ศุภมิตร ปิติพัฒน์ เรื่อง
การอ่านที่จะช่วยขยับปรับเปลี่ยนความคิดของเราไปจากเดิมนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นอยู่เสมอทุกครั้งที่อ่านอะไรใหม่ๆ นะครับ เมื่อการอ่านต้องใช้สายตา และสายตาของเราก็มักเห็นตามมุมมองที่เรามีอยู่แล้วในใจ ความคิดความเข้าใจที่เรามีอยู่ก่อนจึงตีกรอบเป็นผนังและเพดานของทัศนวิสัยที่จะกั้นเราให้มองออกจากหน้าต่างบานที่เปิดอยู่ไปเห็นอะไรจากสิ่งที่อ่านพบ และเมื่อพบแล้วจะคิดอะไรเลยออกไปจากเดิมได้มากแค่ไหน แทนที่จะเปลี่ยนขยายทัศนวิสัยออกไป ผลจากการอ่านจำนวนมากของเรามักเป็นไปในทางรักษาทัศนคติเดิมที่เราใช้พิจารณาเรื่องราวทั้งหลาย
ก็แล้วจะให้ทำอย่างไรเล่า?
จริงๆ ก็ไม่ใช่ว่าต้องตั้งข้อเรียกร้องให้ทำหรือว่าอย่าทำอะไรกับการอ่านหรอกนะครับ เพราะเราไม่จำเป็นต้องลุกขึ้นมารื้อคิดเปลี่ยนมุมมองต่อชีวิตและโลกทุกครั้งไปเวลาที่ได้อ่านอะไร แต่ไหนๆ จะอ่านแล้ว ถ้าการอ่านทั้งหมดนั้นไม่มีผลที่จะเปลี่ยนคุณภาพภายในของเราให้งอกงามขึ้นเลย กิจกรรมการอ่านก็ไม่ได้มีส่วนช่วยการเรียนรู้เติบโตของเราเท่าใดนัก แม้ว่ามันอาจช่วยเราในเรื่องอื่นๆ ได้ เช่น ให้ยืมโลกจำลองสำหรับหลีกหนีโลกความเป็นจริงเข้ามาหาความรื่นรมย์เป็นครั้งคราวสักชั่วครู่ หรือช่วยให้เรารู้วิธีหว่านเสน่ห์ หรือรู้เรื่องที่ชาวบ้านเขารู้กันทั่วทั้งเมืองมากขึ้น
ถ้าท่านพอใจให้การอ่านรับใช้ท่านแบบนั้น ก็อ่านหาความเพลิดเพลินไปเรื่อยๆ ได้ ไม่ว่ากัน
แต่ชั้นเรียนจิตวิทยาบอกผมว่ามนุษย์เรามีข้อจำกัดในการรับรู้อยู่มาก ข้อมูลใหม่ๆ ที่เราเห็นเรารับเข้ามานั้น จำนวนมากไม่ได้มีผลมาคลอนแคลนเปลี่ยนแปลงความคิดของเรา แต่เป็นการรับรู้ที่มาย้ำสิ่งที่เราคิดที่เราเชื่ออยู่แล้วให้หนาแน่นยิ่งขึ้นมากกว่า พูดให้หนักกว่านั้นก็คือ เป็นการมาเพิ่มลูกกรงกักเราให้ติดแน่นอยู่กับความคิดและฐานคิดที่เรามีอยู่มากยิ่งขึ้น ตั้งแต่ที่ทราบอย่างนั้นแล้ว ความเป็นคนหวาดกลัวที่แคบ ผมเลยมองหากระบวนท่าใหม่ๆ มาใช้ในการอ่าน
กระบวนท่าแบบหนึ่งที่ผมลองแล้วคิดว่าพอใช้ได้ คืออ่านการอ่านของตัวเอง ด้วยการย้อนพินิจทำความรู้จักกับทางการอ่านตั้งแต่เริ่มต้นและที่ไต่เต้าเปลี่ยนแนวมาเป็นลำดับ แล้วทบทวนว่าแต่ละขั้นแต่ละชั้นตั้งแต่ยังไม่ประสีประสาอะไรนั้น ทิ้งผลแบบไหนไว้กับตัวเองบ้าง เพราะเมื่อรู้ตัวขึ้นมา ก็จะทำให้ได้รู้ข้อจำกัดที่มีอยู่ในตัวไปด้วย
