fbpx
เรื่องหนี้มีทางออก : ค้นหาคำตอบว่าด้วยการลดหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน

เรื่องหนี้มีทางออก : ค้นหาคำตอบว่าด้วยการลดหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ เรื่อง

ธนาคารแห่งประเทศไทย ภาพ

ปัญหาหนี้ครัวเรือนถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ประเทศไทยต้องเผชิญหน้ามาหลายยุคสมัยและทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ อ้างอิงจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ออกมาเปิดเผยว่าแนวโน้มการขยายตัวของหนี้ครัวเรือนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องราว 6 เปอร์เซ็นต์โดยเฉลี่ยต่อไตรมาส และปัจจุบัน ตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทยใน 2 ไตรมาสของปี 2562 มีมูลค่ารวมกว่า 13 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 78.7 ของ GDP สูงสุดในรอบ 9 ไตรมาสนับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา

ตัวเลขนี้เป็นที่แน่ชัดว่าส่งผลกระทบต่อคนไทยหลายระดับ นับตั้งแต่สภาพคล่องทางการเงินของครัวเรือนที่ต้องกินต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงเสถียรภาพทางการเงินของทั้งระบบ

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุในการเปิดงานเสวนา ‘ถอดรหัสปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย เร่งแก้อย่างไรให้คนไทยอยู่ดีอย่างยั่งยืน’ เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมาว่า “ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นจุดเปราะบางของประเทศ และเนื่องจากขนาดของปัญหามันใหญ่มาก การเร่งแก้ไขเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบจึงเป็นเรื่องสำคัญ”

ที่ผ่านมา หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างลงมือค้นหาทางออกของปัญหาหนี้ จนพบว่าการส่งเสริมวินัยการออม เสริมสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาหนี้ครัวเรือน และการช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้คือวิธีที่ช่วยบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์ ทว่ากุญแจสำคัญในการปลดกับดักหนี้ครัวเรือน นอกจากวิธีการดังกล่าวแล้วยังต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เรียนรู้ต้นแบบจากกันและกัน เพื่อสร้างแผนแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการ

ภายในงานเสวนาซึ่งจัดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ จึงได้มีการสนทนาในหัวข้อ ‘เร่งหาทางออก ร่วมผ่าทางตันลดหนี้ครัวเรือนไทยอย่างยั่งยืน’ เกี่ยวกับตัวอย่างโครงการและแผนขับเคลื่อนในอนาคตจากแต่ละฝ่าย ประกอบด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย ตัวแทนจากฝั่งธนาคารพาณิชย์ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และกรมบังคับคดี เพื่อให้เห็นภาพรวมของการดำเนินการ รวมถึงวางกลไกประสานความร่วมมือ แก้ไขปัญหาหนี้หลากมิตินับจากนี้เป็นต้นไป

ถอดรหัสปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย เร่งแก้อย่างไรให้คนไทยอยู่ดีอย่างยั่งยืน

ช่วยเหลือคนเป็นหนี้เมื่อ (ต้อง) เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ท่ามกลางสถานการณ์ที่คนไทยกว่า 1 ใน 3 ของประเทศกำลังแบกรับภาระหนี้ นอกจากจะเกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงิน ยังอาจลุกลามบานปลายถึงขั้นกลายเป็นคดีความ ตามที่ เสกสรร สุขแสง รองอธิบดี กรมบังคับคดี เปิดเผยว่า จำนวนคดีเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยล่าสุด สถิติการบังคับคดีแพ่งประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ระบุยอดทุนทรัพย์ที่ทางกรมบังคับคดีต้องดำเนินการยึด อายัด และขายทอดตลาด รวมทั้งสิ้นเกือบ 1,400 ล้านบาท

“กรณีมีผู้นำความมาฟ้องศาลและตกลงชำระหนี้กันไม่ได้ จนศาลมีคำพิพากษาออกหมายบังคับคดี มีผู้เกี่ยวข้องเฉลี่ยประมาณ 500,000 รายต่อปี เพราะในหนึ่งคดีอาจไม่ได้มีลูกหนี้เพียงคนเดียว แต่ยังมีจำเลยที่เกี่ยวข้องในแง่อื่นๆ อีกด้วย” เสกสรรอธิบายให้เห็นภาพว่า บางครั้งหนี้ครัวเรือนก็เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อคนอื่นๆ มากกว่าตัวลูกหนี้รายเดียว

“ถ้าเราไม่ทำอะไรภายในระยะเวลา 3-5 ปีนี้ ผมคิดว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในประเทศอาจจะกลายเป็นคนที่มีหมายบังคับคดีก็ได้”

เสกสรรยังกล่าวว่าทางกรมบังคับคดีพยายามช่วยเหลือปัญหาของลูกหนี้เมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะการป้องกันไม่ให้ถูกฟ้องและพิพากษาจนกลายเป็นบุคคลล้มละลาย เพราะผู้ถูกฟ้องจะไม่สามารถถอนเงินในระบบหรือเดินทางออกนอกประเทศได้ รวมถึงการมีบุคคลล้มละลายจำนวนมากย่อมส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม

อย่างไรก็ตาม “ส่วนของเราถือว่าเป็นปลายน้ำ ดังนั้นวิธีเดียวที่เราสามารถทำได้คือเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ หรือสถาบันการเงินและลูกหนี้ เราทำถึงขนาดว่าพอยึดทรัพย์ ก็ต้องแจ้งความจำเป็นของการไกล่เกลี่ย ส่งกำหนดการ ระยะเวลา สถานที่ ให้ลูกหนี้เข้ามาไกล่เกลี่ย

“เราพยายามสร้างความเข้าใจว่าท่านไม่ใช่ผู้ร้าย ท่านแค่เป็นคนที่ประสบปัญหาทางด้านการเงินในจังหวะหนึ่ง เพราะฉะนั้นสามารถเข้ามาคุยและเจรจากันได้” เสกสรรให้ความเห็น

แก้ไขจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ แนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย

การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นวิธีที่ยั่งยืน รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ตระหนักถึงความจริงข้อนี้

จากการสังเกตพฤติกรรมกู้ยืมและปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน รณดลแสดงความเห็นว่าการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ทำให้สถาบันการเงินแต่ละแห่งเร่งออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เชิญชวนให้ผู้บริโภคกู้สินเชื่อที่อาจไม่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น จนเป็นหนี้ในเวลาต่อมา

อีกเรื่องหนึ่งคือการกู้สินเชื่อส่วนตัว (Personal Loan) ไปใช้ในแง่ธุรกิจ SMEs เพราะต้องการหลีกเลี่ยงการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล หรือเข้าถึงบริการสินเชื่อที่ช่วยเหลือด้านเงินทุนหมุนเวียน (Working Capital) ของสถาบันการเงินไม่ได้ ก็เป็นประเด็นที่ควรจับตามองต่อจากนี้

“การที่หนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หลายคนอาจจะบอกว่าไม่แปลก เพราะหลายประเทศ ไม่ว่าสวีเดน ญี่ปุ่น หรือเกาหลี ก็มีตัวเลขที่สูง แต่ประเทศเหล่านั้นยังมีรากฐานแตกต่างกับไทยในเรื่องโครงข่ายรองรับปัญหาทางสังคม (Social Safety Net)” รณดลกล่าว

ความแตกต่างนี้เองทำให้ไม่อาจวางใจเรื่องหนี้ครัวเรือนของไทย และควรสร้างนโยบายแก้ไขอย่างบูรณาการตั้งแต่ ‘ต้นน้ำ’ ถึง ‘ปลายน้ำ’

ถอดรหัสปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย เร่งแก้อย่างไรให้คนไทยอยู่ดีอย่างยั่งยืน

“ทางแบงก์ชาติเองมีนโยบายดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือนตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้ เริ่มก่อหนี้ ไปจนถึงเป็นหนี้เสีย” รณดลเล่าในฐานะตัวแทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย “ตอนก่อนเป็นหนี้ เราต้องส่งเสริมการให้ความรู้และวินัยทางการเงิน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานพยายามดูแลเรื่องนี้ ดังนั้น เราจำเป็นต้องทำอย่างบูรณาการกันมากขึ้น”

ตัวอย่างโครงการจากฝั่งธนาคารแห่งประเทศไทยที่เริ่มดำเนินการไปแล้วตั้งแต่ปี 2561 คือโครงการ ‘Fin. ดี we can do!!!’ ซึ่งจัดในกลุ่มเยาวชนอาชีวศึกษา โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนอาชีวะออกแบบและประกวดโครงงานทางการเงินเพื่อใช้ในสถานศึกษาของตนเอง รณดลมองว่าการทำเช่นนี้ช่วยให้นักเรียนอาชีวะส่วนใหญ่ที่มาจากครอบครัวฐานะทางการเงินไม่ค่อยมั่นคงได้เรียนรู้วินัยทางการเงินมากขึ้น

“อีกกลุ่มหนึ่งที่สำคัญคือ First Jobber ตอนนี้เราทำโครงการชื่อ ‘Fin ดี Happy Life’ ร่วมกับองค์กรต่างๆ เพื่อสอนให้เหล่า First Jobber เกิดวินัยทางการเงิน” รณดลเอ่ยเสริม

ด้านนโยบายสำหรับช่วงเริ่มก่อหนี้ ทางธนาคารแห่งประเทศไทยหันกลับมาให้ความสนใจเรื่องการปล่อยสินเชื่อ โดยพยายามผลักดันแนวคิด ‘การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending)’ แก่ทุกสถาบันการเงิน

“ในช่วงที่ผ่านมาเวลาปล่อยสินเชื่อ สถาบันการเงินก็มักจะดูแค่เรื่องของความสามารถในการชำระหนี้ได้ หรือมูลค่าของหลักประกันมีเพียงพอ (Credit Risk) เพื่อให้แน่ใจว่าลูกหนี้จะคืนเงินให้ได้” รณดลอธิบาย “แต่ในแง่ของแบงก์ชาติ เราคิดว่าสถาบันการเงินต้องหันมาดูเรื่อง Affordability Risk ด้วย”

