวยาผิดที่

 

 

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา กสทช.ประมูลทีวีดิจิทัลในคลื่นความถี่ 510-790 MHz รวมทั้งหมด 280 MHz  แม้ว่าจะมีการดึงเอาคลื่น 700 MHz ออกไปทำ 5G แต่ช่องความถี่ของทีวีดิจิทัลที่มีอยู่สามารถรองรับการออกอากาศของช่องทีวีทั้งหมดได้เหมือนเดิม ในทางเทคนิคไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย ดังนั้น การตีความว่าผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลได้รับผลกระทบ ควรได้รับเงินชดเชย จึงไม่น่าจะถูกต้อง

“แม้จะเหลือคลื่นเพียง 510-700 MHz เราไม่มีทางรู้ตัวว่าคลื่นมันหายไป 90MHz แน่นอน เพราะทีวีดิจิทัลก็ยังออกอากาศได้ตามเดิม คุณภาพเดิม ช่วงเวลาเดิม แต่กลับไปตีความว่าผู้ประกอบการได้รับผลกระทบ ต้องได้เงินชดเชย เหมือนสมัยก่อนตลาดนัดสนามหลวงมีแผงอยู่หลวมๆ ต่อให้ปิดสนามหลวงไปครึ่งหนึ่ง แผงยังขายได้เหมือนเดิมเพียงแต่จะแน่นขึ้น”

“แล้วยังจะมีการคืนคลื่นระหว่าง 530-560 MHz มาอีก ซึ่งสามารถเอามาใช้งานได้ คิดไปคิดมาผมยังนึกเหตุผลไม่ออกเลยว่าทำไมต้องเยียวยา 2 งวดสุดท้ายให้กับช่องรายการทั้งหมด”

ยิ่งไปกว่านั้น กสทช. เคยวางแผนกำหนดให้มีช่องข่าว ช่องเด็ก ช่องวาไรตี้ แต่พอยอมให้มีการคืนคลื่น ช่องเด็กกลับหายไปทั้งหมด ช่องข่าวหายไปเกินครึ่ง ส่วนช่องวาไรตี้หายไปเพียงสองช่อง ทั้งสองช่องเป็นกรณีของนายทุนที่ถือไว้สองช่องอยู่แล้ว เลยถือโอกาสปล่อยทิ้งช่องหนึ่ง ส่วนที่นายทุนที่ถือช่องเดียวไม่มีใครคืนคลื่น

ในส่วนของผู้ให้บริการโครงข่าย (MUX) ปัจจุบันเปิดให้บริการ 5 โครงข่าย (จากที่กำหนดไว้เต็มที่ 6 โครงข่าย) ตามคำสั่ง ม.44 รัฐควักเงินจ่ายค่า MUX แทนผู้ประกอบการ ทำให้ผู้ให้บริการ MUX มีรายได้แน่นอน ธุรกิจยังอยู่ได้ เพียงแต่เราอาจจะมี MUX มากเกินไป เพราะมีช่องทีวีปิดตัวลงหลายช่อง ผู้ให้บริการ MUX บางรายอาจจะอยากจะปิดกิจการ แต่ตอนนี้ยังไม่มีกฎหมายรองรับ ในอนาคตอาจมีการเรียกร้อง ม.44 ให้เข้ามาจัดการเรื่องนี้ด้วย

นพ.ประวิทย์ ทิ้งท้ายว่า การใช้มาตรา 44 ช่วยผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่อ้างว่า “ไม่สามารถจ่ายเงินได้” ให้ยืดชำระหนี้ และรับคลื่น 700 MHz ไปในราคาถูกด้วย ยังมีสาระที่เป็นอันตรายในอนาคตอยู่สองประการ