แรกเริ่มเดิมทีนั้นชั้นเรียนภาษาไทยทำให้ผมรู้จักและติดใจในรสของถ้อยคำ ผมจึงขำเหมือนกันเมื่อต่อมาได้เห็นประโยคเปิดขึ้นต้นเรื่องในนวนิยาย The Name of the Rose ของอุมแบร์โต เอโกที่ว่า “In the beginning was the Word …” แต่ที่ขำ ไม่ได้ขำพระวจนะในพระคัมภีร์ แต่ขำเพราะเห็นว่าประโยคขึ้นต้นนั้นล้อการอ่านของตัวเอง ว่าจุดแรกเริ่มตั้งต้นที่ผมได้รับความพอใจในการอ่าน ผมตั้งต้นความพอใจในระเบียบและความงามของการใช้ถ้อยคำต่างๆ
งานเขียนของใครใช้ภาษาได้งดงาม ดำเนินคำและความโดยราบรื่น วางตำแหน่งถ้อยคำได้ดีมีจังหวะ ผมจะรับความคิดที่ภาษานั้นถ่ายทอดไว้ซึมซับมาเป็นความคิดของตัวเองได้ง่าย ดังเช่นที่ผมรับความคิดหลายอย่างมาจากโคลงสุภาษิตหรือบทอาขยานที่ท่องจำมาได้จนบัดนี้ เพราะติดใจถ้อยคำในคำประพันธ์ เหมือนได้อ่านอุชเชนีบทนี้ “ก้าวไปแม้ไฟล่มโลก ก้าวไปแม้โชคดับสูญ ก้าวไปแม้ไร้คนทูน ก้าวไปแม้พูนคนชัง” นี่โอ้โฮ รู้สึกฮึกเหิมขึ้นมาเลย แล้วคิดแต่ว่าทำอย่างไรเราจึงจะปล่อยคำออกมาให้ได้อย่างนี้บ้าง
พ้นจากรสของถ้อยคำออกมา ผมก็เช่นเดียวกับคนที่เริ่มต้นอ่านนิทานและนวนิยายทั้งหลาย คืออ่านเรื่องเหล่านั้นโดยความเพลิดเพลินไปกับความรู้สึกนึกคิดที่โลกของนิทานและนวนิยายจะสร้างขึ้นมาให้เราได้สัมผัส ตัวละครและสถานการณ์ในนวนิยายให้โอกาสเรียนรู้บุคลิกและนิสัยใจคอคนหลายประเภท จำแนกรูปแบบและการแสดงออกของความรัก ความกลัว ความโกรธ ความสนุก และอารมณ์ความรู้สึกอื่นๆ ให้เห็นว่าแต่ละอย่างนั้นมีต่างๆ กันไปได้หลายรูปแบบที่ไม่เหมือนกันเลย และแสดงออกได้หลายทางแตกต่างกัน เหนือไปกว่านั้นคือค่านิยมแบบต่างๆ ที่นวนิยายได้ซ่อนแนวทางตัดสินวินิจฉัยคุณค่าเอาไว้ด้วยวรรณศิลป์ เพื่อให้เรารับค่านิยมใดไว้และชวนให้ผละจากอะไรออกมา โดยที่เราก็อาจจะไม่รู้ตัว ถ้าไม่ได้ตั้งหลักให้ดี หรือไม่มีโอกาสรู้จักกับวิธีวิทยาของการวิจารณ์ที่จะพาให้เรามองเลยขอบเขตความคิดของเราออกไป
อย่างเมื่อผมอ่าน สี่แผ่นดิน จบครั้งแรกตอนอยู่ชั้นประถมปลาย ลูกทั้ง 4 คนของพลอยนั้น คนที่ผมเห็นว่าไม่เข้าท่าที่สุดก็คือประไพ ในขณะที่เห็นด้วยทุกสิ่งอันกับทัศนะและเหตุผลที่อ๊อดใช้วินิจฉัยเรื่องราวความเป็นไปต่างๆ และรู้สึกประทับใจในความจงรักภักดีของอ้น ส่วนกับอั้นนั้น ผมเกิดความรู้สึกดีขึ้นมาได้บ้างนิดหน่อยก็ในตอนท้าย เมื่อเขาเห็นความผิดพลาดในสิ่งที่เขาทำลงไป อีกนานต่อมาเมื่อการอ่านของผมเปลี่ยนทางไปเพราะมาเรียนรัฐศาสตร์ไทย ผมจึงเห็นว่าต้องเป็นคนแบบประไพนี่ล่ะจึงจะสามารถประคองตัวเองไม่ให้ความผันผวนภายนอกแบบไหนมากระทบได้ หรือถ้ากระทบก็จะมีกลไกป้องกันไม่ให้ตัวเองเป็นอะไรไป โดยเหตุนั้น คนแบบประไพกับสามีของเธอต่างหากที่จะประสบความสำเร็จในทุกยุคสมัยในสังคมไทยอย่างที่เป็นมาและที่เป็นอยู่