Affordability Risk คือความสามารถในการชำระหนี้ได้และมีเงินเหลือมากพอจะดำรงชีพในระยะยาว โดยไม่เดือดร้อนหรือมีคุณภาพชีวิตแย่ลง ซึ่งทางธนาคารแห่งประเทศไทยเสนอให้ใช้วิธีพิจารณาผ่าน Debt service ratio (DSR) หรืออัตราส่วนระบุค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับหนี้สินว่าเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของรายได้ต่อเดือน และพิจารณา Affordability Risk จากพื้นฐานรายได้กับรายจ่ายของลูกหนี้เป็นรายกรณี

รณดลกล่าวว่ามาตรการ Responsible Lending นี้กำลังอยู่ในระหว่างการนิยามเกี่ยวกับ Affordability Risk และการคำนวณ DSR เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันของทุกสถาบันการเงิน จากนั้นจึงค่อยพัฒนาเป็นกฎเกณฑ์เรื่องต่างๆ ต่อไป

สำหรับนโยบายส่วนสุดท้ายคือการช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสีย ธนาคารแห่งประเทศไทยใช้วิธีปรับโครงสร้างหนี้ผ่านโครงการ ‘คลินิกแก้หนี้’ ซึ่งริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2560

ปรับโครงสร้างหนี้ผ่านคลินิกแก้หนี้

“โครงการนี้เกิดขึ้นมาเนื่องจากคนมีหนี้บัตรเครดิตเยอะ มีบัตรเครดิตเกิน 2 ใบ ทั้งธนาคารพาณิชย์และ Non-Bank เกือบ 5 แสนคน เราพบว่าถ้าเขาเป็นหนี้เสียในสถาบันการเงินมากกว่า 1 แห่ง จะเกิดความลำบากในการเจรจาขอผ่อนปรนหนี้” นิยต มาศะวิสุทธิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) เล่าที่มาของคลินิกแก้หนี้ในฐานะผู้ดูแลโครงการ

“เพราะฉะนั้น ทางสมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ และแบงก์ชาติเลยคิดว่า น่าจะมีหน่วยงานช่วยแก้ไขปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จครบวงจรในที่เดียว (one stop service) ทุกธนาคารยอมรับให้คนที่เข้าโครงการผ่อนเงินต้นในอัตราดอกเบี้ยใหม่เพียง 4-7 เปอร์เซ็นต์ ภายในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี”

การทำงานของคลินิกแก้หนี้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการจากธนาคารแห่งประเทศไทย โดยจากจุดตั้งต้นในปี 2560 มีธนาคารพาณิชย์เข้าร่วมจำนวน 16 แห่ง จนปัจจุบันพัฒนาเครือข่ายไปถึงกลุ่ม Non-Bank อีก 19 แห่ง และปรับเปลี่ยนเงื่อนไขให้ตอบรับกับพฤติกรรมผู้บริโภค เช่น ต่อให้มีหนี้เสียกับสถาบันการเงินเพียงที่เดียวก็เข้าร่วมโครงการได้ หรือเข้าถึงกลุ่มที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีมากขึ้น

“ทางเราได้ประชาสัมพันธ์ให้ศาลรับทราบโครงการนี้ ทางศาลเองก็มีเจตนาอยากให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้ไกล่เกลี่ยกันได้ ดังนั้นพอเรื่องไปถึงศาล ผู้พิพากษาจะถามลูกหนี้ก่อนว่ารู้เรื่องโครงการคลินิกแก้หนี้ไหม ถ้าลูกหนี้ไม่รู้ ท่านจะขยับเวลาตัดสินคดีเพื่อให้มาคุยกับเราก่อน โครงการของเราก็ปรับเงื่อนไขว่าถ้าคนเป็นหนี้ โดนฟ้อง แต่ยังไม่ถูกพิพากษาตัดสินที่เราเรียกว่าคดีดำ ก็ยังสามารถเข้าโครงการได้” นิยตกล่าว

จุดมุ่งหมายของโครงการไม่ใช่การยกเลิกหนี้ แต่เป็นการลดภาระส่วนหนึ่งเพื่อให้คนมีเงินเหลือไปเก็บออมหรือนำไปปลดหนี้นอกระบบ รวมถึงช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกู้ยืมไปพร้อมๆ กัน

“มีรายหนึ่งกู้บัตรเครดิตมา 19 ใบ เพื่อนำไปปล่อยกู้นอกระบบ เพราะได้เงินจากดอกเบี้ยสูง แต่เขาลืมไปว่าการปล่อยกู้นอกระบบ สิ่งสำคัญที่สุดคือความสัมพันธ์ (Connection) กับลูกหนี้ ทุกวันนี้เจ้าหนี้นอกระบบที่อยู่รอดมาได้ เพราะอาศัยตามทวงเงินกันทุกวัน รายนี้อาจจะไม่ถึงขั้นนั้น ทำให้มีหนี้เสียทั้ง 19 ใบ มูลค่าเกือบ 2 ล้าน” นิยตยกตัวอย่างเคสเป็นอุทาหรณ์สำหรับคนที่คิดกู้จำนวนมากเพื่อลงทุนธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง

“เราพยายามปรับพฤติกรรมเขาโดยไม่ให้เขาไปก่อหนี้ใหม่ ดังนั้น เงื่อนไขสำหรับคนที่เข้าโครงการคลินิกแก้หนี้คือคุณไม่สามารถไปขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินในระบบได้เป็นเวลา 5 ปี ในเครดิตบูโรจะเขียนว่าคุณเป็นลูกค้าคลินิกแก้หนี้ เพราะฉะนั้นสถาบันการเงินก็จะไม่ปล่อยสินเชื่อ  นี่เป็นวิธีการหนึ่งที่เราช่วยสร้างวินัยทางการเงินเพิ่มเติม และให้ความรู้ทางการเงินผ่านการบรรยายให้ฟังด้วย”

นิยตทิ้งท้ายด้วยการยกต้นแบบที่น่าสนใจในประเทศมาเลเซีย คือ หน่วยงาน Agensi Kaunseling dan Pengurusan Kredit หรือ AKPK เป็นศูนย์ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการบริหารสภาพคล่องของครัวเรือน ประชาชนสามารถติดต่อขอคำแนะนำเรื่องการวางแผนใช้เงินก้อนใหญ่ เช่น การซื้อบ้านหรือรถยนต์ ทั้งยังช่วยแก้ไขปัญหาหนี้จากสินเชื่อทุกรูปแบบ ไม่จำกัดเพียงบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งนิยตให้ความเห็นว่าถ้าประเทศไทยสามารถนำมาประยุกต์ใช้ จัดตั้งหน่วยงานลักษณะเดียวกัน จะสามารถแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนได้แบบองค์รวมมากขึ้น

สร้างวินัยการออมพร้อมอำนวยความสะดวก

นอกจากการแก้ปัญหาจากฝ่ายผู้ดูแลเสถียรภาพทางการเงินในภาพใหญ่อย่างธนาคารแห่งประเทศไทย ฝั่งธนาคารพาณิชย์ที่มองเห็นข้อมูลสินเชื่อ พฤติกรรมการกู้ยืม รวมถึงแนวโน้มการใช้จ่ายของผู้บริโภคโดยตรง ก็พยายามบรรเทาปัญหาหนี้ครัวเรือนเช่นเดียวกัน

“เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันมีปัญหาเรื่องกระแสบริโภคนิยม (consumerism) ที่กระตุ้นให้คนไทยซื้อเยอะ จากข้อมูลพบว่าคนเป็นหนี้ก้อนใหญ่อยู่ในสินเชื่อส่วนบุคคล (personal loan) เป็นหลัก ที่เหลือคือสินเชื่อที่อยู่อาศัย (mortgage) เช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อธุรกิจ และสินเชื่อบัตรเครดิต”

ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ME by TMB ธนาคารทหารไทย เปิดเผยข้อมูลโครงสร้างหนี้ครัวเรือนจากการวิเคราะห์ของธนาคารแห่งประเทศไทยและ TMB พร้อมเสริมว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีหนี้เพื่อการบริโภคสูงกว่ากลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว และแน่นอนว่าเมื่อย้อนมองข้อมูลในฝั่งการออมทรัพย์ เรียกได้ว่าอัตราการเติบโตของเงินออมน้อยมากจนไม่อาจเทียบกับการเติบโตของหนี้ครัวเรือน

ถอดรหัสปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย เร่งแก้อย่างไรให้คนไทยอยู่ดีอย่างยั่งยืน

“ตัวหนี้ครัวเรือนประมาณร้อยละ 80 ต่อ GDP ที่หลายคนบอกว่ามันสูงมาก ผมต้องบอกว่านั่นเป็นหนี้ขั้นต่ำที่เรามองเห็นเท่านั้น หนี้ครัวเรือนในเมืองไทยจริงๆ สูงกว่านี้หรือไม่ ไม่มีใครรู้ อาจจะถึงร้อยละ 120 หรือ 150 ของ GDP ก็ได้ เพราะมีหนี้นอกระบบ กองทุนหมู่บ้าน เข้าไปรวมด้วย มีหนี้อีกหลายอย่างที่เรายังไม่ได้นับรวม

“ถ้าถามว่าแบงก์มีส่วนกระตุ้นให้ก่อหนี้ไหม แบงก์เองก็มีส่วนครับ เพราะปัจจุบันแบงก์พยายามทำให้การทำธุรกรรมเร็วขึ้น จ่ายง่ายขึ้น แต่ถ้าเราแก้ปัญหาด้วยการทำให้กลับไปจ่ายยากเหมือนเดิม มันก็คงไม่ใช่ทางออก”

ดร.เบญจรงค์แสดงความเห็นว่าปัจจุบันยังมีคนบางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงบริการสินเชื่อของสถาบันการเงินในระบบ ดังนั้นการเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงยังเป็นโจทย์สำคัญที่ต้องพัฒนา ขณะเดียวกัน ปัญหาหนี้ครัวเรือนยังเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ไม่สามารถใช้นโยบายระดับมหภาค (Macro Policy) แก้ไข เพราะอาจทำให้ผลิตภัณฑ์หรือสินเชื่อที่มีประโยชน์ได้รับผลกระทบไปด้วย