ประการแรกคือ การที่ไม่สามารถยืนยันได้ว่า ผู้ประกอบไม่สามารถจ่ายได้จริงๆ

“ผู้ประกอบการบางรายจ่ายเงินปันผล 6,000 ล้านบาทต่อปี บางเจ้าเตรียมตัวกู้แบงค์ไว้แล้ว ถ้าไม่มี ม.44 ปีหน้าก็จ่ายได้ แต่พอมี ม.44 มาบอกทันที อุ้ย…จ่ายไม่ได้ ดังนั้นใครเป็นคนพิสูจน์ว่าผู้ประกอบการมีความสามารถในการจ่ายหรือไม่ มีฝ่ายตรวจสอบสถานะทางการเงินบัญชีไหม ถ้าไม่มีความสามารถในการจ่าย หุ้นมันขึ้นทุกวันได้อย่างไร นักลงทุนโง่มากขนาดไปลงทุนในบริษัทที่ไม่มีปัญญาจ่ายหนี้รัฐหรือ”

ประการที่สองคือ การไม่ทราบที่มาที่ไปของสูตรการช่วยเหลือ เช่น การตีความเรื่องช่องรายการที่ได้รับผลกระทบจนไม่ต้องจ่ายสองงวดสุดท้าย เพราะในทางเทคนิค ช่องรายการไม่ได้รับผลกระทบจากการเรียกคืนคลื่น 90 MHz แต่มีความพยายามตีความว่าช่องรายการได้รับผลกระทบ จนต้องเยียวยาไม่จ่ายสองงวดสุดท้ายอีกหลายพันล้านบาท

“ใครกล้าตีความเรื่องนี้ พึงระลึกว่าอายุความอยู่นานกว่านั้นนะครับ ตรงนี้เป็นเดดล็อกทางกฎหมาย ดีไม่ดี ผมพูดเสร็จ อาจออกมาตรา 44 มาแก้อุดช่องโหว่ตรงนี้เพิ่มอีก” นพ.ประวิทย์ กล่าว

 

กสทช. กับระบบรับผิดรับชอบที่ถูกต้อง

 

 

สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และอดีต กสทช. แสดงความเห็นว่า ปัญหาของทีวีดิจิทัลนั้น กสทช. ต้องมีส่วนรับผิดรับชอบจริงไม่มากก็น้อย แต่การรับผิดรับชอบไม่ใช่เรื่องของการคืนคลื่น แต่ควรจะเยียวยาในประเด็นที่ว่า ทีวีดิจิทัล ตั้งแต่ประมูลมา ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐและ คสช. ผ่านการมาใช้เวลาของเอกชนฟรีๆ ไปออกอากาศรายการที่ต้องบังคับให้ดูทั้งประเทศ ไม่มีการวางบิล ไม่มีการจ่ายค่าเช่า ดังนั้นในมุมนี้น่าเห็นใจผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล

“กสทช. ควรจะตรงไปตรงมาและคำนวณให้ชัดเจนไปเลยว่าเสียหายตรงไหนอย่างไร แล้วเอาเงินกองทุน กสทช. ก็ดี หรือว่าเงินที่จะได้จากประมูลก็ดีให้ไป แต่ควรจะมีรายงานที่มาที่ไป ไม่ใช่ทำเหมือนตอนนี้ที่ไม่มีเอกสารเป็นทางการเลย ตัวเลขก็ดีดเครื่องคิดเลขกันเองหลังออฟฟิศ ไม่รู้ว่ามันมาจากการการคืนคลื่นจริงหรือเปล่า”

“ถ้าสุดท้ายมีการตรวจสอบย้อนหลังจริง คนที่ลำบากก็คือ กสทช. เอง เพราะแม้จะมี ม.44 คุ้มครอง แต่สุดท้ายคนที่ต้องเคาะตัวเลขว่าจะคืนให้เอกชนเท่าไหร่ ก็ยังเป็น กสทช. ต้องออกประกาศ กสทช. ต้องลงราชกิจจานุเบกษา ตอนเซ็นเช็ค ตอนโอนเงินก็ยังเป็นความรับผิดชอบของ กสทช. ในวันหน้าท่านใดท่านหนึ่งใน กสทช. อาจจะไปเล่นการเมือง คดีอาจจะผุดออกมาก็ได้ เว้นแต่ว่าท่านจะต้องอยู่ในฝ่ายที่มีอำนาจตลอดไป”

สุภิญญา ยังชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์และการบริหารทีวีดิจิทัลแบบอำนาจนิยม โดยเจ้าของทุนที่ได้ประโยชน์คือทุนใหญ่ที่ใกล้ชิดกับการเมือง ซึ่งจะส่งผลต่อการรับข่าวสารของประชาชน