ความเห็นเกี่ยวกับประไพที่ผมเปลี่ยนใจในภายหลังนี้ทำให้ผมนึกสะท้อนใจอยู่ไม่น้อยเหมือนกันเมื่อได้มาอ่าน Howards End บทประพันธ์ของ E. M. Forster ที่ผู้ประพันธ์นำเสนอปัญหาและวิธีแก้ไขความขัดแย้งระหว่างชั้นชนอย่างแยบยล ที่ทำให้คนอ่านติดตามว่าผลที่สุดของการคลี่คลายอย่างเป็นที่พอใจของทุกฝ่ายจะทำให้คฤหาสน์ Howards End ตกเป็นของใครจากชนชั้นไหนในตอนจบเรื่อง ที่รู้สึกสะท้อนใจก็เพราะว่าเมืองไทยในมือของคนอย่างประไพและสามีของเธอไม่อาจลงท้ายตอนจบอย่างสมบูรณ์แบบอย่างที่ Forster จบ Howards End ได้ คงเพราะเหตุนี้ด้วยกระมังเจ้าของบทประพันธ์ สี่แผ่นดิน จึงยุติเรื่องไว้ไม่เล่าต่อมาว่าลูกของพลอยใครไปได้ดีที่สุด แต่ก่อนเรื่องจะจบ ผู้เขียนก็ได้จัดการให้อ๊อดตายไปก่อนเสียแล้ว
ไม่เพียงแต่ความรู้สึกนึกคิดและจินตนาการอันหลากหลายที่นวนิยายและนิทานจะพาเราเข้าไปเพ่งพิศมิติต่างๆ ของมนุษยภาวะและสภาพของโลก แต่สิ่งที่ผมพบในนวนิยายและนิทานยังมีกลวิธีการเขียนหรือวิธีการเล่าที่จะนำความหมายและความเป็นจริงหลายระดับเกี่ยวกับสภาพสภาวะเหล่านั้นมาเสนอให้แก่คนอ่าน
อย่างเช่นการเล่าอันชวนพิศวงของตำนาน Lancelot อัศวินของกษัตริย์อาเธอร์ มหาตำนานศตวรรษที่ 13 เล่าเรื่องการเดินทางผจญภัยของอัศวินอย่างไม่เป็นเส้นตรง แต่แผ่เรื่องแยกออกไปแล้วสานกลับเข้ามาแล้วแยกออกไปอีกคล้ายแผ่ไปตามลวดลายเครือเถาที่มีเส้นสายอ่อนช้อยพาดพันกันสวยงาม หรือการเล่าเรื่องแบบนิทานเวตาลที่เล่าเรื่องซ้อนเรื่องและซ้อนลงไปอีกเป็นชั้นๆ ก่อนที่จะเดินหน้าต่อ แต่แล้วก็พาวกกลับไปที่จุดตั้งต้นใหม่ ย้อนกลับไปกลับมาอย่างนี้ จนกระทั่งตัวละครเอกตระหนักในความรู้และความไม่รู้ของตัวเองและแน่ชัดขึ้นมาได้ว่าพึงต้องรู้จักที่จะนิ่ง และเมื่อรู้นิ่งและนิ่งรู้ได้ ก็หลุดออกมาได้จากการเวียนวน
การเปลี่ยนมาเรียนรัฐศาสตร์อันเป็นสาขาหนึ่งของสังคมศาสตร์ทำให้การอ่านของผมเปลี่ยนแปลงไปอีก ถ้าจะว่าๆ เป็นวัฒนธรรม งานเขียนวิชาการทางสังคมศาสตร์จัดเป็นวัฒนธรรมการเขียนเฉพาะตัวอีกแบบหนึ่งเลยทีเดียว มันพยายามตามหาความจริงด้วยแนวคิดและมโนทัศน์ต่างๆ ที่มีนิยามสำหรับจะรวบเอาเหตุการณ์หรือการกระทำต่างๆ ขึ้นมาพิจารณาในความหมายและเป็นไปตามความหมายนามธรรมของมัน