“ตัวอย่างเช่น สินเชื่อดอกเบี้ย 0 เปอร์เซ็นต์ เราคิดว่ายังมีประโยชน์กับกลุ่มลูกค้าที่จำเป็นต้องใช้จ่ายในบางเรื่อง เช่น เรื่องค่าการรักษาพยาบาล ถ้าเรายกเลิก แล้วทำให้คนที่จำเป็นต้องใช้ไม่สามารถบริหารสภาพคล่องของตัวเองได้ ก็จะกลายเป็นความเสี่ยงด้านหนึ่งเช่นกัน” ดร.เบญจรงค์กล่าว และเสนอแนะให้กลับมาพิจารณาว่าสินเชื่อประเภทใดไม่จำเป็นต้องให้บริการกู้ด้วยดอกเบี้ย 0 เปอร์เซ็นต์ แทนการยกเลิกทั้งหมดในคราวเดียว

“การสร้างสมดุลเรื่องของสินเชื่อ ระหว่างให้คนมาใช้เพื่อบริหารการเงินของตัวเองได้ดีขึ้น กับการพยายามลดคนที่มีหนี้สินล้นตัว เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าต้องลองทำและเรียนรู้ไปด้วยกัน”

ทว่าสิ่งหนึ่งที่ดร.เบญจรงค์ มองว่าเป็นเรื่องสำคัญและควรทำเป็นวงกว้างคือการสร้างความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) แก่ประชาชน

“ทาง TMB หรือธนาคารทหารไทย เริ่มต้นโครงการทำความรู้ด้านการเงินในกลุ่มทหารก่อน เพราะเป็นกลุ่มที่เราเข้าถึงจากการทำ MOU ร่วมกับกระทรวงกลาโหม ปัจจุบันมีผู้เข้าโครงการประมาณ 20,000- 30,000 ราย” ดร.เบญจรงค์เล่า

จากประสบการณ์ดังกล่าว นำมาสู่การต่อยอดในกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยอย่างโครงการ ‘คนไทยยุคใหม่…ใส่ใจเรื่องเงิน’ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาเรื่องการเกิดหนี้เสียในกลุ่มคนอายุน้อย โดยชวนให้นักศึกษาทำกิจกรรมและคุยเรื่องการวางแผนชีวิตในอนาคต

“เราไปคุยกับน้องๆ ว่า การวางแผนชีวิตตั้งแต่วันนี้ถึงอายุ 30 มันไม่ใช่เรื่องไกลตัวขนาดนั้น ถ้าเขาสามารถประคองสถานะการเงินของตัวเอง ทำงานเก็บออมได้จนถึงอายุ 30 ปี ความฝันทุกอย่างที่เขาอยากมี ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ครอบครัว หรือสร้างธุรกิจของตัวเองที่จำเป็นต้องใช้เงินจะสามารถทำได้ ในขณะที่บางคนทำงาน ไม่เก็บออม นำเงินไปใช้จนเกิดหนี้ แม้จะมีความสุขระหว่างทาง แต่พออายุ 30 จะไม่สามารถเริ่มต้นอะไรได้เลย” ดร.เบญจรงค์

จากการทำโครงการร่วมกับกลุ่มนักศึกษากว่า 2,500 รายใน 30 มหาวิทยาลัย สิ่งที่ดร.เบญจรงค์ค้นพบคือ กลุ่มคนอายุน้อยไม่ได้ใช้จ่ายอย่างไร้วินัยจนทำให้เกิดหนี้ เพียงแต่ไม่มีความรู้เรื่องการจัดการเงินที่มีอยู่อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะเรื่องการออม

“นอกจากนี้ เรายังเจอปัญหาเรื่องการเข้าถึงการออม มีน้องๆ หลายคนบอกว่าผลตอบแทนจากการฝากเงินน้อย เพราะดอกเบี้ยต่ำ อยากเริ่มลงทุน แต่เขาทำไม่ได้ เนื่องจากอายุยังไม่ถึงเกณฑ์ให้ลงทุนได้” ดร.เบญจรงค์เผย พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า “มันเป็นไปได้ไหมที่เราสามารถทำผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้คนออมง่ายขึ้น”

“ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ช่วยในการออมมากขึ้น จะสร้างแรงจูงใจในพฤติกรรมทางการเงินที่ถูกต้อง” ดร.เบญจรงค์ทิ้งท้ายด้วยความหวังว่าหากในอนาคตมีเทคโนโลยีหรือฟินเทค (fintech) ด้านการออมคงทำให้คนมีแนวโน้มรักการออมยิ่งขึ้น

‘หารายได้  ใช้จ่าย ออม และลงทุน’ วิธีแก้หนี้อย่างสมดุล

ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องหนี้ครัวเรือนไทยจากฝั่งคนทำงานด้านการให้ความรู้ทางการเงินอย่าง จักรพงษ์ เมษพันธุ์ ประธานมูลนิธิ ‘คนไทยฉลาดการเงิน’ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอะ มันนีโค้ช จำกัด และบริษัท ลีฟ ริช ฟอร์เอฟเวอร์ จำกัด คือคนที่เป็นหนี้นอกระบบไม่ได้เกิดจากการขาดประสิทธิภาพในการเข้าถึงบริการของสถาบันการเงินเพียงอย่างเดียว