“สื่อมืออาชีพจริงๆ ที่สายป่านไม่ยาวพอ เขาทยอยขายหุ้นไปหมดแล้ว พวกทุนใหญ่เข้ามาเทคโอเวอร์ต่อ ตอนนี้รัฐก็เลยช่วยทุนกันแบบสุดโต่ง ทุกวันนี้ทีวีดิจิทัลอยู่ในมือทุนการเมืองที่ผูกพันกับผู้สนับสนุนพรรคการเมืองหลายเจ้า ตรงนี้ก็ส่งผลถึงผู้บริโภคและประชาชนแน่นอน เพราะเมื่อทุนที่ใกล้ชิดการเมืองมาคุมสื่อ มันก็ทำให้สื่อขาดอิสรภาพในการนำเสนอ ไม่ได้ทำหน้าที่สะท้อนเสียงสาธารณะที่แท้จริง แล้วยิ่งได้รับการช่วยเหลือในระบอบอุปถัมภ์แบบนี้ ทุกช่องก็ต้องเกรงใจ ตกอยู่ในบรรยากาศแห่งความเงียบงันแน่นอน”

 

ทุนนิยมแบบไทยๆ – “อำนาจอยู่ที่ใคร”

 

 

เมื่อย้อนกลับไปดูการพัฒนาการของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในประเทศไทย นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการเอื้อประโยชน์กับกลุ่มทุนใดกลุ่มทุนหนึ่งเป็นการเฉพาะ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่าต้องไล่ดูตั้งแต่องค์ประกอบของ กสทช.

“กสทช. ชุดแรกมีนัยยะตรงที่มีทหารและตำรวจอยู่ใน กสทช. ถึง 6 คนใน 11 คน ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่คลื่นความถี่ต่างๆ นอกจากจะมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหาศาล ยังมีอำนาจทางการเมืองอยู่ด้วย นี่คือช่องทางที่จะโฆษณาชวนเชื่อหรือกำหนดวาระทางการเมืองของตัวเอง ดังนั้น การที่จะเปิดเสรีหรือว่าเอาคลื่นความถี่มาจัดสรรอย่างเป็นธรรมจึงเป็นไปได้ยากมาก”

“ถ้าเราย้อนกลับไปดูปี 2555 แผนแม่บทการจัดสรรคลื่นความถี่ กำหนดว่า คลื่นวิทยุถูกจัดสรรภายใน 5 ปี โดยดึงคลื่นกลับมาทั้งหมด เพื่อจัดสรรกันใหม่ ถ้าเราไปดูคลื่น FM และ AM จะเห็นว่ากองทัพไทยถือคลื่นไว้มากที่สุด กรมประชาสัมพันธ์ถือไว้ 198 อสมท.ถือไว้ 145 ตำรวจถือไว้ ​ 62 และช่องโทรทัศน์ถือไว้อีก 14 ในขณะที่โทรทัศน์ช่อง 3 เป็นของอสมท. ช่อง 5 เป็นของกองทัพบก ช่อง 7 รับสัมปทานจากกองทัพบก ดังนั้นผลประโยชน์มันมหาศาลมาก”

การช่วยเหลือกลุ่มทุนโทรคมนาคมและกลุ่มทุนสื่อสารเป็นกรณีตัวอย่างที่ดีในการทำความเข้าใจเศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจไทย

“ดอกผลของการพัฒนาก็ตกอยู่ในมือคนเพียงไม่กี่คน ดังนั้น ‘อำนาจอยู่ที่ใคร’ คือคำถามที่สำคัญมากที่สุดในการเมืองยุคนี้ เพราะการเมืองคืออำนาจในการจัดสรรทรัพยากร แต่โครงสร้างพื้นฐานที่เป็นอุปสรรคในการเกลี่ยทรัพยากรให้เท่าเทียมกันมันไม่ได้ถูกจัดการเลย ผมยืนยันว่าเราต้องจัดการสิ่งเหล่านี้ โดยเปิดให้ภาคธุรกิจมีการแข่งขัน ทำลายการผูกขาด เปิดให้ทรัพยากรถูกเอาไปใช้เพื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่ใช่เอาทรัพยากรมาไว้ที่กลุ่มทุน “