โดยหวังจะสร้างความรู้ที่แม่นตรงและเชื่อถือได้ขึ้นมา ผมต้องมาตั้งต้นการเรียนรู้ที่คำต่างๆ เหมือนเดิมอีก แต่คราวนี้เป็นคำที่มีความศักดิ์สิทธิ์ดุจคำพระเจ้านั่นเทียว เพราะแต่ละคำแต่ละมโนทัศน์ ล้วนแต่มีพระเจ้าในโลกสังคมศาสตร์เป็นเจ้าของแนวคิดมโนทัศน์และคำนิยามของมัน ที่เราจะต้องเลือกใช้ให้ถูกต้องตามนิยามอันเคร่งครัดเหล่านั้น มิเช่นนั้นจะถูกสาวกของพระเจ้าองค์นั้น หรือไม่ก็ผู้ที่เป็นตระลาการ โต้แย้งเอาได้ และเราก็จะนิ่งเฉยอยู่ไม่ได้ เพราะเขาไม่ยอมปล่อยเราให้รอดไปโดยง่าย
อย่างนี้แล้ว จะไม่ให้ผมทั้งซึ้งทั้งขำในคำขึ้นต้นนวนิยายของเอโกอย่างไรได้ “In the beginning was the Word and the Word was with God and the Word was God.” เป็นแต่ว่าในโลกแห่งนี้ช่างมีพระผู้เป็นเจ้ามากมายเกลื่อนกล่นหลายพระองค์เหลือเกิน และพระผู้เป็นเจ้าพระองค์ต่างๆ เหล่านั้น ทั้งที่ได้ละสังขารไปแล้วและที่จะมาตรัสต่อไปในกาลอนาคตภายหน้า ต่างก็เแข่งขันกันทั้งกำหนดนิยามคำเดิมที่มีอยู่แล้ว หรือสร้างคำใหม่ขึ้นมา หรือเสนอคำนิยามแปลกใหม่ออกมา หรือทำทั้งหมดนั้นพร้อมกัน ในนามของการรังสรรค์เพื่อสร้างโลกความรู้เกี่ยวกับโลกความจริง ซึ่งเชื่อว่าจะขยายพรมแดนออกไปได้เรื่อยๆ ไม่มีวันเสร็จ เพราะพลังจากโลกของความรู้กับพลังในโลกของความจริงมันจะเปลี่ยนแปลงกันและกันไปเรื่อยๆ ไม่มีเสร็จสิ้น
นอกจากนั้น งานที่ผมได้อ่านในโลกสังคมศาสตร์จะถูกบังคับให้ดำเนินเรื่องเดินไปในลักษณะที่เป็นเส้นตรง คือเมื่อกำหนดว่าอะไรมีความหมายอย่างไร และแสดงชัดแล้วว่าอะไรๆ เหล่านั้นสัมพันธ์กันอยู่อย่างไร ในเงื่อนไขแบบไหนแล้ว จากนั้นการนำเสนอเหตุก็จะพาไปหากลไกส่งผล จากกลไกส่งผลที่ทำงานภายใต้เงื่อนไขต่างๆ ตามที่ได้แสดงไว้แต่แรก ก็จะนำไปสู่ผลที่ได้คาดไว้ตามมา แล้วเรื่องก็จะจบลงด้วยบทสรุปที่แสดงนัยสำคัญของข้อค้นพบว่าต่อความรู้และเติมความเข้าใจเกี่ยวกับโลกความจริงอย่างไรบ้าง
การอ่านความรู้จากสังคมศาสตร์แบบนี้ ถ้าหากว่าได้อ่านงานชั้นเลิศจริงก็จะทำให้รู้สึกว่าตัวเราได้เข้าไปใกล้กับความรู้อันแน่ชัดเกี่ยวกับความจริงมากขึ้นกว่าที่แล้วมา แต่ผมก็ไม่เคยแน่ใจว่าจากความรู้อันแน่ชัดและวิธีการนำเสนอในงานเขียนอย่างเป็นเส้นตรงของสังคมศาสตร์อย่างที่กล่าวมานั้น สังคมศาสตร์ทำได้แค่ไหนที่จะพาคนอ่านอย่างเราดิ่งเข้าสู่ความเข้าใจหลายระดับชั้นจากรายละเอียดอันมีแตกต่างกันไปในสภาพความจริงที่ลอยพ้นขึ้นมาจากรายละเอียดทั้งหลาย และความจริงที่อยู่ลึกลงไปในความจำเพาะของแต่ละรายละเอียดเหล่านั้น เมื่อเทียบกับงานเขียนอย่างของบัลซัค หรือนวนิยายของสต็องดาล