“หนี้นอกระบบมีอยู่ 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือคนที่เข้าถึงสถาบันการเงินไม่ได้ ส่วนกลุ่มที่สองคือคนที่เข้าถึงสถาบันการเงินได้และเข้าจนหมดแล้ว คนเหล่านี้จะพยายามดูแลภาพลักษณ์ ฐานะของตัวเอง ไม่ให้ดูด้อยลง จึงต้องกู้หนี้นอกระบบ เพราะฉะนั้นทุกคนเป็นหนี้นอกระบบได้หมด” จักรพงษ์อธิบาย และเสริมว่านอกจากหนี้นอกระบบ คนยังเป็นหนี้สหกรณ์อีกจำนวนมาก ซึ่งหนี้สหกรณ์มีลักษณะเด่นคือหักจากเงินเดือนโดยทันที ทำให้คนกลุ่มนี้ไม่มีโอกาสได้วางแผนจัดการเงินของตัวเอง อีกทั้งได้รับผลกระทบไปถึงการใช้ชีวิตประจำวัน

ยิ่งไปกว่านั้น “การเป็นหนี้มันไม่ได้ทำร้ายแค่กระเป๋าสตางค์ เวลามันทำร้ายกระเป๋าสตางค์ เราจะรู้สึกว่ากินอยู่ลำบากช่วงหนึ่ง แต่ถ้าตกเป็นหนี้นานๆ มันจะเริ่มทำร้ายความภาคภูมิใจในชีวิต เราจะเริ่มรู้สึกว่ามองหน้าใครไม่ค่อยติด” จักรพงษ์กล่าว

ความเข้าใจผิดอีกข้อหนึ่งเกี่ยวกับคนเป็นหนี้ คือเป็นกลุ่มคนที่ใช้จ่ายเกินตัว ซึ่งจักรพงษ์ระบุว่าในความเป็นจริง ยังมีคนที่เป็นหนี้เพราะจำเป็นต้องกู้ยืมเงินเพื่อช่วยเหลือสมาชิกครอบครัว หรือที่เรียกว่าเป็นหนี้อุปถัมภ์ เป็นหนี้เพราะกู้ยืมไปลงทุนทำธุรกิจ และเป็นหนี้จากการค้ำประกันให้ผู้อื่นอีกจำนวนมาก

“ต้องบอกว่าหนี้มาจากหลายมุมหลายมิติมาก ซึ่งผมว่าสินเชื่อเหมือนกับไฟหรือเหมือนมีด คนที่เขาจะหยิบจับไปใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกต้องก็มี”

ดังนั้น จักรพงษ์มองว่าถ้าต้องการให้คนหยิบจับสินเชื่อไปใช้อย่างเหมาะสม ควรเริ่มจากการให้ความรู้ทางการเงิน รู้จักวางแผนและบริหารสภาพคล่องของตนเอง จึงเป็นที่มาของโครงการ ‘อภินิหารความรู้การเงิน’ ของมูลนิธิคนไทยฉลาดการเงิน

“โครงการอภินิหารความรู้ทางการเงินเป็นโครงการที่ผมทำกับองค์กรทั้งทางราชการและเอกชน เข้าไปให้ความรู้ทางการเงินและแก้ปัญหาหนี้ให้คนในองค์กร เข้าไปในแต่ละองค์กรเดือนละ 1 ครั้ง รวมทั้งหมด 6 ครั้ง ซึ่งเราจะให้ความรู้ทางการเงินแบบครบวงจร ตั้งแต่เมื่อคุณได้เงินมา คุณจะบริหารเงินอย่างไร ไม่ใช่แค่เรื่องนำไปชำระหนี้ จะจัดการความเสี่ยงในอนาคตอย่างไร ไปจนถึงวางแผนตอนเกษียณ

“พอเราทำแบบนี้ เขาจะเห็นภาพวงจรการเงินทั้งชีวิต ไม่ได้เอาตัวรอดผ่านไปแค่วันนี้ แต่เห็นไปถึงข้างหน้าเลยว่าจะต้องทำอะไรบ้าง” จักรพงษ์เล่ากระบวนการ

หลังจากให้ความรู้ ชวนคิดวางแผนโดยมีทีมงานจากมูลนิธิคอยให้คำปรึกษา ถัดมาคือพัฒนาวินัยการออมผ่านการชักชวนให้ฝากเงินกับธนาคาร สอนเรื่องกองทุนรวมและวิธีลงทุนตราสารหนี้แบบความเสี่ยงต่ำ หารายได้เพิ่มผ่านการตลาดออนไลน์ สุดท้ายจึงชี้ให้เห็นตัวเลขเงินเก็บที่ควรมีในวัยเกษียณ

“คนที่เคยเชื่อว่าเดี๋ยวแก้หนี้ได้ก่อนแล้วจะออม ผมคิดว่าไม่มีทางเป็นไปได้ เขามีแนวโน้มจะเป็นหนี้ไปจนถึงตอนเกษียณ ดังนั้น วิธีที่ถูกต้องคือ ระหว่างเป็นหนี้ แทนที่จะเอาเงินมาชำระหนี้ทั้งหมด เราควรแบ่งจ่ายหนี้ แบ่งเงินเก็บ และแบ่งมาใช้จ่ายให้ตัวเองสักเล็กน้อย จะได้มีกำลังใจในการเดินหน้าต่อ” จักรพงษ์เสนอ