“หากเปรียบเทียบกับการกู้หนี้ยืมสินของเกษตรกรกับ ธกส. ถ้าเกษตรกรขอยืดหนี้ ดอกเบี้ยก็ต้องเพิ่ม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมนี้คืออัตราดอกเบี้ยลดลง สะท้อนว่า อุตสาหกรรมการจัดสรรคลื่นความถี่โทรคมนาคมและวิทยุโทรทัศน์ มันมีการทำเพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้กับทุนบางกลุ่มเป็นการเฉพาะเจาะจงหลายครั้งหลายหนแล้ว”

ถ้ามองถึงการพัฒนาเศรษฐกิจและทุนนิยมไทย ธนาธรตั้งข้อสังเกตว่า อุตสาหกรรมที่มีความกำกวมมักจะอิงอำนาจรัฐที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะการต่อรองกับทหารง่ายกว่าต่อรองกับระบบการเมืองที่มีสภาและการตรวจสอบ

“ถ้าอยากรู้ว่าอุตสาหกรรมไหนในประเทศไทยเป็นอย่างไร ให้ไปดูว่าผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมนั้นใกล้ชิดกับอำนาจแบบไหน”

ธนาธรยังกล่าวถึงบทความของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ที่เขียนระบุแปดเหตุผลที่ไม่ควรให้พลเอกประยุทธกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอว่าในเนื้อหาบางส่วนได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างทุนกับอำนาจที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย เช่น

“ในระหว่างหนึ่งปีที่ผมทำงานกับพลเอกประยุทธ์ ได้เห็นว่าพลเอกประยุทธ์สนิทสนมและใกล้ชิดกับนายทุนที่เป็นเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่บางราย เริ่มตั้งแต่การแต่งตั้งบุคคลที่สนิทสนมกับกลุ่มธุรกิจปลอดภาษี เป็นประธานของท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ตามมาด้วยการแต่งตั้งให้บุคคลที่เป็นตัวแทนของกลุ่มธุรกิจใหญ่กลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะเข้าไปนั่งเป็นคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งช่วยให้สามารถรู้ข้อมูลด้านการลงทุนที่ยังไม่เปิดเผยของผู้อื่น และยังเชิญนักธุรกิจคนหนึ่งให้เข้าไปร่วมแสดงความเห็นในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นความเห็นที่เป็นประโยชน์กับนักธุรกิจผู้นั้น และยังมีตัวอย่างอื่นๆ อีกหลายเรื่อง ที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนักธุรกิจรายใหญ่บางคน”

 

‘สื่อมวลชน’ หายไปไหน?

 

 

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เริ่มต้นด้วยการแซวว่า “ชื่องานในวันนี้เหมือนจะเป็นคำถาม แต่จริงๆ น่าจะเป็นประโยคบอกเล่ามากกว่าว่า ประชาชน(จะ)ได้อะไร้ เพราะมีแต่เสียล้วนๆ”

กรรณิการ์อธิบายถึงผลกระทบต่อผู้บริโภคจากการอุ้มทีวีดิจิทัลครั้งนี้ว่า ทีวีช่องเด็กหายและช่องข่าวเหลือน้อยลงมาก ส่วนทีวีประชาชนจากเดิมที่เคยอยู่ในแผนแม่บท ตอนนี้ก็ไม่มีคำมั่นสัญญาว่าจะมีหรือไม่มีอย่างไร

“ในนิทานเรื่องลุงสั่งเฮียอุ้มเสี่ยด้วยเงินเรานี้ กรรณิการ์ขอกลับสมการและเพิ่มตัวละครลงไปเพื่อให้เห็นผลกระทบในวงกว้างขึ้นว่า เฮียกับเสี่ยสมคบกัน โดยใช้ลุง ซึ่งลุงอาจจะได้เล็กๆ น้อยๆ แล้วก็ให้ไปอุ้มเสี่ยโดยใช้เงินเรา ในขณะที่หมาเฝ้าบ้านเราถูกมอมยา”