เพราะผมเอนเอียงมาในทางที่เห็นว่าในจำนวนคำเท่าๆ กัน บทกวีส่งมอบความเข้าใจความเป็นจริงสู่ความจริงอันลึกซึ้งได้มากกว่าความเรียงธรรมดา และเมื่อเทียบงานสังคมศาสตร์อันเป็นเลิศกับนวนิยายที่เลิศล้ำปานกัน อย่างแรกให้ความชัดเท่าที่ภาพถ่ายจะให้แก่ตาเรา ในขณะที่อย่างหลังให้ความหมายลึกเท่าที่ภาพวาดจะให้แก่ใจเรา ผมจึงอยากรายงานไว้ตรงนี้ว่าเมื่อการอ่านความรู้ทางสังคมศาสตร์ดำเนินมาถึงจุดอิ่มตัวจุดหนึ่ง อาการเบื่อหน่ายและฉงนสงสัยต่อความรู้ที่สะสมมาในลักษณาการแบบเดียวกันกับเฟาสท์ ที่เกอเธ่บรรยายไว้ในตอนต้นที่เปิดเรื่อง อาจปรากฏขึ้นแก่ท่านบ้างก็เป็นได้ เมื่อถึงตอนนั้น ท่านก็อาจเพ่งพินิจบทรำพึงนี้อย่างเข้าใจเฟาสท์มากยิ่งกว่าใครทั้งหมด
“In the beginning was the Word” – so goes
The text. And right off I am given pause!
A little help, please, someone, I’m unable
To see the word as first, most fundamental.
If I am filled with the true spirit
I’ll find a better way to say it.
So: “In the beginning mind was” – right?
Given plenty of thought to what you write,
Lest your pen prove too impetuous:
Is it mind that makes and moves the universe?
Shouldn’t it be: “In the beginning
Power was, before it nothing”?
Yet even as I write this down on paper
Something tells me don’t stop there, go further.
The Spirit’s prompt in aid; now, now, indeed
I know for sure: “In the beginning was the deed!” [1]
และเมื่อมาถึงจุดนั้น ท่านจะไม่อยากพูดกับตัวเองอยู่คนเดียวกับงานวิจัยอีกต่อไปแล้ว แต่อยากจะออกไปข้างนอก ไปลงมือเปลี่ยนแปลงโลก เพื่อทำให้โลกอยู่ในมือของคนที่ควรเป็นเจ้าของมัน
จงไปเถิดครับ แต่ให้ระวังผู้นำทางของท่านไว้บ้างก็แล้วกัน.
เชิงอรรถ
[1] ผมใช้สำนวนแปล Faust ของ Martin Greenberg ที่อยู่ใน The Norton Anthology of World Literature Shorter Third Edition Vol 2 (New York: W. W. Norton Company, 2013). ตอนที่ยกมานี้เป็นวรรคที่ 1010-1025 ที่หน้า 428 ข้อความในตัวบทเน้นตามต้นฉบับ. ส่วนงานแปล Faust ในพากย์ไทยได้แก่ : โยฮันน์ โวล์ฟกัง ฟอน เกอเธ่, เฟาสท์ อำภา โอตระกูล แปล (กรุงเทพฯ: โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโครงการหนังสือชุด “บรมราชกุมารีอักษรานุรักษ์”, 2550).