“คำว่า ความรู้ทางการเงิน (money literacy) ไม่ใช่แค่เรื่องแก้หนี้อย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการหารายได้  ใช้จ่าย ออม และลงทุน ต้องครบทั้ง 4 ด้าน หากไม่ครบก็ไม่สมดุล และจะแก้ปัญหาไม่ได้”

ผลลัพธ์จากการทำโครงการอภินิหารความรู้ทางการเงิน คือแผนต่อยอดไปสู่โครงการ ‘วางแผนการเงินตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงาน’ ซึ่งกำลังจะเปิดตัวในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

“ผมเชื่อว่าเราถูกสอนเรื่องเกษียณอย่างผิดๆ ไปเริ่มวางแผนตอนช่วงอายุ 50-55 ปี ซึ่งแน่นอนว่าไม่ทัน เพราะฉะนั้นเราต้องวางแผนเกษียณตั้งแต่วันแรกที่ทำงาน” จักรพงษ์เล่า “เราจึงไปทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ทรัพยากรบุคคล (HR) ขององค์กรต่างๆ สอนเรื่องการวางแผนการเงินทั้งระบบและทำเป็นหลักสูตรให้ฟรี ตั้งแต่การบริหารเงินที่ได้มา การทำงบการเงิน การวางแผนการเงินเมื่อมีความจำเป็นต้องซื้อสินทรัพย์ใหญ่ในชีวิต เช่น บ้านหรือรถ การวางแผนรับมือความเสี่ยงและการเก็บเงินสำหรับตอนเกษียณ หลักสูตรเหล่านี้เราจะมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสวัสดิการของแต่ละองค์กรอีกด้วย”

อีกโครงการหนึ่งเกี่ยวกับคนรุ่นใหม่คือแผนสร้างหลักสูตรความรู้ทางการเงินในรั้วมหาวิทยาลัย โดยเริ่มต้นจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งจักรพงษ์เป็นอาจารย์พิเศษ

“ผมเชื่อว่าเราควรสอนเด็กๆ ให้รู้จักวินัยทางการเงิน วันนี้สิ่งที่เด็กขาดไปคือเรื่องสำนึกทางการเงิน (monetary sense) เด็กยุคใหม่ไม่ได้ถูกสอนเรื่องคุณค่าของเงิน ใช้จ่ายอย่างประหยัด หรือการคิดถึงวันข้างหน้า แต่ถ้าสอนเด็กที่เล็กเกินไปจะไม่เกิดผล นั่นเป็นเหตุให้เราเลือกย้อนกลับมาสอนคนวัย First Jobber เพื่อที่วันหนึ่ง เมื่อเขามีลูก เขาจะได้กลับมาสอนลูก” จักรพงษ์ให้ความเห็นปิดท้าย

ปลดหนี้เกษตรกรไทยด้วยความเข้าใจ

ผมคิดว่าถ้าเราจะก้าวไปข้างหน้า ก็ควรเหลียวหลังกลับมาดูความเป็นอยู่ในภาคการเกษตรและสถาบันการเงินเฉพาะกิจสักเล็กน้อย”

สมเกียรติ กิมาวหา ผู้ช่วยผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เกริ่นนำ ก่อนเล่าถึงปัญหาในวงเกษตรกรที่ธ.ก.ส. ดูแลอยู่ว่านอกจากปัญหาเรื่องหนี้ระยะยาว ประเทศไทยยังขาดเกษตรกรรุ่นใหม่มารับช่วงต่อจากพ่อแม่ที่เข้าสู่วัยสมควรเกษียณ

“เวลาเราถามพี่น้องเกษตรกรว่าท่านใดที่คิดจะให้ลูกมาทำการเกษตร ยกมือขึ้น ปรากฏว่าเงียบกริบครับ ปัจจุบันกลายเป็นว่าส่งให้เรียนเพื่อไปเป็นมนุษย์เงินเดือนหรือข้าราชการ เราจึงต้องหันมาช่วยสร้างทายาทเกษตรกรมากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีให้สอดคล้องกับคนรุ่นใหม่มากขึ้น” สมเกียรติกล่าว

ด้านแผนการขับเคลื่อนเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนแก่เกษตรกรของ ธ.ก.ส. สมเกียรติระบุว่าประกอบด้วยเครื่องยนต์ 4 ตัวหลัก สำหรับเครื่องยนต์ตัวแรกคือการสร้างเครือข่ายลูกค้าเกษตรกรเพื่อแบ่งปันภูมิปัญญาทางอาชีพ และเติมความรู้ทางการเงิน โดยทาง ธ.ก.ส. จำแนกลูกค้าออกเป็น 3 กลุ่ม เพื่อให้ความรู้และแนะนำผลิตภัณฑ์ได้อย่างเหมาะสม