สาเหตุหนึ่งที่หมาเฝ้าบ้านหรือสื่อถูกมอมยานั้นมาจากการที่ไม่มีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านเนื้อหา

“ในช่วงที่ทีวีกำลังจะตาย เราพบว่าทีวีจำนวนมากไม่มีช่องรายการที่มีคุณภาพมากเพียงพอ ทีวีจำนวนมากก็ขายของ งานวิจัยของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคพบว่า ทีวีมีการโฆษณาขายสินค้าอาหารเสริมที่ผิดกฎหมาย บางครั้งในรายการข่าวก็ยังมีโฆษณาแทรก”

“พอเราพูดว่าทีวีน่าจะปรับตัว ผู้ประกอบการก็บอกว่า มันทำอะไรไม่ได้ต้องพึ่งโฆษณา เราก็ต้องทนดู แต่พอคุณได้รับการช่วยเหลือขนาดนี้ แถมเงินด้วย ก็ยังไม่มีการคุ้มครองผู้บริโภค รายการข่าวที่เป็นเนื้อหาสาระ การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างไม่มีการถูกพูดถึง ต่อไปเราก็จะเจอแต่ข่าวอาชญากรรม ข่าวดราม่าต่างๆ ที่เรียกว่าเสพง่าย ลงทุนน้อยในการผลิต หรือข่าวที่มาจากประเด็นออนไลน์มากขึ้น”

และเมื่อสื่อได้รับประโยชน์โดยตรงจากมาตรา 44 ในวงการสื่อจึงเต็มไปด้วยความเงียบ

“เชื่อไหมว่าตอนที่สำนักงาน กสทช. พยายามเกริ่นเรื่องต้องอุ้มทีวีดิจิทัลและประมูล 5G ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เราจะพบว่าทีวีดิจิทัลมีอยู่แค่เจ้าเดียวที่นำเสนอรายงานเรื่องนี้ ก็คือ ThaiPBS ฉะนั้นเวลาที่เราบอกว่ามาตรา 44 นี้อันตรายและส่งผลกระทบต่อประชาชนแน่ ไม่แปลกที่จะไม่มีใครสนใจเลย”

แถมยังเขียนข่าวเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับมาตรการ ‘อุ้ม’ ของ กสทช. และวิพากษ์วิจารณ์ผู้คัดค้าน

“ที่น่าตกใจมากกว่าคือ อยู่ๆ ก็มีเนื้อหาที่ไม่อาจจำแนกแจกแจงได้ว่าเป็นรายงานข่าวหรือคอลัมน์ เช่น ไม่มีชื่อคนเขียนแต่มีความคิดเห็น พอไปเสิร์ชดู พบว่าเจอเนื้อหาเหมือนกันเป๊ะในสื่อ 2-3 ราย ที่แปลกคือสื่อเหล่านั้นไม่ใช่สื่อไร้คุณภาพ ไม่มีที่มาที่ไป เรียกว่าสื่อหลักก็ไปเล่นกับเขาด้วย จนต้องตั้งคำถามว่า บทความมาจากที่เดียวกันได้ยังไง เรื่องนี้เป็นกรณีศึกษาได้เลยว่ารัฐกับทุนปั่นประเทศนี้ยังไง ซึ่งน่าเสียใจมากที่การปฏิรูปสื่อมันถอยหลังลงคลอง พอๆ กับเรื่องการเมืองเลย”

“พอถามถึงสื่อเราจะเห็นว่าไม่มีสื่อไหนสนใจเรื่องนี้ เพราะทีวีดิจิทัลเขาจะได้รับการช่วยเหลือแน่ๆ และเขาก็มีความรู้สึกว่ามันจำเป็นที่จะต้องช่วยผ่อน ซึ่งไม่น่าจะเป็นเหตุผลของคนทำอาชีพสื่อมวลชน”

กรรณิการ์ทื้งท้ายด้วยข้อสังเกตว่า มาตรา 44 ฉบับนี้ยังไม่ใช่ฉบับสุดท้าย เมื่อลองเสิร์ชหาข่าวที่พาดหัวว่า ‘เร่ง ปลดล็อก สรรหา กสทช. บอร์ดเกียร์ว่าง-สนง.แบกภาระล้น’ จะเห็นว่าเนื้อหาไม่มีแหล่งข่าว และมีเนื้อหาเป็นนัยยะสำคัญ