“ลูกค้ากลุ่มแรกเรียกว่า Small เป็นกลุ่มที่มีปัญหาด้านเงินทุน และการประกอบอาชีพ เป็นกลุ่มที่ต้องฟูมฟักให้เกิดความเข้มแข็ง เน้นให้ความรู้เรื่องพื้นฐานอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ รวมถึงช่วยจัดการหนี้นอกระบบ” สมเกียรติอธิบาย “กลุ่มที่สองคือกลุ่ม Smart เป็นลูกค้าทั่วไปหรือทายาทเกษตรกรในอนาคต ถือว่าเป็นกลุ่มที่กำลังพัฒนาไปเป็นกลุ่มที่สาม คือ SMAEs หรือกลุ่มผู้ประกอบการ”

หลังเติมความรู้ทางการเงินให้ลูกค้าทั้ง 3 กลุ่ม เครื่องยนต์ตัวถัดมาที่ต้องเร่งขับเคลื่อนคือการสร้างภูมิคุ้มกันในการจัดการความเสี่ยงและวินัยการออม สมเกียรติเล่าว่า ธ.ก.ส. ใช้วิธีชักชวนเกษตรกรเข้าสู่ระบบประกันภัย ทั้งประกันข้าว ข้าวโพด โคนม และลำไย เพื่อรับมือกับความเสี่ยงในอนาคต และออกผลิตภัณฑ์ที่ช่วยออมเงินของลูกค้าแต่ละกลุ่ม

“เราพยายามสร้างผลิตภัณฑ์โดยดูจากพฤติกรรมของคน ในกลุ่ม Small ซึ่งมักเอาเงินไปซื้อหวย เราก็มีผลิตภัณฑ์ที่ชื่อว่าสลากออมทรัพย์ยั่งยืน ออมทุกเดือน ลุ้นเงินรางวัล 2 ล้านบาท มีดอกเบี้ยเงินฝาก เขาเห็นแบบนี้ก็หันมาออมกับเรามากขึ้น ส่วนกลุ่ม Smart เรามีสลากชื่อว่าสลากมั่นคง ซึ่งลุ้นรางวัลเช่นกัน และกลุ่ม SMAEs มีผลิตภัณฑ์ชื่อสลากมั่งคั่ง” สมเกียรติชี้แจง

“สำหรับเกษตรกรที่ต้องการวางแผนเกษียณ เราก็ให้เขาร่วมออมกับกองทุนทวีสุข หากว่าถึงบั้นปลาย ยกงานให้ลูกรับช่วงต่อ เขาจะได้มีเงินส่วนนี้เป็นเหมือนบำเหน็จบำนาญให้ตัวเอง”

เครื่องยนต์ตัวที่ 3 ซึ่งสมเกียรติออกความเห็นว่าเป็นเครื่องยนต์ใหญ่ที่สุดสำหรับภาคการเกษตร คือการสร้างช่องทางตลาดให้กับเกษตรกร ตัวอย่างโครงการที่เริ่มทำไปแล้ว ได้แก่ โครงการ 459 หรือตลาดขนาดเล็กสำหรับขายผลิตผลที่เหลือจากการบริโภคในครัวเรือน และเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการนำผลผลิตไปขายยังธุรกิจค้าปลีก (modern trade) อื่นๆ

“459 เป็นโครงการที่ทำให้เกษตรกรตระหนักรู้เรื่องลดการใช้สารเคมี ใช้การปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ และผลิตเพื่อส่งออกในมาตรฐานเดียวกับของที่ใช้กินเอง เพราะก่อนหน้านี้หากส่งขาย จะเน้นให้ผลิตผลดูมีสีสันสวยงาม ถ้าไว้กินเองจะเน้นเรื่องความปลอดภัย ในตอนนี้เราพยายามทำให้ความคิดเหล่านั้นเปลี่ยนไป”

สมเกียรติยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากโครงการ 459 ยังมีเว็บไซต์ A Farm Mart เป็นแพลตฟอร์มให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ SMEs เกษตรและวิสาหกิจชุมชนเข้ามาค้าขายผลิตภัณฑ์บนโลกออนไลน์อีกด้วย

ด้านเครื่องยนต์ตัวสุดท้ายของ ธ.ก.ส. คือการเปิดโอกาสให้ลูกหนี้เข้ามาร่วมกำหนดตารางการชำระหนี้ที่เหมาะสมกับรายได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีประวัติไม่ดี

“ผมคิดว่าการแก้ไขปัญหาหนี้ในภาคเกษตรจำเป็นต้องมีข้อมูลที่เกิดจากความเข้าอกเข้าใจเกษตรกร และเน้นการพัฒนาธุรกิจชุมชนเป็นพื้นฐานสำคัญ” สมเกียรติฝากคำพูดไว้เป็นการปิดงานเสวนา

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economic Focus

19 Apr 2023

นโยบายแจกเงินดิจิทัล: ทำได้ หรือขายฝัน?

วิมุต วานิชเจริญธรรม ชวนมองวิวาทะสองฝั่งของนโยบายแจกเงินดิจิทัลในการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย พร้อมให้ข้อเสนอถึงการปรับนโยบายให้ตรงจุดขึ้น

วิมุต วานิชเจริญธรรม

19 Apr 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save