“ใจความเขียนว่า กสทช. ไม่ทำมาหากิน วันๆ ก็ได้แต่นั่งเฉยๆ ดังนั้นจึงควรปลดล็อกเพื่อสรรหา กสทช.ใหม่ ถ้าแค่อ่านเท่านี้อาจจะรู้สึกธรรมดา พออ่านลงไปอีกจะพบว่ามีการพูดถึงคุณสมบัติของ กสทช.ที่จะได้มา น่าสนใจมาก เขาบอกว่า กสทช.ที่จะได้มาไม่ควรจำเป็นต้องเว้นวรรคหากเป็นผู้ประกอบการมาก่อน เดิมในกฎหมาย ผู้ประกอบการที่จะเข้ามาเป็น กสทช. ต้องเว้นวรรคหนึ่งปี ต่อไปไม่ต้องเว้นแล้ว นี่เป็นการเปิดช่องให้ผู้ประกอบการตรงเข้ามายึด กสทช. หรือไม่ ดิฉันถามว่า คนเป็นสื่อมวลชน คนเป็นประชาชนควรทำอะไรกับเรื่องนี้ เราจะยอมให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอีกไหม”

กรรณิการ์ยกตัวอย่างเปรียบเทียบสถานการณ์ในอดีตเพื่อตั้งคำถามต่อสื่อในปัจจุบัน โดยเล่าว่าตอนที่เธอทำงานกับมูลนิธิในเรื่องระบบประกันสุขภาพ ช่วงที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาตรา 44 เพื่อปล่อยคำขอสิทธิบัตรที่ค้างเป็นหมื่นฉบับ ถ้ามาตรา 44 คราวนั้นออกมาจะส่งผลให้ยาในประเทศไทยถูกผูกขาดแพงขึ้น ในช่วงนั้นสื่อก็ให้ความร่วมมือ ทำหน้าที่ ลงมือเขียนคำอธิบายถึงประเด็นดังกล่าว แม้จะเป็นเรื่องยุ่งยาก

“สองปีกว่ามาแล้วที่เราสามารถยันมาตรา 44 ฉบับนั้นได้ นั่นหมายความว่าอำนาจของสื่อมวลชน ยังคงมีผลต่อสังคม แต่ทำไมตอนนี้คุณไม่ทำอะไร มาตรา 44 ฉบับสุดท้ายนี้จะเป็นการพิสูจน์ว่า สื่อมวลชนไทยยังมีอยู่หรือไม่ หรือตายไปหมดแล้วจากบ้านเมืองนี้”

ทางรอดของสื่อ

 

ส่วนคำถามที่ว่าสื่อจะอยู่รอดโดยปราศจากความสัมพันธ์แบบอำนาจนิยมอย่างไรนั้น สุภิญญากล่าวว่า ในมุมหนึ่งกสทช.ก็ต้องประคับประคองให้เกิดการแข่งขันที่เสรีเป็นธรรม ทีวีก็ต้องพิสูจน์ตัวเอง ตัวอย่างทีวียอดนิยมในตอนนี้คือ ช่องทีวีรัฐสภา ที่ถ่ายทอดสดการประชุมสภา ซึ่งประชาชนให้ความสนใจมาก

“การปรับตัวของทีวีช่องที่เหลืออยู่ ต้องเอาเนื้อหาข่าวที่ประชาชนสนใจมานำ  5 ปีที่ผ่านมาเป็นยุคของข่าวอาชญากรรม เพราะว่านำเสนออะไรไม่ได้ ถ้าเราสังเกตตอนนี้ก็ยังมีข่าวอาชญากรรมเป็นปกติแต่จะไม่ถูกยกมาเป็นวาระสำคัญของชาติ เพราะมันมีเรื่องที่อัดอั้นมานานก็คือการเมือง เรตติ้งละครก็ตกมาก มันก็สะท้อนให้เห็นว่าถ้าทีวีไม่ปรับตัว และยังทำเนื้อหาแบบเดิมๆ หรือนำเสนองานการเมืองที่ไม่ท้าทายอำนาจทางการเมืองคนก็จะไม่ดู หากเรื่องนโยบายสาธารณะ สิทธิของ LGBT สิทธิชาติพันธ์ุ หรือเรื่องของสิ่งแวดล้อม หรือประเด็นร่วมสมัยอื่นๆ ไม่ได้สะท้อนอยู่ตามข่าวและวาไรตี้ คุณก็จะเอาท์ไปเรื่อยๆ คนจะไปดูสื่อออนไลน์เพราะได้อะไรมากกว่า”

ถ้ารัฐต้องการช่วยเหลือสื่อ ควรเน้นไปที่การสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพเนื้อหาสื่อ และการผลิตสร้างสรรค์รายการ

“ถ้าเอาเงินมาช่วยจริงๆ น่าจะไปพัฒนาคอนเทนต์ ซึ่งกสทช.น่าจะสามารถสร้างเงื่อนไขไปเลยว่าเงินตรงนี้ต้องเอาไปทำอะไรบ้าง เอาไปชดเชยวิชาชีพตกงาน สร้างเนื้อหา ไม่ใช่เอาไปให้ผู้ลงทุนหรือเจ้าของ”

โมเดลหนึ่งของสื่อที่น่าจับตาคือสื่อเกาหลีใต้ ที่รัฐให้เงินลงทุนมาทำคอนเทนต์ที่ดึงดูดใจในเชิงคุณภาพ ในเงื่อนไขที่ว่ารัฐต้องปลดแอกการเซนเซอร์ก่อน และยังให้สื่อเลือกร่วมทุนจากต่างชาติ ทำซีรีส์หรือละครที่สะท้อนวัฒนธรรมเพื่อส่งไปขายในประเทศต่างๆ เช่น จีน แอฟริกา หรือยุโรป ด้วย

“เขามองว่าทีวีเติบโตยาก ดังนั้นคุณจะทำให้เพียงแค่คนในประเทศไม่ได้ เนื้อหาคุณจะต้องเป็น universal ที่สามารถเข้าถึงต่างประเทศ ซึ่งต้องอาศัยความเป็นมืออาชีพ ความทุ่มเท แน่นอนว่ารัฐต้องสนับสนุน”

ในขณะที่ธนาธร แสดงความเห็นเพิ่มเติมในประเด็นนี้ว่า สื่อต้องทำข่าวที่มีอิมแพคต่อสังคมและต้องอยู่ได้ด้วยคุณภาพ ทำเนื้อหาของคุณให้ผู้บริโภครู้สึกคุ้มค่าเงิน สื่อต้อง ‘innovate’

“ผมยกตัวอย่าง มีนักข่าวสิงคโปร์คนนึงมาสัมภาษณ์ผม มาถึงก็ตั้งกล้องถ่ายวิดีโอและภาพนิ่งเองระหว่างสัมภาษณ์ สัมภาษณ์เสร็จเขียนเอาไปตัดต่อเอง ลงข่าวภายในสามชั่วโมง และลงคลิปวิดีโอตามมา แล้วไม่ใช่เขียนแค่ถอดคำพูด แต่เขียนถึงบริบทของการเมืองไทย ประวัติการเมืองไทย พื้นฐานเกี่ยวกับรัฐประหารในรอบสี่ห้าปีที่ผ่านมานี่คือตัวอย่างของ productivity”

และที่สำคัญ คุณภาพสื่อมาพร้อมกับสิทธิเสรีภาพ

“การจะสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนคุณต้องลงทุน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักรเครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์ และต้องเลือกลงทุนอย่างชาญฉลาดให้เหมาะสมกับทิศทางขององค์กร อีกสิ่งที่จำเป็นมากๆ คือหลักประกันด้านเสรีภาพ อย่าลืมว่าหน้าที่สำคัญของสื่อคือความจริง โดยเฉพาะความจริงที่ผู้มีอำนาจไม่ต้องการให้ประชาชนรู้ แต่ถ้าคุณไม่มีหลักประกันนี้ใครจะกล้าตรวจสอบ ดังนั้นไม่ใช่แค่เรื่ององค์กร แต่เป็นเรื่องของบรรยากาศทางการเมืองด้วย”

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save